Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

คำที่มักเขียนผิดในการแต่งฟิกและการเขียนให้ถูกต้อง

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีครับ ด้วยว่าที่ห้องสมุดเอดินเบิร์กนี้เป็นคลังเก็บฟิกไว้เป็นจำนวนมาก จึงมาแนะนำการใช้คำที่มักเขียนผิด (โดยเฉพาะคำที่ใช้ในการแต่งฟิก) เพื่อเป็นประโยชน์ในการแต่งฟิกและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันครับ

กฎ - รวมไปถึงคำอื่น ๆ เช่น กฎเกณฑ์ กฎหมู่ (ผู้คุมกฎ ก็ใช้แบบนี้ครับ) มักสะกดผิดเป็น “ฏ” คงไปนึกเทียบกับคำว่า ปรากฏ กบฏ
*ข้อสังเกต : ถ้าคำพยางค์เดียว ใช้ ฎ ชฎา แต่ถ้าคำสองพยางค์ ลงด้วย ฏ ปฏัก (อันนี้ขอบคุณน้องต๊ะด้วยครับที่มาบอกหลังไมค์ ^^)

กะทันหัน - (ไม่ใช้ กระทันหัน นะครับ ส่วน กะทัดรัด ก็เขียนแบบเดียวกัน)

กะพริบ - เช่น กะพริบตา มักเขียนผิดเป็น “กระพริบ” กันมากด้วย

กังวาน (เสียง) - มักเขียนผิดเป็น “กังวาล”

ช็อก - สภาพที่ร่างกายเสียเลือดมาก , สะเทือนใจรุนแรง , ถูกกระแสไฟฟ้า เป็นคำใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า shock

เช็ก - ตรวจสิ่งต่าง ๆ เป็นคำใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า check (ส่วน “เช็ค” หมายความถึงพวกเช็คที่เป็นสมุดครับ อย่างเช่นเขียนเช็คจ่ายสด มาจากคำอังกฤษว่า cheque)

โชก - ในคำว่า เหงื่อโชก ใช้คำว่า เหงื่อโซก หรือเหงื่อโซม ก็ได้ (เอามาใช้บ้างก็ดีนะครับ ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันเพราะได้ยินคำว่า เหงื่อซก ด้วย)

ตงิด - เช่น หิวตงิด ๆ ออกเสียงว่า “ตะหงิด” จึงมักเขียนผิดไปตามเสียงอ่าน

ตึก ๆ , ตึ้ก ๆ , ตึ้กตั้ก - เสียงหัวใจเต้นเวลาเหนื่อยหรือตกใจ

ทะนง หรือ ทระนง - ถือตัว , หยิ่ง เช่น ทะนงตน ทะนงศักดิ์

เท่ - มักเขียนผิดเป็น “เท่ห์” (อย่างหลังนี่จะเขียนเป็น “สนเท่ห์” ที่แปลว่า สงสัย ครับ)

นั่นปะไร - เป็นไปอย่างที่พูด มักเขียนผิดเป็น “นั่นประไร” (ผมว่า ช่างปะไร , ช่างมันปะไร ก็น่าจะใช้แบบเดียวกัน)

นัยน์ตา - (เจอบางคนใช้ นัยตา , นัยย์ตา หรือแม้แต่ นัยต์ตา ก็มี)

ปรานี - เอ็นดูด้วยความสงสาร มักเขียนผิดเป็น “ปราณี” ซึ่งจะผิดความหมายไปเลย เพราะ “ปราณี” หมายถึง ผู้มีชีวิต

ปาฏิหาริย์ - (บางคนใช้ ปาฏิหาร แบบหารเลขมาเลย)

ผล็อย - เช่น หลับผล็อย (หลับโดยเร็ว) ใช้ว่า ผ็อย หรือ ผ็อย ๆ ก็ได้

แผล็บ , แผล็บ ๆ - เช่น แลบลิ้นแผล็บ ๆ (เผลอแผล็บเดียว ก็ใช้ได้ครับ) จะใช้ว่าแพล็บ หรือ แพล็บ ๆ ก็ได้

พรรค์ - เช่น คนพรรค์นั้น (ต้องมี ค์ ด้วยนะครับ)

มนตร์ - เช่น ร่ายมนตร์ เวทมนตร์ แต่คำว่า “มนต์” จะใช้เกี่ยวกับพิธีการทางศาสนา เช่น สวดมนต์

มุก - ทำให้ขบขัน เป็นคำเก็บใหม่ มักเขียนผิดเป็น “มุข”

เลือนราง - ไม่ชัดเจน , พอระลึกได้บ้าง

โลกันตร์ - ชื่อขุมนรกที่มีการลงโทษหนักที่สุด ไม่ผุดไม่เกิด มักเขียนผิดเป็น “โลกันต์”

สุ้มเสียง - โบราณเขียนเป็น “ซุ่มเสียง” (จะใช้อย่างหลังนี้ก็ได้ครับ แต่ไม่นิยมกันแล้ว)

หน็อยแน่ - คำเปล่งไม่พอใจหรือผิดหวัง มักเขียนผิดเป็น “หนอยแน่”

หลับใหล - เช่น ในบทโคลงลิลิตพระลอว่า
“สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่”

เหงื่อกาฬ - เหงื่อของคนใกล้จะตาย โดยปริยายหมายถึง เหงื่อแตกด้วยความตกใจ

อาถรรพ์ - อำนาจลึกลับที่เชื่อว่าบันดาลให้มีความเป็นไป เช่น ต้องอาถรรพ์ มีอาถรรพ์ ใช้ว่า อาถรรพณ์ หรือ อาถรรพณะ ก็ได้ แต่นิยมใช้คำแรกมากกว่า เพราะเขียนและอ่านชัดเจนดี


บรรณานุกรม :
ช่วย พูลเพิ่ม. (2547). เขียนให้ถูก ใช้ให้เป็น. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้ากรุ๊ป.


ต่อด้วยการเว้นวรรคครับ...

- เว้นหน้าหลังเครื่องหมาย : ๆ ฯลฯ
จู่ ๆ ลมก็ไหววูบเข้ามา
เฟริน คิล คาโล โร ฯลฯ ได้มาอยู่ป้อมเดียวกัน

- เว้นหลังเครื่องหมาย : ? ! ฯ
นายอยากตายมากนักใช่ไหม ?
เฟี้ยว ! ฉึก !
มีดสั้นปักเข้าผนังห้อง ฯ

- เว้นแยกประเภทคำ : คำบรรยายกับคำพูด
เฟรินพูดยั่วน้ำแข็งยักษ์เบื้องหน้า “แล้วนายจะทำไม”


ตบท้ายด้วยเรื่องคำลงท้ายของผู้หญิงที่มักเขียนกันผิดอยู่มากทีเดียว เช่น ค่ะ คะ นะคะ ผมจะยกตัวอย่างให้คร่าว ๆ ละกันนะครับ

ค่ะ – สวัสดีค่ะ , ขอบคุณค่ะ , ลาก่อนค่ะ , ไม่เป็นไรค่ะ
คะ – เหรอคะ , ใช่ไหมคะ
นะคะ – ขอบคุณนะคะ , ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ
จ้ะ – สวัสดีจ้ะ , ได้จ้ะ , ขอบใจจ้ะ
จ๊ะ – มีอะไรเหรอจ๊ะ , ไม่สบายหรือเปล่าจ๊ะ
นะจ๊ะ – ฝันดีนะจ๊ะ , เดี๋ยวเจอกันนะจ๊ะ
จ้า – สวัสดีจ้า , บายจ้า
จ๋า – พี่จ๋า , หนูจ๋า


ครับ ก็ขอยกเอามาแต่เพียงเท่านี้นะครับ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดและเรื่องอื่น ๆ ก็จะนำไปกล่าวไว้ใน Fanbook#3 ครับ (แอบโปรโมตจะผิดไหมกฎไหมเนี่ย)

Exclamation หากใครมีข้อสงสัยก็สามารถทิ้งคำถามไว้ที่นี่ได้ครับ แล้วผมจะทำการรวบรวมแล้วกลับมาตอบให้เรื่อย ๆ ตามสมควร แต่ถ้าให้ดี (หรือรอให้ผมตอบไม่ไหว) ก็ศึกษาจากหนังสือจำพวกพจนานุกรมก็ได้ครับ รับรองว่าถูกต้องแน่นอน

สุดท้าย อยากขอความกรุณาให้ทุกคนช่วยใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องกันด้วยนะครับ เป็นคนไทยแท้ ๆ ก็อย่าให้อายชาวต่างชาติเลยนะครับ

ขอบคุณมากครับ

-------------------------------------------------------------
Edit : 28/10/2548
-------------------------------------------------------------


มาไขข้อข้องใจแล้วครับผม

อ้างอิงจาก:

สะกรำ , สกรัม , สะกรัม – อ่า ขอติดคำนี้ไว้ก่อนนะครับว่าใช้แบบไหนกันแน่ ระหว่างนี้ก็ใช้ “รุมประชาทัณฑ์” ไปพลางก่อนละกัน แล้วค่อยแอบดอดมาตอบให้ทีหลังน้า ^^ (เล่นง่ายดีนะเรา 55+)

*** (มาแก้ล่ะ ^^) ใช้แบบนี้ครับ "สกรัม" เอาแขนสอดคล้องกันเป็นวง , เอาศีรษะดันเพื่อแย่งลูกในการเล่นรักบี้ โดยปริยาย หมายถึง กลุ้มรุม (อ. scrum)

พิเรนทร์ - (อุตรินอกลู่นอกทาง) เช่น เล่นพิเรนทร์ คนพิเรนทร์
* แต่ชื่อวัดพระพิเรนทร์ หรือชื่อบุคคลว่า ขุนพิเรนทรเทพ คงไม่มีความหมายเช่นนี้แน่ครับ น่าจะมาจาก พิระ (กล้า) + อินทร (เทวราช) = พิเรนทร (เทวราชผู้กล้า)

อนุญาต – ไม่มีสระอิแบบ "ญาติ" ครับ ใช้กันคนละความหมายกัน (อย่างที่น้องภา tsukasa อธิบายนั่นล่ะครับ)

ทยอย – ใช้แบบนี้ ไม่มีสระอะครับ

ปล. ขอบคุณน้องภาและน้องต๊ะที่เข้ามาช่วยตอบให้ด้วยนะครับ


ถ้าอย่างนั้นแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการอัพเสียเที่ยว จึงนำคำมาฝากกันเช่นเคยครับ

กรรโชก – (ขู่เอาด้วยกิริยาหรือวาจาให้กลัว) ในคำว่า “ขู่กรรโชก” จะใช้ว่า “ขู่กระโชก” ก็ได้ เทียบกับ กระโชก (กระแทกเสียง) เช่น พูดกระโชก ลมกรรโชกแรง
* ในกรณีที่กล่าวมานี้จะใช้เป็นกรรโชก เช่น พูดกรรโชก ลมกรรโชก ไม่ได้ครับ

กราบ – (ไม้เสริมแคบเรือ) เทียบกับ กาบ (เปลือกหุ้มผลหรือลำต้น) เช่น กาบมะพร้าว กาบกล้วย

กร่ำ – (เมาเรื่อยไป) เช่น เมากร่ำ ถ้าเป็น เมากรึ่ม (เมาตลอดวัน) ความหมายก็พอ ๆ กันครับ เทียบกับ ก่ำ (เข้ม , จัด , สุกใส) เช่น หน้าแดงก่ำ

* คำว่า “กล่ำ” ไม่มีใช้ครับ มีแต่ที่เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งว่า “มะกล่ำ”

กะโหลก – เช่น หุบเขาหัวกะโหลก (ไม่ใช้ผิดเป็น “กระโหลก” .. นึกเอาง่าย ๆ ก็ “กะโหลกกะลา” ละกันครับ)

กำราบ – (ทำให้เข็ดหลาบ) แต่ด้วยความที่อ่านว่า “กำหราบ” จึงทำให้ใช้ผิดตามไปด้วย

กี้ – เช่น เมื่อกี้ เมื่อแต่กี้ เมื่อตะกี้ แต่มีคำว่า กี๊ เก็บเพิ่มมาใหม่อีกคำด้วย เช่น เมื่อกี๊

เกม – ใช้เกี่ยวกับการแข่งขัน เช่น เกมคอมพิวเตอร์ เกมกีฬา ส่วน “เกมส์” ใช้ที่เป็นชื่อเฉพาะ เช่น เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์

แก๊ง – (กลุ่มคนเป็นก๊กเป็นเหล่ากระทำการไม่ดี) มาจากภาษาอังกฤษว่า gang เช่น แก๊งโจร แก๊งอันธพาล มีใช้ผิดเป็น แก๊งค์

คณนา – (นับ) เช่น สุดที่จะคณนา หรือ “คณานับ” ก็ได้ เช่น สุดคณานับ

คลุมเครือ – จะใช้เป็น “ครุมเครือ” ก็ได้ครับ แต่นิยมน้อยกว่า

เคร่งเครียด – (สมองไม่ได้พัก) เทียบกับ ตึงเครียด (ใกล้จะถึงขั้นแตกหัก) เช่น สถานการณ์ตึงเครียด

เคียดแค้น – (โกรธแค้น) เทียบกับ ขึ้งเคียด (โกรธอย่างชิงชัง)

จะจะ – (ให้เห็นชัดเจน , กระจ่าง) เช่น เห็นกันจะจะ ซึ่งไม่ใช้ไม้ยมกเป็น “จะ ๆ” ครับ เช่นเดียวกับ ชะชะ (คำเปล่งเวลาโกรธ) ซึ่งจะใช้ว่า “ชะช้า” หรือ “ชัดช้า” ก็ได้ และคำว่า รำรำ , ร่ำร่ำ (คิดหรือตั้งใจซ้ำ ๆ อยู่) เช่น ร่ำร่ำจะไปเที่ยว

ชะมัด – (มาก) เช่น เก่งชะมัด ใช้ “ชะมัดยาด” ก็ได้

ทโมน – เช่น ลิงทโมนป้อมอัศวิน

ปฐพี – (แผ่นดิน) ใช้ว่า “ปถพี” ก็ได้ (แต่คำหลังนี้ผมไม่เคยเห็นใช้กันนะ)

พลิ้ว – (บิด , เบี้ยว , สะบัดไปตามลม) เช่น บิดพลิ้ว ลมพลิ้วไหว ซึ่งคำว่า “พริ้ว” ไม่มีใช้ นอกจากเป็นชื่อเฉพาะที่เรียกมานานแล้ว เช่น น้ำตกพริ้ว จ.จันทบุรี ครับ

พลุ่ง – (ไอน้ำหรือควันหรือสิ่งที่คล้าย ๆ กัน ดันพุ่งตัวออกมาโดยแรง) เช่น ไอน้ำพลุ่งออกมา อารมณ์เดือดพลุ่ง (อารมณ์พลุ่งพล่าน ก็ใช้แบบนี้ครับ) เทียบกับ พุ่ง เช่น พุ่งตัว น้ำพุ่ง พุ่งความสนใจ (มุ่งตรงไป) .. สังเกตกันนิดนึงนะครับ

พิศวาส – (รักใคร่ , สิเนหา) เช่น ไม่น่าพิศวาส มักใช้ผิดเป็น “พิสวาศ”

พิสมัย – (ความรัก , ความชื่นชม) มักใช้ผิดเป็น “พิศมัย” แต่ชื่อเฉพาะต้องคงไว้ (เช่น ชื่อคนครับ)

ไย – ในคำที่ใช้ว่า จะช้าอยู่ไย ไยจึงไม่มา อย่าไปไยดี มักเขียนผิดเป็น “ใย”

ลออ – (งาม) เช่น นวลลออ , (ถี่ถ้วน , รอบคอบ) เช่น ละเอียดลออ มักใช้ผิดเป็น “ละออ”

ละลวย – (งงงวย , ทำให้หลง) เช่น คาถามหาละลวย เทียบกับ ระรวย (แผ่ว ๆ เบา ๆ) เช่น หายใจระรวย หอมระรวย

ละเ X ่ย – (อ่อนใจ , อิดโรย) เช่น อ่อนเพลียละเ X ่ยใจ มักใช้ผิดเป็น “ระเ X ่ย”

เวท – เข้าคู่กับคำว่า มนตร์ เป็น เวทมนตร์

สรร – เช่น เลือกสรร สรรสร้าง (แกล้งเลือก) สรรหา (เลือกมา)

สรรค์ – (สร้าง) มักเข้าคู่กับ “สร้าง” เป็น สร้างสรรค์ , สรรค์สร้าง เทียบกับ รังสรรค์ , รังสฤษฏ์ ที่หมายถึง สร้าง เหมือนกันครับ

สรรพางค์ – (ทั่วตัว) เข้าคู่กับ “กาย” เป็น สรรพางค์กาย

หลุบ – (ลู่ลงมา) เช่น ผมหลุบหน้า หลุบตา ไม่มีใช้ว่า หรุบ เทียบกับ หรุบ ๆ (สิ่งที่ร่วงพรูลงมา) เช่น ร่วงหรุบ ๆ

เหลอหลา – (มีหน้าตาเซ่อ) เช่น ทำหน้าเหลอหลา

แหยม – (ปอยผมที่เอาไว้เป็นกระจุกหรือหนวดไว้สองข้างริมฝีปาก) เช่น หนวดแหยม (เห็นคำนี้แล้วนึกถึงท่านอาเธอร์เลยนะครับ ^^)

แหย็ม – เป็นภาษา X ยถึง เข้าไปยุ่ง เช่น อย่าไปแหย็ม

อเปหิ , อัปเปหิ – ภาษาที่ใช้ทั่วไปหมายถึง ขับไล่

อัฒจันทร์ – (ที่นั่งเป็นขั้น ๆ สำหรับดูการแสดงหรือกีฬา เป็นรูปครึ่งวงกลม หรือชั้นที่ตั้งของขายเป็นขั้น ๆ)

อิริยาบถ – มักใช้ผิดเป็น “อิริยาบท”



ครับ.. ก็ขอจบไว้เพียงเท่านี้ก่อนละกัน ใครมีอะไรสงสัยก็ทิ้งคำถามไว้ได้เช่นเคย แล้วคราวหน้าเรามาเจอกันครับ ^^

-------------------------------------------------------------
Edit : 12/11/2548
-------------------------------------------------------------

กลับมาอีกครั้ง (ด้วยสภาพเปียกฝนมะล่อกมะแล่ก -_-') ก็เห็นว่ามีน้องคนนึงอยากรู้เกี่ยวกับคำพ้องก็เลยเอามาฝากกันครับ

คำพ้อง คือ คำที่มีรูปหรือเสียงเหมือนกัน หรือต่างกันแต่ความหมายต่างกัน แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

1. รูปเหมือนกัน แต่เสียงต่างกัน (คำพ้องรูป) เช่น



2. เสียงเหมือนกัน แต่รูปต่างกัน (คำพ้องเสียง) เช่น



3. เหมือนกันทั้งรูปและเสียง เช่น



การที่จะอ่านคำพ้องได้ถูกต้องและกำหนดความหมายเฉพาะได้แน่นอน จำต้องอาศัยคำห้อมล้อมหรือที่เรียกว่าบริบทด้วยนะครับ เช่น

1. ก่อนจะ พลี ชีพเพื่อชาติ เขาได้ไป พลี เปลือกไม้มาทำยา
2. เพลา เกวียนหักใน เพลา เช้า
3. กัน ไม่สามารถจะ กัน นายช่างที่ กัน ต้นคอให้ กัน ได้


บรรณานุกรม

กำชัย ทองหล่อ. (2537). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น (1977). 334-335.

เอาล่ะ คราวนี้ก็จะมาไขข้อกระจ่างกันล่ะครับ ^^

เด็กสีฟ้า shi 65 พิมพ์ว่า:
อ่า พี่รอนๆ คำว่าเวท อะครับ ผมคิดว่าถ้ามันแยกใช้เดี่ยวน่าจะเป็น เวทย์ นี่ครับ เพราะเห็นคำว่านักเวทย์ ก็มี ย์ แล้วถ้ารวมเป็นเวทมนตร์ถึงจะตัด ย์ ออก

แต่ผมก็มีคำที่คิดไม่ตก

ปะรำพิธี หรือ ปรัมพิธี หรือสะกดแบบไหน ช่วยไขกระจ่างหน่อยครับ เหอๆๆ


อืม.. คำว่า "เวท" กับ "เวทย์" จริง ๆ แล้วเขียนได้สองแบบ และก็มีความต่างนิดนึงตรงที่ เวท มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต หมายถึง ความรู้ , ความรู้ที่ทำให้เกิดความขลัง , คัมภีร์ของศาสนาพรามหมณ์ ส่วนคำว่า เวทย์ มาจากภาษาสันสกฤตอย่างเดียว หมายถึง มีชื่อเสียง , พีงรู้ พึงเรียน , เกี่ยวกับพระเวท ครับผม

แต่สำหรับพี่ใช้ เวท ตลอดเลยนะ (ในฟิกที่ลง FB3 นั่นก็แก้เป็นแบบนี้เหมือนกันหมด รวมทั้งของน้องด้วย) ซึ่งก็ยอมรับนะว่าสองคำนี้ใกล้เคียงกันจริง ๆ ใช้สับสนอยู่เหมือนกัน อย่าง "เวทมนต์" แบบนี้ก็เห็นมีพจนานุกรมด้วย (แต่ฉบับปีเก่าแล้ว) เพราะฉะนั้นก็เลยไม่ได้ใช้... ก็เอาเป็นว่า ใช้ง่าย ๆ ก็ "เวท" โลดนะน้อง

ส่วน ปะรำพิธี กับ ปรัมพิธี... ใช้ ปะรำ แน่นอนครับ ซึ่งหมายถึงสิ่งปลูกสร้างเพื่ออาศัยร่มหรือที่พักชั่วคราว หลังคาแบน เช่น ปะรำพิธี ปะรำเผาศพ (รู้สึกว่าในเล่มหัวขโมย ฯ ก็จะใช้ ปะรำพิธี แบบนี้ด้วยนะ)

whitehamster พิมพ์ว่า:
อ่า... ถามฮะ(หมอถามเองแล้ววุ้ย) คำว่า มนตรา กับ มนตร์ ความหมายเดียวกันใช่ม่ะ แล้วจะเอามาใช้แทนกันได้เปล่าง่ะ T_T ช่วยด่วน ออริผมต้องใช้คำนี้ แถมยังเป็นส่วนที่สำคัญของเรื่องด้วย ตัดทิ้งไม่ได้ ม่ายยยย~~


(จะบอกว่าถ้ามาตอบช้าจะเป็นไรไหมนี่...ก็พี่ไม่ว่างอ้ะ) นี่เลย...กว่าจะหามาได้แทบยากเย็นจริงกับคำว่า "มนตรา" เนี่ย ขออธิบายเป็นสเต็ปละกันนะ

- มนตร์ คำศักดิ์สิทธิ์ , คาถา , คำสวด (คำบาลีเขียน มฺนต , สันสกฤตเขียน มนฺตร) ว่าง่าย ๆ ก็คือถ้าเขียนตามคำบาลีก็เป็น มนต์ และถ้าเขียนตามคำสันสกฤตเป็น มนตร์

- มนตรา เป็นคำที่ใช้กับพวกคำกลอนครับ มีความหมายเท่ากับมนตร์

* เพราะฉะนั้นความหมายเดียวกัน ใช้แทนกันได้คร้าบ

ปล. แอบเคืองเล็กน้อยที่มาหาว่าผมชอบใช้ไม้หน้าสามตบตี แบบว่าผมไม่โหดขนาดนั้นหรอกครับ แต่แค่ชอบเอาดาบไล่จ้วงแทงหลังชาวบ้านเขามากกว่า 555+ (โหดกว่าอีก)

อ้อ ! ลืมบอกตำราเล่มสำคัญที่หาเจอมาครับ (เจอคำถามแบบนี้ก็เล่นหาเกือบทั้งชั้นเลยครับ Crying or Very sad )

เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. (2544). พจนานุกรมไทย ฉบับใหม่. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น (1977).

(ไปแอบเห็นมาอีกคำถามนึง...)

อ้างอิงจาก:
แล้วก็ คำว่า ลางเลือน กับ เลือนราง 2คำนี้ความหมายต่างกันนะฮะ(ใช่มะ?) แต่ในกลอนเราจะเจอหลายคำที่เอามาสลับที่กันแล้วความหมายหมือนเดิม ทำให้มีคนสลับที่คำว่าลางเลือนเพื่อลากเข้าหาสัมผัส(แล้วทำไม่ไม่ใช้คำว่าเลือนรางไปเลยหว่า..ไม่เข้าใจ)


พี่ก็เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นนะ เพราะว่าหาคำว่า "ลางเลือน" ไม่มีเลย แต่กลับไปเจอ "เลือนลาง" ที่เขียนแบบนี้แทน (หมายถึง ไม่แจ่มใส , ไม่ค่อยจะมีความหวัง , มัว ไม่ชัด จาง) คาดว่า ลางเลือน น่าจะเป็นการกลับคำซึ่งเป็นลูกเล่นของผู้เขียนมากกว่า (พี่เองก็ชอบกลับ ^^)


ทิ้งท้ายก่อนจากนิดนึง...

ภาษาไทยเป็นภาษาที่ดิ้นได้ โดยพลิกแพลงไปตามลักษณะที่ใช้ คำไทยบางคำจะแตกความหมายออกไปมากมายหลายหลากจนเกือบจะหาที่สุดมิได้ ซึ่งยังได้นำคำบาลี - สันสกฤตมาใช้อีกมากมาย คนส่วนมากจะไม่ให้ความสนใจแหล่งที่มาว่าคำเหล่านี้จะเขียนแทนกันได้ไหม จึงต้องอาศัยความเคยชินและการท่องจำเท่านั้นว่าจะต้องเขียนแบบนั้นแบบนี้จึงจะถูก...

ก็ขอฝากไว้ละกันนะครับ การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่เราคนไทยควรอนุรักษ์ไว้นะครับ ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครสามารถใช้ได้อย่างถูกต้องเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แน่ แต่การศึกษาหาความรู้ให้มาก ๆ จะช่วยได้มากทีเดียวครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพจนานุกรม (ขนาดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต ฯ ยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขขึ้นมาใหม่เลย เนื่องจากคำมีเพิ่มมากขึ้นจนเดี๋ยวนี้เล่มใหญ่มาก ๆ ต้องใช้สองมือถือประคองไว้เลย หุหุ)

แล้วเราในฐานะผู้ที่ใช้ภาษากันทุกวี่ทุกวันจะไม่ใช้ภาษาที่ถูกกันเลยหรือครับ ? หรืออยากให้ชาวต่างชาติต้องเอ่ยรำพันออกมาว่า "คนไทยหรือเปล่า ?" อย่างนั้นเหรอครับ


จาก http://www.sun-tree.net/forum/viewtopic.php?p=545&sid=243206aac46b98c1474889d65041be86

PS.  GUNSLINGER GIRL FANCLUB OF THAILAND

แสดงความคิดเห็น

>

18 ความคิดเห็น

whitehamster the dentist 1 ธ.ค. 49 เวลา 12:29 น. 1

เอ..เดี๋ยวก่อน

อันนี้มันอยู่ในซันทรีไลบรารี่ไม่ใช่เหรอครับ แล้วได้รับคำอนุญาตจากท่านรอนมาหรือยัง - -+

(ถ้าได้แล้ว ขอโทษด้วยนะครับ)


PS.  [whitehamster the dentist] อย่ามองแล้วหัวเราะเยาะข้า อย่ามายุ่งกับตัวตนของข้า อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงข้า แล้วข้าจะไม่ถามอะไรท่านไม่ว่าทุกสิ่งจะเป็นเช่นไร....
0
mad_savior 1 ธ.ค. 49 เวลา 14:11 น. 4

ต.........  ตูเขียนผิดเยอะเลยนี่หว่า


PS.  โจทย์ : เมื่อนำเด็กหญิงอายุ 9 ปีมาผ่าครึ่งตั้งแต่หัวไหล่ขวาจนถึงสะโพกซ้าย โดยไม่ให้ตาย แล้วเฝ้าดูจบครบ 3 ชม. จงวัดปริมาณเลือดที่ไหลออกมาทั้งหมด โดยไม่นับน้ำเหลือง และ เลือดที่ยังคั่งอยูในอวัยวะภายใน
0
Elca_Intravate 1 ธ.ค. 49 เวลา 14:15 น. 5

ดีจังครับ มีประโยชน์มากเลยครับ
บางคำผมยังใช้ผิดอยู่เลย อิอิ


PS.  พรใดแห่งเทวาฤานักปราชญ์ ขออำนาจความฉลาดพิฆาตเจ้า ด้วยมนตราคาถาจงรับเอา เวทย์สะพรั่งสั่งเจ้าพิราลัย
0
+:*^*:+Spisit_Of_DarK+:*^*:+ 1 ธ.ค. 49 เวลา 17:27 น. 7

ดีมากๆ


PS.  มืดมิดยิ่งกว่าความมืด ลึกลับยิ่งกว่าราตรีกาล ผู้ซึ่งคงอยู่ได้นานนับกาลนาน ผู้ซึ่งครองโลกแห่งความฝัน ชื่อของข้าคือ "ธิดาแห่งรัตติกาล" ฝากผลงานด้วยค่ะ id=132343 ยัยคุณหนูสุดซ่า กับมาเฟียสุดแสบ
0
• yotsuba • 1 ธ.ค. 49 เวลา 23:17 น. 8

อ่านแล้วอึ้ง เพราะเราพึ่งรู้ว่าเราเขียนผิดเยอะมาก


PS.  DE ATH NO TE 2 Th E L aST NA Me ~• อว ส าน สมุ ด ม รณ ะ. . •`ThE LaST NAME t0 bE WR!TTEN iN ThE DEATH NOTE•~ WHoSE NAMe W!LL BE ?•* ' ปริ ศน า แ ห่ง ย มโ ลก . . . ศพ สุ ด ท้า ย คื อ ใ คร ?
0
>^Lieb^< 2 ธ.ค. 49 เวลา 02:55 น. 10

แหะๆ เราเขียนผิดเยอะเลย!!


PS.  ทะไมเพื่อนๆ หายหน้ากันไปหมด มันหน้าน้อยใจจังเล้ยยยยยยยย
0
Luster_T 8 ธ.ค. 49 เวลา 16:57 น. 12

อืม...เราก็เป็นนักเขียนที่ไม่เก่งภาษาไทยเอาซะเลย เหมือนกันนะ ขนาดมีคนบอกว่าผิดเรายังหาไม่เจอเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันผิดตรงไหน


PS.  http://my.dek-d.com/Writer/story/view_contest2.php?id=52 id 0052 : ดินแดนคนบาป โดย : Luster_T อัพเดท : 2006-11-23 13:27:20 คะแนนโหวต 3 view : 16 post : 2 ราชิวชายผู้มีใจรักอย่างแรงกล้า
0