Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

คนละไม้คนละมือเติมต้นไม้ในป่าว่าง ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเชียงดาว

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

“ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้ามากมาย แต่ทำไมเรารักษาป่าไม้ไม่ได้ การปลูกป่าตรงนี้เป็นจุดเล็ก ๆ แต่เราน่าจะส่งเสียงต่อไปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้” --- คุณนิคม พุทธา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิงตอนบน

ป่าคือสายใยแห่งธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิต การที่ป่าหายไปจากภูเขาไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ที่ขาดแคลนสีเขียวของต้นไม้ไป แต่นั้นหมายถึงขาดความอุดมสมบูรณ์ แหล่งอาหาร ต้นกำเนิดน้ำ และการรักษาสภาพภูมิอากาศของโลก สถานการณ์วิกฤตโลกร้อนอันรุนแรงที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเหือดแห้งไปของแม่น้ำปิง หนึ่งในแม่น้ำสายหลักของประเทศไทย เมื่อยามที่ฤดูฝนมาถึงแม่น้ำปิงก็กลับกลายเป็นสีชาเย็น เนื่องจากไร้ต้นไม้ปกคลุมทำให้หน้าดินถูกชะล้าง เช่นเดียวกับการที่สายน้ำเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศในแม่น้ำก็เสียหายเช่นกัน ปลาบางชนิดไม่สามารถปรับตัวได้ก็ต้องตายไป แต่ท่ามกลางวิกฤตยังมีความหวัง และความหวังที่เกิดขึ้นอย่าง และความหวังในครั้งนี้มาจากการร่วมมือกันของประชาชนราว 500 คน ที่มาลงแรงลงพลังร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 4 - 5  มิถุนายน ที่ผ่านมา

การรวมตัวของ 500 พลังอาสาหลากหลายกลุ่มเพื่อฟื้นฟูป่า

เมื่อเดือนเมษายน ส่วนหนึ่งของป่าต้นน้ำเชียงดาวที่บริเวณป่ากันชนได้ถูกไฟไหม้จนเสียหายหนักจนกระทั่งมองไม่เห็นสิ่งมีชีวิตในดิน คุณนิคม พุทธา  ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิงตอนบน จึงริเริ่มกิจกรรมเติมต้นไม้ในป่าว่าง เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำเชียงดาวแห่งนี้ร่วมกับเครือข่ายเยาวชน ลุ่มน้ำปิง  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กลุ่ม Big trees และอาสาสมัครกรีนพีซ จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะมีอาสาสมัครมาร่วมงานเพียง 200 คน แต่เช้าวันที่ 4 มิถุนายน 2559 ป่าต้นน้ำเชียงดาวได้ต้อนรับผู้คนกว่า 500 คน ทั้งจากเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และจากจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีทั้งนักเรียนตัวน้อยตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย พระสงฆ์ กลุ่มชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งต่างร่วมแรงร่วมใจกันลงมือปลูกป่าท่ามกลางสายฝนสลับกับแสงแดดแรงกล้า ต้นกล้าท้องถิ่นต่าง ๆ หลายชนิด อาทิ ไม้สัก ไม้พะยูง ต้นหว้า สมอ มะขาม และต้นกล้วยป่า รวมแล้วกว่า 10,000 ต้น ได้ถูกนำไปปลูกลงดินด้วยความหวังที่จะเติมต้นไม้ในป่าว่าง และรอวันเติบโตต่อไป

หนึ่งในอาสาสมัครที่มาเป็นพลังปลูก 500 คน คือ คุณมณีรุชฎ์ เสริมสกุล ผู้ประสานงานโครงการวิจัยทางการเเพทย์ มีภูมิลำเนาเดิมคือเชียงใหม่ มาร่วมเป็นอาสาสมัครกับกรีนพีซ และเล่าให้เราได้ฟังว่า “มาร่วมกิจกรรมนี้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันภาคเหนือ เมืองเชียงใหม่ที่เราโตมาเด็ก ๆ มีอากาศสดชื่น แต่เมื่อปีที่แล้วปัญหาควันรุนแรงมาก มีกลิ่นควันไฟล้อมรอบบ้าน พบเห็นปัญหาเขาหัวโล้นที่น่านมานานแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจ เชียงใหม่ก็โดนทำไร่ไปเยอะและหนักขึ้นมาก แต่ยังไม่เห็นภาครัฐเอาใจใส่จริงจังในการแก้ไขปัญหานี้ อยากให้ลองมาเป็นอาสาสมัครโดยเฉพาะเรื่องธรรมชาติ แล้วคุณจะะรู้ว่าชีวิตทั้งหมดของคุณคือ ธรรมชาติ เป็นอาสาสมัครเพื่อขับเคลื่อนให้โลกนี้ดีขึ้น”

กลุ่มอาสาสมัครฟื้นฟูป่าต่างล้วนมาทำงานด้วยใจและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง คงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนักกับการที่มือ 500 มือมาร่วมกันโกยดิน ฝังต้นกล้าลงผืนป่า ทำทุกอย่างด้วยใจ คุณกฤษฎา พิลาทอง เจ้าหน้าที่พนักงานดับเพลิงท่าอากาศยานดอนเมือง อีกหนึ่งในอาสาสมัครกรีนพีซกล่าวว่า “ถ้าเราช่วยกันปลูกป่าเพิ่มขึ้น จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคม อย่างน้อยได้ร่วมกันปลูกป่าช่วยให้ธรรมชาติเติบโต มีป่ามากขึ้น มีทรัพยากรมากขึ้น หรือช่วยอย่างอื่นเท่าที่เราช่วยได้ เพื่อให้โลกเรามีธรรมชาติอยู่ตลอดไป” 

ป่าไม้คือแหล่งกักเก็บน้ำที่มีชีวิต

“จากการเดินธรรมยาตราไปตามพื้นที่แม่แตง แม่ริม และแม่ปิง พบว่าแม่น้ำปิงเหือดแห้งมาก ประกอบกับปัญหาแล้งที่รุนแรงมากทำให้วิกฤตหมอกควันภาคเหนือทวีความรุนแรง แม้ว่าเราจะอยากฟื้นฟูเขาหัวโล้น แต่ติดอยู่ที่ข้อจำกัดคือขาดคนดูแล เราจึงเลือกพื้นที่ที่ใกล้เรา เพื่อที่จะคอยดูแลรักษาได้อย่างทั่วถึงไปอย่างน้อยอีก 3 ปี โดยทางเครือข่ายจะดูแลป่าแห่งนี้ให้เป็นป่าชุมชนร่วมกับชาวปกาเกอะญอ 2 หมู่บ้าน คือ ยางปูโต๊ะ ยางทุ่งโป่ง เป็นการพึ่งพาอาศัยดูแลกันระหว่างคนกับป่าอย่างยั่งยืน” คุณนิคม พุทธา กล่าว

การเข้ามาร่วมดูแลป่าของชุมชน คือ หนึ่งในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อการทำเกษตรเชิงเดี่ยว แต่ป่าชุมชนแห่งนี้จะเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนกับป่า พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แนวคิดการดูแลป่าของพี่นิคม คือ การเติมป่าด้วยต้นกล้า 2 ชนิด คือ เพื่อกักเก็บน้ำ เช่น มะเดื่อ กล้วยป่า ไม้ไผ่ และเพื่อเป็นอาหารให้กับคนและสัตว์ เช่น ขี้เหล็ก มะขามป้อม สมอภิเพก กระท้อนป่า ซึ่งสามารถสร้างแรงดึงดูดให้สัตว์ป่ามาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น หมู่ป่า ชะมด อีเห็น อันจะเป็นการช่วยแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ เติมความอุดมสมบูรณ์

“เติมต้นไม้ในป่าว่าง คือ การเสริมเติมต้นไม้ลงไปในช่องว่าง ทั้งจากช่องว่างบนท้องฟ้าที่เห็นทะลุผ่านเรือนยอดของต้นไม้ และช่องว่างบนผืนดิน เพื่อเพิ่มความหนาแน่นให้ผืนป่า และประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ เมื่อปลูกให้เต็ม ฝนตกจะไม่กระแทกหน้าดิน ช่วยกระจายเม็ดฝนลงไปในชั้นผิวดิน ป่าสามารถกักเก็บน้ำได้ร้อยละ 80 ไหลลงไปในแม่น้ำร้อยละ 20 ผืนป่าคือกลไลในการเก็บน้ำอย่างยั่งยืน ขณะที่เขื่อนเป็นกระบวนการเก็บน้ำที่ไม่มีชีวิต เขื่อนไม่สามารถหมุนเวียนน้ำได้ เราจะต้องมองป่าโดยให้มองเห็นชีวิตเราในนั้นด้วย”  คุณนิคม พุทธา กล่าวถึงป่ากับกระบวนการกักเก็บน้ำที่ยั่งยืน 

การที่อาสาสมัครเข้าไปช่วยซ่อมแซมป่า คือ ส่วนเล็กๆ ที่เข้ามาสนับสนุนให้ธรรมชาติทำงานอย่างเป็นระบบ เนื่องจากธรรมชาติมีประสิทธิภาพในการดูแลและฟื้นฟูตัวเอง มนุษย์มีส่วนเพียงแค่ช่วยเยียวยาเพียงเล็กน้อย การปลูกป่าตามแนวคิดของพี่นิคมจึงมี 3 ขั้นตอน คือ

  1. เตรียมพื้นที่ปลูกป่า จากความรู้และประสบการณ์ของชุมชน
  2. นำกล้าไม้ลงปลูก ซึ่งเป็นกล้าไม้ที่ได้รับการอนุเคราะห์จากกรมป่าไม้และกรมอุทยาน
  3. ปลูกซ่อมบำรุงเสมอ ระวังไฟป่า และทำแนวกันไฟในฤดูแล้ง เป็นการดูแลต่อเนื่องไปในระยะยาว

ต้นไม้ทุกชนิดมีคุณสมบัติในการกักเก็บน้ำ กล่าวคือ ในลำต้นมีน้ำทุกส่วน รอบลำต้นมีการคายน้ำ มีน้ำในดินจากการที่รากดูดน้ำใต้ดิน นี่คือสาเหตุที่ฝนมักตกบริเวณป่า และคือเหตุผลที่เราต้องการป่าต้นน้ำ

“ประเทศไทยหากมองจากอวกาศจะเห็นเส้นแบ่งประเทศชัดเจนจากสีเหลืองของเขาหัวโล้น เมื่อฝนตกลงมาก็เหมือนคนหัวล้าน ราดลงมาทีเดียวก็ถึงภาคกลาง ปัญหาคือเมื่อมีคนซื้อสินค้าที่ได้มาจากการทำลายป่า ก็มีคนปลูก เราจะต้องมีส่วนร่วม ทำให้ย่างก้าวของเราเบาบางที่สุดด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การดำรงอยู่ของทุกชีวิต คือน็อตหรือเฟือง ไม่ได้ดำรงอยู่โดยไร้เหตุผล ต้นไม้และสัตว์ต่างชนิดมีหน้าที่เกี่ยวกข้องกันอย่างซับซ้อน หากเรายังเพิกเฉย โลกอาจพังทั้งใบ” หมอหม่อง-นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หนึ่งในวิทยากรของงานกล่าว

“อย่างน้อยปลูกลงไปก็เพิ่มต้นไม้ในป่า เพิ่มความหนาแน่นกักเก็บน้ำและแร่ธาตุในดิน ดีกว่าปล่อยให้ป่าที่ถูกมนุษย์ทำลายฟื้นฟูตนเอง ซึ่งอาจมีข้อจำกัด แต่ถ้าเราเข้าใจกลไกธรรมชาติด้วยก็จะดี แน่นอนว่าดีกว่าไม่ช่วยปลูก แต่ต้องมีรายละเอียดว่าปลูกที่ไหน ปลูกอย่างไร เพราะหลักการเดียวที่ทำให้มนุษย์อยู่กับธรรมชาติได้ คือ ความเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การปลูกต้นไม้จึงเป็นการปลูกให้ต้นไม้ในจิตใจให้งอกงามไปด้วย” คุณนิคมกล่าวทิ้งท้าย


"ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามคุณคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับป่าไม้ ในครั้งนี้ทุกคนที่มาได้ทำให้เห็นว่าเราต้องการปกป้องป่าผืนนี้ เราต้องพิจารณาว่าเราสูญเสียป่าไปเพื่ออะไร ปัจจุบันเราสูญเสียป่าเพื่อเกษตรและอุตสาหกรรรมไปมากเพียงเพื่อผลิตสินค้าเพียงไม่กี่อย่างป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมผู้บริโภคจำเป็นต้องคิดว่าการบริโภคของเขาสามารถเปลี่ยนแปลงป่าไม้ที่มีอยู่ให้ยั่งยืนได้" วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว



แม้เราจะยังไม่รู้ว่าต้นกล้านับหมื่นในมือคนครึ่งพันนี้จะเติบโตกลายเป็นป่าได้มากน้อยเพียงไหน แต่สิ่งที่จะเติบโตไปหลังจากนี้อย่างแน่นอน คือ กระแสการเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องและฟื้นฟูผืนป่าอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาแหล่งน้ำ อากาศบริสุทธิ์ ความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศไทย


ที่มา: Greenpeace Thailand

แสดงความคิดเห็น

>