Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

วันนี้คุณรู้จัก"ชาร์ลี แชปลิน"ศิลปินตลกที่ยิ่งใหญ่ของโลกแล้วหรือยัง?

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่


 


ชาร์ลี แชปลิน ได้รับความนิยมชื่นชอบมานานแสนนาน ตั้งแต่ยุคหนังเงียบจวบจนถึงยุคหนังเสียง เขาเป็น 1 ใน 4 ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคหนังเงียบซึ่งประสบผลสำเร็จ และเป็นคนเดียวที่ยืนยงในยุคหนังเงียบเสียงเป็นเวลาต่อมาหลายปี
ชาร์ลี แชปลิน เกิดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อพ่อแม่แยกทางกัน เขาต้องหาเลี้ยงตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ด้วยการเป็นนักแสดง นี่คือจุดเริ่มต้นจนกระทั่งประสบผลสำเร็จในเวลาต่อมา ภาพยนตร์ทุกเรื่องทำให้ชื่อของ "ชาร์ลี แชปลิน" เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก


ครั้งหนึ่งชาร์ลี แชปลินเคยกล่าวไว้ว่า “วันใดที่คุณไม่หัวเราะ วันนั้นเป็นวันที่สูญเปล่า” และดูเหมือนว่าตัวของเขาเองจะมุ่งมั่นกับปณิธานในการสร้างเสียงหัวเราะให้แก่คนนับล้านตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาได้ออกฉายในปี 1915 จนกระทั่งถึงในยุคปัจจุบัน คนส่วนใหญ่จะจดจำชาร์ลี แชปลินได้ในบทตัวละครสุภาพบุรุษจรจัดไร้นามที่หรือที่รู้จักกันดีว่า “คนพเนจร” (The Tramp) ซึ่งมักปรากฏตัวในลักษณะคนจรจัดสวมเสื้อนอกคับตัว กางเกงหลวมๆ หมวกทรงสูง รองเท้าคู่ใหญ่ที่ทำให้เดินอย่างเก้งก้าง ถือไม้เท้าซึ่งทำจากไม้ไผ่ และไว้หนวดทรงขนแปรงสีฟัน แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่านอกจากการเป็นนักแสดงตลกแล้ว เขายังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการสร้างสรรค์งานตลกคลาสสิคแต่ละเรื่อง ทั้งเป็นผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง คนเขียนบท คนตัดต่อ หรือแม้แต่ประพันธ์เพลงประกอบเองด้วย

หลายปีก่อนดิฉันได้เคยดูงานของชาร์ลี แชปลินมาบ้างโดยเฉพาะเรื่องที่เป็นที่รู้จักกันดีเช่น City Lights (1931), Modern Times (1936) และ The Great Dictator (1940) แต่ก็ไม่เคยได้ใส่ใจในหนังของเขามากเพราะเพียงคิดว่ามันเป็นแค่หนังตลกเงียบขาวดำธรรมดาที่ดูแล้วก็จบกัน จนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เองที่ดิฉันได้หยิบเอาหนังเอาหนังของชาร์ลี แชปลินเรื่อง The Kid (1921) มาดู ก็เกิดความรู้สึกดีๆ ที่ไม่ได้รู้สึกมานานแล้วกับการดูหนัง นั่นก็คือ “อึ้ง ทึ่ง ขำ” (ไม่มีเสียวนะคะ) เพราะรู้สึกว่าชาร์ลี แชปลินเก่งมากที่สามารถทำหนังในการผสมผสานปัญหาสังคมกับเรื่องตลกเข้าด้วยกันอย่างลงตัวเช่นนี้ ดิฉันค่อนข้างตกใจที่อยู่ๆ ตัวเองก็น้ำตาไหลอย่างไม่รู้ตัวกับฉากซึ้งในหนัง ทั้งๆ ที่ไม่ถึงห้านาทีก่อนหน้านี้ก็เพิ่งจะหัวเราะท้องแข็งกับท่าทางเซ่อๆ ซื่อๆ ของหนุ่มพเนจร (The Tramp) อยู่ เมื่อดูหนังจบจึงได้มาอ่านประวัติของชาร์ลี แชปลิน ทำให้ได้เรียนรู้ความสามารถหลากหลายของอัจฉริยะชาวอังกฤษผู้นี้ วันนี้ดิฉันจะขอเอาชีวิตบางส่วนของราชาตลกผู้นี้ที่คิดว่าน่าสนใจมาเล่าให้ฟังสลับกับการแนะนำหนังทั้งสามเรื่องที่ดิฉันเพิ่งได้ดูคือเรื่อง The Kid ที่กล่าวไปแล้ว รวมทั้ง The Gold Rush (1925) และ Limelight (1952)


The Kid (1921)

กำกับและเขียนบท: ชาร์ลส แชปลิน

นำแสดง: ชาร์ลส แชปลิน, เอ็ดนา เพอร์เวียนซ์, แจ็คกี้ คูแกน

หนุ่มพเนจร (รับบทโดยชาร์ลส แชปลิน) ที่อาศัยอยู่ในสลัม ไปเจอเด็กทารกคนหนึ่งที่ถูกแม่ทิ้งไว้ข้างถังขยะ จึงรับอุปการะมาเป็นลูกด้วยความรักใคร่ จนเมื่อเจ้าหนูน้อยเติบโตขึ้นมาได้ห้าขวบ จึงเริ่มช่วยพ่อหารายได้เข้าครอบครัวโดยทุกๆ วันสองพ่อลูกก็จะออกไปทำงาน โดยเจ้าหนูรับหน้าที่ขว้างก้อนหินใส่กระจกหน้าบ้านคนอื่นให้แตกแล้ววิ่งหนีไป ส่วนหนุ่มพเนจรก็จะบังเอิญเป็นช่างซ่อมกระจกที่เดินผ่านมาแถวนั้นพอดีจึงมาช่วยรับซ่อมกระจกที่แตก ทำให้มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ มาพอหาซื้ออาหารประทังชีพได้ แต่ก็จะมีบางวันที่ต้องเหนื่อยหน่อย เพราะต้องวิ่งหนีการไล่จับของตำรวจที่รู้ทันมุขของสองพ่อลูกคู่นี้ หรือพวกสามีของบรรดาแม่บ้านสาวๆ ที่หนุ่มพเนจรไปแอบจีบขณะซ่อมกระจก

ถึงแม้ว่าทั้งสองจะมีการเป็นอยู่อย่างอัตคัต แต่ก็มีความสุขกันอย่างที่พ่อลูกจนๆ จะสามารถมีได้ หนังตัดไปเล่าถึงฝ่ายแม่ของเจ้าหนู (รับบทโดยเอ็ดน่า เพอร์เวียนซ์) ซึ่งเป็นดาราเวทีชื่อดังที่รู้สึกผิดกับการที่ทิ้งลูกตัวเองในอดีต จึงอุทิศตนให้กับการกุศลโดยไปแจกของเล่นให้เด็กๆ ในสลัมซึ่งเจ้าหนูน้อยบังเอิญอาศัยอยู่ ซึ่งถึงแม้ว่าจะได้มีโอกาสเจอกันตั้งหลายครั้ง แต่ว่าฝ่ายแม่ก็มิได้ล่วงรู้เลยว่าเด็กผู้ชายคนนี้เป็นลูกแท้ๆ ที่ตนทิ้งไป จนกระทั่งวันหนึ่งเจ้าหนูล้มป่วยลง หมอที่มาตรวจอาการได้ซักประวัติจากหนุ่มพเนจรจึงได้ทราบว่าเขาไม่ใช่พ่อแท้ๆ ของหนูน้อย หมอจึงส่งเจ้าหน้าที่จากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามานำตัวเด็กไป ฝ่ายหนุ่มพเนจรไม่ยอมให้ลูกตกไปอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูจะไม่มีความเอ็นดูเด็กเลยแม้แต่น้อย เขาจึงพยายามสู้กับตำรวจและเจ้าหน้าที่อย่างสุดตัว ก่อนที่จะวิ่งตามรถตำรวจที่มาพรากลูกของเขาไป และชิงตัวลูกกลับมาได้ในที่สุด

เอ็ดน่า เพอร์เวียนซ์

แต่เรื่องก็ไม่ได้จบง่ายอย่างนั้น ฝ่ายนางเอกละครเวทีในที่สุดก็ได้รับรู้ว่าลูกที่แท้จริงของเธอเป็นใคร เธอจึงลงประกาศหนังสือพิมพ์ตามหาลูกพร้อมเงินรางวัลก้อนโต เมื่อหนุ่มพเนจรพาหนูน้อยหนีไปนอนโรงแรมโกโรโกโสที่หนึ่ง เจ้าของโรงแรมจอมละโมภได้อ่านประกาศในหนังสือพิมพ์ด้วยจึงแอบลักพาตัวเด็กคนนี้ในขณะที่หนุ่มพเนจรหลับสนิท แล้วนำไปส่งที่สถานีตำรวจ เมื่อเขาตื่นขึ้นมาหาลูกไม่เจอ เขาจึงรู้สึกโศกเศร้ามากและเดินทางกลับไปที่สลัม นั่งรออยู่ที่หน้าประตูบ้านด้วยความหวังริบหรี่ว่าลูกอาจจะกลับมา เขาผลอยหลับไปและฝันเห็นสลัมกลายเป็นสวนสวรรค์ เห็นลูกน้อยของตัวเองกลายเป็นเทวดาพาเขาไปซื้อปีกมาบินเที่ยวกัน ก่อนที่จะถูกปลุกให้ตื่นโดยตำรวจ ซึ่งพาตัวเขาไปที่บ้านของนางเอกละครเวที ที่ซึ่งเขาได้เจอลูกชายอีกครั้ง หนังจบที่ตัวละครทั้งสามตัว (หนุ่มพเนจร แม่เด็ก และเด็กน้อย) เดินเข้าไปในบ้านอย่างมีความสุข

หนังเรื่อง The Kid เป็นหนังตลกยาวเรื่องแรกของชาร์ลี แชปลิน ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 1914 เป็นต้นมา เขาได้กำกับหนังตลกสั้นประมาณ 70 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มีความยาวไม่เกิน 20 นาที หนังเรื่อง The Kid เป็นโปรเจ็กต์ที่ชาร์ลีให้ความสำคัญมากถึงกับใช้เวลาถ่ายทำถึงหนึ่งปี และประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์ โดยเฉพาะในเรื่องการแสดงของเจ้าหนู แจ็คกี้ คูแก้น ที่หน้าตาน่ารักน่าหยิก แสดงได้ลื่นไหลเป็นธรรมชาติและเข้าขากับชาร์ลีมากเหมือนเป็นพ่อลูกกันจริงๆ หนังเรื่องนี้ได้สร้างชื่อให้แจ็คกี้ คูแก้น โด่งดังมากและได้รับบทนำในหนังเรื่องอื่นๆ นับว่าเป็นดาราเด็กรายได้สูงสุดคนแรกของอเมริกา และก็ยังเป็นดาราคนแรกที่ถูกนำชื่อมาใช้ในสินค้าต่างๆ มากมายเพื่อขายแฟนคลับ เช่น เครื่องเขียน กล่องดินสอ นกหวีด ตุ๊กตา หรือแม้กระทั่งเนยถั่วยี่ห้อแจ็คกี้ คูแก้น (กระป๋องเป็นรูปแจ็คกี้กำลังกินขนมปังทาเนยถั่วอย่างเอร็ดอร่อย ทำให้นึกถึงช่วงหนึ่งที่เมืองไทยก็เห่อน้องตูมตามเอามากๆ จนมีผู้ผลิตหัวใสทำขนมยี่ห้อตูมตามขึ้นมาขาย)

ในเรื่อง The Kid นี้มีผู้หญิงสองคนที่มีความสำคัญกับชีวิตของชาร์ลี คนแรกคือ เอ็ดน่า เพอร์เวียนซ์ นางเอกคู่บุญที่แสดงคู่กับชาร์ลีมากที่สุดถึงสี่สิบเรื่อง ตามหนังสืออัตชีวประวัติบางเล่มของชาร์ลี แชปลิน เอ็ดน่าเป็นรักแรกของชาร์ลี แต่ก็เป็นรักที่ไม่สมหวังเพราะว่าความเจ้าชู้และ “รักเด็ก” ของชาร์ลี ทำให้เขาต้องเข้าพิธีวิวาห์กับ มิลเดร็ด แฮร์ริส สาวน้อยอายุ 16 แบบตกกระไดพลอยโจนเพราะเจ้าหล่อนท้อง (ก่อนที่จะหย่ากันอีกสองปีต่อมา) แต่ยังไงก็ตามชาร์ลีและเอ็ดน่าก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอมา ถึงแม้ว่าเวลาที่ยุคของหนังเสียงเข้ามาแทนที่หนังเงียบ ทำให้เอ็ดน่าไม่มีงานแสดงอีกและมีชีวิตค่อนข้างยากลำบาก แต่ชาร์ลีก็มักที่จะให้โอกาสเธอมาร่วมแสดงฉากสมทบเล็กๆ น้อยๆ ในหนังเสียงยุคหลังของเขา และช่วยเหลือจุนเจือโดยส่งเงินเบี้ยเลี้ยงให้เธอใช้ทุกเดือนจนกระทั่งเมื่อเธอเสียชีวิตเมื่อปี 1958

ส่วนผู้หญิงคนที่สองคือ ลิต้า เกรย์ ซึ่งในเรื่องเธอรับบทสมทบเล็กๆ เป็นนางฟ้าที่โดนซาตานล่อลวงให้มายั่วยวนชาร์ลีในความฝันของเขา ส่วนนอกจอ เธอได้กลายมาเป็นภรรยาคนที่สองของชาร์ลี เมื่อตอนเธออายุ 16 ปี และหย่าขาดกันอีกเมื่อสี่ปีต่อมา ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับชาร์ลีได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับ วลาดีเมียร์ นาโบโคฟ แต่งหนังสือเรื่อง Lolita ขึ้นมาด้วยนะคะ

ทั้งๆ ที่หนังมีความยาวแค่เพียงหนึ่งชั่วโมงและเป็นหนังเงียบ แต่แทบไม่น่าเชื่อว่าหนังอายุ 85 ปีเรื่องนี้จะทำให้ดิฉันทั้งหัวเราะจนท้องคัดท้องแข็งและร้องไห้ได้อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้น โดยเฉพาะในฉากที่หนุ่มพเนจรพยายามต่อสู้กับตำรวจเพื่อจะแย่งชิงลูกของเขากลับมา เป็นฉากที่ตลกมากเพราะว่าบ้านก็หลังเล็กๆ ตำรวจก็มีตั้งสองคน แต่ว่าก็จับหนุ่มพเนจรไม่ได้สักที เพราะว่าเขาวิ่งหลบไปหลบมารอบบ้านและก็ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านมาสู้กับตำรวจ ซึ่งดูแล้วโกลาหลและอลเวงจริงๆ ฉากนี้ต้องอาศัยการเตรียมจังหวะกันดีมาก เพราะมีอุปกรณ์ประกอบฉากที่เอาไว้ใช้ในการต่อสู้เยอะ ดูแล้วคล้ายๆ กับหนังเฉินหลงเลยค่ะ เมื่อเขาจัดการกับตำรวจเสร็จเรียบร้อย เขาก็ต้องวิ่งตามรถของตำรวจที่พาลูกของเขาไปที่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า เมื่อเขาสามารถปีนขึ้นมาบนรถได้ในที่สุด สองพ่อลูกก็รีบกอดกันด้วยอาการน้ำตานองหน้า ปากของหนุ่มพเนจรก็พูดพึมพำๆ กับลูก ถึงจะเป็นหนังเงียบแต่ดิฉันก็คาดว่าเขาน่าจะพูดว่า “ลูกรักของพ่อ พ่อจะไม่ยอมให้ใครเอาตัวเจ้าไปเป็นอันขาด” พร้อมกับแยกเขี้ยวขู่ตำรวจที่พยายามจะเดินเข้ามา ทำให้ไม่มีใครกล้าเข้ามาจับตัวเด็กไปอีก เป็นฉากที่กินใจมากเพราะสำหรับหนุ่มพเนจรที่ไม่มีใครสนใจไยดี เด็กน้อยคนนี้เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เขารู้สึกเหมือนกับชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น เขากล้าลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจของตำรวจเพื่อที่จะชิงลูกกลับมา ทั้งๆ ที่ในตอนต้นเรื่องตัวละครตัวนี้จะดูแหยๆ และหวาดกลัวตำรวจเป็นที่สุด

ดิฉันนึกขึ้นมาได้ว่าเคยดูสารคดีเกี่ยวกับการทำหนังของชาร์ลี แชปลิน เคยมีการพูดถึงหนังเรื่อง The Kid เกี่ยวกับฉากเล็กๆ ที่ตัวละครของชาร์ลีวิ่งหนีตำรวจมาแล้วต้องเลี้ยวตรงหัวมุมถนนด้วยความเร็ว ทำให้ตัวจะเสียหลักและต้องสไลด์นิดๆ ซึ่งในหนังอาจเป็นฉากเพียงแค่ห้าวินาที แต่ชาร์ลีถ่ายฉากนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกือบห้าสิบครั้งเพื่อให้ได้จังหวะการโค้งสไลด์ได้ตามที่จินตนาการไว้ ซึ่งนี่เป็นการบ่งบอกว่าเขาเป็นคนที่ประณีตในรายละเอียดทุกส่วนของหนังมากนะคะ

ความสำเร็จของ The Kid อีกส่วนหนึ่งนั้นมาจากการที่ว่า หนังเรื่องนี้ได้ฉีกขนบเดิมๆ ในการสร้างหนังตลกไปโดยสิ้นเชิง โดยการเอาดรามาและปัญหาสังคมมาผสมผสานกับตลกแบบ slapstick ชาร์ลีสามารถพิสูจน์ให้โลกได้รับรู้อีกด้านหนึ่งของเขาในแง่ของนักทำหนังที่มีมุมมองทางการเมืองและสังคมอย่างเด่นชัด เพียงแต่เขาฉลาดพอที่จะไม่นำมันมายัดเยียดใส่ในหนังให้คนดูรับรู้อย่างหนักหน่วง ใน The Kid เราได้มองเห็นปัญหาของสังคมเรื่องเด็กกำพร้า ความยากจนในสลัม การลักขโมย และอำนาจอยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ และตัวของชาร์ลี แชปลินคงคาดหวังอยากให้ปัญหานี้มันหมดไป โดยการถ่ายทอดผ่านฉากความฝันท้ายเรื่องที่สลัมกลายเป็นสวรรค์ ที่ๆ ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข


The Gold Rush (1925)

กำกับและเขียนบท: ชาร์ลส แชปลิน

นำแสดง: ชาร์ลส แชปลิน, แม็ค สเวน, ทอม เมอร์เรย์, เฮนรี่ เบิร์กแมน, จอร์เจีย เฮลล์

สองปีต่อมาจากความสำเร็จของ The Kid โปรเจ็กต์ถัดไปที่ชาร์ลี แชปลินลงมาเป็นผู้กำกับเต็มตัวและไม่ได้มีบทแสดงคือหนังเมโลดรามาเรื่อง The Woman of Paris (1924) ที่ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในบ็อกออฟฟิศ ทำให้ชาร์ลีได้บทเรียนว่าตัวละครหนุ่มพเนจรเป็นสูตรสำคัญที่จะทำให้หนังทำเงินได้มากกว่า ชาร์ลีกำลังคิดถึงไอเดียใหม่ๆ ในการทำหนังที่จะให้หนุ่มพเนจรกลับมารับบทนำอีก จนเมื่อวันที่ไปบ้านของ แมรี่ พิกฟอร์ด และดักลาส แฟร์แบงค์ สองดาราแนวหน้าของฮอลลีวู้ดในยุค 20 ที่เป็นเพื่อนสนิทของชาร์ลีและผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอยูไนเต็ด อาร์สติส เขาได้เห็นภาพของเหล่านักขุดทองที่กำลังป่ายปีนภูเขาหิมะที่เมืองคลอนไดค์ในยุคตื่นทอง (หรือที่เรียกกันว่า Gold Rush) ไอเดียของหนังเรื่องใหม่ก็ผุดขึ้นมาในหัวของชาร์ลี และคราวนี้เค้าจะกลับมาในบทบาทของหนุ่มพเนจรไปขุดทองในภูเขาหิมะ ในหนังเรื่อง The Gold Rush (1925)

หนังเรื่องนี้เปิดฉากด้วยภาพของหนุ่มพเนจรปีนป่ายภูเขาหิมะพร้อมสัมภาระเตรียมพร้อมเพื่อขุดทอง ด้วยความหนาวและความหิวโหยเขาจึงเข้ามาขโมยอาหารในกระท่อมร้างที่เป็นแหล่งกบดานของจอมโจรแบล็ค ลาร์สัน ซึ่งไม่ว่าแบล็ค ลาร์สันจะพยายามผลักไสไล่ส่งหนุ่มพเนจรออกไปจากบ้านอย่างไร ลมพายุก็ดูจะเป็นใจพัดหนุ่มพเนจรให้กลับเข้ามาในบ้านเหมือนเดิม สักพักบิ๊กจิม นักขุดทองร่างยักษ์ที่ผ่านมาแถวนั้นก็ขอเข้ามาพำนักในบ้านด้วย อาหารที่มีในบ้านก็ร่อยหรอลงทุกวันจนจอมโจรแบล็ค ลาร์สันต้องออกไปหาอาหารข้างนอก แต่เขาบังเอิญไปเจอเหมืองแร่ทองคำของบิ๊กจิมเข้า จึงรีบขโมยทองนั้นและหวังหนีไป บิ๊กจิมผ่านมาเห็นก็เลยโดนทุบหัวสลบไป ฝ่ายหนุ่มพเนจรที่ไม่มีโชคในการแสวงหาทองจึงลงมาจากภูเขาเข้ามาในเมือง ได้รู้จักและตกหลุมรักกับสาวงามนาม จอร์เจีย (จอร์เจีย ฮอลล์) สาวนักเต้นรำในบาร์ประจำเมือง ที่ในตอนแรกเธอตั้งใจจะแกล้งหลอกปั่นหัวเขาให้ดีใจเล่นๆ แต่เมื่อเหตุการณ์ในตอนหลังได้ทำให้เธอประจักษ์ถึงรักแท้ของหนุ่มพเนจรที่มีต่อเธอ บิ๊กจิมซึ่งความจำเสื่อมไปเพราะโดนทุบหัว ได้มาขอร้องหนุ่มพเนจรให้พาเขากลับไปที่เหมืองแร่ทองคำนั้น พร้อมกับสัญญาจะแบ่งทองให้กันคนละครึ่ง แล้วตอนหลังทั้งสองคนจะเจอทองไหม หนุ่มพเนจรกับจอร์เจียจะลงเอยกันยังไง อันนี้ต้องไปดูกันเองนะคะ

หนังมีฉากที่โด่งดังหลายฉาก เช่นฉากที่บิ๊กจิมเริ่มโมโหหิวจนตาลายเห็นหนุ่มพเนจรเป็นไก่งวงและพยายามจะจับเขากิน หนุ่มพเนจรจึงต้องยอมสละรองเท้าบูทข้างหนึ่งเอามาต้มกินกัน ฉากการกินรองเท้าบูทอย่างเอร็ดอร่อยของหนุ่มพเนจร (อร่อยขนาดเอาตะปูที่พื้นรองเท้ามาดูดอย่างกับกินกระดูกไก่ แล้วก็เอาเชือกผูกรองเท้ามาม้วนด้วยส้อมกินเหมือนกับเป็นเส้นสปาเกตตี) ฉากนี้คงทำให้คนดูสมัยนั้นรู้สึกกระอักกระอ่วนบอกไม่ถูก เบื้องหลังการถ่ายทำฉากนี้นั้น จริงๆ แล้วรองเท้าบูทในเรื่องทำมาจากชะเอมนะคะ ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีรสหวานมาก ฉากกินรองเท้าบูทสั้นๆ นี้ใช้เวลาในการถ่ายทำถึงสามวัน ถ่ายไปเป็นจำนวน 63 เทคจนกว่าจะได้ถูกใจผู้กำกับชาร์ลี แต่หลังจากนั้นชาร์ลีก็ถูกหามส่งโรงพยาบาลกระทันหันเพราะว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงปรี๊ดจนทำให้ช็อคเลยค่ะ

“กินรองเท้า”

อีกฉากที่เป็นที่น่ารักมากๆ ก็คือฉาก “ขนมปังเต้นรำ” ที่ชาร์ลีเอาส้อมเสียบขนมปังโรลสองชิ้น ทำให้ดูเหมือนเท้าคน แล้วก็เริ่มเต้นบนโต๊ะอาหาร เป็นฉากที่น่ารักมากเสียจนเมื่อหนังออกฉายตามโรงบางแห่ง ผู้ชมต้องขอให้คนฉายหนังช่วยฉายซ้ำแค่ตรงฉากขนมปังเต้นรำเท่านั้น ส่วนฉากที่ดิฉันคิดว่าล้ำยุคมากในหนังสมัยนั้นก็คือ ฉากที่กระท่อมของชาร์ลี กับบิ๊กจิมถูกพายุหิมะพัดปลิวไปค้างเติ่งอยู่บนริมหน้าผาชะโงกง่อนแง่น จะตกแหล่มิตกแหล่ สร้างความหวาดเสียวให้กับผู้ชมเป็นที่สุดเพราะทั้งสองคนเพิ่งตื่นนอนขึ้นมาและเดินทำกิจวัตรประจำวันอย่างปกติสลับไปมาตามมุมต่างๆ ของบ้าน โดยหารู้ไม่ว่าบ้านจะเสียศูนย์และตกเหวแน่นอน หากทั้งสองคนบังเอิญไปยืนตรงส่วนของบ้านที่ยื่นออกนอกหน้าผาไปแล้ว ฉากบ้านเอียงนี้ใช้เทคนิคการเอียงกล้องไปมาและขยับเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างแนบเนียบเหมือนบ้านเอียงจริงๆ เทคนิคการถ่ายทำที่แปลกใหม่และเนื้อเรื่องที่ผสมการผจญภัยน่าตื่นเต้นกับมุขตลกอย่างนี้ ทำให้หนังเรื่อง The Gold Rush ได้รับความสนใจจากผู้คนล้นหลามและถือว่าเป็นหนังยุคเงียบที่ทำรายได้สูงสุดของชาร์ลี แชปลิน (4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

“ขนมปังเต้นรำ”

หนังเรื่องนี้มีสองเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกคือเวอร์ชั่นหนังเงียบที่ออกฉายตามโรงในปี 1925 ส่วนเวอร์ชั่นที่ดิฉันได้ดูเป็นเวอร์ชั่นปี 1941 ที่ชาร์ลี แชปลินได้มาทำเสียงพากษ์และบรรยายประกอบ ตัดต่อและทำดนตรีใหม่ ส่วนบทจอร์เจีย นางเอกของเรื่อง จริงๆ แล้วชาร์ลีตั้งใจจะให้ลิต้า เกรย์ ภรรยาคนที่สองของตนมารับบทนี้ แต่หลังจากถ่ายหนังไปไม่กี่ฉาก เธอก็เกิดตั้งท้องเสียก่อน บทนางเอกจึงตกเป็นของจอร์เจีย เฮลล์ ซึ่งขณะที่กำลังถ่ายหนังก็ได้มีความสัมพันธ์โรแมนติคกับชาร์ลีเหมือนกัน ในบางบทสัมภาษณ์ของเธอได้กล่าวว่าในฉากรักหลายๆ ฉากของเรื่องสำหรับเธอไม่ได้เป็นการ “แสดง” เลย แต่ฉากรักที่ว่าพวกนี้ก็โดนชาร์ลีตัดออกไปตามความเหมาะสมในหนังเวอร์ชั่นปี 1941 อนึ่งอาจเป็นเพราะความสัมพันธ์ของเขากับจอร์เจียได้จบลงไปนานมากแล้ว

หนังทั้งสองเรื่องที่ดิฉันเล่ามาถือเป็นใบปูทางให้กับชาร์ลี แชปลินในการทำหนังตลกเรื่องยาวคลาสสิคในภายหลังเรื่องอื่นๆ ที่โลกรู้จักกันดี อาทิเช่น “City Lights”(1931 – หนุ่มพเนจรกับสาวตาบอด), “Modern Times”(1936 – หนังตลกเสียดสีการที่นำเครื่องจักรมาแทนแรงงานคน), “The Great Dictator”(1940 – หนังล้อเลียนฮิตเลอร์และถือเป็นหนังเสียงเรื่องแรกของชาร์ลี แชปลิน)


Limelight (1952)

กำกับและเขียนบท: ชาร์ลส แชปลิน

นำแสดง: ชาร์ลส แชปลิน, แคลร์ บลูม, ไนเจล บรู๊ซ, ซิดนีย์ แชปลิน

เริ่มจากปี 1914 ที่ชาร์ลี แชปลินเริ่มแสดงหนังในบทตัวละครสุภาพบุรุษพเนจรที่เป็นเอกลักษณ์จนถึงปี 1931 ในหนังเรื่อง City Light ซึ่งเป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่ชาร์ลี แชปลินตั้งใจจะให้ตัวละครชายพเนจรรับบทนำ อีกสองศตวรรษต่อมา ชาร์ลี แชปลินในวัย 63 ปีหยิบชุดสูทโทรม หมวกยาวและไม้เท้าคู่กายของหนุ่มพเนจรที่แขวนไว้หลายปี นำมาปัดฝุ่นใช้งานอีกครั้งในหนังเรื่อง Limelight แต่คราวนี้เขาไม่ได้กลับมารับบทหนุ่มพเนจรที่จะมาเรียกเสียงหัวเราะจากคนดู แต่เขาจะมาเล่นเป็นดาราตลกแก่ที่เคยรับบทเป็นหนุ่มพเนจรต่างหาก

หนังเปิดฉากในกรุงลอนดอน ปี 1914 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คาลเวโร (รับบทโดยชาร์ลี แชปลิน) นักแสดงเวทีตลกชื่อดังในอดีตที่ตอนนี้กลายเป็นตาแก่ขี้เมาได้ช่วยชีวิตนักบัลเล่ต์สาวสวยนาม เทเรซ่า (รับบทโดย แคลร์ บลูม) ขณะที่เธอกำลังฆ่าตัวตาย คาลเวโรช่วยดูแลและให้กำลังใจเธอเพื่อให้เธอกลับมาเต้นรำอีกครั้ง จนเมื่อเธอมีชื่อเสียงโด่งดัง เธอจึงพยายามใช้เส้นสายนำคาลเวโรขึ้นมาผงาดบนเวทีตลกอีกครั้ง แต่เนื่องด้วยความเคยชินทำให้คาลเวโรต้องกินเหล้าจนเมาก่อนขึ้นเวทีทำให้เขาประสบกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า

ถึงกระนั้นก็ตาม เทเรซ่าก็รักคาลเวโรมากถึงขนาดเสนอว่าอยากจะแต่งงานกับเขา แต่เขารู้ตัวว่า ชีวิตของเทเรซ่ายังเป็นชีวิตที่เพิ่งเริ่มต้น ในขณะที่เขากำลังจะถึงจุดจบ เขาจึงหายตัวไปจากชีวิตของเทเรซ่าเพื่อจะได้ไม่เป็นตัวรั้งความสำเร็จของเธอ ไปทำงานเป็นตลกข้างถนน จนเธอตามหาตัวเขาพบ และพยายามเกลี้ยกล่อมให้เขากลับมาเล่นตลกในคอนเสิร์ตการกุศลของเธอในโรงละครที่มีชื่อเสียงที่สุดของลอนดอน

คาลเวโรรู้ดีว่างานนี้คงเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาจะได้ขึ้นเวทีในฐานะนักแสดงตลก เขาจึงงัดเอามุขทุกอย่างที่เคยเล่นสมัยยังเป็นตลกชื่อดังเอากลับมาโชว์จนหมดเกลี้ยง แต่ที่เป็นไฮไลท์ของโชว์คราวนี้ที่คาลเวโรเก็บเอาไว้ตอนท้ายสุดคือโชว์ “คนสีไวโอลินกับคนดีดเปียโน” ซึ่งเป็นเรื่องวุ่นๆ ของนักดนตรีสองคนที่กำลังเตรียมจะร่วมกันบรรเลงเพลงที่คงไม่มีผู้ใดมีโอกาสได้ฟังจนจบเป็นแน่ เพราะว่าเมื่อกำลังจะเริ่มเล่นเพลงทุกครั้งก็จะมีอุบัติเหตุ (แบบฮาๆ) ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ในฉากนี้บทของนักสีไวโอลินเป็นของชาร์ลี แชปลิน ส่วนบทนักเปียโนนั้นเป็นของดาราตลกชื่อดัง บัสเตอร์ คีตัน ทำให้หนังเรื่อง Limelight นี้เป็นที่จดจำได้ดีว่าเป็นหนังเรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ที่สองสุดยอดดาราตลกในยุคหนังเงียบมาร่วมงานกัน

กับ บัสเตอร์ คีตัน ใน Limelight

การที่บัสเตอร์ คีตันได้มาร่วมงานกับชาร์ลี แชปลินเป็นเพราะว่าชาร์ลีต้องการช่วยเหลือเขาที่ตอนนั้นกำลังตกอับ ทุกคนรู้จักบัสเตอร์ คีตันในฐานะดาราตลกที่มีพรสวรรค์ในระดับทัดเทียมกับชาร์ลี แชปลิน แต่โชคร้ายที่เขาพลาดพลั้งไปเซ็นสัญญากับทางสตูดิโอซึ่งมีข้อบังคับที่ไม่อนุญาตให้เขานำเอาบุคลิกหน้าตายที่เป็นเครื่องหมายการค้าของเขาหรือการแสดงที่คล้ายๆ กับหนังที่เขาเล่นให้สตูดิโอไปแล้วนำไปแสดงซ้ำที่อื่นได้ ชาร์ลี แชปลิน ขณะที่กำลังเขียนบทเรื่อง Limelight อยู่จึงไปชวนบัสเตอร์ คีตันมาให้รับบทเป็นคู่หูของเขาในฉากไคลแมกซ์สุดท้าย ซึ่งก็เป็นตัวเลือกที่ลงตัวที่สุดเพราะฉาก “คนสีไวโอลินกับคนดีดเปียโน” ความยาว 10 นาทีนี้เป็นฉากที่ไม่มีบทพูดเลย ต้องใช้ความสามารถทางภาษากาย การเล่นเครื่องดนตรี การควบคุมจังหวะการแสดงของทั้งสองตัวละครให้สอดคล้องกัน และเสริมด้วยมุขตลกแบบเจ็บตัว ทำลายข้าวของแบบที่ชาร์ลีและบัสเตอร์คงถนัดอยู่แล้ว ทำให้ฉากนี้เป็นฉากที่ยอดเยี่ยมอย่างน่าใจหาย จนทำให้ดิฉันอยากจะลุกขึ้นมาแสตนดิ้งโอเวชั่นพร้อมๆ กับคนในโรงละคร (ในหนัง) เสียจริงๆ เลย

นอกจากเรื่องของนักแสดงตลกอายุมากจะดูเหมือนกับถอดชีวิตจริงในตอนนั้นของชาร์ลี แชปลินแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะได้แรงบันดาลมาจากชีวิตส่วนตัวของชาร์ลีก็คือ ความรักระหว่างชายแก่กับหญิงสาว ซึ่งแคลร์ บลูม นางเอกสาวสวยของเรื่องเธออายุเพียง 21 เท่านั้นเองในขณะที่แชปลินก็อายุปาเข้าไป 63 แล้ว ซึ่งในขณะนั้น อูน่า โอนีล ภรรยาสาวสวยคนที่สี่ของเขาก็อายุ 21 ปีเหมือนกันและกำลังตั้งท้องลูกคนที่ห้า (จากจำนวนแปดคน) ให้เค้าอยู่ด้วยนะคะ (ลูกคนสุดท้ายของชาร์ลีเกิดเมื่อตอนเขาอายุ 73 ปี) พูดถึงแคลร์ บลูม เธอเป็นผู้หญิงที่หน้าตาสวยมากนะคะ มีแต่คนเคยบอกไว้ว่ารูปหน้าของผู้หญิงที่สวยที่สุดคือรูปหน้าหัวใจ ยังไม่เคยเห็นของจริงแต่พอมาเห็นแคลร์ บลูมนี่แหละถึงได้คิดว่าหน้ารูปหัวใจคงเป็นอย่างนี้นี่เอง

หนังเรื่อง Limelight นี้ถือว่าเป็นหนังในครอบครัวแชปลินได้เลย เพราะว่าบทของหนุ่มเปียโนสุดหล่อที่มาคอยจีบเทเรซ่าก็แสดงโดย ซิดนีย์ แชปลิน ลูกชายแท้ๆ ของชาร์ลีจากภรรยาคนที่สอง ลูกชายอีกคนนึงที่ชื่อชาร์ลี แชปลิน จูเนียร์ก็เล่นเป็นตัวตลกสบทบ พี่ชายต่างพ่อของชาร์ลีก็มารับบทเป็นหมอให้ และยังมี เจอราร์ดีน แชปลินในวัยแปดขวบและน้องชายมารับบทสมทบเล็กๆ ด้วย เจอราร์ดีน แชปลินนี่ตอนหลังเธอก็มาเข้าวงการหนังเหมือนกัน เธอเริ่มดังกับหนังเรื่อง Dr. Zhivago ในบทคู่หมั้นของหมอชิวาโก้ แต่ดิฉันจำเธอได้ดีกว่าในบทครูสอนบัลเล่ต์ในเรื่อง Habla con ella (Talk to Her) ของเปโดร อัลโมโดวาร์นะคะ

กับ แคลร์ บลูม ใน Limelight

ชาร์ลี แชปลินได้รับออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากหนังเรื่องนี้ในปี 1973 ซึ่งก็คือยี่สิบปีให้หลังจากที่สร้างหนังเสร็จ สาเหตุที่เพิ่งมาได้รับก็เป็นเพราะว่าตามกฏของสถาบันที่ให้รางวัลออสการ์ หนังที่มีสิทธิจะได้เข้าชิงรางวัล จะต้องได้รับการฉายในเมืองลอส แองเจลิสมาแล้ว เบื้องหลังที่ทำไม Limelight ถึงไม่ได้ลงโรงฉายในอเมริกาทันทีหลังจากสร้างเสร็จนั้นเป็นเพราะว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ปราบคอมมิวนิสต์อย่างหนัก ชาร์ลี แชปลินก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จริงๆ แล้วตั้งแต่เขาอพยพเข้ามาอยู่ในอเมริกาเมื่อห้าสิบปีก่อนหน้านี้ เขาก็ถูกเอฟบีไอจับตามาโดยตลอดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ถึงขนาดมีการเก็บข้อมูลที่มาสนับสนุนสมมุติฐานข้อนี้ถึงหนึ่งหมื่นเก้าพันหน้า! (แม้แต่หนังเรื่อง The Immigrant หนังยุคแรกๆ ของแชปลิน เอฟบีไอก็ยังเก็บมาอ้างเป็นหลักฐานเพราะว่ามีฉากหนึ่งที่แชปลินแอบเตะก้นตำรวจ) ชีวิตของชาร์ลีในอเมริกาจึงไม่ค่อยได้อยู่อย่างสงบสุขนักเพราะต้องถูกเอฟบีไอเรียกตัวไปสอบปากคำเป็นประจำ จนเมื่อชาร์ลีพาครอบครัวไปโปรโมทหนังเรื่อง Limelight ในอังกฤษ รัฐบาลอเมริกาจึงประกาศขอตัดสิทธิการกลับเข้าประเทศอเมริกาของชาร์ลี แชปลิน ทำให้เขาตัดสินใจพาครอบครัวไปอยู่ที่คฤหาสน์หรูหราริมทะเลสาบเจนีวาที่สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเขาพำนักอยู่ที่นั่นจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ดิฉันเพิ่งได้ข่าวมาว่าคฤหาสน์หลังนี้ กำลังได้รับการดัดแปลงให้เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับชีวิตและผลงานของราชาตลกผู้นี้ และจะเปิดอย่างเป็นทางการในปลายปี 2007 ซึ่งจะเป็นปีที่ครบรอบการเสียชีวิต 30 ปีของชาร์ลี แชปลินพอดี ถ้าอยากได้รายละเอียดของพิพิธภัณฑ์นี้ กรุณาเข้าไปชมได้ใน www.chaplinmuseum.com

ชาร์ลี แชปลินได้กลับมาอเมริกาอีกเพียงสองครั้ง คือในปี 1972 และ 1973 เพื่อมารับรางวัลออสการ์เกียรติยศและออสการ์ของ Limelight การกลับมาอเมริกาอีกครั้งของชาร์ลีได้รับการต้อนรับจากบรรดาแฟนๆ และเพื่อนในวงการเก่าๆ อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ในบรรดากลุ่มคนที่มารับที่สนามบินในวันนั้นมี แจ็คกี้ คูแกน หนูน้อยน่ารักจากเรื่อง The Kid ซึ่งกลายเป็นหนุ่มแก่หัวล้านร่างใหญ่ไปแล้วนะคะ แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เจอหน้ากันมายี่สิบปีและยืนอยู่ท่ามกลางฝูงชนมากมาย ชาร์ลีในวัยแปดสิบสามก็ตรงปรี่เข้าไปกอดแจ็คกี้และกล่าวว่า “รู้ไหมว่าฉันอยากจะเจอเธอมากกว่าใครเพื่อนเลย” สร้างความปลาบปลื้มใจให้กับแจ็คกี้มากเลยทีเดียว ในงานรับออสการ์เกียรติยศของเขา เขากล่าวคำขอบคุณทุกคนที่ยังระลึกถึงเขาได้และเขารู้สึกซาบซึ้งใจมากจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ทุกคนในงานลุกขึ้นตบมือให้เขานานมากจนถึงกับบันทึกไว้ในสถิติของการจัดงานเลยนะคะว่าเป็นการสแตนดิ้งโอเวชั่นที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสการ์

แสดงความคิดเห็น

>

3 ความคิดเห็น

น้ำเต้าหู้ไม่ใส่ทรงเครื่อง 6 ก.ค. 50 เวลา 22:13 น. 1

&nbsp &nbsp  รู้มั้ย บ้านเราแฟนตัวยงเลย มีแผ่นดูเป็น สิบๆๆ เรื่อง ดูแต่ตอนขาวดำอ่ะ ตอนที่
เขาแก่ๆ หาซื้อไม่มี หายากมาก ถ้ารู้บอกแหล่งด้วยนะ

0