Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

6 ตุลา วันนี้เกิดอะไรขึ้น.....เมื่อ ปี 2519 ย้อนไปดูภาพเหตุการณ์ที่โหดร้าย....กันได้เลยคับ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่




6  ตุลา  กับสถานะทางประวัติศาสตร์การเมือง

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ในบทความซึ่งอาจจะดีที่สุดเกี่ยวกับ "การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519" โดยศาสตราจารย์เบเนดิค แอนเดอร์สัน กล่าวไว้ว่า โดยตัวของมันเองแล้วการรัฐประหาร 6 ตุลา ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าจะในสมัยใหม่หรือสมัยเก่า เพราะเคยมีรัฐประหารหรือความพยายามที่จะทำรัฐประหารมาครั้งแล้วครั้งเล่า (นับแต่การปฏิวัติ 2475) ดังนั้นทั้งนักวิชาการและนักหนังสือพิมพ์ (ตะวันตก) ต่างก็ลงความเห็นว่า "การรัฐประหาร 6 ตุลา" เป็นเรื่อง "ธรรมดา ๆ" ของการเมืองไทยและเป็นการกลับไปสู่ "สภาพปกติ" หลังจากที่หลงระเริงอยู่กับ "ประชาธิปไตย" เสีย 3 ปี

แต่เบเนดิค แอนเดอร์สัน ก็กล่าวว่า "การรัฐประหาร 6 ตุลา" เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อใหม่ของการเมืองไทย อย่างน้อยก็ใน 2 ประเด็น คือ (1) บรรดาผู้นำฝ่ายซ้าย แทนที่จะจบลงด้วยการถูกจับขังคุก (จนลืม) หรือไม่ก็ไปลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศ กลับเข้าไปร่วมกับขบวนการจรยุทธ์ในป่า และ (2) การรัฐประหาร 6 ตุลา แตกต่างจากการรัฐประหารที่เคยมีมา นั่นคือหาใช่เป็นเพียงการยึดอำนาจกันในหมู่ผู้นำเท่านั้น แต่เป็นการรัฐประหารที่ฝ่ายขวาใช้เวลากว่า 2 ปีในการวางแผนการ รณรงค์ คุกคามอย่างเปิดเผย ทำร้าย ทำลายชีวิต ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้อย่างโจ่งแจ้งของความรุนแรงและการปั่นให้เกิดความบ้าคลั่งของฝูงชน "ม็อบ" เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

อาจารย์เบนขยายความต่อไปอีกว่า รูปแบบและระดับของความรุนแรงของ 6 ตุลานั้น เป็นอาการของโรค ("ลงแดง") ที่เกิดจากวิกฤตการณ์ทางสังคม-วัฒนธรรม-การเมืองสมัยใหม่กล่าวคือ การก่อตัวของชนชั้น (ใหม่) กับความปั่นป่วนทางอุดมการณ์

กล่าวโดยย่อ (ในทัศนะของอาจารย์เบน) นับแต่ปลายทศวรรษ 1950 (ยุคฟิฟตี้) เป็นต้นมา ได้เกิดชั้นชนกระฎุมพีใหม่ขึ้น โดยเกิดขึ้นมานอกชนชั้นสูง – เจ้านาย – ข้าราชการเก่า ชั้นชนใหม่นี้มีทั้งกระฎุมพีน้อย – กระฎุมพีกลาง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของ "บูม" ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามเวียดนามในทศวรรษ 1960 (ยุคซิกสตี้) ที่ทั้งคนอเมริกันและเงินดอลลาร์อเมริกันหลั่งไหลเข้ามาในสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ตามด้วยคนและเงินเยนญี่ปุ่นมากมายมหาศาล

ชั้นชนกระฎุมพีใหม่นี่แหละ ที่ได้กลายเป็นฐานให้กับขบวนการฝ่ายขวา ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากกลุ่มฝ่ายขวาเดิมของเจ้า-ผู้ดีและข้าราชการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มผู้ปกครองเก่า - เจ้า – นายพล – นายธนาคาร – ข้าราชการ จะหลุดออกไปจากตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่กุมอำนาจทางการเมือง กลับเป็นว่ากลุ่มผู้ปกครองเก่านี้ ได้พันธมิตรใหม่ที่มีฐานกว้างขวางที่มีลักษณะคุกคามและเป็นอันตรายมากกว่าเดิม

พร้อม ๆ กับการเกิดของชั้นชนกระฎุมพีนี้ ความปั่นป่วนด้านอุดมการณ์ก็เป็นผลพวงของผลกระทบของการที่อเมริกาเข้ามา และระเบิดให้เห็นทางด้านภูมิปัญญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีของยุค "ประชาธิปไตย" เบ่งบานนั้น มีคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่เบื่อหน่ายต่อความอับจนทางปัญญา และการใช้สัญลักษณ์ทางจารีตโดยระบอบสฤษดิ์ – ถนอม – ประภาส คนหนุ่มสาวตั้งคำถามต่อค่านิยมและวัฒนธรรมจารีตนั้น ซึ่งก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการโฆษณาเผยแพร่ สั่งสอนอุดมการณ์ชาติ – ศาสนา – พระมหากษัตริย์ หนักหน่วงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ชาติ - ศาสนา – พระมหากษัตริย์ แทนที่จะเป็นของ "ไทยตามธรรมชาติ" โดยทั่วไป กลับกลายเป็นอุดมการณ์เฉพาะของการก่อตัวทางสังคมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมขบวนการฝ่ายขวานี้ก็คือบรรดาชั้นชนกระฎุมพีใหม่ ส่วนผู้ทำการโฆษณาเผยแพร่อุดมการณ์มีทั้งกลุ่มบ้าคลั่งจากชั้นชนใหม่นี้เอง และจากผู้ที่บงการของกลุ่มชนชั้นปกครองเก่าที่อยู่เบื้องหลัง (Benedict Anderson, Withdrawal Symptoms : Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup', Bulletin of Concerned Asian Scholars, July – September, 1977)

เหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตผู้นำนักศึกษาในสมัยนั้น และปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเล่าว่า เมื่อเวลาประมาณ 2 นาฬิกาของวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจกับกองกำลังติดอาวุธและกำลังพลฝ่ายขวา ได้เคลื่อนเข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้คนจำนวน 4-5 พันคนชุมนุมอยู่ตลอดคืน ประท้วงการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งได้ถูกประชาชนลุกฮือขับไล่ออกจากประเทศไปเมื่อ 3 ปีก่อน (การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516) หลังการเข้าปิดล้อม ก็ได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ ๆ มีการปาระเบิดเข้าไปตามตึกของมหาวิทยาลัย ราตรีนั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียด ทั้งนี้เพราะก่อนหน้านี้นักกิจกรรมการเมือง 2 คน (พนักงานไฟฟ้านครปฐม) ได้ถูกทำลายชีวิตและจับแขวนคอ (ในขณะที่กำลังปิดโปสเตอร์ประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร)

หลังการทำลายชีวิตดังกล่าวที่นครปฐม ได้มีการแสดงละครการเมืองของนักศึกษา ล้อเลียนการกลับมาของจอมพลถนอม (บวชเป็นเณรมาจากสิงคโปร์ แล้วก็เข้าไปบวชเป็นพระอย่างเร่งรีบที่วัดบวรนิเวศ) ล้อเลียนการแขวนคอนักกิจกรรม การแสดงนี้มี ณ บริเวณลานโพธิ์ มธ. หน่วยโฆษณาชวนเชื่อของทหาร (วิทยุยานเกราะและเครือข่ายวิทยุเสรี) และ นสพ. (ดาวสยาม) ได้นำฟิล์มรูปการแสดงละครไปตกแต่ง แล้วอัดรูปขยายพิมพ์เผยแพร่ กล่าวหาและปลุกปั่นว่านักศึกษา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ล้อเลียนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โดยที่นักศึกษาไม่ได้รับโอกาสที่จะแก้ข้อกล่าวหานี้แต่ประการใด

เมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. ตำรวจและกองกำลังติดอาวุธก็ยิงระเบิดเข้าไปกลางฝูงชนเป็นผลให้มีคนตายทันที 4 ศพ และบาดเจ็บหลายสิบ และจากระเบิดลูกนั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้อาวุธสงครามร้ายแรงทำลายชีวิตนักศึกษาและประชาชนเป็นเวลาหลายชั่วโมง มีทั้งการยิงจรวด (ที่ใช้ต่อต้านรถถัง) เข้าไปตามตึกต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาและประชาชนหลบซ่อนอยู่ ฝูงชนฝ่ายขวา (รวมทั้งมือปืนรับจ้าง) ที่ได้รับการจัดตั้งและปลุกระดมไว้อย่างดีแล้วบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย บ้างลากนักศึกษาออกมาทุบตีจนตาย บ้างใช้ผ้ารัดคอนักศึกษาลากไปตามสนาม บ้างนำนักศึกษาไปแขวนคอที่ต้นมะขามสนามหลวง ด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง ที่ทางหน้ากระทรวงยุติธรรมมีการจับร่าง 3 ร่างเอาน้ำมันราด เอายางรถสุม เอาไฟจุดเผา การทำลายชีวิตและร่างกายอย่างโหด X -->มทารุณ ดำเนินไปจนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 9 นาฬิกา

วันนั้นวันที่ 6 ตุลา เป็นวันพุธ เป็นวันมหาวิปโยค "ที่ไทยฆ่าไทย" เป็นวันที่มืดมิดที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ครั้นถึง 18 นาฬิกาเย็นวันนั้น คณะทหารก็ประกาศยึดอำนาจ (ทางการแถลงว่าในวันนั้นมีผู้เสียชีวิตประมาณ 40 คน บาดเจ็บเป็นร้อยและถูกจับกุมไป 3 พันคน แต่ก็เชื่อกันว่าจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ รวมทั้งสูญหายน่าจะสูงกว่าที่ทางการแถลง)

กล่าวโดยย่อ 6 ตุลา (2519) ก็คือวันที่มีการรัฐประหาร นำการเมืองไทยกลับไปสู่การปกครองโดยคณะทหารอีกครั้งหนึ่ง (แต่มีนายกรัฐมนตรีมาจากข้าราชการตุลาการ) ซึ่งมิใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่การรัฐประหาร 6 ตุลาก็มาพร้อมกับความรุนแรงและป่าเถื่อน อย่างชนิดที่ไม่มีผู้ใดจะคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยมาก่อน ภาพของความทารุณโหดร้ายถูกบันทึกไว้เป็นภาพยนตร์ เป็นภาพถ่าย ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก (แม้ในยุคสมัยที่ไทยยังไม่ตื่นเต้นกับโลกาภิวัตน์นัก ยังมิได้มี "ม็อบมือถือ" แฟกซ์ กล้องวิดีโอ ตลอดจนบรรดาอุปกรณ์ไฮ–เทค ทั้งหลาย) การสังหารหมู่กลางพระนครวันนั้น ได้รับการถ่ายทอดออกโทรทัศน์ช่อง 9 ด้วย

แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง ที่ 6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นอดีตที่ดูเหมือนผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ประหนึ่งว่าเป็นการพังพินาศของอดีต ขาดสถานะทางประวัติศาสตร์ (เข้าทำนองที่ว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของคนชนะ ประวัติศาสตร์หาได้เป็นเรื่องราวของผู้แพ้ไม่) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งจากอุดมการณ์ทั้งขวาและซ้าย ดูจะสับสนงุนงง ลืม เลอะเลือน ปฏิเสธและบางครั้งขาดความเข้าใจต่อ 6 ตุลาในบริบทเฉพาะของการเมืองไทย และบริบทใหญ่ของการเมืองโลก (ทั้งนี้โดยที่ยังไม่นับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง และผู้ที่อยู่ห่างไกลจากความแตกแยกทางอุดมการณ์ในครั้งนั้น)

ยิ่งอนุชนรุ่นหลังแล้ว ก็เกือบจะไม่มีการรับรู้ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หาใช่หนึ่งในหน้าของประวัติศาสตร์ไทยไม่ ไม่ว่าจะในระดับประถมหรือมัธยม หรือในระดับอุดมศึกษา (ทั้งนี้โดยที่ยังไม่ต้องกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในทำนองเดียวกันอีก 2 เหตุการณ์ คือ การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภามหาโหด 2535 ) ดังนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจนักที่จะมีคนกล่าวถึงเหตุการณ์ "16 ตุลาคม 2514" (!!!???)

ประวัติศาสตร์ "ระยะเวลาช่วงยาว"

มีสำนักคิดทางประวัติศาสตร์สำนักหนึ่งของฝรั่งเศส ที่ถือว่าความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์นั้น จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อประวัติศาสตร์นั้นมีลักษณะ longue duree ขอแปลเป็นไทยว่า "ระยะเวลาช่วงยาว" กล่าวคือเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์โดยใช้ระยะเวลาช่วงยาว ๆ เป็นกรอบ ซึ่งจะทำให้เห็นกระแสทางเดินของประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี แทนที่จะเป็นการศึกษาเฉพาะแต่ละเหตุการณ์ฯ ที่เรียกว่า histoire evenementielle หรือประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ ซึ่งจะมีลักษณะที่คับแคบ มองได้ไม่ไกล

ถ้าหากจะใช้ทฤษฎี "ระยะเวลาช่วงยาว" นำมาศึกษา " 6 ตุลาคม 2519" เล่า เราจะศึกษาได้อย่างไร

"ระยะเวลาช่วงยาว" ของการเมืองไทย

ในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองไทย 6 ตุลาน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคม ที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อต้าน และพยายามปลดปล่อยตนเองจากการครอบงำของระบอบสังคมเก่า (และเก่ากว่า) ขบวนการนี้รู้จักกันชื่อต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็น "ประชาธิปไตย" "รัฐธรรมนูญ" หรือ "เสรีภาพ"

ขบวนการเช่นว่านี้เป็นผลพวงของแนวความคิดทางการเมืองใหม่ ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในช่วงที่สังคมไทยติดต่อสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่ (ยุคอาณานิคม) ที่มีมหาอำนาจตะวันตกเป็นผู้นำและก็ก่อให้เกิดแนวความคิดทางการเมืองใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เสรีนิยม" และ "สังคมนิยม" อันเป็นสิ่งที่ตรงข้ามและเป็นปฏิปักษ์กับลัทธิ "อนุรักษ์นิยม" หรือส่วนที่แตกหน่อออกมาเป็น "อำนาจนิยม" ที่เป็นพื้นฐานของ "สมบูรณาญาสิทธิ์" กับ "เสนา – อำมาตยนิยม"

ถ้าหากจะดูตามลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและทางความคิดนี้กินระยะเวลาอันยาวกว่า 100 ปี เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ลัทธิอาณานิคมตะวันตกได้บุกทะลวงเข้ามาในเอเชีย มาปรากฏอิทธิพลในสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีการแปลรัฐธรรมนูญของอเมริกาลงพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ (มิชชันนารี) ในหนังสือจดหมายเหตุ 19 ตุลาคม 1865 (2408) จากนั้นมีการเรียกร้องให้มีการปกครองโดยมีตัวแทน (รัฐสภา) อย่างกรณีของนักคิดนักเขียน "ปัญญาชนของสังคม" อย่าง "เทียนวรรณ" ในสมัยรัชกาลที่ 5 (แต่เทียนวรรณก็ถูกจับติดคุกเสียตั้ง 17 ปี)

"ระยะเวลาช่วงยาว" ทางประวัติศาสตร์ของขบวนการที่จะปลดปล่อยตนเองออกจากระบอบเก่านี้ดำเนินเรื่อยมาดังจะเห็นได้จาก "ประวัติศาสตร์เหตุการณ์" สมัยต่าง ๆ อย่างเช่น "การกบฏ ร.ศ. 130" เมื่อต้นรัชกาลที่ 6 ที่นายทหารหนุ่มจำนวนหนึ่งวางแผนที่จะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ แต่กว่าจะมาประสบความสำเร็จ (ในระดับหนึ่ง) ก็เมื่อ "การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475"

อาจกล่าวได้ว่ากระแสความคิดทางการเมืองหลักของผู้ที่ต้องการจะปลดปล่อย นับตั้งแต่เทียนวรรณ มาถึงพวกกบฏ ร.ศ. 130 (เก็กเหม็ง) จนกระทั่ง "ผู้ก่อการ" หรือ "คณะราษฎร" 2475 นั้น เป็นความคิดด้านเสรีนิยมเป็นหลัก พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นรูปแบบของระบอบประชาธิปไตยและลัทธิรัฐธรรมนูญที่ได้รับความบันดาลใจจากยุโรปตะวันตกนับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ที่ชูแนวความคิดว่าด้วยเสรีภาพ (เสมอภาค และภราดรภาพ) เป็นหลัก (ซึ่งอาจรวมถึงอิทธิพลของการปฏิวัติประชาธิปไตยของจีน ค.ศ. 1911 ที่มีซุนยัดเซ็นเป็นผู้นำด้วย) แม้จะมีอิทธิพลของสังคมนิยมอันเป็นผลพวงของการปฏิวัติรัสเซีย (1917) แทรกเข้ามา แต่ก็ยังนับได้ว่าเป็นกระแสรอง และถูกสกัดกั้นไว้แต่แรก ๆ

ดังเป็นที่ทราบทั่วไปว่า การปลดปล่อยเข้าสู่ระบอบใหม่นั้นหาได้บรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์ไม่ หลังการสิ้นสุดของ "สมบูรณาญาสิทธิ์" การเมืองไทยได้แปลงรูประบอบเข้าสู่ความเป็น "เสนา – อำมาตยนิยม" (ที่เรามักจะเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า "เผด็จการทหาร" แต่ในความเป็นจริงนั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงข้าราชการทหารเท่านั้น แต่รวมไปถึงข้าราชการพลเรือนและข้าราชการตุลาการด้วย)

ดังนั้นสิ่งที่ขบวนการต้องเผชิญเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ก็คือปลดปล่อยตนเองอีกครั้งหนึ่งจากระบอบเก่า (ที่ใหม่กว่า) กินระยะเวลาอันยาวนานไม่น้อย นับแต่การรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัณ (2490) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่วงระยะเวลาอันยาวนานของระบอบสฤษดิ์ – ถนอม – ประภาส (2500 – 2516 ) จนกระทั่งปลดปล่อยตัวเองได้อีกครั้งหนึ่ง (และในระดับหนึ่งอีกเช่นกัน) เมื่อการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516

การปลดปล่อยตนเองนี้ยังยืดเยื้อยาวนานมาอีก ผ่านช่วงของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านช่วงของพฤษภามหาโหด 2535 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน (ซึ่งเราก็ยังคงไม่มั่นใจนักต่อทิศทางของประชาธิปไตยไทย) ในช่วงของทางเดินทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับแต่ 2519 เป็นต้นมา และเมื่อพิจารณาด้านของความคิดหลักของขบวนการนี้ ความคิดเสรีนิยมก็ยังคงเป็นความคิดกระแสหลักอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าในสมัยสั้น ๆ เพียง 3 ปีระหว่าง 2516 - 2519 นั้นกระแสของสังคมนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปของลัทธิเหมาจะมีอิทธิพลต่อขบวนการปลดปล่อยไม่น้อย ทั้งนี้โดยที่ต้องศึกษาควบคู่ไปกับบริบทของการเมืองโลก

"ระยะเวลาช่วงยาว" ของการเมืองโลก

ในหนังสือเล่มล่าสุดของนักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ Eric Hobsbawm : The Age of Extremes, A History of the World , 1914 – 1991 (1994) ได้กล่าวถึงศตวรรษที่ 20 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปว่า ศตวรรษที่ 20 นี้เป็นศตวรรษที่แสนสั้น เป็นศตวรรษของความสุดขั้ว ความสั้นและความสุดขั้วนี้ดูได้จากช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1919 – 1991 คือจากปีที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (ที่ตามมาด้วยการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่มีผลสั่นสะเทือนไปทั่วโลกรวมถึงสยาม – ไทยด้วย) และก็จบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ศตวรรษที่ 20 (1900 – 2000) เริ่มต้นด้วยยุคสมัยแห่งความหายนะ (1914 – 1945, Age of Catastrophy) ของสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ที่ความสุดขั้วและความรุนแรงจากสงครามทั้งสองครั้งในเวลา 30 กว่าปีนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามนุษยชาติอาจไปไม่รอด โลกอาจจะสิ้นสุดลงด้วยสงครามนิวเคลียร์ แต่แล้วก็ตามมาด้วยยุคทองสั้น ๆ (1950s –1970s, Golden Age) ที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (ในกลุ่มโลกที่หนึ่ง และเครือข่ายจากกลุ่มโลกที่สาม พร้อม ๆ กับการเผชิญหน้าทางอุดมการณ์ของค่ายทุนนิยม และสังคมนิยม และในสองสามทศวรรษที่เหลือก่อนจะปิดศตวรรษ (fin de siecle) ก็เป็นสมัยของวิกฤตการณ์หนึ่งต่อด้วยอีกวิกฤตการณ์หนึ่ง เป็นยุคสมัยของความไม่แน่นอน (แม้ในโลกทุนนิยม) และยิ่งในโลกที่สองอย่างรัสเซีย และยุโรปตะวันออกแล้ว ก็เป็นยุคสมัยของความพังทลายและความพินาศ

ศตวรรษที่ 20 กำลังปิดฉากลงด้วยเสียงที่เปรี้ยงปร้าง (bang) พร้อม ๆ กับเสียงครวญคราง (whimper) ความสุดขั้วและความรุนแรงของศตวรรษที่ 20 เห็นได้จากการทำลายชีวิตมนุษย์ทั้งที่เป็นประชาชนของประเทศศัตรู หรือประชาชนของตนเองแต่ต่างกันที่เผ่าพันธุ์และศาสนา (และความเชื่อทางอุดมการณ์) ประมาณกันว่า "มหามรณะ" (megadeath) ในศตวรรษนี้ที่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง มีจำนวนถึง 187 ล้าน

เฉพาะในส่วนของโลกที่สาม ที่กลายเป็นเขตของสงครามนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว (ก็ตาม) จำนวนของชีวิตที่ถูกทำลายไปในสงครามเล็กสงครามน้อย (สงครามตัวแทน สงครามลัทธิ) กว่า 100 ครั้งมีถึง 20 ล้านคน แค่เพียงในเอเชียตะวันออกก็ตกตั้ง 9 ล้าน ในสงครามเกาหลี 3 – 4 ล้าน ในสงครามอันยาวนานในเวียดนาม 30 ปีกว่า 2 ล้าน จำนวนศพที่มากมายเป็นตัวเลขสถิติเหล่านี้ ดูเหมือนจะเกินกว่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะสร้างจินตนาการให้มองเห็นภาพได้

ควบคู่ไปกับความสั้น – สุดขั้ว – และรุนแรง ศตวรรษที่ 20 ก็เป็นทั้งผลพวงและรับอิทธิพลจากยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ (Age of Revolution) ที่มีรูปแบบจากการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 และจากการปฏิวัติรัสเซีย 1917 เปิดหัวด้วยความคิดเสรีนิยมและปิดท้ายด้วยความคิดสังคมนิยม กลายเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจไปทั่ว

ศูนย์กลางของการปฏิวัติทั้งสองครั้ง (ปารีสและมอสโคว์) พยายามที่จะส่งอิทธิพลของการปฏิวัติและรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงให้เป็นมาตรฐานระดับโลก และก็ได้รับการตอบสนองจากผู้ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่น ๆ ของโลกไม่น้อยแม้ว่าในปลายทศวรรษ 1950 มอสโคว์จะคลายมนต์ขลังของความเป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติ ดังที่เคยเป็นมาก่อนในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม พร้อม ๆ กับการที่ประเทศที่เดินแนวทางสังคมนิยมอย่างจีนและเวียดนามได้หันไปยึดแนวทางชาตินิยมหรือผลประโยชน์ของชาติตน มากกว่าแนวทางสากลนิยมหรือการปฏิวัติโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีจีนที่หันไปร่วมมือกับสหรัฐฯ (แม้จะเป็นทุนนิยม) ต่อต้านสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980

แต่กระแสคลื่นของการปฏิวัตินั้นก็ยังคงกระจายอยู่ทั่วไป คละเคล้าด้วยความคิดทั้งแบบเสรีนิยมและสังคมนิยม ที่ผู้ที่ต้องการปลดปล่อยเปลี่ยนแปลงสังคมของตนจะใช้สร้างความบันดาลใจหยิบยืมไปดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษ 1960 และ 1970 ที่เป็นยุคสมัยของขบวนการนักศึกษาทั่วทั้งสามโลก

ในโลกที่หนึ่งอย่างสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก (รวมทั้งญี่ปุ่น) แนวความคิดปฏิวัติที่เป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษา ปรากฏออกมาในแง่ของ "การปฏิวัติวัฒนธรรม" มากกว่าที่นักศึกษาจะเข้ายึดอำนาจทางการเมือง เป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมในเชิงการปลดปล่อยตนเอง เป็นรูปแบบของการต่อต้านสถาบันเดิม (anti – establishment) ปลดปล่อยตนเองจากวัฒนธรรมเก่า สร้างวัฒนธรรมใหม่ ดังเห็นได้จากเพลงร็อค กางเกงยีน บุปผาชน ซ้ายใหม่ หรือขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม ฯลฯ

ขบวนการนักศึกษานี้เป็นปรากฏการณ์ระดับโลก นักศึกษา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่หนึ่ง) คิด รับรู้ ประพฤติ ปฏิบัติ คล้าย ๆ กัน การอ่านหนังสือเล่มเหมือน ๆ กัน มีวีรบุรุษในจินตนาการคล้าย ๆ กัน (เชกูเวรา) ประหนึ่งเป็นเครือข่ายหลวม ๆ จากเบิกเล่ย์ ถึงซอร์บอนน์ จากปร๊าคถึงบอนน์ จากโตเกียวถึงกรุงเทพฯ (แม้ไทยจะอยู่ในโลกที่สาม นักศึกษาไทยจะแตกต่างจากลักษณะของนักศึกษาในโลกที่หนึ่งไม่น้อย แต่เนื่องด้วยค่ายสงครามเย็นที่ไทยสังกัดอยู่และเนื่องด้วยบทบาทของสหรัฐฯ ในไทย โดยเฉพาะในช่วงสงครามเวียดนาม ก็ทำให้นักศึกษาไทยมีส่วนร่วมและส่วนคล้ายกับนักศึกษาในโลกที่หนึ่งไม่น้อย)

รัฐในโลกที่หนึ่งดูจะแข็งแรงพอ คุ้นเคยกับการเรียกร้องเสรีภาพ และฉลาดพอที่จะจัดการกับขบวนการนักศึกษาของตน แม้จะมีการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับคนหนุ่มคนสาวของตน แต่โดยหลักใหญ่แล้วจะหลีกเลี่ยงการทำลายชีวิต (ยกเว้นในกรณีมหาวิทยาลัยเค้นท์ ปี 1970 ที่นักศึกษาถูกยิงตาย ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศสหรัฐฯ เกือบทำให้สังคมเป็นอัมพาต)

ขบวนการนักศึกษาในโลกที่หนึ่ง หาได้นำมาซึ่งการปฏิวัติในรูปแบบเก่าไม่ (1789 หรือ 1917) แต่ขบวนการนักศึกษาก็สั่นคลอนหลายรัฐบาล ในการประท้วงใหญ่ของนักศึกษาฝรั่งเศส 1968 (ที่ถูกตั้งฉายาว่า Almost Revolution) นั้นปารีสและอีกหลายเมืองกลายเป็นอัมพาตและก็เป็นผลทำให้นายพล (เหล็ก) เดอโกลล์ ไม่สามารถจะอยู่ในอำนาจได้อีกนานต่อไป ในทำนองเดียวกันนักศึกษาอเมริกันก็ทำให้ลินดอน จอห์นสัน ไม่กล้าที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยสอง (1968)

ขบวนการนักศึกษาโลก กลายเป็นพลังทางสังคมและการเมืองสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ทศวรรษที่กล่าวมาแล้ว (ซึ่งก็ตรงกับช่วงของก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 จนกระทั่งถึงก่อนและหลัง 6 ตุลาคม 2519) พลังนี้นักศึกษาได้มาจากการที่อยู่ในสถาบันทางความรู้ มีเวลาพอที่จะทำกิจกรรมอยู่ในเมืองใหญ่ใกล้กับอำนาจและสื่อมวลชน การที่จะจำกัดและกำจัดนักศึกษาทำไม่ง่ายนัก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่หนึ่ง) นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมักจะมาจากชนชั้นนำของสังคม (หรือจากชนชั้นเดียวกันกับผู้มีอำนาจนั่นเอง)

ในโลกที่สาม รัฐดูจะเปราะบาง ไม่คุ้นเคยกับ (หรือไม่เป็น) ประชาธิปไตยและเสรีภาพ และไม่ฉลาดพอกับการจัดการกับขบวนการนักศึกษาของตน (โดยสันติวิธี) บ่อยครั้งรัฐจะทำเกินกว่าเหตุ ใช้ความรุนแรงและการทำลายชีวิตในการเผชิญกับปัญหา เป็นเรื่องเกือบจะปกติทีเดียวที่ในโลกที่สามจะเห็นรัฐประกอบ "อาชญากรรม" ดังเช่นในลาตินอเมริกา (อย่างเม็กซิโก ชิลี หรือ อาร์เจนตินา) หรืออย่างในเอเชียที่ภาพของ "อาชญากรรมโดยรัฐ" จะกลายเป็นภาพที่ค่อนข้างคุ้นหูคุ้นตา (ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เกาหลี จีน ฯลฯ อันเป็นรายการและรายละเอียดยาวเหยียดแทบไม่รู้จบ)

น่าสนใจและน่าประหลาดใจไม่น้อย ที่แม้รัฐในโลกที่สามจะปราบปรามนักศึกษาและขบวนการปลดปล่อยของตนเองอย่างหนัก แต่ขบวนการนักศึกษาในประเทศเหล่านี้ก็ยังเป็นพลังสำคัญ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่น้อย อย่างเช่นในเม็กซิโก 1968 เมื่อนักศึกษาประท้วง แต่รัฐปราบปรามทำลายชีวิตไป 28 คน การเมืองเม็กซิโกก็ไม่สามารถหันกลับไปสู่อำนาจนิยมได้เช่นเดิม เช่นเดียวกับไทย 14 ตุลาคม (1973) ที่เมื่อรัฐทำลายชีวิตไป 70 กว่าคน ระบอบถนอม – ประภาส – ณรงค์ ก็ไม่สามารถจะดำรงอยู่ต่อไปได้

ไทยแลนด์ 1973 สร้างความบันดาลใจให้ขบวนการนักศึกษากรีก ที่ร้องตะโกนคำว่าไทยแลนด์ ๆๆๆๆ ประหนึ่งจะแปลว่า เสรีภาพ ๆๆๆๆ ในการประท้วงและขับไล่รัฐบาลอำนาจนิยม (เสนา – อำมาตยนิยม) ของตน

อาจสรุปได้ว่า จากระยะเวลาช่วงยาวของการเมืองโลก กระแสความคิดที่จะปลดปล่อยและพลังของขบวนการนักศึกษานี้แหละ ทำให้เห็นที่มาและที่ไปของ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 เยาวชนคนหนุ่มสาวมี "ความฝัน" ที่จะเห็นโลกใหม่ของเขาและเธอ ในฐานะของโลกที่สาม นักศึกษาไทยก็เข้าไปใกล้และสั่นคลอนอำนาจของรัฐมากกว่าเพื่อนร่วมรุ่นของเขาและเธอในโลกที่หนึ่ง

ขบวนการนักศึกษาไทยช่วง 2516 – 2519 ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของ "ช่วงระยะเวลายาว" ของการเมืองไทยกว่า 100 ปี ในขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของ "ช่วงระยะเวลายาว" ของการเมืองโลกกว่า 2 ศตวรรษ มาพร้อมและทันกับระยะเวลาของการปลดปล่อยและเปลี่ยนแปลงของโลกครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี เมื่อถึงทศวรรษ 1980 ทุกอย่างก็ดูจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง สหภาพโซเวียต (และระบบสังคมนิยม) ล่มสลาย เศรษฐกิจการตลาด (คำที่ใช้แทนทุนนิยม) และ (ความกระสัน) โลกาภิวัตน์ก็ผงาดจนถึงกับเชื่อกันว่าเราจะมุ่งไปข้างหน้าพร้อมด้วย "ความพินาศของอดีต" และ "การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์" กระนั้นแหละ (หรือ)

ที่มา : พนม เอี่ยมประยูร (..) 20 ปี 6 ตุลา, กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินการจัดงาน 20 ปี 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539, หน้า 59-66

: พนม เอี่ยมประยูร (..) 20 ปี 6 ตุลา, กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินการจัดงาน 20 ปี 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539, หน้า 59-66



แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 6 ตุลาคม 2549 / 13:59

PS.  อย่าฝืนใจรักถ้าหากเขาไม่ใช่......อย่าคบเขาแค่เพียงต้องการจะมีใครสักคนมาทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามีคนเคียงข้างยามที่ไม่มีใคร.....

แสดงความคิดเห็น

>

30 ความคิดเห็น

Cookie_Bkk 6 ต.ค. 49 เวลา 13:57 น. 1



ภาพ เหตุการณ์ที่นักศึกษาถูกรุมทำร้าย ศพถูกลากไปบนพื้นดินอย่างสยดสยอง


PS.  อย่าฝืนใจรักถ้าหากเขาไม่ใช่......อย่าคบเขาแค่เพียงต้องการจะมีใครสักคนมาทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามีคนเคียงข้างยามที่ไม่มีใคร.....
0
Cookie_Bkk 6 ต.ค. 49 เวลา 14:03 น. 2



ตุลาคม

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

๑ ตุลาคม ๒๕๒๒ พนักงานขับรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย ประมาณ ๒๐๐ คน ชุมนุมที่ที่ทำการสถานีรถไฟนพวงศ์ เพื่อประท้วงคำสั่งของการรถไฟฯ ที่ให้พักงานนายสมนึก ชักนำ พนักงานขับรถไฟสินค้า ซึ่งได้ขับรถไฟสินค้าชนขบวนรถไฟโดยสารที่สถานีชุมทางตลิ่งชัน

ในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๒ พนักงานขับรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ชุมนุมประท้วงต้องกลับเข้าทำงานตามประกาศของการรถไฟฯ ที่ระบุให้พนักงานขับรถไฟกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับการพิจารณาโทษอย่างหนัก

๑ ตุลาคม ๒๕๓๔ คณะรัฐมนตรี ( อานันท์ ปันยารชุน ) มีมติยับยั้งร่างพระราชบัญญัติสภาการเกษตรแห่งชาติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การผลักดันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่ปรึกษาบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ( นายอาชว์ เตาลานนท์ ) ในขณะนั้น จากการเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พระราชบัญญัติสภาการเกษตรแห่งชาติ ในนาม เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคอีสาน ๗ เครือข่าย

๒ ตุลาคม ๒๕๓๘ นายวินัย จันทะมโน นักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติชุมชนบ้านน้ำหรา อ . ควนกาหลง จังหวัดสตูล ถูกลอบสังหาร

๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ พันธมิตรองค์กรประชาชนจัดประชุมสภาประชาชน ครั้งที่ ๒ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสะท้อนการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลพรรคไทนรักไทย ในวันที่ ๔ ตุลาคม เป็นการประชุมของตัวแทนองค์กรประชาชน ในวันที่ ๕ ตุลาคม มีการอภิปรายประเด็นปัญหาที่ดิน โดยมีการเชิญคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการ สื่อมวลชน รวมทั้งภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เหตุการณ์การล้อมปราบนิสิต นักศึกษา ประชาชน ที่ประท้วงการกลับมาของทรราชย์ถนอม กิตติขจร ด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ วันเดียวกัน พลรอ . สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ยึดอำนาจจากรัฐบาล ม . ร . ว . เสนีย์ ปราโมช

๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ ประชาชนกลุ่มรักษ์องครักษ์ อ.องครักษ์ จังหวัดนครนายก ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ทีทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์

๖ ตุลาคม ๒๕๐๕ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลในการเรียกร้องอธิปไตยเหนือเขาพระวิหาร ที่กำลังมีคดีฟ้องร้องในศาลโลก

๘ ตุลาคม ๒๔๘๓ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเดินขบวนเรียกร้องดินแดนอินโดจีนของไทย ที่สูญเสียไปในช่วงรัชกาลที่ ๕ คืนจากประเทศฝรั่งเศส

๙ ตุลาคม ๒๕๓๑ พนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธกส .) นัดหยุดงานเรียกร้องให้ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ( นายจำลอง โต๊ะทอง ) ลาออก เนื่องจากนายจำลองทุจริตต่อหน้าที่

ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๓๑ พนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์กลับเข้าทำงาน หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ( นายประมวล สภาวสุ ) อนุมัติให้ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ลาออก ตั้งแต่วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๑ เป็นต้นไป

๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน ประมาณ ๓๐๐ คน ชุมนุมคัดค้านธนาคารโลกที่ให้เงินกู้เขื่อนปากมูล ที่หน้าอาคารโอลิมเปีย ตึกที่ทำการธนาคารโลก สาขาประเทศไทย ถนนพระราม ๔

การชุมนุมมีขึ้น เป็นเวลา ๓ วัน ทำให้ธนาคารโลกเลื่อนการพิจารณาอนุมัติเงินกู้เขื่อนปากมูล เพื่อศึกษาข้อมูลผลกระทบโครงการ

๙ ตุลาคม ๒๕๑๘ คนงานโรงงานฮาร่า ตรอกจันทร์ นัดหยุดงาน ก่อนหน้านี้ในวันที่ ๖ ตุลาคม คนงานโรงงานฮาร่าที่อ้อมใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ นัดหยุดงาน

ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๘ คนงานโรงงานฮาร่า เปิดโรงงานสามัคคีกรรมกร

๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๔ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ประมาณ ๓ , ๐๐๐ คน เดินขบวนจากกระทรวงยุติธรรมไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อขอมหาวิทยาลัยคืนจาก ป . พิบลสงคราม และฟังกระทู้ถามเรื่องนี้ ที่มี สส . ผู้หนึ่ง เสนอเข้าสู่วาระการพิจารณา

๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ ๑๖ ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ ๔ - ๕ กันยายน และวันที่ ๒๖ - ๒๗ กันยายน ๒๕๔๐ ประชาชน องค์กรประชาธิปไตย ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐสภามีมติเห็นชอบผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ที่สนามหลวง

จนกระทั่ง ในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๐ รัฐสภามีมติรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ ๑๖

๑๒ ตุลาคม ๒๕๑๘ นายนวล กาวิโล ผู้นำชาวนาแม่เลียง ต . เสริมขวา อ . เสริมงาม จังหวัดลำปาง ถูกระเบิดเสียชีวิต ขณะปะทะกับฝ่ายเหมืองที่แม่เลียง

นายมี กาวิโล ผู้นำชาวนาแม่เลียง ต . เสริมขวา อ . เสริมงาม จังหวัดลำปาง ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส ขณะปะทะกับฝ่ายเหมืองที่แม่เลียง

๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ ๓๐๐ คน ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ( นายชัยพร รัตนนาคะ ) เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเหมืองแร่โพแทช พร้อมมอบบัญชีรายชื่อประชาชนที่คัดค้านโครงการจำนวน ๑๓ , ๐๖๔ รายชื่อ

๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เหตุการณ์การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาประชาชน ขับไล่เผด็จการถนอม กิตติขจร ณรงค์ กิตติขจร และประภาส จารุเสถียร

๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๖ ณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล ( ชชช .) และคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ ๓ , ๐๐๐ คน ชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เรียกร้องให้รัฐบาล ( ชวน หลีกภัย ) จ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมจากการสูญเสียอาชีพประมง กรณีเขื่อนปากมูล และเรียกร้องค่าชดเชยที่เป็นธรรม กรณีเขื่อนสิรินธร

๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๖ การสลายการชุมนุมสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ ประมาณ ๒ , ๐๐๐ คน ที่บริเวณสวนปาล์มไทยร่วมพัฒนาการเพาะปลูก จำกัด ซึ่งเป็นสวนปาล์มร่วมทุนไทย - มาเลเซีย ในพื้นที่ ต . เขาเขน อ . ปลายพระยา จังหวัดกระบี่

๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๒ กลุ่มประชาชน อ . น้ำพรม จังหวัดชัยภูมิ เรียกร้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ .) และกรมชลประทานปล่อยน้ำจากเขื่อนน้ำพรมเพื่อทำการเกษตร

การชุมนุมยุติลง เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐนำชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเข้ามากดดันและสลายการชุมนุมเช่นใน ๒๖ ปีที่ผ่านมา

๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๖ สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน ๑๓ จังหวัด ชุมนุมยกที่ ๒ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข ๙ ปัญหา ๓ ประเด็น ได้แก่ กลุ่มปัญหาหนี้สิน กลุ่มปัญหาที่ดิน กลุ่มปัญหานโยบายและกฎหมาย

การชุมนุมแบ่งเป็น ๒ ช่วง ช่วงที่ ๑ วันที่ ๑๙ – ๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๖ ประมาณ ๓,๐๐๐ คน ที่ อ . กุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ แล้วยุติการชุมนุมชั่วคราว เพื่อรอฟังผลการประชุมคณะรัฐมนตรี

การชุมนุมช่วงที่ ๒ ยกที่ ๒ / ๒ ยุทธการลำตะคอง วันที่ ๓๑ ตุลาคม ถึงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ประมาณ ๑๕ , ๐๐๐ คน ที่ลำตะคอง อ . สีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๑ นายชุ่ม สากล ชาวนา ตำบลนาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งประสบปัญหาถูกนายทุนและเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินอำเภอร่วมกันโกงสัญญาเช่าซื้อที่ดิน ผูกคอตายหน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณป้ายรถเมล์ หน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เนื่องจากการแก้ไขปัญหาที่ได้ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ( นายชวน หลีกภัย ) ไม่คืบหน้า

๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๖ เครือข่ายโลกาภิวัตน์ภาคประชาชนเพื่อสันติภาพประมาณ ๑ , ๐๐๐ คน เดินขบวนจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านสยามสแควร์ไปที่สวนศิลปะ สี่แยกปทุมวัน เพื่อรณรงค์คัดค้านสงคราม ต่อต้านการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งคัดค้านจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิค ( เอเปค ) วันที่ ๒๐ - ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๖

๑๙ ตุลาคม ๒๕๑๘ นายดิลกชัย สุนาถวณิชย์กุล ผู้อำนวยการโรงเรียนช่างกลพระรามหก ถูกคนร้ายลอบยิง ได้รับบาดเจ็บ

๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ นักศึกษาและประชาชนกลุ่มคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย อ . จะนะ จังหวัดสงขลา ชุมนุมคัดค้านการประชาพิจารณ์โครงการท่อก๊าซไทย - มาเลเซีย ที่สนามกีฬาจิระนคร เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

๒๑ ตุลาคม ๒๕๐๑ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจับกุมในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ไว้ที่คุกลาดยาว พร้อมกับเปลื้อง วรรณศรี และอุดม ศรีสุวรรณ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เทพ โชตินุชิต นักการเมืองสังคมนิยม อุทธรณ์ พลกุล และอิสรา อมันตกุล นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ประวุฒิ ศรีมันตะ และสุธีร์ คุปตารักษ์ นักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายนิพนธ์ ชัยชาญ และนายบุญลาภ เมธางกูล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และชาวนาชาวไร่

๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๘ นายบุญรัตน์ ใจเย็น รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย บ้านหนองป่าแซะ หมู่ที่ ๑ อ . สารภี จังหวัดเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต ขณะที่นายบุญรัตน์ขี่มอเตอร์ไซค์กลับจากการช่วยงานวัด

นายบุญรัตน์ เป็นผู้เรียกร้องให้ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมค่าเช่านา พ . ศ . ๒๕๑๗ ทำให้เจ้าของที่ดินยกเลิกการเช่า

๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๘ คนงานโรงงานสิ่งทอและโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ประมาณ ๔ , ๐๐๐ คน ชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เพื่อประท้วงกฎหมายกีดกันการนำเข้าสิ่งทอของสหรัฐอเมริกา

๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๒ การใช้สุนัขตำรวจเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จังหวัดบุรีรีมย์ จังหวัดนครราชสีมา ที่เรียกร้องให้รัฐบาล ( ชวน หลีกภัย ) ประกันราคามันสำปะหลังตกต่ำ ที่ทำเนียบรัฐบาล จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน ๑๔ ราย

๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจับโยนบกกรณีหนังสือ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ ในระหว่างการประชุมนิสิตจุฬาลงกรณ์ โดย มรว . สดับ ลดาวัลย์ เลขาธิการมหาวิทยาลัย ชี้แจงสาเหตุการระงับออกหนังสือ จากนั้นจิตร เป็นผู้พูดชี้แจง

ในระหว่างนั้นนายสีหเดช บุนนาค นายศักดิ์ สุทธิพิศาล และนายชวลิต พรหมานพ ได้วิ่งขึ้นมาจับหัวและเท้าของจิตรแล้วโยนลงมาจากเวที สูงประมาณ ๗ - ๘ ฟุต


PS.  อย่าฝืนใจรักถ้าหากเขาไม่ใช่......อย่าคบเขาแค่เพียงต้องการจะมีใครสักคนมาทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามีคนเคียงข้างยามที่ไม่มีใคร.....
0
Cookie_Bkk 6 ต.ค. 49 เวลา 14:03 น. 3



ภาพ กองกำลังผสม ตำรวจ ทหาร นวพล กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน นำอาวุธหนักล้อมปราบนักศึกษา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519


PS.  อย่าฝืนใจรักถ้าหากเขาไม่ใช่......อย่าคบเขาแค่เพียงต้องการจะมีใครสักคนมาทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามีคนเคียงข้างยามที่ไม่มีใคร.....
0
Cookie_Bkk 6 ต.ค. 49 เวลา 14:05 น. 4



ภาพ รณรงค์คัดค้านการเข้าซื้อหุ้นเครือหนังสือพิมพ์มติชน ของกลุ่มบริษัทแกรมมี่


PS.  อย่าฝืนใจรักถ้าหากเขาไม่ใช่......อย่าคบเขาแค่เพียงต้องการจะมีใครสักคนมาทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามีคนเคียงข้างยามที่ไม่มีใคร.....
0
Cookie_Bkk 6 ต.ค. 49 เวลา 14:24 น. 5


PS.  อย่าฝืนใจรักถ้าหากเขาไม่ใช่......อย่าคบเขาแค่เพียงต้องการจะมีใครสักคนมาทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามีคนเคียงข้างยามที่ไม่มีใคร.....
0
Cookie_Bkk 6 ต.ค. 49 เวลา 14:25 น. 6


PS.  อย่าฝืนใจรักถ้าหากเขาไม่ใช่......อย่าคบเขาแค่เพียงต้องการจะมีใครสักคนมาทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามีคนเคียงข้างยามที่ไม่มีใคร.....
0
~>:SlickY:<~ 6 ต.ค. 49 เวลา 14:51 น. 8

น่าสงสารจังเลยอ่ะ.......
T^T
โหวตเข้าคลังเหอะ
โหวตกระทู้ดี เข้าคลังกระทู้
จาได้อยู่ในคลัง หาง่ายๆ
ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีวันลืมเลย....


PS.  ความปวดร้าวครั้งเน้ ชั้นยินดีจะรับ...ยอมเป็นคนที่เสีEใจ***ผิดที่ชั้น...ไม่ใช่เnoร์ ผิดที่รักเnoมากเกินไป
0
Lee Yong Ae 6 ต.ค. 49 เวลา 15:38 น. 11

มีประโยชน์ดีค่า  หนับหนุน


PS.  รับหาเพลงสากล โพสได้เลยที่นี่ http://my.dek-d.com/leeyongae/story/view.php?id=180312 หรือ http://my.dek-d.com/leeyongae/story/view.php?id=198262
0
l๐v3 l_l 6 ต.ค. 49 เวลา 15:58 น. 12

ยาวมากๆเลยค่ะ....

แต่อ่านแล้วก็ได้สาระดีค่ะ  จะเซฟเก็บไว้ให้พ่อแม่อ่านเลยดีไหมนี่

ขอบคุณมากนะคะ


PS.  ฝากนิยายกะไอดีเราด้วยน้าาาใครที่เขาไปแล้ว เม้นด้วยล่ะก็... ขอให้สมหวังทุกประการเทิ้ดด สาธุ...
0
**~[m][A][y]~** 6 ต.ค. 49 เวลา 16:00 น. 14

ทำไมการเมืองมันน่ากลัวอย่างนี้อ่ะ


PS.  --->>เพื่อนก็เหมือนดวงดาว ตรงที่มองเห็นเป็นบางเวลา แต่ไม่เคยหายไปไหน[ไม่รับแอดเมลล์มั่ว แอดมั่วเจอตีนส์]
0
bmps 9 ต.ค. 49 เวลา 10:32 น. 15

ประวัตศาตร์ที่น่าจดจำ(เพื่อจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก)


PS.  มีมิตรร้อยคนยังน้อย มีศัตรู 1 คนเกินพอ เป็นเพื่อนกันไว้ดีกว่านะคะ From:bmps
0