ตามติดชีวิต "หมอมือใหม่" ยากมั้ย เหนื่อยแค่ไหน ต้องอ่าน !

คณะแพทยศาสตร์

ตอนที่ 3/3 : ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัย
   
 

       สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com .... มาแล้วๆๆ เจอกับ พี่เป้ และคณะในฝันตอนสุดท้ายของเดือนสิงหาคม ซึ่งเรายังอยู่กันที่ "คณะแพทยศาสตร์" เอาใจเทศกาลการสมัครสอบกสพท. (คงไม่มีใครยังไม่ได้สมัครเนาะ เพราะมันหมดเขตละ) สำหรับวันนี้ พี่เป้ มาพร้อมกับคุณหมอมือใหม่ไฟแรงคนนึงที่เพิ่งเรียนจบมาหมาดๆ และกำลังใช้ทุนอยู่ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด ถ้าใครอยากรู้ว่าเส้นทางกว่าจะเป็นหมอเป็นยังไง ชีวิตหมอในโรงพยาบาลชนบทจะโหดมันส์ฮาแค่ไหน ก็ตามมาอ่านได้เลยค่ะ ^^

 

สวัสดีค่ะ อยากให้ช่วยแนะนำตัวแก่น้องๆ หน่อยค่ะ

พี่ชื่อกิตติพงษ์ ทีฆพุฒิ ชื่อเล่นชื่อตงครับ จบมาจากคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่พี่จะพิเศษกว่าคนอื่นหน่อย เพราะพี่เข้าคณะแพทย์ จุฬาฯ ในโครงการที่เค้าเรียกว่าโครงการ New Track รุ่นที่ 19 ซึ่งเป็นโครงการผลิตแพทย์ร่วมระหว่างคณะแพทย์ จุฬาฯ กับกองทัพอากาศ โดยจะรับเอาคนที่จบปริญญาตรีมาเรียนน่ะครับ


หลังจบปริญญาตรีมาแล้วใบนึง ทำไมพี่ตงถึงอยากเรียนปริญญาตรีแพทยศาสตร์ต่ออีกใบล่ะคะ ?

อยากเรียนเพราะอยากเป็นหมอ ,, อาจดูกวนนะ แต่พูดจริงๆ ว่าอยากเป็นหมอหลักๆ เพราะรู้สึกว่าเราได้ดูแลและพูดคุยกับคนไข้ (มันเกิดความรู้สึกแบบนี้ช่วงที่ฝึกงานแล้วเราได้เจอกับคนไข้เยอะๆ) เรารู้สึกว่าอยากเอาความรู้ที่เราได้เรียนเข้าไปเปลี่ยนเป็นรอยยิ้มของคนไข้ให้มากกว่านี้ มันคงจะดีถ้าเราทำให้คนอื่นมีความสุข ประมาณนี้

แล้วกว่าจะได้เข้ามาเรียนที่แพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในโครงการ New Track พี่ตงต้องทำอะไรบ้าง ?

มันเริ่มที่ว่าตอนนั้นเรียนเพิ่งจบใหม่ๆ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เพื่อนๆ เค้าหางานกันสนุกสนาน หลายๆ คนได้งานตั้งแต่เรียนอยู่ก็มี แต่พี่ก็ยังเวิ่นๆ มีสมัครงานไปบ้างแต่ก็ไม่ได้ลุยแหลกแบบเพื่อนนะ ที่บ้านอยากให้มาทำงานที่บ้านแต่พี่รู้สึกว่ายังอยากหาอะไรทำข้างนอกซักช่วงก่อน ,, อยู่ดีๆ วันนึงก็มีเพื่อนมาชวนไปเรียนต่อหมอ ซึ่งสมัยนั้นมีเปิดรับ New Track หลายที่อยู่ ทั้งคณะแพทย์จุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ก็ยังเปิด (เดี๋ยวนี้ทั้งสองที่ปิดรับแล้ว, ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่แน่ใจว่าที่ไหนเปิดบ้าง แต่เท่าที่เห็นก็มีม.นเรศวรกับม.ขอนแก่นนะ) จากนั้นก็นั่งรถทัวร์จากเชียงใหม่ลงไปกรุงเทพฯ กับเพื่อน 2 คน ไปลุยสอบกันทั้งที่จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ (อารมณ์เด็กบ้านนอกเข้ากรุงมากๆ) ซึ่งสรุปสุดท้ายก็สมหวังกันทั้งคู่นะ ตัวพี่ติดที่จุฬาฯ ส่วนเพื่อนอีกคนติดที่ธรรมศาสตร์

ข้อสอบที่สอบเป็นข้อสอบที่ทางสถาบันทำขึ้นมาเองนะ มีทั้งแบบกากบาท, ข้อเขียน, และแสดงวิธีทำ (คือเป็นข้อสอบใหม่ที่คิดมาเอง ไม่ได้เอา ONET ANET มาปน) ปีพี่มีคนมาสอบ (จากการประเมินด้วยสายตา+เลขที่สอบคร่าวๆ) ประมาณ 600 คน ซึ่งจากที่ทางจุฬาฯ ประกาศรับ 30 คน ซึ่งสรุปสุดท้าย คนที่ผ่านการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์จริงๆ มีแค่ 14 คนเท่านั้น

แล้วตอนนี้หลังเรียนจบมาหมาดๆ พี่ตงได้ไปทำงานใช้ทุนที่ไหนคะ ?

จบแล้วพี่เลือกมาใช้ทุนที่รพ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งค่อนข้างไกลจากเชียงใหม่เหมือนกัน (อำเภอฝางห่างจากเชียงใหม่ประมาณ 150 กม. โดยทางครึ่งนึงนั้นอยู่บนภูเขา) เป็นปีแรกของที่นี่ที่เปิดรับแพทย์อินเทิร์น (Intern) ซึ่งบรรยากาศมันก็สนุกดีนะ โรงพยาบาลไม่ใหญ่มากแต่คนไข้กลับเยอะมากๆ เพราะเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดแล้วในรัศมี 80 กม. ที่นี่ต้องดูแลทั้งคนในอำเภอฝางและอำเภอใกล้เคียงที่ส่งต่อมาด้วย ซึ่งที่นี่พี่ชอบตรงที่เรามีโอกาสได้คิดและลงมือทำเอง (แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็มีพี่หมอคนอื่นๆ คอยช่วยนะ) บรรยากาศอบอุ่นและเป็นกันเองมากๆ ทั้งกับแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆ   
 

คำว่า "Intern" นี่คืออะไรเหรอคะ ต่างจาก "Extern" หรือคนที่เรียนปีหกยังไง ?

ถ้าจะสรุปให้เห็นภาพง่ายๆ Intern ก็คือ Extern ที่มีเงินเดือน+ค่าเวรนั่นเอง เรามีอิสระมากกว่าเดิม ลายมือชื่อของเรามีสิทธิ์ที่จะสั่งการรักษาและออกใบรับรองต่างๆ ได้ ซึ่งก็จะไม่ได้มีพี่ๆ หรืออาจารย์ที่เป็น Supervisor มาคอยคุมประกบเราแบบแนบชิดอีกแล้ว แต่ลักษณะจะกลายเป็น Consultant (กรณีที่เรามีปัญหาหรือมีอะไรที่เกินความรู้เราอาจารย์ก็จะมาให้คำแนะนำ+สอนแทน) รวมทั้ง Intern บางที่อาจต้องดูแลน้องๆ ด้วย สัดส่วนงานบางอย่างก็อาจมีเปลี่ยนไปบ้าง เช่นงานวิชาการอาจไม่เยอะเท่าเมื่อตอนเรียน ส่วนพวกงานเอกสารก็จะเยอะขึ้นแทน

อยากให้พี่ตงเล่าเคสคนไข้ที่ประทับใจสุดๆ

จริงๆ พี่เป็นคนจำเคสไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่ เอาเป็นว่าเอาเคสที่เพิ่งเจอไม่นานมานี้ละกัน ประมาณว่าเป็นผู้หญิงชาวเขาอายุประมาณ 30 ปี พูดไทยได้แต่งงๆ มาด้วยปวดท้องมา 5 วันแล้ว เค้าไปหาหมอมาหลายที่แล้ว ตั้งแต่สถานีอนามัย, ไปคลินิก และมาโรงพยาบาลมาเจอเพื่อนพี่วันก่อน ส่วนมากเห็นเค้าคิดถึงไส้ติ่งกัน แต่พี่ว่ามันปวดแปลกๆ ไม่ค่อยตรงไปตรงมาเท่าไหร่ ด้วย skill ที่สำคัญอย่างนึงของ intern คือการมองกว้าง หมายความว่าเราเจอคนไข้ปวดท้องเราต้องคิดถึงทุกอย่าง ซึ่งพี่ก็เลยขออนุญาตคนไข้ตรวจภายในและก็พบว่าเค้าเป็นปีกมดลูกอักเสบด้านขวา ซึ่งหลังการรักษาคนไข้ก็หายเป็นปกติดี (แต่ก็จะโทษคนอื่นที่ตรวจก่อนพี่ ว่าเค้าตรวจไม่ดีไม่ได้นะ เพราะแต่ละวันที่ผ่านไป อาการและอาการแสดงของโรคก็ต่างกันไปด้วย)


แล้วการทำงานในโรงพยาบาลชุมชนที่ต่างจังหวัดแบบนี้ ต่างกับตอนที่พี่ตงเรียนในจุฬาฯ ยังไงบ้างคะ ?

โห... ต่างครับ ต่างกันเยอะมาก ตั้งแต่ลักษณะคนไข้ที่มา ทั้งด้านภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแต่ละที่ ก็ทำให้ความชุกของแต่ละโรคต่างกัน ความสดใหม่ของคนไข้ก็ต่างกัน ความพร้อมของอุปกรณ์และเครื่องมือ แพทย์เฉพาะทางที่เราจะส่งต่อหรือขอคำปรึกษา การขนย้ายและส่งต่อผู้ป่วย รวมทั้งเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ เช่นเรื่องวัฒนธรรม สังคม ศาสนา ภาษา อาชีพ เศรษฐกิจ การเดินทาง ฯลฯ อย่างโรคแปลกๆ ที่ไม่เคยเจอก็ได้เจอ คนไข้ก็หลากหลายเชื้อชาติกว่า เคยมีเคสชาวมูเซอไม่สบายมา แต่คนนี้พูดภาษาไทยไม่ได้เลย ญาติก็พูดไทยไม่รู้เรื่อง สุดท้ายพี่ก็ต้องพึ่งพนักงานทำความสะอาดมาช่วยแปล (โชคดีที่เค้าพอฟังรู้เรื่องบ้าง) ซึ่งก็ผ่านไปได้ด้วยดี

แล้วในอนาคต พี่ตงเล็งอยากเรียนต่อเฉพาะทางด้านไหนคะ ?

อืมมม ตอนนี้คิดๆ ไว้ 2-3 สาขานะ คือไม่สูติ-นรี ก็คงเป็นด้านออโธปิดิกส์ (กระดูก) เหตุผลเพราะพี่เป็นคนชอบทำหัตถการ เอาแบบว่าลงมือทำแล้วคนไข้หายแบบชัดๆ อยากมีคนไข้ประจำบางส่วนแต่ไม่เอาเรื้อรังเกินไป ซึ่งทั้งสองสาขาก็ตอบโจทย์ได้ดี รวมทั้งประสบการณ์ที่ผ่านๆ มาตั้งแต่ช่วงที่เรียนพี่ประทับใจ 2 วอร์ดนี้มากๆ ตั้งแต่อาจารย์ผู้ดูแลและพี่ๆ แพทย์ประจำบ้านที่เคยดูแลเรามา (ซึ่งคิดว่ามันมีผลมากๆ เลยนะ)


น้องๆ ฝากถามว่ากลัวเลือดกลัวผีจะทำยังไง จะเรียนหมอได้มั้ย ?

เรียนได้ครับ เพราะอาจารย์น่ากลัวกว่ามาก (ฮาๆๆๆ) แซวเล่นเฉยๆ นะ ,, แต่เห็นเพื่อนๆ ที่กลัวเลือดเค้าก็อยู่เรียนกันจบมาได้นะ เคยถามเค้าก็บอกว่าเดี๋ยวมันก็ชินไปเอง (แต่พอเจอเคสอุบัติเหตุเลือดชุ่มๆ เค้าก็จะให้พี่ไปช่วยดูก่อนนะ) แต่ส่วนตัวพี่พอเจอคนไข้เลือดชุ่มๆ มา มันไม่คิดถึงความกลัวอะไรเลย แต่กลับเป็นว่าพี่อยากพุ่งเข้าไปหามัน มันมีความรู้สึกว่าเค้าต้องรอด เราต้องทำได้ ส่วนเรื่องผีไม่มีในหลักสูตรครับ พี่ไม่เคยเจอและไม่อยากเจอเท่าไหร่ เพราะแบบนั้นพี่คงไม่กล้าไปตรวจคนไข้ช่วงดึกๆ

ความภูมิใจต่ออาชีพหมอ

เยอะนะ พี่ดีใจและภูมิใจมากๆ ที่ได้เป็นหมอ ไม่เคยเสียใจเลยที่ตัดสินใจมาเรียนต่อ พี่รู้สึกดีมากๆ เวลาที่เราช่วยเค้าแล้วเค้าหายจากโรคหรืออาการต่างๆ ,, บางทีมีคนไข้เป็นคุณป้าแก่ๆ เดินอยู่ในโรงพยาบาลก็มาไหว้เรา บอกว่าขอบคุณที่ช่วยดูแลนะ ซึ่งเราคิดนานมากว่าเราไปดูแลแกเมื่อไหร่ (ซึ่งคิดกี่ทีก็ไม่ออก เพราะคนไข้เยอะ แถมบางคนเจอกันมานานแล้ว แต่คนไข้ก็ยังจำเราได้) ซึ่งเวลาที่มีคนมาไหว้พี่เนี่ย พี่ไม่เคยอยากเค้าจะมาไหว้ตัวเราเลย แต่ทุกครั้งนั้นพี่ระลึกเสมอว่าเค้าไหว้ตำราและวิชาทางการแพทย์ที่เราร่ำเรียนมา ไหว้อาจารย์ที่สั่งสอนเรามาและประสบการณ์ที่เราสะสมมา ซึ่งพี่ก็ดีใจที่ความรู้ที่ได้มานั้นจะทำให้คนคนนึงมีรอยยิ้มและมีความสุขอีกครั้ง


สุดท้ายอยากให้พี่ตงช่วยฝากถึงน้องๆ ที่อยากเรียนหมอด้วยค่ะ

ตั้งใจเรียนและอย่าเพิ่งย่อท้อกับความอยากเป็นหมอ ถ้าน้องตั้งใจจริงๆ ว่าจะเป็นหมอพี่ก็ขอให้สมหวังละกัน ,, แนะนำว่าอย่าเป็นหมอเพราะคนอื่นบอกให้เป็น อย่าเป็นหมอเพราะหวังเงินทองที่จะเข้ามา อย่าเป็นหมอเพราะคะแนนสอบเราถึงพอดี แต่อยากให้เป็นหมอที่มาจากใจที่เราอยากดูแลรักษาคนอื่น เพราะการเป็นหมอจริงๆ มันไม่ได้จบแค่อ่านหนังสือหรือตำราแล้วก็ไปสอบให้ผ่านๆ นะ  ชีวิตหมอมันไม่ได้จบแค่ตำรา แต่มันมีคนไข้ให้ดู มีห้องผ่าตัดให้เข้า มีเวรให้ประจำการ มีประชุมวิชาการและ update ความรู้ต่างๆ แถมต้องทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ บางวันต้องอยู่เวรทั้งคืนแต่วันรุ่งเช้าก็ต้องไปทำงานต่อ

เอาเป็นว่าถ้าน้องๆ มีโอกาสก็ลองไปเข้าค่ายที่เค้ารับน้องๆ เข้าไปอยู่กินและเยี่ยมชมการทำงานของหมออะไรงี้ ลองดูว่าเราพอรับได้ไหม ชอบหรือเปล่า เพราะพี่อยากบอกว่า กว่าที่เราจะรู้ว่าเราชอบหมอจริงๆ หรือเปล่าก็ตอนเรียนปี 4 ที่เราขึ้นวอร์ดมาดูแลคนไข้ ซึ่งถ้าเป็นคณะอื่นๆ ก็เป็นปีสุดท้ายแล้ว แต่เรากลับเป็นเป็นปีที่เราจะได้เป็นหมอเต็มตัว เพราะจะเริ่มมีคนไข้เป็นของตัวเอง ซึ่งต้องมีทั้งความขยัน อดทน ความรับผิดชอบ และการทำงานเป็นทีม ช่วงนี้น้องๆ จะต้องรับผิดชอบชีวิตคนอื่นเพิ่มขึ้นมา ,, อาจฟังดูเหนื่อยนะ แต่พี่ว่าถ้าตั้งใจจริงๆ มันก็คงไม่เกินความสามารถของน้องๆ หรอก

หรือใครอยากอ่านประสบการณ์หมอโดยภาพรวม พี่เขียนบล็อกไว้ครับ ลองตามไปดูได้ที่ http://www.tongkatsu.com/legendary-of-tongkatsu-ep3/

    

        อ่านบทสัมภาษณ์และความในใจคุณหมอมือใหม่กันเต็มอิ่มขนาดนี้ น้องๆ คงเห็นภาพชีวิตการเรียนและทำงานของหมอมากขึ้นนะคะ ต้องขอบคุณพี่ตงมากๆ เลยที่มาเล่าประสบการณ์สนุกๆ แบบนี้ให้น้องๆ ฟัง ยังไงขอเอาใจช่วยน้องๆ ที่เตรียมสอบกสพท.ให้ติดอันดับหนึ่งทุกคนเลยนะ ^^

        ส่วนน้องๆ คนไหนที่อยากได้คู่มือแนะแนวการเรียนต่อคณะแพทย์ศาสตร์ดีๆ ซักเล่ม ห้ามพลาดหนังสือ "กว่าจะเป็นหมอ" วางแผงที่ร้าน se-ed และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ (ขายดีมาก พิมพ์รอบที่สามแล้วจ้า) หรือสั่งซื้อได้ที่ www.dek-d.com/publishing/med เลยค่ะ รับประกันว่าอ่านสนุกและคุ้มจริงอะไรจริง 

เด็กดีดอทคอม :: 28 วันใน


 
พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

19 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ipeso2011 Member 31 ส.ค. 54 23:33 น. 8
 อยากให้รักษาความรักในอาชีพนี้ต่อไปเพราะคนที่อยู่ต่างจังหวัดเต้าต้องการหมอดีๆอย่าให้จรรยาบรรณติดอยู่แค่เพียงในกระดาษแต่ขอให้มันติดตัวและฝังไปในใจด้วยนะ สู้ๆ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ครู 7 ต.ค. 54 14:12 น. 16
อ่านแล้วรู้สึกดี สมคุณค่าของความเป็นหมอ น่ารักมาก จรรยาบรรณคุณหมอเต็มเปี่ยม ขอให้รักษาความดีนี้ตลอดไปนะคะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Ploy 13 ก.ค. 58 18:43 น. 20
หนูจะพยายามคะ หนูจะสู้ หนูจะไม่ท้อ และหนูจะเป็นหมอที่ดีคะ พี่หมอตงเป็นแรงบรรดาลใจที่ดีมากสำหรับหนู ขอบคุณบทความนี้มากคะ ทำให้หนูกำลังใจอ่านหนังสือเยอะเลยล่ะคะ555 หนูจะสู้คะ!!โกรธ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด