คณะแพทยศาสตร์ Issue 004 week4, January 2010
 
คณะคณะแพทยศาสตร์
ตอนที่ 4/4 : กว่าจะเป็นหมอ ตอนที่ 2
 
พูดคุยกับคุณหมอคนเก่งที่พร้อมจะตอบทุกคำถาม
        สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com .... คณะในฝัน "แพทยศาสตร์" ก็เดินทางมาถึงสัปดาห์สุดท้ายแล้วนะคะ ปกติสัปดาห์นี้ ต้องเป็นที่ตรงนี้มีคำตอบ แต่ว่าจาก 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พี่เป้ คิดว่าน้องๆ คงได้คำตอบในสิ่งที่อยากรู้ไปหมดแล้วล่ะ (ถ้าใครติดตามาตลอด) เพราะฉะนั้นวันนี้เลยยังคงเป็นบทสัมภาษณ์พูดคุยกับคุณหมอคนเก่งภาค 2 ต่อจากสัปดาห์ก่อน สำหรับคราวนี้จะเป็นคุณหมอด้านใดบ้างนั้น ไปอ่านกันได้เลยค่ะ !

 คุณหมอท่านที่ 1 : คุณหมอไก่ : ร้อยเอกเลอปรัชญ์ มังกรกนกพงศ์
แพทย์ประจำบ้านสาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

 
 พี่เป้: ช่วยแนะนำตัวเองแก่น้องๆ ด้วยค่ะ
คุณหมอไก่: ชื่อร้อยเอกเลอปรัชญ์ มังกรกนกพงศ์ ชื่อเล่นไก่ จบจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า  ตอนนี้กำลังทำงาน-ศึกษาต่อ
ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นแพทย์ประจำบ้านสาขาจักษุวิทยา น้องๆ คงสงสัยคำว่าแพทย์ประจำบ้าน ทั้งที่พวกพี่ก็อยู่กันที่โรงพยาบาล
ไม่ได้ประจำกันที่บ้าน จริงๆ แล้วแปลจากคำว่า Resident  โดยความหมายคือแพทย์ที่ศึกษาสาขาเฉพาะทางครับ
 
 

 

 
 
 

 

 

 

 

 
 

พี่เป้: แล้วคุณหมอคิดว่าด้านจักษุวิทยานั้นมีจุดเด่นหรือพิเศษจากด้านอื่นยังไงบ้าง
คุณหมอไก่: ก่อนที่หมอจะเริ่มเรียนจักษุแพทย์ ผมก็เคยสงสัยว่าทำไมจะต้องใช้เวลาตั้งหลายๆ ปี เรียนเกี่ยวกับชิ้นส่วนที่เล็กๆ แต่พอมาเริ่มเรียนจริงๆ ก็ถึงบางอ้อว่าทำไมตานี้ถึงจะมีขนาดเล็กแต่ก็มีความซับซ้อนมากๆ ยิ่งการผ่าตัดนี้ต้องอาศัยความแม่นยำและทักษะเรื่อง body coordination สูงมาก
 
 
 
 
 
 
พี่เป้: ทำไมคุณหมอถึงเลือกเรียนแพทยศาสตร์ และทำไมถึงศึกษาด้านจักษุวิทยาคะ
คุณหมอไก่: ตอนที่หมอเด็กๆ หมอเติบโตมาแบบใกล้ชิดกับอาม่าของหมอซึ่งเป็นผู้ที่ได้ผ่านสงครามโลกครั้งที่2 การที่ได้ฟังเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ต่างๆ ในช่วงสงครามก็ทำให้ผมอยากจะเป็นหมอที่มาช่วยเหลือทั้งทหารและคนทั่วไป ตอนที่เรียนจบมัธยมปลายผมก็ตั้งเป้าว่าจะต้องสอบเข้าเรียนแพทย์ที่พระมงกุฏให้ได้ครับ และเลือกจักษุเพราะคิดว่าดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมากต่อการใช้ชีวิต  สามารถสื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของคนคนนั้น ต้องการเป็นจักษุแพทย์เพื่อที่จะสามารถรักษาคนไข้ที่มีปัญหาด้านสายตาและการมองเห็นให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้งได้
จะทำให้คุณภาพชีวิตเค้าดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
 
 
พี่เป้: หลังจากเรียนจบปริญญาตรี คุณหมอได้ไปทำงานใช้ทุนที่ไหนคะ
คุณหมอไก่: หลังจากเรียนจบจากพระมงกุฎเกล้า ก็ได้โอกาสไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี รู้สึกว่าที่นั้นเป็นที่ที่ดีมากสำหรับการเริ่มต้นทำงานเพราะพี่ๆ ทุกคนที่นั้นน่ารักมาก ทำงานก็แบบเป็นทีม และรพ.ก็มีการให้บริการที่ค่อนข้างครบวงจร รวมไปถึงแผนกจักษุซึ่งก็เปิดโอกาสที่ได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับตาและทำให้เกิดความสนใจทางด้านนี้เป็นต้นมา ต้องยอมรับนะครับว่าในระหว่างการทำงานยุ่งมากเพราะคนไข้เยอะแต่ในขณะเดียวกันนั้นก็ทำให้มีความชำนาญในการรักษาได้ดี

หลังจากนั้น ก็ไปช่วยราชการที่หน่วยเฉพาะกิจที่34 อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีและน่าระทึกใจครับ
ที่เราได้ไปปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ทหารจริงๆ จากนั้นได้มาปฏิบัติงานเป็นนายแพทย์กรมทหารราบที่ 13 ซึ่งได้ทำงานทั้งตรวจรักษาคนไข้ที่โรงพยาบาล และได้ทำงานด้านบริหารเกี่ยวกับการแพทย์ในกรมทหารราบที่13 ซึ่งตอนนั้นถือว่าได้ประสบการณ์จากการทำงานพอสมควรครับ
ได้ศึกษาการแพทย์ฝังเข็ม กรมแพทย์ทหารบก  ต่อมาก็ได้เข้ามาศึกษาต่อทางด้านจักษุวิทยาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าครับ

 พี่เป้: คุณหมอคิดว่าการเป็นแพทย์ทหารมีจุดเหมือนหรือต่างจากแพทย์ทั่วไปยังไงบ้าง
คุณหมอไก่: เรื่องความยากของวิชาแพทย์ศาสตร์นี้ คิดว่ามันมีความยากเท่ากันเมื่อเทียบกับการเรียนหรือทำงานที่อื่น แต่สิ่งที่แตกต่างไปก็คือความเป็นทหารซึ่งรวมไปถึงการเรียนฝึกเป็นทหารไปพร้อมๆ กับการเป็นหมอ ตอนช่วงที่ปิดพักร้อนก็ต้องไปฝึกทหารเพิ่มเติม พอตอนฝึกเสร็จก็ต้องไปอ่านหนังสือต่อ ก็เหนื่อยดี ช่วงนั้นหุ่นดีเลยครับ (หัวเราะ)

ส่วนการทำงานผมก็จะมีคนไข้ส่วนหนึ่งที่เป็นทหารซึ่งได้รับการบาดเจ็บ
จากการรับใช้บ้านเมือง ทุกๆ ครั้งผมก็รู้สึกขอบคุณและเห็นใจทหารที่เสียสละไปปฏิบัติงานเพื่อความสงบของประเทศชาติ ในขณะเดียวกันก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยหลือพวกเขา
แต่สิ่งที่เหมือนกันทั้งหมอทหาร และหมอทั่วไป คือต้องการให้คนไข้ที่ได้รับการรักษาหายจากการเจ็บป่วยครับ

ในระหว่างการเรียนแพทย์ทหาร จะเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย, มีเงินเดือนให้, มีอุปกรณ์เสื้อผ้าให้ พอจบแล้วก็ได้บรรจุเป็นนายทหารสัญญาบัตร ได้ยศ  แต่ต้องใช้ทุนสองเท่าของเวลาเรียนคือประมาณ 10 ปีครับ
 
 

พี่เป้: ช่วงนี้น้องๆ หลายคนต้องใช้สายตาหนักในการอ่านหนังสือสอบ อยากให้ช่วยแนะนำวิธีการดูแลรักษาตาในขั้นต้นหน่อยค่ะ
คุณหมอไก่: • อ่านหนังสือในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ และถือหนังสือห่างประมาณ 1 ฟุต
• ดูโทรทัศน์ในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ และควรนั่งห่างจากจอโทรทัศน์ประมาณ 5 เท่าของขนาดโทรทัศน์
• ควรสวมแว่นตาทุกครั้งที่ต้องออกไปสัมผัสกับแสงแดด หรือขับขี่รถยนต์
• หลีกเลี่ยงการมองหรือจ้องคลื่นแม่เหล็กจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตาไมโครเวฟ เครื่องถ่ายเอกสาร ฯลฯ
• เวลาที่เศษผงเข้าตา ห้ามขยี้ตาเด็ดขาด แต่ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาด
• ทุกครั้งที่ลงเล่นน้ำในสระว่ายน้ำ ควรสวมใส่แว่นตาว่ายน้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันคลอรีนหรือเศษผงเข้าตา
• เมื่อรู้สึกปวดเมื่อยตา ไม่ควรกดนวดดวงตา หรือกรอกดวงตาไปมา แต่ควรหลับตาประมาณ 20 -30 นาที
• ควรปิดไฟนอน เพื่อเป็นการพักสายตา

พี่เป้: อยากให้คุณหมอช่วยฝากถึงน้องๆ ที่อยากเป็นหมอค่ะ
คุณหมอไก่: พี่ก็อยากจะฝากให้น้องๆ ที่อยากเป็นหมอให้ตั้งใจเรียนเพราะการเป็นหมอนี้ต้องอาศัยความขยันและอดทน น้องๆ อาจจะคิดว่ามันฟังดูเหนื่อยและลำบากแต่ถ้าใจรักและชอบมันจะเป็นความสำเร็จที่คุ้มค่ามากเลยครับที่เราได้เห็นคนที่เจ็บป่วยได้มีอาการดีขึ้นจากการรักษาของเรา

 
 
คุณหมอท่านที่ 2 : คุณหมอแจ็ค : น.พ.วรวรรธน์ แก้ววิเชียร 
นายแพทย์สังกัดภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
 
พี่เป้: ก่อนอื่นอยากให้ช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ ชาว Dek-D.com ด้วยค่ะ
คุณหมอแจ็ค: ชื่อนายแพทย์วรวรรธน์ แก้ววิเชียร ครับ ชื่อเล่นพี่แจ๊คครับ จบการศึกษา แพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2551 เป็นแพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ 59 ครับ ปัจจุบันบรรจุตำแหน่งนายแพทย์สังกัดภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์  (โรงพยาบาลสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
 
พี่เป้: ย้อนความไปตอนก่อนสอบเข้ามา ทำไมพี่แจ็คถึงเลือกเรียน แพทย์คะ?
คุณหมอแจ็ค: อันนี้คำตอบอาจจะงง ๆ นิดนึง คือตอนแรกเนี่ย หมายถึงก่อนสอบเข้านะครับ สมัยเรียนมัธยมต้นยังไม่มีความคิดที่จะ สอบเข้าเรียนอะไรเลยครับ เค้าสอนอะไรก็เรียนไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่า ตัวเองต้องเป็นนั่นเป็นนี่ แล้วพอช่วงท้ายของม. 3 เพื่อนๆ เค้าไปสอบเข้า ร.ร. เตรียมอุดมกันครับ คือพี่เป็นคนลพบุรีน่ะ อยากไปเรียนในกรุงเทพฯ อย่างที่รุ่นพี่เค้าไปประสบความสำเร็จกันมา (เดี๋ยวนี้คาดว่าก็คงแย่งกันเข้าเรียนอยู่) ปรากฏไม่ได้ครับ ก็เลยเกิดความมุ่งมั่นว่าขั้นตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องไม่พลาดอีก ประกอบกับตอนช่วงก่อนขึ้นชั้นมัธยม พ่อของพี่ไม่สบายหนัก ช่วงนั้นแม่ก็เคยเปรยๆ ไว้ว่าเห็นหมอแล้วเหมือนเห็นเทพเจ้าว่างั้น ในใจก็เริ่มมีภาพที่ค่อยๆ ชัดขึ้นว่าตัวเองจะไปทางไหน แต่ก็ไม่ได้หมายมั่นปั้นมือนะครับว่าจะได้เป็นหมอตอน ม. ปลายก็เรียนสบาย ๆ กวดวิชากับเค้าไปตามเรื่องตามราว ท้ายที่สุดโชคดีสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ก็ดีใจครับ จบ 555+ จนกระทั่งวันนี้เป็นนายแพทย์แล้วครับ ก็เริ่มรู้แล้วหละว่าจริงๆ แล้วเหตุผลที่ตัวเองอยากเรียนคณะนี้นั้นน่ะคืออะไร พี่ไม่เคยมองว่าตัวเองคิดผิดเลยครับ เพราะอะไรอ่านต่อละกันครับ ^o^
 
พี่เป้: โดยปกติแล้วหลังจากเรียนจบปริญญาตรี จะต้องทำงานใช้ทุน ด้วย ว่าแต่การใช้ทุนนั้นมีกี่แบบอะไรยังไงบ้างคะ
คุณหมอแจ็ค: จริง ๆ แล้วคำถามนี้คุยได้เป็นวัน ๆ เลยนะ คร่าวๆ ก็แล้วกันนะครับ หมอในประเทศไทยมีสังกัดใหญ่ ๆ อยู่ 4 หน่วยงานครับ คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลา โหม และภาคเอกชน

1. กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกแพทย์มากที่สุด เป็นหน่วยงานที่แพทย์ทุกท่านที่จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตทุกคน (ยกเว้นจากที่จบจากต่างประเทศและมหาวิทยาลัยเอกชน)ต้องออกไปปฏิบัติงานครับ ขั้นตอนคือเมื่อจบหกปีแล้ว ได้ปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยและผ่านการสอบเพื่อใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา จากนั้นทุกท่านก็จะผ่านกระบวนการจัดสรรว่าจะต้องไปอยู่ที่ไหนด้วยการประชุมจัดสรรกันเอง อย่างไม่เป็นทางการ แล้วไปจับฉลากตามที่ตกลงกันไว้ครับ ถ้าลงตัวก็ผ่านใครเลือกที่ไหนก็ไปอยู่ที่นั่น ถ้าไม่ลงตัวก็ต้องเสี่ยงดวงจับฉลาก 

ตามกำหนดแล้วหมอใหม่ทุกท่านจะบรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งนายแพทย์ 4 และต้องออกไปอยู่ตามรพ.ประจำจังหวัดต่างๆให้ครบ3 ปีโดยปีแรกอยู่รพ.ในตัวจังหวัดฝึกประสบการณ์ก่อน ปีต่อๆ ไปก็จะออกไปอยู่รพ.อำเภอ ตามชุมชนต่าง ๆ แพทย์บางท่านโชคดีครับบางคนใช้ทุนเพียง 1 ปี ก็สามารถกลับมาเรียนต่อเฉพาะทางได้โดยไม่ต้องอยู่ครบ 3 ปี

ต้องบอกไว้ก่อนว่าชีวิตหลังจากการจับฉลากนั้น ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างตัวหมอใหม่เองกับโรงพยาบาลต้นสังกัดครับว่าจะอนุญาตให้มาเรียนต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ความสามารถของหมอใหม่เอง ความประพฤติ ความขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่างๆ ของ โรงพยาบาลต้นสังกัด แพทย์บางท่านก็ลาออกก่อนการใช้ทุนครบก็มีครับ นอกจากนี้บางโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ได้แก่ รพ.จังหวัด หรือรพ. ศูนย์ จะรับสมัครแพทย์ใช้ทุนตำแหน่งแพทย์พี่เลี้ยงไปช่วยดูแลนักศึกษาแพทย์ที่ไปฝึกอบรมอยู่ บางโรงพยาบาลก็อยู่ใช้ทุนไปด้วย เรียนต่อเฉพาะทางไปด้วยได้เลยครับ 

2. กระทรวงศึกษาธิการ อันนี้หมายถึงแพทย์ที่ทำงานอยู่ในรพ.สังกัดมหาวิทยาลัยครับ รวมทั้งอาจารย์แพทย์ด้วย พี่ก็เป็นแพทย์ที่สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นตำแหน่งแพทย์ใช้ทุนที่ต้องสมัครสอบสัมภาษณ์เองเมื่อเรียนจบแล้ว เมื่อได้รับคัดเลือกก็จะอยู่ทำงานไปด้วยเรียนต่อเฉพาะทางไปด้วยใน รพ.มหาวิทยาลัยนั้น ๆ ได้เลยครับ อย่างพี่นี่มาเรียนเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ ตำแหน่งแพทย์ใช้ทุนลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะมีเฉพาะโรงเรียนแพทย์ที่อยู่ต่างจังหวัดครับ

3. กระทรวงกลาโหม อันนี้ได้แก่แพทย์ทหารครับ บรรจุติดยศเหมือน ทหารปกติ ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยแพทย ศาสตร์พระมงกุฏเกล้า สำหรับแพทย์ที่จบการศึกษาจากสถาบัน พลเรือนต้องไปสมัครสอบสัมภาษณ์กันเองครับ
4. สังกัดภาคเอกชน ได้แก่ แพทย์ที่สังกัดสภากาชาดไทย และแพทย์
ที่ลาออกไปทำงานตามรพ. เอกชนครับ
จริง ๆ แล้วมีเส้นทางพิสดารมากกว่านี้อีกนะครับ น้อง ๆ อาจจะงงหน่อย มีโอกาสก็สอบถามจากแพทย์ใกล้ตัวละกันครับ
 
พี่เป้: แล้วการที่ได้เป็นแพทย์ในต่างจังหวัด พี่แจ็คคิดว่าการแพทย์ใน กรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดมีข้อเหลื่อมล้ำมากมั้ยคะ
คุณหมอแจ็ค: ก็มีสองมุมนะครับ พูดถึงมุมมองของหมอก่อนนะ อันแรกในแง่ของการปฏิบัติหน้าที่การเป็นหมอก็เหมือนกันทุกที่แหละครับ เราก็คุยกับคนไข้ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย สั่งการรักษาเหมือนกันทุกอย่าง แต่จำนวนแพทย์ต่อประชากรก็ค่อนข้างน้อยมาก แถมมีคนไข้จากฝั่งลาวข้ามมารักษาด้วย

อันที่สองคือแง่ของการใช้ชีวิตครับ อยู่ต่างจังหวัด แม้ความเจริญ ของบ้านเมืองจะไม่เท่ากรุงเทพฯ แต่ก็ใช้ชีวิตได้อย่างสบาย ๆ ครับ ค่าครองชีพไม่สูงมาก ที่สำคัญคือไม่มีรถติดครับ อยากไปกินอะไรก็พากันไปกินครับ อะไรอันไหนอร่อยก็ติดรถกันไป ขอนแก่นนี่ก็ของกินเยอะอย่างไม่น่าเชื่อครับ บ้านเมืองก็น่าอยู่ครับ โดยรวมก็มีความสุข ดี อยู่แบบพอเพียงครับ

อีกส่วนคือมุมของคนไข้ครับที่ค่อนข้างจะมีความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากโดยรวมแล้วคนไข้ทางแถบนี้ส่วนมากยังเป็นผู้มีรายได้น้อยครับ จะมา รพ. ทั้งทีก็เหมารถมากันเองหลายทอดครับ บางครั้งคนไข้บางคนเงินจะซื้อข้าวกินยังไม่พอเลย ไม่มีเงินค่ารถ ก็เลยไม่ได้มา รพ. เพื่อ ติดตามและรับการรักษาต่อเนื่อง โรคที่เป็นอยู่ก็ไม่หาย กลับมาคราวนี้ก็เป็นหนักขึ้นครับ
 

 





 

 
 

 

 
 
พี่เป้: อยากให้ช่วยเล่าถึงเคสคนไข้ที่ประทับใจให้น้องๆ ฟังหน่อยค่ะ
คุณหมอแจ็ค: พี่เคยได้ดูแลคนไข้คนนึงเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายแล้วหละ เวลาไปราวน์(เดินดู+สั่งการรักษาในแต่ละวัน)ก็ไม่ได้คุยอะไรกันมาก แกพูดไม่ได้เนื่องจากเจาะคอหายใจทางคออยู่ จะมีสมุดเล่มเล็ก ๆ เล่มนึง เอาไว้พูดคุยเวลาต้องการอะไรหรือจะสื่อความหมายกับใคร ๆ วันนึงพี่ก็ลองไปหยิบมาอ่าน แกก็อนุญาตให้อ่านแต่โดยดี อาจเพราะแกไม่มีแรงต่อสู้แล้วมั้ง ในนั้นเขียนบรรยายความอัดอั้นตันใจครับว่าพูดไม่ได้ หายใจไม่ออก เหนื่อย พี่ก็เริ่มคุยกับแกผ่านผ่านกระดาษเนี่ยแหละ คุยไปคุยมาขึ้นเล่มสองกันเลยทีเดียว แกบอก มดหวังแล้ว จะอยู่ได้อีกเมื่อไหร่ ก็บอกแกว่าให้ใจเย็น ๆ หายใจเข้า พุทธ ออกโธ นึกถึงพระไว้ก่อนละกัน หลังจากนั้นพี่กลายเป็นหมอประจำตัวครับ เวลามีอะไรเค้าจะเรียกพี่ซะงั้น หมอคนอื่นไม่คุยด้วย ก่อนหน้านี้ที่แกโวยวายใส่พยาบาลก็เพราะแกคงอัดอั้นครับ หลังจากที่ได้คุยกันก็ดูให้ความร่วมมือดีอยู่ หลังจาก นั้นพี่ก็ย้ายไปแผนกอื่น แวะไปดูแกบ้าง แต่ไม่ได้ไปทันตอนแกเสียชีวิตหรอกครับ แต่ก็รู้สึกดีที่ได้คุยกันได้เข้าใจแกครับ
 
พี่เป้: แล้วในแถบภาคอีสาน โรคที่เป็นกันมากๆ มีโรคอะไรบ้างคะ
คุณหมอแจ็ค: ภาคอีสานนี่คนไข้โรคตับเยอะครับ ที่เจอมากที่สุดคือคนไข้ที่มาด้วยเรื่องตัวเหลืองตาเหลือง โดยมากก็เป็นมะเร็งในท่อทางเดินน้ำดีน่ะครับจากพยาธิใบไม้ในตับ คนที่กินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ยังมีอยู่ครับ ก็คงต้องต่อสู้กันต่อไป ซึ่งที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเองเป็นศูนย์วิจัยโรคนี้ในระดับโลกครับ ส่วนโรคอื่นก็เยอะพอ ๆ กันกับที่อื่นครับ
 
พี่เป้: แล้วในอนาคตบนเส้นทางแพทย์ พี่แจ็ค วางแผนไว้ยังไงบ้างคะ
คุณหมอแจ็ค: อีกไม่กี่เดือนพี่ก็จะเริ่มเข้าฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ เรียนที่คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่นนี่ล่ะ คือทำงานไปด้วยแล้วก็เรียนไปด้วย ใช้เวลาฝึกอบรมสี่ปี จบมาเป็นศัลยแพทย์ครับ โดยส่วนตัวพี่เป็นคนชอบทำหัตถการ(งานรักษา คนไข้ที่ต้องใช้ฝีมือและของมีคมเป็นหลัก) มีความประทับใจในสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างตั้งแต่พี่เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 แล้ว โดยเฉพาะโรคปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของกะโหลกศีรษะ และใบหน้าครับ (โรคงวงช้าง) คือโรคพวกนี้คนไข้ส่วนใหญ่พ่อแม่มักเป็นผู้มีรายได้น้อย อีกอย่างคือเด็กพวกนี้ถ้าได้รับการผ่าตัดแก้ไขอย่างถูก เหมาะสมก็สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับเด็กทั่วไป พูดง่าย ๆ คือไม่ให้เด็กมีปมด้อย เลยคิดอยากจะมาช่วยเหลือคนไข้ในจุดนี้
 
 พี่เป้: สุดท้ายอยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเรียนแพทย์ด้วยค่ะ
 คุณหมอแจ็ค: คำถามนี้ตอบบ่อยมากครับ แล้วก็ยังคงเหมือนเดิมที่จะบอกว่าให้คิดดี ๆ ครับ บางครั้งเราเป็นคนนอกจะมองเข้ามาเห็นแต่มุมดี แต่ในอีกมุมนึงก็ต้องแลกกันครับกับความรับผิดชอบที่สูงมาก ดูแลชีวิตทั้งชีวิตของผู้ป่วยด้วยสองมือของเรา การตัดสินใจที่เด็ดขาด การควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าขู่ครับ แต่อยากบอกให้ทราบว่าการเป็นแพทย์ต้องอดทนตั้งแต่เรียนแล้วครับ เรื่องอ่านหนังสือมาก เรียนหนักนี่เล็กน้อยครับ ใคร ๆ ก็ทำได้ ในบางครั้งอาจถูกกดดันโดนดุว่าจากอาจารย์ รุ่นพี่ บางครั้งคนไข้ก็ไม่ไว้ใจให้นักเรียนแพทย์ไปสัมผัสตัวนี่ก็ธรรมดา พอจบมาแล้วก็คนไข้จะคาดหวังครับ อยู่เวรทั้งวันทั้งคืน บางครั้งอยู่ติดกัน ไม่ได้นอนแถมตอนเช้าต้องออกตรวจแต่เช้าต่อ ถ้าเผลออารมณ์เสียเมื่อไหร่ ก็เสร็จครับ จะได้ยินเสียงตอบรับว่า หมอโรงพยาบาลนี้พูดไม่ดี อะไรลักษณะนี้ครับ งานของแพทย์ก็เป็นงานบริการอย่างนึงครับ ในฐานะผู้ให้บริการก็ต้องยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาดี คงมีซักครั้งนึงที่เกิดหงุดหงิดบ้างครับ พี่ก็เคยเช่นกัน อันนี้ก็ต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้ครับ อย่าให้กระทบกับการบริการและความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ ถ้าใครคิดดีแล้ว ตัดสินใจแล้ว ก็ยินดีต้อนรับมาเป็นน้องหมอใหม่ทุกคนครับ อย่าดูถูกความสามารถของตัวเอง ทุกคนทำได้ครับ โชคดีทุกคนนะครับ
 
 
คุณหมอท่านที่ 3 : รศ.นพ. สมเกียรติ โสภณธรรมรักษ์
(Professor of Pediatrics ประจำโรงพยาบาลเด็ก Sanford ประเทศสหรัฐอเมริกา) ,
เจ้าของเวบไซต์ http://www.docdek.com/
 
 
พี่เป้: อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ ที่กำลังอ่านอยู่
หน่อยค่ะ?
คุณหมอสมเกียรติ: ผมเป็นเด็กภูธรโดยกำเนิด จบที่ม.สงขลา นครินทร์ รุ่นที่ 8 เข้าเรียนปี 2523 จบปี 2529 จากนั้นเรียนต่อและทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านที่ร.พ. สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ สงขลา อันเป็นบ้านเกิดผมเอง มาเรียนต่อด้านกุมารเวชศาสตร์และ กุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจที่ Christ Hospital and Medical Center, Hope Children's Hospital, Oak Lawn, อิลลินอยส์ อเมริกา เรียนจบแล้วก็กลับไปรับใช้
ชาติที่ม.สงขลานครินทร์เป็นอาจารย์แพทย์ ราว 10 ปี จึงได้กลับมาทำงานที่อเมริกาอีก ปัจจุบันผมอยู่ที่ Sanford Children's Hospital, Sanford USD Medical Center, Sioux Falls, South Dakota, USA เป็น Professor of Pediatrics
 
พี่เป้: ทำไมคุณหมอถึงสนใจศึกษามาทาง ด้านกุมารเวชคะ
คุณหมอสมเกียรติ: คงเป็นเพราะชอบ รักเด็กตอบเหมือนนางสาวไทยเลย ที่ชอบเพราะว่าเด็กบริสุทธิ์ ไม่มีโรคที่เกิดจากทำร้ายตัวเอง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ติดยา เป็นโรคที่เกิดโดยธรรมชาติ ป่วยก็หายเร็ว ไม่ค่อยมีโรคเรื้อรัง กลับไปวิ่งเล่นและเติบโตสมวัย น่ารักษา และผลจากการรักษาก็ชื่นใจ อาจารย์แพทย์ที่สอนทางด้านกุมารเวชศาสตร์ก็เป็นตัวอย่างที่ดี และประทับใจผมตลอดมา

 

พี่เป้: คุณหมอคิดว่าความยากง่ายของสาขา กุมารเวชอยู่ที่ไหนคะ
คุณหมอสมเกียรติ: ต้องรักและเข้าใจในธรรมชาติของเด็ก เด็กแต่ละวัยไม่เหมือนกัน ประวัติการเจ็บป่วยส่วนใหญ่ได้จากผู้ปกครอง เนื่องจากยังสื่อสารไม่ได้ ต้องค่อย ๆ ถาม การตรวจร่างกายในเด็กเองก็ต้องใช้ความ อดทน อาจตรวจไม่ได้ครบในครั้งแรก ต้องมาตรวจตอนหลับอีก เด็กมักร้องโดยธรรมชาติอยู่ แล้วยิ่งมาเจ็บป่วยอีก โดนเข็มแทง เลยพาล เกลียดพวกใส่เสื้อขาวไปหมด และยังต้องเรียนรู้ รื่องพัฒนาการแต่ละวัยอีก แต่สนุกนะครับ  เวลาน้องหายป่วยกลับบ้าน อาการเหนื่อยของเราก็หายไปอย่างปลิดทิ้ง 
 
พี่เป้: ปัจจุบันคุณหมอเป็นอาจารย์หมอที่อเมริกา ไม่ทราบว่ามีความเป็นมายังไงบ้างคะ
คุณหมอสมเกียรติ: เนื่องจากจบที่อเมริกาและได้วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญทางกุมารเวชศาสตร์และกุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ  (Board certified-American Board of Pediatrics and American sub-board of Pediatric Cardiology) ที่นี่เปิดรับงานผมเลยสมัครและมาสัมภาษณ์งานที่นี่ ดูเมืองแล้วก็ชอบ เป็นเมืองขนาดกลาง ๆ ไม่มีรถติด ผู้คนเป็นมิตรดี และ ปลอดภัยมาก ๆ ที่สำคัญผมมองที่อนาคตของลูกทั้ง 2 คน อยากให้เขาได้เรียนดี ๆ และจบไปทำงานที่ไหนก็ได้ในโลกนี้
 




 

 

 
พี่เป้: คุณหมอคิดว่าปัญหาโรคต่างๆ ที่พบของเด็กไทยและเด็กฝรั่ง แตกต่างกันมากมั้ยคะ
คุณหมอสมเกียรติ: ส่วนใหญ่เด็กฝรั่งจะไม่ค่อยเป็นโรคติดเชื้อเหมือนบ้านเรา แต่ผมว่าเขาอยู่ดีกินดีเกินไป เลยไม่สบายทางใจมาก เป็นโรคทางพฤติกรรมบ่อย เช่น สมาธิสั้น หรือโรคที่พบมักเป็น โรคทางกรรมพันธุ์ เช่น cystic fibrosis เป็นโรคที่บกพร่องของสาร หลั่งจากต่อมมีท่อในร่างกาย เหงื่อเค็ม ไม่ย่อยอาหารไขมัน ติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อยๆ sickle cell anemia เป็นโรคของกลุ่ม African American เม็ดเลือดแดงจับกลุ่มกันและอุดตันตามร่างกาย บ้านเรามักตามหลังอเมริการาว 10-15 ปี เด็กอ้วนเป็นปัญหาที่นี่มาก รวมถึงเด็กสูบบุหรี่และติดยาเสพติด นอกจากนี้การแพทย์ที่นี้จะรักษาคนไข้ต้องอธิบายให้เข้าใจ และให้สิทธิ์ในการตัดสินใจกับผู้ปกครอง หากเด็กโตพอต้องมีส่วนร่วมด้วย ต้องระวังเรื่องการฟ้องร้องทางการแพทย์ด้วย บ้านเราก็คงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
 
พี่เป้: ทราบมาว่าคุณหมอเขียนหนังสือด้วย เป็นหนังสือเกี่ยวกับ อะไรคะ
คุณหมอสมเกียรติ: เป็นหนังสือ "เสียงหัวใจ...ง่ายนิดเดียว" ครับ เหมาะกับนักเรียนทางด้านสาธารณสุข ทั้งนักเรียนแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขศาสตร์ มีหนังสือปูพื้นฐานทางด้านหัวใจและหนังสือคู่มือใช้ร่วมกับ CD MP3 ติดต่อได้ที่หน่วยผลิตตำราคณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
 
 
พี่เป้: สุดท้ายอยากให้คุณหมอช่วยฝากถึงน้องๆ ที่ฝันอยากเป็น แพทย์ด้วยค่ะ
คุณหมอสมเกียรติ: หากรักที่จะช่วยเหลือคนโดยไม่คำนึงถึงรายได้นัก พ่อแม่เด็กส่วนใหญ่กำลังสร้างฐานะ มักไม่ร่ำรวย หมอเด็กเป็นสาขาที่น่าเรียนมาก ทำงานแล้วสบายใจ และจะรู้สึกว่าได้ทำสิ่งดีๆ ในชีวิตทุกวัน เหนื่อยกาย หายเร็ว แค่พักผ่อน แต่เหนื่อยใจพักยังไงก็ ม่หายครับ ขอให้ตั้งใจจริง และขอให้ประสบความสำเร็จทุกคน  เราเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตเราเองครับ

 

 


 




                    ได้ความรู้กันเต็มเปี่ยมจากบทสัมภาษณ์คุณหมอคนเก่ง ^^ เชื่อว่าคงเป็นแนวทางให้แก่น้องๆ ที่สนใจในคณะนี้ได้นะคะ
พี่เป้ ก็ต้องขอขอบคุณคุณหมอทุกท่านมากๆ เลยค่ะ ที่สละเวลาและให้เกียรติมาช่วยตอบคำถามต่างๆ นานาทั้งหมดด้วย (เป็นปลื้มมากค่ะ)
สำหรับสัปดาห์หน้า เราจะกลับมาเจอกันกับคณะผลิตหมอฟัน "ทันตแพทยศาสตร์" นั่นเอง ใครอยากเป็นหมอฟันห้ามพลาดเด็ดขาด !
 

 

พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

53 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
manium Member 28 ม.ค. 53 16:31 น. 5
โอ้พี่แจ๊ค...ติดบอร์ดกับเค้าด้วย
เพิ่งรู้นะครับเนี่ยว่าพี่แจ๊คเรียนศัลย์ที่ขอยแก่น...รู้แต่อยู่ขอนแก่น 555+

ปล.ทำไมช่วงนี้คนรู้จักติดบอร์ดบ่อยจัง อิอิ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
inin 28 ม.ค. 53 18:41 น. 7
นั่นคุณหมอสมเกียรติ หมอที่เราไปหาประจำนี่นา ตอนเด็กๆ = =

คุณหมอใจดีมากเลย

เสียดาย ย้ายไปต่างประเทศซะแล้ว
0
กำลังโหลด
[ PaY ~ เป้ ] Member 28 ม.ค. 53 20:11 น. 8
ไม่รู้มีใครคิดเหมือนพี่มั้ย แต่พี่รู้สึกว่าคุณหมอทั้งสามท่านมีราศีและดูสมาร์ทมากๆ แบบว่านี่แหละบุคลิกของคนที่จะเป็นหมอ ต้องอย่างนี้เลย
0
กำลังโหลด
ole 28 ม.ค. 53 20:59 น. 9
(คิดเหมือนพี่เป้ อ่ะ อิอิ ^^)


อยากเข้า "พระมงกุฎเกล้า" มากก..

รู้สึกประทับใจ หมอที่นี่ หมอทหาร เหนพี่จบที่นี่

ได้ทำงานกับหน่วยทหารด้วย (:
0
กำลังโหลด
พิม 28 ม.ค. 53 21:43 น. 10
อยากเป็นหมอเหมือนกันค่ะ อยากเป็นกุมารแพทย์เหมือนกันแต่ก็กลัวเวลาน้องเจ็บแล้วจะไม่กล้าจับกลัวเจ็บกว่เดิม จะสู้ๆนะคะ ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ เท่มากเก่งมากทุกคนเลย

ป.ล.หมอแจ๊คหล่ออ่ะค่า
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
manium Member 29 ม.ค. 53 00:09 น. 12
กลับมาอีกที
สำหรับพี่แจ็คนะครับ เป็นคนที่ดูสุขุมมาก ดูเป็นผู้ทรงภูมิ...ปานนั้นเชียว คุยด้วยแล้วแบบว่า "โหยพี่...นี่คิดได้ขนาดนี้เลยเหรอ"
แบบว่าพี่เค้าจะมองทุกอย่างได้เป็นระบบดีมากๆครับ ความคิดเป็นระบบระเบียบ ไม่วุ่นวาย ฟังแล้วจะเข้าใจง่ายมากๆ
ยกให้เป็นMy Idolเลยทีเดียวครับ ^____^
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
สาปภูษา 29 ม.ค. 53 11:10 น. 14
พี่แจ๊ค พี่หมอในดวงใจ

เป็นคนนิสัยดี friendly มากๆๆๆๆ
ไม่ใช่แค่ขยัน + เก่งอย่างเดียว แต่ยังเป็นคนตลก ร่าเริง ทำกิจกรรม
นี่แหละถึงเรียกว่าสุดยอด
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
>EMMA< 29 ม.ค. 53 23:50 น. 18
คุณหมอสมเกียรติ ๆ แม่เรารุจักๆ แต่ไม่ได้เจอนานมากกกกกกกกกกกกกกแล้ววววววว
คุณหมอไก่ก้อเก่งแน่ะเป็นหมอทหาร ก็จริงนะคะรู้สึกขอบคุณทหารมากๆที่เค้าดูแลประเทศ
คุณหมอแจ็คก้อใจดี ต้องไปรักษาในที่ที่ชนบท
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด