มีนิทรรศการศึกษาต่อต่างประเทศทั้งที งานนี้ต้องไปให้คุ้ม

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ช่วงนี้ก็มีนิทรรศการศึกษาต่อต่างประเทศมากมายเลยนะคะ แถมนิทรรศการแบบนี้ก็มีมาจัดเรื่อยๆ เปลี่ยนสถานที่ไปบ้าง บางงานก็มีหลายประเทศ บางงานก็มีเฉพาะประเทศ บางงานก็มีเฉพาะสาขาเลย เช่น MBA พี่พิซซ่า เองก็เป็นขาประจำไปงานแบบนี้ทุกปีตั้งแต่มัธยมปลายจนจบปี 4 เลย ถ้างานไหนสะดวกรับรองว่าพี่ไปเดินสวยๆ หยิบโบรชัวร์แน่นอน 555 พี่เลยมีเคล็ดลับดีๆ มาแนะนำค่ะว่าเวลาไปงานนิทรรศการศึกษาต่อต่างประเทศเนี่ย ควรทำยังไงบ้าง ถึงจะคุ้มค่าและสามารถสร้างอนาคตให้เราได้



เคล็ดลับการเข้าร่วมงานนิทรรศการศึกษาต่อต่างประเทศ





หมั่นตรวจสอบว่ามีงานเมื่อใดและมีลักษณะงานเป็นแบบใด ใครจัด

     ต้องรู้ล่วงหน้านานๆ ค่ะ แต่บางทีนานเกินก็อาจจะลืมได้ ฉะนั้นต้องเช็คบ่อยๆ เดี่ยวก็จำได้เองว่ามีงานวันไหน นอกจากนี้ก็ต้องหาข้อมูลว่าเป็นงานขนาดไหน มีสถาบันมาร่วมงานกี่แห่งจากไหนบ้าง และจัดอันดับไว้ว่าเราสนใจบูธไหนมากที่สุด เรียงลำดับกันไปเลย เวลาไปถึงงานจะได้เดินได้ตามแผนที่วางไว้ ประหยัดเวลาได้มากและทำให้ไม่เดินเลยบูธไหนแน่ๆ ค่ะ (ส่วนสถาบันที่ไม่รู้จักก็เอาไว้เดินดูปิดท้ายก่อนกลับบ้าน) 




สามารถสมัครเรียนต่อในงานได้เลยหรือไม่

     บางนิทรรศการก็จะเป็นบูธที่ตั้งแผ่นข้อมูลและมีเจ้าหน้าที่คอยอธิบายให้ฟัง แต่ไม่สามารถรับสมัครนักศึกษาได้ แบบนี้มักจะขออีเมลและเบอร์โทรศัพท์น้องๆ ไว้ แล้วคอยติดต่อมาเรื่อยๆ เพื่ออัพเดทข้อมูลของสถาบันให้ทราบ แต่ถ้าเป็นนิทรรศการที่มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนั้นมาด้วยจริงๆ และเป็นอาจารย์ที่มีสิทธิรับสมัครได้ ถ้าเป็นน้องปีสุดท้ายหรือก่อนสุดท้ายแล้ว ก็อย่าปล่อยโอกาสให้ผ่านไปค่ะ พกผลสอบ TOEFL, IELTS, GRE, GMAT หรืออื่นๆ อีกมากมายติดมือมาด้วย พร้อมเอกสารที่ใช้ประจำอย่างทรานสคริปต์ บัตรประชาชน และพาสปอร์ต รวมถึงรูปถ่ายที่เป็นทางการหลายๆ ใบ เอามาให้ครบแล้วสมัครในงานได้ฟรีๆ ไม่ต้องเสียค่าส่งไปรษณีย์ระหว่างประเทศเลยค่ะ




ถ้าเป็นขาประจำให้ติดต่อผู้จัดงานล่วงหน้า

     ถ้าน้องๆ ได้ไปร่วมงานนี้ตั้งแต่ม.ปลาย หรือปี 1 และทราบว่างานนี้มีทุกปีและมักจัดในช่วงเวลาเดิมๆ เสมอ ให้น้องติดต่อผู้จัดงานล่วงหน้าซัก 5 เดือนค่ะ และแจ้งความประสงค์ว่างานครั้งต่อไป น้องอยากให้มีสถาบันใดมาเพิ่มอีกบ้าง ตื๊อบ่อยๆ ก็มีโอกาสได้เจอสถาบันนั้นตัวจริงนะคะ วิธีตื๊อก็ส่งอีเมลไปตามที่ติดต่อที่ผู้จัดงานเคยให้ไว้ในปีแรกนั่นแหละค่ะ ถ้าหลายคนส่งไปขอสถาบันที่เดียวกันเยอะๆ ก็มีโอกาสมาสูงเลย




รู้ก่อนพร้อมก่อน

     แม้คนที่สมัครเรียนต่อโทได้จะเป็นพี่ๆ ปี 3 หรือ 4 แต่น้องๆ ปี 1 ปี 2 ก็ควรตักตวงข้อมูลจากในงานให้มากที่สุดค่ะ อย่าไปเดินตากแอร์เฉยๆ เรื่อยเปื่อยแล้วเอาโบรชัวร์กลับบ้านไปชั่งกิโลขายนะคะ (ตอนม.ปลายพี่คิดแค่นั้นจริงๆ) ต้องถือซะว่าเราโชคดีที่ได้มาก่อนใครหลายๆ คน ถ้าเห็นบูธไหนมีรุ่นพี่ถามข้อมูลสถาบันอยู่ ก็ขอฟังด้วยคนแล้วจดๆๆๆๆๆ กลับมาค่ะ จะได้มีข้อมูลล่วงหน้าเลยว่าที่ไหนเปิดรับสมัครช่วงใดของปี มีคณะอะไรบ้าง หอพักเป็นยังไง หลักสูตรแบบไหน ใช้คะแนนอะไรบ้าง

     ค่าใช้จ่ายยังไงก็สูงขึ้นทุกปีการศึกษาค่ะ แต่กำหนดการต่างๆ ก็ช่วงเดิมๆ ทั้งนั้น น้องจะได้วางแผนเลยว่า ต้องฟิตภาษาอีกเท่าไหร่ ไปสอบ TOEFL หรือ IELTS ช่วงไหนดีเพื่อให้ผลสอบส่งไปทันวันรับสมัครของสถาบันนั้นๆ หลายสถาบันจะลดราคาค่าธรรมเนียมการสมัครให้ถ้าส่งเอกสารมาครบในช่วง Early หรือ Pre ซึ่งจะเป็นเวลาสั้นๆ ที่เปิดรับสมัครคนที่พร้อมมานานแล้ว ก่อนจะเป็นวันรับสมัครแบบธรรมดาทั่วไป บอกเลยว่า ถ้าสมัครเรียนพร้อมสมัครทุนด้วยเนี่ย การสมัครในช่วงก่อนเปิดรับจริงจะได้รับพิจารณาเป็นพิเศษด้วยแหละ เพราะดูมุ่งมั่นตั้งใจจริงมานาน แต่ไม่ใช่ว่ารีบส่งไปลวกๆ ไม่เรียบร้อยนะคะ แบบนี้ก็ตกอยู่ดีค่ะ




สร้างเครือข่าย

     เจ้าหน้าที่คนไทยส่วนใหญ่มักเป็นศิษย์เก่าของสถาบันนั้นๆ ค่ะ ฉะนั้นตีซี้เข้าไว้ (แต่อย่าเนียนลามปามนะคะ) และการสอบถามเรื่องจุกจิกกับคนที่เคยเป็นนักเรียนมาก่อนก็จะได้รายละเอียดแบบที่อาจารย์หรือโบรชัวร์ให้ไม่ได้ พี่เขาอาจจะบอกได้เลยว่าถ้าไปเรียนห้ามอยู่หอนี้เพราะผีดุ หรือว่าเคล็ดลับการใช้ชีวิตที่นั่นต่างๆ นานา 

     นอกจากน้องจะให้ข้อมูลกับทางสถาบันแล้ว อย่าลืมขอข้อมูลติดต่อทั้งของพี่ศิษย์เก่าและอาจารย์ที่มาจัดงานเอาไว้ด้วยนะคะ เวลามีปัญหาอะไรจะได้ปรึกษาได้โดยตรง แรกๆ อาจจะคุยแบบเกร็งๆ แต่ถ้าติดต่อบ่อยๆ ไม่หายเข้ากลีบเมฆไปเลย เดี๋ยวก็สนิทกับพี่เขาค่ะ แล้วก็จะตามมาด้วยเพื่อนพี่ รุ่นพี่ของเพื่อนพี่ TA อาจารย์ท่านอื่น และอีกมากมาย ถือเป็นการสร้างเครือข่ายให้เรา นี่ไม่ได้แปลว่าเป็นเด็กเส้นนะคะ เพราะการชวนคุยฮาๆ มันไม่สามารถฝากใครเข้าเรียนได้อยู่แล้วค่ะ แต่อย่างน้อย ถ้าเหลืออีกตำแหน่งเดียวสำหรับน้องกับคนสมัครอีกคน การที่อาจารย์รู้จักน้องก็อาจทำให้ได้เข้าเรียนนะคะ หรือถ้าได้ไปเรียนสถาบันอื่นแทน น้องก็จะมีเพื่อนต่างสถาบันในต่างประเทศ ถ้าจะต้องประสานงานขอข้อมูลจากอีกที่ก็ทำได้โดยสะดวกค่ะ มีเพื่อนเยอะๆ จากทุกวงการและทุกที่ของโลกถือว่าเป็นกำไรชีวิตสุดๆ เลยนะ




แถม... ฝึกสมาธิ และฟิตกำลังแขนขาให้พร้อม

     ในงานจะมีคนเยอะมาก เบียดกันไปหมดจนอยากจะเป็นลม บางทีก็ต้องยืนฟังเจ้าหน้าที่พูดนานๆ จนขาชา หรืออาจจะตามล่าโบรชัวร์ทุกสถาบันจนกล้ามแขนขึ้นก็ได้ ฉะนั้นฟิตทั้งกายใจให้ดีค่ะ ผู้เข้าชมงานคนอื่นๆ ก็อยากรู้อยากเห็นเหมือนเราเนี่ยแหละ น้องอาจโดนแย่งพูด ชิงถามตัดหน้า ผลักกระเด็น หรือกดให้เตี้ยลง อย่าไปอารมณ์เสีย อย่าวีน อย่าเหวี่ยง อย่าไปโมโหคนนั้นและสงสัยว่ามารยาทไม่มีรึไงเลยนะคะ เปลืองสมองและเวลาเราเปล่าๆ คิดซะว่ามันเรื่องธรรมดาของงานแบบนี้อยู่แล้ว ช่างเขาเถอะ เอาแค่ว่าเวลาน้องตั้งใจฟังเจ้าหน้าที่ หรือตั้งใจจดข้อมูล อย่าวอกแวก ไม่งั้นอาจได้ข้อมูลผิดๆ ไป ใครจะตะโกนพูดก็อย่าไปสนใจ เอาสมาธิไว้ที่เจ้าหน้าที่หรือกระดาษที่เรากำลังจดในมือเท่านั้นค่ะ




     ทีนี้ถ้ามีงานนิทรรศการศึกษาต่อต่างประเทศมาจัดอีกในวันเวลาและสถานที่ที่น้องไปสะดวก น้องก็พร้อมที่จะไปตะลุยงานนี้อย่างจริงจังไม่ว่าจะเป็นเฟรชชี่หรือพี่ซีเนียร์ก็ตาม อ้อ เกือบลืมค่ะ ถ้าจะสมัครเรียนในงานเลยก็ควรใส่ชุดนิสิตนักศึกษาไปนะคะ



ภาพประกอบ
www.fandm.edu, www.nccwsl.org
www.uwp.edu, www.bc.edu, www.usu.edu
www.seattleu.edu, www.crainsnewyork.com
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด