เลิกเลย! 7 วิธีทำ Powerpoint แบบผิดๆ ที่ทำแล้วอาจจะพลาดคะแนน


          สวัสดีค่ะ น้องๆ หลายคนคงกำลังปวดหัวและกลุ้มใจกับรายงานกลุ่มที่ต้องทำอยู่เลยใช่ไหมคะ ซึ่งพี่อีฟเชื่อแน่ว่า โปรแกรมโปรดที่น้องๆ นำมาใช้ในการเสนอผลงานหน้าห้อง คงหนีไม่พ้น Microsoft PowerPoint แน่นอน เพราะใช้ง่าย และสามารถนำเสนองานได้อย่างรวดเร็ว
 

          หลายคนคิดว่าพาวเวอร์พ้อยที่สวยและน่าสนใจ ต้องมีสีสันหลากหลาย ตัวการ์ตูนดุ๊กดิ๊กเยอะที่สุด ยิ่งน่ารักเท่าไหร่ คุณครูยิ่งชอบ แต่พี่อีฟอยากจะบอกว่า พาวเวอร์พ้อยที่น้องๆ คิดว่าฟรุ้งฟริ้งน่ารัก คุณครูอาจจะไม่ปลื้มก็ได้ ดังนั้น ลองมาดูกันดีกว่า ว่าจริงๆ แล้วพาวเวอร์พ้อยแบบไหนนะที่เราควรเปลี่ยนได้แล้ว

 1.สีสันแสบตาทุกสไลด์
          น้องๆ หลายคนอาจจะชอบออกแบบพาวเวอร์พ้อยให้มีสีสันสดใส ตัวหนังสือสลับสีกันไปมา หรือหัวข้อใช้สีหนึ่ง รายละเอียดใช้อีกสีหนึ่ง ซึ่งเป็นสีที่สดใสและมีความโดดเด่นทั้งคู่ ตอนที่อยู่เดี่ยวๆ ก็อาจจะสวยงามสดใสดีนะคะ แต่พอเอามารวมๆ กันไว้ในสไลด์เดียว กลับสีสันแสบตา ไม่น่าดู ยิ่งเป็นคนจับคู่สีไม่เป็นด้วยแล้ว จะยิ่งดูเละเทะไม่น่ามอง จนเพื่อนที่นั่งหน้าสุด อาจจะต้องขอเขยิบถอยหลังให้ห่างเลยค่ะ
         
เคล็ดลับ : ถ้าจะไม่ให้พาวเวอร์พ้อยของเรามีสีเลย พี่อีฟก็คิดว่าอาจจะดูจืดชืดเกินไปค่ะ พาวเวอร์พ้อยของเรามีสีได้ค่ะ แต่น้องๆ ต้องเลือกสีให้เหมาะ และคุมโทนให้มากขึ้น เลือกใช้สีด้านๆ ไม่ใช้สีที่สะท้อนแสง อย่าลืมจับคู่สีให้ดี และเลือกใช้เพียง 1-3 สีเท่านั้น ! คนดูจะได้ไม่งงค่ะ ว่าเราต้องการเน้นจุดไหนกันแน่

 2.ตัวหนังสือแน่นทุกบรรทัด
          หลายคนคิดว่าการนำเสนองาน คือการนำเสนอข้อมูลให้มากที่สุด เปิดสไลด์มาที นึกว่ามากางตำราให้เพื่อนๆ อ่าน หรือน้องๆ บางคนก็หยิบเอาข้อมูลจากในหนังสือหรืออินเตอร์เน็ต แบบไม่มีการเรียบเรียงหรือตัดออกเลยสักนิด ทำให้นอกจากตัวหนังสือจะเยอะเต็มหน้าสไลด์แล้ว ตัวหนังสือยังเล็กแสนเล็ก จนเพื่อนข้างหลังต้องใช้แว่นขยายเลยค่ะ
         
เคล็ดลับ : หน้าที่หลักของพาวเวอร์พ้อย คือ ตัวช่วยในการนำเสนองาน อย่างที่บอกค่ะว่าเป็นตัวช่วย ไม่ใช่ตัวหลัก เพราะจริงๆ แล้ว สิ่งที่เป็นตัวหลัก หรือสิ่งที่เราควรเน้น คือการพูดนำเสนอ นั่นเอง ควรใช้ตัวหนังสือให้น้อย เลือกใส่เฉพาะหัวข้อหลัก หัวข้อรอง หรือใจความสำคัญของเรื่อง ให้คนที่จะฟังเรานำเสนอ รู้หัวข้อที่สำคัญ และเราค่อยอธิบายแต่ละหัวข้อให้ชัดเจนด้วยตัวเอง ยิ่งถ้าเราอธิบายได้แบบไม่ต้องแอบดู จะน่าสนใจมากเลยค่ะ
 

 3.การ์ตูนเคลื่อนไหวทุกหน้า
          เวลาที่น้องๆ มีการใส่ลูกเล่นหรือการเคลื่อนไหวบนสไลด์ พี่อีฟมักจะเห็น 2 แบบหลักๆ เลย ก็คือ ใส่การเคลื่อนไหวลงบนตัวอักษร เช่น ทำให้ลอยขึ้นมา ทำหมุนวนไปมา หรือทำให้กระพริบขึ้นมา ฯลฯ และอีกแบบหนึ่ง ก็คือ ใส่การ์ตูนเคลื่อนไหวเพื่อทำให้สไลด์นั้นดูสวยงามน่ารักมากขึ้น ถ้าใส่หน้าละนิดหน่อยก็อาจจะน่าสนใจนะคะ แต่ถ้าใส่มากเกินไปก็น่าเบื่อได้
          เคล็ดลับ : ลองลดการเคลื่อนไหวของตัวอัษรลงกว่าเดิม ให้ขึ้นมาแบบธรรมดา ไม่ต้องตีลังกาหรือหมุนวนขึ้นมาก็ได้ค่ะ ส่วนตัวการ์ตูนเคลื่อนไหว ถ้ามีบ้างแบบที่ให้สัมพันธ์กับเรื่องราวที่นำเสนอก็น่าสนใจนะคะ แต่อย่ามีเยอะจนเกินไป เพราะจะทำให้ดูรก น่าเบื่อ และไม่สวยงามได้ค่ะ

 4. Background ที่หามาแล้วต้องใช้ให้คุ้ม
          พี่อีฟเห็นน้องๆ หลายคน เวลาจะทำพาวเวอร์พ้อย เพื่อนำเสนองาน อย่างแรกที่ทำไม่ใช่การหาข้อมูลค่ะ แต่เป็นการไปค้นหา Background หรือที่น้องๆ เรียนกันสั้นๆ ว่า bg ที่สวยๆ สีสันสดใสๆ เพื่อเอามาใช้ทำพื้นหลังของสไลด์ ยิ่งหามาเยอะเท่าไหร่ ก็อยากเอาใส่ให้ครบ บางคนทำสไลด์ 20 หน้า ก็มีพื้นหลัง 20 แบบไปเลย ถ้าเรียบๆ สีอ่อนๆ คงไม่น่าตกใจเท่าไหร่ แต่ถ้าสีเข้ม มีลวดลาด ทำให้อ่านตัวหนังสือไม่เห็น แบบนี้ก็แย่นะคะ
           เคล็ดลับ : Background ที่ดี ควรเป็นแบบเรียบๆ ไม่มีลวดลาย อาจจะมีลูกเล่นด้วยการไล่ระดับสีบ้าง แต่ไม่ควรให้โดดเด่นกว่าตัวอักษรค่ะ พี่อีฟเคยเห็นสไลด์ของหลายๆ คน เลือกที่จะใช้ Background สีขาว ในการนำเสนอ เพื่อเน้นความโดดเด่นของหัวข้อหรือเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ ซึ่งถ้าจัดองค์ประกอบดีๆ Background สีขาว ก็สวยไปอีกแบบค่ะ แถมไม่ต้องห่วงเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย
 

 5. รูปภาพไม่มี
          รูปภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดได้นับพัน น่าจะเป็นคำพูดที่เหมาะกับหัวข้อนี้มากที่สุดค่ะ น้องๆ หลายคน เน้นการนำเสนอด้วยตัวหนังสือมากจนเกินไป จนทำให้ลืมไปว่า เราสามารถใช้รูปภาพ เพื่อนำเสนอหรืออธิบายได้ ลองเปรียบเทียบกัน โดยให้น้อง 2 คน มาอธิบายลักษณะของนกเงือก คนแรกบอกว่า เป็นนกขนาดใหญ่ ลำตัวส่วนใหญ่เป็นสีดำ ปีกสีดำ ท้องสีขาว ฯลฯ กับอีกคนที่เอารูปนกเงือกมาให้ดูเลย น้องๆ ว่าแบบไหนจะเข้าใจง่ายและน่าสนใจกว่ากันคะ น่าจะเป็นน้องคนที่ 2 แน่นอนค่ะ
          เคล็ดลับ : เรานำเสนอเรื่องอะไร ลองหาภาพประกอบมาเพิ่มเติมอยู่ในสไลด์ แล้วให้รูปภาพช่วยดำเนินเรื่อง อธิบายเนื้อหาประกอบรูปภาพ แบบนี้คนทั้งห้องต้องตั้งใจฟังแน่ๆ ค่ะ อย่าลืมว่ารูปที่หามาใช้ควรเป็นรูปที่ถ่ายกันเอง หรือถ้านำรูปประกอบมาจากไหน ก็อย่าลืมให้เครดิตเจ้าของรูปทุกครั้งนะคะ

 6. Font แปลกประหลาด
          น้องๆ หลายคนอาจจะอยากเลือกใช้ฟ้อนท์แปลกๆ หรือนำเสนอด้วยฟ้อนท์สวยๆ เพื่อให้สไลด์ของตัวเองน่าสนใจ แต่เวลาจะเอามานำเสนอ ดันลืมบันทึกฟ้อนท์มาด้วยทุกที ทำให้ฟ้อนท์เลื่อนขึ้น เห็นเป็นภาษาแปลกๆ หรือภาษาต่างดาวทุกที จุดนี้ไม่สามารถทำอะไรได้จริงๆ อาจจะต้องยอมนำเสนอต่อไปแบบนั้น หรืออาจจะต้องตัดใจนำเสนอแบบไม่มีสไลด์ไปเลย 
          เคล็ดลับ : วิธีแก้ปัญหานี้ มีง่ายๆ 2 แบบด้วยกัน แบบแรกคือ ใช้ฟ้อนท์ธรรมดาทั่วไปที่มีทุกเครื่อง เช่น Angsana, Cordia เป็นต้น หรือถ้าอยากใช้ฟ้อนท์สวยๆ แปลกๆ ก็ต้องฝังฟ้อนท์ลงในสไลด์ไปเลย เราสามารถฝังฟ้อนท์ได้ด้วยการกดเซฟ "บันทึกเป็น" คลิกตัวเลือกการบันทึก และเลือกกล่องเครื่องหมายฝังแบบอักษรในแฟ้มค่ะ เพียงเท่านี้ฟ้อนท์ที่เราชอบ ก็จะถูกนำเสนออย่างสวยงามในคอมทุกเครื่องแน่นอนค่ะ
 

 7. ตัวเลขเยอะเกินไป
          หลายครั้งทั้งในวิชาคณิตศาสตร์ หรือสังคมศึกษาฯ ที่การนำเสนอของเรา อาจจะต้องเกี่ยวข้อกับตัวเลขมากมาย ทั้งจำนวนคน จำนวนสัตว์ จำนวนต้นไม้ จำนวนผลไม้ ฯลฯ และอีกมากมายหลากหลายจำนวน ลองนึกภาพว่า ถ้าเราต้องนำเสนอตัวเลขเหล่านั้น ซ้ำกันหลายครั้ง เช่น ต้องเปรียบเทียบเป็นจำนวนปี หรือจำนวนเดือน อาจจะทำให้เพื่อนๆ ที่ดูสไลด์ของเราอาจจะเบื่อได้ง่ายๆ เลย
          เคล็ดลับ : ลองหัดใช้ลูกเล่นต่างๆ ที่มีอยู่ในพาวเวอร์พ้อย เช่น กราฟแท่ง กราฟวงกลม ฯลฯ เพื่อทำให้ตัวเลขที่เยอะๆเหล่านั้น ดูง่ายและน่าสนใจมากขึ้น อาจเพิ่มเติมลูกเล่นอื่น เช่น ใส่คลิปวีดิโอ คลิปเสียง หรือinfographic เพื่อทำให้เรื่องราวจากสไลด์นั้นดูสนุกและน่าติดตามมากขึ้นได้ค่ะ
 

          พี่อีฟเชื่อว่าโปรแกรม Microsoft PowerPoint จะต้องอยู่คู่กับการพรีเซ้นส์ของน้องๆ ชาวไทยไปอีกนาน ใครที่รู้ตัวว่ากำลังมีพฤติกรรมเหล่านี้อยู่ ลองปรับเปลี่ยนและนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปใช้ได้นะคะ เน้นการนำเสนอให้เรียบง่ายและน่าสนใจ รับรองว่าครั้งหน้า เพื่อนๆ จะต้องร้องว้าววววว และคุณครูจะต้องให้คะแนนเต็มแน่นอนค่ะ
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

~โรตีกล้วยหอม~ Member 10 ส.ค. 59 17:19 น. 3

เมื่อก่อนตอนเด็กๆ ขอลายๆ ไว้ก่อน เหมือนปกรายงาน พอยิ่งโตยิ่งเรียบ ในพอยต์จะเน้นใส่ภาพ ส่วนเนื้อหา พูดเอาเองล้วนๆ พื้นหลังช่วงหลังก็ทำเอง ให้มันเข้ากับเรื่องที่เรานำเสนอ ได้คะแนนนำเสนอดีมาตลอด (เมื่อก่อนเลือกพื้นหลังไม่เข้ากับเรื่องโดนอ.หักคะแนนทุกที55)

0
กำลังโหลด

7 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
~โรตีกล้วยหอม~ Member 10 ส.ค. 59 17:19 น. 3

เมื่อก่อนตอนเด็กๆ ขอลายๆ ไว้ก่อน เหมือนปกรายงาน พอยิ่งโตยิ่งเรียบ ในพอยต์จะเน้นใส่ภาพ ส่วนเนื้อหา พูดเอาเองล้วนๆ พื้นหลังช่วงหลังก็ทำเอง ให้มันเข้ากับเรื่องที่เรานำเสนอ ได้คะแนนนำเสนอดีมาตลอด (เมื่อก่อนเลือกพื้นหลังไม่เข้ากับเรื่องโดนอ.หักคะแนนทุกที55)

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
SawRocker Member 9 ต.ค. 59 20:42 น. 7
ผมเคยทำงานส่งครูแบบแนบ Link ครับเกี่ยวกับถามตอบครูในรร.ถ่ายภาพด้วยแต่ดัน มีขโมยสิบกว่าคนเอางานผมไปเปลี่ยนแค่ชื่อผู้จัดทำ ไม่ดีเลยแบบนี้
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด