Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ผู้บริโภค คือพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมปลาทูน่า

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

กฎพื้นฐานอย่างหนึ่งของอุปสงค์และอุปทาน คือ เมื่อผู้บริโภคเลือกไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ชนิดใด และมีปริมาณความต้องการซื้อลดลง ปริมาณความต้องการขายก็จะลดลงตามไปด้วย เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องที่ผู้บริโภคจากทั่วโลกกำลังร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืนอยู่ในขณะนี้ หากคุณไม่เชื่อว่าพลังจากผู้บริโภคสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่าให้กับอุตสาหกรรมปลาทูน่าได้ ลองอ่านเรื่องราวต่อไปนี้ นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ

อีกด้านหนึ่งของอุตสาหกรรมประมงทูน่าที่ไม่สามารถควบคุมได้ยังคงใช้การประมงแบบทำลายล้าง คร่าชีวิตของสัตว์ที่ไม่ใช่เป้าหมาย เช่น เต่าและฉลาม ไม่เพียงแต่ระบบนิเวศจะตกอยู่ในอันตรายเท่านั้น แต่กฎหมายที่หละหลวมทำให้อุตสาหกรรมประมงมีช่องโหว่ในการใช้แรงงานที่ได้มาจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงต่างๆ โดยไม่ได้ขึ้นฝั่งเลยติดต่อกันหลายปี และศูนย์กลางของอุตสาหกรรมนี้ คือ ไทยยูเนี่ยน เจ้าของแบรนด์ทูน่ากระป๋องอย่าง Sealect  ที่ผ่านมา บริษัทผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าทำการประมงราวกับถือคติว่า ไกลตา ไกลใจ ผู้บริโภคไม่เห็นจึงไม่ใส่ใจ แต่ตอนนี้ประชาชนกว่า 225,000 คนจากทั่วโลกกำลังออกมาเปล่งเสียงให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าได้รับรู้ว่า พวกเขาใส่ใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมาเป็นทูน่ากระป๋องในซูเปอร์มาร์เก็ต

แบรนด์ทูน่ากระป๋องหลายแบรนด์ออกมาแสดงเจตนารมณ์พร้อมเปลี่ยนแปลง

หลายแบรนด์ อาทิ Connétable ประเทศฝรั่งเศส Sealord ประเทศนิวซีแลนด์ Oriental Pacific สหราชอาณาจักร ซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ออกมาแสดงเจตนารมณ์หันมาสนับสนุนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องที่มาจากการประมงด้วยวิธีที่ปราศจากการใช้อุปกรณ์ล่อปลา (FAD-free) หลังจากที่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคที่มีความตระหนักหลายหมื่นคนร่วมกันส่งเสียงเรียกร้อง

นอกจากนี้ แบรนด์ทูน่ากระป๋องชื่อดังของออสเตรเลียต่างๆ ได้แก่ Coles, Woolworths, Aldi, John West, IGA, Sirena และ Greenseas ได้ออกมาประกาศยุติการใช้การใช้อุปกรณ์ล่อปลา (FAD-free) หลังจากที่ชาวออสเตรเลียกว่า 50,000 คนออกมาแสดงพลังเรียกร้อง

ภาพด้านบนนี้คือเรือ Albatun Tres ซึ่งเป็นเรืออุตสาหกรรมประมงปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ใช้อวนล้อมประกอบกับอุปกรณ์ล่อปลา สามารถจับปลาทูน่าได้ครั้งละ 3,000 ตัน ซึ่งนับว่ามากกว่าปริมาณที่ชาวประมงในบางประเทศทางหมู่เกาะแปซิฟิคสามารถจับได้ต่อปี การทำประมงปลาทูน่าส่วนใหญ่จะใช้อุปกรณ์ล่อปลา (FADs) ร่วมกับอวนล้อมขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นวิธีการทำประมงแบบกวาดล้อมและคร่าชีวิตสัตว์น้ำทุกชนิดที่เข้ามาในอวน ไม่ว่าจะเป็นปลาทูน่าที่เป็นเป้าหมาย ไปจนถึงฉลาม เต่าทะเล วาฬขนาดเล็ก และปลาวัยอ่อนชนิดอื่นๆ สัตว์น้ำเหล่านี้เรียกว่าการจับสัตว์น้ำพลอยได้ (Bycatch) ซึ่งหากยังประมงด้วยวิธีทำลายล้างเช่นนี้ต่อไป จะเป็นการเร่งให้ปลาทูน่าบางสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ครีบเหลือง และครีบน้ำเงิน เสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ได้

ซูเปอร์มาร์เก็ตและตัวแทนจัดจำหน่ายออกมาร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อมหาสมุทรและผู้บริโภค

ไม่ใช่เพียงแค่แบรนด์ทูน่ากระป๋องเท่านั้น แต่ผู้บริโภคในหลายประเทศก็สามารถผลักดันให้ซูเปอร์มาร์เก็ตออกมาแสดงจุดยืนสร้างการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ดังเช่นในประเทศสหราชอาณาจักร  Tesco, Morrison และ Asda ได้ออกมาแสดงเจตนารณ์สนับสนุนการประมงปลาทูน่าอย่างยั่งยืนเช่นกัน รวมถึงยังมี Système U ประเทศฝรั่งเศส และที่ประเทศอเมริกา ตัวแทนจัดจำหน่ายอย่างบริษัท Hy-Vee ก็ได้ออกมาให้คำมั่นว่าจะจำหน่ายปลาทูน่าที่มาจากการประมงอย่างยั่งยืนขึ้นเช่นกัน

การที่ผู้บริโภคออกมาร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือการที่ผู้บริโภคออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่ต้องการทูน่ากระป๋องที่เชื่อมโยงกับการทำลายระบบนิเวศของมหาสมุทร หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการส่งสาส์นเตือนไปยังแบรนด์ทูน่ากระป๋องว่า ผู้บริโภคกำลังจับตามองพฤติกรรมทั้งดีและร้ายของอุตสาหกรรมอยู่

ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังผลักดันให้ไทยยูเนี่ยนออกมาสร้างการเปลี่ยนแปลง

หลายแบรนด์ หลายตัวแทนจำหน่ายออกมาแสดงเจตนารณ์พร้อมเปลี่ยนแปลงแล้ว และในครั้งนี้ผู้บริโภคกำลังเรียกร้องให้ไทยยูเนี่ยน อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดของโลก หันมาใช้วิธีการทำประมงแบบยั่งยืน ส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรน้อยที่สุด รวมถึงคุ้มครองแรงงานบนเรือประมงตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพราะหากเราสามารถเปลี่ยนแปลงไทยยูเนี่ยนได้ อุตสาหกรรมปลาทูน่าทั้งหมดก็จะปรับเปลี่ยนตามได้เช่นกัน ไทยยูเนี่ยน เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีความเชื่อมโยง และยังคงเพิกเฉยกับการทำลายสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานบนเรือประมง แต่พลังของเราสามารถเปลี่ยนแปลงไทยยูเนี่ยนได้ ดังเช่นการผลักดันของผู้บริโภคที่ทำให้ ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของอังกฤษต่างหันมาใช้ปลาทูน่ามาจากการประมงแบบยั่งยืนมาแล้ว

อุตสาหกรรมปลาทูน่าที่ยั่งยืนและเป็นธรรม หมายถึงอุตสาหกรรมที่แรงงานได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ชุมชนชายฝั่งได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรในท้องทะเล ระบบนิเวศในมหาสมุทรไม่ถูกทำลาย สัตว์ทะเลไม่ถูกคร่าชีวิตไปกับการเป็นผลพวงของการทำประมงแบบทำลายล้าง และปลาทูน่าสายพันธุ์ต่างๆ มีโอกาสเจริญเติบโตแพร่พันธุ์ได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม อุตสาหกรรมเช่นนี้สามารถเป็นจริงได้ เพียงแค่ทุกคน ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ด้วยพลังของผู้บริโภค

ร่วมลงชื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่นี่ #‎NotJustTuna


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/54553/

แสดงความคิดเห็น

>