สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com น้องๆ ที่โตมาในยุค 1990 ปลายๆ จนถึงปัจจุบัน เรียกว่าโตมากับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ก่อนนี้บ้านใครมีคอมพิวเตอร์หรือมีมือถือพกถือว่าน่าอิจฉาสุดๆ แต่เดี๋ยวนี้ใครมี กลายเป็นเรื่องปกติไปซะแล้ว

        เทคโนโลยีไม่ได้ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างเดียว แต่กับการศึกษาก็มีผล ถ้าคนเรียนถนัดเรียนรูปแบบนึง แต่คนสอนถนัดอีกรูปแบบนึง การศึกษาคงไม่มีวันลงตัวค่ะ พี่มิ้นท์ได้อ่านเจอรูปแบบการเรียนรู้ที่เด็กยุคใหม่ชอบ จากหนังสือรวมมิตรคิดเรื่องการเรียนรู้ เห็นว่ามีประโยชน์ดี เป็นแนวทางการสอนให้กับครู ส่วนน้องๆ ก็ลองดูว่าตรงกับสิ่งที่เป็นอยู่หรือเปล่า
 

 

   1. ชอบการได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็วจากสื่อมัลติมีเดียหลายแหล่ง
         เด็กยุคดิจิทัลทำอะไรๆ ด้วยความเร็วสูง เพราะคุ้นเคยกับวิดีโอเกมส์ มือถือ ฯลฯ จึงมีประสบการณ์ในการจัดการข้อมูลอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ครูไม่ได้มีประสบการณ์แบบเด็กรุ่นใหม่
         ซึ่งรูปแบบที่ต่างกัน ก็ส่งผลเสียค่อนข้างมากทีเดียว อย่างน้อยครูจะรู้สึกไม่สบายใจที่สอนด้วยความเร็วแบบที่เคยเรียนมาทั้งชีวิต ส่วนนักเรียนก็อาจจะได้รับสารไม่เต็มที่ เพราะการให้ข้อมูลทีละน้อยๆ นานๆ อาจทำให้เกินช่วงเวลาที่เราสนใจเนื้อหาไปแล้ว

   2. ชอบทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กัน
        เด็กยุคดิจิทัลชอบทำงานหลายๆ อย่างและคุ้นเคยกับการทำหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำได้สบายมากด้วยนะ แต่โรงเรียนของเรายังคงเน้นการจัดการทีละอย่าง ซึ่งเป็นวิธีการแบบเส้นตรงแบบดั้งเดิม
        ความจริงแล้ว การทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ก็คือการ "ให้ความสนใจเพียงส่วนหนึ่งอย่างต่อเนื่อง" นั่นเอง ซึ่งคนทั่วไปก็ทำกันอยู่แล้ว เช่น ฟังเพลงไปด้วยตอนขับรถ ฟังเพลงตอนอ่านหนังสือ เป็นต้น แต่กับเด็กรุ่นใหม่ ทำได้เร็วและคล่องสุดๆ ดีไม่ดี ทุกวันนี้น้องๆ อาจจะกำลังทำรายงานไปพร้อมกับฟังเพลง ค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ และตอบแชทเพื่อนอีก 14 คนไปในเวลาเดียวกัน โดยที่ยังรู้สึกว่า "ไม่มีอะไรทำเลย"

 

 

   3. ชอบการจัดการกับข้อมูลภาพ เสียง สี และวิดีโอ มากกว่าข้อความ
        แต่เดิมเราใช้ภาพนิ่งประกอบข้อความมานานแสนนาน รูปภาพพวกนั้นมีไว้เพื่อเสริมข้อความให้เด่นชัดขึ้น แต่ปัจจุบันรูปภาพเคลื่อนไหวทำให้ข้อความมีบทบาทน้อยลงไปกว่าเดิม
        รุ่นน้องๆ นั้นเติมโตมาพร้อมกับโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เกมส์ที่ภาพสีคมชัด โดยมีข้อความประกอบแค่นิดเดียวหรือแทบไม่มีเลย ภาพพวกนั้นมีพลังมากพอที่จะส่งสารให้ผู้รับเข้าใจได้ด้วยตัวของมันเอง สื่อดิจิทัลที่ถาโถมเข้ามาหาน้องๆ ทำให้ความสามารถทางการมองเฉียบคมขึ้น ซึ่งสนับสนุนประเด็นที่ว่านักเรียนสมัยนี้เป็นผู้ที่เรียนรู้ด้วยการมองเห็นภาพเป็นหลัก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสื่อการเรียนการสอนอะไรก็ตาม จะชอบมากถ้าตาดูหูฟังแล้วเข้าใจ ดีกว่าการนั่งอ่านข้อความเยอะๆ ที่อ่านจนตาลายแล้วยังปวดหัวอยู่

   4. ชอบเข้าถึงข้อมูลมัลติมีเดียที่เชื่อมโยงหลายมิติ
        ในยุคก่อนๆ เราเรียนรู้ด้วยวิธีดั้งเดิม เป็นเส้นตรง ยึดตามตรรกะ หนักไปทางใช้สมองซีกซ้าย ส่วนเด็กรุ่นใหม่เป็นรุ่นแรกที่ได้เจอการเชื่อมโยงหลายมิติ เช่น การคลิกที่นั่นที่นี่ไปทั่ว โครงสร้างข้อมูลแบบใหม่นี้ได้เพิ่มการตระหนักรู้ในการสร้างการเชื่อมต่อใหม่ๆ ทำให้ไม่ต้องคิดแบบทางเดียว เป็นการเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่ยึดติดแค่ทางใดทางหนึ่ง
 

 

   5. ชอบสร้างเครือข่ายกับอีกหลายๆ คนไปพร้อมกัน
         สมัยก่อน นักเรียนจะถูกบังคับให้ทำงานและวัดผลจากงานเดี่ยว ดังนั้นวิธีติดต่อเพื่อนๆ  เวลาทำงานนอกโรงเรียน คือ นัดให้มาเจอหน้ากันหรือไม่ก็โทรศัพท์บ้านคุยกัน แต่เด็กยุคดิจิทัลโตมาพร้อมกับวิธีสื่อสารที่หลากหลาย เช่น โทรศัพท์มือถือ Line อีเมล์ เว็บบล็อก โซเชียลมีเดียต่างๆ เด็กรุ่นใหม่จึงคาดหวังว่าจะสื่อสารกับคนอื่นเป็นกลุ่มผ่านระบบดิจิทัลได้

   6. ชอบเรียน "เมื่อถึงเวลา"
         แต่คุณครูมักจะบอกกับเราว่าคุณต้องเรียนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง "เผื่อว่าจะได้ใช้" เช่น เผื่อออกสอบ เผื่อเป็นวิศวกร ฯลฯ แต่เด็กยุคดิจิทัล ต้องการทำความเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ต่อเมื่อต้องการรู้ แต่ยังขาดทักษะเหล่านั้นอยู่
         การเรียนแบบ "เมื่อถึงเวลา" คือการเรียนที่ผู้เรียนจะได้ทักษะและนิสัยในการเรียนที่ช่วยให้เรียนรู้ได้ดีและปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อถึงเวลา

   7. ชอบได้รับคำชมหรือรางวัลทันที หรือ ได้รับภายหลัง
         เด็กนักเรียนยุคก่อนชอบเก็บคำชมไว้ภายหลัง พูดง่ายๆ คือ ถ้าขยันและตั้งใจ ผลสุดท้ายก็จะได้รับรางวัล แต่ในยุควัฒนธรรมดิจิทัล รางวัลหรือคำชมมีอิทธิพลมากเลยล่ะ เพราะเด็กคือวัยที่ต้องการความมั่นใจ การเอาใจใส่และโอกาสที่จะโดดเด่นแตกต่างจากคนอื่น อย่างในเกมส์ก็ใช้เงื่อนไขนี้ คือ ถ้าทุ่มเทเวลาให้กับเกมส์ก็จะได้รับรางวัลตอบแทน เช่น เลื่อนขั้นไปเล่นในระดับที่สูงขึ้น หรือ มีรายชื่อติดในแรงกิ้งคนที่มีคะแนนสูง ดังนั้นสิ่งที่เขาทำก็จะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่จะได้รับ เด็กรุ่นดิจิทัลจึงชอบที่จะมีของรางวัลมาล่อตาล่อใจเพื่อแลกกับความพยายาม

   8. ชอบการเรียนรู้ที่ตรงประเด็น มีประโยชน์ทันทีและสนุก
         การเรียนในสมัยก่อนเน้นให้ท่องจำเพื่อเตรียมสอบกับการสอบในโรงเรียน ซึ่งนั่นไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่ควรจะเป็น ดังนั้นเด็กรุ่นดิจิทัลมักจะถูกวิจารณ์ว่าไม่ค่อยขวนขวายหาความรู้ ทั้งที่จริงเด็กรุ่นนี้มีความเฉลียวฉลาดในด้านการแก้ปัญหา จะว่าไป พวกเกมส์ทั้งหลายก็ต้องอาศัยทักษะการแก้ปัญหา และการคิดซับซ้อนที่เด็กสนุกที่จะทำ พูดง่ายๆ เด็กรุ่นดิจิทัลต้องการให้การเรียนรู้ที่มีประโยชน์และตรงประเด็น ก็แค่อยากรู้ว่าสิ่งที่เรียนเกี่ยวข้องกับเรายังไง และที่สำคัญที่สุด ต้องทำเรื่องเรียนให้เป็นเรื่องสนุกด้วย
 
        โอ้โห! เป็น 8 รูปแบบการเรียนที่น่าจะตรงใจเด็กรุ่นใหม่มากๆ เพราะสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ และวิธีการเรียนรู้ของเด็กยุคนี้โดยเฉพาะ ซึ่งถ้าทำได้จริงก็คงจะดีมาก แต่ครูผู้สอนก็คงต้องเหนื่อยมากแน่ๆ ค่ะ เพราะครูไม่ได้ผ่านประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีเหมือนน้องๆ แต่เชื่อเถอะว่าน้องๆ ที่อยากเป็นครู อาจจะต้องวิ่งตามเด็กในยุคหน้าก็ได้นะ ใครจะไปรู้^^
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือเรื่อง รวมมิตรคิดเรื่องเรียนรู้. TK Park
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
-Cintear- Member 12 ต.ค. 58 02:11 น. 3

เห็นด้วยอย่างแรงเลย รู้สึกอยากเลือกเรียนได้แบบอเมริกาจะได้เจาะจงหรือเฉพาะทางไปเลย อย่างบางคนเรียนไปแทบตายแต่ที่ได้ใช้จริงๆ แค่ประมาณ 1 ไม่ก็ 2 ส่วน 10 เอง อย่างพวกรากที่สอง กำลังสองสมบูรณ์ ผลต่างกำลังสาม หาค่านู้นค่านี้ หรืออะไรแนวๆ นี้น่ะ ถ้าไม่ใช่เฉพาะทางจริงๆ ถามหน่อยได้เอาไปใช้ป่ะ?

เศร้าจัง

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด