Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

เม่า...ไม้ผลที่นานาชาติตระหนักในคุณค่า

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สุดารัตน์ สกุลคู มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร

เม่า...ไม้ผลที่นานาชาติตระหนักในคุณค่า


ดังที่ได้เรียนให้ท่านผู้อ่านทราบแล้วนะคะว่า เม่า เป็นพืชในตระกูล Antidesma ที่พบกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ในหลายทวีป และด้วยคุณค่าของพืชในตระกูลนี้ทำให้ชนพื้นถิ่นในแต่ละพื้นที่มีการใช้ประโยชน์จากพืชตระกูลนี้ในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน

การบริโภคเม่าเป็นอาหารได้ปฏิบัติกันมานานในหลายประเทศ โดยส่วนใหญ่จะบริโภคผลสด ในประเทศไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย มีการบริโภคใบ และยอดของพืชในกลุ่ม Antidesma ทั้งรับประทานผลสดหรือผสมอาหารเพื่อให้มีรสเปรี้ยว (Hoffman, 2005) โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยนิยมรับประทานผลสด

โดยการนำมาปรุงรสคล้ายกับส้มตำที่เรียกว่า ตำหมากเม่า หรือใช้เปลือกต้นหรือใบมาโขลกรวมกับพริกสด และน้ำปลาร้า เรียกว่าตำเมี่ยง นิยมรับประทานในฤดูร้อนโดยฝาดจากเปลือกต้นและใบ จะช่วยลดอาการท้องเสียได้ จะเห็นได้ว่านอกจากประโยชน์ในด้านการเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว พืชในกลุ่ม Antidesma ยังมีคุณค่าทางเภสัชอีกด้วย

โดยใช้เป็นยาพื้นบ้านในหลายพื้นที่ เช่น เปลือกต้นเม่าเป็นส่วนประกอบของลูกประคบที่เป็นสูตรของท่านหลวงปู่ขาว อนาลโย พระสุปฏิปันโน แห่งวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู

สำหรับการนวดประคบเพื่อผ่อนคลายและรักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยมีส่วนประกอบดังนี้

สมุนไพรใช้เปลือก : เปลือกต้นเม่า เปลือกต้นแดง เปลือกต้นกระบก

สมุนไพรใช้ใบ : ใบหนาด ใบเปล้าใหญ่ ใบพลับพลึง ใบมะนาว ใบมะขาม

สมุนไพรใช้หัว : หัวกระเจียวแดง หัวว่านหอม (ตูบหมูบ) หัวไพล หัวขมิ้นอ้อย หรือ ขมิ้นชัน หัวกระเทียม พิมเสน การบูร

นำสมุนไพรทั้งหมดอย่างละเท่าๆ กันโขลกรวมกันหยาบๆ แล้วห่อผ้าใช้เป็นลูกประคบ (สอบถามจากคุณแม่ชีเพ็ญ วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู)

ที่หมู่เกาะ Mauritius (Narod et al., 2004) ใช้ใบของ Antidesma เพื่อรักษาอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะ และอาการคลื่นไส้ ในประเทศกัมพูชา ใช้เปลือกต้นผสมกับยาสูบรักษาบาดแผลของสัตว์เลี้ยง และใช้เปลือกไม้ของ Antidesma ร่วมกับเปลือกไม้ชนิดอื่นๆ ต้มดื่มแก้อาการท้องเสีย ยอดอ่อนต้มกับรากมะละกอใช้แก้ปัญหารอบเดือน ใบใช้ขยี้ใส่ศีรษะเด็กแรกเกิด

และยังได้มีการศึกษาทดลองเกี่ยวกับสรรพคุณทางเภสัชหลายประการ ดังนี้

Bringmann et.al., (2002) รายงานว่า จากการเพาะเลี้ยงเซลล์และสกัดสารออกฤทธิ์ของ Antidesma membranaceum พบว่ามีสาร isoquinoline alkaloid ที่เรียกว่า Antidesmone ซึ่งมีสรรพคุณในการยับยั้ง Trypanosoma cruzi ซึ่งเป็นพาหะของ Chagas desease เป็นโรคพยาธิที่ก่อให้เกิดการอักเสบของอวัยวะ หากรุนแรงทำให้ตายได้ พบในแถบทวีปอเมริกา

Narod et.al., (2004) ได้ศึกษาสารสกัดจาก Antidesma madagascariense Lam ซึ่งใช้เป็นยาพื้นบ้านสำหรับระบบทางเดินอาหาร และโรคเบาหวานใน Mauritius

พบว่าสารสกัดจากพืชดังกล่าว มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งที่เป็น Gram positive และ Gram negative ซึ่งจะทำให้สามารถรักษาอาการโรคในระบบทางเดินอาหารได้

Mahomoodally (2006) ทดสอบผลของสารสกัดจากใบของ Antidesma madagascariense ที่มีต่อการลำเลียงของ D-glucose ในทางเดินอาหารของหนูพบว่า ในสารสกัดจากใบพืชดังกล่าวมีสารออกฤทธิ์คือ flavonoids alkaloidsleucoanthocyanins phenols และ saponins ซึ่งช่วยในการลำเลียง glucose ในระบบทางเดินอาหารของหนูอันจะมีผลต่อการลดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากมีความผิดปกติของปริมาณ insulin

ในประเทศไต้หวันได้มีการศึกษาสารสกัดจากพืชสมุนไพรจีน 100 ชนิด พบว่าสารสกัดจาก Antidesma pentradum var. barbartum ซึ่งเป็นสาร alkaloid

ที่มีผลึกเป็นรูปปริซึมสีเหลืองที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ Tricomonas vaginalis ได้ดีที่สุด

Yoshida et.al., ได้ค้นพบ tannin ชนิดใหม่ใน Antidesma pentandrum MERR, var. barbatum MERR.

Boyom et.al.,(2003) ได้ทดลองสกัดสารหอมระเหยจากใบของ Antidesma laciniatum

vuell.Arg.Var.lanciniatum ที่เก็บตัวอย่างในประเทศแคเมอรูน พบว่า มีส่วนประกอบของ ester derivatives ซึ่งให้กลิ่นหอมหวาน ส่วนในประเทศไทย นอกจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสกลนคร ที่ได้ศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเม่าอย่างต่อเนื่องตลอดมา ก็มีงานวิจัยจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น อุษาณี ขวัญสังข์ ได้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดสมุนไพรมะเม่า (Antidesma acidum) ในหนูขาว หนูถีบจักร ในสภาพปกติ และต่ออวัยวะที่แยกออกจากกายหนูขาว หนูตะเภา

ประกอบด้วยฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบหายใจ ระบบโลหิต และระบบทางเดินอาหาร เมื่อป้อนสารสกัดสมุนไพรมะเม่าที่ความเข้มข้นต่างๆ กันพบว่า ฤทธิ์ทั่วไปทางเภสัชวิทยาของสารสกัดสมุนไพรมะเม่า ได้แก่ การเพิ่มจำนวนของ WBC ลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดการหดตัวของลำไส้เล็ก ส่วน ileum ของหนูขาว

สารสกัดสมุนไพรมะเม่าไม่มีผลต่อหัวใจ หลอดเลือด หลอดลม อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถอธิบายกลไกการออกฤทธิ์ของผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ จำเป็นต้องทำการศึกษาต่อไป

กัมมาลและคณะ (2546) ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV เชื้อรา เชื้อแบคทีเรียของสมุนไพรไทย 5 ชนิด คือ มะเม่า ฟ้าทลายโจร หญ้าแห้วหมู ผักเป็ดแดง และสายน้ำผึ้งพบว่า มะเม่า สายน้ำผึ้ง และหญ้าแห้วหมู มีศักยภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและมีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV ได้

สมานและสำรี (2549) ศึกษาการออกฤทธิ์ของสารโพลีฟีนอลในไวน์แดงสยามมัวส์ต่ออะพอสโตซีสของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MDA-MB- 435 ที่ปลูกถ่ายในหนูเปลือยที่ตัดต่อมไทมัส : ตรวจผลโดยการสร้างภาพเคมีและฮีทโตเคมี โดยใช้สารประกอบโพลีฟีนอลที่สกัดจากไวน์แดงสยามมัวส์ (SRPE) และไม้มะเม่า (MPE)

อัตราส่วน 1 ต่อ 1 พบว่า สารโพลีฟีนอลแสดงผลยับยั้งการเจริญเติบโตในเซลล์มะเร็งทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม ชนิด MDA-MB-435 มะเร็งเม็ดเลือดแดงตัวอ่อนชนิดที่ไว (K5620) และดื้อต่อยา (K562/adr) มะเร็งปอดชนิดเล็กที่ไว (GLC4) สอดคล้องกันทั้งระดับเซลล์และในระดับสัตว์ทดลองที่แสดงให้เห็นว่าสารประกอบโพลีฟีนอลที่สกัดจากไวน์แดงสยามมัวส์ ไม้มะเม่า และจากสารสกัดผสมจากไวน์แดงสยามมัวส์ และไม้มะเม่าไม่จัดเป็นสารพิษ และมีผลข้างเคียงน้อยมาก

จึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะพัฒนาสารโพลีฟีนอลดังกล่าวเป็นสารอาหารที่ใช้ในการป้องกันและรักษามะเร็งในระดับคลีนิคต่อไป

นอกจากนี้ ยังพบการโฆษณาอาหารเสริม ชื่อ Lovepuppies ของ บริษัท AKITA HERBAL PRODUCTS ซึ่งมีเม่า (Antidesma bunius) ร่วมกับพืชอีก 5 ชนิด โดยกล่าวอ้างสรรพคุณในการลดความดันโลหิต ลด cholesterol เพิ่ม testosterone ซึ่งมีส่วนในการเสริมพลังทางเพศในเพศชายด้วย และมีการโฆษณาเครื่องดื่มน้ำผลไม้ที่มีเม่าเป็นส่วนผสมร่วมกับมังคุดและผลไม้อื่นอีก 2-3 ชนิด โดย DeserveTheBesNnaturaly.com จำหน่ายในราคาสูงอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าพืชในกลุ่ม Antidesma ที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมีประโยชน์หลากหลาย เช่นกัน คือมีคุณค่าทั้งทางด้านโภชนะและเภสัช และได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ จากการสำรวจรวบรวมพันธุกรรมเม่าหลวงที่สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร ได้ร่วมกับนักวิจัยท้องถิ่นที่ได้คัดเลือกและปลูกเม่าหลวงและส่งเม่าหลวงเข้าประกวด ในงานเทศกาลหมากเม่าสกลนคร ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยกลุ่มผู้ปลูกเม่า และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จากเม่า จัดติดต่อกันมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545 ทำให้ได้ทราบถึงความแตกต่างและความหลากหลายของพันธุกรรมเม่า ในพื้นที่แถบเทือกเขาภูพาน ทำให้ทราบว่าแถบเทือกเขาภูพานโดยเฉพาะในเขตจังหวัดสกลนครนี้เป็นแหล่งพันธุกรรมอันอุดมสมบูรณ์ของพืชใน genus Antidesma ดังนั้นการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมเม่า และการพัฒนามาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เม่า เพื่อให้ประเทศไทยเรามีผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากความหลากหลายของทรัพยากรพันธุ์พืชที่เป็นทรัพยากรล้ำค่าของไทย โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างชาติ หรือรอให้ต่างชาติมาหยิบฉวยไปพัฒนาเพื่อนำกลับมาขายคนไทยอีกที

ซึ่งในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านงบประมาณ และความร่วมมือร่วมใจระหว่างนักวิชาการ องค์กรภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาให้อุตสาหกรรมเม่ามีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์เม่าให้เป็นพืชเอกลักษณ์อันทรงคุณค่าของจังหวัดสกลนคร และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยต่อไป



เอกสารอ้างอิง

กัมมาล กุมาร ปาวา สมบูรณ์ เกียรตินันท์ โสภิดา ธรรมตรี สุดา ลุยศิริโรจนกุล อังคณา ฉายประเสริฐ และกรกนก อังคนันท์. 2546 การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ของสมุนไพรมะเม่า และพืชสมุนไพรไทย 4 ชนิด : การศึกษาสมุนไพรไทยในการรักษาโรคเอดส์เพื่อพัฒนาเป็นยาอุตสาหกรรม. รายงานวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ. กรุงเทพฯ. 132 น.

วิภพ สุทธนะ สมาน เดชสุภา ไพบูลย์ เรืองพัฒนาพงศ์ มนตรี ตั้งใจ วินิจ ช้อยประเสริฐ วรวรรณ ปรารมภ์สมพงษ์ ศรีบุรี สุชาติ โกทันย์ และสำรี

มั่นเขตต์กรน์. 2549. การแยกบริสุทธิ์สารโพลีฟีนอลในไวน์แดงสยามมัวส์และศึกษาประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการชักนำการตายแบบอาปอปโตซิสในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดแดงและมะเร็งปอด ชนิดเซลล์เล็ก

F. Boyom Fekam E. Assembe Zambo P.H. Zollo Amvam H. Agnaniet C.Menut J.M. Bessiere Aromatic plants of tropical central Africa. Part XLII . Volatile

components from Antidesma laciniatum Muell. Arg. var. laciniatum growing in Cameroon,2002.

Mahomoodally,2006 MF Stimulatory effects of Antidesma madagascariense on D-glucose, L- tyrosine,fluid and electrolyte transport across rat everted intestine,

comparable to insulin action in vitro. British Jurnal of Biomedical Science.


จาก มติชน หน้า 24

PS.  ความรักไม่มีวันตาย มันจะทำให้เรามีความสุขตลอดไป แม้จะโดนหักอกแต่ก็จะจำช่วงเวลาดีๆไปตลอดกาล เข้ามาอ่านนิยายเราบ้างเน้อ ช่วงนี้เงียบเหงาชักกล - -"

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น

~๐สุดสายป่าน_มะขามเปียก๐~ 22 ก.ย. 50 เวลา 08:16 น. 1


งืมๆ...
PS.  จะผูกอสรพิษท่านให้ผูกด้วยมนตรา ผูกไอยราท่านให้ผูกด้วยสายบาศ แต่ถ้าจะผูกคนท่านให้ผูกด้วยสายใยแห่งไมตรีจิต ด้วยไม่มีความเหนียวแน่นใดๆจะทรงพลังเท่า ...
0