วัสดีค่า... ในเว็บเด็กดีมีหน้า Writer ที่น้องๆ หลายคนเข้ามาฝากผลงานกันไว้มากมาย ก็พอจะเดาได้ว่าต้องมีทักษะการเขียนในระดับหนึ่ง พูดถึงการเขียนแล้ว การเขียนมีอยู่หลายประเภทค่ะ เช่น การเขียนเรื่องสั้น การเขียนเชิงวิชาการ การเขียนสารคดี ฯลฯ แต่ละประเภทก็มีลักษณะการเขียนที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์

         แต่การเขียนที่น้องๆ เจอได้บ่อยที่สุดในวัยเรียนก็คงหนีไม่พ้น การเขียนรายงาน เขียนโครงงาน เรียงความ และการเขียนสอบ ซึ่งนับได้ว่าเป็นปัญหาหนักอก(ต้องยกออก) สำหรับน้องๆ หลายคน เพราะเด็กไทยแทบไม่มีโอกาสได้ฝึกเขียนกันเลย เวลามาจับงานใหญ่ๆ จึงทำได้ไม่เต็มที่ ไม่รู้ว่าในกระดาษแต่ละแผ่นต้องเขียนอะไรบ้าง แบบไหนที่เรียกว่าน้ำ แบบไหนที่เรียกว่าเนื้อ  เอาล่ะ.. ใครรู้ตัวว่าทักษะการเขียน(จำพวกรายงาน โครงงาน เรียงความ) เข้าขั้นวิกฤต พี่มิ้นท์มีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ มาฝากค่ะ

 

    
    heart
หัวใจสำคัญของการเขียน heart
         อย่างแรกที่อยากให้น้องๆ รู้จักกับการเขียนมากขึ้น คือ เราต้องรู้ถึงหัวใจสำคัญของการเขียนเสียก่อน ว่าเราเขียนเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เขียนให้ใครอ่าน สิ่งเหล่านี้กำหนดรูปแบบการเขียนให้แคบลงได้ นอกจากนี้ยังมีหัวใจสำคัญของการเรียนอีก 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

      
  >> รู้ว่าจะเขียนอะไร
        สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเขียน คือ ต้องรู้ก่อนว่า "จะเขียนอะไร" เขียนอะไรในที่นี้ไม่ได้หมายถึงชื่อเรื่องนะคะ แต่ต้องลงลึกไปด้วยว่าในงานชิ้นนั้นๆ จะเขียนอะไรบ้างเพื่อให้ครอบคลุมและตรงประเด็นกับชื่อเรื่องมากที่สุด พูดง่ายๆ คือ เราต้องรู้ว่าในรายงาน 10 หน้าจะมีหัวข้ออะไรบ้าง บางคนอาจถนัดคิดชื่อเรื่องเป็นขั้นตอนสุดท้าย แบบนี้ก็ไม่ผิดค่ะ ขอแค่เรามีรายละเอียดในหัวให้ได้ก่อนว่าเราจะเขียนอะไร ดีกว่าเขียนไปคิดไป กลายเป็นพายเรือวนอยู่ในอ่าง เริ่มต้นไม่ถูก จบก็ไม่ลงอีกต่างหาก

    
  >> ระดับภาษา
         เนื่องจากว่าการเขียนรายงาน โครงงาน เรียงความ เป็นการเขียนเชิงวิชาการ ทำให้มีระดับภาษาแตกต่างจากทั่วๆ ไป คือ มีลักษณะที่สุภาพกว่า ทางการกว่า และไม่ใช่ภาษาพูด ไม่ต้องเติมแต่งอารมณ์ของตัวเองเข้าไป อย่างเช่น ต้องการบอกว่า "กินข้าวครบ 5 หมู่ดีนะ กินแล้วร่างกายแข็งแรง" เราก็ต้องมาเกลาภาษาให้ทางการขึ้น อ่านแล้วน่าเชื่อถือกว่า เช่น "การทานอาหารครบ 5 หมู่ มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง" เป็นต้น
          จากประโยคตัวอย่างน้องๆ คงเห็นความแตกต่างแล้วว่า ประโยคแรกเหมือนประโยคบอกเล่าคุยกันเอง แต่ประโยคหลังตัดความกันเองออก ให้กลายเป็นภาษาทางการ แต่เนื้อความยังต้องชัดเจนเช่นเดิม ไม่ยากเกินไปใช่มั้ยคะน้องๆ ^^ (หนังสือเรียนที่น้องๆ ใช้อยู่ก็เป็นตัวอย่างการใช้ภาษาทางการที่ดีนะ)

     
>> เรียบเรียงให้ต่อเนื่อง
         รายงานหรือบทความจะน่าอ่าน การเรียบเรียงเนื้อหาให้ต่อเนื่องกันเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เลยค่ะ เชื่อว่าหลายคนมีปัญหาเรียบเรียงข้อมูลให้ต่อเนื่องไม่เป็น ไม่รู้อะไรควรขึ้นต้นก่อน-หลัง บทจบควรเป็นแบบไหน ต้องจบตอนไหน และมักเจอปัญหาเขียนจบแบบห้วนๆ จนคนอ่านตั้งคำถามในใจว่า นี่จบแล้วหรอ??
         ดังนั้นการเขียนให้ต่อเนื่อง สละสลวย จะเพิ่มความน่าเชื่อถือและแสดงความเป็นเหตุเป็นผลของเนื้อหาได้มากขึ้น วิธีการก็ไม่ยากค่ะ ก่อนเขียนจริง ควรร่างใส่กระดาษก่อนว่าจะใส่เนื้อหาอะไรลงไปในย่อหน้าไหน และคิดบทเชื่อมเอาไว้เลย อ่านแล้วจะได้ไม่สะดุดค่ะ
    


 

   heart ขั้นตอนการเขียน heart
        การเขียนทุกครั้งต้องมีการวางแผน ก่อนที่พี่ๆ แอดมินที่เว็บเด็กดีจะเขียนบทความขึ้นมาบทความนึงก็ต้องวางแผนเช่นกันว่าจะเขียนเรื่องอะไร มีหัวข้ออะไรบ้าง และเนื้อหาจะใส่อะไรลงไป การทำงานจะรวดเร็วยิ่งขึ้นค่ะ หลายคนใช้วิธีคิดไปเขียนไป พอนึกอะไรได้ขึ้นมาเพิ่มก็ต้องไปแทรกแล้วจำไม่ได้ด้วยว่าเขียนอยู่ตรงไหน ทำให้เสียเวลาชีวิตไปเยอะค่ะ มาดูกันดีกว่าว่าขั้นตอนการเขียนรายงานให้น่าอ่าน มีอะไรบ้าง

     
1. ระดมความคิด
          1 สมอง 2 มือที่เรามี ใช้ให้เป็นประโยชน์ เมื่อได้รับมอบหมายให้เขียนรายงานหรือเรียงความใดๆ ก็ตาม ให้รีบระดมสมอง(ตัวเอง) เลยว่าจะเขียนเกี่ยวกับอะไร แล้วเนื้อหามีอะไรบ้าง (นี่คือหัวใจสำคัญของการเขียน ตามที่พี่มิ้นท์ได้พูดไปในหัวข้อที่แล้ว)
 
     2. เขียนโครงร่าง
         น้องๆ มัธยมยังไม่คุ้นชินกับการร่างโครงร่างรายงาน แต่ฝึกได้ตั้งแต่วันนี้จะมีประโยชน์มาก โครงร่างรายงานคือ แผนกำหนดว่ารายงานของเราจะมีหัวข้อและเนื้อหาอะไรบ้าง เรื่องไหนต่อจากอะไรและตามด้วยเรื่องอะไร เช่น พี่มิ้นท์จะเขียนเรียงความเรื่อง ประโยชน์ของการทานอาหารครบ 5 หมู่ โครงร่างรายงานที่พี่มิ้นท์จะทำขึ้นมา เป็นดังนี้
             - ชื่อเรื่อง    
             - เกริ่นนำถึงปัญหาสุขภาพของเด็กไทย
             - อาหาร 5 หมู่มีอะไรบ้าง ประโยชน์ของอาหารแต่ละหมู่
             - ประโยชน์ของการทานอาหารครบ 5 หมู่
             - โทษของการทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่
             - สรุป
        นี่คือ โครงร่างสั้นๆ แต่เป็นไกด์ไลน์ในการเขียนที่ยอดเยี่ยม อย่างน้อย เมื่อเราเขียนเกริ่นนำได้แล้ว ก็แค่ดูโครงต่อว่าเขียนอะไรต่อ ดีกว่ามานั่งนึกแล้วไปเขียนอะไรที่หลุดประเด็น

  
 3. หาข้อมูลเพิ่มเติม
         คนเราไม่ได้รู้ไปทุกเรื่องค่ะ ดังนั้นเมื่อดูโครงร่างที่ร่างไว้คร่าวๆ แล้ว ถ้ารู้ว่าประเด็นไหนไม่รู้ หรือ ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้รายงานหรือเรียงความเราข้อมูลแน่นและน่าเชื่อถือ

  
 4. ย่อหน้าให้ถูก
        สำหรับคนอ่าน "การย่อหน้า" มีประโยชน์เพื่อช่วยพักสายตาและจับประเด็นเป็นเรื่องๆ ได้ง่ายขึ้น แต่สำหรับคนเขียน "การย่อหน้า" ช่วยให้เราเขียนง่ายขึ้น เพราะ 1 ย่อหน้าควรมีเพียงใจความเดียว เมื่อรู้ว่าจะจบประเด็นก็ขึ้นบรรทัดใหม่ได้เลย
        ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจ ถ้ารายงาน 10 หน้าจะมีย่อหน้าเกิน 10 ย่อหน้า คนอ่านสบายตาแล้วยังแสดงความเป็นมืออาชีพของคนเขียนได้อีกด้วย

    
5. อ่านทวนให้มั่นใจ 100%
         เมื่อเขียนเสร็จเรียบร้อย อย่าลืมอ่านทวนสิ่งที่ตัวเองเขียน เพื่อตรวจทานหาคำผิด(บางทีพิมพ์เร็วเกินอาจทำให้พิมพ์ผิด) ตรวจภาษา และเนื้อหา ว่าอ่านเข้าใจหรือเปล่า มีตรงไหนสะดุดบ้างหรือไม่ หากพบตรงไหนยังไม่ดีพอก็รีบแก้ไข และตรวจซ้ำอีกครั้งให้มั่นใจ 100%

 

 
        จบไปแล้วสำหรับเทคนิคเพิ่มทักษะการเขียนที่มีประโยชน์กับน้องๆ ไม่ว่าจะเป็นเขียนเรียงความหรือเขียนทำรายงานต่างๆ แต่ยังไม่หมดค่ะ พี่มิ้นท์ยังมีเรื่องมาแถมอีกอย่าง เพราะมั่นใจว่าหลายห้องเรียนประสบปัญหาการเขียนเลคเชอร์เลคเชอร์ในห้องเรียน ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเดียวกันคือ จดไม่ทัน จะขอยืมสมุดเพื่อนมาก็ไม่ได้เพราะเพื่อนจดไม่ทันเหมือนกัน ><  ไปดูกันดีกว่าว่าเทคนิคจดเลคเชอร์ไวให้ได้ใจความ มีอะไรบ้าง

      
1. ใช้สัญลักษณ์แทนคำ คำบางคำสามารถแทนได้ด้วยสัญลักษณ์ ฝึกใช้บ่อยๆ จะช่วยจดได้เร็วขึ้นและได้ใจความครบถ้วน เช่น
           - เครื่องหมายดอกจัน (*) ใช้ดอกจันหน้าหัวข้อสำคัญ เหมือนย้ำให้เห็นว่าหัวข้อนี้จำให้แม่น ควรอ่านซ้ำบ่อยๆ
          - ลูกศรขึ้น/ลง แทนคำว่ามากขึ้น หรือ ลดลง
          - เครื่องหมายคำถาม (?) ใช้แทนประโยคคำถามหรือแสดงความไม่แน่ใจ เช่น เพราะอะไร เป็น เพราะ? เป็นต้น    
          - เครื่องหมายบวก (+) ใช้แทนคำว่า และ เช่น ประเทศไทย + ประเทศเวียดนาม เป็นประเทศในอาเซียน  

   
  2. ใช้อักษรย่อ คำไทยหลายคำยาว เสียเวลาในการจด ฉะนั้นย่อคำซะเลย ซึ่งการย่อคำนั้นมีทั้งคำที่มีอักษรย่ออยู่แล้ว หรือย่อคำที่ใช้บ่อยๆ ก็ประหยัดเวลาไปได้เยอะ ยกตัวอย่างเช่น
          - ตัวอย่าง ย่อเป็น ต.ย.
          - ชั่วโมง ย่อเป็น ชม.
          - โรงเรียน ย่อเป็น ร.ร.
          - ผู้ชาย ย่อเป็น ผช.
         - คุณ ย่อเป็น k.
         - ความ ย่อเป็น ค.
    
3. สร้างเทคนิคเฉพาะตัว การสร้างเทคนิคเฉพาะตัวก็เป็นเรื่องที่ดีค่ะ เพราะตัวเราเองจะรู้ตัวเองว่าสปีดการเขียนเราเร็วเท่าไหร่ และช้าที่ตรงไหน ก็จะสร้างแนวทางการจดได้เหมาะกับตัวเอง แต่วิธีนี้ต้องฝึกใช้บ่อยๆ ด้วยนะ จะได้ไม่ลืมความหมายของเทคนิคที่เราสร้างขึ้นมาจ้า ยกตัวอย่างเช่น
         - ใช้วงเล็บแทนคำว่า "เช่น"   ยกตัวอย่าง  สีร้อนมีหลายสี เช่น สีแดง สีส้ม สีเหลือง... เขียนใหม่ได้ว่า  สีร้อน (แดง ส้ม เหลือง)
         - ใช้คำภาษาอังกฤษ เช่น  คำว่า ยกตัวอย่าง ใช้เป็น "Ex."
         - ย่อคำใช้เอง เพื่อความเร็ว เช่น ปสก. (ประสบการณ์), ปวศ.(ประวัติศาสตร์), รฟฟ.(รถไฟฟ้า) เป็นต้น

 

 
        จบไปแล้วสำหรับทักษะการเขียน ซึ่งเป็นเทคนิคสุดท้ายที่พี่เด็กดีคัดสรรเทคนิคมาฝากน้องๆ ให้นำไปใช้ในเปิดเทอมนี้ คงถูกใจน้องๆ กันนะคะ ฝึกให้ครบทั้ง 4 ทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน รับรองว่าได้ใช้ประโยชน์ตั้งแต่วินาทีแรกที่ฝึกไปจนถึงวัยทำงาน หรือเกษียณเลยจ้า
    
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด

14 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
suisen Member 21 มิ.ย. 57 20:14 น. 9

ปกติเวลาจดเลคเชอร์ผมก็ใช้สัญลักษณ์บ่อยๆนะครับ

แต่พอกลับมาอ่านอีกทีเนี่ยสิ...ปัญหา

//จำไม่ได้ว่าตัวย่อที่ย่อไว้ใช้แทนคำว่าอะไรเสียใจ

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด