10 ข้อควรรู้ "โรคไข้เลือดออก" จากคนแข็งแรง อาจแย่ลงได้ในไม่กี่วัน


 
    
           สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com โรคที่มาพร้อมหน้าฝนนอกจากหวัดแล้ว ก็เห็นจะมีโรคไข้เลือดออกอีกโรคที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอันตรายถึงชีวิต เกิดขึ้นได้กับทุกคน และเป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบร้อนชื้น แน่นอนว่าประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ยิ่งถ้าฝนตก จนเกิดน้ำขัง จะกลายเป็นแหล่งวางไข่ชั้นดีของบรรดายุงลายเลยล่ะค่ะ
           พี่มิ้นท์เกิดมาในยุคที่มีสปอตโฆษณารณรงค์เฝ้าระวังไข้เลือดออกกับสโลแกน คว่ำถ้วย คว่ำโถ คว่ำถัง คว่ำกะละมัง คว่ำจาน คว่ำไห แต่เดี๋ยวนี้มีการรณรงค์น้อยลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เราละเลยอันตรายที่เกิดจากโรคนี้ วันนี้เราจะมาทบทวนเกี่ยวกับ "โรคไข้เลือดออก" เพื่อให้ระวังกันมากขึ้นค่ะ

 
  
 

      1. โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจาก ไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) โดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงตัวเมียจะเป็นยุงที่ดูดเลือดคนอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าไปดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่ เชื้อจะเข้าไปฟักในตัวยุง และแพร่เชื้อไปสู่เหยื่อรายต่อไปได้ภายใน 7-10 วัน และเชื้อที่ว่าก็จะอยู่ในตัวยุงไปตลอดชีวิตของมัน

   
  2. ช่วงเวลากลางวันเป็นช่วงอันตราย ระวังอย่าให้ยุงกัดนะคะ เพราะเป็นเวลาที่ยุงลายตัวเมียจะออกหากิน ซึ่งยุงลายจะหากินในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน และชอบอยู่ในที่มืดๆ มุมอับ เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว ใต้โต๊ะ เก้าอี้ ผ้าม่าน เป็นต้น ยุงลายตัวเมียมีอายุประมาณ 1-5 เดือน ผสมพันธุ์แค่ครั้งเดียวก็สามารถวางไข่ได้หลายครั้ง ดังนั้นช่วงฤดูฝน อาจจะทำให้มีการแพร่พันธุ์ของไข้เลือดออกมากกว่าเดิม เพราะมีน้ำท่วมขังเหมาะแก่การวางไข่ ที่สำคัญคือ ไข่ยุงลายอยู่ในที่แห้งได้เป็นปีๆ จนมีระดับน้ำท่วมถึง ไข่พวกนี้ก็ฟักตัวออกมาเป็นลูกน้ำได้ด้วย โอ้มายก็อด!!

  
  3. หลายคนเข้าใจว่า "ไข้เลือดออก" ระบาดได้เฉพาะฤดูฝน แต่ความจริงคือ ไข้เลือดออก สามารถระบาดนอกฤดูได้ ขอแค่มีน้ำขัง มีที่วางไข่ ยุงลายก็เจริญเติบโตและเป็นพาหะแพร่เชื้อได้ตามปกติ ดังนั้น ต่อให้ไม่ใช่หน้าฝน ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไข้เลือดออกไม่ได้นะ

  
  4. เมื่อเชื้อไวรัสเดงกี่เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 3-14 วัน โดยทั่วประมาณ 5-8 วัน อาการเบื้องต้นจะมีไข้สูง ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หน้าแดง และอาจจะมีผื่นขึ้น แต่อาการจะรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละคน ซึ่งบางคนไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการคล้ายโรคอื่น ทำให้ชะล่าใจไม่ไปหาหมอ กินยาลดไข้เอง กว่าจะรู้ตัวอาการก็อาจจะหนักแล้ว ฉะนั้นถ้ามีอาการเข้าข่ายแล้วไม่มั่นใจว่าเป็นอะไร รีบไปพบแพทย์ ให้อยู่ในความดูแลของหมอดีกว่าค่ะ

    
5. โรคไข้เลือดออก จะแสดงอาการเป็น 3 ระยะคือ
          ระยะที่ 1 คือระยะไข้ เมื่อได้รับเชื้อแล้ว ในระยะแรกจะมีไข้สูง ส่วนใหญ่สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส หรือ อาจแตะถึงระดับ 40 องศาเซลเซียส โดยมีไข้สูงลอย 2-7 วัน พ่วงด้วยอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน ประมาณ 3-4 วันจะเริ่มมีผื่นหรือจุดเลือดกระจายตามผิวหนัง เช่น แขน ขา รักแร้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจะมีการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด (มีสีดำ) ได้ด้วย

         ระยะที่ 2 คือระยะช็อกหรือระยะเลือดออก ระยะนี้จะมีไข้ลดลง ซึ่งเหมือนจะดี แต่กลับเป็นระยะอันตราย เพราะผู้ป่วยจะมีอาการซึม คลื่นไส้ อาเจียน มื้อเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็ว ปัสสาวะน้อย อาจมีเลือดกำเดาไหล ความดันต่ำ ซึ่งเป็นภาวะช็อก ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ภายใน 1-2 วัน

         ระยะที่ 3 คือระยะฟื้นตัว เป็นระยะสุดท้ายของโรคไข้เลือดออก ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อก เมื่อควบคุมอาการจนไข้ลดอาการก็จะดีขึ้นจนกลับสู่ภาวะปกติ ส่วนในรายที่เกิดภาวะช็อก ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา ก็จะฟื้นตัวภายใน 2-3 วัน

     
6. ความเชื่อที่ว่าเป็นไข้เลือดออกแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันแล้วไม่กลับมาเป็นอีก ไม่จริง! เพราะเชื้อไวรัสเดงกี่ มีอยู่ 4 สายพันธุ์ จริงอยู่ที่ถ้าหากติดสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งไปแล้วจะมีภูมิคุ้มกันเชื้อสายพันธุ์นั้น แต่ถ้าเกิดการติดเชื้อครั้งที่ 2 เป็นสายพันธุ์อื่น ภูมิต้านทานที่มีอยู่เดิมนั้นป้องกันเชื้อสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้ทั้งหมด ก็อาจเป็นไข้เลือดออกได้อีก และอาการอาจรุนแรงกว่าเดิม!
 

credit : www.thaivbd.org/n/dengues/view/474

      7. สถานการณ์ไข้เลือดออกในประเทศไทยปี 2558 มีผู้ป่วยสะสมแล้วถึง 102,762 ราย และเสียชีวิตถึง 102 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 2 พ.ย. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) เทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ปี 2557 มีผู้ป่วยมากกว่าถึง 2.99 เท่า หรือ 199.07% เลยทีเดียว โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคกลางถึง 46,401 ราย เดือนที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกมากสุดคือ เดือนสิงหาคม 21,542 ราย

  
   8. จากสถิติผู้ป่วยไข้เลือดออก ยังพบว่าการกลุ่มที่เกิดสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี, 15-24 ปี, 25-34 ปี และ 0-4 ปี โดยจะเห็นว่าวัยที่พบผู้ป่วยได้มากที่สุดก็คือ นักเรียน นั่นเอง ดังนั้นอยู่โรงเรียนก็ต้องระวังไม่ให้ยุงกัดด้วยนะคะ

  
   9. ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ ดังนั้นโรคไข้เลือดออกจึงทำการรักษาตามอาการ และเฝ้าระวังภาวะช็อกและเลือดออกอย่างใกล้ชิด โดยมีหลักในการรักษาคือ การให้ยาลดไข้พาราเซตามอลในระยะไข้สูง แต่ห้ามใช้ยาแอสไพรินเพราะทำให้อาการเลือดออกรุนแรงขึ้น ดูการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือดเป็นระยะ และให้สารน้ำชดเชยเพราะผู้ป่วยเบื่ออาหาร อาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือโซเดียม นอกจากนี้ต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นด้วย

    
  10. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เสนอหลัก 5 ป. ป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่น้องๆ สามารถไปทำเองได้ที่บ้าน ดังนี้
            (1) ปิดฝาภาชนะที่มีน้ำ เช่น ตุ่ม โอ่ง ฯลฯ ไม่ให้ยุงลงไปวางไข่ได้
            (2) เปลี่ยนน้ำในภาชนะ เช่น น้ำรองขาตู้ น้ำในแจกัน
            (3) ปล่อยปลาลงในอ่างน้ำต่างๆ เพื่อให้ปลากินลูกน้ำยุงลาย
            (4) ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมรอบๆ บ้าน อย่าให้หลงเหลือพวกภาชนะที่ทำให้เกิดน้ำขังได้ เช่น กระถางต้นไม้ กล่องโฟม ยางรถยนต์ ซึ่งถ้าทุกๆ บ้านพร้อมใจกันทำ ก็จะปลอดยุงลายได้ค่ะ
            (5) ปฏิบัติ โดยสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์
            นอกจากหลัก 5 ป. แล้ว ขอเพิ่มเติมในเรื่องการป้องกันตนเองจากยุงกัด พกสเปรย์หรือครีมทากันยุงติดตัวไว้ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเดินทางไปตามแหล่งธรรมชาติที่มียุงและแมลงต่างๆ เยอะ ก็ช่วยป้องกันได้ดีทีเดียว

         ฟังดูแล้วน่ากลัวใช่มั้ย? มันน่ากลัวจริงๆ นั่นแหละค่ะ ก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคนี้แต่ไม่คิดว่าจะร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งๆ ที่มันเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติเลยทีเดียว ดังนั้นวันนี้ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกมากขึ้นแล้ว ก็พึงระวังรักษาตัวเองและสิ่งแวดล้อมรอบบ้านด้วยนะ และถ้าหากเป็นไข้ เบื่ออาหาร โดยที่กินยาแล้ว 1-2 วันไม่ดีขึ้น ให้รีบไปหาหมอเพื่อวินิจฉัยโรคโดยด่วนจ้า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, www.thaivbd.org/n/dengues/view/474,
www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/102/โรคไข้เลือดออก/,
www.boe.moph.go.th/fact/Dengue_Haemorrhagic_Fever.htm,
www.youtube.com/watch?v=MjumpfWx6pw

 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

12 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Lerwaii Member 11 พ.ย. 58 20:55 น. 7

ถ้าเก็บครบสี่สายพันธุ์แล้วเป็นอีกไหมคะ  5555+  เราเก็บครบหมดละ  ป่วย  4 รอบ  ควมรู้สึกเหมือนเก็บแสตมป์เซเว่นเลย 

เยี่ยม

1
กำลังโหลด
SWAGGER_MA-NHUT 11 พ.ย. 58 22:17 น. 8
เราคือ 1 ใน แสนๆกว่าคนที่ป่วย คือแบบ ไข้ถูกวันด้วย วันไปทะเลไปค้างนอกบ้าน อดจอยเลย พอกลับมาหาหมอ หมอบอกเป็นไข้เลือดออก คือแบบ แล้วอีก 2 วันไปค่าย คือรายยยยยยย แต่เราไม่อาเจียนนะ แต่ดันปัสสาวะบ่อยแทน ดี๊ดี5555 แต่การป่วยอันนี้คือเจ็บใจจริงๆนะ5555
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
dlky Member 17 พ.ย. 58 22:14 น. 12

เคยป่วยตอนเด็กๆ จนเกือบตายมาแล้วค่ะ เพราะเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด นึกว่าจะไม่กลับมาเป็นง่ายอีกแล้วนะเนี่ย. หวาา

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด