เด็กมัธยมรู้ไว้! รูปแบบข้อสอบที่หนีไม่พ้นเมื่อต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย


          สวัสดีค่ะ เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือน ก็จะถึงช่วงสอบปลายภาคกันแล้ว ใครที่กำลังเตรียมตัวอ่านหนังสือ พี่อีฟก็ขอเอาใจช่วยนะคะ ส่วนใครที่กำลังรีบปั่นงานให้เรียบร้อย ก็เร่งมือเลยนะคะ เพราะถ้าเก็บไว้เป็นดินพอกหางหมูตอนใกล้สอบ อาจจะทำไม่ทันกันได้ และเกรดสวยๆ ที่เราหวังไว้ ก็อาจจะหายไปเลยทันที!
 

          ส่วนมากข้อสอบที่น้องๆ เคยเห็นในชั้นมัธยม มักจะเป็นข้อสอบตัวเลือก (ก. ข. ค. ง.), ข้อสอบเติมคำที่ไม่ซับซ้อนมาก, ข้อสอบจับคู่ หรือแม้กระทั่งข้อสอบถูก-ผิด ฯลฯ แต่เชื่อไหมคะว่าจริงๆ แล้ว ช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัยเนี่ย มีข้อสอบอีกหลายรูปแบบที่น้องๆ สามารถเจอได้อีก วันนี้พี่อีฟขอพาน้องๆ ไปเตรียมความพร้อม ด้วยการพาไปรู้จักรูปแบบข้อสอบที่เราไม่มีทางหนีพ้นแน่นอนตอน ม.6 เมื่อต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะมีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลยค่ะ !

          
 1.ข้อสอบเชื่อมโยง
          
น้องๆ หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อของข้อสอบนี้มาก่อนแล้ว แต่ถ้าใครยังไม่เคยได้ยิน ก็อาจจะแปลกใจกันได้ว่า เชื่อมโยงอะไร ทำไมต้องเชื่อมโยง พี่อีฟจะขออธิบายให้ฟังง่ายๆ เลยนะคะ ว่าข้อสอบนี้น้องๆ มักจะได้เจอใน 2 ข้อสอบใหญ่ๆ ได้แก่ ข้อสอบ GAT และข้อสอบความถนัดแพทย์ค่ะ
           
จะเป็นข้อสอบที่ให้บทความมาประมาณ 1-2 หน้ากระดาษ และจะเลือกคำหรือวลีจากในบทความออกมาประมาณ 10 ข้อความ เพื่อให้น้องๆ ได้หาความเชื่อมโยงกันของ 10 ข้อความนั้น ว่าเป็นเหตุผลของกันอยู่รึเปล่า เป็นองค์ประกอบกันไหม ขัดแย้งกันรึเปล่า หรือไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลยค่ะ โดยการตอบก็จะต้องใส่ตัวอักษรที่กำหนดแทนความสัมพันธ์ของแต่ละข้อความด้วย อาจจะฟังดูยาก แต่พี่อีฟเชื่อว่าใครที่เคยได้ลองทำ จะต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้อสอบนี้ง่ายที่สุดแล้ว !
 

          2.ข้อสอบวาดรูป
          น้องๆ ที่เคยมีวีรกรรมวาดรูปใส่ข้อสอบ พี่อีฟอยากให้ลืมภาพเหล่านั้นเลยค่ะ เพราะข้อสอบนี้เป็นข้อสอบที่ให้เราวาดรูปแบบจริงจัง ใช่แล้วค่ะ! วาดรูปนี้ไม่ได้มาวาดเล่นๆ มีตั้งแต่กำหนดเรื่องราวมาให้ รวมไปจนถึงลองวาด+ออกแบบ ตามโจทย์ที่ได้รับ ซึ่งน้องๆ จะได้เจอข้อสอบนี้อยู่ในข้อสอบ PAT4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ นั่นเองค่ะ
          โดยโจทย์จะกำหนดเรื่องราวหรือสถานการณ์มาให้เรา และให้เราวาดรูปให้ตรงตามโจทย์มากที่สุด ฟังดูอาจจะง่าย คล้ายๆ กับการอ่านหนังสือนิยายแล้วจินตนาการตาม แล้ววาดออกมาเป็นภาพ แต่อย่าลืมว่านี่เป็นข้อสอบสอบเข้ามหาวิทยาลัย ดังนั้น บางทีโจทย์ก็จะบรรยายเรื่องราวหรือเหตุการณ์มา 1-2 หน้าเลย (บรรยายรายละเอียดมาเต็ม) และไม่ใช่แค่วาดให้ตรงกับโจทย์อย่างเดียวค่ะ แต่จะต้องวาดให้ถูกทฤษฎีด้วย บอกเลยว่าข้อสอบแบบนี้ ใครอยากได้คะแนนเต็มก็ต้องฝึกทำโจทย์บ่อยๆ ค่ะ เวลาเจอโจทย์จริงจะได้ไม่งง และตื่นเต้นจนเกินไป

 

ขอบคุณตัวอย่างข้อสอบรูปแบบที่ 2 จาก http://www.niets.or.th/

          3.ข้อสอบหลายตัวเลือก หลายคำตอบ
          ข้อสอบที่เคยมี 4 ตัวเลือก ก. ข. ค. ง. และมีคำตอบที่ถูกต้องเพียง 1 คำตอบแบบนี้แทบจะออกจากสารบบไปเลย เพราะข้อสอบสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่น้องๆ ได้เจอ อาจมีถึง 5 ตัวเลือก 1 คำตอบ หรืออาจจะเป็น 5 ตัวเลือก 2 คำตอบก็ได้ค่ะ น้องๆ หลายคนคงบ่นในใจ ว่า 4 คำตอบก็ว่ายากแล้ว มาเจอ 5 คำตอบขอยอมแพ้ดีกว่า
          อย่าเพิ่งถอดใจไปนะคะ เพราะอย่าลืมว่ายิ่งมีตัวเลือกให้เรามากขึ้น ก็หมายถึงเพิ่มโอกาสในการหาคำตอบให้เรามากขึ้นด้วย เวลาเราเจอข้อสอบในห้องเรียนที่ให้ตอบข้อเดียว แต่บางทีเราอาจจะรู้สึกว่ามีข้อที่ถูกมากกว่านั้น ก็เป็นโอกาสดีของเราแล้วที่ครั้งนี้จะได้ตอบ 2 คำตอบไปเลย แต่ต้องระวังให้ดีนะคะ เพราะบางข้อสอบก็ต้องตอบถูกทั้ง 2 ข้อถึงจะได้คะแนน แต่บางข้อสอบก็อาจจะเห็นใจค่ะ ตอบถูก 1 ข้อ ก็ได้คะแนนครึ่งหนึ่งแล้ว ดังนั้น อย่าลืมมีสติทุกครั้งที่ทำค่ะ

          4.ข้อสอบเลือกตอบจากแต่ละหมวดที่สัมพันธ์กัน
          ฟังชื่ออาจจะไม่คุ้นเท่าไหร่ ลองมาฟังพี่อีฟอธิบายกันก่อนค่ะ ข้อสอบรูปแบบนี้จะมีข้อความหรือโจทย์มาให้เราสั้นๆ และจะถามคำถาม โดยให้คำตอบมาเป็นหมวดคำตอบ ให้น้องๆ เลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดจากแต่ละหมวดมาตอบ ซึ่งถ้าเป็นข้อสอบที่น้องๆ เคยเจอ โจทย์อาจจะถามแค่ว่า บทกลอนต่อไปนี้ให้ความรู้สึกใด แล้วน้องๆ ก็เลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดมาตอบ
           แต่ถ้าเป็นข้อสอบรูปแบบนี้ โจทย์จะถามน้องๆ ว่า "บทกลอนต่อไปนี้ให้ข้อคิดเรื่องอะไรมากที่สุด และข้อคิดนั้นเป็นคุณค่าด้านใด" สังเกตเห็นไหมคะ ว่าเป็นสองคำถามที่ถามแบบมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้น จะตอบอันใดอันหนึ่งได้ ก็ต้องรู้จริงทั้งคู่ค่ะ เพราะถ้าถูก ก็ถูกทั้งคู่เลย หรือถ้าเราเข้าใจผิด ก็ผิดทั้งคู่ได้เหมือนกัน ซึ่งข้อสอบนี้มักจะเจอบ่อยๆ ในข้อสอบ O-NET ค่ะ เตรียมตัวกันไว้ได้เลย

 

ขอบคุณตัวอย่างข้อสอบรูปแบบที่ 4 จาก http://www.niets.or.th/

          5.ข้อสอบอัตนัย แต่ตอบแบบปรนัย
          ข้อสอบนี้มักจะเจอในข้อสอบวิชาที่มีการคำนวณค่ะ รูปแบบของโจทย์จะเป็นโจทย์คำนวณที่ให้เราหาคำตอบออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งถ้าเป็นข้อสอบในโรงเรียนปกติ น้องๆ คงต้องแสดงวิธีทำ หรือเขียนตำตอบลงในกระดาษได้เลย แต่ถ้าเป็นข้อสอบ สอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะแอบพิเศษขึ้นมานิดนึง
           เพราะการตอบนั้น จะเป็นในรูปแบบของการระบายวงกลมตัวเลขให้ถูกต้องกับคำตอบ เช่น คำตอบเท่ากับ 108 เราก็ต้องเขียน 108 ลงไปในกระดาษคำตอบ และเลือกระบายคำตอบให้ตรงกับช่องเลข 1 เลข 0 และเลข 8 บางกระดาษคำตอบอาจจะมีช่องมาให้เรา มากกว่าจำนวนหลักที่เราต้องตอบ เช่น คำตอบ 108 มี 3 หลัก แต่กระดาษคำตอบให้มา 6 หลัก (รวมตำแหน่งทศนิยม) ก็ต้องวงกลมช่องที่เหลือด้วยนะ ไม่ยากค่ะ แค่ระบาย 0 เพิ่มลงไปเป็น 00108.00 นั่นเอง อย่าระบายพลาดเด็ดขาดเลยนะคะ เพราะถึงจะเขียนถูกแต่ระบายผิด แบบนี้ก็ไม่ได้คะแนนนะ !


          6.ข้อสอบที่ให้ตัวเลือกคำตอบมาในโจทย์
          หลายคนคงแอบยิ้มดีใจ ว่าถ้าให้ตัวเลือกคำตอบมาตั้งแต่ในโจทย์แล้ว แบบนี้ต้องทำได้แน่นอน แต่บอกเลยว่าไม่ง่ายขนาดนั้นค่ะ เพราะโจทย์จะมาในรูปแบบของประโยคหนึ่งประโยค และแบ่งย่อยให้ประโยคนั้นเป็นคำหรือวลี ที่สามารถเลือกตอบได้ โดยที่จะทำให้คำหรือวลีใดวลีหนึ่งผิดจากรูปแบบประโยค และโจทย์จริงๆ ก็คือ ให้เราหาคำหรือวลีที่ผิด แล้วเลือกคำตอบที่แก้ไขถูกต้องแล้วค่ะ
           ข้อสอบนี้มักจะเจอในข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษ อาจจะเป็นในรูปแบบ error หรือรูปแบบอื่น ถ้าพูดกันจริงๆ ก็เป็นอีกหนึ่งข้อสอบที่ยาก เพราะถ้าเราเลือกพลาดตั้งแต่แรก คำตอบก็ไปก็น่าจะผิดไปด้วย T^T ซึ่งข้อสอบนี้จะมีข้อสังเกตว่า ถ้าเราเลือกว่าข้อไหนผิด ก็ให้ลองดูข้ออื่นๆ ที่เราคิดว่าถูก ว่ามันสัมพันธ์กันรึเปล่า เอามารวมเป็นประโยคจะถูกต้องไหม ถ้าอ่านแล้วแปลกๆ ก็ลองเลือกข้ออื่นดีกว่าค่ะ

 

ขอบคุณตัวอย่างข้อสอบรูปแบบที่ 6 จาก http://www.niets.or.th/

          เป็นยังไงกันบ้างคะ ตัวอย่างของรูปแบบข้อสอบที่พี่อีฟเอามาฝากกันวันนี้ อาจจะดูแปลกตาไปบ้าง แต่ก็อยากจะให้น้องๆ ได้ทำความคุ้นเคยเอาไว้ก่อน เพราะในอนาคตถ้ารูปแบบข้อสอบไม่เปลี่ยนไป เราก็ต้องเจอข้อสอบแบบนี้นี่แหละ พี่อีฟเชื่อว่าถ้าทุกคนตั้งใจอ่านหนังสือให้เต็มที่ เตรียมตัวมาให้ดี ไม่ว่าข้อสอบยากแค่ไหนก็ทำได้แน่นอน เพราะอย่าลืมว่านอกจากข้อสอบจะวัดความรู้เราแล้ว ข้อสอบยังวัดความพร้อมของเราด้วย !
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด