Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

 ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้
ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันเกิดจากการพัฒนา การปรับตัว ปรับวิถีชีวิตของคนในภาคใต้ที่ประกอบด้วยคนไทยและอีกหลายชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันในคาบสมุทรมีคนมาเลย์ คนจีน และคนที่มาจากอินเดียฝ่ายใต้ แต่กลุ่มชนที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ไทยสยาม โดยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นแหลมทอง มีทะเลกว้างใหญ่ขนาบอยู่ทั้งสองข้าง มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งในทะเล และบนแผ่นดิน อันล้วนเป็นเขตมรสุมใกล้เส้นศูนย์สูตร มีผู้คนหลายชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรมเดินทางมาทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อมาตั้งหลักแหล่ง แสวงหาโภคทรัพย์และทำมาค้าขายเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานกว่าพันปี มีการตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกันหลายลักษณะ ทั้งบริเวณชายทะเล ที่ราบระหว่างชายทะเลกับเทือกเขา หลังเขา และตามสายน้ำน้อยใหญ่จำนวนมากที่ไหลจากเทือกเขาลงสู่ทะเลทั้งสองด้าน ภูมิปัญญาของภาคใต้จึงมีความหลากหลาย ทั้งที่ได้พัฒนาการจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ หรือคนต่างถิ่นที่พกพามาจากแหล่งอารยธรรมต่างๆ จนหลอมรวมกัน เกิดเป็นภูมิปัญญาประจำถิ่น ซึ่งมีอยู่ในหลายลักษณะ คือ
ภูมิปัญญาในด้านการดำรงชีพ
ภูมิปัญญาในด้านความสัมพันธ์และการพึ่งพา
ภูมิปัญญาในด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน
ภูมิปัญญาในด้านสมุนไพร
ภูมิปัญญาในด้านทัศนะคติ
ภูมิปัญญาในด้านการปลูกฝังคุณธรรม
ภูมิปัญญาในด้านการดำรงชีพ
การแสวงหาปัจจัยพื้นฐานของการยังชีพถือเป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นของชนทุกชาติทุกภาษา ซึ่งวิธีการจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม สำหรับชนชาวใต้ที่มีทำเลตั้งถิ่นฐานค่อนข้างหลากหลายคือ มีทั้งที่ราบตามแนวชายฝั่ง ปากอ่าว ท่าเรือ ที่ราบเชิงเขา หลังเขา ตามแนวสายน้ำน้อยใหญ่ บนเกาะ ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน ทำให้ชาวใต้ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ ความสามารถ อย่างมากมายในการจัดการและปรับตัวให้สามารถดำรงอยู่อย่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ซึ่งมีอยู่หลายประการ คือ
1. การขุดสระน้ำ เพื่อให้ได้น้ำจืดใสสะอาดไว้กินไว้ใช้ตลอดทั้งปี เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล ยามที่น้ำขึ้น น้ำเค็มจะไหลเอ่อเข้ามาในแผ่นดิน จะอาศัยอาบกินก็ไม่สะดวก ดังนั้นจึงเกิดภูมิปัญญาในการหาทำเลขุดบ่อน้ำ ซึ่งบริเวณที่เหมาะสมควรจะเป็นพื้นที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้
-บริเวณที่มีหญ้าขึ้นในฤดูแล้ง
-บริเวณที่มีต้นกะพ้อ มะเดื่อ หรือมีจอมปลวก เป็นบริเวณที่มีความชื้นอยู่มาก น้ำใต้ดินอยู่ในระดับตื้น
-ทดสอบโดยใช้กะลามะพร้าวผาซีก ไปคว่ำไว้ตามจุดที่สงสัยว่าจะมีตาน้ำ เมื่อหงายดู ถ้าพบว่ามีหยดน้ำจับอยู่มากก็เชื่อได้เลยว่าตาน้ำอยู่ไม่ลึก
2. การปลูกต้นไม้บริเวณบ้าน ชาวใต้มีความเชื่อทำนองเดียวกันกับภาคอื่นว่าการปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านต้องเลือกปลูกเฉพาะไม้ที่เป็นมงคลและปลูกให้ถูกทิศทาง โดยมีประโยชน์แฝงไว้เพื่อให้เกิดความร่มเย็นทั้งกายใจ ส่วนที่ห้ามปลูกในบริเวณบ้าน เป็นพวกไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขามาก หรือชื่อไม่เป็นมงคล เช่น เต่าร้าง ลั่นทม ความเชื่อนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการโคจรของดวงอาทิตย์ ทิศทางของลมมรสุม ความหนักเบาของฝน ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน รวมถึงความเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้ในแต่ละพันธุ์ด้วย
3. การปลูกสร้างบ้านเรือน จะมีลักษณะแตกต่างจากภาคอื่นๆ คือ
-ชาวใต้นิยมแผ้วถางพื้นที่บริเวณบ้านให้เตียนเรียบจนเห็นเป็นพื้นทรายขาวสะอาด มีเหตุผลด้านสภาพแวดล้อมคือ การเดินเข้าออกสะดวก ปลอดภัยจากสัตว์ร้าย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่มีอยู่อย่างชุกชุม
-บ้านเรือนมีหลังคาเตี้ยลาดชัน ยกพื้นสูง และไม่ฝังเสาลงดิน แต่จะวางอยู่บนตีนเสาที่เป็นก้อนหิน ไม้เนื้อแข็ง หรือ แท่งซีเมนต์หล่อ เนื่องจากฝนตกชุก ทำให้ดินอ่อนตัว โอกาสที่เสาจะทรุดตัวมีได้มาก นอกจากนี้แล้วยังเป็นการป้องกันปลวกและเชื้อรากัดกิน
-ไม่ปลูกบ้านขวางตะวัน นิยมปลูกหันหน้าไปในแนวเหนือใต้ เพื่อหลบแสงแดดที่จะส่องเข้าบ้าน
4. อุบายในการครองชีพ สังคมของชาวใต้มีเคล็ดหรืออุบายในการดำรงชีพและการทำมาหากินตามสภาพแวดล้อมหลายประการคือ
-เครื่องหมายแสดงเจตจำนง แต่เดิมชาวใต้ไม่รู้หนังสือหรือแม้จะรู้บ้าง แต่การสื่อความหมายโดยใช้เครื่องหมายบอกเจตจำนงก็ยังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ยอมรับเป็นกติกาแห่งสังคมที่อยู่กินกันแบบพึ่งพาอาศัย ที่นิยมใช้กัน คือ เครื่องหมาย “ห้าม” “ขอ” “ขัดใจ”
ห้าม หรือภาษาถิ่นที่เรียกว่า ปักกำ กาหยัง หรือ กาแย เป็นเครื่องหมายที่จะนำไปปักไว้ในที่หวงห้าม เช่น ห้ามจับปลาในหนองน้ำ ห้ามนำวัวควายเข้ามากินหญ้า
ขอ เป็นเครื่องหมายที่จะนำไปปักไว้ในที่ที่ต้องการจะขอจากเจ้าของ แต่ไม่มีโอกาสร้องขอด้วยวาจา เช่น ขอเข้าไปแผ้วถางป่าเพื่อปลูกพืชผล
ขัดใจ เป็นเครื่องหมายที่ใช้คู่กับเครื่องหมาย ห้าม เพื่อเพิ่มน้ำหนัก ถ้ามีการละเมิดก็จะต้องมีการขัดใจกัน
-ชาวไทยพุทธในภาคใต้ไม่นิยมกินเนื้อกระบือ เนื่องจากเป็นสัตว์มีคุณที่ได้อาศัยทำมาหากิน จึงไม่ควรฆ่ากิน
-ชาวใต้จะเกี่ยวข้าวโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า แกะ เพื่อเก็บเอาเฉพาะรวงเท่านั้น เพราะข้าวที่เก็บเกี่ยวเป็นพันธุ์ต้นสูง สำหรับหนีน้ำ บางครั้งต้องพายเรือเกี่ยวข้าว
-ชาวใต้นิยมกินผักสด หรือที่เรียกว่า ผักเหนาะ เนื่องจากภาคใต้อุดมไปด้วยพืชผักพื้นบ้านนานาชนิด ที่สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษ มีคุณค่าทางด้านโภชนาการสูง อีกทั้งยังเป็นสมุนไพร ช่วยบำรุงร่างกาย รวมทั้งช่วยตัดทอนความเผ็ดร้อนของอาหาร เมื่อประกอบกับอาหารประเภทอื่นที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ทั้งหอย ปู กุ้ง ปลา ทำให้คนใต้มีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
ภูมิปัญญาในด้านความสัมพันธ์และการพึ่งพา
จากสภาพภูมิศาสตร์ของภาคใต้ที่มีอยู่อย่างหลากหลายเป็นตัวกำหนดสำคัญที่ทำให้ชุมชนแตกต่างไปจากภาคอื่นๆ ทั้งลักษณะการตั้งถิ่นฐาน และการทำมาหากิน อย่างสำคัญประการหนึ่งคือชุมชนต่างๆ ของชาวใต้ ไม่อาจอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเองโดยลำพัง ชาวสวนผลไม้ สวนยาง และเหมืองแร่ในป่า ต้องการข้าว กะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง จากหมู่บ้านพื้นราบหรือชายฝั่ง ขณะเดียวกันหมู่บ้านเหล่านี้ก็ต้องการของป่า เครื่องเทศ สมุนไพร ฟืนจากป่าเขา การไปมาหาสู่กันเพื่อแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหารของกินของใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็นและได้ทำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน ก่อให้เกิดกลไกความสัมพันธ์และการพึ่งพาระหว่างคนต่างชุมชน ซึ่งเป็นแบบฉบับของชนชาวใต้ดังเช่นปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้
1. ธรรมเนียมการเป็นเกลอกัน มักจะทำกันตั้งแต่ยังเล็กๆ โดยพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายจัดการให้ เพราะต้องการสานมิตรไมตรีที่ผูกพันกันอยู่ก่อนแล้วให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แต่ก็มีไม่น้อยคู่ที่ยินดีเป็นเกลอกันเองเพราะได้รู้จักมักคุ้นกันเป็นพิเศษ เมื่อเป็นเกลอกันแล้วญาติของทั้งสองฝ่ายต่างให้ความรักใคร่ผูกพันคู่เกลอเสมือนญาติคนหนึ่ง
2. วันนัด เป็นวันที่จัดให้มีตลาดนัดขึ้นเพื่อชุมชนจะได้ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้ในท้องถิ่นนั้นๆ โดยกำหนดสถานที่หมุนเวียนกันไป นอกจากนี้แล้วยังใช้เป็นวันนัดหมายพบปะกันแทนการใช้ปฏิทิน สำหรับชี้แจงข้อราชการ หรือกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่นต่างๆ
3. วันว่าง จะตรงกับวันสงกรานต์ของภาคอื่นๆ แต่ธรรมเนียมปฏิบัติจะแตกต่างกัน โดยตลอดระยะเวลาวันว่าง ทุกครัวเรือนจะหยุดทำมาหากิน ไม่ด่าว่าร้ายใคร ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดูแลบ้านเรือนของตนให้สะอาด รักษาอารมณ์ให้แจ่มใส แสดงกตเวทีต่อผู้ใหญ่ด้วยการรดน้ำดำหัว และตักบาตรฟังธรรม
4. กินงาน กินวาน ข้าวหม้อแกงหม้อ เป็นวัฒนธรรมการพึ่งพาของชาวใต้โดยใช้ธรรมเนียมการกินเป็นตัวชักนำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันในงานที่แต่ละครอบครัวไม่สามารถทำเองได้ เช่น งานศพ งานบวช เกี่ยวข้าว ทอดกฐิน และทอดผ้าป่า
ภูมิปัญญาในด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน
หัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้เป็นภูมิปัญญาและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคมเกษตรกรรมที่ได้มีการสืบสานความรู้ ความสามารถและความชำนาญต่างๆ มายังคนรุ่นปัจจุบัน สิ่งใดประดิษฐ์ขึ้นใช้แล้วไม่ได้ผลหรือมีสิ่งอื่นที่ดีกว่าก็จะเสื่อมสลายไป สิ่งใดใช้ได้ดีและสะดวกต่อการผลิตสิ่งนั้นก็ยังคงอยู่ อีกทั้งยังมีการสอดแทรกคุณค่าทางด้านศิลปะลงในงานด้วย หัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้เป็นการนำเอาวัตถุดิบในธรรมชาติ โดยเฉพาะพืชพรรณที่มีอยู่อย่างมากมาย ทั้งบนบกและในน้ำ เช่น ไม้ไผ่ หวาย กระจูด กก มะพร้าว ลิเพา รวมถึงปาล์ม นำมาดัดแปลงเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น
-ไม้ไผ่ ลำต้นสามารถใช้เป็นส่วนผสมของยาหลายขนาน เป็นแร้วดักสัตว์ ทำตะกร้า กระบุง เข่ง ชลอม และทำแพ ส่วนหน่อใช้ปรุงเป็นอาหาร
-มะพร้าว รากสามารถใช้ทำยา ลำต้นใช้ทำเสาและเครื่องเรือน ผลนำมารับประทานหรือปรุงอาหาร ใบใช้ห่อของหรือทำไม้กวาด
-ย่านลิเพา นำมาทำของใช้ ที่นิยมกันได้แก่ นหมาก กล่องยาเส้น พาน และหมวก มีราคาค่อนข้างสูง เพราะเป็นงานจักสานที่ต้องใช้ความประณีตบรรจง
-ปาล์ม หรือ หมาก ใช้ทำภาชนะตักน้ำที่เรียกว่า “หมา” โดยทำมาจากส่วนที่เป็นกาบหรือใบ สามารถใช้ตักหรือวิดน้ำได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้แล้วยังมีงานหัตถกรรมที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ เหล็กขูด หรือ กระต่ายขูดมะพร้าว สำหรับนำเนื้อมะพร้าวมาทำอาหารทั้งคาว-หวาน โดยจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามจินตนาการของผู้ประดิษฐ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเป็นรูปสัตว์ แสดงให้เห็นถึงความมีอารมณ์ขันและมีวัฒนธรรมการรับประทานที่ผูกพันอยู่กับมะพร้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในดินแดนแถบนี้
ภูมิปัญญาในด้านสมุนไพร
ตั้งแต่อดีตกาลภาคใต้เป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แม้ในปัจจุบันจะได้นำไปใช้บ้าง แต่ก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ความรู้และประสบการณ์ของบรรพบุรุษในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรได้ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง สมุนไพรถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาวใต้ได้รับการถ่ายทอดมาจนปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ชาวใต้ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับป่าดงพงไพร ความจำเป็นเมื่อเจ็บป่วยบังคับให้คนเหล่านี้ต้องเสี่ยงชีวิตเก็บเอาสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็น พืช สัตว์ หรือสินแร่ มาทดลองใช้ในลักษณะลองผิดลองถูก จนประจักษ์แจ้งในสรรพคุณของสิ่งที่ใช้บำบัดรักษา ดังเช่น พวกเงาะป่า ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งขุนเขาและมีความชำนาญในเรื่องสมุนไพร สิ่งที่พวกเขานำมาใช้เป็นสมุนไพรทั้งที่เป็นยาบำบัดและยาบำรุง อันมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของคนกลุ่มอื่น ได้แก่ ยาแก้ปวดเมื่อย พวกเงาะจะเรียกว่า “เลาะเคาะ” เป็นพืชคล้ายต้นฝรั่ง ใช้ต้มเอาน้ำมานวดบริเวณที่ปวดเมื่อย ยาคุมกำเนิด เป็นรากไม้ให้ผู้หญิงแทะกินหรือกินกับหมาก ยาเสริมกำลังทางเพศ หรือ “ตาง๊อต” มีลักษณะคล้ายหัวเผือก เปลือกสีขาว ใช้กินสดหรือแห้งก็ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วยาขนานต่างๆ เหล่านี้เป็นการใช้สมุนไพรเพียงชนิดเดียวในทำนองเดียวกันคนไทยพุทธ ไทยมุสลิม คนไทยเชื้อสายจีน ก็ย่อมเก็บสะสมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารและยาที่มีคุณค่าต่อร่างกาย โดยการบอกกล่าวกันต่อๆ มา หรือได้ทดลองด้วยตัวเอง เริ่มจากของใกล้ตัว เช่น หอม กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้ จนขยายขอบเขตกว้างขวางออกไปเป็นการใช้พืชพรรณในป่า นอกจากนั้นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับคนต่างชาติพันธุ์ ล้วนเป็นการขยายฐานความรู้และเกิดการพัฒนาปรับปรุงเป็นยาขนานต่างๆ มากขึ้น เช่น ยากระชับลำไส้ ซึ่งเป็นส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด ใช้ขับลมในกระเพาะอาหาร ยากำลังราชสีห์ เป็นส่วนผสมของดอกไม้หลายชนิด ใช้สำหรับหญิงที่แต่งงานแล้วมีบุตรยากช่วยให้มีบุตรได้ ยาแก้โรคไต เป็นส่วนผสมของรากไม้หลายชนิดดองกับเหล้าขาว ใช้บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเอว นอกจากนี้แล้วเพื่อให้เกิดผลในทางจิตวิทยา หรือเป็นกำลังใจให้กับคนป่วย อาจจะมีการร่ายเวทมนต์คาถาประกอบ
ภูมิปัญญาในด้านทัศนคติ
โดยภาพรวมแล้วทัศนคติต่อสิ่งแวดล้อมของชาวใต้มิได้แตกต่างไปจากภูมิภาคอื่นเท่าใดนัก เว้นแต่จะผูกพันแนบแน่นอยู่กับธรรมชาติที่เป็นคาบสมุทร รวมทั้งการได้แลกเปลี่ยนสังสรรค์กับคนจากวัฒนธรรมอื่นอย่างต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานับพันปี ทำให้เกิดการผสมผสานของวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสภาพดังกล่าวนี้เป็นลักษณะเด่นที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติที่เป็นภูมิปัญญาเฉพาะถิ่น และถือปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานของชาวใต้ ดังเช่นต่อไปนี้
1. ด้านสิ่งแวดล้อม คนในภาคใต้มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับธรรมชาติในลักษณะที่ได้รับการเกื้อกูลจากธรรมชาติอย่างล้นเหลือมาแต่อดีต เพียงแค่เก็บเกี่ยวเอาทรัพยากรที่มีอยู่มากินใช้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองก็อยู่ได้อย่างสบายโดยไม่ต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษเหมือนกับภูมิภาคอื่น ในทัศนะของชาวใต้ คนจึงมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติที่ยอมรับอิทธิพลของธรรมชาติ จะเห็นได้จากการปลูกสร้างบ้านเรือน การทำมาหากิน ดังนั้นคนที่นี่จึงเคารพธรรมชาติ จะทำการสิ่งใดเพื่อการครองชีพก็จะบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองอยู่ ดังจะเห็นได้จากพิธีกรรมต่างๆ เช่น
-พิธีขอป่า เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านภาคใต้ทำขึ้นเพื่อขอตัดไม้ในป่า สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนหรือที่ทำกิน โดยการนำอาหารคาวหวานพร้อมกับตัดกิ่งไม้เป็นรูปตะขอมาเซ่นไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา แล้วอธิษฐานขออนุญาตเข้าถางป่า
นอกจากนี้แล้วการแสดงออกถึงการยอมรับนับถือความสำคัญของธรรมชาติและปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติยังเห็นได้ในพิธีกรรมการเคารพแม่โพสพ เคารพขุนเขา และเคารพแผ่นดินเกิดด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ พืชพรรณธัญญาหารที่มีอยู่ทั่วไปไม่ขาดแคลน ประกอบกับความศรัทธาในศาสนาที่สอนให้ไม่โลภ ไม่สะสม หมั่นทำบุญทำทาน เมื่อเปรียบเทียบกับคนในภูมิภาคอื่น คนใต้จึงดูสมถะ เรียบง่าย เพียงพอแล้วในปัจจัยสี่ จุดมุ่งหมายของชีวิตไม่ได้หยุดอยู่ที่การกินอยู่อย่างมั่งคั่ง หากแต่จะอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติให้มากที่สุด
2. การปกครอง ตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมาหัวเมืองปักษ์ใต้มิได้ถูกปกครองอย่างใกล้ชิดจากเมืองราชธานี แต่จะอาศัยเมืองหลักอย่างนครศรีธรรมราชและสงขลาเป็นศูนย์กลางปกครองดูแลอีกต่อหนึ่ง ฉะนั้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมืองปักษ์ใต้จึงไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น หัวเมืองต่างๆ มีอิสระในการปกครองและดูแลกันเอง ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นแบบนี้ทั้งหมด แต่หลายๆ หมู่บ้านก็เกิดจากการสร้างตัวด้วยลำแข้งของตนเองท่ามกลางสภาพธรรมชาติที่เกื้อกูลเป็นอันดี ชาวใต้จึงมีทัศนะในการปกครองแบบพึ่งพาตนเอง รักอิสระ รักความเป็นธรรม

3. สถานภาพ สังคมของคนชาวใต้ให้ความสำคัญกับเพศชายสูงกว่าเพศหญิง ขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังให้ผู้หญิงเป็นผู้มีคุณค่าสมเป็นกุลสตรีไทย ซึ่งมีทัศนะต่างๆ ดังต่อไปนี้
-การยกย่องบุรุษเพศในการเป็นหัวหน้าครอบครัว พร้อมกันนั้นก็คาดหวังว่าบุรุษต้องเป็นผู้มีความรู้ มีคุณธรรม และต้องเป็นคนจริง คือ เชื่อถือได้ไม่เหลวไหล
-ในการยกย่องบุรุษเพศ ชาวใต้นิยมนับถือ นักเลง ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีบุคลิคพิเศษ มีน้ำใจ เป็นคนใจกว้าง กล้าได้กล้าเสีย รักษาคำพูด รักพวกพ้อง ซึ่งในท้องถิ่นที่ฝ่ายปกครองดูแลไม่ทั่วถึง นักเลงจะทำหน้าที่ดูแลจัดการให้ท้องถิ่นมีความสงบเรียบร้อย พร้อมๆ กับคอยปกปักรักษาผลประโยชน์ของตนเองและบริวาร ไม่ให้นักเลงถิ่นอื่นเข้ามารังแก
-ชาวใต้ให้คุณค่าต่อพรหมจารีของผู้หญิงสูงมาก โดยยึดถือกันทั่วไปว่า สตรีต้องรักนวลสงวนตัว ประพฤติตนเรียบร้อย สำรวมกริยามารยาท มีความเป็นแม่ศรีเรือน ข้อยึดถือเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงภาคใต้จะไม่สนทนาปราศรัยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่น่าไว้วางใจ ฝ่ายผู้ชายก็จะไม่มีนิสัยพูดจาแทะโลมผู้หญิง
การปลูกฝังคุณธรรม
ในความเป็นสังคมเปิดที่มีเครือข่ายระบบความสัมพันธ์กว้างขวางและต้องปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลง พร้อมๆ กับการที่ต้องรักษาความเชื่อแบบธรรมเนียมที่เป็นบรรทัดฐานของสังคมไว้เพื่อให้การดำเนินชีวิตราบรื่นผาสุขตามครรลองที่สืบทอดกันมา สังคมชาวใต้จึงมีกรรมวิธีปลูกฝังรักษาความเชื่อและบรรทัดฐานของสังคมไว้ในหลายๆ วิธี ด้วยการอาศัย บ้าน ชุมชน วัด พิธีกรรม วรรณกรรมท้องถิ่น เป็นตัวถ่ายทอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมคำสอน สุภาษิต ตลอดจนการละเล่นต่างๆ เมื่อคนเติบโตขึ้นท่ามกลางค่านิยมและแบบอย่างความประพฤติ ในสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและกิจกรรมตามขนบประเพณีที่ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดหรือตอกย้ำ ก็จะเกิดการซึมซับรับเอาโดยอัตโนมัติ ซึ่งชาวใต้มีวิธีการปลูกฝังและรักษาบรรทัดฐานของสังคมดังนี้
1. เพลงกล่อมเด็ก สังคมภาคใต้เป็นสังคมเกษตรกรรมเน้นการบอกเล่ามากกว่าการอ่าน การปลูกฝังจึงเริ่มตั้งแต่เยาว์วัยด้วยการอบรมเลี้ยงดูในบ้านอันประกอบด้วย พ่อแม่ และเครือญาติ ด้วยน้ำเสียงที่เห่กล่อมก่อให้เกิดความอบอุ่นและสุขกายสบายใจแก่เด็กอ่อน ส่วนเนื้อหาที่แฝงอยู่ด้วยเรื่องคุณธรรมเป็นสิ่งที่ต้องการจะสื่อให้กับเด็กโตที่พอจะเข้าใจ รวมทั้งวงศาคณาญาติที่ได้ยินได้ฟัง
2. วรรณกรรมคำสอนและสุภาษิต สังคมภาคใต้มีวรรณกรรมที่ยึดหลักคำสอนของพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีการสอดแทรกคตินิยมพื้นบ้านไว้ด้วยโดยประสมประสานกันไป ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือแนะนำสั่งสอนจริยธรรม ค่านิยม ให้คนในสังคมทุกลำดับชั้น ดังเช่น
-สุภาษิตร้อยแปด พุทธภาษิต ต้นสมุดสุภาษิต เป็นวรรณกรรมที่ใช้สำหรับสอนบุคคลทั่วไป ให้รู้จักประมาณตน เว้นจากอบายมุข มีคุณธรรม
-ปริศนาสอนน้อง สุภาษิตสอนหญิงคำกาพย์ เป็นวรรณกรรมที่ใช้สำหรับสอนสตรี ให้มีมารยาทดีงาม
-พาลีสอนน้อง เป็นวรรณกรรมที่ใช้สำหรับสอนขุนนางข้าราชการ ให้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ รักเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นที่พึ่งของประชาชน
-พระอนิจจลักขณุกถา เป็นวรรณกรรมที่ใช้สำหรับสอนพระสงฆ์ ให้เคร่งในศีลในธรรม
3. ไหว้ดี เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ได้กลายเป็นกิจวัตรส่วนหนึ่งของชาวภาคใต้เพราะเชื่อว่าเมื่อไหว้แล้วจะเป็นมงคลแก่ตัวเองและนำความสวัสดีมีชัยมาให้ โดยเป็นการสวดเพื่อระลึกถึงคุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ให้ช่วยคุ้มครองและบันดาลให้สัมฤทธิ์ผลในกิจที่ปรารถนา
4. พิธีลอยเคราะห์ คนไทยภาคใต้มีความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ว่า คนเราทุกคนมีช่วงเวลาที่ดาวพระเคราะห์มาเสวยอายุ ยามใดที่ดาวพระเคราะห์มาเสวยอายุก็จะเกิดโทษกับผู้นั้น อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีเหตุการณ์ร้ายๆ มากระทบต่อการดำเนินชีวิตของตัวเองและญาติมิตร ดังนั้นจึงนิยมลอยเคราะห์เพื่อให้ตนพ้นจากเคราะห์กรรมนั้น ด้วยการนำต้นกล้วยมาทำเป็นแพ แล้วเอาผม เล็บ ขี้ไคล รวมทั้งดอกไม้ ธูปเทียน ใส่ในแพลอยน้ำไป
5. การสื่อข่าวสาร การละเล่นของชาวบ้านภาคใต้ที่สืบทอดกันมา ทั้งหนังตะลุง โนรา เพลงบอก คำตัก ตลอดจนลิเกป่า ล้วนแต่มีบทบาทต่อสังคม ซึ่งนอกเหนือจากความบันเทิงแล้วยังทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้ท่วงทันต่อสถานการณ์บ้านเมืองและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ศิลปะการแสดงเหล่านี้มีจุดเด่นอยู่ที่ท่วงทำนอง จังหวะ ถ้อยคำสำนวนที่เต็มไปด้วยปฏิภาณไหวพริบ และน้ำเสียงอันก่อให้เกิดความหรรษา ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของชาวบ้านมากกว่าสื่อธรรมดา


โจ/กะโจ/กาโจ

ลักษณะความเชื่อ
โจเป็นตัวอย่างของความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ป้องกันปัญหาการ ลักขโมยผลไม้ในสวนเนื่องจากการแขวนโจที่ต้นไม้จะเป็นการบอกให้รู้ว่าได้มีการกำกับคาถาอาคมไว้ หากผู้ใดเก็บผลไม้จาก
ต้นที่มีการแขวนโจไปรับประทาน จะทำให้เจ็บป่วย เกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารในลักษณะต่าง ๆ เช่น ปวดท้อง ท้องบวม ท้องป่อง โดยไม่รู้สาเหตุ และตายในที่สุดจากอิทธิฤทธิ์ของคาถาอาคมที่ลงกำกับไว้ซึ่งมัก
เป็นภาษาขอมโบราณ ในการทำพิธีกรรมใช้ผ้าขาว ดอกไม้และธูปเทียน ตั้งพิธี บริกรรมคาถาลงอักขระกำกับในของที่ใส่ หลังจากนั้นห้ามเข้าในสวนที่มีโจอยู่ มีกำหนด ๓-๗ วัน
ความสำคัญ
ในอดีตการนำโจไปแขวนตามต้นไม้ที่มีผลไม้รอการเก็บสามารถลดปัญหาการถูกลอบเก็บผลไม้เป็นอย่างดีแต่ปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวลดลง เนื่องจากกระแสสังคมสมัยใหม่การใช้โจแขวนตามต้นไม้จึงสามารถพบเห็นได้เฉพาะในท้องถิ่นห่างไกลบ้างประปราย
พิธีกรรม
โจเป็นวัตถุทางไสยศาสตร์ที่ทำจากวัสดุทรงกระบอก หรือทรงกลมภายในบรรจุด้วยหมากพลู ๓ คำ ห่อด้วยผ้าขาวผูกด้วยผ้าแดง กากบาทด้วยปูนแดงที่ใช้กินหมาก และมีการว่าคาถาอาคมกำกับ นำไปแขวนไว้ตามกิ่งไม้ ของต้นไม้ที่ต้องการ ซึ่งมักมีผลไม้รอการเก็บ เกี่ยวผล เช่น เงาะ มังคุด ส้มโอ ละมุด เป็นต้น หรืออาจนำโจฝังดิน โดยใช้ไม้ปักบนต้น ๓ อัน ใกล้กับพื้นที่หวงห้าม เอาด้ายสีแดงและสีขาวผูกกับต้นไม้แล้วเอาส่วนที่เหลือมาผูกกับ ไม้หลัก ๓ อัน โดยเอาปลายเส้นด้ายทั้งสีแดงและสีขาวฝังดิน
สาระ
การนำโจมาใช้กับสังคมเกษตรกรรม เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ และนำจิตวิทยามาช่วยดูแลรักษาผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในบางพื้นที่ที่สังคมยังไม่รับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากเหมือนสังคมเมือง

เครื่องตักน้ำ (ก้าน้ำ)


องค์ความรู้
ทำด้วยไม้หรือเหล็กวางไว้บนฐาน ๒ ข้างบริเวณปากบ่อน้ำ ใช้เหล็กเป็นแกนกลางและอีกด้านหนึ่งจะมีเหล็กไว้สำหรับหมุน ใช้เชือกพันรอบไม้หรือเหล็กตามความลึกของบ่อ ปลายเชือกผูกถังสำหรับตักน้ำ เมื่อต้องการตักน้ำ จะปล่อยถังลงไปในบ่อ โดยหมุนหย่อนลงไปจนถึงน้ำในบ่อ แล้วหมุนขึ้นมา สามารถช่วยทุ่นแรงได้เป็นอย่างดี
ประโยชน์
ใช้ตักน้ำ จากบ่อน้ำลึก ๆ ได้ สะดวกและทุ่นแรง นิยมใช้กันมากในชนบทในอดีตที่ยังไม่มีไฟฟ้าหรือเครื่องสูบน้ำแม้ในปัจจุบันก็ยังคงใช้ในพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึง

 ยาสมุนไพรซาไก


ซาไก

เป็นชนชาวป่าเผ่าหนึ่ง อาศัยอยู่ถิ่นทางภาคใต้ของประเทศไทยแถบจังหวัดพัทลุง สตูล ยะลา นราธิวาส และในเกาะสุมาตรา มาเลเซียแถบรัฐปาหังและเคดาห์บางถิ่นก็เรียกว่าพวก"เงาะ"มีชีวิตความเป็นอยู่ง่ายๆแบบชนดั้งเดิมเมื่อเจ็บป่วยก็ไม่นิยมรักษาในโรงพยาบาล ถึงแม้จะมีคนพาเข้ารักษาก็ตามเขาจะรักษากับหมอประจำเผ่าของเขา ซึ่งมี๒คน พวกเขาให้ความนับถือ คือ หัวหน้าเผ่า รองลงมาก็คือหมอ
วิธีการ
ชาวซาไกมีความรู้ความชำนาญในการใช้ยาสมุนไพรมาก อาทิเช่น ยาสมุนไพรของชาวซาไกนั้น นับได้ว่าเขาเป็นเจ้าแห่งสมุนไพรนานาชนิดทีเดียว พวกเขามีความรู้ความชำนาญในเรื่องยาสมุนไพร อาทิ เช่นยาคุมกำเนิด ภาษาซาไกเรียกว่า "อัมม์"เป็นรากไม้แข็งๆให้ผู้หญิงรับประทานกับหมากหรือแทะรับประทานเฉยๆก็ได้มีสรรพคุณในทางคุมกำเนิดถ้าต้องการมีลูกเมื่อใดก็หยุดรับประทานยาให้มีลูก เป็นรากไม้แข็ง ๆ ให้ผู้หญิงกินกับหมากหรือแทะรับประทานก็ได้ มี ๒ ขนาน คือ ขนานที่หนึ่งเรียกยา "มักม็อก" ขนานที่สองเรียก "ยังอ็อน"ยาเสริมพลังเพศ เรียกชื่อว่า "ตาง็อต" มีลักษณะเป็นหัวคล้ายหัวเผือก เปลือกสีขาว เนื้อสีขาว มีรสมันใช้แทะรับประทานหรือดองสุรา จะทำให้พลังเพศแข็งแกร่งกระชุ่มกระชวยดีนักยาเสน่ห์ เป็นน้ำมันเสน่ห์ของซาไก เป็นที่เลื่องลือกันว่ามีคุณภาพดีทำจากน้ำมันมะพร้าวเสกคาถาวิธีใช้ให้เอานิ้วแตะน้ำมันแล้วเอาไปแตะข้างหลังของคนที่เรารักให้ตรงหัวใจภายใน๓วัน๗วันคนที่ถูกแตะจะต้องคลุ้มคลั่งวิ่งมาหานอกจากนี้ยังมียาสมุนไพรของชาวซาไกมีอีกมากมายหลายขนาน เช่น ยาแก้เมื่อย ยาแก้เจ็บเส้น เป็นต้น
ประโยชน์
ซาไกเป็นชาวป่าที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งสมุนไพร เนื่องจากมีความชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องเครื่องยาสมุนไพร ซาไกจะใช้สมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และยังแพร่หลายไปยังชุมชนละแวกนั้น ๆ ด้วย ชาวซาไกจะเรียกชื่อสมุนไพรตามคุณภาพที่รักษา เช่น ยาไข่เหล็ก ผู้ชายแทะกินจะทำให้กระชุ่มกระชวยมีสมรรถภาพทางเพศได้ ยาคุมกำเนิด (ยาไม่ให้มีลูก) เป็นต้น

การรักษากระดูกของพ่อท่านสุข สุธรรมโม

พ่อท่านสุข สุธรรมโม หรือพระครูสุธรรมาภิราม มีชื่อเดิมว่า นายสุข ขาวระนอง เริ่มบวชเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ ๓๑ ปี จำพรรษาที่วัดปากภู่ ๑พรรษาย้ายมาอยู่ที่วัดรมณีย์อำเภอกะปงจังหวัดพังงาเมื่อพ.ศ.๒๕๒๑และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดรมณีย์เมื่อพ.ศ.๒๕๒๒จนถึงปัจจุบัน(๒๕๔๑)
องค์ความรู้
ท่านได้ศึกษาความรู้ทางด้านการรักษากระดูกมาก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุคือเริ่มเรียนตั้งแต่ประมาณอายุ๒๐ปีโดยศึกษาจากอาจารย์ที่คนทั่วไปเรียกว่า "ตาเจ้าดำบอด" ทว่ายังไม่รักษาผู้ป่วยแต่อย่างใด เมื่อบวชเป็นพระภิกษุและได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดรมณีย์แห่งนี้ เนื่องจากเป็นชนบททำให้มีโอกาสใกล้ชิดชาวบ้านเป็นที่นับถือของคนทั่วไปครั้งหนึ่ง มีเด็กตกต้นไม้ขาหัก ได้มาหาท่านในวัดเพื่อช่วยดูอาการ เนื่องจากพ่อแม่ของเด็กเป็นคนยากจน ประกอบกับท่านมีความรู้ในการรักษากระดูกอยู่ก่อนแล้วจึงได้ทดลองรักษา ปรากฏว่าหาย จึงเริ่มมีชื่อ
เสียงตั้งแต่นั้นมา ทำให้ชาวบ้านในจังหวัดพังงาและจังหวัดสุราษฎร์ธานีนิยมนับถือท่านมากจนถึงทุกวันนี้
ขั้นตอนในการรักษากระดูก
๑. ขั้นตอนการเตรียมการ
๑.๑ มนต์น้ำมัน จะเคี่ยวและปลุกเสกน้ำมันใส่ขวดไว้ ส่วนผสมของน้ำมันได้แก่ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา น้ำมันงูเหลือม น้ำมันคูรำ
๑.๒ ทำเฝือก เหลาไม้ไผ่ทำเฝือก เสร็จแล้วเสกด้วยพระคาถาบท ประสานบาตร

๒. ขั้นการรักษา
เมื่อผู้ป่วยมาหาจะปฏิบัติดังนี้
๒.๑ ผู้ป่วยต้องจัดหมาก๓คำพร้อมเงิน๓บาทถวายให้พ่อท่านสุขเป็นค่ายกครูโดยปกติผู้ป่วยไม่ได้เตรียมมาล่วงหน้าแต่จะจัดเตรียมในวัดขณะมาหาพ่อท่านสุขนั้นเอง
๒.๒ ประพรมน้ำมนต์ โดยพ่อท่านสุขจะประพรมน้ำมนต์ให้กับผู้ป่วย เพื่อขับไล่เสนียดต่างๆที่จะติดมากับตัวผู้ป่วย เพราะคนป่วย ถือว่า"ปรอง"(คือไม่มีเทวดาคอยคุ้มครองรักษาในขณะนั้น) สิ่งไม่ดีอื่นๆจึงอาจแทรกเข้ามาในตัวได้ง่ายจึงต้องประพรมน้ำมนต์เป็นการขับไล่
๒.๓ตรวจอาการโดยคลำดูเพื่อจะได้ทราบว่ากระดูกส่วนนั้นแตกร้าวหลุดหรือหักเมื่อทราบแล้วจึงจัดกระดูกให้เข้าที่โดยการคลึงและดึงกระดูกเพื่อให้เข้ารูปตามสภาพปกติ
๒.๔ ถ้าผู้ป่วยรายใดมีแผลจะรักษาแผลก่อนเมื่อแผลหายแล้วจึงเข้าเฝือก
๒.๕ ใช้ผ้าก๊อซพันที่บริเวณที่บาดเจ็บให้หนาพอประมาณแล้วจึงห่อด้วยเฝือกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้
๒.๖ การราดน้ำมัน เมื่อห่อเฝือกเรียบร้อยแล้วจะราดน้ำมันให้พร้อมกับเสกคาถากำกับเป็นอันเสร็จพิธีและให้ไปพักผ่อนในเรือนคนไข้ต่อไป สำหรับคนที่มีอาการไม่หนักมากจะกลับบ้านแล้วค่อยมาให้ท่านรักษาตรวจอาการในตอนเช้าของทุกวันจนกว่าจะหาย
๓. ข้อห้ามและความเชื่อเกี่ยวกับการรักษา
ในระหว่างการรักษาห้ามผู้ป่วยรับประทานส้มสิง (ชนิดที่เปลือกมีฤทธิ์เป็นกรดทุกชนิด) ห้ามดื่มเหล้า รับประทานน้ำแข็ง ข้าวเหนียว กล้วย ปลากระป๋อง ผู้หญิงห้ามถูกตัวผู้ป่วยชาย ผู้ชายห้ามถูกตัวผู้ป่วยหญิง ผู้ป่วยหญิงและชายห้ามถูกเนื้อต้องตัวซึ่งกันและกันแม้แต่การส่งของต่อมือกันก็ทำไม่ได้
ประโยชน
เป็นภูมิปัญญาที่เกิดจากความจำเป็นในวิถีชีวิตประจำวัน เกิดจากการสั่งสมความรู้ความชำนาญมา
แต่โบราณ เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะในชนบททั้งในอดีตและปัจจุบันได้รับประโยชน์จากภูมิปัญญาดังกล่าว

เรือกอและ


ลักษณะและวิธีการใช้

เรือกอและเป็นเรือประมงที่ใช้ในแถบจังหวัดภาคใต้ตอนล่างมีลักษณะเป็นเรือยาวที่ต่อด้วยไม้กระดานโดยทำให้ส่วนหัวและท้ายสูงขึ้นจากลำเรือให้ดูสวยงาม นิยมทาสีแล้วเขียนลวดลายด้วยสีฉูดฉาดเป็นลายไทยหรือลายอินโดนีเซีย ซึ่งนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับลำเรือ เรือกอและมี ๒ แบบคือ แบบหัวสั้นและแบบหัวยาว ขนาดของเรือแบ่งเป็น ๔ ขนาด โดยยึดความยาวของลำเรือเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง คือ ขนาดใหญ่ยาว ๒๕ ศอก ขนาดกลางยาว ๒๒ ศอก ขนาดเล็กยาว ๒๐ ศอก และขนาดเล็กมากเรียกว่า "ลูกเรือกอและ" ยาว ๖ ศอกโดยประมาณ และด้านนอกซึ่งค่อนขึ้นไปทางขอบเรือ ทำเป็นขอบนูนออกมาข้างนอก ลักษณะเป็นกันชนของเรือยาวตลอดลำเรือเรียกว่า "ปาแปทูวอ" ที่ตอนล่างของปาแปทูวอทำรอยแซะเนื้อไม้ด้วยกบให้เป็นแนวยาวตลอดลำเรือเรียกว่า "กอมา" เรือทั้งลำ แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนหัวเรียกว่า "ลูแว" ส่วนท้ายเรียกว่า "บูเระแต" ถ้าแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหัวเรียกว่า "ปาลอ" ส่วนกลาง (ลำเรือ) เรียกว่า "ตือเราะ" ส่วนท้ายเรียกว่า "ปูงง"

ประโยชน์
เรือกอและส่วนใหญ่ใช้ในการประมง โดยนำออกไปทำการประมงในทะเลและนิยมทำเป็นพวก ๆ พวกละ ๕-๖ ลำ นอกจากนี้ยังใช้สำหรับแข่งขันโดยใช้ฝีพายหรือใช้ใบก็ได้ทุกครั้งที่จะออกเรือก่อนขึ้นเรือชาวประมงจะให้ความเคารพเรือกอและของตนโดยการถอดรองเท้าทุกครั้ง และเมื่อเรือจอดอยู่บนฝั่งก็ห้ามผ่านใกล้ ๆ หรือเล่นบริเวณหัวเรือ ไม่พูดจาเชิงอวดดี หรือพูดในสิ่งที่ไม่เป็นมงคล เพราะเชื่อว่ามีพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้ความคุ้มครองเรือสิงสถิตอยู่ที่หัวเรือบริเวณ "จาปิ้ง" นับได้ว่าเรือกอและเป็นเรือในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งใช้ในการประมงทางทะเลของชาวประมงมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ นับว่าเป็นเรือที่แปลกตาและหาดูได้ยากในจังหวัดอื่นๆ

กระบอกขนมจีน ภาษาถิ่นเรียก "บอกหนมจีน"

ลักษณะและวิธีใช้
ลักษณะกระบอกขนมจีน ทำด้วยทองเหลือง เป็นเครื่องทำแป้งให้เป็นเส้นขนมจีน โดยอาศัยแรงกดทับทำให้แป้งซึ่งอยู่ในกระบอกขนมจีนดันออกมาเป็นเส้น ทางรูที่ก้นของกระบอกที่เจาะไว้
วิธีทำกระบอกขนมจีน
๑. ขั้นตอนการทำ
๑.๑ ใช้เบ้าหล่อ
๑.๒ การกลึง
๑.๓ การถูตกแต่งด้วยตะไบ
๑.๔ การเจาะ
๒. การทำตัวกระบอก
๒.๑ ตัวกระบอกใช้เบ้าเป็น ๒ ชั้น คือเป้าชั้นนอกและเบ้าชั้นใน เบ้าชั้นนอกแกะเป็นรูปทรงกระบอกตอนล่างของตัวกระบอกทำรูปทรงกลมตอนบนเป็นโครงหุ้มปากมีสันยื่นออกมาหุ้มโดยรอบปาก
ของทรงกลม และมีสันแคบ ๆ ปิดทับสันรอบปากเป็นช่วง ๆ ด้านละ ๑ อัน ด้านบนของสันดังกล่าวมีขอบปากโผล่ให้เห็นภายในของตัวกระบอก ริม ๒ ข้างของขอบมีแผ่นทองเหลืองบาง ถูด้วยตะไบเป็นครึ่งกนกลายไทย อีกด้านหนึ่งหล่อยึดติดกับหูปากกระบอก ซึ่งเจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสไว้สำหรับใส่แขนกระบอก สามารถถอดเข้าออกได้ กึ่งกลางของแขนกระบอกเจาะรูกลมใหญ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ ๒ เซนติเมตร สำหรับใส่เกลียว (แกนก่อให้เกิดแรงกดอัดซึ่งมีเกลียวอยู่ตลอดแกนนั้น) เกลียวมีความยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตร ส่วนบนของเกลียวเป็นรูปโค้งเจาะรูตรงกลางสำหรับใส่ไม้กลมหรือเหล็กกลมขนาดนิ้วหัวแม่มือ เพื่อบิดเกลียวให้เกิดแรงอัดภายในของกระบอก เบ้าทรงกลมต้องตันตลอด เมื่อเททองเหลืองลงเบ้าและเย็นลงสนิทแล้วถอดเบ้าออกทั้งเบ้าชั้นนอกชั้นในก็จะได้รูปทรงกระบอกขนมจีนตามต้องการซึ่งลดส่วนของตัวกระบอกให้เล็กลงโดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๙ เซนติเมตรส่วนยาวของตัวกระบอกรวมถึงหูประมาณ๓๕เซนติเมตรตกแต่งพื้นผิวของทุกส่วนที่ยังขรุขระให้เรียบด้วยการกลึงถูด้วยตะไบจนมีสภาพสมบูรณ์
๒.๒ การทำส่วนประกอบภายในของกระบอกขนมจีนซึ่งมี ๒ ชิ้น ได้แก่ แป้นบนและมีแป้นล่าง รองรับเอาไว้แป้นบนมีลักษณะเป็นทรงกลมพอถอดและใส่ภายในกระบอกได้ พื้นด้านล่างแบบเรียบ หน้าบนเป็นสันนูนขึ้นเป็นหลังเต่าแล้วให้ตรงศูนย์กลางบุ๋มลงเท่ากับความโตของปลายเกลียว เพื่อให้ปลายเกลียวจับยึดไม่ให้เกลียวที่เป็นแกนแกว่งออกในขณะบิด ที่ส่วนบนของเกลียวแป้นบนนี้เป็นแผ่นตัน จะวางอยู่บนเนื้อแป้งซึ่งอัดแน่นอยู่ในกระบอกขนมจีน ปลายเกลียววางอยู่กึ่งกลางของแป้นบนอีกทอด แป้นล่างขนาดเท่ากับแป้นบนเรียบทั้ง ๒ หน้า เจาะรูรังผึ้งเท่าก้านจากเต็มพื้นที่เพื่อเป็นทางออกของเส้นขนมจีนในขณะที่ถูกแกนบิดและกดแป้นลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อหมดแป้ง แป้นบนกับแป้นล่างก็จะอยู่ชิดติดกัน

วิธีการใช้
๑. เอาแป้งข้าวเจ้าที่ต้มพอครึ่งสุกครึ่งดิบ ปั้นเป็นก้อนใส่ลงไปในกระบอกขนมจีนที่มีแป้นล่างรองรับเอาไว้
๒. เอาแป้นบนวางทับบนแป้งขนมจีน แล้วบิดเกลียวแป้นบน แกนจะถูกบิดและกดแป้นบนลงมาเรื่อย ๆ แป้งขนมจีนจะหาทางออกมาทางรูรังผึ้งที่เจาะเอาไว้ออกมาเป็นเส้นยาว ๆ โรยลงไปในกระทะน้ำเดือด ต้มจนเส้นแป้งสุกกลายเป็นเส้นขนมจีน

ประโยชน์
ขนมจีนเป็นอาหารพื้นบ้านของนครศรีธรรมราชที่คนนิยมรับประทานร้านขายขนมจีนจึงมีอยู่ทั่วไปกระบอกขนมจีนจึงมีประโยชน์ทั้งเป็นเครื่องผ่อนแรงและลดเวลาในการทำเส้นขนมจีน สามารถผลิตเส้นขนมจีนจำนวนมากในเวลารวดเร็ว

ชื่อ เหล็กไฟตบ

ลักษณะและวิธีการใช้
๑. ลักษณะของเหล็กไฟตบ
เหล็กไฟตบเป็นเครื่องมือทำไฟชนิดหนึ่ง ทำจากไม้หรือเขาสัตว์เช่น วัว ควาย ขนาดกระทัดรัดที่เหมาะกับการใช้งาน จะยาวประมาณ ๑๒ เซนติเมตร แบบกลมจะเป็นแบบที่นิยมมากที่สุด
๑.๑ ส่วนประกอบของเหล็กไฟตบ ประกอบด้วย
๑) กระบอก รูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ตรงยอดฝังโลหะ ปลายแหลม สำหรับใช้เขี่ยปุยเชื้อไฟ ด้านล่างเจาะรูที่กึ่งกลางก้น กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร รูลึก ๔-๕ เซนติเมตร
๒) ก้านเหล็กไฟตบ ลักษณะกลมยาว ขนาดใส่เข้ากับรูกระบอกได้พอดี ไม่คับหรือหลวม ถ้าก้านดีตบเบา ๆ ดึงออกมาไฟก็จะติด ตรงปลายก้าน คว้านเจาะรูลึก ๑/๒ เซนติเมตร สำหรับบรรลุเชื้อไฟ ปลายก้านด้านนอกเซาะร่องเล็กรอบแกน ใช้เส้นด้ายพันให้รอบแกนและมัดให้แน่น เรียกว่า ซุย เอาขี้ผึ้งหรือไขมันวัวทาเส้นด้ายให้มันลื่น โคนเหล็กไฟตบมีขนาดใหญ่ ก้นแบนสำหรับใช้มือตบ
๓) เชื้อไฟ เรียกว่า ปุย ทำจากปุยเต่าร้างตากแห้ง โดยขูดปุยจากกาบของต้นเต่าร้าง นำปุยไปตากแดดคลุกผสมขี้เถ้าเปลือกส้มโอแห้ง โดยส่วนขี้เถ้า ๑ ส่วน ปุยเต่าร้าง ๕ ส่วน

๒. วิธีใช้เหล็กไฟตบ
บรรจุเชื้อไฟปุยเต่าร้างใส่ในรูปลายก้านเหล็กไฟตบ อัดให้แน่นแล้วนำก้านเหล็กไฟตบไปใส่ในรูกระบอก ใช้ฝ่ามือตบท้ายก้านเหล็กไฟตบ เข้าไปในรูกระบอกแล้วดึงกลับออกมาอย่างรวดเร็ว ไฟจะติดอยู่ทีปุยเต่าร้าง ใช้ยอดปลายแหลมของกระบอกเขี่ยปุยเต่าร้างที่ติดไฟออกมาจุดกับเชื้อเพลิงที่เตรียมไว้ ก็จะได้ไฟไปใช้ประโยชน์ตามความต้องการ
ประโยชน์ของเหล็กไฟตบ
๑. ในสมัยก่อนไม่มีไม้ขีดไฟ เหล็กไฟตบเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่คิดค้น วิธีทำไฟใช้รู้จักนำสิ่งที่มีอยู่'ตามธรรมชาติอย่างเช่นปุยเต่าร้างมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์
๒. การทำเหล็กไฟตบ จากไม้ เขาสัตว์ หรืองาช้าง ต้องใช้ความรู้ทางช่าง การตกแต่งเหล็กไฟตบให้สวยงามได้ส่วน ทั้งรูปทรงและการออกแบบที่มีความประณีต และมีหลายแบบ เช่น แบบกลม แบบเหลี่ยม แบบแบน และแบบกุบกล่อง ทำให้เหล็กไฟตบเป็นชิ้นงานที่รังสรรค์ไว้ทั้งใช้ประโยชน์และเพื่อดูเล่นสวยงาม เป็นวัตถุที่มีคุณค่าแแห่งภูมิปัญญาชาวบ้าน

การปลูกพืชในกระบอกไม้ไผ่


บุคคล ชาวสวนในจังหวัดตรัง

องค์ความรู้
วิธีนี้เหมาะกับเพาะเมล็ดพืชยืนต้นบางชนิดหรือใช้กับต้นกล้าพืชทำได้โดยการเตรียมกระบอกไม้ไผ่ที่ไม่มีข้อและมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ นิ้ว และยาวประมาณ ๑๒ นิ้ว นำกระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ไปปักลงในแปลงเพาะให้ลึกพอสมควร แล้วหยอดเมล็ดพืชลงไป ปล่อยให้เมล็ดงอกในกระบอก เมื่อต้นกล้าแข็งแรงดีแล้ว กระบอกไม้ไผ่ก็จะผุพังไปเอง ข้อควรระวังสำหรับการเพาะกล้าโดยวิธีนี้คือถ้าฝนตกชุกอาจมีน้ำขังอยู่ในกระบอกทำให้เมล็ด ต้นกล้าเน่าได้
ประโยชน์
๑. กระบอกไม้ไผ่จะเป็นที่กำบังไม่ให้สัตว์มากัดกินต้นกล้าที่กำลังงอกได้ ทำให้การงอกมีประสิทธิภาพดีขึ้น
๒. เป็นการป้องกันแมลงหรือศัตรูพืชโดยชีววิธี

สินค้าพื้นเมือง

สร้อยปะการัง

วัสดุ ซากปะการัง
วิธีทำ
นำปะการังที่เก็บได้จากท้องทะเลมาทำความสะอาด แล้วย้อมสีต่างๆ เช่น สีดำ สีขาว สีเหลือง สีเขียว สีส้ม สีม่วง กลึงเป็นรูปทรงต่างๆส่วนใหญ่แล้วนิยมทำเป็นทรงกลมและสี่เหลี่ยม หลังจากนั้นเจาะรูตรงกลางโดยใช้สว่านขนาดเล็ก เมื่อเจาะรูเรียบร้อยแล้วนำมาร้อยด้วยสายเอ็นการร้อยนั้นสลับลวดลายสีต่างๆเพื่อความสวยงามหากร้อยเป็นเส้นสั้นๆหรือทำสร้อยมือต้องติดตะขอที่ปลายทั้งสองข้าง
การประยุกต์ใช้
ปะการัง นำมาตกแต่งให้มีลักษณะรูปทรงที่สวยงามทำเป็นสร้อยมือ หรือสร้อยคอ เป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงามมากชิ้นหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวสุสานหอย บ้านแหลมโพธิ์ จังหวัดกระบี่ จะนิยมซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึก

มีดพร้านาป้อ
กลุ่มบุคคล/กลุ่มบุคคล สมาชิกกลุ่มตีเหล็กบ้านนาป้อ ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
องค์ความรู้
๑. ลักษณะ
๑.๑ การทำมีดพร้า ชาวบ้านนาป้อ สืบทอดวิชาตีเหล็กทำมีดพร้ามาจากบรรพบุรุษ เหล็กที่ใช้ทำมีดพร้า ปัจจุบันนิยมใช้เหล็กผสมสำเร็จ และเหล็กแหนบรถยนต์ เชื้อเพลิงใช้ถ่านไม้ อุปกรณ์มีเตาเผา ทั่ง ค้อน การตีมีดจะใช้เหล็กดี ทำให้มีดมีความคม และใช้ทนทาน
๑.๒ลักษณะของมีดพร้านาป้อตัวมีดทำด้วยเหล็กลักษณะมีดหัวโค้งงอโดยปลายสุดงอโค้งลงเป็นจะงอยการใส่ด้ามด้ามจะทำด้วยไม้ด้ามยาวขนาดจับเหมาะมือกระชับมือ รูปทรงสวยงาม
๑.๓ ประเภทของมีดพร้านาป้อ
๑) มีดพร้าหัวแหลม ส่งขายในจังหวัดยะลา และประเทศมาเลเซีย ใช้ตราเบตง
๒) มีดพร้าหัวแหลม ส่งขายในจังหวัดกระบี่ ใช้ตราจระเข้
๓) มีดพร้าหัวตัด ส่งขายในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสตูล จังหวัดพัทลุง ใช้ตรา ๕ ดาว และตรา ๒๒
๔) มีดพร้าหัวแหลม ส่งขายในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดชุมพร ใช้ตรา ๐๐๗
๕) มีดพร้าภูเก็ต ส่งขายในจังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง ใช้ตราหน่อไม้และตราน้ำเต้า ขนาดของมีดพร้าที่ผลิตออกมา
เบอร์ ความยาวมีด คมมีดกว้าง คอมีดกว้าง เส้นผ่าศูนย์กลางบ้องมีด
๐ ๑๕ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว ๓ นิ้ว ๓ นิ้ว
๑ ๑๔ นิ้ว ๒.๑ นิ้ว ๓ นิ้ว ๓ นิ้ว
๒ ๑๓ นิ้ว ๒ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว
๓ ๑๒ นิ้ว ๒ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว
๔ ๑๐ นิ้ว ๒ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว
๒. วิธีการใช้ นิยมใช้กันกว้างขวางสารพัดประโยชน์ ใช้สอยในชีวิตประจำวันของคนชนบท ดังนี้
๒.๑ เป็นอุปกรณ์ในการทำสวน ทำไร่นา ใช้งานถาง ฟันต้นไม้ ตัดหญ้า ปอกมะพร้าว ปอกผลไม้ต่าง ๆ
๒.๒ ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว ผู้ชายชนบทในจังหวัดตรังและภาคใต้ จะนิยมใช้มีดพร้า เวลาจะออกจากบ้านทั้งไปสวนไร่นา และไปทำธุระอื่น ๆ ก็จะนำติดตัวไปด้วย
ประโยชน์
๑. ใช้ในการทำงาน เป็นเครื่องมือในการทำงาน ทำไร่นา เมื่อพบอะไรที่ต้องการฟัน ใช้ของมีคม สามารถใช้ได้ทันที
๒. เป็นอาชีพเสริม ของกลุ่มตีเหล็กบ้านนาป้อ นอกจากทำรายได้ให้ผู้ประกอบการแล้ว ยังสามารถรักษาวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษไว้ ชาวนาป้อยังได้ผลิต จอบ เสียม ขวาน มีดกรีดยาง เพื่อใช้ในการเกษตรกรรม

 การทอผ้าพื้นเมืองบ้านมะม่วงปลายแขน

วัสดุ
๑. เครื่องทอผ้าพื้นเมือง (เกยก) มีเครื่องต่าง ๆ ประกอบด้วยฟืมมีลักษณะคล้ายหวี ทำหน้าที่ตบกระแทกให้เส้นด้ายสานขัดกันเป็นลายเนื้อผ้าติดกัน ตีนฟืมซึ่งผู้ทอจะใช้ขาเหยียบให้ขึ้น ๆ ลง ๆ เวลาขัดลายดอกและเนื้อผ้า เขายกเหยียบและเขาเหยียบ ลูกพันและฟัน ลูกกะหยกลูกตุ้ง ผังสำหรับขึงไม่ให้เส้นด้ายยุ่ง นัดใจและนัดสอดใช้สำหรับพุ่งสอดระหว่างเส้นด้าย กระสวย ดรนใส่ไหมดอกใช้เฉพาะเวลาทอผ้ายกดอก
๒. ไนหรือที่ปั่นด้าย
๓. เครื่องปั่นด้าย สำหรับปั่นด้ายใส่หลอดด้าย
๔. เส้นด้าย ใช้ด้ายฝ้ายผสมคอดตอน ซึ่งต้องซื้อมาจากตลาดในตัวเมือง
วิธีการทำ
๑. ขั้นตอนการทอผ้าพื้นเมืองบ้านมะม่วงปลายแขนมีดังนี้
ขั้นที่ ๑ นำด้ายฝ้ายที่เตรียมไว้ มาปั่นกับเครื่องปั่นด้าย ใส่หลอดด้ายไว้
ขั้นที่ ๒ นำด้ายที่ใส่หลอดมาใส่ราวด้ายแล้วดึงเอาความยาวและความกว้างตามต้องการ
ขั้นที่ ๓ นำมาหวี เพื่อไม่ให้เส้นด้ายพันกัน
ขั้นที่ ๔ นำมาเก็บลายผ้าตามต้องการ
ขั้นที่ ๕ นำมาก่อเขาคือการนำด้ายที่เตรียมไว้มาประกับเขาของเกทอ
ขั้นที่ ๖ ด้ายที่ก่อเขาแล้ว นำมาปั่นใส่เรี่ย เพื่อทำด้ายพุ่ง สำหรับทอผ้า
ขั้นที่ ๗ ใส่กระสวยแล้วทอผ้าตามลายต้องการ จนเสร็จเป็นผืนซึ่งการทอผ้าแต่ละลาย จะแตกต่างกันตรงที่การเก็บลาย
๒. ลายผ้าของผ้าพื้นเมืองบ้านมะม่วงปลายแขน ได้แก่ ลายดอกพิกุล ดอกรัก คชกริช ราชวัตร พิมพอง พิกุลล้อม ใบไม้ พิมพ์ใหญ่
การประยุกต์ใช้ผ้าพื้นเมืองบ้านมะม่วงปลายแขน นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ ดังนี้
๑. ใช้เป็นผ้าตัดเสื้อได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งผู้ทอจะทอลายผ้าตามลูกค้าสั่งทำโดยตรง และทอส่งขายที่ร้าน ๑๒ นักษัตรซึ่งเป็นร้านขายปลีก โดยจะขายผ้าพื้นเมืองบ้านมะม่วงปลายแขนเป็นหลาเกือบทุกลาย ราคาหลาละ ๒๐๐ บาท ส่วนลายพิมพ์ใหญ่และลายใบไม้สอดดิ้นทองหรือดิ้นเงิน ราคาหลาละ ๘๐๐ บาท ชนิดไม่สอดดิ้นราคาหลาละ ๕๕๐ บาท ดังนั้นผู้รับทอผ้าพื้นเมืองบ้านมะม่วงปลายแขนจะมีรายได้ประมาณวันละ ๒๐๐ บาทต่อคน ส่วนเจ้าของกลุ่มทอผ้าจะมีรายได้ประมาณเดือนละ ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท
๒. การประยุกต์ใช้ผ้าพื้นเมืองบ้านมะม่วงปลายแขนในปัจจุบัน สามารถนำมาทำผลิตภัณฑ์ได้หลายประเภท เช่น กระเป๋าถือสตรี กระเป๋าสตางค์ของสตรี ซองแว่นตา ซองกระดาษทิชชู กล่องกระจกใส่ลิปสติก ใส่ไม้จิ้มฟัน ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับซื้อหาเป็นของฝากของที่ระลึก

อ้ายแด้ง

บุคคล/กลุ่มบุคคล
นายช่วง สุกแก้ว บ้านเลขที่ ๑๗ หมู่ที่ ๕ ตำบลนาขยาด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
ลักษณะ
อ้ายแด้งเป็นมีดยาว อาจารย์สุทธิพงศ์ วงศ์ไพบูลย์ กล่าวว่าคล้ายกับพร้ากราย หลายคนที่ไม่รู้จัก พร้ากราย รู้จักแต่มีดอีโต้ก็บอกว่าคล้ายกับมีดอีโต้ที่ยืดยาวออก แต่จะคล้ายอะไรก็มีข้อที่เหมือนกัน คือสวยงามกว่าทั้งสองอย่างที่กล่าวถึงมาก ด้วยลักษณะรูปทรงที่เพรียวและแอ่นเชิด ส่วนปลายของมีดมีลักษณะคล้ายปีกนก ประกอบกับส่วนด้าม ซึ่งทำด้วยเขาควายหรือไม้ สวมปลอกเหล็กลักษณะด้ามโค้งงอไปข้างหน้า รับกับการแอ่นเชิดของตัวมีด ทำให้เกิดเส้นสายลีลาที่งดงามของรูปทรง
วิธีการใช้
ผู้ชายในชนบทนิยมถืออ้ายเเด้งเป็นอาวุธประจำตัว ซึ่งบางโอกาสอาจใช้ถางหรือฟันได้ด้วย จึงมักเลือกเล่มที่ทั้งคมและรูปทรงสวยงามบางเล่มเชื่อว่าเป็นมงคลนำโชคลาภมาสู่เจ้าของ หรือช่วยให้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง บางเล่มผู้ทำต้องประกอบพิธีกรรมใช้โลหะผสม เพื่อให้เกิดความขลัง และอาจยกมอบสืบต่อกันเป็นมรดก
ขั้นตอนการทำมีดเเด้ง
๑. นำเหล็กมาเผาไฟ ชักสูบให้แดง แล้วใช้เอาออกมาวางบนทั้งเหล็ก ใช้ฆ้อนเหล็กตีขณะยังร้อน จนกระทั่งเป็นรูปโกลนของอ้ายเเด้ง
๒. วางไว้สักครู่ นำตะไบมาถูและแต่งจนได้รูป นำไปเผาไฟอีกครั้งจนแดงพอปานกลาง ใช้คีมเหล็กจับไปจุ่มในรางน้ำ
๓. นำเขาควายหรือไม้มาแกะเป็นรูปด้าม เจาะรูด้ามสวมปลอกเหล็กป้องกันการกระทบกระเทือนเวลาใช้งาน
๔. นำมูลครึ่ง (สัตว์) อุดรูด้าม เอาปลายหางของตัวมีดมาลนไฟให้ร้อน ประกอบกับด้ามแช่น้ำเพื่อให้มูลครึ่งแข็งตัว
ประโยชน์
๑.เป็นอาวุธประจำตัวใช้ป้องกันตัวเมื่อมีคนมาทำร้ายหากใช้อ้ายเเด้งแทงคนร้ายคนร้ายจะบาดเจ็บมากเพราะปลายมีดมีหยักคมแผลจะเหวอะหวะอาจถึงตายได้
๒. ใช้เหมือนพร้าทั่วไป
๓. เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน ที่มีคุณค่า มีราคาสูง บ่งบอกถึงฐานะและเกียรติยศของผู้ครอบครอง
๔. เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่แสดงให้อนุชนรุ่นหลังได้ตระหนักและภาคภูมิใจ
๕. ทรงคุณค่าทางโบราณคดี เพราะหายากในปัจจุบัน

ที่มาใน http://www.siamsouth.com/phum.htm

 


PS.  เราอาจจะใช้เวลาไม่มาก ที่จะรู้สึกรักใครสักคน แต่เราจะต้องใช้เวลามากมาย ที่จะลืมใครสักคนได้อย่าโทษใคร ถ้าใจของคุณนั่นเองที่เปลี่ยนแปลง เรื่องธรรมดาของการรักใครสักคน เหมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้านเสมอ

แสดงความคิดเห็น

>

172 ความคิดเห็น

CheZter 8 ก.ย. 50 เวลา 20:17 น. 1

ขอบคุณนะค้า ได้ความรู้มากมายเลย ตอนเราทำรายงานเรายังหาข้อมูลไม่ได้มากขนาดนี้เลย อิอิ

0
Arsene Lupin 4 พ.ย. 50 เวลา 10:40 น. 3

ขอเป็นแบบภาษาอังกฤษทั้งหมดได้มั้ยครับจะทำรางานครับหุๆ(ออกแนวเห็นแก่ตัวไปนิดเนอะ)

0
นานา 8 พ.ย. 50 เวลา 10:10 น. 4

มีสาระข่าวสาร ควบคู่กับความรู้สามารถที่จะนำไปใช้ประกอบการเรียนรู้การเรียนการสอนได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ&nbsp พอดีเลยกำลังจะทำงานส่งอ.พอดี&nbsp ขอบคุณมากเลยค่ะ&nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp &nbsp 

0