คณะแพทยศาสตร์ Issue 003 week3, January 2010
 
คณะแพทยศาสตร์
ตอนที่ 3/4 : จากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง : ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัย
 
กว่าจะเป็นหมอ ตอนที่1
        สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว DEK-D.com .... มาแล้ว มาแล้ว คณะในฝันประจำเดือนมกราคม "แพทยศาสตร์" ก็มาถึงสัปดาห์ที่ 3 แล้ว หลังจาก คราวก่อน พี่เป้ พาน้องๆ ไปพูดคุยกับรุ่นพี่จาก 6 ชั้นปี คงทำให้พอเห็นภาพกันชัดเจนขึ้นว่าการเรียนแพทย์เป็นยังไงบ้าง มาคราวนี้ พี่เป้ ดีใจสุดๆ เพราะมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณหมอคนเก่งที่ได้ให้เกียรติสัมภาษณ์ ลงคอลัมน์คณะในฝัน ขอบอกว่า รู้สึกเป็นเกียรติสุดๆ เลยล่ะค่ะ เพราะแต่ละท่านต่างก็งานยุ่ง บางท่านก็เรียนหนัก แต่ก็ยังสละเวลามาตอบคำถามให้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไปดูกันเลยดีกว่าว่าคุณหมอที่จะมาคุยกับน้องๆ เป็นคุณหมอด้านไหนกันบ้าง
คุณหมอท่านที่ 1 : คุณหมอหมู นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์
แพทย์เฉพาะทางด้านเวชกรรมสาชาศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์
 
 
พี่เป้: สวัสดีค่ะคุณหมอ อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ ที่กำลังอ่านอยู่หน่อยค่ะ?
คุณหมอหมู: ชื่อ พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ชื่อในเนต หมอหมู เรียนจบมัธยมจากโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม จังหวัดกำแพงเพชร สอบโควต้าเข้าไปเรียนแพทย์ทั่วไป ๖ ปี ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วก็เรียนต่อแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกและข้อ (ออร์โธปิดิกส์) อีก ๓ ปี ที่ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
พี่เป้: ทำไมคุณหมอถึงสนใจศึกษาต่อด้านออร์โธปิดิกส์คะ?
คุณหมอหมู: ตอนเรียนแพทย์ ก็รู้สึกอยากจะเป็นหมอผ่าตัด อาจเป็นเพราะค่านิยมในสมัยนั้นที่หมอผู้ชายส่วนใหญ่จะเลือกเป็นหมอผ่าตัด ส่วนเหตุผลหลักที่เลือกเป็นหมอผ่าตัดกระดูกและข้อแทนที่จะเป็นหมอศัลยกรรมทั่วไป ก็คือชอบบรรยากาศการเรียนการสอน โดยเฉพาะความเป็นกันเองของรุ่นพี่และอาจารย์ แล้วก็มีวิธีผ่าตัด มีเครื่องไม้เครื่องมือเยอะแยะให้เลือกใช้

 

พี่เป้: นับตั้งแต่เรียนจบมาจนถึงปัจจุบัน คุณหมอทำงานที่ไหน มาแล้วบ้างคะ?
คุณหมอหมู: จบแล้วก็มาทำงาน ที่ รพ.กำแพงเพชร ที่เดียวเลยครับ ทำได้สิบกว่าปีจึงได้ลาออกจากราชการ ปัจจุบันเปิดคลินิกส่วนตัวรักษาโรคกระดูก และข้อโดยเฉพาะ แล้วก็ตอบปัญหาสุขภาพผ่านเว็บและเมล์ ถือว่าเป็นการทำประโยชน์กลับคืนให้สังคมบ้าง
 
พี่เป้: ความยากง่ายของการเป็นหมอออร์โธปิดิกส์อยู่ที่ไหนคะ?
คุณหมอหมู: ไม่ว่าหมอทั่วไป หรือหมอเฉพาะทางก็จะเหมือนกันตรงที่ต้องติดตามข่าวสารความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ แต่หมอกระดูกก็จะเพิ่มตรง เทคนิคการผ่าตัดใหม่ ๆ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ฝึกฝน วิธีเครื่องมือที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน และราคาแพงมาก นอกจากนั้นยังต้องอาศัยทีมงาน (พยาบาล เจ้าหน้าที่) ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ทำให้ค่อนข้างยากสำหรับหมอกระดูกและข้อในต่างจังหวัดที่จะพัฒนาตามเทคโนโลยี่ใหม่ ๆ เหล่านี้
 
 

 
 


 
พี่เป้: ทราบมาว่าคุณหมอเขียนหนังสือด้วย ไม่ทราบว่าเป็นหนังสืออะไรคะ?
คุณหมอหมู: ชื่อหนังสือ “ รู้เท่าทัน ป้องกันโรคกระดูก “ สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์ เป็นหนังสือเกี่ยวกับความรู้โรคกระดูกและข้อที่พบบ่อย ทั้งสาเหตุ อาการ การดูแลตนเอง แนวทางรักษา เพื่อที่ให้ผู้อ่านได้รับ และเข้าใจ เพื่อจะได้สามารถดูแลรักษาตนเองได้ในเบื้องต้น เพราะผมมีความเชื่อว่าถ้าประชาชน ผู้ป่วย มีความรู้ก็จะสามารถดูแลตนเอง รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตนเองอย่างไร และให้ความร่วมมือกับแพทย์ได้มากขึ้น แพทย์เองก็จะสามารถพูดคุยแนะนำได้ง่ายขึ้น ผลการรักษาก็ดีขึ้น ดีด้วยกันทุกฝ่าย ถ้าใครยังไม่มี ก็รีบไปซื้อหาได้เลยนะครับ
 
พี่เป้: การทำงานเป็นหมอในโรงพยาบาลกับการเปิดคลินิกส่วนตัว มีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันมั้ยคะ?
คุณหมอหมู: ต่างกันมากครับ แบ่งเป็นข้อ ๆ จะได้เปรียบเทียบกันง่ายขึ้น
    ๑. การทำงาน ... ในโรงพยาบาล หมอก็ทำหน้าที่ตรวจรักษา ส่วนหน้าที่อื่น ๆ เช่น สั่งซื้อยา เตรียมอุปกรณ์ สถานที่ คิดค่าใช้จ่าย เก็บเงิน ฯลฯ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ช่วยจัดเตรียมไว้ให้ แต่ในคลินิก เราก็ต้องทำทุกอย่าง สั่งซื้อยาอุปกรณ์ คิดค่ารักษา ต้องรับผิดชอบการลงทุน ผลกำไรขาดทุน เทียบง่าย ๆ ก็คงคล้ายกับเป็นเจ้าของกับลูกจ้างนั่นเอง

    ๒. การตรวจรักษา ... หน้าที่ของแพทย์ ก็อาจไม่แตกต่างกันนัก แต่ที่แตกต่างกันมากก็คือ เวลาที่ใช้ในการตรวจผู้ป่วยแต่ละคน ในโรงพยาบาลคนไข้เยอะมาก จึงไม่สามารถที่จะตรวจละเอียด หรือให้เวลาพูดคุยแนะนำได้มากนัก ในขณะที่คลินิกคนไข้ปริมาณไม่มากนัก จึงมีเวลาพูดคุยซักถาม มีเวลาตรวจ มีเวลาแนะนำได้มากกว่าตอนอยู่ที่โรงพยาบาล
 
พี่เป้: อยากให้คุณหมอช่วยเล่าถึงเคสคนไข้ที่ประทับใจสัก 1 เคสหน่อยค่ะ?
คุณหมอหมู: มีเยอะเหมือนกันนะครับ เลือกรายนี้ละกัน เป็นเด็กวัยรุ่นประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ ( กำลังเดินทางกลับจากเรียนพิเศษ แต่ถูกคนเมาสุราขับรถกะบะมาชนท้าย) มีแขนขาหักทั้งสองข้าง กระดูกเชิงกรานแตก ตับแตก ม้ามแตก แต่ก็ยังดีที่ใส่หมวกกันน็อก สมองเลยไม่ได้รับบาดเจ็บ ไม่เช่นนั้นก็อาจเสียชีวิตไปแล้ว มาถึงโรงพยาบาลวันแรกก็ผ่าตัดเรื่องช่องท้อง หมอศัลยกรรมผ่าไปก่อน ผมก็ค่อยใส่เฝือก ใส่เหล็กดามกระดูกภายนอกไว้ชั่วคราว เพราะคนไข้เสียเลือดมาก ใช้เวลาผ่าตัดไปแล้วสามชั่วโมงกว่า หลังจากนั้นก็มาดูแลรักษาจนสภาพทั่วไปดีขึ้นแล้ว ก็ค่อยไปผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกแขนขาทั้งสองข้าง ผ่าตัดทำแผลกันอีกหลายรอบ กว่าจะได้กลับบ้านก็ใช้เวลาเป็นเดือน
      ที่ประทับใจก็คือดูจากสภาพผู้ป่วยในตอนแรก ไม่น่าจะรอด แต่ก็ได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ (ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมกระดูก และอายุรกรรม ) ทีมพยาบาลและเจ้าหน้าที่รวมกัน ทำให้ผลการรักษาออกมาดีกว่าที่คาด สามารถกลับมาเดินได้ เรียนหนังสือได้อีกครั้ง เวลาที่ผู้ป่วยมาพบ ได้เห็นว่าเขาดีขึ้น ก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ ที่มีส่วนช่วยให้เขากลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง
 

 
 
พี่เป้: เชื่อว่ามีน้องๆ หลายคนที่กำลังอ่านสนใจด้านสุขภาพ อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำวิธีการดูแลข้อและกระดูกอย่างง่ายๆ ค่ะ?
คุณหมอหมู: สำหรับวัยรุ่น ก็อยากให้แบ่งเวลาไปออกกำลังกายบ้าง เพราะร่างกายในช่วงนี้จะเป็นการสร้าง ถ้าไม่สร้างให้แข็งแรงแล้วพออายุมาก ก็จะเกิดปัญหาโรคข้อ โรคกระดูกตามมา อีกประเด็นก็เกี่ยวกับการบาดเจ็บบริเวณกระดูกหรือข้อ การดูแล ปฐมพยาบาล ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ช่วง ๒๔ ชม.แรกให้ใช้หลัก RICE
-Rest พัก หยุดใช้ส่วนที่บาดเจ็บ ให้อยู่นิ่ง ๆ
-Ice ประคบเย็น เพื่อให้หลอดเลือดหดตัว เลือดจะได้ออกน้อยลง
-Compress กดรัด ใช้ผ้ายืดพัน เพื่อลดอาการปวด บวม และ เลือดออกน้อยลง
-Elevate ยก ส่วนที่บาดเจ็บให้สูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น หลังจากนั้นก็ค่อยประคบด้วยความร้อนหรือใช้ครีมนวด เพื่อให้เลือดที่ออกมาแล้วนั้นถูกดูดซึมได้เร็วขึ้น ที่เห็นในโฆษณาที่หกล้มปุ๊บก็ใช้ยาหม่องนวดเลยนั้น เป็นความเข้าใจผิด อย่าไปทำนะครับ ถ้ารู้สึกเจ็บมาก บวมมาก ก็ควรรีบไปพบแพทย์ จะได้ดูแลรักษาให้ถูกต้องเหมาะสม

ผมทำบล็อกเอาไว้ด้วย มีเรื่องที่น่าสนใจเยอะแยะ ลองเข้าไปอ่านดูก็ได้นะครับ http://cmu2807.bloggang.com/

 
พี่เป้: สุดท้ายท้ายสุด อยากให้คุณหมอช่วยให้กำลังใจหรือฝากข้อคิดแก่น้องๆ ที่อยากเป็นแพทย์ด้วยค่ะ
คุณหมอหมู: อยากให้ลองค้นหาเหตุผลว่าทำไมถึงอยากเป็นแพทย์ เพราะแพทย์เป็นวิชาชีพที่ต้องใช้ทุ่มเท ทั้งเวลา แรงกาย แรงใจ อย่างมาก ตั้งแต่เริ่มเรียนไปจนตลอดชีวิตการทำงานเป็นแพทย์ อย่าคิดว่าจะเข้ามาเรียนเพราะว่าจบไปแล้ว ทำงานสบาย รายได้ดี ในปัจจุบันแพทย์มีจำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะคลินิกหรือ รพ.เอกชน มีเยอะกว่าสมัยก่อนมาก โอกาสที่จะทำงานมีรายได้สูง จนร่ำรวยเหมือนสมัยก่อนนั้นแทบไม่มีเลย ชีวิตจริงแตกต่างจากที่คนภายนอกเข้าใจหรือเห็นจากโทรทัศน์ รายได้ของแพทย์โดยเฉลี่ยก็ถือว่าปานกลาง อาจดีกว่าค่าเฉลี่ยของอาชีพทั่วไป แต่ก็ไม่ได้มากมายจนทำให้ร่ำรวย นอกจากเรื่องรายได้แล้ว ปัจจุบัน (อนาคต) ก็จะมีปัญหาเรืองของการฟ้องร้องแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับและปรับตัว ถ้ายังเป็นหมอก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ส่วนข้อดีของการเป็นแพทย์ก็คือความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วย เป็นอาชีพที่มั่นคง มีรายได้พอสมควรกับการดำรงชีวิต แล้วก็ยังได้รับความนับถือให้เกียรติจากคนส่วนใหญ่ ( ซึ่งมีไม่กี่อาชีพที่คนนำเงินมาให้แล้วยังไหว้ขอบคุณ )
 
 
คุณหมอท่านที่ 2 : คุณหมอจิ้งกุ่ง พญ. ธัญญาณ์ รอดกนก
แพทย์ประจำบ้านสาขานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
 
พี่เป้: สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นรบกวนคุณหมอช่วยแนะนำตัวด้วยค่ะ
คุณหมอจิ้งกุ่ง: สวัสดีค่ะ ชื่อธัญญาณ์ รอดกนก (จิ้งกุ่ง) จบจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ค่ะ
 
พี่เป้: อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณหมอเลือกเรียนแพทย์คะ ?
คุณหมอจิ้งกุ่ง: จริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษค่ะ เชื่อว่ามีหลายๆ คนที่เรียนแพทย์เพราะว่าจบแล้วมีงานทำมั่นคง ถึงไม่รวย แต่ก็ไม่อดตาย... พี่ก็เป็นหนึ่งในนั้นนะ
 
พี่เป้: คุณหมอเพิ่งจะจบมาไม่นาน เลยอยากทราบว่า ตอนเรียนปริญญาตรี 6 ปีนั้น ปีไหนที่คุณหมอคิดว่ายากสุดคะ?
คุณหมอจิ้งกุ่ง: ปี 4 จะลำบากในเรื่องการปรับตัว เพราะช่วง 3 ปีแรก เราจะเรียนทฤษฎีตลอด แต่ปี 4 เป็นปีแรกที่ได้เจอคนไข้ สัมผัสชีวิตหมอจริงๆ จำได้เลยว่าวันแรกที่อาจารย์พาไปเดินดูหอผู้ป่วย แล้วให้เรากับเพื่อนซักประวัติผู้ป่วย ทุกคนงง ไม่รู้จะถามอะไร เพราะยังไม่รู้วิธีเอาความรู้ต่างๆ ที่เรียนมามาประยุกต์ใช้จริง แล้วปี 4 เพิ่งได้อยู่เวรเป็นครั้งแรก ตอนนั้นยังคิดว่า.. ตายแล้ว ให้อยู่เวรถึงเที่ยงคืน (ปกติเข้านอนเร็วมาก) วันต่อมาจะไปเรียนไหวเหรอ... ซึ่งจริงๆแล้ว พวกนักศึกษาแพทย์ปี 4 เวลาอยู่เวร ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันหรอกค่ะ แค่คอยทำแลป รับคนไข้ใหม่ อยู่ปี 6 เหนื่อยกว่านั้นเยอะเลยค่ะ
 
พี่เป้: ปกติแล้วหลังเรียนปริญญาตรี จะต้องทำงานใช้ทุน 3 ปี ไม่ทราบว่าตอนนี้คุณหมอประจำอยู่ที่ไหนคะ?
คุณหมอจิ้งกุ่ง: ที่ มช. จะสามารถสมัครเรียนต่อได้เลย (ยกเว้นเด็กที่มาจากโครงการพิเศษ เช่น ผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชนบท ฯลฯ) แต่ในแต่ละสาขาก็จะรับเรียนต่อจำนวนจำกัด ดังนั้นก็มีการแข่งขันกันบ้าง โดยเฉพาะในภาควิชาที่คนสนใจกันมาก พี่สมัครเรียนต่อนิติเวชศาสตร์ เพราะฉะนั้นจึงใช้ทุนแค่ปีเดียวที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ (จริงๆ แล้วปีแรกเป็นปี"เพิ่มพูนทักษะ" จากนั้นอีก 2 ปี ถือว่าไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลชุมชน) จากนั้นจะเรียนต่อนิติเวชศาสตร์อีก 3 ปี ซึ่งแต่ละที่ก็คนละอารมณ์นะ ที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ก็จะรวมๆ เคสจากทั้งภาคเหนือที่เค้าส่งต่อมา เคสแต่ละเคสก็จะยากและซับซ้อนหน่อย เจอโรคแปลกๆ ที่ตอนเรียนคิดว่า "ชีวิตนี้จะเจอมั้ยเนี่ย?" ส่วนโรงพยาบาลจังหวัดจะเจอเคสหลากหลาย ตั้งแต่โรคทั่วไปจนถึงโรคยากๆ
 

 

 

 
 

 
 
 
พี่เป้: แล้วทำไมคุณหมอถึงสนใจด้านนิติเวชคะ?
คุณหมอจิ้งกุ่ง: ชอบและสนใจด้านนี้ค่ะ เมื่อก่อนดูซีรี่ย์ CSI แล้วชอบ อยากทำงานอย่างนั้นบ้าง (จริงๆ หมอนิติเวชก็ไม่ได้ทำงานอย่าง CSI หรอกนะคะ อันนั้นเป็นงานของจนท.พิสูจน์หลักฐานมากกว่า) นิติเวชมีอะไรมากกว่าที่คิดนะคะ ไม่ใช่ผ่าศพอย่างเดียว มีทั้งตรวจคนไข้คดี (ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย อุบัติเหต) ตรวจสารพิษ เก็บวัตถุพยาน
 
พี่เป้: ขอเรียนถามตรงๆ ว่า เรียนนิติเวชอย่างนี้ คุณหมอเคยเกิดอารมณ์กลัวบ้างมั้ยคะ?
คุณหมอจิ้งกุ่ง: อันนี้เป็นคำถามยอดฮิต :-) ต้องบอกว่า "อยู่กันเป็นกลุ่ม ไม่กลัวค่ะ" คือปกติทำงานกันเป็นทีมอยู่แล้วค่ะ มีหมอ มีผู้ช่วย ถ้าไปพิสูจน์นอกสถานที่ ก็มีคุณตำรวจ กู้ภัย ฯลฯ ด้วย ถ้าอยู่เยอะๆ ก็ไม่กลัวค่ะ แต่ถ้าอยู่คนเดียวก็คงกลัวเหมือนกันค่ะ
 
พี่เป้: ว่ากันว่าคนเรียนหมอเป็นพวกหัวกะทิ คุณหมอคิดยังไงกับคำกล่าวนี้คะ?
คุณหมอจิ้งกุ่ง: คนเรียนหมออาจจะไม่ถึงขั้นหัวกะทิทุกคน แต่ก็คิดว่า ถ้าเรียนไม่เก่ง(แบบ..โง่เง่าเต่าตุ่นจริงๆ) ก็เรียนไม่ได้ค่ะ คือถ้าความรู้เราไม่ถึง จะเอาอะไรไปรักษาคนไข้ล่ะคะ คนเป็นหมอมีเรื่องที่ต้องรู้เยอะมากๆ และความรู้ต่างๆ ก็ update ตลอดเวลา อย่างน้อยก็ต้องเรียนเก่งในระดับนึงแล้วก็ขยันด้วยค่ะ ที่สำคัญมีความคิดสร้างสรรค์ คนที่เค้าประยุกต์ความรู้เป็น ขยันหาความรู้ตลอด อันนี้จะเป็นหมอที่ดีมากเลยค่ะ (หมายถึงในแง่วิชาการนะคะ เรื่องการปฏิบัติตัวก็อีกอย่างนึงค่ะ)
 
 พี่เป้: สุดท้ายอยากให้คุณหมอช่วยฝากข้อคิดถึงน้องๆ ที่กำลังอ่านด้วยค่ะ?
 คุณหมอจิ้งกุ่ง: สมเด็จพระบิดากล่าวไว้ว่า "ฉันไม่ต้องการให้เธอเป็นหมอเพียงอย่างเดียว แต่ฉันต้องการให้เธอเป็นคนด้วย" ให้จำคำนี้ไว้นะ... ก็ขอฝากไว้ว่า อยากให้ขยันเรียน เก็บเกี่ยวความรู้เยอะๆ ปฏิบัติตัวกับคนไข้ดีๆ และ(ขอพูดในฐานะรุ่นพี่) ควรมีสัมมาคารวะกับรุ่นพี่ด้วยนะคะ
 
 
คุณหมอท่านที่ 3 : คุณหมอไปป์ แพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และจิตแพทย์ประจำหน่วยจิตเวชเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
 
     

พี่เป้: สวัสดีค่ะคุณหมอ ก่อนอื่นอยากให้ช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ Dek-D.com หน่อยค่ะ?
คุณหมอไปป์:  จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รุ่นที่ 26 ครับ ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อเฉพาะทาง เป็นแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปฏิบัติงานที่หน่วยจิตเวชเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยครับ

พี่เป้: ทำไมคุณหมอถึงเลือกเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวชคะ ?
คุณหมอไปป์: เลือกตามความชอบเป็นหลักครับ เดิมคิดว่าเป็นสาขาที่มีความน่าสนใจในด้านความเข้าใจผู้ป่วยแบบองค์รวม เข้าใจความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ไม่ได้มองเป็นเพียงแค่คนไข้ มีวิธีการรักษาที่ไม่พึ่งการใช้ยาเป็นหลัก จึงแตกต่างจากสาขาอื่นๆ และที่เลือกจิตเวชเด็ก เพราะชอบทำงานกับเด็ก และคิดว่าปัญหาในสังคมปัจจุบันนี้ หลายๆ อย่างมีรากเหง้ามาจากคนที่เติบโตในครอบครัวที่ขาดความรู้และความพร้อม การดูแลเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ จะส่งผลดีต่ออนาคตของสังคมโดยรวม โดยเราสามารถเป็นหนึ่งในแรงผลักดันเล็กๆ ตรงนี้ได้ครับ

พี่เป้: อยากให้คุณหมอช่วยเล่าถึงบรรยากาศการเรียนด้านจิตเวชหน่อยค่ะ?
คุณหมอไปป์: ต้องปรับตัวเยอะทีเดียวครับ เพราะตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ ผ่านแผนกจิตเวชแค่ช่วงสั้นๆ จึงยังไม่คุ้นกับวิธีการดูแลคนไข้เท่าไหร่ การเรียนก็คือการปฏิบัติจริงเลยครับ เครียดบ้างในช่วงแรกๆ เพราะเป็นเรื่องใหม่ ปีแรกจะดูแลคนไข้ในตึกผู้ป่วยจิตเวชเป็นหลัก ฝึกทักษะการสัมภาษณ์ผู้ป่วยจิตเวช หลังจากนั้นเริ่มตรวจแผนกผู้ป่วยนอก รับปรึกษาผู้ป่วยต่างแผนก อยู่เวรจิตเวชฉุกเฉิน ได้เห็นผู้ป่วยหลากหลายรูปแบบ สนุกดีครับ กิจกรรมวิชาการก็มีบ้าง เช่น เลกเชอร์, case conference, topic review และทำงานวิจัย 1 ชิ้น สำหรับจิตเวชเด็กหลักสูตรจะไม่เหมือนจิตเวชทั่วไป คือเรียนจิตเวชผู้ใหญ่ก่อน 2 ปี และเด็กอีก 2 ปี ขณะที่จิตเวชทั่วไปเรียน 3 ปี บรรยากาศจะเป็นกันเองทั้งเพื่อนๆและอาจารย์ งานไม่หนักมากเมื่อเทียบกับแผนกอื่นๆ ที่ต้องอยู่เวรหามรุ่งหามค่ำ

พี่เป้: และการจะเป็นจิตแพทย์นั้น ต้องมีการสอบใบประกอบวิชาชีพมั้ยคะ?
คุณหมอไปป์: เหมือนกับสาขาเฉพาะทางอื่นๆ ครับ เรียกง่ายๆ ว่าสอบบอร์ด มีทั้งข้อเขียน และสอบการสัมภาษณ์ผู้ป่วยจริงต่อหน้าคณะกรรมการ ถ้าผ่านก็จะได้วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญ ทำงานต่อได้เลยครับ

พี่เป้: คุณหมอคิดว่าจุดเด่นของแพทย์ในสาขาจิตแพทย์คืออะไรคะ?
คุณหมอไปป์: พัฒนาจิตใจตัวเองครับ ช่วยให้เรามองความเป็นไปของตัวเราเอง และคนอื่นได้อย่างเข้าใจและยอมรับมากขึ้น มีผลให้ตัวเรา เลือกที่จะอยู่ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น หลายๆ คนเรียกว่าหมอโรคจิต ฟังดูแล้วนึกถึงโรคจิตแนวหูแว่ว ประสาทหลอน เป็นบ้า แต่จริงๆ แล้วโรคทางจิตเวชมีหลากหลายกว่านั้นมาก เช่นปัญหาความวิตกกังวล ปัญหาบุคลิกภาพ ปัญหาการปรับตัว คนทั่วไปอาจมองว่าจิตแพทย์ต้องดูแปลกๆ เข้าใจยาก หรือเคร่งขรึม จริงจัง แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป แต่ละคนจะมีสไตล์ของตัวเองในการดูแลคนไข้ หรือใช้ชีวิตในแนวทางที่เป็นตัวเองมากกว่า ยังไงจิตแพทย์ก็เป็นคนทั่วๆ ไปนี่แหละครับ

   




 

 

 

 

 

 

 

 

 
 

 

พี่เป้: มีน้องๆ สงสัยมาเยอะมากๆ ว่าการจะเป็นจิตแพทย์ต้องเรียนจิตวิทยาหรือแพทยศาสตร์ แล้วนักจิตวิทยากับจิตแพทย์เหมือนหรือต่างกันยังไง อยากให้คุณหมอช่วยชี้แจงค่ะ?
คุณหมอไปป์: ข้อนี้ขออนุญาตนำข้อมูลจากน้องเชอรี่ นิสิตคณะจิตวิทยา จุฬาฯ มาช่วยแชร์คำตอบเพื่อความชัดเจนนะครับ

-จิตแพทย์คือแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาในคณะแพทยศาสตร์แล้ว (ซึ่งต้องใช้เวลาเรียน 6 ปี) มาศึกษาต่อในสาขาจิตเวชศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาเฉพาะทางอย่างหนึ่งของแพทยศาสตร์ โดยหน้าที่หลักของจิตแพทย์ทั่วไป คือการเป็นผู้ให้การวินิจฉัยและบำบัดรักษาผู้ที่มีอาการทางจิตประสาท โดยการใช้ยา และ/หรือการช่วยเหลือทางด้านจิตสังคม เช่น ทำจิตบำบัด
-นักจิตวิทยานั้นคือผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะหรือสาขาทางจิตวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและกระบวนการทางจิตของมนุษย์ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อหาคำอธิบายและทำนายพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งนี้จิตวิทยายังสามารถแบ่งออกเป็นหลากหลายสาขา และไม่ใช่ทุกสาขาที่จะต้องทำงานในโรงพยาบาลอย่างที่เข้าใจกัน บางสาขาทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลขององค์กร บางสาขาไปเป็นนักวิจัย บางสาขาทำงานอยู่ในโรงเรียน เป็นต้น ส่วนสาขาที่มีการทำงานร่วมกับจิตแพทย์ก็เช่น สาขาจิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาการปรึกษา จิตวิทยาพัฒนาการ เป็นต้น

   ทั้งนี้แม้ว่าจะทำงานร่วมกัน แต่หน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบ ของนักจิตวิทยาในโรงพยาบาลจะต่างกับจิตแพทย์โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ นักจิตวิทยาจะรับผิดชอบในส่วนของการทำแบบทดสอบและการบำบัดที่ไม่เกี่ยวข้องกับยา เช่น การดำเนินการทดสอบผู้ที่มารับการรักษาโดยใช้แบบทดสอบชนิดต่างๆตลอดจนการแปรผลที่ได้จากแบบทดสอบนั้นๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยของจิตแพทย์ นอกจากนี้การบริการให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัด การกระตุ้นพัฒนาการ และการปรับพฤติกรรม ก็จัดอยู่ในสายงานของนักจิตวิทยาเช่นกัน

     แม้ว่าจะมีความแตกต่างระหว่างศาสตร์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ทั้งสองอาชีพนี้ก็มีจุดร่วมกันอยู่บ้าง เช่น ในด้านการเรียนการสอน จิตแพทย์แต่ละสาขาก็จะได้เรียนเนื้อหาวิชาทางจิตวิทยาบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาขาของตน และนักจิตวิทยาบางสาขา เช่น นักจิตวิทยาคลินิกก็จำเป็นจะต้องผ่านการเรียนเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตประสาทในประเภทต่างๆ เช่นเดียวกับจิตแพทย์เช่นกัน

พี่เป้: มีน้องๆ หลายคนเครียดกับการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในฐานะจิตแพทย์ อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำวิธีการคลายความเครียดแก่น้องๆ หน่อยค่ะ?
คุณหมอไปป์: ข้อนี้ตอบยากครับ (ขออ้างอิงหลักการคล้ายๆข้อ9) เพราะน้องแต่ละคนจะมีความเป็นปัจเจคบุคคล ต่างพื้นฐาน ต่างที่มา ต่างความคิด ต่างประสบการณ์ การให้คำแนะนำจะไม่เหมือนกัน เพราะถึงแม้เครียดจากเรื่องสอบเหมือนกัน แต่หากมองไปลึกๆ จะต่างเหตุผลในเรื่องความต้องการที่แท้จริง เช่นบางคนเครียดเพราะถ้าสอบไม่ติด จะไม่ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่    บางคนอาจเครียดเพราะเค้าจะไม่รู้สึกภาคภูมิใจกับตัวเองได้เลยถ้าสอบไม่ติด (ทั้งๆ ที่ชีวิต มีอีกหลายเรื่องที่ทำแล้วก็ภูมิใจได้อีกตั้งเยอะ) เริ่มจากลองสำรวจตัวเองดูครับ ยังไงชีวิตก็เป็นของเราเอง เรามีสิทธิเลือกให้มันเป็นไป เราเลือกที่จะมีความสุขเองได้ ปัจจัยภายนอก เช่น การสอบ มันก็มีของมันอยู่แล้ว ถ้าเราเอาตัวเองไปพัวพันมากเกินไป เราก็จะไม่มีความสุข เพราะชีวิตยังมีอีกหลายด้าน แน่นอนว่าเรื่องสอบก็มีความสำคัญ เราก็ต้องทุ่มเทอย่างพอดี ถ้าเหนื่อยก็พักบ้าง หาความสุขให้ตัวเองบ้าง จะได้มีแรงสู้ต่อ ทำให้มันเป็นไปตามธรรมชาติครับ ไม่มีอะไรที่คงทนถาวร เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป ทั้งความสุขและความทุกข์(ซึ่งเราปรุงแต่งมันขึ้นมาเอง)

พี่เป้: สุดท้ายนี้ อยากให้คุณหมอช่วยฝากถึงน้องๆ ที่อยากเรียนแพทย์ด้วยค่ะ?
คุณหมอไปป์: อยากให้น้องๆ ลองถามตัวเองให้แน่ใจนะครับว่าอยากทำอาชีพอะไร แต่พี่เชื่อว่าทุกอาชีพต่างก็มีความสำคัญ มีเกียรติ และต้องพึ่งพากับอาชีพอื่นทั้งสิ้น ดังนั้นไม่ว่าคำตอบมันจะเป็นยังไง มันก็ไม่มีถูกผิด หรือว่าใครดีกว่าใคร ดังนั้นถ้าอยากเรียนแพทย์ แน่นอนเป็นที่รู้ทั่วๆไป ว่ามันหนักหน่วงเพียงใด เราพร้อมที่จะเสียสละเพื่อแลกซึ่งการได้มาหรือไม่ อดทนกับแรงกดดันจากความคาดหวังได้หรือไม่ พร้อมที่จะช่วยคนๆ หนึ่งโดยมองเค้าเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งได้ไหม และมีอีกหลายๆ คำถามที่เราต้องตอบตัวเองให้ได้ ถ้าคำตอบมันคือใช่ น้องก็มีความพร้อมในระดับหนึ่งที่จะเรียนแพทย์แล้วครับ ขอให้โชคดีครับ

 

พี่เป้: คนไข้ส่วนมากที่มาพบหรือมารักษาตัว ส่วนมากเป็นวัยไหน แล้วมาด้วยปัญหาอะไรคะ?
คุณหมอไปป์: พบได้หลากหลายครับ แล้วแต่ setting เช่น
-แผนกฉุกเฉิน มักพบวัยหนุ่มสาว มาด้วยเรื่องพยายามฆ่าตัวตาย มีอาการทางจิต เช่น หูแว่ว หวาดระแวง ปัญหาอาการข้างเคียงจากการใช้สารเสพติด
-แผนกผู้ป่วยนอก พบได้ทุกวัย เช่น ผู้สูงอายุ มาด้วยอารมณ์ซึมเศร้า ความจำเสื่อม
-ผู้ป่วยต่างแผนก เช่น ผู้ป่วยโรคทางกายที่มีภาวะสับสน หรือแสดงอาการทางจิต ประเมินผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้าย
-แผนกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ที่พบบ่อยคือสงสัยสมาธิสั้น เด็กก้าวร้าว เด็กที่สงสัยภาวะออทิสติก
 

พี่เป้: เรียนถามตรงๆ ว่าการที่เป็นจิตแพทย์ แล้วต้องให้คำปรึกษาแก้ปัญหาแก่คนไข้ คุณหมอเคยเครียดตามกับปัญหานั้นๆ บ้างมั้ยคะ?
คุณหมอไปป์: มีบ้างครับ เนื่องจากยังไงจิตแพทย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ก็ต้องมีความรู้สึกร่วมได้เป็นธรรมดา โดยเฉพาะถ้าเรื่องราวของคนไข้ไปสะท้อนประสบการณ์ในอดีตของตัวแพทย์เอง บวกกับความรู้สึกที่อยากจะช่วยเหลือคนไข้ของเราอย่างเต็มที่ ยิ่งสร้างความลำบากให้กับแพทย์ แต่เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องฝึก คอยสังเกตและเตือนตัวเองเป็นระยะว่าตัวเองคิดอะไร รู้สึกยังไง ถึงอยากจะช่วยยังไง หรือคาดหวังให้เค้าดีขึ้นยังไง บทบาทของเราก็ต้องมีขอบเขต ไม่ให้ตัวเราถลำลึกจนคิดว่าเป็นเรื่องตัวเอง ระวังการเกิดความเครียดจากความคาดหวังของเราเอง เพราะเราไม่สามารถไปเปลี่ยนใครได้ทั้งหมด ทำได้เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ สะท้อน ให้คำชี้นำ และกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงภายใน ที่เหลือเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องไปจัดการต่อ

พี่เป้: แล้วเวลาที่คุณหมอเกิดความเครียด มีวิธีจัดการกับความเครียดยังไงบ้างคะ?
คุณหมอไปป์: สำรวจโลกภายในตัวเองก่อนครับ ถ้าเรื่องนั้นๆ มีผลกระทบกับตัวเรายังไง มีผลต่อพฤติกรรมเรายังไง เกิดอารมณ์ ความคิด ความคาดหวังอะไรขึ้น อะไรเป็นความต้องการที่แท้จริงกับเรื่องนั้นๆ การเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเหล่านี้ภายในได้ จะเกิดความเข้าใจตัวเองขึ้น ความเครียดก็จะเบาลงไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ไม่สามารถแก้ปมทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ก็อาศัยตัวช่วยจากอาจารย์หรือเพื่อนๆ ครับ ถ้าสิ่งๆ นั้นยังแก้ไม่ได้ก็ต้องยอมรับ และหาวิธีรับมือเป็นขั้นตอนไปครับ




 
 
      เป็นยังไงกันบ้างคะกับบทสัมภาษณ์จากคุณหมอทั้ง 3 ท่านจากด้านออร์โธปิดิกส์ ด้านนิติเวช และด้านจิตเวช พี่เป้ รู้สึกปลื้มและดีใจมากๆๆ ที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณหมอที่ทั้งเก่งและมีความสามารถมากขนาดนี้ ต้องขอขอบพระคุณคุณหมอทั้ง 3 ท่าจากใจเลยค่ะ แต่ยังไม่หมดเท่านี้นะคะ !! เพราะสัปดาห์หน้ายังมีคุณหมออีก 2 ท่านรอมาพบกับน้องๆ อยู่ค่ะ (แอบใบ้ให้ว่าเป็นศัลยแพทย์และกุมารแพทย์ล่ะค่ะ ^^) ใครอยากอ่านก็ห้ามพลาดเด็ดขาดเลยนะ รับรองสนุกแน่นอน
 

 

พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

45 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
jariris Member 20 ม.ค. 53 18:06 น. 3
อยากเป็นหมอ ~~!!!

เสาร์-อาทิตย์นี้สู้ตาย!!~  

เหลือหนังสือต้องอ่านอีกเพียบ ไปละ T^T 

โชคดีนะ เพื่อนๆที่สอบ กสพท ทุกคน


แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 20 มกราคม 2553 / 18:08
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
MelodicinD Member 20 ม.ค. 53 19:37 น. 5

ว๊าวๆๆๆ มีพี่ึคณะเราด้วย

Med CMU จงเจริญคร๊าบ ฮ่าๆ

มีประโยชน์สาระมากครับ เราอยากเรียนเฉพาะทางออโธพอดีเลย 

เวลาผ่าแล้วไม่เลอะเทอะดี

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
นันนัน 21 ม.ค. 53 21:27 น. 12
ดีจังมาอัพวันเกิดพอดีเลย

ขอพรให้สอบติดทีเถอะ

อีก 2 วันเจอกัน


สู้ ๆๆ ทุกคน

หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อเรา
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Oo๐ sauce ๐oO Member 22 ม.ค. 53 03:35 น. 14
คุณหมอหมู ณ พันทิปนี่เอง ^^ 

ซักวันจะเจริญรอยตามให้ได้ครับ จะพยายาม

แก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อ 22 มกราคม 2553 / 03:39
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
อายซ์ 22 ม.ค. 53 21:16 น. 18
หมอหมู ที่อยู่กำเเพง
ลุก หล่อโฮกก เฮียนนท์ๆๆ

เก่งด้วย เล่นบาสเทพมากมายเลยย
หล่อ น่ารัก เเถมเรียนเก่งอีก
0
กำลังโหลด
เดกหลังห้อง 22 ม.ค. 53 22:32 น. 19
ขอบคุณมากๆๆๆค่ะ หนูอยากเป็นหมอมากๆเลย จะเป็นสาขาไหนยังไม่แน่ใจเพราะทุกสาขาก็สำคัญหมดเลย อยากเรียนนิติเวชแต่ก็กลัวผี พูดตรงๆเลยค่ะ อยากเรียนจิตเวชแต่ก็กลัวคุยกับคนไข้ไม่เข้าใจ อยากเรียนศัลยศาสตร์ก็กัวไปลืมมีดไว้ในตัวคนไข้ -*- จะตั้งใจเรียนค่ะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด