Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ทราบแล้วเปลี่ยน! ทูน่ากระป๋องในไทยยังห่างไกลต่อการตรวจสอบย้อนกลับและความเป็นธรรม

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

เมื่อกรีนพีซจัดอันดับทูน่ากระป๋องของแบรนด์ต่างๆ ในไทย สิ่งที่พบคือ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องส่วนใหญ่ที่ขายยังขาดหลักการพื้นฐานว่าด้วยความยั่งยืนและเป็นธรรม แต่หากแบรนด์เหล่านี้เป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับนโยบายในการตรวจสอบย้อนกลับ ตลอดห่วงโซ่อุปทานแล้ว ภาคอุตสาหกรรมปลาทูน่าของไทยที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับต้นของโลกนั้นจะต้องเติบโตไปในทิศทางที่ยั่งยืน ไม่ทำร้ายท้องทะเลหรือเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม

การตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืน และความเป็นธรรม คือประเด็นสำคัญที่ยังขาดหายไปในนโยบายการจัดการตลอด โซ่อุปทานของแบรนด์ทูน่ากระป๋อง ในวันนี้ (29 กันยายน 2558) กรีนพีซได้เปิดเผย รายงาน “จากทะเลสู่กระป๋อง: การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย” ซึ่งเป็นการประเมินแบรนด์ทูน่ากระป๋องที่ขายในประเทศและแบรนด์ที่ขายเฉพาะในซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งหมด 14 แบรนด์ โดยพบว่ามี 5 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์ “ควรปรับปรุง” และ 9 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์ “พอใช้”  แบรนด์ที่อยู่ในเกณฑ์ควรปรับปรุงและอยู่ในอันดับรั้งท้าย ได้แก่ ท็อปส์ อะยัม บิ๊กซี โฮม เฟรช มาร์ท และโรซ่า จากการตรวจสอบทั้ง 14 แบรนด์ไม่มีแบรนด์ใดเลยที่ได้รับคะแนน “ดี” แสดงให้เห็นว่า แต่ละแบรนด์ต้องพยายามมากขึ้นในการดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืน

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปลาทูน่าปรุงสุกเป็นอันดับต้นของโลก (ร้อยละ 53 ของ-ส่วนทั่วโลก) มีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง และสหภาพยุโรปเป็นอันดับสอง รวมถึงมีการนำเข้าราวเกือบ 600,000 ตันต่อปี จากประเทศต่างๆ อย่างไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ไปจนถึงมัลดีฟ  เรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงปลาทูน่าโลกทว่าเรากำลังถูกจับตามองในประเด็นด้านวิกฤตทะเลจากปัญหาการทำประมง ข่าวและรายงานหลายฉบับในระยะนี้ระบุว่าประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย และการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่ออุปทานอาหารทะเล ข้อมูลเหล่านี้ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ จัดให้ไทยอยู่ในเทียร์ 3 และได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป ซึ่งอุตสาหกรรมปลาทูน่าคือหนึ่งในสาเหตุของวิกฤตทะเล

อุตสาหกรรมปลาทูน่ามีมูลค่าหมื่นล้านเหรียญ คิดเป็นร้อยละ 8 ของการค้าอาหารทะเลโลก และเป็น 1 ใน 5 ของอาหารทะเลที่มีการบริโภคทั่วโลก เพียงในปี 2556 ที่ผ่านมาทั่วโลกมีการจับปลาทูน่าได้  4.6 ล้านตัน ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้มหาศาล ในทางเดียวกันหากขาดนโยบายและมาตรการตรวจสอบย้อนกลับที่เข้มแข็ง จะทำให้มหาสมุทรของเราต้องเผชิญกับปัญหาการทำประมงเกินขนาด การประมงแบบทำลายล้าง และการประมงผิดกฎหมาย  รายงานฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคอุตสาหกรรมปลาทูน่ามีนโยบายและผลิตภัณฑ์ที่มาจากการทำประมงที่ยั่งยืน เพื่อให้คนซื้อและคนกินปลาทูน่าได้รับทราบ เพราะผู้บริโภคมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลว่าทูน่ากระป๋องผ่านอะไรมาบ้าง กว่าจะมาถึงมือเรา

การจัดอันดับความยั่งยืนปลาทูน่ากระป๋องในไทยประเมินจากการส่งแบบสอบถามที่ส่งไปยังผู้ผลิตทั้ง 14 แบรนด์ โดยสอบถามถึงนโยบายและการปฎิบัติในการจัดหาวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า รวมถึงเครื่องมือประมงที่ใช้ในการจับปลาทูน่าว่ามีการทำลายทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น การจับฉลามเพื่อเอาครีบหรือไม่ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ถึงแหล่งที่มาได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงความเป็นธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมของในแต่ละแบรนด์  สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ และการปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานในอุตสาหกรรมปลาทูน่า

แล้วแบรนด์ไหนที่อยู่ในเกณฑ์ระดับ “ดี” ?

ในกระบวนการวิจัยกรีนพีซได้ส่งจดหมายไปขอความร่วมมือการจัดอันดับผลิตภัณฑ์กับแบรนด์ปลาทูน่ากระป๋อง 14 แบรนด์ โดยส่วนมากแล้วแบรนด์ต่างๆ ให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถามเป็นอย่างดี แต่ผลจากการจัดอันดับปรากฎว่าไม่พบแบรนด์ใดเลยจาก 14 แบรนด์ ที่มีเกณฑ์ระดับ “ดี” เนื่องจากข้อมูลหลายๆ อย่างยังไม่สามารถเปิดเผยกับผู้บริโภคได้ รวมถึงชนิดพันธุ์ กระบวนการจับ และความเป็นธรรมของการปฏิบัติต่อแรงงาน แสดงให้เห็นว่ายังมีปัญหาในการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งการประเมินการจัดอันดับจากข้อมูลของผู้ประกอบการนี้เป็นเสมือนกระจกสะท้อน ว่ามีสิ่งใดที่บริษัทสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้บ้าง เพื่อลดช่องว่างในการเกิดปัญหาต่างๆ

จากการจัดอันดับพบว่า ทีซีบี ได้รับคะแนนสูงสุดกว่าแบรนด์อื่น แต่ยังไม่ได้จัดอยู่ในระดับที่ “ ดี” ทีซีบี ทำคะแนนมากในด้านการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์มีนโยบายในเรื่องแหล่งที่มา อย่างไรก็ตาม ทีซีบี ยังต้องปรับปรุงในด้านความยั่งยืนและเป็นธรรม เนื่องจากใช้ปลาทูน่าครีบเหลืองและปลาทูน่า Tonggol ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์นี้มีปัญหาในเรื่องจำนวนประชากรรวม และการจับปลาทูน่าทั้งสองสายพันธุ์นี้ถูกจับมาด้วยวิธีการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน โดยใช้อวนล้อมร่วมกันกับเครืองมือล่อปลา (FAD) ซึ่งเป็นสาเหตุปัญหาของการจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมาย


ห่วงโซ่อุปทานปลาทูน่าระดับโลกมีความซับซ้อนมาก และยังคงซุกซ่อนเบื้องหลังอย่างปัญหาการจับปลาที่ไม่ใช่ปลาเป้าหมาย การละเมิดสิทธิแรงงาน และการขนถ่ายทางทะเล รายงาน “จากทะเลสู่กระป๋อง: การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย” จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยให้อุตสาหกรรมทูน่าในหลายประเทศลงมือเปลี่ยนแปลง เริ่มจากมาตรการตรวจสอบย้อนกลับเป็นพื้นฐาน รวมถึงเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคว่า ควรสนับสนุนสินค้าปลาทูน่ากระป๋องจากแบรนด์ใด คิดก่อนเลือกซื้อ เพราะพลังของผู้บริโภคมีความสำคัญในการทำให้มหาสมุทรของเรายั่งยืนต่อไป

“เป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่จะทำประเด็นเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ อันเกี่ยวข้องกับการปลดใบเหลืองอียู โดยการตรวจสอบย้อนกลับนี้จะช่วยส่งเสริมความยั่งยืน ความเป็นธรรม เพราะอุตสาหกรรมทูน่าของไทยเชื่อมโยงกันในระดับโลก ไทยจึงควรปรับปรุงภาพลักษณ์ของบริษัท ของอุตสาหกรรม หันมาเป็นเจ้าอุตสาหกรรมปลาทูน่าของโลกผู้พัฒนาไปในทิศทางที่ยั่งยืน ปกป้องดูแลมหาสมุทรของเรา และจัดหาปลาทูน่าให้กับบริโภคได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรมอย่างแท้จริง” นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

“การขาดการตรวจสอบย้อนกลับ และความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานทูน่ายังเป็นปัญหาที่พบในประเทศไทย เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้มีบทบาทในตลาด อุตสาหกรรมปลาทูน่าและอาหารทะเลจะต้องส่งเสริมมาตรฐานด้านแรงงาน และการตรวจสอบย้อนกลับให้เข้มแข็งโดยการพัฒนานโยบายการจัดหาวัตถุดิบที่สาธารณะชนเข้าถึงได้และทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ  การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สร้างความเสียหายต่อมหาสมุทรของเราก็จะหมายถึงความเสียหายสำหรับธุรกิจด้วย ผู้บริโภคก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีการตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืนและความเป็นธรรม” อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวสรุป

จากทะเลสู่กระป๋อง คือเส้นทางที่ผู้บริโภคทุกคนควรต้องรับรู้ถึงที่มาของปลาทูน่ากระป๋อง เพื่อให้แน่ใจว่าปลาทูน่าที่เราเลือกกินนั้นไม่ได้มีเบื้องหลังที่สร้างปัญหาให้กับท้องทะเล และไม่เป็นธรรมในด้านแรงงาน ผู้บริโภคอย่างเราสามารถร่วมกันเป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง และผลักดันให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าใช้โอกาสนี้ร่วมแก้ปัญหา เพื่ออนุรักษ์ปลาทูน่าและทรัพยากรทางทะเลให้เราได้มีกินมีใช้อย่างยั่งยืน

อ่านรายงาน “จากทะเลสู่กระป๋อง : การจัดอันความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย” ฉบับเต็มได้ที่ www.greenpeace.or.th/s/Thailand-canned-tuna-ranking

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/54255/

แสดงความคิดเห็น

>