Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[กึ่งบทความกึ่งเปิดประเด็น] สาระในความไร้สาระ สิ่งที่เกิดไม่ได้ในละครไทย?

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
พอดีวันนี้ได้มีโอกาสอ่านกระทู้ติด TOP กระทู้หนึ่งในพันทิป
"ละครไทย" ความไร้สาระ ที่ไม่เคยคิดจะ มีสาระ
http://pantip.com/topic/33261203


ส่วนความเห็นอ่านบ้างข้ามบ้าง ส่วนใหญ่ก็ดราม่าตามคาด แต่ก็มีประเด็นหนึ่งที่น่าคิดว่า
'เราจะยัดสาระลงไปในการนำเสนอไม่ได้เลยเหรอ?'

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตว่าคนทำละคร และคนดูที่มักมาตอบจำนวนไม่น้อยจะมีความเห็นคล้ายกันคือ 'มันเป็นแนวเบาสมอง สาระไม่ต้องมีมากก็ได้'

ผมอ่านแล้วก็สงสัยว่า... ใช่แน่เหรอ?


พูดจริงๆว่าหลายประเด็นที่ติดกระทู้ TOP ในประเด็นนี้หมวดบันเทิง(เฉลิมไทย บางขุนพรหม) นั้น หลายกระทู้ก็ไม่ได้พูดถึงสาระที่สอดแทรกเลย บางเรื่องโดนประเด็นความสมจริงถูกต้องเข้าให้ เช่น การปฐมพยาบาลคนถูงูฉก การทำ CPR

หนักเข้าถึงขั้นหมอต้องออกมาตั้งกระทู้วิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง เพราะคนดูละครเอาไปทำผิดเคสนี้ก็เคยเกิดมาแล้วนะครับ

เรื่องที่ว่ามานี่จะว่าสาระไหมมันก็ใช่ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งในบทในเรื่องอยู่ ซึ่งการที่มีบทแล้วทำออกมาหรือนำเสนอแบบผิดหลักล่ะก็ มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องสาระหรือไม่สาระแล้วล่ะครับ แต่มันคือเรื่องการทำการบ้านหาข้อมูลต่างหาก

นี่ก็เป็นอีกจุดบอดที่คนทำหรือคนดูมักเบี่ยงประเด็นไปว่าไม่ได้เน้นสาระ
แต่คนดูมองว่านั่นไม่ใช่ประเด็นสาระ แต่เป็นประเด็นความถูกต้อง...
ขนาดแค่ความถูกต้องยังมีช่องโหว่ขนาดนั้น พอมาเปิดประเด็นสาระในเรื่องก็ยิ่งไปใหญ่เลย...


กลับมาจุดเริ่มต้น
ในแง่ของสาระกับบทแล้ว ส่วนตัวผมว่าถ้าคิดจะใส่มันก็ใส่ได้ล่ะครับ ต่อให้เป็นเรื่องรั่วๆเราก็ยัดลงไปได้ ถ้าคนจัดบทเนียนพอมันก็เป็นไปได้

คุโรมาตี้  เองก็สร้างตำนานมาแล้ว ถ้าใครอ่านเน็ตมาคงเคยเจอมุก จตุรเทพ... มุกบ้าๆบอๆ ที่กลุ่มนักเลงมี 5 คนแต่ดันเรียก จตุรเทพ
แต่เพราะแบบนี้คนอ่านได้เข้าใจศัพท์ จตุร ไปโดยตรงเลยว่า 4 นะ ไม่ใช่ 5 แบบที่การ์ตูนแซว พอมีคนเล่นมุกนี้ที่พันทิปทีไร จะต้องมีคนที่ไม่เก็ตมาก่อนแย้งว่าใช้คำผิดแล้ว ซึ่งคนอ่านก็จะมาตอบว่าจงใจน่ะ
นั่นล่ะครับการซึมซับศัพท์เล็กๆน้อยๆแบบไม่รู้สึกว่ายัดเยียดอะไรเลย

มุกคลาสสิคเช่นการแก้ผ้าใส่แรม นี่ก็สาระล้วนๆ แต่ถูกยกให้เป็นมุกในตำนานอีกมุกหนึ่งเลย
http://www.memorytoday.com/ftopic-1407-0-days0-orderasc-.html
ผมเชื่อว่าคนอ่านจำนวนไม่น้อยไม่ได้สนใจสาระหรอก อ่านเอาฮามากกว่า แต่พออ่านจบก็ได้สาระไปแล้ว ถึงบางเหตุผลจะเวอร์เกินไปหน่อยก็เถอะ แต่ก็มีข้อเท็จจริงไม่น้อยเลย


การ์ตูนญี่ปุ่นยุคหลังๆมาผมก็เห็นความเนียนในการแทรกสาระ ทั้งทางตรงและทางอ้อมแบบเนียนๆ บางเรื่องผู้เขียนก็ใช้บทเป็นตัวชูเรื่อง จนบางทีเราอ่านสาระไปแบบไม่รู้สึกว่านั่นคือสาระหลักของตอนเลย
เอาใกล้ตัวอย่าง โซมะ ยอดนักปรุง


การ์ตูนทำอาหาร ที่ผมเชื่อว่าหลายคนอ่านอะไรที่มากกว่าอาหาร และไม่ใช่ทฤษฎีอาหาร การแข่งขันและตัดสินเองก็ทำให้เรื่องดูสนุกมากขึ้น คนที่อ่านแบบไม่ข้ามๆ ก็ได้ความรู้เรื่องอาหาร เครื่องมือทำอาหารไปพอตัว โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าถูกสอนอะไรเลยด้วย เพราะการนำเสนอจะให้คนอื่นรู้สึกคือเหมือนตัวละครกำลังบลัฟกันเอง

แต่ถ้าอ่านเก็บรายละเอียดล่ะก็ ช่วงหลังจบตอนก็มีวิธีทำสอนด้วยนะครับ
นั่นคือสิ่งที่่อ่านแล้วดูเท่ดูน่าทึ่งนั้น มันทำได้จริงๆ เป็นจินตนาการที่ไม่ได้หลักลอย แต่มีความสมเหตุสมผลในตัวเอง


การ์ตูนหลายเรื่องเองก็สอนกันผ่านเหตุการณ์นี่ล่ะครับ


ล่าสุดช่องแก๊งค์การ์ตูน ก็เอา FMA มาฉาย ก็ใกล้จบเต็มทีแล้ว ผมว่าเรื่องนี้ให้ข้อคิดสอนใจดีมากๆหลายแง่มุมเลย


มีฉากหนึ่งที่ตัวละครชื่อ สการ์ แค้นชาวอเมทริส (ประเทศพระเอก) แล้วไล่ฆ่านักเล่นแร่แปรธาตุ จนมีหลายต่อหลายเหตุการณ์จนรู้สึกว่าหลงผิดไป รู้ว่ามีคนบางการเบื้องหลังทั้งหมด และเขาก็ได้บอกตอนที่ รอย มัสแตง กำลังถูกความแค้นครอบงำ ว่าสุดท้ายจะเดินรอยเดียวกัน แล้วก็มีคำพูดเท่ๆมาเป็นระยะๆ

ผมก็รู้สึกว่าอืม นำเสนอได้อินดี... ซึ่งถ้าย้อนมาดูละครบ้านเราแล้ว ค่อนข้างแน่ใจว่าอาจได้เจอคำพระว่า
"โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า"
"นายต้องรู้จักปล่อยวางนะ ไม่งั้นมันจะเกิดเป็นกงกรรมกงเกวียนวนแบบไม่รู้จบรู้สิ้น ต้องมีคนตัดบ่วงนั้น บลาๆๆๆๆ"

โดยตัวประโยคแล้วมันเป็นคำพูดที่รู้สึกว่าเท่มาก แต่ถ้าแข็งไปผมว่าคนดูไม่อินหรอก

มีคนวิจารณ์กันบ่อยๆว่าสิ่งหนึ่งที่ผู้สร้างบ้านเราต่างกับต่างประเทศก็คือ วิธีการสอน
ซึ่งขณะที่เราเอาคำพระมาสอนโต้งๆ ต่างประเทศอาจใช้ปรัชญา คำพูดแปลกๆให้ชวนคิด ซึ่งไม่คิดก็ไม่เป็นไรเพราะเดี๋ยวเหตุการณ์ต่อไปมันจะทำให้ได้คิดเอง

ซีรี่ย์แนวไรเดอร์ ก็เลยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส แทนที่จะให้พูดบทสอนใจเชยๆ ก็สร้างเป็นคำพูดประจำตัวแทนเลย นอกจากไม่เสี่ยวแล้วยังดูเท่ไปอีกแบบ แถมเป็นต้นแบบให้เด็กเอาไปเลียนแบบด้วย

การ์ตูนเด็กๆดูบ๊องๆฮาๆน่ารักอย่าง เคโรโระ นี่สาระจัดเต็มมาไม่น้อยเลยนะครับ โดยเฉพาะพวกประเพณี วัฒนธรรมนี่ เรียกได้ว่าดูแล้วซึมซับไปโดยไม่รู้ตัวเอาเลย


แม้แต่ตัวอย่างต้นเรื่องที่ จขกท. นั้นแนะนำเรื่อง การดึงก้านวัดน้ำมันเครื่อง ซึ่งผมว่านี่ก็เป็นอีกสาระหนึ่งนะ ถ้าตัวเอกทำเนียนๆล่ะก็ นอกจากสาระแล้ว ยังทำให้คาแรกเตอร์ดูฉลาด เป็นการเป็นงานเยอะขึ้นด้วย โดยไม่ต้องพูดอวยหรือมโนเลย เพราะเขาแสดงให้เห็นโต้งๆ



การเอาสาระมาสอดแทรกให้ดูแล้วไม่เบื่อ ไม่ได้มีแค่ตัวข้อมูลเท่านั้น แต่ต้องขึ้นกับจังหวะการสอดแทรก และวิธีการนำเสนอ ด้วย ซึ่งเท่าที่ดูประเด็นมา ผมว่าส่วนใหญ่ผู้เขียนบทหรือผู้กำกับไม่ได้เน้นส่วนนี้นัก เพราะคิดว่ามันไปด้วยกันไม่ได้ ก็เลยไม่ใส่มันซะอย่างงั้นเลย

ก็มีบางคนที่เจตนาดีอยากให้มีบ้าง แต่ใช้ผิดวิธี ผลที่ออกมาก็คือใส่มาทำไมเยอะแยะ
นอกเรื่อง ทำเรื่องยืด ฯลฯ


คือเหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่ายนะครับ เรื่องการยัดสาระ หรือบทพูดกินใจเนี่ย
ถ้าใช้ห้วนๆ คนชมก็รู้สึกว่ายัดเยียด ถ้าใช้เบาเกินไปก็จะไม่ได้อะไรเลย หรือรู้สึกว่าจะใส่มาทำไม ไม่เห็นเข้ากับเนื้อเรื่องสักนิด

คนใช้ต้องเป็นจังหวะพอตัวเลย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปูพื้นให้ได้ก็ต้องลงลึกไปถึง บท กับ ตัวละคร อีกชั้นหนึ่งด้วย

โดยเฉพาะการออกแบบตัวละครช่วยได้เยอะมาก
ลองสังเกตการ์ตูนญี่ปุ่นหลายเรื่อง ไม่ว่าจะแนวรั่ว แนวฮา ดราม่า จริงจัง หรืออื่นใด เรามักจะได้เห็นตัวละครแนวโอตาคุ มาเนีย ฟรีค

ดูเผินๆก็เห็นว่าตัวประกอบชัดๆ ไม่ก็ตัวตลกของเรื่อง แต่ถ้าวิเคราะห์ดูแล้ว พวกนี้จะเป็นบทที่แทบจะเป็นสารานุกรมประจำเรื่องเอานะครับ บางทีก็เรื่องแปลกๆ บางทีก็เรื่องเฉพาะทาง แต่ส่วนใหญ่ที่ว่ามานั่นล่ะ สาระล้วนๆเลย

หรือไม่งั้นก็จะออกแบบให้มีตัวละครแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านไป
เพราะคนเราไม่มีทางรู้ครอบจักรวาล จึงต้องมีการเกลี่ยบทออกไปให้รู้ในสายของตัวเอง ไม่ก็ถนัดด้านหนึ่งแต่จะไม่ถนัดอีกด้านหนึ่ง เพื่อให้มีการแชร์ และเกิดบาล้านซ์ในกลุ่ม

เช่น Walking Dead

ที่ในกลุ่มจะมีการแบ่งหน้าที่ความถนัดไปเลย

ส่วนการนำเสนออาจไม่ต้องให้พล่ามเป็นนกแก้วนกขุนทองให้รู้สึกยัดเยียดเสมอไป อาจมีการกำหนดสถานการณ์หนึ่ง แล้วคนที่รู้ก็ปล่อยให้คนไม่รู้ไฟแรงลงมือทำพลาดจนทนดูไม่ได้เลยเข้ามาช่วยสอน ก็ถูกบ่นว่าทำไมไม่บอกแต่เนิ่นๆ เจ้าตัวจะปัดสวะด้วยการพูดว่า ก็ไม่ถามเองนี่ ให้เข้ากับนิสัยเย็นชา ก็ยังเล่นได้ครับ

วิธีเล่นมีเยอะ ขอเพียงบทและตัวละครมี มิติ พอ

แล้วส่วนนี้มันก็ไปล้ออีกกับกระแสวิจารณ์ว่า ตัวละครในละครบ้านเรามิติมันตื้นไป ที่หลายครั้งตัวละครถูกสร้างออกมาจะเป็นไม่ขาวบริสุทธิ์ ก็ดำมืดไปเลย ไม่ค่อยมีสีเทาผสานตัวดีและตัวร้ายเลย

ซึ่งผมไม่คิดว่าคนดูจะชอบแบบนี้ตามข้ออ้างว่าทำมาแล้วขายได้เสมอไปหรอกนะ
ที่ดังเพราะตลาดบ้านเราไม่มีให้เลือกมากกว่า หรือ เพราะเรื่องนั้นมีดาราแม่เหล็กพอ 

ไม่งั้นแล้วตัวละครฮีโร่ยุคใหม่ๆ ที่มีด้านมืดในตัวเอง หรือแนว Anti-Hero ตามยุคสมัย ไม่มีทางโกยเงินจากโรงหนังเป็นว่าเล่นหรอกครับ

ซึ่งเมื่อมองในแง่สาระกับแง่คิดสอนใจแล้ว ก็เป็นกรณีศึกษาที่ดีว่าหนังเหล่านี้ให้ข้อคิดเตือนใจที่ทันสมัยและเข้ากับบทมาก อาทิเช่น

พลังอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง   (Spiderman)

ฉันได้เรียนรู้ว่าไม่มีความสิ้นหวังหากไร้ซึ่งความหวัง   (Batman)

มันไม่สำคัญว่าเราเป็นใคร ที่สำคัญคือสิ่งที่เราจะทำ   (Batman)


มีอีกเยอะครับ บทพูดที่ฟังแล้วรู้สึกว่า เออ... มันเท่โคตรๆ รู้สึกใหม่ ไม่เสี่ยว เข้ากับเรื่อง
ไม่ต้องหยิบคำพระหรือพระคัมภีร์มาสอนกันเป็นประโยคยาวๆ

และที่สำคัญ ความเท่ มันมีจังหวะการมาของมัน
ไม่ใช่จู่ๆไปจับยัดแล้วคิดว่าเท่ แบบนี้เสียท่าหมดผิดฟอร์มกันมาเยอะแล้วนะครับ



ในมุมมองนี้ผมก็คิดประมาณนี้
ผมว่าไม่ใช่ละครไร้สาระจะมีสาระไม่ได้หรอกนะ แต่ปัญหาคือแนวคิดที่จะเอาสาระมาลงแบบเนียนๆ หรือ การหาจังหวะที่ลงตัวในการลงสาระมากกว่า

ขนาดหนังแนวแอ็กชัน ซีเรียส คนเขียนบทยังมีมุกตลกแทรกได้เลย ฉะนั้นกะแค่สาระเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในละครไร้สาระ(ตามที่แฟนละครเรียก) ทำไมจะทำไม่ได้ครับ


ในฐานะที่เป็นคนแต่งนิยายคนหนึ่งที่ลองมาหลายๆแนวแล้ว แต่งแนวไร้สาระให้แอบมีสาระก็เคยทำมาแล้ว ผมเลยมองว่า สาระในความไร้สาระนั้นเป็นไปได้ครับ

ผ่อนคลายเอย ตลาดเอย มันไม่ใช่ประเด็นที่ฟังขึ้นเลยสักนิด เพราะสาระเป็นเพียงสิ่งเล็กๆที่ไม่ใช่จุดขายหลัก ไม่ได้มีผลโดยตรงกับเนื้อเรื่อง มันเป็นเหมือนเป็นการปลูกฝังแนวคิดทางอ้อมแบบเนียนๆ ซึ่งคนที่สังเกตถึงจะรู้ คนไม่สังเกตอาจมองแค่เป็นบทพูดหนึ่งๆที่ดูเข้ากันดีกับตัวละครนั้นๆ

กล่าวคือสาระที่ว่าจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่มีแล้วก็ไม่เสียหายอะไร
ถือเป็นความเอาใจใส่และเก็บรายละเอียดของผู้เขียนบทหรือกำกับไป

ถ้าจะทำให้เนียนมันก็ยากอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ หรือตลาดไม่รับหรอก
เพียงแต่บางคนไม่คิด หรือมองข้ามที่จะลองท้าทายผสมสองสิ่งเข้าด้วยกันเสียมากกว่า เพราะมันเป็นอะไรที่เหมือนเพิ่มการบ้านให้ตัวเอง

อย่างที่ว่าครับ ชุดข้อมูล วิธีการนำเสนอ จังหวะการสอดแทรก บท และมิติตัวละครที่จะให้สาระ ถ้าวางมาดี สาระในความไร้สาระก็เป็นไปได้เสมอ นักเขียนพอมีประสบการณ์ก็ทำได้ครับผมเชื่อเช่นนั้น

ปัญหาก็คือเขาคิดอยากจะทำ หรือถูกตีกรอบมาให้เชื่อว่าทำแล้วขายไม่ได้ หรือเปล่าเท่านั้นเอง


แต่ในแง่นักเขียนนิยายแล้ว ผมแนะนำว่าฝึกไว้ก็ไม่เสียหลายนะครับ
มันจะเป็นประโยชน์กับเราในอนาคตมากเลยล่ะ

แสดงความคิดเห็น

>

39 ความคิดเห็น

tongfar 25 ก.พ. 58 เวลา 15:00 น. 1

การ์ตูนเรื่องที่อ่านแล้วมีสาระแต่สนุกมากๆ ผมยกให้นี่เลยครับ... เบอร์ 1

0
K.W.E. 25 ก.พ. 58 เวลา 15:03 น. 2

ยังไม่ได้อ่านละเอียดเลยครับเรื่องนี้ เคยอยากซื้อแต่ร้านการ์ตูนมีไม่ครบซะงั้น

แต่ก็ได้อ่านเรื่องรากหญ้าบรรดาศักดิ์ คนเขียนคนเดียวกันนี่ล่ะ
ชอบมากเลย เอาสาระ + ตลก + วิถีชีวิต มาเขียนได้อ่านง่ายดีมากเลย

0
AkiUNaSAMA 25 ก.พ. 58 เวลา 15:23 น. 4

ไม่ชอบละครไทยตรงนี้ล่ะค่ะ ทำแต่แนวเดิมๆออกมาจนน่าเอียน เหมือนกับทำออกมาแบบไม่ตั้งใจนัก อยากเห็นวงการละครบ้านเราพัฒนาให้ดีมากกว่านี้...

ถ้าพูดถึงมังงะ เรื่องที่สอนคนมีอยู่มาก อย่างที่จำได้ชัดที่สุดก็ Tokyo Ghoul กับวิชากระดูก... // ย้อนนึกถึงฉากในตำนานที่ดันไม่มีในอนิเมะ

0
AkiUNaSAMA 25 ก.พ. 58 เวลา 15:27 น. 5

เรื่องนี้สนุกค่ะ สาระก็มีอยู่มาก กะจะซื้อมาเก็บ... แต่กระดาษกรีนรี้ดราคาหนักเหลือเกิน(ฮา)

0
e-ram 25 ก.พ. 58 เวลา 15:29 น. 6

ได้ข้อคิดดีๆติดมาด้วยแฮะ

สอดแทรกสาระในความไร้สาระ เข้าท่าๆ

ส่วนละครไทยบ้านเราถ้าคนแขียนบทไม่เปิดโลกให้กว้างมากกว่านี้ก็คงต้องรอกันต่อไป

0
MuI2asaki [紫] 25 ก.พ. 58 เวลา 15:29 น. 7

เชียร์เรื่องนี้เหมือนกัน ชอบมากๆ ค่ะ
ตอนแรกคิดว่า มันเป็นการ์ตูนธรรมดาๆ นะ
แต่พอดูแล้วมันไม่ใช่อะ ได้ความรู้เรื่องเกษตรกรรมเพียบ

0
Gaster 25 ก.พ. 58 เวลา 15:50 น. 8

"สาระในความไร้สาระ"

ช่างเป็นคำพูดที่ไม่ว่าจะฟังกี่ครั้ง ก็แลดูเท่ห์มากมายเลยครับ

0
Cammy 25 ก.พ. 58 เวลา 15:51 น. 9

ช่วงนี้ผมติดละครญี่ปุ่นโนบุนากะ คอนเนโต้มากๆ (ต้นฉบับเป็นมังงะ)  เป็นเรื่องของพระเอกจากยุคปัจจุบัน ที่เอาแต่หนีปัญหา ได้หลงมายคเซนโกคุ และได้มาเป็นโนบุนากะ เหมือนไร้สาระ เพราะพระเอกบ้าๆ บอๆ เหมือนอ่อนปวกเปียก แต่ก็สอดแทรกประวัติศาสตร์ ข้อคิดดีๆ ในมุมมองของพระเอกที่มาจากยุคปัจุบันที่หลงเข้ามายุคสงครามเซนโกคุ และต้องแบกภาระมากมาย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาของตนแม้แต่น้อย

ละครไทย ก็น่าจะทำได้ แต่ปัญหาคือ อะไรหลายอย่าง นักแสดงที่เดี๋ยวนี้เล่นแข็งๆ วนเวียนซ้ำซาก ของญี่ปุ่นดาราเขามีฝีมือ ผ่านงานหลายอย่าง อย่างคนแสดงเป็นโมริรัน ผมเคยเห็นหลายผลงานอยู่ เวลามีบทดราม่านี้เล่นดีจริงๆ 

บางระจัน, แม่นาค, คู่กรรม ยอมรับว่าช่องสามทำ แต่ปัญหาคือ มันก็วนเวียนจนดูน่าเบื่อแล้ว เพราะคนอื่นรู้แล้วว่าเป็นยังไง ขยันรีเม็กเหลือเกิน เดี๋ยวนี้หาพล็อตใหม่ๆ สร้างสรรค์ไม่ได้เลยเหรอ



Image 

Nobunaga Concerto  

0
MuI2asaki [紫] 25 ก.พ. 58 เวลา 16:23 น. 10

เอาจริงๆ ว่าเป็นคนไม่ดูละครไทยเลย
ติดละครญี่ปุ่นแนวย้อนยุคมากกว่า

จำได้เลยว่า วันนั้นนั่งเล่นเกม Otome กับเพื่อนสาว
เล่นมาครึ่งวันแล้วล่ะ จะพักตา เลยเปิดมาช่องทีวีธรรมดาที่กำลังตัดเข้าละคร 'เจ้าหญิงอัตสึ' พอดี



เรื่องราวของท่านเท็นโชอิงหรือท่านหญิงอะสึ ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะสามารถยอมจำนนโดยสันติต่อรัฐบาลสมเด็จพระจักรพรรดิในสมัยการปฏิรูปเมจิได้สำเร็จ

เรื่องนี้มาจากฐานนวนิยายของโทมิโกะ มิยะโอะชื่อ เท็นโชอิง อะสึฮิเมะ โดยมีตัวละครสำคัญคือเท็นโชอิง (ท่านหญิงอะสึ) ภริยาในโทะกุงะวะ อิเอะะซะดะ โชกุนคนที่ 13 แห่งเอะโดะ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 7 ของละครเกี่ยวกับการปฏิรูปไทกะ

wiki

ตอนแรกเฉยๆ แต่พอชื่อตัวละครโผล่มาเท่านั้นล่ะ
กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดด...//กรี๊ดแตกกับเพื่อนสองคน
คือเรากับเพื่อนติ่งพวก สมัยโชกุนโทะกุงะวะ ทั้งเมะ ทั้งมังงะ ไล่เก็บหมด
ชิโด ,Rurouni Kenshin, Hakuouki Kitan Shinsengumi

เรามองว่ามันเป็นแนวบันเทิงที่ให้ความสาระอย่างแท้จริง
คือมันมีทั้งฉากความน่ารักของเจ้าหญิงอัตสึ และดราม่าตรงที่เธอต้องแยกจากคนที่ชอบเพือไปเป็นเจ้าสาวของโชกุน(?) มันมีฉากของความรักชาติในมุมมองสองฝ่ายที่สะท้อนออกมาได้ดี ทั้งฝ่ายของจักรพรรดิและฝ่ายโชกุน 

เราไม่รู้ว่าคนอื่นจะมองละครเรื่องนี้แบบไหน แต่เราชอบตัวละครแบบเจ้าหญิงอัตสึ 

ปล1.หนุ่ม2Dไม่สนละ สนตัวละครหนุ่ม3D มากกว่า 55555555+
ปล2.ไม่รู้ว่า อะสึ หรือ อัตสึ =w=
0
Dark Diamond 25 ก.พ. 58 เวลา 16:24 น. 11

ชอบมากเลยค่ะ อ่านแล้วได้สาระและแนวคิดเยอะมากๆเลย เห็นด้วยกับท่านกวีมากเลยค่ะ เดี๋ยวนี้ละครไทยเน้นแต่พล็อตเรื่องเดิมๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจ ไม่มีมิติ บางเรื่องที่ใส่ช้อคิดมา ก็ใส่ตรงเกินไป จนเรื่องดูน่าเบื่อ ไม่น่าติดตาม แต่ถ้าไม่มีสาระ ก็คือเบาสมองไปเลย

สมัยเด็กๆก็ดูเพราะรู้สึกว่าสนุกดี แต่ก็ผ่านมาหลายปีแล้ว ยังไม่เห็นว่าจะมีการปรับปรุงอะไรให้ดีมากกว่าเดิมจนเลิกดู ความจริงถ้าปรับให้พล็อตเรื่องและตัวละครมีมิติมากกว่านี้ วงการละครไทยก็คงก้าวหน้าได้มากทีเดียว

เข้ามาช่วยดันกระทู้ดีๆอย่างนี้ค่ะ อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้อ่านบ้าง ถือเป็นบทความที่ดีมากๆบทความหนึ่งเลยล่ะค่ะ (เราคิดว่าดูเป็นบทความมากกว่าเป็นกระทู้นะ)

0
K.W.E. 25 ก.พ. 58 เวลา 16:25 น. 12

เพิ่มประเด็นย่อยอีกสักนิด ที่ว่า สาระในความไร้สาระนั้น
แม้แต่ตลกคาเฟ่ยังทำได้เลยนะเออ

โน๊ตเชิญยิ้ม เป็นตลกอีกทีมที่ชอบเอาดนตรีไทยมาเล่นมุก
มีครั้งหนึ่งแกให้ทีมงานแกมาตีระนาด แล้วระหว่างเตรียมตัว เขาก็ไม่อยากให้เวทีเงียบ หรือคนดูเบื่อ ก็เลยพูดยิงมุกแทรกเรื่อยๆ

บางครั้งแกก็เอาสาระมาเล่น เช่น บรรยายว่าระนาดทำจากไม้ชิงชัน ตีแล้วเสียงออกมาดี แล้วสักพักก็จะหันไปแซวคนตีว่า ถ้าเอ็งตีไม่ได้เรื่อง ตูจะตีด้วยไม้หน้าสามเลย ข้อหาอวยแล้วทำเสียหน้า

อะไรแบบนี้เป็นต้น
สาระนะนั่น แต่มาคั่นกลางมุกตลกที่ดูไม่มีสาระ แถมมาถูกจังหวะด้วยเพราะคนดูก็ตั้งใจฟัง ไม่รู้สึกเบื่อ เพราะถ้าเทียบระหว่างมีคนชวนคุยแล้วตบมุก กับนั่งเฉยๆ แบบแรกดีกว่าเป็นไหนๆ

ผมเลยมองว่าจังหวะเป็นเรื่องสำคัญครับ ถ้าเล่นเป็นทำไมจะยัดไม่ได้
ขนาดตลกคาเฟ่ยิงมุกการแสดง ยังเอาส่วนวิชาการมาใช้ได้แบบนี้


มีอีกเยอะครับโน๊ตแกสมเป็นพิธีกรรายการชิงช้าสวรรค์ กับตีสิบดันดารา
ผมเองก็เคยได้เกร็ดความรู้ดีๆ แปลกๆ รวมถึงวิถีชีวิตคนต่างจังหวะมาจากแกเยอะเลย สมัยช่วงที่แกเล่นตลกคาเฟ่ออกเทปวีดีโอ กับซีดีขายน่ะนะ

0
Cammy 25 ก.พ. 58 เวลา 16:33 น. 13

พูดเรื่องตลกคาเฟ่ ไม่น่าหายไปเลย เดี๋ยวนี้อะไรก็ไม่รู้ ยัยตุ๊กกี้ไม่เห็นตลกเลย ดาราหลายคนพยายามตลก แต่ไม่ตลกเลย

ตลกคาเฟ่เขาผ่านอะไรหลายอย่าง ทั้งร้องเพลง เล่นลิเก การพูด พิธีกร แต่ยัยนี้ผมไม่เห็นพรสวรรค์อะไรสักอย่าง อยากรู้ว่าคนอวยชีเพราะอะไรเหมือนกัน

0
K.W.E. 25 ก.พ. 58 เวลา 16:39 น. 14

ตลกสมัยก่อนนี่ผมว่าสมบุกสมบันน่าดูเลยนะ โดยเฉพาะพวกที่ต้องไปตามวงดนตรีนี่ ทักษะดีสุดๆ เล่นเป็นเพียบเลย ดนตรีไทย อย่าง ขลุ่ย ระนาด ฆ้อง ฉิ่ง เป็นกันหมด เครื่องดนตรีสากลอย่างกีต้าร์ กลอง คีย์บอร์ด นี่เผลอๆเป็นกันด้วย

เสียงร้องก็ไม่ธรรมดา บางคนเล่นลิเกเป็นอีก อย่างเท่งนี่เห็นโชว์ทักษะการแสดงบ่อยมากในเวทีชิงร้อย หม่ำเองก็โชว์เสียงเพลงในหลายๆบทละคร เรื่องเล่าชีวิตแกช่วงเล่าเรื่องผีหลังคาก็เกร็ดความรู้ด้วยนะนั่น

คือผมว่าเขามีอะไรเยอะน่ะในแง่ที่เราไม่คุ้นเคย บางทีเราก็ได้สาระจากตลกคาเฟ่กันบ่อยๆ แรกๆอาจไม่รู้ตัว แต่พอถึงจุดที่ต้องเรียกความคิด เราจะเก็ตได้เองว่ามีชุดข้อมูลนี้ในหัวแล้วนี่หว่า... ที่เหลือก็เอาไปต่อยอดหรือขยายความจาก google อีกที

ประโยชน์ทางอ้อมที่ผมว่าก็ทำนองนี้เลย


ส่วนตุ๊กกี้นี่ เหมือนเปลี่ยนคาแรกเตอร์แล้วไม่เวิร์คนะ ส่วนตัวนี่ผมเห็นเค้าแล้วนึกถึงปลาคาร์ฟเชิญยิ้ม คือพออยู่ในมุกที่ไม่ค่อยพูด แล้วเวลาออกแอ็กชั่นแต่ละทีนี่โคตรอิมแพคเลย ยิ่งหน้าตากับฝีมือดีอยู่แล้ว พอปล่อยของแล้วคนตะลึง ทำนองนั้นเลย

แต่พอเปลี่ยนให้ออกกล้องมากขึ้น (หรือเจ้าตัวอยากโชว์) แล้วมันเลยไม่เป็นธรรมชาติ และฝืนตัวเอง ดูๆไปจากที่ชอบเลยรู้สึกไม่ค่อยปลื้มเอา

นี่ก็เรื่องของจังหวะอีกเช่นกัน
ใช้ได้ตั้งแต่สาระยันการแสดงเลยนะเนี่ย ตั้งใจ

0
no one know 25 ก.พ. 58 เวลา 16:44 น. 15
คิดว่าเป็นเพราะการตลาดด้วยครับ...

เปรียบเทียบให้เห็นชัดก็เหมือนเวลาเราเขียนพล็อตนิยายตลาดเพราะคิดว่ามันจะประสบความสำเร็จได้เร็วนั่นแหละครับ  อย่างน้อยเราก็อุ่นใจว่ามาทางนี้แล้วไม่ต้องกลัวเหงา  มีตลาดรองรับแน่ ๆ  ตอนนี้ละครไทยมันก็ไปในรูปแบบของอุตสาหกรรมแล้ว  ดังนั้นเรื่องชื่อเสียงผลกำไรย่อมต้องเอามาคำนวนรวมไว้ด้วย

วันนี้ผมเพิ่งได้อ่านบทความที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กันคือ  อดีตไดเร็กเตอร์ของเกมซีรี่ย์ชื่อดังอย่าง BF3  ออกมาแสดงความเห็นว่าการสร้างเกมระดับใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนสูง (น่าจะหมายถึงระดับไม่ต่ำกว่าสิบล้านขึ้นไป) คือต้นเหตุที่จะฉุดให้วงการเกมไม่ก้าวหน้า  นั่นเพราะเมื่อมีเรื่องของเงินทองและการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง  พวกเขาย่อมไม่กล้านำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ เนื่องด้วยกลัวว่าอาจจะได้รับเสียงตอบรับที่ไม่ดี  แล้วไม่ทำกำไร (อันนี้ผมว่าพวกเกมแนวคิดล้ำ ๆ สมัยนี้จะเจอในพวกเกมอินดี้ซะเยอะกว่า  ซึ่งก็สอดคล้องกับคำพูดของแกพอดี)       


ไป ๆ มา ๆ คีย์เวิร์ดสำคัญของการแก้ปัญหานี้ก็คือการค้นหา "จุดร่วม" ที่จะชักจูงให้ทั้งคนดูทั่วไปซึ่งไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงมากนัก และคนดูที่อยากให้นำเสนออะไรใหม่ ๆ บ้าง  ให้หันมาสนใจได้ในระดับเดียวกัน  และมันต้องออกมาสนุกด้วย  ...คิด ๆ แล้วก็ไม่ง่ายเลยนะ?
0
Dark Diamond 25 ก.พ. 58 เวลา 17:03 น. 16

ก็จริงนะคะ ที่ว่ามันไม่ง่าย แต่ถ้าสมมุติว่าไม่เปลี่ยนเลยในทีเดียว แต่ค่อยๆเปลี่ยนทีละนิด เพิ่มสิ่งใหม่ๆลงในผลงานเรื่อยๆ ไม่รีบ ก็น่าจะโอเคหรือเปล่าคะ ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ก็คงมีอะไรใหม่ๆเยอะเลยทีเดียว

0
K.W.E. 25 ก.พ. 58 เวลา 17:15 น. 17

พอเป็นเงินทองก็ว่ายากล่ะนะครับ

เหมือนเช่น Cubic ที่มีคนวิจารณ์ว่าฉบับนิยายทำออกมาดีมาก ตัวละครมีมิติ บทพูดมีเสน่ห์ แต่พอช่อง 3 เอาไปทำเท่านั้นล่ะ... ของที่ดีที่ทำมานี่ถูกสลับสับเปลี่ยนไปหมดเลย


จริงๆในแง่การนำเสนอนี่ผมว่าเราค่อยๆแอบยัดนั่นนี่ไปไม่ให้รู้ตัวก็ยังได้ครับ เหมือนที่ยกตัวอย่างตลกคาเฟ่ว่ามุกบางมุกเราแทรกได้โดยไม่รู้สึกว่ามันเฝือ

ตัวอย่างเช่น น้าอู้ด ในเรื่องเป็นต่อ ที่แกมักพล่ามปรัชญาอุดมการณ์ของแกตลอด แต่ผมก็รู้สึกว่ามันไม่แปลกแยกอะไรนะ เพราะเข้ากับคาแรกเตอร์เพื่อชีวิตที่แกทำตัวอยู่ แล้วเรื่องที่แกพูดก็เรื่องจริงเป็นข้อคิดที่ดีด้วย

ในแง่ละครแล้ว... คงหวังยากแบบที่ว่าแหล่ะนะครับ
แต่ถ้าเริ่มต้นจากนิยาย ที่เป็นแบบอย่างได้ มีเยาวชนอ่านเยอะๆ การเนียนปลูกฝังสาระในเรื่องนั้นๆ ก็น่าจะกระตุ้นสังคมทางอ้อมไม่มากก็น้อยน่ะนะครับ

0
Kazink 25 ก.พ. 58 เวลา 17:34 น. 18

เห็นด้วยกับจขกท.ค่ะ 
งานละครไทยเราไม่ดูเลยอ่ะค่ะ ดูแล้วไม่สมจริง
บทเดาได้ ทุกอย่างมันเดิมๆไปหมด

อ่านการ์ตูน อ่านนิยายยังได้ประโยชน์กว่า 

ถ้าจะดูเราก็จะไปดูซีรีส์ฝรั่งที่มีเหตุมีผลกว่าค่ะ

ยิ่งเราเขียนนิยาย การดูละครยิ่งน่าเบื่อเลย
เพราะเราเขียนนิยายยังต้องหาข้อมูล หาเหตุผลมาใส่ให้ตัวละคร

แต่ละครส่วนมากในสมัยนี้ใส่แต่ความกุ๊กกิ๊ก ไม่มีเหตุมีผลเท่าไหร่
ตัวละครไร้มิติค่ะ 

เนื้อหาส่วนมากไม่มีการเก็บรายละเอียดเลย ไม่หาข้อมูลเลย

แต่แฟนเราชอบดูค่ะ ยิ่งแนวลูกกวาดอะไรงี้ชอบมาก
เวลาเราต้องดูกะเค้าเราก็บอก 'เนี่ย ทำไมมันต้องทำงี้อ่ะ ไม่มีเหตุผลเลย'
เค้าก็จะบอกว่า 'ดูไปเหอะ มันก็แค่ละคร อย่าไปอะไรกับมันมาก'

แต่พอเราดูพวกหนังฝรั่ง หนังที่ต้องคิดตามหน่อย
อย่างพวก bones , body of proof , Ncis , Criminal mind
เค้าจะแบบ ดูไม่รู้เรื่องอ่ะค่ะ ดูไม่เข้าใจ มันประเทืองปัญญามากไปมั้ง = ="

แต่คนไทยจำนวนมากก็ยังชอบดูละครรักๆเบาสมองอยู่ดี

ปล. ขนาดละครที่สร้างจากนิยายสนุกๆที่หลายคนคงรู้จักดียังกลายเป็นละครลูกกวาดมาแล้วเลย ทำใจเสียเถิด

0
Sweet dreaM 25 ก.พ. 58 เวลา 18:03 น. 19

นึกถึงเวลาอ่านนิยายแล้วเจอบทมีสาระ เราก็ชอบอ่านข้ามๆไปทุกที 
ไม่ค่อยเจอเรื่องที่อ่านแล้วสอดแทรกไปได้ไม่น่าเบื่อเลยค่ะ

พอมาแต่งเองถึงเพิ่งมารู้สึกว่าไม่ใช่ง่ายๆที่จะออกมาได้แบบนั้น  แต่มันก็ท้าทายไปอีกแบบนะคะ

//บางทีเจอแบบที่พูดฉอดๆมาเป็นพารากราฟก็เซ็งเหมือนกัน ทั้งในนิยายแล้วก็ละครเลย (ถึงอย่างหลังจะไม่ค่อยเจอก็เถอะ โดยเฉพาะละครไทยอะนะ) 

0
originalBlueSin 25 ก.พ. 58 เวลา 18:06 น. 20
อ่านแล้วทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่พระเอกทำขนมครกขายส่ง ตอนแรกก็ขายดี ๆ แต่อยากให้มันดีมากขึ้นเลยถามความเห็นคนอื่น ได้ความเห็นมาว่าให้ใส่สาระลงไปในขนมครกด้วย พระเอกก็พาซื่อเลยใส่วิตามินและสารอาหารที่มีประโยชน์ลงไปในขนม ปรากฏว่าขนมโดนตีกลับหมดเพราะสาระไม่ใช่สิ่งที่สังคมอยากได้ คนรับขนมไปขายต่อขายไม่ได้สุดท้ายก็ต้องมาขายขนมแบบเดิมซ้ำ ๆ ซาก ๆ ใส่สีใส่กลิ่นที่ถูกใจคนทั้งที่เนื้อในของมันเป็นแค่แป้งธรรมดา

ความจำผมอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่จำได้ประมาณนี้

ใส่สาระเข้าไปในละครนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่คนที่ไม่ต้องการสาระจากละครก็คงไม่สนใจเท่าไร น่าเสียดายที่คนชอบดูละครส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่ต้องการสาระจากละครเสียด้วย เมื่อเห็นว่าใส่สาระเข้าไปแล้วเสียเปล่าคนลงทุนก็พยายามตัดสาระออกลดต้นทุนเพื่อให้ได้ผลกำไรมากที่สุด

ไม่ใช่ว่าผมดูถูกคนที่ดูละคร แต่โดยมาตรฐานคนที่ดูละครในประเทศเราเป็นส่วนมากตอนนี้ไม่ต้องการสาระจากละคร พวกเขาเห็นว่าสาระและความรู้ควรอยู่ในหนังสือเรียนหรือสารคดีเท่านั้น เขาต้องการความบันเทิงเพียงอย่างเดียว

ผู้สร้างละครเองก็เห็นผลกำไรมาก่อนสิ่งอื่น ในเมื่อทำละครแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ก็ได้เงินแบบไม่ต้องเสี่ยง พวกเขาจึงไม่เห็นความจำเป็นต้องดิ้นรนหาสิ่งแปลกใหม่เข้ามาใส่ในละครของตัวเอง

ผู้สร้างที่มีจิตสำนึกต่อสังคมก็มีน้อยเหลือเกิน ไม่ก็ล้มหายตายจากไปหมดเพราะไม่สามารถเอาตัวรอดในโลกของละครน้ำเสียในประเทศไทยได้สำเร็จ

ผมคิดว่าวิธีการแก้ปัญหาคงต้องเริ่มจากการพัฒนาคุณภาพประชากรในประเทศให้จริงจัง เมื่อประชากรมีความรู้มีความเข้าใจมากขึ้นก็จะต้องการละครที่ลึกล้ำซับซ้อนน่าสนใจมากขึ้น สุดท้ายผู้ผลิตก็ต้องพยายามคิดหาของใหม่ ๆ มารองรับประชากรที่พัฒนาตัวเองขึ้น
0