Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ว่าด้วยเรื่องตัวละครที่พูดคนเดียวในนิยาย

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
บอร์ดเงียบ...

คิดว่าเขียนอะไรบ้างให้เปลืองเนื้อที่บอร์ดบ้างดีกว่า...

พี่สาวนั่งดูรายการ "จิกหน้าจอ" แล้วเขาพูดถึงเรื่องตัวละครที่พูดคนเดียวอยู่พอดี เลยหยิบมาคุยบ้าง แต่คุยในฐานะที่มันอยู่ในนิยาย

ก่อนอื่น อธิบายก่อนว่าการพูดคนเดียวในละคร มันมีศัพท์เทคนิคว่า Soliloquy หรือ Monologue (แล้วแต่จะเรียก) ขอรับ ใช้เพื่อกล่าวถึงเทคนิคหนึ่งในละคร (หนัง หรือละครเวที) ที่เป็นการพูดคนเดียว เพื่อให้คนดูได้ทราบว่าตัวละครกำลังคิดอะไรอยู่ เพราะตัวละครที่อยู่บนเวที คิดอะไร คนดูจะเห็นแค่สีหน้าเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าเนื้อความในใจคืออะไร คนเขียนบทละครจึงจำเป็นต้องให้ตัวแสดงพูดความรู้สึกนึกคิดของตนออกมาเพื่อให้คนดูเข้าใจ

(สามารถอ่านคำจำกัดความ และคำอธิบายเพิ่มเติมได้ในเน็ตขอรับ มีเยอะแยะ)

Soliloquy หรือ Monologue ในระดับหนึ่งคือความไม่เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์ปกติทั่วไปเขาไม่ค่อยทำกัน เพราะแลดูเหมือนคนบ้าที่พูดคนเดียว คือ บางคนอาจจะพึมพำกับตัวเองในชีวิตประจำวันบ้าง แต่เวลาที่พูดคนเดียวในละคร จะออกแนวพูดเป็นเรื่องเป็นราวจนน่ากลัวว่าใครเดินผ่านไปผ่านมาอาจไม่กล้าเข้าใกล้

ใช่ว่าคนทำละครจะไม่รู้ถึงความไม่เป็นธรรมชาตินี้ แต่สุดท้ายมันก็จำเป็นต้องมี เพราะไม่งั้นเรื่องมันจะดำเนินต่อไปได้ยาก ดังนั้นบางครั้ง เมื่อถึงบทที่ตัวละครจะต้องกล่าวความในใจ นักแสดงจะแยกตัวออกมาจากจุดที่ยืนปกติแล้วหันมาทางคนดู โดยที่นักแสดงคนอื่นอาจจะไม่มีการเคลื่อนไหว คล้ายกับเวลาถูกหยุดไว้ และอาจจะมีแสงไฟช่วยตรงที่บริเวณอื่นมืด เหลือแต่ไฟส่องมาที่ตัวแสดงที่ต้องพูด Monologue เป็นการทำให้คนดูเห็นชัดๆ ว่า ณ เวลานี้ นักแสดงกำลังพร่ำความในใจอยู่นะ ทำให้ความไม่เป็นธรรมชาติดังกล่าว กลายเป็นสิ่งที่คนดูพอจะยอมรับได้

อธิบายมาซะยืดยาว เพื่อให้เห็นข้อจำกัดของละคร ในเรื่องที่นักแสดงจะต้องกล่าวความคิดเห็นของตนเอง เพราะมันไม่ได้มี Subtitle มาวิ่งให้ดูว่าตัวละครกำลังคิดอะไรอยู่

แต่นิยายมันไม่ใช่...

นิยายเป็นงานที่สามารถบอกให้คนดูรู้ได้ว่าตัวละครกำลังคิดอะไรอยู่ มีความฝัน มีความหวัง มีทัศนคติอย่างไรในนั้น ถ้าจะเกิดข้อจำกัดขึ้น นั่นแปลว่าเป็นข้อจำกัดที่คนเขียนเลือกที่จะสร้างขึ้นมาเอง ตั้งใจทำเอง เช่น การใช้ First person point of view (บรรยายโดยใช้ "ฉัน") ซึ่งนั่นทำให้เราไม่ทราบว่าตัวละครคนอื่นๆ คิดอย่างไร

พูดง่ายๆ ก็คือ Soliloquy หรือ Monologue ไม่ใช่ของจำเป็นที่ใส่เข้ามา และเผลอๆ เมื่อใส่เข้ามา มันยิ่งดูไม่เป็นธรรมชาติอย่างยิ่งขอรับ ก็เหมือนกับชีวิตจริงที่เราคงไม่มาพูดความในใจของเราออกมาเสียยืดยาว ฉันใดฉันนั้นขอรับ

ถามว่าแล้วมีได้ไหม จริงๆ ก็มีได้ขอรับ หลายเรื่องก็ใช้เยอะทีเดียวเชียวแหละ

ทีนี้จะบอกว่า ก่อนจะใช้ ขอให้ท่านไตร่ตรองดีแล้วว่าท่านมีเหตุผลเพียงพอที่จะใส่ความไม่เป็นธรรมชาตินี้ลงมาในงานเขียนของตัวเอง คนอ่านที่อาจขัดหูขัดตาอยู่ อาจจะพอใจมากขึ้นเมื่อพบว่าจริงๆ แล้ว ใช่ว่ามันจะไม่มีเหตุผลอยู่เบื้องหลัง เช่น การที่เลือกใช้ First person point of view เราจะไม่รู้ว่าใครคิดอย่างไร ดังนั้น ตัวละครที่อยู่แวดล้อมตัวเอก อาจจะต้องออกแนวพึมพำอะไรออกมาบ้างให้ตัวเอก (และคนอ่าน) ได้ยิน ความไม่เป็นธรรมชาตินี้ อาจจะทำให้คนอ่านเข้าใจ และปล่อยผ่านไปโดยที่เผลอๆ เขาไม่รู้สึกถึงความผิดปกติดังกล่าวเลยด้วยซ้ำ

จริงๆ เรื่อง Soliloquy หรือ Monologue ข้าน้อยเคยพูดถึงอยู่บ้าง แต่จำไม่ได้ว่าละเอียดขนาดไหน ก็เลยหยิบมาพูดถึงอีกครั้งละกันขอรับ

===================================

อ้อ...ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอพื้นที่โฆษณาเล็กน้อยขอรับ พอดีแปะนิยาย แล้วก็ลบ แต่มีเหตุที่จะต้องมาแปะอีกแล้ว ไปอ่านดูได้ขอรับ เขียนจบแล้วล่ะ และคิดว่าคงจะลบอีกไม่นานนี้อีกรอบขอรับ

สืบสวนสุขสันต์ ตอน กวางน้อยผจญภัย

http://my.dek-d.com/peiningreader/writer/view.php?id=1140952

แสดงความคิดเห็น

>

10 ความคิดเห็น

MuI2asaki [紫] 2 ก.ค. 58 เวลา 22:26 น. 1

เด็ดมากค่ะ พี่เป่ยเป่ย

ส่วนมากถ้าตัวเอกคิดในใจ มู่ก็จะให้เป็นลักษณะของประโยคที่คิดในใจ
มากกว่าจะเขียนบรรยายออกมาเป็นคำพูด...

เคยอ่านเหมือนกัน ที่ตัวละครพูดคนเดียว สบถอยู่คนเดียว ฟินอยู่คนเดียว
มันให้ความรู้สึก...
เออ...อินี่ก็เพี้ยนๆ ดีเหมือนกัน
55555+

3
peiNing Zheng 3 ก.ค. 58 เวลา 20:47 น. 1-3

คอมเมนต์นี้ทำให้ตัวเองรู้สึกแก่ขึ้นมาทันควันขอรับ (ต้องรับความจริงสินะ) TvT

0
Reone 2 ก.ค. 58 เวลา 22:37 น. 2

เพราะต้องมี Soliloquy จึงจะเกิดเป็นละคร ในมุมมองข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ามองว่า การเขียนนั้นง่ายกว่าการแสดงละครเสียอีก

แต่ว่าขึ้นอยู่กับลักษณะการเขียนให้สัมพันธ์กันด้วยนะคะ
การเขียนแบบสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ความจริงมากยากมากนะ เขียนแบบนี้
เพราะไม่อาจใส่แนวคิดคนอื่นได้เลย เพราะมันขัดมากมาย

การพึมพำส่วนตัวข้าพเจ้าคิดว่าเอามาผสมผสานกับการใช้มุมมองพระเจ้า
ก็ไม่น่าจะขัดเท่าไร เช่นในหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ 


(เรา... ขอโทษค่ะ เข้ามาบ่นอะไรก็ไม่รู้ ><)



1
peiNing Zheng 3 ก.ค. 58 เวลา 20:53 น. 2-1

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านขอรับ

เขียนนั้นง่ายกว่าแสดงละครหรือเปล่า ข้าน้อยก็ไม่รู้เหมือนกันแฮะ เพราะมันใช้คนละทักษะกัน (จะว่าไป แล้ว พออ่านความเห็นของท่าน ทำให้นึกถึงสมัยเรียนขึ้นมา ข้าน้อยก็เคยแสดงละคร Thesis ของคณะเหมือนกัน และเหมือนประชดเล็กน้อยตรงที่ บทที่ข้าน้อยแสดง คือ Monologue เสียด้วยสิ)

ที่จริง Monologue ก็มีได้ในนิยายแหละอย่างที่บอกไปขอรับ ทีนี้ถ้าใช้เนียน คนอ่านก็จับไม่ได้หรอกว่ามันผิดธรรมชาติ แต่ประเด็นคือ บางทีมันไม่เป็นธรรมชาตินี่สิ ถึงได้พยายามจะเขียนบอกเพื่อให้ใคร่ครวญมากขึ้นก่อนจะใช้มันขอรับ ^^"

0
peiNing Zheng 3 ก.ค. 58 เวลา 20:55 น. 3-1

ถ้าถามข้าน้อย ข้าน้อยว่าสมัยนี้คนเห็นอาจจะเฉยๆ ก็ได้ขอรับ

ปล. เดี๋ยวนี้คนใช้หูฟังกับบลูทูธเยอะ จนคนเริ่มเฉยๆ เวลาที่มีใครสักคนพูดคนเดียว ^^"

0
Death With Love 2 ก.ค. 58 เวลา 23:31 น. 4

เข้ามาเสพความรู้ และรับข่าวการกลับมาของครอบครัวสุขสันต์ (ฮา)
เอ๋.. ทำไมกลับมาลงอีกครั้งได้ละครับ ลงแล้วลบไปหลายครั้งนี่เป็นเคล็ดอะไรหรือเปล่า (จะได้เลียนแบบ)

// เตรียมอ่านครอบครัวสุขสันต์รอบที่ 3 (จขกท.เตะตัดขา ชื่อว่าสืบสวนสุขสันต์ต่างหาก)

1
peiNing Zheng 3 ก.ค. 58 เวลา 21:01 น. 4-1

เรื่องลบแล้วลบอีกนี่ไม่มีอะไรเลยขอรับ

ครั้งแรกที่ลบ เอาไปให้สนพ. พอมีกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือชาวเนปาล ก็เลยเอามาแปะร่วมกิจกรรม แล้วค่อยลบออก ครั้งนี้เอากลับมาแปะใหม่เพราะอยากไปร่วม Workshop เรื่องการเขียนของเวบนี้ เขามีกติกาว่าจะต้องมีเรื่องอย่างน้อย 10 ตอน ซึ่งข้าน้อยไม่่มีเรื่องยาวแปะในนี้เลย เลยต้องเอามาแปะใหม่อีกรอบหนึ่ง

การลงกับการลบนิยายของข้าน้อยไร้สาระมากขอรับ อย่าเลียนแบบเลย TvT

ปล.ขี้เกียจเตะขอรับ แก่แล้ว

0
แมวตัวนี้สีดำ 3 ก.ค. 58 เวลา 02:33 น. 5

เผื่อใครสนใจงานเขียนที่มี monologue ล้วน ๆ แนะนำ เรื่องสั้นของ Samuel Beckett มีชุดรวมเรื่องสั้นขนาดยาว (novella) ชื่อ: รักแรก และเรื่องสั้นอื่น ๆ ของสำนักพิมพ์สมมติ ครับ การเล่าเรื่องนี้มีลักษณะเป็นภาษาพูด โดยที่ผู้เล่าเรื่อง (nartator) เล่าไปเรื่อย ๆ แต่ด้วยชั้นเชิงลีลาและความสามารถและด้วยวิธีการเขียน ทำให้ตัวละครมีความลึก ทั้ง ๆที่เขียนแบบสั้น ๆ เป็นการเล่าแบบภูเขาน้ำแข็ง (คือเล่าเฉพาะส่วนด้านบนอย่างเดียว) แล้ว แต่ตัวละครลึกและเอาแน่เอานอนไม่ได้  ซึ่งน่าสนใจมาก (เป็นการเล่าแบบบุรษที่สาม)

อย่างงานของ Joseph Conrad เรื่อง Lord jim กับ Heart of Darkness ตัวละครพูดเล่าทั้งเรื่อง (คนเขียนตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น) ซึ่งบางทีการเล่าเวลาก็ไม่ประติดประต่อกัน อันนี้แนะนำ

หรือ The Old man and the sea ของ Ernest Hemingway เรื่องนี้ไม่ใช่ monologue ทั้งเรื่อง แต่ก็เขียนได้ดีและน่าศึกษาการใช้ monologue อยู่เหมือนกัน

ทั้งหมดมีแปลไทยหมดแล้ว ก็มีงานบางชิ้นที่แหวกฏการเขียนอยู่มากเลย และผมว่าเราน่าจะสนใจงานแขนงต่างๆให้กว้าง ที่จะสามารถกอปรเข้ากับทฤษฎี หรือความเห็นทางด้านการเขียนด้วย มีการยกตัวอย่างตัวบทต่าง ๆขึ้นมาพูดอย่างจริง ๆจัง ๆจะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เพราะบางทีความเห็นบางอย่างทางการเขียนมันเป็นอย่างนี้ แต่ก็มีหนังสือบางเล่มที่ไม่เป็นอย่างนั้น อันนี้น่าสนใจอยู่ทีเดียวครับ เช่นการเขียนของ Hemingway เป็นการเขียนที่ตัดเสียงผู้เล่าให้เป็นภววิสัยที่สุด หรือ Show มากกว่าที่จะ Tell แต่งานเขียนดี ๆยุคเก่า เช่น Jane Austen,F.Dostoevsky, Charlotte Bronte ไม่เขียนแบบภววิสัย แต่เป็นนิยายที่ดี ซึ่งก็เป็นหัวข้อน่าศึกษาและพูดคุยกันอยู่

ผมว่าเราน่าจะมีหัวข้อและประเด็นต่าง ๆกันบ่อย ๆ เพราะผมไม่ค่อยอยากแสดงความเห็นวิธีการเขียนว่าควรเขียนยังไงมากนัก เพราะมันเป็นอัตวิสัยเสียมากกว่า ไม่อยากทำให้มันกลายเป็นความจำกัดทางการเขียน แล้วพอศึกษาดูลึก ๆแล้ว การเขียนไม่มีกฏตายตัวเอามาก ๆ แต่ก็พอจะแนะแนวทางกันได้อยู่ -- คือ; อยากให้มีการพูดหัวข้อลงไปในตัวบทเอามาวิเคราะห์กันเป็นเนื้อ ๆไปเลย เช่น การเล่าของเรื่องนี้ ทำไมเล่าอย่างนี้ การตัดฉากตัดมุมมองเล่าอย่างนี้มันดียังไง ช่วยให้เรื่องเร็วขึ้น หรือการเขียนกระแสสำนึกตรงนี้ มันมีความลึกยังไงบ้าง และการพูดถึงตัวบทที่ beyond ตัว Text ออกมา อย่างงานเขียนหลังสมัยใหม่ มันมีอะไรน่าสนใจให้ศึกษาอยู่ทีเดียวครับ

ผมว่าทางเด็กดีน่าจะมีการวิเคราะห์ตัวบทงานเขียนออกมาสัปดาห์ละครั้ง ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องหนัก ๆ แต่เป็นแนวเรื่องตามกระแสนิยมก็ได้ เรื่องสั้นก็ได้ เอามาวิเคราะห์วิธีเล่า ขูดออกมาเป็นท่อน ๆ เป็นเนื้อ ๆ ในรายละเอียดของตัวบทไปเลย เพราะเดี๋ยววิธีการเขียนมันจะอยู่ในนั้น และมันจะมาได้เอง -- อีกอย่างทำให้เป็นแนวทางสนับสนุนสำหรับคนอยากวิจารณ์งานเขียนด้วย เรามีคนอ่าน มีคนเขียน แต่มีคนวิจารณ์ (เป็น) น้อย อันนี้ก็น่าสนใจอยู่


*เพิ่มเติม

ผมว่าการไปพูดถึงตัวบทเลยมันดีอย่างหนึ่ง คือเราไม่ต้องบอกว่าควรเขียนอย่างนี้ ไม่ควรเขียนอย่างนี้ แต่เป็นการวิเคราะห์และศึกษาการเขียนไปเลย ไม่มีการพูดว่าต้องทำอย่างนี้นะหรือไม่ควรทำอย่างนี้นะ แต่จะให้ผู้อ่านงานวิเคราะห์นั้น ๆได้คิดเอาเอง ว่าเขาจะเอาไปใช้หรือเปล่า (ถ้าไม่เอาไปใช้ก็จะได้รู้ว่า เออ ยังมีการเขียนอีกแบบด้วย เป็นคลังเก็บเอาไว้) ผมว่ามันให้อะไรได้มากกว่าการแนะนำที่มักทำกันอยู่ เช่น 'กฏการเขียน' หรือ 'วิธีการเขียน' ห้าอย่างสิบอย่างก็ว่ากันไป ซึ่งบางครั้งการเขียนในสิ่งที่ไม่ควรตามคำแนะนำ กลับเป็นวิธีบางอย่างที่น่าสนใจ แล้วอีกอย่าง มันอยู่นอกเหนือรสนิยมแต่ละคน คือถ้าใครไปแนะนำบางอย่างที่เป็นความชอบส่วนตัว เช่น "ความคิดตัวละคร ไม่ควรอยู่พารากาฟเดียวกันกับบทบรรยาย" "ไม่ควรมีเสียงผู้เล่าติดในเรื่อง" ผมว่ามันทำให้คนเที่เสพข้อแนะนำเข้าไป ซึ่งอาจเป็นมือใหม่ที่กำลังอยากรู้ จะถูกจำกัดกรอบการเขียนไปมาก    

 

1
peiNing Zheng 3 ก.ค. 58 เวลา 22:01 น. 5-1

ท่านกล่าวหลายประเด็นขอรับ ขออภัยด้วยหากข้าน้อยจะไม่ได้ตอบหรือแสดงความคิดเห็นในบางอย่าง

ก่อนอื่น Monologue ไม่ใช่กับ Narrative ขอรับ ถ้าให้ยก Definition ขึ้นมา ขออนุญาตไปหยิบรากศัพท์มากล่าวถึงก่อนละกันนะ

mono- : One; alone; single (Oxford Dictionary)
-logue : Denoting discourse of a specified type (Oxford Dictionary)

ถ้าพูดเป็นภาษาไทยแบบกำปั้นทุบดินก็คือ พูดคนเดียว

และถ้าให้อธิบายกำปั้นทุบดินยิ่งขึ้นกว่าเดิม นั่นหมายถึง ประโยคที่อยู่ในเครื่องหมาย "..." ในนิยายโดยที่ประโยคนั้น พูดกับตนเองขอรับ ยกตัวอย่างเช่น

======================================

"ว้าย สายแล้วๆ" (นี่ Monologue เป็นคำอุทาน)

นิ้งหน่องซึ่งมองนาฬิกาบนเตียงตาถลน แทบพุ่งถลาออกมาจากบ้านพร้อมแต่งตัวชุดนักเรียนโดยที่ร่างกายไม่ได้ถูกน้ำเลยสักหยด

"นิ้งหน่อง เธอนี่แย่จริงเลย นี่สายเป็นวันที่สามของเดือนแล้วนะ" เด็กสาวตำหนิตนเองพร้อมกับเขกศีรษะซึ่งปกคลุมด้วยผมสั้นสีดำสนิท (นี่ก็ Monologue) นิ้งหน่องยังคงวิ่งต่อไป แทบจะสะดุดไปตลอดทาง แต่ยังคงประคองตัวไว้ได้

ตายแล้ว ประตูจะปิดแล้ว...นิ้งหน่องคิดอย่างร้อนรนเมื่อเห็นรั้วโรงเรียนอยู่ลิบๆ เธอก้มลงมองนาฬิกาไปพลาง เพ่งที่ประตูโรงเรียนไปพลาง (ตรงนี้ไม่ใช่ Monologue เพราะไม่ได้พูดออกมาเป็นคำพูด แค่คิดเฉยๆ)

============================

ถามว่าใช้คำจำกัดความแบบนี้เอาดื้อๆ เลยหรือ ประโยคที่อยู่ใน "..." น่ะนะ ก็ดื้อๆ แบบนั้นแหละขอรับ เพราะจริงๆ Monologue เป็นศัพท์ของพวก Play ขอรับ ไม่ใช่ในนิยาย แต่ถ้าไปอ่านบทละคร บางทีไม่ได้มีเครื่องหมาย "..." หรอกขอรับ เพราะในบทละคร ส่วนมากเป็นบทพูดในตัวอยู่แล้ว จึงไม่ต้องมีเครื่องหมายเพื่อแยกอะไรมากมาย ยกเว้นบางจุดที่มีไว้บอกฉาก บอกองก์ บอกว่านักแสดงต้องออกจากฉากไป เป็นต้น

ดังนั้น Narrative กับ Monologue ไม่เหมือนกันขอรับ

สำหรับเรื่องการพูดถึงในแง่ที่แนะนำว่า ควรเขียนแบบนั้น ไม่ควรเขียนแบบนี้ ข้าน้อยไม่แน่ใจว่า นักอ่านนักวิจารณ์ท่านอื่น เป็นอย่างไร แต่ถ้าส่วนตัวข้าน้อยที่กล่าวถึงเรื่องเทคนิคการเขียน มันสั่งสมมาจากการอ่านงานลึกซึ้ง และงานชั้นมือใหม่ ทำให้เห็นว่าแบบไหนที่อยากจะแนะนำ เผื่อว่านักเขียนจะสามารถนำไปพัฒนาตนเองได้ ในระยะเป็น 10 ปีที่ข้าน้อยได้เห็นมา ตอนนี้ข้าน้อยเห็นด้วยกับท่าน เพราะงานเขียนรุ่นใหม่ ไม่ได้เกิดมาจากการสั่งสมการอ่านงานเขียนชั้นครูจนตกผลึกมาพออีกต่อไป แต่เกิดจากการนั่งใฝ่หาเทคนิคต่างๆ เทคนิคไหนที่คนบอกว่ามีประสิทธิภาพก็หยิบมาใช้กัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว งานเขียนชิ้นหนึ่ง มันมีอะไรมากกว่านั้นมาก การมีเทคนิคแพรวพราว ก็เหมือนกับเค้กที่มแต่ครีมฟูๆ ดูสวยงาม แต่เนื้อเค้กมีนิดเดียวเท่านั้น (แต่บางคนก็ชอบเค้กฟูๆ นะ บางคนก็ชอบเค้กเนื้อตันๆ แล้วแต่คน)

ถึงจะรู้สึกแบบนั้น แต่เวลาเห็นอะไรที่อ่านแล้วสะดุดใจ ก็อดไม่ได้อยู่ที่จะนำมาพูดถึง เผื่อให้คนเขียนได้เอะใจ และได้มีโอกาสไตร่ตรองมากขึ้น บทความที่ข้าน้อยเขียน ส่วนมากไม่ได้ตั้งใจจะสั่งสอนว่าแบบนี้ดีนะ ทำสิ แบบนี้ไม่ได้หรอก อย่าได้ทำเด็ดขาด ตามที่ท่านกล่าวไว้ มันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล งานเขียนไม่มีกฎตายตัว เพราะคนเขียนวาดวิมานบนอากาศ แต่ความต่างของคนเขียนแต่ละคนคือ ใครสามารถทำให้คนอ่านเชื่อได้ว่า วิมานในอากาศนั้นเป็นจริงได้มากกว่ากัน และการที่จะทำให้มีคนเชื่อได้ ส่วนหนึ่งคือ การสร้างความเชื่อให้กับคนอ่าน ข้าน้อยจึงมักย้ำว่า มีน่ะมีได้ แต่ควรมีเหตุผลที่รองรับเพียงพอที่จะทำให้คนอ่านเชื่อขอรับ

สำหรับเรื่องบทวิเคราะห์งานเขียนอาทิตย์ละครั้ง ถ้าคำว่า "เด็กดี" ของท่านหมายถึงทาง Web Master ท่านลองตั้งกระทู้เสนอทาง Editor ดูก็ดีขอรับ แต่ถ้า "เด็กดี" ท่านหมายถึงผู้ร่วมบอร์ด ท่านลองตั้งกระทู้ยกในประเด็นที่ท่านได้พบดูก็ได้ขอรับ อาจมีผู้ร่วมบอร์ดท่านอื่นๆ สนใจร่วมสนทนาด้วย

ปล. ข้าน้อยไม่แตกฉานภาษาไทยนัก (อย่างที่ข้าน้อยออกตัวมาตลอดว่าไม่เก่งภาษาไทยเลยเพราะไม่ได้เรียนมาสิบกว่าปีแล้ว) คอมเม้นต์ของท่านใช้ศัพท์ยากอยู่ขอรับ ข้าน้อยอ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ถ้าข้าน้อยตอบกระทู้แบบงงๆ หรือเข้าใจผิด ข้าน้อยขออภัยล่วงหน้านะขอรับ


0
เคย์เซย์ 3 ก.ค. 58 เวลา 03:17 น. 6

การเขียนความคิดตัวละครส่วนมากจะผสานไปในบทบรรยายมากกว่า มีบ้างที่เขียนแบบเจาะจงว่านั่นเป็นความคิดของเจ้าตัวเอง โดยส่วนมากจะแบ่งเป็นย่อหน้าๆ ไป อันไหนความคิด อันไหนบรรยายอย่างอื่น ถ้าอ่านดีๆ ก็แยกได้ไม่ยาก ต่อให้ไม่ได้ใช้คำสรรพนามแทนตัวก็ตาม

ปัญหาก็คือ นักเขียนหน้าใหม่ประสบการณ์ยังน้อย ยังไม่ค่อยรู้ว่าจะทำแบบไหนดี ยิ่งอ่านน้อย แต่ดูมากจะเจอปัญหาแบบนี้เยอะ ใส่ไม่ถูก หาทางไปไม่เป็น เลยออกมางงๆ เง็งๆ ก็มา เรื่องนี้ต้องอ่านให้มากขึ้น จะดูเท่าเดิมก็ได้ ไม่ใช่ปัญหา เรียนรู้การเขียนด้วยการอ่านจะได้ผลดีกว่าด้วยการดู 

1
peiNing Zheng 3 ก.ค. 58 เวลา 22:08 น. 6-1

จริงขอรับ ขึ้นอยู่กับการสั่งสมประสบการณ์การอ่านของคนเขียน บอกตามตรง จากที่ข้าน้อยอ่านงานของคนเขียนเริ่มต้นในแต่ละรุ่น (นับสิบปี) เกิดเคสที่ข้าน้อยไม่คิดเหมือนกันว่าจะได้หยิบยกมาพูด แม้แต่เรื่อง Monologue ก็เหมือนกัน

ที่จริงงานก่อนหน้านี้ ข้าน้อยไม่เคยรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมชาตินี้เท่าไร อาจเพราะคนเขียนใช้ในสถานการณ์ที่ทำให้คนอ่านรับได้ และไม่รู้สึกผิดปกติ แต่ไม่รู้ว่าทำไมหลังๆ ความไม่เป็นธรรมชาตินี้สะดุดตาตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม น่าจะเป็นอย่างที่ท่านว่าไว้ บางทีคนเขียน "ดู" มากกว่า "อ่าน" ก็เป็นได้ เพราะจังหวะการเล่าของสองแบบนี้ไม่เหมือนกัน

0

ความคิดเห็นนี้ถูกลบ

ถูกลบโดยเจ้าของความเห็น

ตามนั้น 3 ก.ค. 58 เวลา 14:21 น. 8

เคยอ่านนิยายที่ตัวละครคิดในใจทั้งเรื่อง

แบบใส่มาอยู่ในรูปประโยค 'ทำไมเขาถึงได้ใจร้ายกับฉันอย่างนี้ ทำไมอย่างนั้น อย่างนี้ คนนู้นคนนี้ บลาๆๆ' จนอ่านแล้วรำคาญ เพราะบางทีพูดแค่ 2 บรรทัด แต่พี่แกเล่นบรรยายความคิดไป 5 บรรทัด สลับอย่างนี้ไปทั้งเรื่อง

ซึ่งอ่านแล้วไม่อิน เพราะแทนที่จะบรรยายว่าตัวละครรู้สึกยังไง คิดยังไง แต่กลับใส่มาเป็นเสียงพูดในหัวแทน อ่านแล้วสัมผัสความรู้สึกตัวละครไม่ได้ และรุ้สึกว่ามันจะคิดในใจอะไรเยอะแยะมากมาย น่ารำคาญ และเรื่องนั้นก็อ่านไม่จบด้วย

1
peiNing Zheng 3 ก.ค. 58 เวลา 22:11 น. 8-1

ข้าน้อยได้เจองานบางงานที่มีลักษณะนี้อยู่บ้าง ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องที่คนเขียนอาจจะต้องประสบการณ์มากขึ้นกว่านี้อีกนิดขอรับ

0
มัณทนา[กำลังตามหาดอพเพลแกงเกอร์] 3 ก.ค. 58 เวลา 14:24 น. 9

คือหัตถาครองพิภพ เวอร์ชั่นล่าสุด
พ่อแม่ดูไปด่าไปค่ะ
ตัวละครเกือบทุกคนพูดคนเดียวทั้งเรื่อง

1
peiNing Zheng 3 ก.ค. 58 เวลา 22:13 น. 9-1

ข้าน้อยไม่ได้ดูละครเรื่องนี้ แต่ได้ยินอยู่เหมือนกันว่า "ซันช่าย" ทั้งเรื่อง

ปล. ในรายการ "จิกหน้าจอ" คำว่า "ซันช่าย" เป็น Technical Term ที่เรียกตัวละครที่พูดความคิดตัวเอง

0
อรนามฤณ 3 ก.ค. 58 เวลา 20:33 น. 10

เพิ่งหัดเขียนนิยายแบบนี้
จบแล้ว เมื่อปีก่อน
เพิ่งมาอ่านเจอบอร์ดนี้ทีหลัง
"ทานข้าวด้วยกันไหมคะ" นางเอกถาม
"ไม่กิน ไม่ต้องยุ่ง" พระเอกตอบ
'ไม่ได้อยากคุยด้วยเสียหน่อย พูดไปตามารยาท'
"ฉันอ่านใจเธอได้ ไม่อยากคุย ก็ไม่ต้องคุย" พระเอกว่าประมาณนี้

...ถ้าเขียนนิยายแบบนี้ จะโดนคอมเมนต์ด่าหรือ?
ปล. เพิ่งเอานิยายมาลง
ยังไม่มีคอมเมนต์ ไม่มียอดวิว

1
peiNing Zheng 3 ก.ค. 58 เวลา 22:19 น. 10-1

โดนด่าหรือไม่ตอบไม่ได้ขอรับ

การมี monologue ในงานเขียน ใช่ว่าจะมีไม่ได้ แต่มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่มารองรับว่าทำให้คนอ่านเชื่อได้หรือไม่ขอรับ ถ้ามันเนียน คนอ่านก็มองผ่านเลยไป ถ้ามันไม่เนียน ก็อาจมี Feedback กลับมาก็ได้ แล้วแต่ขอรับ

ปล. Monologue ที่ข้าน้อยหมายถึงคือการที่ตัวละครพูดอยู่ในเครื่องหมาย "..." น่ะขอรับ ถ้าเป็นสัญลักษณ์ในการ์ตูน ก็คือ Speech Bubble ที่ปลายแหลม แปลว่าตัวละครเปล่งเสียงพูดอ่ะ แต่ถ้าเป็นความในใจ ก็จะเป็น Speech Bubble ที่ตรงปลายยังคงเป็นกลมๆ แปลว่าตัวละครคิด ไม่ได้เปล่งเสียงออกมาน่ะ

0