เสียงตอนกลางคืนชัดกว่ากลางวัน! เพราะสภาพแวดล้อมหรือเพราะอะไร?


 
         สวัสดีครับน้องๆ วันนี้พี่แทรกเตอร์มีเรื่องสงสัยคาใจมานาน ที่จะมาชวนน้องๆ ไขข้อข้องใจไปด้วยกัน
          มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเสียง ! 
         
เคยมั้ยครับที่เราได้ยินเสียงจากการจัดกิจกรรมหรือคอนเสิร์ตจากที่ไกลๆ ในยามค่ำคืนที่ดังมาถึงบ้านเรา คำถามคือเสียงมันดังมากขนาดที่จะมาถึงบ้านเราได้อย่างนั้นหรอ หรือเพราะกลางคืนเงียบกว่ากลางวันเสียงเลยมาถึงได้
         และเคยมั้ยครับที่พอเห็นฟ้าแลบสว่างวาบแล้วเราก็นับ 1 2 3 ด้วยความมั่นใจว่าเดี๋ยวฟ้าก็ร้องตามมา แต่ปรากฏว่า...ไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้องเลยสักแอะ  ถ้าน้องสงสัยเหมือนพี่ก็มาหาคำตอบไปด้วยกัน หรือหากน้องคนไหนรู้คำตอบแล้วก็ลองมาดูหน่อยสิว่า คำตอบของเราตรงกันมั้ย


ภาพจาก : http://10weatherpics.blogspot.com/2010/05/storm-clouds-with-lightning.html
 
     ธรรมชาติของเสียง
     
ว่าด้วยธรรมชาติของเสียงแล้วมีคุณสมบัติเหมือนคลื่นทั่วไป (จำได้มั้ยในวิชาวิทยาศาสตร์) คือ สะท้อน เลี้ยวเบน แทรกสอด และหักเห ซึ่งคุณสมบัติสำคัญที่มีผลต่อการได้ยินเสียงในหลายๆ สถานการณ์ก็คือการหักเหนี่แหละครับ
     ปกติแล้วเสียงจะต้องเดินทางผ่านตัวกลางต่างๆ เช่น เสียงเดินทางจากปากเราไปถึงหูเพื่อนโดยมีอากาศเป็นตัวกลาง การหักเหของเสียงนั้นเป็นการเปลี่ยนทิศทางในการเคลื่อนที่ของคลื่นเสียงขณะผ่านตัวกลาง ซึ่งจะมีสิ่งที่สามารถทำให้เสียงหักเหได้ เช่น ความหนาแน่นของตัวกลาง อุณหภูมิของตัวกลาง ฯลฯ

 

 
     บางครั้งในช่วงที่อากาศอึมครึมฝนทำท่าว่าจะตก และมีฟ้าแลบประปรายเราก็มักจะได้ยินเสียงฟ้าร้องหลังจากเห็นแสงสว่างวาบในเวลาไม่กี่วินาที แต่ก็มีที่บางครั้งเรากลับไม่ได้ยินเสียงเลยแม้ฟ้าจะแลบไปนานแล้วก็ตาม
     สิ่งที่ส่งผลต่อการได้ยิน/ไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้องนี้ก็คือ...อุณหภูมิ!

     
ใช่แล้วครับ...ในลักษณะอากาศแบบนั้นบนท้องฟ้าจะเย็นกว่าข้างล่างใช่มั้ยล่ะครับ ยิ่งใกล้เมฆกว่าก็ยิ่งเย็นกว่า
     และอย่างที่บอกไปแล้วก่อนหน้าครับว่าอุณหภูมิส่งผลต่อการหักเหของเสียงได้ ลองดูภาพประกอบด้านล่างนี้นะครับ


 

     สมมติว่ามีเส้นตรงในแนวดิ่งเส้นนึง เรียกว่าเส้นปกติละกัน ณ จุดที่มีความแตกต่างของอุณภูมิในชั้นอากาศเสียงจะเกิดการหักเห ตรงจุดที่หักเหนี้สมมติต่อว่าเสียงไปตกกระทบตรงนั้นแล้วทำมุมกับเส้นปกติ  และทิศทางของเสียงที่เปลี่ยนไปจากการหักเหก็ทำมุมกับเส้นปกติด้วยเหมือนกัน ซึ่งมุมที่เกิดจากบริเวณที่อุณหภูมิสูงกว่าจะกว้างกว่ามุมที่เกิดจากบริเวณที่อุณหภูมิต่ำกว่า

     และด้วยการหักเหที่มุมกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนมุมตกกระทบอาจจะกว้างพอที่จะทำให้เกิดการ "สะท้อนกลับหมด" ก็คือเสียงหักเหย้อนกลับขึ้นไปบนฟ้านั่นเองก่อนที่เสียงจะลงมาถึงหูเรา และนี่เองคือสาเหตุที่บางทีเราไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้องหลังเกิดฟ้าแลบครับ

     ส่วนอีกกรณีนึงคือการได้ยินเสียงจากที่ไกลๆ ในตอนกลางคืนก็ด้วยหลักการหักเหจากผลของอุณหภูมิอีกเช่นกัน ในช่วงเวลากลางวันพื้นดินจะสะสมความร้อนจากแดดไว้ แล้วพอตกเย็นก็จะเริ่มคลายความร้อนออกมาทำให้บริเวณพื้นดินอุณหภูมิลดลง แต่อากาศที่อยู่ด้านบนขึ้นไปจะมีอุณหภูมิสูงกว่า ดังนั้นเองก็เกิดการหักเหในแบบที่คล้ายๆ กับการไม่ได้ยินเสียงฟ้าแลบ แต่กลายเป็นการนำเสียงจากที่ไกลๆ มาถึงหูเราได้ครับ ซึ่งยังมีโอกาสที่เสียงนั้นจะเดินทางแบบตรงๆ มาถึงเราได้เหมือนกัน ก็กลายเป็นว่ามีเสียงจากสองทางมาถึงหูเราก็ยิ่งทำให้เสียงชัดขึ้นไปอีก มาลองดูภาพประกอบกัน

 


 

     ดังนั้นสรุปว่า สาเหตุที่เราได้ยินเสียงแตกต่างกันในช่วงเวลาและสถานการณ์ที่ต่างกัน สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของอุณหภูมิในอากาศที่ส่งผลต่อการหักเหของเสียงนั่นเอง

     เอาละครับเป็นยังไงกันบ้าง น้องๆ ที่เคยสงสัยเหมือนพี่พอจะร้องอ๋อกันบ้างหรือยัง ส่วนน้องที่คิดว่ารู้คำตอบอยู่แล้วจะใช่แบบนี้หรือเปล่านะ แต่พี่เชื่อว่าถ้าน้องได้เรียนมาในวิชาวิทยาศาสตร์หรือฟิสิกส์ คำตอบของเราก็น่าจะตรงกันอย่างแน่นอน

พี่แทรกเตอร์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
นายกิติศักดิ์ บุญขำ 15 เม.ย. 66 09:07 น. 3

นายกิติศักดิ์ บุญขำ ( พูดร้องเสียงลำโพงไทย )(อ่านคิดเขียนเว็บไซต์คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต )

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด