Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ฟันหลุด ออกมาจากกระดูกเบ้ารากฟัน

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ฟันหลุด ออกมาจากกระดูกเบ้ารากฟัน

เหตุฟันหลุด สุดวิสัย

หากพูดถึง “ฟันหลุด” เชื่อว่าผู้อ่านเกินครึ่งน่าจะกำลังนึกถึงฟันน้ำนมที่กำลังโยกคลอน รอวันร่วงหลุด เมื่อหน่อฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ แต่ประเด็นฟันหลุดที่หมอจุ้มจิ้มจะกล่าวถึงในวันนี้ เป็นเรื่องของ “ฟันแท้” ที่มีเหตุให้ต้องหลุดออกมาจากปากของเราค่ะ ถ้าหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเรา จะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง แล้วทางแก้ไขมีเพียงการใส่ฟันปลอมเท่านั้นหรือเปล่า ข่าวดีคือ หมอฟันพอจะมีวิธีใส่ฟันแท้ที่หลุดออกมาคืนกลับเข้าไปในปากของเราได้ค่ะ

ถึงแม้จะมีวิธีการในการใส่ฟันแท้ที่หลุดออกมากลับเข้าไปใหม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จทุกรายนะคะ เพราะยังต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งจะได้กล่าวอย่างละเอียดอีกครั้ง แต่ก่อนอื่นเรามาเริ่มต้นที่สาเหตุของฟันแท้หลุดกันดีกว่าค่ะ

ฟันหลุดมักเกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ ที่ทำให้ฟันซี่นั้นถูกกระทบกระแทกด้วยความแรงอย่างมาก ส่งผลต่อการยึดติดของรากฟันกับกระดูก ทำให้ได้รับความเสียหายจนหักฟันหลุดออกมาทั้งซี่ฟันและรากฟัน หมอฟันจะเรียกว่า “ฟันหลุดออกมาจากกระดูกเบ้ารากฟัน”

การเกิดฟันหลุดจากเบ้า (Avulsion) พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบบ่อยในกลุ่มเด็กอายุ 7-14 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่มีกิจกรรมโลดโผนมากมาย เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ได้ง่าย ทั้งการเล่นกีฬา ขับขี่ยวดยานพาหนะทั้งแบบปกติและผาดโผน หรือการชกต่อยทะเลาะวิวาทกัน เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุที่ทำให้เกิดฟันหลุดได้ทั้งสิ้น

ทำอย่างไรเมื่อฟันแท้หลุด

หลักการสำคัญที่สุดเมื่อเกิดกรณีฟันแท้หลุด คือ ต้องพยายามนำฟันซี่นั้นๆ ใส่กลับเข้าที่เดิมให้เร็วที่สุด และต้องให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อที่หุ้มอยู่บริเวณโดยรอบรากฟันให้น้อยที่สุด

 กรณีที่ฟันหลุดออกจากเบ้าฟันทั้งซี่ แต่ยังไม่กระเด็นหลุดออกมาจากช่องปาก กรณีนี้แสดงว่าฟันยังไม่ปนเปื้อนความสกปรกภายนอกช่องปากมาก ดีที่สุดคือให้รีบนำฟันใส่กลับเข้าสู่เบ้าฟันตามเดิมโดยเร็วที่สุด สำหรับการใส่ฟันกลับเข้าไปที่เดิม หากขณะนั้นมือสกปรกมาก ต้องล้างมือให้สะอาดก่อน (ระหว่างนั้นห้ามบ้วนเอาฟันออกมาข้างนอกให้อมไว้ในปาก) จากนั้นให้ใช้นิ้วมือที่สะอาดจับส่วนของตัวฟัน ห้ามจับที่รากฟันเด็ดขาด เพราะบริเวณรากฟันมีเนื้อเยื่อหุ้มอยู่ เรียกว่า เอ็นยึดปริทันต์ (periodontal ligament) และเคลือบรากฟัน (cementum) อธิบายง่ายๆ ได้ว่า บริเวณนี้มีเซลล์อยู่ ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีความสามารถในการเชื่อมติดกับเซลล์ในเบ้าฟันได้ ส่วนวิธีการใส่ฟันกลับเข้าไปนั้น ให้ลองสังเกตฟันซี่ข้างๆ ว่าวางตัวอยู่ในทิศทางแบบไหน ก็ให้พยายามใส่เข้าไปคล้ายๆ ฟันซี่ข้างเคียง ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นฟันหน้า สังเกตง่ายๆ ว่าให้หันฟันด้านที่เรียบนูนไว้ด้านนอก และหันฟันด้านที่เป็นแอ่งเว้าไว้ด้านในช่องปาก จากนั้นจับฟันใส่เข้าไปที่เดิมอย่างเบามือที่สุด ถ้าใส่ไม่เข้าอย่าใช้แรงฝืนดันเข้าไปเด็ดขาด เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ปลายรากฟันได้รับความกระทบกระเทือน หรือบางทีอาจเกิดการกระแทกกระดูกรอบๆ รากฟันร่วมด้วย

 กรณีที่ฟันกระเด็นหลุดออกมานอกช่องปาก ต้องรีบหาฟันให้เจอแล้วหยิบขึ้นมาโดยต้องระวังเหมือนเดิมคือ จับเฉพาะบริเวณตัวฟันเท่านั้น เพื่อให้กระทบกระเทือนเนื้อเยื่อรอบๆ รากฟันให้น้อยที่สุด ดูว่าบริเวณที่ฟันตกลงไปนั้นสกปรกหรือเปล่า ถ้าไม่สกปรกให้รีบจับฟันใส่เข้ายังที่เดิมในช่องปากได้เลย ถ้าบริเวณที่ฟันตกลงไปสกปรกก็ต้องทำความสะอาดฟันก่อน วิธีที่ดีที่สุดคือจับเฉพาะบริเวณตัวฟัน เอาน้ำนมจืดมาเทราดลงบนฟื้น แต่ให้ระมัดระวังส่วนผิวรากฟัน อย่าใช้นิ้วหรือวัสดุใดๆ ไปเช็ดถูบริเวณนี้ เพราะจำทำให้เนื้อเยื่อที่หุ้มรากฟันชอกช้ำหรือฉีกขาดเพิ่มขึ้น วิธีการทำความสะอาดนอกจากการเทราดแล้ว ยังอาจนำฟันมาแกว่งๆ ในน้ำนมจืดก็ได้ หากไม่มีนมจืด ที่ดีรองลงมาคือ ให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาดแทนได้ แต่ถ้าหาไม่ได้ทั้ง 2 อย่างก็ให้ใช้น้ำเปล่าทำความสะอาด แล้วรีบใส่ฟันกลับเข้าที่เดิม

สิ่งสำคัญในการทำความสะอาดฟันก็คือต้องระมัดระวังอย่าให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ รากฟันสูญหายไป พยายามรักษาเอาไว้ให้ดีที่สุด เพราะเคยทราบมาว่ามีบางคนกลัวว่าฟันจะไม่สะอาด จึงล้างและขัดฟันที่หลุดมาอย่างดี ทันตแพทย์เห็นแล้วแทบร้องไห้ เพราะความหวังที่จะใส่ฟันกลับเข้าไปให้หันทำหน้าที่ได้เหมือนเดิมแทบจะไม่มีเลย เนื่องจากไม่มีเซลล์ที่จะไปช่วยยึดรากฟันให้ติดกับกระดูกเบ้าฟันได้แล้ว

ในกรณีที่ไม่สามารถนำฟันกลับเข้าที่เดิมได้จริงๆ ให้รีบหาของเหลวมาแช่ฟัน แล้วไปพบทันตแพทย์โดยเร็ว ของเหลวที่เหมาะสมและน่าจะหาได้ก็คือ “นมจืด” ขอย้ำอีกครั้งนะคะว่าต้องเป็น“นมจืดเท่านั้น” จะเป็นนมพาสเจอไรส์หรือยูเอชที low fat หรือ whole fat ก็ได้ทั้งนั้นค่ะ (เคยมีกรณีที่แช่ฟันในนมเปรี้ยวมาให้หมอด้วยค่ะ โชคดีที่สามารถนำฟันใส่กลับเข้าไปและยึดติดสำเร็จ ซึ่งอาจเป็นเพราะปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มาพบทันตแพทย์ได้เร็วมากๆ และเนื้อเยื่อรอบปลายรากฟันยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตามหมอจุ้มจิ้มขอแนะนำให้แช่ในนมจืดดีที่สุดค่ะ) ถ้าไม่มีนมจืดให้ใช้น้ำเกลือแทนได้ แต่ถ้าไม่มีทั้ง 2 อย่าง แนะนำให้แช่ในน้ำลาย เป็นทางเลือกที่ดีอย่างสุดท้ายค่ะ โดยให้อมฟันไว้ที่กระพุ้งแก้มแล้วรีบมาพบทันตแพทย์ แต่ถ้าไม่สามารถทำแบบนั้นได้จริงๆ การแช่น้ำสะอาดธรรมดาคงเป็นวิธีสุดท้ายที่ไม่อยากแนะนำมากนัก เพราะน้ำไม่เหมาะกับการคงสภาพของเซลล์รอบรากฟันที่เราอยากจะเก็บรักษาไว้ให้ดีที่สุด แต่ที่สำคัญคือ ห้ามปล่อยให้ฟันอยู่ในสภาพแห้งๆ เด็ดขาด

จริงๆ แล้วสิ่งที่ดีที่สุดในการแช่ฟันก็คือน้ำยาเก็บฟันโดยเฉพาะ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายบริษัทวัสดุเครื่องมือทางทันตกรรมผลิตขึ้นมาจำหน่าย หรือเป็นพวกน้ำยาที่เป็นอาหารเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งในชีวิตจริงเราคนธรรมดาคงหาไม่ได้ง่ายๆ รวดเร็วทันเวลาแน่นอน แต่มาบอกไว้เพื่อให้เป็นความรู้ค่ะ

สำหรับตำแหน่งแผลที่ฟันหลุดออกมาให้ใช้ผ้ากอซหรือสำลีที่สะอาด วางบนแผลแล้วกัดเบาๆ จากนั้นก็ให้รีบเดินทางมาพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นทันตแพทย์ประจำตัว เพราะต้องใช้เวลาให้น้อยที่สุดในการถึงมือหมอ

ขั้นตอนการรักษา

เมื่อนำฟันที่หลุดไปพบทันตแพทย์ ก็เป็นหน้าที่ของทันตแพทย์ที่จะต้องหาวิธีการยึดติดฟัน ให้อยู่ในตำแหน่งเดิมให้สำเร็จ และกลับมาใช้งานได้เป็นปกติมากที่สุด โดยเมื่อทันตแพทย์ใส่ฟันกลับเข้าไปแล้ว จะต้องทำให้ฟันซี่นี้อยู่กับที่ ไม่ขยับเหยื้อนเคลื่อนที่เลย หรือป้องกันให้ขยับได้น้อยที่สุด ตามธรรมชาติเป็นระยะเวลาหนึ่งเปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเวลาเรากระดูกหัก หมอต้องใส่เฝือกเอาไว้เพื่อไม่ให้กระดูกที่ต่อขยับเขยื้อน ไม่เช่นนั้นกระดูกก็จะไม่ต่อกันสักที ทันตแพทย์จึงอาจจะทำการใส่เครื่องมือช่วยยึดติดฟันไว้กับที่ ซึ่งมีมากมายหลายประเภทแล้วแต่กรณี การทำให้ฟันที่หลุดอยู่กับที่และขยับเขยื้อนน้อยที่สุด ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การยึดติดของฟันซี่ที่หลุดนี้สำเร็จหรือไม่ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยด้วยในการดูแลระมัดระวังฟันซี่นี้ ระหว่างที่รอให้เซลล์ค่อยๆ เชื่อมต่อยึดฟันเข้ากับกระดูกเบ้ารากฟัน โดยดูแลไม่ให้ฟันซี่นี้ขยับเขยื้อน ระวังอย่าให้มีอะไรไปกระแทกโดน หรือเคี้ยวอาหารแข็งๆ เป็นต้น

และต้องมาพบทันตแพทย์ตามนัดเป็นระยะๆ หรือถ้าพบว่าเครื่องมือยึดติดต่างๆ ที่ติดไว้เกิดขยับหรือหลุดก็ให้รีบมาหาทันตแพทย์ทันที ซึ่งระยะเวลาที่ฟันแต่ละซี่จะยึดติด จะแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่ประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไป หลังจากที่ฟันซี่ที่หลุดสามารถยึดติดกลับที่เดิมได้แล้ว ต้องมีการรักษาคลองรากฟันต่อไปด้วย เนื่องจากฟันที่หลุดออกมาแล้วนั้น เส้นเลือดเส้นประสาทที่มาเลี้ยงตัวฟันได้ขาดออกไปแล้ว และบางครั้งอาจต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย ถ้าฟันสกปรกมากหรือมีบาดแผลที่สัมผัสกับสิ่งสกปรก

สรุปว่าถ้ามีเหตุให้ฟันแท้ของท่านต้องหลุดออกจากปาก ให้สบายใจได้ว่าทันตแพทย์จะสามารถปลูกฟันซี่นั้นกลับคืนสู่เบ้าฟันได้ โดยมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง ที่สำคัญคือฟันที่หลุดออกมานั้น ต้องได้รับการเก็บรักษาอย่างถูกวิธี และมีระยะเวลาที่ฟันอยู่นอกช่องปากไม่นานเกินไป รวมทั้งสุขภาพช่องปากต้องอยู่ในเกณฑ์ดีด้วย ในช่วงของการรักษา ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด และไปพบทันตแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การรักษาฟันที่หลุดออกมานั้นได้ผลดีที่สุด สามารถติดกลับเข้าเบ้าฟันได้เป็นอย่างดี และใช้งานได้ตามปกติต่อไป จำไว้ว่า “ฟันหลุด แช่นม อมฟัน พบทันตแพทย์” ค่ะ

รู้หรือไม่

 กรณีที่ฟันน้ำนมเกิดอุบัติหลุดออกมา ไม่แนะนำให้ใส่กลับคืนเข้าไปที่เดิม เนื่องจากอาจจะทำให้อันตรายกับหน่อฟันแท้ ที่กำลังจะขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนมซี่นั้น

 กรณีที่ฟันถูกทิ้งให้แห้งนานเกินกว่า 1 ชั่วโมง ทันตแพทย์มักไม่แนะนำให้ทำการรักษาด้วยวิธีใส่ฟันกลับเข้าไปใหม่ แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องใส่ฟันซี่นั้นกลับเข้าไปจริงๆ สามารถปรึกษาทันตแพทย์ได้ แต่ก็หวังผลได้น้อยมากๆ อาจจะไม่สำเร็จ หรือถ้าสำเร็จก็ไม่ใช่ฟันที่จะสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

แหล่งที่มา http://health.haijai.com/3728/

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น

3932 17 ส.ค. 58 เวลา 19:38 น. 1

ของผมมันไม่หลุด แต่มันสูงขึ้นมาเพราะเคยไปผ่าฟันคุดแล้วหมองัดฟันคุดผมออกโดยไม่รู้ว่าฟันมันงัดกันอยู่ กว่าจะรู้ก็งัดจนฟันคุดแตกงัดต่อไม่ได้แล้ว พอฟันสูงกว่าซี่อื่นทำให้เวลาเคี้ยวอาหารฟันซี่นี้เลยเกิดการบดมากกว่าซี่อื่น ผลคือทำให้ปวดฟัน จะลดความสูงด้วยการเจียออกก็คงต้องเจียจนถึงหรือเกือบถึงโพรงประสาทฟัน เคยตรวจรากฟันแล้วรากฟันก็ยังดีอยู่ จะถอนฟันทิ้งก็เสียดาย ฟันเต็มปากอยู่จะมาฟันหลอเพราะหมอก็ไม่ใช่เรื่องก็เลยปล่อยมันไว้แบบนี้

0