Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ที่มาของ "จังหวัดภูเก็ต"

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ภูเก็ต-ภูเก็จ



ประวัติศาสตร์โลก ภูเก็ตเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดีย โดยผ่านแหลมมลายู หลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือหนังสือภูมิศาสตร์และแผนที่เดินเรือของชาวกรีก คลอดิอุส ปโตเลมี เมื่อประมาณ พ.ศ.700 กล่าวถึงการเดินทางจากแหลมสุวรรณภูมิลงมาจนถึงแหลมมลายู ซึ่งต้องผ่านแหลม "จังซีลอน" หรือเกาะภูเก็ตนั่นเอง นอกจากนี้ มีหลักฐานการเรียกขานของชาวทมิฬ พ.ศ.1568 ว่า "มณิคาม" หมายถึงเมืองแก้ว พ้องกับชื่อ "ภูเก็จ" ที่หมายถึงภูเขาแก้ว

ประวัติศาสตร์ไทย ภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิงก์ ต่อมาถึงสมัยอาณาจักรศิริธรรมนคร เรียกเมืองตะกั่วถลาง เป็นเมืองที่ 11 ใน 12 เมืองนักษัตร โดยใช้ตราเป็นรูปสุนัข จนถึงสมัยสุโขทัยเมืองถลางไปขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า กระทั่งสมัยอยุธยาชาวฮอลันดามาสร้างสถานที่เก็บสินค้าเพื่อรับซื้อแร่ดีบุกจากเมืองภูเก็ต

ล่วงถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้จนถึงเมืองถลาง ขณะนั้นเจ้าเมืองถลางถึงแก่กรรม คุณหญิงจัน ภริยา และคุณมุก น้องสาว จึงรวบรวมกำลังต่อสู้กับพม่าจนชนะ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2328 รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ตั้งคุณหญิงจันเป็น ท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร จวบจนรัชกาลที่ 5 ได้รวบรวมหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต และเมื่อ พ.ศ.2476 ได้ยกเลิกระบอบมณฑลเทศาภิบาล เปลี่ยนเป็นจังหวัดภูเก็ต จนถึงปัจจุบัน

สำหรับชื่อ "ภูเก็ต" สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำภาษามลายู ว่า บูกิ๊ต หรือบูเก๊ะ แปลว่าภูเขา ส่วนที่ว่าสะกดด้วย จ เป็น "ภูเก็จ" เห็นว่าเป็นคำไทย แปลว่าภูเขาแก้ว ลายลักษณ์อักษรปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งใช้ จ สะกดมาจนถึง พ.ศ.2449 ก่อนเปลี่ยนเป็น ต สะกดในปีถัดมา

โดยที่ยังปรากฏ ภูเก็จ ในเอกสารหลายฉบับ อาทิ 1.จดหมายเหตุเมืองถลาง กล่าวถึงคุณเทียน ประทีป ณ ถลาง (บุตรท้าวเทพกระษัตรี) เจ้าเมืองภูเก็จ ได้รับพระราชทานตำแหน่ง พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง แปลว่า ผู้ครองเมืองภูเขาแก้ว 2.พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระยศพระบรมโอรสาธิราช กราบบังคมทูลรายงานกิจการเหมืองแร่ในมณฑลภูเก็จ ครั้งเสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128

3.หนังสือราชการเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการเขียนถึงพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ 4.ตราประทับของกระทรวงมหาดไทยประจำมณฑลภูเก็จ 5.เครื่องบินประจำมณฑลภูเก็จ 6.ภาพแผนที่ระวาง เขียนโดยกรมแผนที่ทหาร ใช้คำว่า ภูเก็จ

ขณะชื่อ ภูเก็ต กลับไม่ปรากฏในหนังสือราชการ เพราะสมัยที่อยู่ในปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชเรียกชื่อ "ตะกั่วถลาง" เข้าสมัยอยุธยาก็เรียก "เมืองถลาง" ต่างกับชื่อ ภูเก็จ มีเป็นหลักฐานเอกสารตั้งแต่ พ.ศ.2328 เรื่องนี้รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในจดหมายเหตุเสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128 โดยทรงใช้นามแฝง "นายแก้ว" ความว่า

"...เมืองภูเก็จนั้นเป็นเมืองที่เพิ่งจะมีขึ้นใหม่ๆ ดูว่าน่าจะมาจากภาษามลายูว่า "บูกิต" แล้วจึงแปลงมาเป็น "พูเก็ต" ต่อมาบางทีจะมีใครที่มีความรู้ภาษาไทยดีๆ มาคิดเขียนสะกดตัวเสียใหม่ว่า "ภูเก็จ" ให้สำเนียงคงอยู่อย่างเดิม แต่ให้มีคำแปลขึ้น คือผสมคำว่า "ภู" แปลว่าเขา กับ "เก็จ" แปลว่าฝั่ง เข้าด้วยกัน..."

จากพระราชดำริดังกล่าว ทำให้เป็นที่สันนิษฐานว่าอาจจะมีส่วนทำให้เปลี่ยนวิธีเขียนชื่อจาก ภูเก็จ เป็น ภูเก็ต ก็ได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
PS.  -YunhO-JunkI-MickeY-SungmiN-HongkI-KihyuN-RyewooK-

แสดงความคิดเห็น

>

2 ความคิดเห็น

coolkid1412 20 พ.ย. 50 เวลา 17:30 น. 1

ขอบคุณสำหรับความรู้นะครับ
พึ่งรู้นะเนี่ย .......


PS.   ถึงตัวจะเล็ก แต่สมองยังคงเดิม เป็นยอดนักสืบสุดฉลาด ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น.....
0