Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

บทความเกี่ยวกับลอยกระทง

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
คือเราอยากได้บทความภาษาอังกฤษเกี่ยวกับลอยกระทงอ่ะเราจะเอาไปทำงานถ้าดีช่วยเเปลด้วยนะขอบคุงมากๆๆๆล่วงหน้าเลย

PS.  ท่านจะรู้คุณค่าของเวลาเมื่อท่านแบ่งปันกับคนที่พิเศษสุดในชีวิตของท่าน

แสดงความคิดเห็น

>

12 ความคิดเห็น

ก้านแก้ว 2 พ.ย. 49 เวลา 07:39 น. 1

ลอยกระทง. . . กับคุณค่าทางสังคม



ลอยกระทง เป็นประเพณีในคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ปีนี้ ตรงกับวันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ประเพณีลอยกระทง สืบทอดมานาน ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีมาแต่เมื่อไร ในพระราชนิพนธ์สมเด็จ พระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน กล่าวไว้ว่า "การลอยพระประทีปกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวง ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวข้องเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่าตรงกับคำว่าลอยโคมลงน้ำเช่นที่กล่าวมาแล้ว แต่ควรนับว่าเป็นราชประเพณี ซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระนครยังอยู่ฝ่ายเหนือ" ส่วนในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ในพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 หรือตำนานนางนพมาศ พระสนมเอกของพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงการเสด็จประพาสลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน มีรับสั่งให้พระสนมนางในตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียนนำไปลอยหน้าพระที่นั่ง ในคราวนั้นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้ประดิษฐ์กระทงเป็นรูป ดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้รับทราบถึงความหมาย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า "แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน" ด้วยเหตุนี้ ภายหลังประเพณีของหลวงจึงถูกเรียกว่า "ลอยพระประทีป" ต่อมาชาวบ้านเปลี่ยนเรียกเป็น "ลอยกระทง ทรงประทีป" แล้วเปลี่ยนเป็นลอยกระทงแทนภายหลัง ส่วนรอยพระพุทธบาท เล่ากันว่าพระยานาคได้อัญเชิญพระพุทธเจ้าทรงเหยียบประดิษฐานไว้บนหาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา (อยู่ในอินเดีย) ครั้นวันเพ็ญเดือน ๑๒ หน้าน้ำ พระยานาคก็จะขึ้นมานมัสการรอยพระพุทธบาท



การลอยกระทงที่คล้าย ๆ กับของไทยเรายังมีในจีน อินเดีย เขมร และพม่า จะต่างกันก็เพียงพิธีกรรมและ ความเชื่อ แม้ในไทยเองก็มีความเชื่อ ความศรัทธาในเรื่องนี้อย่างหลากหลาย เช่น เชื่อว่าลอยกระทงเพื่อ

- บูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า

- บูชาพระอุปคุตเถระ ที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล ซึ่งตำนานเล่าว่าเป็น พระเถระที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้

- ต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลกเมื่อครั้งไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์

- แสดงความขอบคุณ และขอขมาพระแม่คงคาซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่าง ๆ

- ระลึกถึงและส่งของไปให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ตลอดจนสะเดาะเคราะห์หรือลอยทุกข์โศกโรคภัยต่าง ๆ รวมทั้งอธิษฐานเพื่อขอสิ่งที่ปรารถนา



แม้จะเกิดจากความเชื่อที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่คือการระลึกถึงผู้มีพระคุณ ไม่ว่าจะเป็น พระพุทธองค์ พระแม่คงคา หรือบรรพชนผู้ล่วงลับด้วยการลอยกระทงไปแสดง ความกตัญญูรู้คุณ นั่นเอง นอกจากนี้ในทางวัฒนธรรมวิถีชีวิต ลอยกระทงยังมีคุณค่าต่อเนื่องไปถึง

- คุณค่าต่อครอบครัว ทำให้พ่อ แม่ลูก ได้ทำกิจกรรมด้วยกัน เช่น ช่วยกันประดิษฐ์กระทงและไปลอย ร่วมกัน

- คุณค่าต่อชุมชน ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ทำให้มีโอกาสพบปะสังสรรค์ สนุกสนานร่วมกัน ทั้งยังช่วยสืบทอดช่างฝีมือท้องถิ่น

- คุณค่าต่อศาสนา เช่น มีการทำบุญให้ทาน ถือศีลที่วัด หรือบูชารอยพระพุทธบาทนำมาซึ่ง การน้อมรำลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

- คุณค่าต่อสังคม ทำให้เอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งน้ำลำคลอง ที่ได้ใช้สอย อำนวยประโยชน์ต่อเราทั้งทางตรงและอ้อม โดยช่วยกันขุดลอกให้สะอาดไม่ทิ้ง สิ่งปฏิกูล



อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่า ปัจจุบันการจัดประเพณีลอยกระทงแทบจะเป็นรูปแบบเดียวกันหมด นั่นคือ มุ่งเน้นความสนุกรื่นเริงเป็นหลัก มุ่งหวังด้านการท่องเที่ยวและรายได้เป็นสำคัญ ที่สร้างปัญหารำคาญใจแก่ ชาวบ้านมากคือ การจุดประทัด พลุ และดอกไม้ไฟกันอย่างคึกคะนอง และเล่นโดยไม่เลือกสถานที่ จนก่อให้เกิดเพลิงไหม้ หรือบาดเจ็บ ซ้ำร้ายกว่านั้นยังมีการดื่มของมึนเมา (จนมีคำประชดว่า "คนไทยเมาได้ทุกเทศกาล") เมื่อเมาแล้วขาดสติก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นพิการหรือเสียชีวิต บางแห่งก็เน้นประกวดความงาม จนชักนำหนุ่มสาวไปสู่ค่านิยมที่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย สิ่งเหล่านี้ กำลังจะทำให้ประเพณีลอยกระทงที่เคยงดงามด้วยความเชื่อ ความศรัทธา กลายรูปแบบและคุณค่าเหลือแต่ความอลังการ ฉาบฉวย จริงอยู่ เราคงไม่ปฏิเสธว่าประเพณีเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัยไม่ตายตัว "แต่คุณค่าทางวัฒนธรรมต้องคงอยู่" หาไม่แล้ว ประเพณีจากมรดกทางวัฒนธรรมก็จะกลายเป็นแค่ "ซาก" ที่มีไว้ประดับเมือง เพิ่มราคา แต่ไม่ได้ประดับใจให้ได้ปัญญา เอาเสียเลย

0