โลกนี้อยู่ยาก! คาดอาจมีผู้ติดเชื้อไวรัส "ซิกา" 4 ล้านคนในปีนี้


 
     
          สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ข่าวโรคเมอร์ส โรคซาร์ส ยังไม่ทันจะหายไป ก็เกิดการระบาดครั้งใหม่ให้โลกวิตกอีกแล้ว ล่าสุดเกิดการแพร่ระบาดของ "ไวรัสซิกา" เป็นอีกครั้งที่โรคมีความรุนแรงและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จนองค์การอนามัยประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเลยทีเดียว
          เมื่อ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ กรณีที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา ซึ่งครั้งสุดท้ายที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับปัญหาด้านสาธารณสุขเช่นนี้คือ การระบาดหนักของโรคอีโบลา เมื่อธันวาคมปี 2013 ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 11,000 คน แต่ มีผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขคาดการณ์ว่าการระบาดของไวรัสซิกาอาจเลวร้ายกว่าโรคระบาดอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีคนถึง 4 ล้านคนที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสในปีนี้!

 

 

         ไวรัสซิกา (Zika Virus) เป็นสาเหตุของโรคไข้ซิกา (Zika Fever) เป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว คล้ายคลึงกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี่ ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี ซึ่งพาหะนำโรคของโรคนี้ไม่ใช่ใครที่ไหนกัน แต่เป็นยุงลายที่เป็นพาหะตัวร้ายนำโรคไข้เลือดออกนี่เอง ไวรัสซิกาแยกเชื้อจากคนได้ในปี ค.ศ.1968 ที่ประเทศในจีเรีย แต่พบครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1947 จากน้ำเหลืองของลิงในป่าซิกา ประเทศยูกันดา

         ไข้ซิกาจะมีระยะฟักตัว 4-12 วัน จากนั้นจะมีไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นทั่วบริเวณแขนขา ตาแดง ปวดข้อ ท้องร่วง อ่อนเพลีย รวมถึงอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตอีกด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะอยู่ประมาณ 2-7 วันเลยทีเดียวค่ะ

         การระบาดของซิกาที่เกิดขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 2014 ที่มีการจัดแข่งขันฟุตบอลเวิร์ดคัพ เริ่มเกิดการแพร่เชื้อไวรัสซิกาที่บริเวณภาคเหนือของบราซิล เชื้อแพร่กระจายอยู่ในบราซิลอย่างช้าๆ เป็นปีๆ จากนั้นในปี 2015 องค์การอนามัยโลกก็เริ่มได้รับการรายงานว่ามีการแพร่กระจายออกนอกประเทศบราซิลไปยังประเทศโคลัมเบีย จากนั้นก็แพร่ไปอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน และแพร่กระจายไปอีกในเดือนธันวาคม 2015 และมกราคม 2016 รวมแล้วกว่า 24 ประเทศ ในทวีปอเมริกาและประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียน

        ซึ่งการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้นับเป็นเรื่องจำเป็น จากเหตุผลที่มีการระบาดออกไปอย่างรวดเร็ว และเกิดข้อสงสัยว่าจะมีความเชื่อมโยงไปถึงปัญหาที่พบเด็กทารกเกิดใหม่ในประเทศที่มีการระบาดมีศีรษะเล็กกว่าปกติ ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของระบบประสาทและสมอง เป็นไปได้ว่าผู้หญิงอาจตั้งครรภ์ในช่วงที่ติดเชื้อไวรัสซิกา เพราะมีรายงานในประเทศบราซิลว่าพบทารกแรกเกิดมีศีรษะเล็กกว่าปกติถึง 3,000 คน ซึ่งพุ่งขึ้นจากเดิมเกือบ 20% ต่อประชากรทารกหมื่นคน แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องรอการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ต่อไปว่าเกี่ยวข้องกับไวรัสชนิดนี้จริงหรือไม่

 

credit: www.independent.co.uk/life-style/health-and-families/health-news/
zika-virus-declared-global-health-emergency-by-who-panel-of-experts-a6847056.html

 

        ดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ยังได้บอกต่อด้วยว่า ในปัจจุบันมาตรการป้องกันที่สำคัญที่สุดก็คือ การป้องกันและกำจัดยุงลาย ต้นตอของไวรัสซิกา และการป้องกันสำหรับผู้มีความเสี่ยงก็คือ สตรีมีครรภ์ แต่ไม่ถึงกับสั่งห้ามเดินทางไปต่างประเทศ

        สำหรับประเทศไทย ก็มีรายงานพบผู้ป่วยแล้ว ที่ รพ.ภูมิพล เป็นชายไทย อายุ 20 ปี เข้ามารักษาด้วยอาการไข้ มีผื่น แต่ตอนนี้รักษาหายแล้วและไม่เป็นพาหะแพร่สู่คนอื่นค่ะ

        สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ ได้ให้คำแนะนำสำหรับคนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้ซิกา ให้ระวังไม่ให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด และทายาป้องกันยุง แต่หากเป็นสตรีมีครรภ์ เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงค่ะ

 
        เรียกว่ามีเรื่องให้ตื่นเต้นกันตั้งแต่ต้นปีเลยนะคะ ยุงตัวที่เราเห็นว่าตัวเล็กๆ กลับร้ายยิ่งกว่าเสือเสียอีก ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยุงเยอะมากๆ ทั้งบ้าน โรงเรียน และสถานที่สาธารณะต่างๆ ฝากน้องๆ ให้ระวังตัวเอง ถ้าเป็นไปได้ให้พกครีมหรือสเปรย์กันยุงพกติดตัวไว้ ยามจำเป็นจะได้มีใช้ค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.independent.co.uk/life-style/health-and-families/health-news/zika-virus-declared-global-health-emergency-by-who-panel-of-experts-a6847056.html,
http://beid.ddc.moph.go.th/beid_2014/node/2008,
http://nih.dmsc.moph.go.th/login/showimgpic.php?id=34,
www.dailynews.co.th/politics/377012
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
guuna Member 3 ก.พ. 59 23:50 น. 2

โรคไข้ซิกา เป็นโรคที่น่ากลัวก็จริง แต่ยังไงก็ต้องระวังโรคไข้เลือดออกดีกว่า เพราะฉะนั้นช่วยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงกันเถอะเขิลจุง

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด