Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

3 แง่คิดการทำงานที่เราควรเรียนรู้จากการแข่ง FORMULA 1

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

1. การไปสู่อันดับหนึ่ง คือการใส่ใจทุกรายละเอียด

สำหรับพวกเรา การเร็วขึ้นเพียง 1 วินาทีหรือครึ่งวินาทีคงเป็นเรื่องที่ดูไม่ได้รู้สึกอะไร แต่สำหรับทีม Formula 1 แล้วมันถือเป็นเรื่องที่สำคัญเอามากๆ และทั้งทีมก็พยายามอย่างมากเพื่อจะลดเวลาต่อรอบแม้จะเพียงเสี้ยววินาทีก็ยังดี และนั่นนำมาสู่กระบวนการคิดกันทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะการทดสอบเครื่อง วัสดุ น้ำมัน เรียกได้ว่างัดกันทุกรายละเอียดของรถแข่งกันมาคิดเลยว่าจะทำยังไงเพื่อลดเวลาลงไปให้ได้

กระบวนการคิดที่พยายามไปให้เกินขีดจำกัดเดิมนั้นเป็นเรื่องที่น่าจะชวนเหนื่อยสำหรับคนทำงานอยู่ไม่น้อย แต่แน่นอนว่าการทำให้ได้อย่างนั้นย่อมนำไปสู่การพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด ยิ่งเมื่อต้องแข่งกับคู่แข่งที่อยู่ในฐานะเดียวกันแล้ว คนทำงานทุกคนจึงต้องพยายามกันอย่างสุดความสามารถที่จะเอาชนะวิธีแบบเดิมๆ เพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่าให้ได้

ผมว่าเรื่องนี้ก็เหมือนกับการทำงานอยู่เหมือนกัน ถ้าบริษัทไหนพยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา ปรับปรุงอย่างไม่หยุดนิ่ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือบริษัทจะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง (และนั่นไม่ใช่เรื่องของผลกำไรแต่อย่างใด) แต่ในทางกลับกัน ถ้าบริษัทไหนทำงานกันประเภทเรื่อยๆ หรือเอาแค่ทรงตัวไปเรื่อยๆ มันก็จะไม่แปลกถ้าประสิทธิภาพการทำงานจะคงที่ ไม่ดีขึ้น และไม่ช้าก็จะกลายเป็นตามหลังคนอื่นๆ เอาเสียได้ง่ายไป



2. หัวใจสำคัญคือทีมงาน

แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีอัศจรรย์แค่ไหนใน Formula 1 แต่แทบทุกคนบอกว่าหัวใจความสำเร็จคือ “คน” และ “ทีมงาน” โดยในแต่ละทีมอาจจะมีทีมงานมากถึง 500-600 คนในการพยายามหาวิธีให้รถของทีมตัวเองเป็นรถที่ดีที่สุดให้ได้ และเหล่าวิศวกรต่างๆ ก็ระดมสมองกันอย่างสุดความสามารถ

แต่ใช่ว่ารถที่ดีจะเพียงพอกับการชนะ ทีมงานเบื้องหลังที่อยู่ใน Pit รวมถึงทีมวิเคราะห์ข้างสนามก็ต้องประมวลผลและเตรียมแผนการต่างๆ ให้ดีที่สุดเพื่อจะสามารถทำเวลาได้เร็วที่สุด นั่นรวมไปถึงนักแข่งเองที่ก็ต้องรับผิดชอบในส่วนของการขับให้ดีเยี่ยมด้วย

พอเป็นแบบนี้ จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของการแข่งขันไม่ได้วัดกันแค่นักแข่งเพียงอย่างเดียว ทีมงานข้างหลังทุกคนล้วนมีส่วนสำคัญกับทุกรายละเอียดที่จะเกิดขึ้น ผมมักหยิบเรื่องการเข้า Pit Stop มาเป็นเคสให้เห็นของการทำงานแบบทีมเวิร์คที่สมบูรณ์ว่าคืออะไร

แต่ที่น่าตลกอยู่บ้างคือพอเราทำงานกันในองค์กรจริงๆ นั้น เรามักจะมองเรื่องทีมเวิร์คกันแค่คนที่เราทำงานด้วยประเภทเอาแผนกตัวเองเป็นสำคัญ แต่จริงๆ แล้วคำว่าทีมนั้นรวมไปถึงคนอื่นๆ ในองค์กรที่แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง แต่เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของงานเช่นกัน ถ้าการทำงานระหว่างทีมสามารถประสานกันได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าองค์กรก็จะเคลื่อนไปได้รวดเร็ว แต่ในทางกลับกัน ถ้าระหว่างทีมด้วยกันไม่เข้ากันแล้ว ผลที่มักจะเกิดขึ้นก็คือต่างคนต่างทำงานให้ตัวเองเสร็จ แต่ไม่ได้สนใจคนอื่นๆ หรือคิดแทนคนอื่นไปเสียหมด และนั่นทำให้องค์กรชะงักกันได้ง่ายๆ


3. รถแต่ละคัน ออกแบบมาเพื่อนักขับแต่ละคน

จริงอยู่ว่าทีมงานสามารถทำรถให้แรงสุดๆ ดีสุดๆ ก็คงไม่ยากอะไร แต่การทำให้นักขับแต่ละคนสามารถขับออกมาให้ดีที่สุดนั้นก็เป็นอีกเรื่อง เพราะนักขับแต่ละคนก็มีวิธีการขับแตกต่างกัน มีนิสัยหรือเทคนิคต่างกัน และนั่นทำให้ทีมงานต้องพยายามปรับแต่งรถให้เข้ากับนักแข่งคนนั้นให้ดีที่สุด แทนที่จะสร้างรถออกมาแบบเน้นสเปคเวอร์ๆ แต่คนขับไม่ถนัดเลย

เรื่องแบบนี้ผมออกจะคุ้นๆ กับการทำงานหลายๆ อย่างอยู่พอสมควร เพราะเรามักจะมี “วิธีการ” หรือ “แบบแผน” บางอย่างที่เอาไปใช้ครอบการทำงานของคนอื่นๆ ประเภทจัดระบบให้เพื่อให้มีประสิทธิภาพ สร้างเครื่องมือโน่นนี่ขึ้นมาโดยหวังว่าจะทำให้คนทำงานสามารถทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม

แต่จริงๆ มันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไปเพราะคนทำงานแต่ละคนก็ล้วนมีนิสัยและมีทักษะที่แตกต่างกัน

พอเป็นแบบนี้ การเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารที่ดี จึงต้องมองให้ออกว่าองค์กรของตัวเองอยู่ในสภาพไหน คนทำงานของเราเป็นอย่างไร เราพร้อมจะใช้ระบบหรือวิธีบริหารแบบที่องค์กรอื่นใช้จริงหรือเปล่า? เพราะบางทีสิ่งที่ดีกว่าคือการประยุกต์และสร้างระบบของตัวเองที่สามารถทำให้คนทำงานแสดงศักยภาพได้มากที่สุด ทำงานมีประสิทธิภาพที่สุดต่างหาก

เอาจริงๆ ผมยังมีแง่คิดอีกหลายอย่างที่ได้จากสนามแข่ง Formula 1 ซึ่งเดี๋ยวคงเอาไว้เขียนต่อในบล็อกถัดๆ ไปแล้วกันนะครับ

ขอขอบคุณ Exness สำหรับการสนับสนุนการชม Formula 1 ครั้งนี้ด้วยครับ :)

แสดงความคิดเห็น

>