Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ข้างหลังภาพ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

www.mp3-down.th.gs

            โหลดเพลงฟรี มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสากล หรือ ไทย และจะอัพไปเรื่อย เข้าไปดูสิครับ


ข้างหลังภาพ :
นวนิยายโรแมนติคของสตรีผู้แสวงหาความรัก

หลังจากเรื่องสงครามชีวิต ซึ่งแสดงโศกนาฏกรรมแห่งความรักอันเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว “ศรีบูรพา” ได้สร้างสรรค์นวนิยายที่ถือว่าเป็นจุดสุดยอดของงานวรรณศิลป์ คือเรื่องข้างหลังภาพ เหตุที่กล่าวว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นจุดสุดยอดของงานวรรณศิลป์ เพราะเป็นนวนิยายที่งดงามถึงพร้อมด้วยเนื้อหา และกลวิธีการประพันธ์ “ศรีบูรพา” เขียนนวนิยาย และเรื่องสั้นเป็นเรื่องรัก-ร้างไว้หลายเรื่อง ทั้งที่จบดีและจบร้าย แต่ไม่มีเรื่องใดประทับใจเท่ากับเรื่องของความรักต้องห้าม ต่างวัย ต่างศักดิ์ ระหว่าง ม.ร.ว.กีรติ กับ นพพร ใน ข้างหลังภาพ เพราะอุปสรรคของความรักในเรื่องนี้ทับซ้อนหลายชั้น ตั้งแต่ฝ่ายหญิงแต่งงานแล้ว มีอายุมากกว่าฝ่ายชาย ตลอดจนสูงศักดิ์ด้วยฐานันดรและสถานะทางสังคม เรื่องราวของความรักรันทดอันจบลงด้วยความตายของ ม.ร.ว.กีรติ นี้ มีผู้วิจารณ์ไว้มากมาย ดังจะขอยกมากล่าวในเชิงสรุปในที่นี้

“บัวหลวง” ซึ่งคาดเดาว่าเป็นนามแฝงของ น.ประภาสถิต นักประพันธ์สตรีคนหนึ่งในยุคนั้น เขียนวิจารณ์ลงในสยามนิกร พ.ศ.๒๔๘๑ ว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องความรักที่งดงาม ม.ร.ว.กีรติ เป็นตัวละครที่ควรได้รับความสงสารเห็นใจในความอาภัพรัก เพราะความเป็นสุภาพสตรีที่ไม่ปล่อยให้ความปรารถนาในใจเป็นใหญ่ ดังที่ได้รับการอบรมศีลธรรมตามแบบจารีตสังคมไทยเดิม ผู้วิจารณ์กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “หม่อมราชวงศ์กีรติเป็นแบบหนึ่งของสุภาพสตรีไทยสมัยสังคมของเรา ยังอยู่ในหัวเลี้ยวระหว่าง ‘เก่า’ กับ ‘ใหม่’ คือ การอบรมแบบไทย แต่การศึกษาเป็นแบบตะวันตก การศึกษาได้ปลุกใจ หม่อมราชวงศ์กีรติให้ตื่นจากความสงบแห่งความปรารถนาของมนุษย์ตามประเพณีเก่าของเรา แต่อาศัยด้วยได้รับความอบรมศีลธรรมแบบเก่าของเราเป็นรากฐานในจิตใจ หม่อมราชวงศ์กีรติจึงเป็นสุภาพสตรีที่จริยาไม่ปล่อยให้ความปรารถนาเป็นใหญ่ในใจในเมื่อมีโอกาสจะทำได้”

ในขณะที่ บรรจง บรรเจิดศิลป์ วิจารณ์นวนิยายเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “ดูสังคมจากวรรณกรรม ดูวรรณกรรมจากสังคม” ด้วยแนวคิดทางการเมือง จึงตีความอุปสรรคความรักระหว่างตัวละครทั้งสองว่าเป็นมูลเหตุจากความแตกต่างทางชนชั้น โดยชี้ว่าการที่ ม.ร.ว.กีรติถูกสลัดรักจากนพพร หนุ่มน้อยนักศึกษาวิชาการธนาคาร แห่งมหาวิทยาลัยริคเคียวในเวลาไม่นานนัก เป็นเพราะว่า “ชนชั้นนายทุนนายหน้าผู้ซึ่งขึ้นครองตำแหน่งแทนชนชั้นผู้ดีในสังคมนั้น ก็ย่อมไม่สามารถจะรับเอาระบบอันเก่าคร่ำครึมาเป็นระบบคู่ครองของตนได้ฉันนั้น”

ส่วน ม.ล.บุญหลือ เทพยสุวรรณ เน้นการวิจารณ์ในเชิงจิตวิทยา ในหนังสือวิเคราะห์รสวรรณคดีไทย ม.ล.บุญเหลือชี้ให้เห็นว่า ตัวละครทั้งสองมีพัฒนาการทางอารมณ์ ความรู้สึกจากความนิยมไปสู่ความรักอย่างละเมียดละไมเป็นขั้นเป็นตอน ต่อมานพพรกลับหลุดจากห้วงรักนั้นไปตามธรรมชาติของคนหนุ่ม ในขณะที่คุณหญิงกีรติยังมีความฝัน และความหวังจะได้ร่วมชีวิตกับนพพรอยู่ สิ่งที่หล่อเลี้ยงความฝันนั้นคือ เหตุการณ์ที่มิตาเกะ ซึ่งนพพรแสดงความรักอย่างรุกเร้า ม.ล.บุญเหลือยังตีความอีกว่า สิ่งที่หล่อเลี้ยงความฝันอีกอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นความภาคภูมิใจของหม่อมราชวงศ์กีรติว่า แม้ตนจะอายุมากกว่านพพร แต่ก็มิได้เป็นอุปสรรคของความรัก ดังที่ผู้วิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่า “หม่อมราชวงศ์กีรตินั้นเป็นคนที่มีอุปาทานยึดอยู่กับวัย มีความรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างวัยของตนกับของสามีมากเป็นพิเศษกว่าคนอื่น ๆ แล้วก็เกิดภาคภูมิใจว่า วัยระหว่างตนกับนพพรนั้น หาได้เป็นอุปสรรคที่จะทำให้นพพรรักตนไม่ และตนเองก็มีความรักอย่างดูดดื่มตอบสนอง ได้หล่อเลี้ยง ‘รสทิพย์’ ของความรักนั้นไว้เป็นเวลานานถึง ๕ ปี” ดังนั้น เมื่อความฝัน และความหวังสลาย คุณหญิงกีรติจึงถึงแก่ความตาย

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เป็นนักวิจารณ์รุ่นใหม่ที่พลิกคำวิจารณ์ที่มีมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด ในบทวิจารณ์ชื่อ “ปริศนา ข้างหลังภาพ ของ ศรีบูรพา” ชูศักดิ์มีความเห็นว่า บทวิจารณ์ทั้งหลายตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดว่า ศิลปะนั้นจำลองมาจากชีวิต แต่เขากลับเห็นว่า นวนิยายเรื่องข้างหลังภาพชี้ว่า ชีวิตต่างหากจำลองมาจากศิลปะ ดังนั้น เขาจึงสรุปว่า “โศกนาฏกรรมของ ม.ร.ว.กีรติคือ โศกนาฏกรรมของผู้ใช้ชีวิตเลียนแบบวรรณกรรมความรักต้องห้าม และความตายของเธอคือ ความตายของวรรณกรรม ที่ตกไปอยู่ในมือของคนอ่านหนังสือไม่แตก” ทั้งนี้ผู้วิจารณ์แสดงรายละเอียดให้เห็นว่านพพรมุ่งแต่จะได้คำตอบว่า “รัก” เต็มปากเต็มคำจากคุณหญิงกีรติ โดยไม่ได้สำเหนียกเลยว่า คุณหญิงกล่าวคำพูดแฝงนัยถึงความรักนพพรอยู่ตลอดเวลา ไม่ช้าความรักของนพพรจึงคลายไปเพราะไม่เข้าใจ “สาร” ที่คุณหญิงกีรติเสนอ ส่วนคุณหญิงกีรติชุ่มชื่นใจกับการรับนพพรเป็น “ชู้ทางใจ” เช่นเดียวกับสตรีสูงศักดิ์ในวรรณกรรมอัศวินยุคกลางของยุโรป ที่ต้องทั้ง “ยั่วยุและยับยั้ง” แต่จะไม่ยอมเผยความในใจเป็นเด็ดขาด มิฉะนั้น ความรักซ่อนเร้นเช่นนี้จำต้องเปลี่ยนสถานะไป ดังนั้น การเผยคำพูดแสดงความรักอย่างชัดแจ้งตรงไปตรงมาอันเป็น “อมตะวาจา” ที่กินใจคนอ่านมาทุกยุคทุกสมัย จึงเป็น “เพชฌฆาตวาจา” ที่พรากลมหายใจของเธอไปด้วย

บทวิจารณ์ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น คงทำให้ผู้อ่านมองเห็นความงามของนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพในแง่มุมต่าง ๆ กันซึ่งยิ่งเพิ่มคุณค่าของอมตะนิยายเรื่องนี้ สำหรับผู้เขียนบทความนี้ เลือกที่จะมองนวนิยายเรื่องนี้ว่าเป็นนวนิยายรักโศกของสตรีผู้แสวงหาความรัก ผู้แต่งไม่ได้เน้นปัญหาช่องว่างระหว่างวัย หรือช่องว่างระหว่างชนชั้นของตัวละครเลย หากแต่ประเด็นที่นำเสนอให้ผู้อ่านขบคิดผ่านเรื่องราวชีวิตของตัวละครคือ เรื่องความรักและการแต่งงาน โดยชี้ว่า การแต่งงานโดยปราศจากความรักสามารถมีความสุขได้ แต่ความรักโดยปราศจากการแต่งงานคือความทุกข์มหันต์ บทสนทนาระหว่าง ม.ร.ว.กีรติกับนพพรขณะพาท่านเจ้าคุณไปเที่ยวพักผ่อนชายทะเลที่ตำบลกามากูระ ระบุชัดเจนว่าท่านเจ้าคุณ และคุณหญิงแต่งงานกันเพราะต้องการความผาสุก ไม่ใช่ความรัก ดังที่ ม.ร.ว.กีรติกล่าวว่า “ฉันไม่เชื่อในความรักระหว่างชายแก่กับหญิงสาว” และ “เพราะว่าน้ำรักของท่านได้เหือดแห้งไปพร้อมกับวัยชราของท่านเสียแล้ว วัยแห่งรสรักได้ผ่านพ้นท่านไปเสียแล้ว เดี๋ยวนี้ท่านไม่รู้ว่าท่านจะรักได้อย่างไร ท่านรักฉันไม่ได้ เพราะว่าท่านไม่มีสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นความรัก-ความรักตามอุดมทัศนีย์ของฉัน” และที่ตำบลมิตาเกะ ม.ร.ว.กีรติเล่าให้นพพรรับรู้เหตุผลที่เธอแต่งงานโดยปราศจากความรักว่า ข้อแรกเนื่องจากเธออายุ ๓๕ ปี อันเป็นวัยที่แก่เกินกว่าจะพบคนรัก และแต่งงานด้วยความรัก ดังที่เธอกล่าวว่า

“ครั้นฉันระลึกได้ว่า ฉันมีอายุได้เท่าไรแล้ว ฉันก็ใจหายอีกครั้งหนึ่ง หยาดน้ำตาไหลระริน เมื่อฉันรู้สึกด้วยความแน่ใจว่า คำขอของท่านเจ้าคุณ เป็นสัญญาณบอกความพินาศแห่งความหวังของฉัน เป็นสัญญาณว่าโอกาสที่ฉันจะได้พบความรัก และได้แต่งงานกับชายที่ฉันรักได้สิ้นสุดลงแล้ว เวลาของฉันหมดแล้ว”

ข้อสองเพื่อที่เธอจะได้มีชีวิตใหม่ในโลกกว้าง หลังจากเจ้าคุณพ่อเก็บกักลูกสาวแสนสวยคนนี้ไว้ในโลกของท่าน เพราะเมื่อเริ่มเป็นสาว เธอก็ได้รับการศึกษาจากแหม่มแก่ และได้รับการอบรมจากในรั้วในวังโดยไม่มีโอกาสคบหาสมาคมกับคนอื่น ๆ เธอกล่าวว่า

“ฉันต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกอันแคบมาเป็นเวลาถึง ๓๔ ปีเต็ม ฉันทั้งเบื่อหน่าย และเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวเต็มที แต่นกน้อยเมื่อปีกแข็งยังสละรัง เที่ยวโบยบินไปชมโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล ก็ฉันเป็นคน และเติบโตเต็มที่จนจะคล้อยไปในทางร่วงโรยอยู่แล้ว เหตุใดจะมาจับเจ่าเฝ้าอยู่แต่แห่งเดียว ฉันต้องการติดต่อคุ้นเคยกับโลกภายนอก ต้องการความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ต้องการประกอบกิจวัตรที่ผิดแผกแตกต่างไปจากที่ฉันได้ทำมาแล้วตลอดเวลา ๓๔ ปีบ้าง ไม่มีอะไรจะช่วยให้ฉันบรรลุความต้องการเหล่านี้ได้ นอกจากการแต่งงาน”

นับเป็นความจริงที่หญิงสาวชาติตระกูลสูงในยุคสมัยที่ “ศรีบูรพา” แต่งนวนิยายเรื่องนี้ยังไม่อาจเลือกใช้ชีวิตได้ตามใจชอบ พวกเธออาจมีความมั่นคั่ง มีชีวิตที่มั่นคง แต่ไร้อิสระ ราวนกน้อยในกรงทอง ประตูที่เปิดไปสู่หนทางแห่งอิสรภาพของหญิงสาวเหล่านั้นมี ๒ ประตู นั่นคือ การศึกษาและการแต่งงาน แต่สำหรับสตรีที่เป็นชนชั้นสูง แม้จะมีโอกาสดีในด้านการศึกษา แต่เธอก็ไม่มีโอกาสใช้ความรู้นั้นในการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ความรู้ที่เธอจึงมีประโยชน์เพียงเสริมสร้างคุณภาพชีวิต อย่างเช่น ทำให้คุณหญิงกีรติรักศิลปะ และรู้จักกรรมวิธีบำรุงรักษาความงามให้คงทน ดังนั้น สำหรับหญิงผู้ดี การแต่งงานเป็นประตูเดียวที่เปิดไปสู่โลกกว้าง คุณหญิงกีรติผู้เฉลียวฉลาดจึงรู้ดีว่าเธอตัดสินใจแต่งงานด้วยเหตุผลใด หรืออีกนัยหนึ่งเธอไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว เพราะสิ่งที่เธอปรารถนาก็คือชีวิตคู่

ผู้หญิงในยุคปัจจุบันคงไม่เห็นด้วยกับ ม.ร.ว.กีรติ และเสนอทางเลือกใหม่คือ การครองตนเป็นโสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่พึ่งพาตนเองได้ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และวิชาความรู้ แต่การครองตนเป็นโสด คงจะเป็นเรื่องที่ยากจะเป็นไปได้สำหรับผู้หญิงในยุค พ.ศ.๒๔๘๐ เพราะแม้แต่ “ศรีบูรพา” ซึ่งเขียนเรื่องนี้จากชีวิตจริงของสุภาพสตรีผู้เพียบพร้อมท่านหนึ่ง ที่ยังไม่ได้แต่งงาน ยังใช้คำว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกเห็นใจ” แสดงให้เห็นว่าในสายตาของสังคมสมัยนั้น ผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานนับว่าเป็นคนที่น่าสงสาร จนอาจถึงขั้นน่าสมเพช เพราะไม่มีชายใดเลือกเธอเป็นคู่ครอง สังคมวิพากษ์ผู้หญิงที่มีชะตากรรมเช่นนี้ โดยมิได้สนใจเลยว่าเธอบางคนอาจจะเป็นผู้เลือกกำหนดชีวิตเช่นนั้นด้วยตนเอง “ศรีบูรพา” กล่าวไว้ในที่ประชุม ชมรมนักประพันธ์ ครั้งที่ ๔ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๓ ถึงแรงบันดาลใจของการแต่งนวนิยายเรื่องนี้ว่า

“ตามธรรมดาการที่เราสร้างบทประพันธ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมานั้น พวกเราทุกคนย่อมทราบว่า ก่อนอื่นจะต้องมี material คือมนุษย์ และชีวิตที่ได้พบเห็นนี่แหละ เป็นเครื่องมือในการสร้างเรื่องนิยาย การสร้างเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ก็ได้ดำเนินไปตามหลักดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าเกิดความคิดจากการพิเคราะห์ดูชีวิตมนุษย์ กล่าวคือ ได้วิเคราะห์ชีวิตสุภาพสตรีท่านหนึ่งที่ได้รู้จักกัน เป็นคนสวย แต่งตัวเก่ง น่าทึ่ง มีความประณีตในการเลือกเสื้อผ้าอาภรณ์ แต่สุภาพสตรีผู้นี้ยังไม่ได้แต่งงาน ทั้ง ๆ ที่มีฐานะดีควรจะได้แต่ง ข้าพเจ้ารู้สึกเห็นใจ จึงนำชีวิตของเธอมาใคร่ครวญดู และนึกว่าผู้อ่านของเราก็คงอยากรู้ถึงชีวิตของสตรี ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะได้แต่งงานแล้วไม่ได้แต่ง ว่าความรู้สึกจะเป็นอย่างไร จึงได้ประพันธ์ออกมาเป็นเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ในเรื่องนั้นได้มุ่งหมายให้สุภาพสตรีผู้นั้นแสดงทรรศนะอันจะเป็นประโยชน์ดีงามต่อชีวิตด้วย ส่วนคุณค่าทางศิลปะจะเป็นอย่างไร ย่อมแล้วแต่ประชาชนจะวินิจฉัย”

อันที่จริง ผู้อ่านรู้จักคุณหญิงกีรติผ่านคำบอกเล่าของนพพรเป็นส่วนใหญ่ นพพรลงความเห็นว่าเธอเป็นผู้หญิงที่เฉลียวฉลาด พูดเก่ง ทั้งเรื่องจริงจังและเรื่องเล่น ๆ และที่สำคัญเธอเป็นผู้หญิงที่มีเสน่ห์รัดรึงใจทุกคนที่พบเห็น เสน่ห์ของเธอปรากฏในรูปโฉมที่งดงามสะดุด อ่อนกว่าวัย และความใส่ใจในผู้อื่น แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างเอื้ออารี ผู้อ่านก็คงไม่ปฏิเสธความเห็นของนพพร แต่ที่น่าสนใจกว่านี้อีกคือ คุณหญิงกีรติมองตนเองอย่างไร ในส่วนนี้ผู้อ่านเรียนรู้ได้จากคำพูดของเธอ ที่เล่าเรื่องของตนเองให้นพพรฟังอย่างไม่ปิดบัง จะเห็นได้ว่าคุณหญิงกีรติเป็นภาพสะท้อนของผู้หญิงในสังคมเก่าที่ยอมรับข้อกำหนดของสังคมโดยดุษณีภาพ เธอมิได้มีความคิดต่อต้านเลยแม้แต่น้อย หากแต่รู้สึกว่าเป็น “หน้าที่” ที่จะต้องทำตัวคล้อยตามกระแสสังคมให้มากที่สุด ดีที่สุด ดังที่เธอกล่าวว่า

“ฉันไม่ใคร่จะได้คิดอะไรในเวลานั้น เพราะว่าเราไม่ได้ถูกอบรมให้เป็นคนช่างคิด เรามีทางที่เขากำหนดไว้ให้เดิน เราต้องเดินอยู่ในทางแคบ ๆ ตามจารีตประเพณีขนบธรรมเนียม”

และ

“ฉันหวังว่าเธอคงไม่ด่วนลงความเห็นติเตียนว่า ฉันใช้เวลาวันละหลาย ๆ ชั่วโมงในทางที่ไร้ประโยชน์ เธอจงเห็นใจสตรีเพศ เราเกิดมาโดยเขากำหนดให้เป็นเครื่องประดับโลก ประโลมโลก และเพื่อที่จะทำหน้าที่นี้อย่างดีที่สุด เราจำต้องบำรุงรักษารูปโฉมของเราให้ทรงคุณค่าไว้ จริงอยู่ นี่มิใช่หน้าที่อันเดียวหรือทั้งหมดของสตรีเพศ แต่เธอคงไม่ปฏิเสธว่ามันเป็นหน้าที่อันหนึ่งของเรา” การบำรุงรูปโฉมให้ต้องตาต้องใจชาย ก็คือการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการมีชีวิตคู่นั่นเอง ดังนั้น จึงไม่แปลกอันใดที่คุณหญิงกีรติ ย่อมมีความคิดว่าชีวิตที่สมบูรณ์ของลูกผู้หญิงคือ การแต่งงานมีครอบครัวอบอุ่นและมีความรัก ดังที่เธอกล่าวว่า

“ความรักเป็นพรอันประเสริฐ เป็นยอดปรารถนาของชีวิต ฉันก็เหมือนกับคนทั้งหลาย ย่อมปรารถนาใฝ่ฝันถึงความรักและการแต่งงาน ฉันปรารถนาที่จะพูดถึง และรู้สึกด้วยตนเองในเรื่องราวของชีวิตในโลกใหม่ ดังที่น้องสาวสองคนได้มีโอกาสเช่นนั้น ฉันปรารถนาที่จะมีบ้านของฉันเอง ที่จะติดต่อสมาคมกับโลกภายนอก ปรารถนาที่จะมีบุตรน้อย ๆ เพื่อที่ฉันจะได้หลั่งความเมตตาปรานีจากดวงใจของฉันให้แก่เขา ฉันปรารถนาที่จะให้ตัก ให้แขนของฉันเป็นประโยชน์แก่คนอื่น ยังมีความปรารถนาที่งดงามอีกหลายอย่างที่ฉันย่อมจะบรรลุได้ ถ้าเพียงแต่ฉันจะได้พบความรัก”

โชคร้ายที่เธอเกิดมาไร้ความรักจนอายุเข้า ๓๔ ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอเปล่าเปลี่ยวและปวดร้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อน้องสาวสองคนแต่งงานออกเรือนไป ยิ่งเธอตระหนักดีว่าเธอเป็นผู้หญิงที่สวยเหลือเกิน แต่ไร้คนรัก ความเจ็บช้ำจึงยิ่งทวีคูณ คุณหญิงกีรติใช้คำว่า “อาภัพ” หลายครั้งเมื่อกล่าวว่าเธอไม่มีโอกาสแต่งงานในวัยอันสมควร ดังนั้น ข้อเสนอขอแต่งงานของเจ้าคุณอธิการบดีจึงเสมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่หากปล่อยให้เลยผ่านไป ชีวิตของคุณหญิงกีรติย่อมฝังจมอยู่ในโลกแคบ ๆ ที่เธอแสนเบื่อหน่าย การแต่งงานที่ปราศจากความรักจึงเป็นความผาสุก และน่าจะผาสุกตลอดไปหากโลกไม่เล่นตลกกับเธอ เพราะโลกกว้างที่เธอปรารถนา นำเธอไปพบชายหนุ่มที่แสดงความรักต่อเธออย่างลุ่มหลง แต่เธอกลับมีพันธะเสียแล้ว และเมื่อเธอหมดพันธะหลังเจ้าคุณอธิการบดีสิ้นชีวิต ความรักของนพพรก็กลับหลุดลอยไป

“ศรีบูรพา” ให้นพพรเป็นผู้เล่าเหตุการณ์ในเรื่องนี้ ผู้อ่านจึงไม่สงสัยเลยว่าความรักค่อย ๆ ก่อเกิดในใจของนพพรได้อย่างไร ในเมื่อผู้หญิงสูงวัยที่เขาได้พบ และแสนสวยและเยาว์กว่าวัยจริง อ่อนหวาน มีน้ำใจ และมีความเฉลียวฉลาดในการสนทนา เขาและเธอมีโอกาสพบปะกันตามลำพังบ่อยครั้ง และบรรยากาศธรรมชาติสวยงามก็เป็นใจ นพพรจึงเป็นตัวละครที่มีพัฒนาการ มีเลือดเนื้ออารมณ์ราวบุคคลจริง รวมทั้งเมื่ออารมณ์เร่าร้อนผ่อนคลายเพราะกาลเวลา ความห่างไกล และการที่คุณหญิงกีรติไม่ได้สนองตอบ ก็เป็นไปตามธรรมชาติมนุษย์อย่างที่เป็นจริงได้ ส่วนคุณหญิงกีรติแม้จะดูเหมือนไร้อารมณ์ เพราะผู้อ่านจะรู้สึกได้ชัดเจนว่าจิตใจของเธอแน่วแน่มั่นคง เธอแทบจะไม่หวั่นไหววาบหวามไปกับการรุกเร้าของนพพร ไม่ว่าด้วยวาจาหรือด้วยการกระทำก็ตาม เธอจะมีคำพูดเชิงสั่งสอนที่ยับยั้งอารมณ์ของนพพร เหมือนน้ำเย็นที่ราดบนกองไฟ หรือพูดตัดบทเปลี่ยนเรื่องเสีย รวมทั้งแสดงกิริยาวาจาเป็นปกติราวกับไม่มีสิ่ง “ผิดปกติ” เกิดขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ตัวละครผู้นี้สง่างาม เป็นแบบอย่างของสตรี ผู้มีสติควบคุมตนเองได้ตลอดเวลา สมกับเธอที่เธอมีวัยสูงกว่า และได้รับการอบรมศีลธรรมจรรยามาอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านรับรู้แต่ปฏิกิริยาภายนอกของตัวละครนี้ แต่แทบจะไม่ทราบเลยว่าเธอคิดอะไรอยู่ในใจ เธอเสียดายหรือไม่ที่พบนพพรช้าเกินไป เธอจะคิดไหมว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ เพราะเธอประกาศชัดเจนแล้วว่า เธอไม่เชื่อเรื่องความรักต่างวัย เธอรักนพพรหรือไม่ หากเธอไม่มีพันธะ สังคมจะยอมรับการครองคู่ของสาวแก่กับหนุ่มอ่อนหรือ ฯลฯ เหล่านี้อาจเป็นข้อสงสัยในใจผู้อ่านที่ผู้แต่งไม่ได้ตอบไว้ เพราะผู้อ่านรู้จักคุณหญิงกีรติจากมุมมองของนพพร นพพรจึงไม่อาจล่วงรู้ความในใจลึกซึ้งของคุณหญิงกีรติเช่นกัน ถึงกระนั้นคุณหญิงกีรติมิได้ตัดรอนนพพรเสียทีเดียว เธอเหมือนคนบังคับว่าว ที่ผ่อนสายป่านบ้างบางครั้ง ดึงรั้งไว้บ้างบางคราว ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเธอมี “ใจ” ให้นพพรอยู่ไม่น้อย จนกระทั่งกระจ่างชัดด้วยประโยคที่เป็นอมตวาจาของนวนิยายเรื่องนี้

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันอิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

การที่คุณหญิงกีรติเป็นตัวละครที่ “อ่านไม่ออก” จึงสร้างความสนใจใคร่รู้แก่ผู้อ่านไม่น้อยไปกว่านพพร นอกจากนี้ “ศรีบูรพา” ยังสร้างความรู้สึกระทึกใจ (Suspension) แก่คนอ่านตลอดทั้งเรื่อง โดยให้คุณหญิงกีรติ และนพพรมีบทสนทนาที่ผลัดกันรุกผลัดกันถอย รวมทั้งความรักระหว่างคุณหญิงกีรติ และนพพรที่ขนานกันไปอย่างไม่ลงตัว ดังที่เธอบอกแก่นพพรก่อนสิ้นใจว่า “ความรักของเธอเกิดที่นั่น และก็ตายที่นั่น แต่ของอีกคนหนึ่งยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังจะแตกดับ” นวนิยายเรื่องนี้จึงลงเอยอย่างแสนเศร้า สะเทือนอารมณ์แต่ประทับใจคนอ่านยาวนาน นับเป็นผลสำเร็จของการสร้างสรรค์นวนิยายรักเรื่องนี้ ความสำเร็จของนวนิยายรักรันทดใจเรื่องนี้ยังทำให้ “ศรีบูรพา” เขียนเรื่อง “นพพร-กีรติ” เป็นบทพิเศษในรูปของจดหมาย ๒ ฉบับ ระหว่างนพพรและกีรติ พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ผาสุก วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๖ นพพรยังคงบุคลิกของหนุ่มน้อยที่แสดงอารมณ์รักโดยอิสระและเปิดเผย ในขณะที่คุณหญิงกีรติติดอยู่ในกรอบแห่งหน้าที่และศีลธรรมจรรยา แต่กระนั้นเธอก็ยังมีความหวังว่าในอนาคตเธอจะมีชีวิตรักสมปรารถนา ดังกล่าวว่า

“ขอเธอจงปฏิบัติหน้าที่ของเธอเพื่ออนาคตอันรุ่งเรืองของเธอเอง และขออย่าเรียกร้องให้ฉันต้องละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของฉันเสียเลย หน้าที่ของแต่ละคน อาจมิได้ตรึงตราอยู่แต่อย่างหนึ่งอย่างใดจนชั่วชีวิต ประตูแห่งกาลอนาคตย่อมเปิดอ้าไว้เสมอ สำหรับต้อนรับการเปลี่ยนแปลง และโอกาสอาจจะมีสักครั้งคราวหนึ่ง ที่ทุกคนจะกระทำตามความคิดความปรารถนาของเขาได้ เธอจงยับยั้งตรึกตรองและบังคับใจไว้ให้ดี”

จึงกล่าวได้ว่า ข้างหลังภาพ เป็นนวนิยายที่ยอดนิยมที่ประกาศความสำเร็จของ “ศรีบูรพา” ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสร้างนวนิยายในแนวเพื่อชีวิตอย่างเรื่องจนกว่าเราจะพบกันอีก และแลไปข้างหน้าและจะเป็นอมตะนิยายที่ตรึงใจผู้อ่านไปทุกยุคทุกสมัย

 

www.mp3-down.th.gs

www.songcode.madoo.com

            โหลดเพลงฟรี มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสากล หรือ ไทย และจะอัพไปเรื่อย เข้าไปดูสิครับ

แสดงความคิดเห็น

>

4 ความคิดเห็น

kuk 8 ก.พ. 51 เวลา 16:43 น. 1

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันอิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

อ่านประโยคนี้แล้วรู้สึกซึ้งมากๆเลย

ได้อ่านทั้งเล่มแล้วก็ดีนะ

0
บลู 24 ส.ค. 51 เวลา 21:12 น. 2

"ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก"ประโยคนี้อ่านแล้วน้ำตากลั้นไม่อยู่เลยค่ะ

0
สุดารัตน์ 23 มิ.ย. 52 เวลา 20:26 น. 4

"ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก"&nbsp ชอบมากกก&nbsp ซึ้งสุดดดดดดดดดเลยยยยยยยย&nbsp โดนมากกกกกกกก10

0