วัสดีค่ะน้องๆ... และแล้วก็มาอยู่ในช่วงเวลา 1 อาทิตย์ก่อนสอบ O-NET จนได้ พี่มิ้นท์คิดว่าน้องๆ ที่ติดตามข่าวเป็นประจำ น่าจะเข้าไปโหลดข้อมูลจาก สทศ.เกี่ยวกับจำนวนข้อสอบกับเรื่องที่จะสอบกันมาบ้างแล้ว แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าในนั้นบอกแค่หัวข้อใหญ่ สุดท้ายเลยไม่รู้ว่าออกหัวข้ออะไรบ้าง

 


          เพื่อช่วยน้องๆ ในโค้งสุดท้าย พี่มิ้นท์ได้ไปขลุกอยู่กับข้อสอบ O-NET ย้อนหลังมาทุกวิชา และดูว่า สทศ.ออกอะไรบ้าง พี่มิ้นท์สรุปเป็นรายวิชา ดังนี้ค่ะ (โหย..นางเอกมากๆ อะ)

          

วิชาภาษาไทย

            วิชานี้เป็นวิชาที่พี่มิ้นท์ชอบมากที่สุด พอได้ลองทำข้อสอบจริงๆ ขอบอกว่าสนุกมาก แต่ถ้าใครไม่ชอบก็อาจจะรู้สึกเบื่อไปเลย  เพราะแนวข้อสอบวิชานี้จะออกความเข้าใจ ที่ผ่านการวิเคราะห์มาล้วนๆ หลักการต้องแม่น ไวยากรณ์ต้องเป๊ะ ที่สำคัญ ต้องรู้จักสังเคราะห์และวิเคราะห์ให้เป็น
           พี่มิ้นท์แบ่งกรุ๊ปข้อสอบภาษาไทยเป็น 4 หมวดหลักๆ นะคะ
           อย่างแรกคือ หลักภาษา น้องๆ จะทำข้อสอบหมวดนี้ได้ ต้องรู้ว่า คำซ้อน คำซ้ำ คำประสม คำสมาส คำสนธิ คำบาลี-สันสกฤต คืออะไร สระ วรรณยุกต์ ตัวสะกด ในภาษาไทยมีอะไรบ้าง เพราะข้อสอบจะออกเกี่ยวกับเรื่อง พวกนี้ค่อนข้างเยอะ ซึ่งจะถามตรงๆ เลย เช่น "ข้อไหนเป็นคำซ้อน"  "ข้อความข้างต้นมีคำนามกี่คำ" "บทประพันธ์ข้างต้นข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ใดบ้าง"  เป็นต้น นอกจากจะต้องใช้สมองคิดแล้ว นิ้วมือสำคัญมาก นั่งผันวรรณยุกต์กันสนุกเชียวล่ะ ดังนั้นถ้าไม่รู้คำจำกัดความพวกนี้ ถือว่าจบเลยนะคะ
            นอกจากนี้หลักภาษายังรวมไปถึงลักษณนาม ที่ตลอดชีวิตไม่เคยจำได้ซักที รวมทั้งประโยคความเดียว ความรวม ความซ้อน คำราชาศัพท์ การสะกดคำ ความหมายของคำ เป็นต้น
           อย่างที่สอง คือ การสื่อสาร พวกการเขียนจดหมาย ระดับภาษาทางการ-ไม่ทางการ เป็นยังไง ภาษากำกวม การใช้สำนวนต่างประเทศ การเรียงประโยค
           หมวดที่สาม คือ การวิเคราะห์ จริงๆ ก็อยู่ในการสื่อสารได้เหมือนกัน แต่พี่มิ้นท์แยกออกมาเป็นวิเคราะห์ เพราะน้องๆ อ่านอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องวิเคราะห์ด้วย โดยมากจะออกเกี่ยวกับความเป็นเหตุเป็นผล การวิเคราะห์เจตนาของผู้พูด จุดประสงค์ของผู้พูด เป็นต้น และหมวดสุดท้าย คือ วรรณคดี หลักๆ ของกลุ่มนี้ ก็จะออกพวกโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน จำเป็น ต้องรู้ลักษณะคำประพันธ์ด้วยนิดหน่อย อย่างอื่นก็จะเป็นการถอดความ ตัวละครวรรณคดีเรื่องต่างๆ และการใช้ภาพพจน์ในวรรณคดี
           สรุปว่าวิชานี้ง่ายมากๆ ค่ะ แต่ความง่ายตรงนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจหลักการของมัน เรียกว่าถ้าเข้าใจอย่างถ่องแท้ เอามาใช้กับข้อสอบได้ทั้งฉบับเลย พี่มิ้นท์คอนเฟิร์มเลยว่าภาษาไทยง่ายมาก (ตอนพี่มิ้นท์แอดมิชชั่น วิชานี้ได้ตั้ง 82 แน่ะ^^ เชื่อยังว่าง่าย??)

 

วิชาสังคมฯ
           วิชานี้เหมือนจะง่าย แต่แอบยาก ยากเพราะเนื้อหาที่ออกกว้างมาก ออกทุกเรื่องที่เรียน มีทั้งเรื่องใกล้ตัวและไกลตัว และส่วนใหญ่จะเป็นความจำ ดังนั้นวิชานี้ก็จะกึ่งๆ มีทั้งยากและง่าย คะแนนจะไม่ทิ้งกันมาก
            สังคมฯ ออกทุกเรื่อง เริ่มต้นจะเจอเรื่องคำสอน ศาสนา ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นพวกหลักการคำสอนของแต่ละศาสนาจำเป็นต้องรู้ รวมถึงหลักธรรมคำสอนและพิธีกรรมในศาสนาพุทธด้วย มีเรื่องประวัติศาสตร์ถ้าเป็นของไทยก็จะเน้นกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยยันปัจจุบันเลย ถ้าเป็นของต่างประเทศก็จะเป็นเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม สงครามโลก ฯลฯ ประวัติศาสตร์นี้ยังรวมเรื่องอารยธรรมโลกด้วย
            ส่วนเรื่องการเมืองการปกครอง หน้าที่พลเมืองก็ใช่ย่อย ที่ออกบ่อยๆ ก็จะมี เรื่องหน่วยงานบริหาร การปกครองส่วนท้องถิ่น-พิเศษ-ภูมิภาค เทศบาล อบต. อบจ. รัฐธรรมนูญ ศาลต่างๆ สำหรับกฎหมายก็จะออกเชิงวิเคราะห์ เช่น มีสถานการณ์แล้วให้ตอบว่าใครถูก-ผิด การลงโทษต่างๆ กฎหมายเยาวชนก็สำคัญนะ
            นอกจากนี้มีเรื่องภูมิศาสตร์ แผนที่ ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศปรากฏการณ์ต่างๆ เรื่องเศรษฐศาสตร์ก็ออกเยอะ จำให้ดี เรื่องอุปสงค์ อุปทาน การคลัง การแก้ไขเศรษฐกิจ ดุลการค้าต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องสังคมโลกด้วย เช่น องค์กรต่างๆ เช่น AFTA, WTO เป็นต้น
            ถ้าให้พี่มิ้นท์เก็งข้อสอบ ปีนี้น่าจะมีเรื่องอาเซียน น้ำท่วม สึนามีที่ญี่ปุ่น เข้ามาด้วย เพราะค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่และทั่วโลกให้ความสำคัญ


วิธีฝน อัตนัยวิชาเลข ต้องระบาย 0 ในช่องที่ว่างที่เหลือด้วย

วิชาคณิตศาสตร์
            สำหรับคณิตศาสตร์ก็ว่าด้วยเรื่องคำนวณล้วนๆ ออกกันตั้งแต่เรื่องตรรกศาสตร์ การอ้างเหตุผล เซต สับเซต การหาพื้นที่ ตรีโกณมิติ ฟังก์ชัน พาราโบลา ความสัมพันธ์ อนุกรม นอกจากจะออกให้คำนวณแล้ว บางทีก็จะมีแบบให้สมการมา 2 ประโยค แล้วก็ถามข้อใดถูก ส่วนช้อยส์ก็เช่น 1) ก.ถูก ข ผิด 2)ก. ผิด ข.ถูก เป็นต้น ก็น่ามึนหัวเหมือนกัน
             จริงๆ แล้ววิชานี้โจทย์จะไม่ยาว ถามกันตรงๆ แต่เรื่องที่โจทย์จะยาวได้แก่ ความน่าจะเป็น สถิติ การหาค่าเฉลี่ย เรียกว่าทดกันกระดาษเปื่อย จุดสำคัญของเรื่องสถิติ พี่มิ้นท์อยากให้น้องๆ จำคำนิยามพวก ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ความถี่ ฐานนิยม ฯลฯ เพราะถ้าเราไม่รู้จักความหมายมัน เราก็จะทำข้อสอบไม่ได้นะ
             ข้อสอบโอเน็ตวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาเดียวที่มีการเติมคำตอบ หรือ อัตนัย ดังนั้นตรงนี้ถ้าจะมั่วก็มั่วกันยากขึ้นนิดนึงนะ แต่ก็แค่ 20 คะแนนเท่านั้น แนะนำว่าให้ไปเก็บคะแนนจากปรนัย เพราะข้อสอบไม่ยาก พี่มิ้นท์อ่อนเลขยังพอทำได้ เพราะฉะนั้นระดับน้องๆ ชาว Dek-D.com ก็อาจถือว่า
สบายมาก

 

วิชาวิทยาศาสตร์
             เด็กสายศิลป์ที่กำลังกลัวข้อสอบวิชานี้ ไม่ต้องกลัวเลยนะคะ เพราะข้อสอบที่เอามาออกเป็นวิทยาศาสตร์กายภาพ ก็คือ วิชาวิทย์ที่สายศิลป์เรียนกันนั่นแหละ เป็นวิทย์พื้นฐานที่ไม่ได้ลงลึก และออกเกี่ยวกับการทดลองค่อนข้างเยอะ ดังนั้นถือว่าชิวๆ ขยันอ่าน + ทำการทดลองในห้องเรียนบ่อยๆ ก็ทำได้
            เนื้อหาที่ออกสอบมักจะเกี่ยวกับเซลล์สิ่งมีชีวิต กระบวนการต่างๆ ออสโมซิส การแพร่ ฯลฯ ระบบในร่างกาย สมดุลในร่างกาย DNA หมู่เลือด ความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยมากก็จะทดสอบความเข้าใจ เช่น ลักษณะของโรคหรือสาเหตุ นอกจากก็มีพวกระบบนิเวศ สัตว์ต่างๆ ในระบบ มวลชีวภาพ ห่วงโซ่อาหาร ไปจนถึงพลังงานต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์
            ส่วนโซนเคมีก็จะออกเคมีพื้นฐาน นิวตรอน อิเล็กตรอน สูตรเคมี ธาตุต่างๆ ซึ่งอันนี้ก็ต้องลุ้นว่าปีนี้จะมีตารางธาตุมาให้มั้ย เพราะปีที่แล้ว(ปี53)ไม่มีให้ แต่ปี 51-52 มีมาให้ในข้อสอบด้วย นอกจากนี้เนื้อหาในด้านฟิสิกส์ก็เน้นแค่เรื่องการเคลื่อนที่แบบง่ายๆ เช่น โปรเจคไทล์ การหาค่ากระจัด การแกว่งลุกตุ้ม หาความเร่ง ดังนั้นก็จะมีคำนวณนิดหน่อย ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น คลื่น แสดง สี เสียง เป็นต้น และที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ เรื่องดาราศาสตร์ ที่ในปีนี้ออกถึง 28 ข้อ จาก 90 ข้อ โดยที่ผ่านๆ มาก็จะออกเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ ระบบสุริยะ ต้องรู้ว่าอะไร คือดาวเคราะห์ อะไรคือดาวฤกษ์ การเรียงลำดับ สูตรคำนวณต่างๆ โดยเฉพาะความเร็วแสงจะเจอบ่อยมาก เครื่องมือดูดาว เป็นต้น ส่วนนี้ค่อนข้างใช้ความจำมากๆ


 
วิชาภาษาอังกฤษ
            แนวข้อสอบวิชานี้ เชื่อว่าน้องๆ คุ้นแล้วล่ะ เพราะเจอมาเยอะแล้วใน GAT พาร์ทภาษาอังกฤษ ที่พูดแบบนี้ก็เพราะว่าลักษณะข้อสอบไม่ค่อยแตกต่างกัน ต่างกันแค่อาจจะง่ายกว่า
            ลักษณะข้อสอบส่วนแรกก็จะเป็นบทสนทนา มีช้อยให้เลือกคำตอบวัดว่าเราสื่อสารรู้เรื่องมั้ย พาร์ทการเขียน+การเขียน ก็วัดเกี่ยวกับคำศัพท์ ความหมายของคำ หน้าที่ของคำแต่ละประเภท ประธาน กริยา กรรม คำขยาย เรียกว่าส่วนนี้ค่อนข้างยากเพราะรู้ต้องรู้ให้จริง อะไรขยายอะไร ผันเป็นเทนส์ไหน ไม่งั้นอาจจะโดนหลอกได้  นอกจากนี้ก็มีพวกป้ายโฆษณา การ์ตูน และบทความยาวๆ มาให้อ่าน คำถามวัดความเข้าใจ การจับใจความ และสรุปความ
           และพาร์ทที่จี๊ดสุดๆ ก็คือ Error 16 ช้อยส์ 1 คำตอบ หลายคนงงกว่ามันคืออะไร ในโจทย์จะมีประโยคมาให้ 1 ประโยค แล้วเค้าจะขีดเส้นใต้ไว้ 4 ที่ แต่ใน 4 ที่นี้จะมีผิดแค่ที่เดียว เราก็ต้องรู้ว่าตรงไหนผิด และต้องแก้เป็นอะไร ซึ่งจะมีถึง 16 ช้อยส์มาหลอกล่อเรา มันเด็ดตรงนี้แหละ!! สำหรับพาร์ทนี้ ปีนี้จะมี 10 ข้อ 20 คะแนน

 

วิชา สุขศึกษา พลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี
           ข้อสอบฉบับนี้จะรวมกันทั้งหมด 3 วิชา ภายใน 2 ชั่วโมง คือ สุขศึกษาและพละศึกษา, ศิลปะ, การงานอาชีพและเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นแต่ละวิชาจำนวนข้อสอบก็จะไม่เยอะ
           วิชาสุขศึกษา พลศึกษา เน้นเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์  วัดเชิงจิตวิทยาหน่อยๆ เช่น ถ้าถูกล่วงละเมิดทางเพศควรปรึกษาใครเป็นคนแรก หรือ ลักษณะของบุคคลในข้อไหนที่สมควรคบเป็นเพื่อนที่สุด เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะมีเกี่ยวกับสุขภาพ การป้องกันโรค การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ส่วนวิชาพละ ก็จะออกเกี่ยวกับกีฬาประเภทต่างๆ กฎ กติกา วิธีเล่น
            วิชาศิลปะ เน้นเรื่องทัศนศิลป์ ทัศนธาตุ เทคนิคการสร้างศิลปะแบบต่างๆ ภาพวาด ภาพพิมพ์  สำหรับดนตรีก็จะออกเกี่ยวกับเพลงประเภทต่างๆ ผู้แต่งเพลงสำคัญๆ เครื่องดนตรี ต้องรู้ว่าเพลงไหนเหมาะกับงานไหน ซึ่งนอกจากจะต้องรู้ชื่อเพลงแล้วยังต้องรู้อารมณ์ของเพลงด้วย ถือว่ายาก เพราะปกติเพลงที่เอามาออกจะเป็นเพลงไทย ไม่ค่อยได้ฟัง!! และสุดท้าย นาฏศิลป์ ออกเกี่ยวกับท่ารำต่างๆ และเพลงที่ใช้ในการแสดง
            วิชาการงานอาชีพฯ วิชานี้เปิดอ่านแล้วนึกว่าสอบ กพอ. เพราะเนื้อหาที่ออก เกี่ยวกับงานบ้าน การจัดบ้าน เช่น ขั้นตอนการทำความสะอาดห้องพักครู มีอะไรบ้าง ? เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงานเกษตร สุขภาพ เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็มีบ้างเล็กน้อย
             สรุป 3 หมวด พี่มิ้นท์ว่า วิชาสุขศึกษา พลศึกษา น่าจะง่ายที่สุด เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และออกเชิงจิตวิทยานิดๆ ถึงจะกำกวมหน่อยๆ แต่ก็ใช้เซ้นส์ตอบได้ ส่วนอีก 2 พาร์ท ถ้าไม่ได้อยู่ในแวดวงนั้นจริงๆ อาจต้องขอแกล้งตายเวลาเจอข้อสอบ ฮ่าๆ (ล้อเล่นนะคะ)

 

             เอาล่ะค่ะ ไล่มากันครบทั้ง 6 ฉบับ พี่มิ้นท์ก็หวังว่าบทความที่น้องๆ กำลังอ่านอยู่ จะช่วยให้น้องๆ เห็นภาพข้อสอบมากขึ้น  และมีกำลังใจทำข้อสอบมากขึ้น เพราะมันไม่ได้ยากอย่างที่คิด ถ้าน้องๆ คนไหนอยากโหลดข้อสอบปีที่แล้วมาทำ ก็ คลิกที่นี่ เลย

             เหลือเวลาอีกอาทิตย์เดียว ขอให้เป็นอาทิตย์สุดท้ายที่มีค่านะ ใครที่ตั้งใจอยู่แล้วก็ขอให้ได้คะแนนดีๆ สมกับความพยายาม ส่วนน้องๆ กสพท. ก็ขอให้เกิน 60% ^^  โชคดีทุกๆ คนค่ะ
 

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

76 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด