หยุดบอกว่าไม่มีเวลา! 5 วิธีแบ่งเวลาให้ลงตัว (ฉบับนักเรียน)


          สวัสดีค่ะ น้องๆ เคยสงสัยกันไหมคะว่า ในแต่ละวัน เราใช้เวลาหมดไปกับกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อนบางคนก็เหมือนจะมีเวลาว่างมาก แต่เพื่อนบางคนหรือแม้แต่ตัวเราเอง ก็เหมือนจะไม่มีเวลาทำอะไรเลย ทั้งที่จริงๆ แล้ว ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน
 

          ถึงแม้ทุกคนจะมีเวลาเท่ากัน แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้คนทุกคนแตกต่างกัน นั่นก็คือ การแบ่งเวลา นั่นเองค่ะ ใครที่รู้สึกว่าทำงานไม่ทัน การบ้านก็เยอะ กิจกรรมก็ต้องทำ เรียนพิเศษก็ต้องเรียน ไม่มีเวลาอ่านหนังสือสักที บอกเลยว่าปัญหาเหล่านี้จะหมดไปแน่นอน เพราะวันนี้พี่อีฟจะพาไปดู 6 วิธีแบ่งเวลาให้ลงตัวเพื่อฟิตเกรด มีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ

 1. จัดลำดับความสำคัญของงาน
          ยิ่งจำนวนงานมีมากเท่าไหร่ สิ่งสำคัญที่น้องๆ ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ จัดลำดับความสำคัญของงานค่ะ วิธีที่พี่อีฟแนะนำเลยก็คือ การแบ่งสิ่งที่ต้องทำใส่ในตาราง 4 ช่อง สำหรับการจัดลำดับความสำคัญ โดยช่องที่ 1 เป็นช่องของงานที่สำคัญและเร่งด่วน เช่น การบ้านที่ต้องส่งพรุ่งนี้ ฯลฯ ช่องที่ 2 เป็นช่องของงานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เช่น อ่านหนังสือเตรียมสอบปลายภาค ฯลฯ ช่องที่ 3 เป็นช่องของงานที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน เช่น อธิบายการบ้านเพื่อน ฯลฯ และช่องที่ 4 ช่องสุดท้าย เป็นช่องของงานที่ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญค่ะ เช่น จัดมุมอ่านหนังสือ ฯลฯ
           ลองดูว่าในหนึ่งวัน กิจกรรมที่เราต้องทำควรอยู่ในช่องไหนบ้าง ถ้าเราลิสต์ได้ว่ากิจกรรมไหนควรทำก่อนหรือทำหลัง เราก็จะมีเวลาเพิ่มมากขึ้น และสามารถทำงานทุกอย่างตามกำหนดส่งได้แน่นอนค่ะ แอบบอกว่าอย่าใช้เวลาในช่องที่ 4 มากจนเกินไปนะคะ เพราะสิ่งที่ควรจะต้องรีบทำอยู่ในช่องที่ 1-3 นั่นเอง
 
 

   1   สำคัญ / เร่งด่วน      
 

 2     สำคัญ / ไม่เร่งด่วน

 3    ไม่สำคัญ / เร่งด่วน
 

 4    ไม่สำคัญ / ไม่เร่งด่วน

 2. เดดไลน์งานอย่าลืมท่องให้ขึ้นใจ
          พี่อีฟเคยได้ยินน้องๆ หลายคน ที่มักจะมีข้ออ้างในการไม่ส่งงาน เช่น ลืมเอาการบ้านมา ลืมว่าวันนี้มีเรียนวิชานี้ หรือแม้กระทั่งลืมว่าครูเคยสั่งงาน ฯลฯ ทุกเหตุผลที่ยกมา เกิดจากน้องๆ ลืมทำงานนั่นเอง ทุกครั้งที่รู้ตัวว่าถึงเวลาใกล้ส่ง ก็กลายเป็นอัจฉริยะข้ามคืนขึ้นมาเลย รู้สึกว่าเวลาที่มีอยู่เท่าไหร่ก็ไม่พอ และถึงแม้งานจะเสร็จ แต่ผลงานก็ไม่ได้ออกมาดีแบบที่คิด
          ดังนั้น เมื่อได้รับมอบหมายงานและรู้กำหนดเวลาส่งงานแล้ว ควรจำให้ได้ว่าชิ้นไหนส่งเมื่อไหร่ ชิ้นไหนควรทำก่อนหรือหลัง ลองวางแผนการทำงานจากวันที่คุณครูสั่งจนถึงวันเดดไลน์  อย่ารีบเร่งมาทำในวันสุดท้าย แล้วมาคิดว่าไม่มีเวลาทำ ยิ่งถ้าช่วงนั้นมีงานด่วนเข้ามา หรือมีสอบในวันถัดไป เราจะได้รีบแบ่งเวลาทำงานให้เรียบร้อย หรือถ้าจำไม่ได้ วิธีที่สำคัญ คือ ให้มีสมุดจดการบ้าน แล้วจดทุกครั้ง ว่างานไหนต้องส่งวันไหนทันทีเลยค่ะ

 

 3. มีแผนระยะยาวในการทำงาน
          การเดินทางที่ง่ายและสะดวก ควรจะต้องมีแผนที่เพื่อนำทาง เหมือนกันกับการทำงานค่ะ การทำงานให้เสร็จเรียบร้อย และทันเวลา ก็ควรจะมีแผนระยะยาวในการทำงานด้วย ยิ่งถ้าเป็นงานกลุ่มที่มีหลายขั้นตอน การวางแผนการทำงานตั้งแต่วันแรกจนถึงวันเดดไลน์ ยิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เริ่มตั้งแต่การประชุมวางแผนงาน, การลงมือทำงาน, การสรุปงาน ฯลฯ ยิ่งถ้าทำได้ตามตารางเท่าไหร่ ก็มีแนวโน้มว่างานจะออกมาเรียบร้อยและทันเวลาแน่นอนค่ะ
          ลองจัดตารางดูว่าในหนึ่งเดือนมีงานอะไรที่เราจะต้องส่ง มีกิจกรรมอะไรที่เราจะต้องทำ วางแผนอ่านหนังสือวันไหน มีเดดไลน์งานที่ต้องส่งวันอะไร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้น้องๆ มองเห็นภาพตัวเองในหนึ่งเดือน ว่าควรจะต้องทำอะไรให้เรียบร้อย หรือทำอะไรเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และที่สำคัญจะทำให้น้องๆ เห็นว่า ช่วงไหนที่น้องๆ ว่าง หรือมีเวลาทำกิจกรรมอื่น เพิ่มมากขึ้นด้วยนะคะ
 

อย่าลืมวางแผนการทำงานและจดงานที่ต้องทำพร้อมวันส่งทุกครั้ง

 4. บอกลานิสัยผัดวันประกันพรุ่ง
          ศัตรูตัวสำคัญของการแบ่งเวลาก็คือนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่งของเรานั่นเองค่ะ ตอนแรกอาจจะคิดว่าตัวเองมีเวลาว่างเยอะ เดี๋ยวค่อยทำก็ได้ เดี๋ยวก็เสร็จแล้ว คำว่า "เดี๋ยว" นี่ตัวดีเลยนะคะ ทำให้ทุกอย่างพังได้เลย ทั้งทำงาน อ่านหนังสือ ถ้าคิดจะแบ่งเวลาให้ลงตัว หรือทำให้ตัวเองมีเวลามากขึ้น ต้องรีบกำจัดนิสัยนี้ทิ้งไปเลย
          ดังนั้น วิธีบอกลานิสัยผัดวันประกันพรุ่งที่ดีที่สุด คือการเริ่มลงมือทำนั่นเองค่ะ บางคนอาจจะคิดว่ามันยาก แต่พี่อีฟขอแนะนำเคล็ดลับง่ายๆ เช่น นึกถึงความสบายใจหลังงานเสร็จ หรือลองตั้งใจให้รางวัลตัวเองเมื่องานสำเร็จ อาจจะเป็นการพักผ่อน 1 ชั่วโมง หรือการกินเค้ก 1 ชิ้น จะช่วยกระตุ้นให้เรารีบทำงาน และมีเวลาว่างเพิ่มมากขึ้นแน่นอนค่ะ


 5. ตื่นให้เช้าขึ้นกว่าเดิม
          สำหรับน้องๆ บางคนที่การตื่นสายถือเป็นกิจวัตรประจำวัน อาจจะรู้สึกว่ามันยากมากที่จะต้องตื่นให้เช้ากว่าเดิม แต่ถ้าเราลองตื่นเวลาใหม่ให้เช้าขึ้น อาจจะสัก 5-10 นาที ในวันแรกๆ และเพิ่มเป็น 20-30 นาที ในวันถัดไป เราจะพบว่า แค่ 5-10 นาทีที่เพิ่มขึ้นมา อาจจะทำให้เรามีเวลาทำสิ่งต่างๆ เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีกมาก
          ใครที่เคยรถติดเวลาไปโรงเรียน ถ้าตื่นเช้าและออกจากบ้านให้เช้าขึ้นกว่าเดิม อาจจะพบว่าเราไปถึงโรงเรียนเร็วขึ้นกว่าเพื่อนที่เคยมาถึงเช้ากว่าเรา หรือถ้าใครไม่เคยมีเวลาที่จะได้กินข้าวเช้าก่อนออกจากบ้าน เวลาที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจจะทำให้ต่อไปนี้เรากินข้าวได้ครบ 3 มื้อแน่นอน ดังนั้น แค่ลองปรับเปลี่ยนเวลาตื่นและเวลานอนใหม่ จะได้มีเวลาทำสิ่งต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และสดชื่นทุกครั้ง ไม่ว่าจะตื่นเช้าแค่ไหน :D

 

          เป็นยังไงบ้างคะ กับ 5 วิธีแบ่งเวลาให้ลงตัว น้องๆ คนไหนที่เคยมีข้ออ้างว่าไม่มีเวลา ก็ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะคะ อาจจะเริ่มต้นสัก 1 ข้อก่อน ถ้าได้ผลเมื่อไหร่ ก็เริ่มเป็น 2 3 4 5 ข้อ ถ้าใครทำครบ 5 ข้อเมื่อไหร่ รับรองว่าจะต้องกลายเป็นคนใหม่ ที่ทำอะไรก็สำเร็จ และมีเวลาเหลือเฟือแน่นอนค่ะ :D
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด