Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เคล็ดลับสอบตรงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4 คณะ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

เคล็ดลับสอบตรงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4 คณะ

1. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอบ 3 วิชา คือ
     1. วิชาความถนัดทางวิชาการ (SAT) 20 คะแนน
วิชานี้เป็นการวัดความรู้ความสามารถทางสติปัญญา โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนย่อย คือ
     1.1 ชุดจำนวน (5 คะแนน) เป็นการทดสอบความสามารถเรื่องเลขอนุกรม และมิติสัมพันธ์รูปร่างต่างๆ ในส่วนนี้น้องๆ ควรฝึกหัดทำแบบฝึกหัดเลขอนุกรม และมิติสัมพันธ์อย่างง่ายให้คุ้นเคย เป็นทักษะที่ฝึกฝนได้ ยิ่งทำบ่อยๆ ก็จะรู้สึกชินกับตัวเลขและรูปภาพที่โจทย์ถาม หนังสือที่มีแบบฝึกหัดแนว SAT นี้มีมากมาย เช่น ข้อสอบภาค ก. ของ ก.พ. หรือ ข้อสอบความถนัดทางวิชาชีพครู ส่วนนี้พี่ขอบอกครับว่าไม่ยาก ถ้าฝึกทำบ่อยๆ จนจับทางโจทย์ถูก
     1.2 ชุดภาษา (10 คะแนน) เป็นการวัดความรู้หลักภาษาไทยระดับมัธยมศึกษา ผู้ที่เก่งวิชาภาษาไทย จะได้เปรียบ คนที่ไม่ถนัด ก็น่าจะทบทวนหลักภาษาพื้นฐานให้มากขึ้น
     1.3 ชุดเหตุผล (5 คะแนน)
เป็นการวัดการใช้เหตุผลของน้อง ว่าน้องสามารถเชื่อมโยงความคิด และความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ได้อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ การอนุมานอย่างมีเหตุผลแบบนิรนัยและแบบอุปนัยของน้องถูกต้องน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้น้องได้เรียนในเรื่องภาษากับเหตุผลบ้างแล้ว
     2. วิชาภาษาอังกฤษ 20 คะแนน
วิชานี้เป็นการอ่านเรื่อง (Passage Reading) ทั้งหมด ความยากง่ายระดับเดียวกับข้อสอบ TU-GET หรือ A-NET การรู้ความหมายศัพท์ และความเข้าใจเรื่องสำคัญมาก ต้องอ่านเร็ว และเลือก Choice ได้ถูกต้องแม่นยำ ส่วนนี้พี่ฟันธงว่า น้องควรมีพื้นฐานการอ่านภาษาอังกฤษที่ดี มิฉะนั้นอาจจะมืดแปดด้านในห้องสอบได้ เพราะมี Passage หลายเรื่อง หลากหลายสาขาวิชา แต่ก็จะมีบางเรื่องเกี่ยวกับการใช้กฎหมายอยู่บ้าง ดังนั้น 1. ต้องรู้คำศัพท์มากเพียงพอ 2. รู้หลักการอ่าน (Reading Techniques) เช่น เทคนิคการหา Main Idea, Title, Pronoun Reference, Tone, Attitude, Purpose และ Inference เป็นต้น ในประเด็นนี้
การแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยมีความสำคัญอย่างยิ่ง
     3. วิชาเฉพาะ 60 คะแนน
     3.1 วิชาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย (10 คะแนน) สำหรับความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย หัวข้อที่น้องควรรู้มีดังต่อไปนี้ ลักษณะต่างๆ ของกฎหมาย ประเภทและการใช้กฎหมาย บุคคล นิติบุคคล และความสามารถ สิทธิ และการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลักและนิติวิธีของกฎหมายมหาชน ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย กฎหมายอาญาภาคทั่วไป – ความผิด กฎหมายปกครอง และกฎหมายระหว่างประเทศ หนังสือที่ควรอ่านคือ การศึกษาวิชากฎหมาย หรือ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป ของ ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย
     3.2 วิชาความสามารถในการใช้เหตุผลทางกฎหมาย (30 คะแนน) การวัดในด้านนี้จะมีหลักกฎหมายมาให้ (ซึ่งเราไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน) 1-2 หลักกฎหมาย และมี อุทาหรณ์ หรือ ข้อเท็จจริงมาให้ 3-4 บรรทัด ให้น้องนำหลักกฎหมายมาประยุกต์ใช้กับอุทาหรณ์ หรือ ข้อเท็จจริงที่โจทย์ให้มา สิ่งสำคัญคือ ต้องตีความให้ถูกต้อง

พร้อมกับใช้เหตุผลประกอบการบรรยาย
     3.3 วิชาย่อความ (10 คะแนน) เหมือนกับการย่อความในภาษาไทยทั่วไป แต่ต้องย่อจากบทความจำนวน 12-15 หน้า ให้เหลือ 8 บรรทัด ซึ่งในส่วนวิชาย่อความนี้ น้องๆ ส่วนใหญ่จะทำไม่ทัน ต้องอาศัยเทคนิค + การฝึกฝน บทความที่ให้ย่อ เช่น บทความทางกฎหมาย หรือ พระบรมราโชวาท เป็นต้น
     3.4 วิชาเรียงความ (10 คะแนน) วิชานี้จะกำหนดหัวข้อมาให้แล้วให้แสดงความคิดเห็น 14-15 บรรทัด เหมือนกับการเรียงความในภาษาไทยทั่วไป เน้นการใช้ภาษาที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องอ้างหลักกฎหมายในการตอบ แต่ต้องแสดงตรรกะเหตุผลให้ชัดเจน
พี่ๆ หวังว่า หากน้องๆ เตรียมตัวให้พร้อม การได้เป็น 1 ใน 300 คน เป็นเสือเหลืองในโครงการสอบตรงคณะนิติศาสตร์ ม.ธ. ปีนี้ จะไม่ยากเกินความสามารถของน้องแน่นอน พวกพี่ๆ ขอเป็นกำลังใจช่วยให้น้องบังเกิดอิทธิบาทสี่ เพื่อความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่รออยู่ อย่างไรก็ตาม หากน้องคนใดมีปัญหา หรือ ต้องการคำปรึกษา สามารถติดต่อสอบถามพี่ๆ ได้ครับผม


2. SMART – I คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
     1. คณิตศาสตร์ (30%) เป็นโจทย์ปัญหาความยากง่ายประมาณคณิตศาสตร์ ม.3 หรือ คณิตศาสตร์ O-NET เพียงแต่ต้องประยุกต์โจทย์ ตีโจทย์ให้ดีๆ แทนสมการให้เป็น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของ X ส่วน ร้อยละ มุมและตรีโกณมิติ ความเร็ว ระยะทาง กำลังการผลิต และสถิติ ตัวอย่างโจทย์ใกล้เคียงกับข้อสอบภาคคณิตศาสตร์ของ GMAT หรือ CU-BEST แต่มีความซับซ้อนน้อยกว่า ถ้าทำ GMAT หรือ CU-BEST ได้ก็น่าจะพิชิตส่วนนี้ได้สบายๆ ครับ
     2. การอ่าน (25%) เป็นการทดสอบการอ่านจับใจความ ลักษณะเด่นคือ บทความที่นำมาให้อ่านจะค่อนข้างเป็นจะไปในเนื้อหาเชิงธุรกิจ หรือ เศรษฐกิจ และมีความยาวมากถึง 40-50 บรรทัด เวลาน้องอ่านต้องพยายามจับประเด็นดีๆ เพราะมีตัวเลือกถึง 5 ตัวเลือก อาจทำให้สับสนได้ ถ้าน้องต้องการฝึกฝนให้ลองทดสอบอ่านข้อสอบภาษาไทยปีเก่าๆ ที่มีบทความยาวๆ หรือ ข้อสอบ ภาค ก. ของ ก.พ. ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายๆ
กันกับข้อสอบ SMART-I
     3. ความรู้รอบตัว (10%) ส่วนใหญ่จะเน้นความรู้รอบตัวด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ สิ่งที่น้องควรรู้ได้แก่ สภาวการณ์เศรษฐกิจโลก อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ในแต่ละประเทศ ภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงิน หนี้สาธารณะ การลงทุน ภาษีอากร ดัชนีผู้บริโภค นโยบายการเงินและการคลัง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โครงการขนาดใหญ่ (Mega-Project) และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องการเมืองและสังคมก็จะออกบ้างตามเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ดังนั้นน้องควรติดตามข่าวสารเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอยู่ตลอด ไม่เข้าใจอะไรตรงไหนก็ขอให้รีบถามผู้รู้ด้านนั้นๆ อ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจบ้าง อย่าอ่านแต่ข่าวบันเทิงอย่างเดียว
     4. ภาษาอังกฤษ (30%) ส่วนนี้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จะดัดแปลงข้อสอบของสถาบันภาษา ม.ธ. มาออก ดังนั้น รูปแบบของตัวข้อสอบจึงเหมือนข้อสอบ TU-GET ทุกประการ ซึ่งประกอบด้วย Writing Ability, Sentence Completion, Vocabulary และ Reading Comprehension โดยส่วนใหญ่แล้วน้องๆ
มักจะตกส่วนนี้มาก คะแนนไม่ถึง 30% ของส่วนนี้ ทำให้ไม่สามารถยื่นคะแนน SMART-I รวมได้ แม้จะทำส่วนอื่นได้คะแนนมากก็ตาม ข้อสอบ TU-GET ฉบับจริงมีจำหน่ายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
     5. สัมภาษณ์ (5%) ผู้มีสิทธิเข้าสอบสัมภาษณ์ต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ 4 วิชาขั้นต้นแล้วเท่านั้น การสัมภาษณ์จะเป็นการไต่ถามข้อมูลส่วนตัว ทัศนคติต่อกลุ่มวิชาด้านการบัญชี และบริหารธุรกิจ รวมทั้งการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะบากบั่นเรียนให้สำเร็จการศึกษา 4 ปี (ปกติ) หรือ 5 ปี (บูรณาการ) น้องที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือ คำปรึกษา NISIT Academy ยินดีตอบทุกคำถามครับ

3. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอบ 2 วิชา คือ
     1. ความรู้ทั่วไปทางรัฐศาสตร์ (ปรนัย 60 ข้อ)
มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับ รัฐศาสตร์ในเชิงสหวิทยาการ แนวคิดเรื่องรัฐ ระบบการเมืองการปกครอง พรรคการเมือง การพัฒนาประชาธิปไตย การเมืองการปกครองไทย การปกครองท้องถิ่น นักทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ หลักบริหารรัฐกิจ นโยบายรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต เศรษฐศาสตร์การเมืองโลก และเหตุการณ์ปัจจุบันทางการเมืองการบริหาร
วิธีพิชิตส่วนที่ 1 นี้คือ ต้องมีพื้นฐานทางการเมือง ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมดีมาก รวมทั้งติดตามสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะในปีการศึกษา 2550 นี้ ทั้ง 3 สาขาวิชา คือ การเมืองการปกครอง บริหารรัฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะรับนักศึกษาประมาณ 35-50 คนเท่านั้น อัตราการแข่งขันของคณะรัฐศาสตร์จึงค่อนข้างสูงมากทุกปี
     2. เรียงความ
น้องต้องเขียนเรียงความเฉพาะสาขาวิชาที่น้องเลือกสมัครเข้าศึกษา
ความยาว 2 หน้ากระดาษ A4 เช่น สาขาวิชาการเมืองการปกครอง น้องอาจต้องเขียนแสดงความคิดเห็นหัวข้อเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยตัวแทน (Representative Democracy) สาขาวิชาบริหารรัฐกิจ หัวข้อเกี่ยวกับระบบราชการกับการพัฒนาประเทศ หรือ สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หัวข้อเกี่ยวกับวิกฤตการณ์น้ำมันกับการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น วิธีเขียนตอบ ต้องจัดระเบียบความคิด และถ่ายทอดออกมาเป็นประเด็นชัดๆ โดยมีแนวคิดทฤษฎีที่ได้ศึกษามาสนับสนุนความคิดความเห็นของเรา ถ้าอ้างนักทฤษฎีคนสำคัญๆ และคำสำคัญๆ (Keywords) ทางรัฐศาสตร์ประกอบด้วยคำตอบของน้องจะมีน้ำหนัก และเรียกคะแนนได้มากทีเดียว หนังสือที่ควรอ่าน ได้แก่ ผลงานทางวิชาการของ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ศ.สร้อยตระกูล อรรถมานะ และ ศ.ดร.จุลชีพ ชิณวรรโณ เป็นต้น
น้องคนใดที่ยังไม่เข้าใจรัฐศาสตร์ดีนัก สามารถสอบถาม หรือ ปรึกษาปัญหาคาใจได้ พี่ๆ สิงห์แดงทุกคนเต็มใจตอบทุกคำถามครับ

4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอบ 3 วิชา คือ
     1 คณิตศาสตร์และสถิติ (200 คะแนน) มีเนื้อหาได้แก่
ฟังก์ชันและกราฟ อนุกรม แคลคูลัสอนุพันธ์ อินทิกรัล เมทริกซ์ ดีเทอร์มิเน้นท์ เวกเตอร์ การหาค่าตัวแปรในระบบสมการ เลขดัชนี การให้เหตุผล ตรรกศาสตร์ ภาคตัดกรวย กำหนดการเชิงเส้น สถิติเบื้องต้น ความน่าจะเป็น ฟังก์ชันสถิติ การวิเคราะห์เชิงสถิติ และการหาค่าเหมาะสมที่สุด เนื้อหาส่วนใหญ่อยู่ในขอบเขตของคณิตศาสตร์ A-NET อยู่แล้วครับ
     2 ภาษาไทย (ปรนัย 40 คะแนน อัตนัย 60 คะแนน)
     2.1 หลักภาษาและการอ่านจับใจความ เป็นเนื้อหาทั่วๆ ไปเกี่ยวกับหลักภาษาไทย ลักษณะคล้ายๆ ข้อสอบภาษาไทย O-NET น้องสามารถฝึกฝนได้โดย การทำข้อสอบ Entrance เก่าๆ ได้
     2.2 เรียงความและย่อความบทความทางเศรษฐกิจ ในส่วนของเรียงความและย่อความ จะมีบทความมาให้อย่างละ 1 บท ให้น้องๆ เรียงความ และ ย่อความ
ส่วนใหญ่จะเป็นบทความทางเศรษฐกิจ การเขียนก็เหมือนกับการเขียนเรียงความ – ย่อความในภาษาไทย สิ่งสำคัญอยู่ที่การใช้ภาษาให้ถูกต้องเหมาะสม กอปรกัปมีพื้นฐานความรู้ทางเศรษฐศาสตร์บ้าง หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และบทความทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรฝึกอ่านไว้ครับ
     3 ภาษาอังกฤษ (150 คะแนน)
     3.1 Economic News น้องๆ ต้องติดตามข่าวเศรษฐกิจให้มากๆ ทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ น้องสามารถฝึกได้โดยการอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีขายมากมายตามท้องตลาด ฝึกให้ชินเข้าไว้ Practice makes Perfect นะครับน้องๆ
     3.2 Economic Terms การรู้คำศัพท์เป็นเรื่องสำคัญ คำศัพท์เฉพาะทางเศรษฐศาสตร์มีมาก บางครั้งมีการถามคำศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ด้วย ถ้าน้องมีพื้นฐานคำศัพท์ดี เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำศัพท์ ก็จะสามารถช่วยให้น้องอ่านและแปลบทความทางเศรษฐศาสตร์ได้เข้าใจมากขึ้นด้วย
     3.3 Economic Passages บทความทางเศรษฐศาสตร์
เป็นสิ่งที่น้องๆ ต้องเจออย่างแน่นอน ส่วนใหญ่จะทำไม่ทัน หรือ ทำไม่ได้ เพราะน้องจะเจอ Passage ที่ยาวมากๆ และปัญหาสำคัญมาจากการไม่รู้คำศัพท์ ไม่เข้าใจใจความสำคัญของบทความ (บางคนรู้คำศัพท์ แต่แปลประโยคไม่ได้) ทำให้ต้องนั่งเดากันอยู่นาน
วิธีที่ดีที่สุด คือ ฝึกอ่านหนังสือพิมพ์ หรือ นิตยสารภาษาอังกฤษ เช่น TIME, Newsweek, Economic Reviews เล่มต่างๆ หรือ Reader’s Digest เป็นต้น
สิ่งที่พี่อยากฝากสำหรับน้องๆ ที่ต้องการศึกษาต่อในคณะเศรษฐศาสตร์ คือ น้องควรสำรวจตัวเองให้ดีว่า น้องมีความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษมากแค่ไหน เพราะการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์นี้ จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ทางคณิตศาสตร์ดี ใช้หลักตรรกะของเหตุผลเก่ง รวมทั้งต้องสามารถอ่านตำราภาษาอังกฤษ (Textbooks) ได้ NISIT Academy พร้อมให้คำปรึกษากับน้องๆ ที่ต้องการจะเป็น ลูกหลาน อ.ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ปรมาจารย์แห่งเศรษฐศาสตร์ไทยครับ

ที่มา forwaed mail

โชคดีในการสอบทุกๆคนค่า

แสดงความคิดเห็น

>

28 ความคิดเห็น

ดีดี 4 ต.ค. 49 เวลา 18:05 น. 3

อยากเข้ารัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกกก



ขอบคุณสำหรับขอมูลดีๆคะ



ขอบคุณจิงๆๆ

0
4 ต.ค. 49 เวลา 18:32 น. 5

มีประโยชน์มากๆๆ ขอบคุณมากนะค่ะคือว่ากำลังจะสอบนิติอ่ะค่ะ



PS.  
0
235770 4 ต.ค. 49 เวลา 18:57 น. 6

ขอบคุณมากๆค่ะ เพราะลงสอบตรงเศรษฐศาตร์ไว้
แต่เลขอัตนัยนี่ก็... น่ากลัวเน๊อะ อิอิ

0
Sikkamont 21 ต.ค. 51 เวลา 18:05 น. 10

ถ้าน้องๆ อยากเรียนเศรษฐศาสตร์ ควรจะสำรวจความพร้อมของตัวเองให้ดีก่อนนะครับว่าชอบหรือไม่ อย่างน้อยที่สุด พื้นฐานที่ทิ้งไม่ได้เลย คือ ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์และสถิติ ซึ่งหากน้องๆ เข้ามาแล้ว รับรองว่าจะต้องเรียนคณิตศาสตร์กับสถิติทุกเทอมตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4 เลยนะครับ อีกอย่างหลายคนชอบสับสนระหว่างเศรษฐศาสตร์กับบริหารธุรกิจ ซึ่งมันเป็นคนละศาสตร์กัน แต่ก็เอื้อประโยชน์กัน แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เป็นพื้นฐานสำหรับการบริหารธุรกิจ การบริหารธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของหลักคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ (จำพวกเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม หรือ Industrial Organization; IO) ดังนั้น ควรสำรวจตัวเองว่า มีความถนัดในด้านใดก่อน ระหว่าง ความต้องการจะนำความรู้ไปบริหารงานทางด้านธุรกิจ หรือนำความรู้ไปช่วยเหลือสังคม เศรษฐกิจของประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าขึ้นนะครับ

0
เอิง 23 พ.ค. 52 เวลา 11:01 น. 11

อยากเข้า เศรษฐศษสตร์ ธรรมศาสตร์ มากๆๆ&nbsp แต่ว่า อ่าน คณิต กะอังกิด มากมาย ไม่รู้ว่าจาสอบติดมั้ย

ยังไงก้อตอนนี้ก้อ มอหกแล้ว ขอให้สอบตรงติดคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ด้วยเถอะนะ

0
ฟอร์มาลีน 17 มิ.ย. 53 เวลา 22:07 น. 13

ขอบคุณค่า


PS.  เราจะมีชีวิตแค่เพียงชั่วคราว...เดี๋ยวก็ต้องตายแล้ว...ไม่นานชื่อเราก็จะถูกลืมเลือนหายไปตามกาลเวลา...แต่สิ่งที่จะเราจะฝากไว้ให้กับโลกใบนี้...จะอยู่คู่โลกตลอดไป...
0
EnT 12 พ.ย. 53 เวลา 23:25 น. 15

พรุ่งนี้สอบ ตรง เสดสาด มธ ก็ ขอให้ติด นะคับ

แล้วก็อีกอย่าง

อยากบอกว่าจิงๆ ไม่เก่งเลข ก็ เรียนเสดสาด ได้

เพราะพี่เองก็ไม่เก่งเลข แต่ก็ ยังเรียนได้เลย

คะแนน ยังดีกว่าคนเก่งเลขอีก ^^

0
ปอย 12 เม.ย. 54 เวลา 20:55 น. 16

อยากเรียนเศรษฐศาสตร์&nbsp แต่หนูเรียนสายศิลป์

เลยเสียเปรียบสายวิทย์เพราะเรียนคณิตน้อยกว่าควรเตรียมตัวเพิ่มยังไงดีค่ะ

0
NnadiaA 11 ก.ย. 55 เวลา 18:51 น. 17

หนูพลาดสอบ smart-1 ครั้งนี้อ่ะค่ะ
แล้วคณะ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
ก็จะปิดรับสมัคสอบตรงก่อนสอบ smart-1 ครั้งที่10
หนูยังมีโอกาสอื่นอีกไหมค่ะ ???&nbsp T^T"

0