Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน? ทำไมต้องเปลี่ยนเมื่อคนอื่นยังไม่เปลี่ยน?

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

เขียน โดย Piraorn Suvanbenjakule อาสาสมัครกรีนพีซ

ปัญหาหลักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ คนส่วนใหญ่ยังคงใช้วิถีชีวิตที่สร้างรอยเท้าคาร์บอน กิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราส่วนใหญ่เป็นสาเหตุหลักในการสร้างมลพิษและปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การเผาผลาญเชื้อเพลิง การหมดไปของทรัพยากร พฤติกรรมบริโภคนิยม และการสร้างขยะเหลือใช้จากการบริโภค ในขณะที่มีเพียงคนกลุ่มน้อยที่หันมาเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ชีวิตเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ตรงกันข้ามกับความจริงที่ว่า วิกฤตโลกร้อนนี้กำลังเกิดขึ้นจริงและกำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ลองมาดูกันว่า อะไรคือเหตุผลที่คนทั่วไปยังไม่ตระหนักเรื่องผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนมากพอ และอะไรคือข้อจำกัดเหล่านั้น


ต้นข้าวโพดแห้งตายคาไร่ ในประเทศฟิลิปปินส์ หนึ่งในผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหาร

Robert Gifford อาจารย์ด้านจิตวิทยาและสิ่งแวดล้อม จาก University of Victoria ได้ทำงานวิจัยเรื่อง The Dragons of Inaction ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ตามหลักจิตวิทยาถึงสาเหตุของว่าทำไมผู้คนถึงยังไม่ตระหนักและเปลี่ยนเพื่อต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยระบุว่า เหตุผลทางจิตวิทยาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อจำกัดของการรับรู้ ความเชื่อ เทรนด์ หรือกระแสสังคม ความกลัวต่อความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง ไม่เชื่อแหล่งข้อมูล และข้อจำกัดทางพฤติกรรม ต่างมีส่วนทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยมองข้ามปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

1. ข้อจำกัดของการรับรู้

การไม่รู้ปัญหา หรือรับรู้ปัญหาแต่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหา นอกจากนี้เนื่องจากปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาระยะยาว ทำให้สมองเรามองว่าสิ่งนี้ไม่กะทันหันมากพอที่ควรจะกังวล ความไม่แน่ใจ หรือความประมาทในความสามารถของตน กับการติดในกรอบความคิดว่าคนๆเดียวไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้

2. ความเชื่อ

หากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อต่อกรกับวิกฤตโลกร้อนเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกับความเชื่อเดิมของแต่ละบุคคล อาจมีผลให้คนนั้นเลือกที่จะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของตน เช่น ความมั่นใจในระบบทุนนิยมที่นำความร่ำรวยมาให้เรามาจากรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งมีความเชื่อมั่นว่าเงินและเทคโนโลยีจะสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างรวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตโลกร้อนได้ แต่มันเพียงพอจริง ๆ น่ะหรือ?

3. เทรนด์ หรือกระแสสังคม

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมทำ ก็ยากที่คนหนึ่งจะสวนกระแสนั้น โดยส่วนมากมีแนวโน้มที่จะคิดว่า ทำไมเราต้องเปลี่ยนในเมื่อคนอื่นไม่เห็นจะเปลี่ยนเลย

4. ความกลัวต่อความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงจะถูกโยงรวมไปกับการปรับตัวใหม่ เราจึงกังวลต่อความเสี่ยงที่จะตามมามากกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้ชีวิตเราดูยุ่งยากและสูญเสียความเป็นระเบียบที่เคยมี เนื่องจากเราจะยังไม่คุ้นเคยกับสิ่งนั้นโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงิน เวลา ความมั่นคงในการใช้ชีวิต และการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนนี้ เห็นผลได้ช้ากว่าปัญหาอื่น ทำให้เราขาดแรงกระตุ้นที่สม่ำเสมอและมากพอที่จะเปลี่ยนสิ่งที่เราคุ้นเคย ตัวอย่างเช่น ถ้าเราคิดจะซื้อรถใหม่ อาจมีการตั้งคำถาม หรืออาจถึงกับมีอคติและความกังวลต่อรถที่ขับเคลื่อนด้วยด้วยพลังงานไฟฟ้า มากกว่ารถที่ใช้น้ำมันทั่วไปในปัจจุบัน จนเราไม่กล้าเลือกตัวเลือกที่จะช่วยลดผลกระทบต่อโลกในระยะยาวได้

5. ไม่เชื่อแหล่งข้อมูล

หากมุมมองหนึ่งถูกมองในด้านลบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขาดความเชื่อมั่นในแหล่งข้อมูล จนถึงการเหมารวมว่าข้อมูลจากฝั่งนั้นไม่มีความจริงที่มากพอ โดยส่วนมากจะส่งผลให้บุคคลคนนั้นเพิกเฉย หรือเลือกทำสิ่งอื่นในทางตรงกันข้าม ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และข้อเสนอในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เพราะวิธีแก้ไขที่ถูกเสนอขึ้นมา ไม่สามารถเห็นผลได้ในระยะสั้น จนลืมคำนึงถึงหลักความเป็นจริงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

6. ข้อจำกัดทางพฤติกรรม

ในรายงานหลายฉบับ คนส่วนมากยอมรับว่าตนเองสามารถช่วยลดโลกร้อนได้มากกว่าที่เป็นอยู่หากเราลองทำสิ่งใหม่ ๆ โดยส่วนมาก เรามักจะคิดไว้ก่อนเสมอว่าเป็นเรื่องไกลตัวและเราไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้ ทั้งที่หากทุกคนร่วมลงมือทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะช่วยลดผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนในชีวิตประจำวันได้ เราก็จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

เหตุผลทางจิตวิทยาเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติโดยธรรมชาติที่สมองจะเล่นตลกกับเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ คือหยุดสักนิด และคิดอีกสักหน่อย คิดวิเคราะห์ถึงหลักฐานข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับวิกฤตโลกร้อนนี้ ซึ่งมีอยู่แล้วมากมายรอบตัวเรา ทางฝ่ายข้อมูลอาจนำเสนอข้อมูลที่ใกล้ตัวประชาชนมากขึ้น เพื่อให้คนตระหนักถึงปัญหาและให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น รวมถึงนำเสนอวิธีแก้ไขที่ทุกคนจะสามารถทำได้ อาจจะดูยากที่เราเองต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง แต่เพื่ออนาคตที่ปลอดภัย ยั่งยืน และดีกว่า ก็คุ้มค่าที่จะพยายาม

การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต่างก็มีความสำคัญทั้งสิ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “What is an ocean but a multitude of drops?” (David Mitchelle, Cloud Atlas)  มหาสมุทรนั้นไม่ใช่อะไรเลย หากแต่เป็นหยดน้ำที่มารวมกัน อย่าประมาทพลังความสามารถของคุณ ที่จะพาตัวคุณเอง และคนทุกคนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

อีกหนึ่งทางที่คุณทำได้ คือ ร่วมแบ่งปันเรื่องราวที่คุณเพิ่งอ่านนี้ให้คนรอบตัวได้รับรู้ เพียงแค่นี้ ก็เท่ากับเป็นการเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงแล้ว

อ่านเพิ่มเติม


ที่มา: Greenpeace Thailand 

แสดงความคิดเห็น

>