เตือนภัย : น้ำท่วมหนักระวัง "โรคเครียด"


     เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของความเสียหายทางทรัพย์สิน อาชีพการงาน รวมไปถึงสุขภาพจิตของหลายๆ คนก็ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่

     หลายๆ ครอบครัวต้องสูญเสียอาชีพไป เนื่องจากแหล่งประกอบอาชีพต้องปิดตัวลงเนื่องจากสภาวะน้ำท่วมหนักไม่สามารถดำเนินกิจการได้ บางครอบครัวต้องสูญเสียพรัดพรากคนที่รัก สัตว์ที่เลี้ยง หลายชีวิตแยกจากครอบครัวไปอยู่ตามศูนย์อพยพต่างๆ แน่นอนว่าในสถานการณ์แบบนี้นั้น ผู้ประสบภัยย่อมเกิดความเครียด สิ้นหวัง และหดหู่ได้โดยง่าย



     ในขณะเดียวกันผู้ที่อยู่ในระหว่างการเตรียมตัวรับมือกันสภาวะน้ำท่วม ก็รับข่าวสารจากทุกทิศต่าง ไม่ว่าจะเป็น วิทยุ โทรทัศน์ โซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ฯลฯ ต่างก็ตกอยู่ในสภาวะตื่นตระหนกกับสถานการณ์น้ำที่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาในหลายๆ พื้นที่

     บางคนกังวลว่าน้ำท่วมแล้วจะออกไปไหนไม่ได้ไม่มีอะไรกิน ก็รีบตุนสินค้าทั้งของกินของใช้เอาไว้ บางคนห่วงรถยนต์ว่าจะโดนน้ำท่วมก็ไปจอดไปตามทางด่วน หรืออาคารต่างๆ ... ด้วยสภาวะเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลไปทุกหย่อมหญ้า เกิดความเครียดสะสม...จนถึงระดับคิด "ฆ่าตัวตาย"

     ภาวะความเครียดดังกล่าวนี้คือว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวลไปไม่น้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วม



     โดยน.พ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่าในสถานการณ์น้ำท่วมเช่นนี้โรคเครียดเกิดขึ้นได้กับหลายช่วงอายุ แต่ที่เฝ้าระวังคือ คนที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 75-85 ปี (สาเหตุเนื่องจากเป็นห่วงบ้าน ห่วงข้าวของเครื่องใช้) กับกลุ่มวัยแรงงานอายุ 25-45 ปี (สาเหตุเนื่องจากกังวลเรื่องรายได้ ครอบครัว อนาคตเพราะกำลังอยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว)

     สำหรับผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะเครียดนั้นจะมีอาการแสดงออกหลายรูปแบบ แต่อาการเบื้องต้นมันจะแสดงออกมาทางความไม่สบายทางกาย เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ใจสั่น หายใจไม่ออก ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน บางรายถ้าอาการรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้จะเกิดอาการกลัว วิตกกังวลอย่างรุนแรง มีอาการตื่นตระหนก หายใจเร็วกว่าปกติ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เกร็งตามมือและเท้า กลัวว่าตัวเองกำลังจะตาย

     ...ได้ฟังเรื่องราวของอาการเครียดจากสภาวะน้ำท่วมแล้ว หลายคนเริ่มกังวลว่าตัวเองจะตกอยู่ในสภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัว ไม่เป็นไรค่ะ วันนี้พี่เหมี่ยวมี 4 ขั้นตอนง่ายๆ ในการบำบัดความเครียดในช่วงน้ำท่วมมาฝากกัน



     1. ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมกับทำความเข้าไปที่มาที่ไปของเหตุการณ์ ... เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราคนเดียว แต่เกิดขึ้นกับคนทั้งประเทศไทย และทั้งโลก ในต่างจังหวัดยังมีผู้คนอีกมากที่ประสบภัยและสูญเสียมากกว่าเรา และในต่างประเทศยังมีเพื่อนร่วมโลกของเราอีกเป็นล้านๆ คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ การยอมรับสภาพความเป็นจริงและทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้หาวิธีการแก้ไขและเยียวยา

     2. จัดลำดับความสำคัญของปัญหา ... ตั้งสติแล้วคิดว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไล่เรียงไปตามระดับความสำคัญ เช่น ที่พักอาศัย การกิน การนอน การขับถ่าย การเดินทางไปทำงาน หรือขอความช่วยเหลือ การเรียงลำดับปัญหาจะช่วยให้เราเริ่มต้นแก้ปัญหาให้ง่ายขึ้นค่ะ

   3. ใช้ชีวิตให้ง่ายที่สุด ... สูงสุดคืนสู่สามัญค่ะ ถ้าหากต้องอพยพจริงๆ ควรนำแต่ของที่จำเป็นติดตัวไปเท่านั้น ปล่อยวางเรื่องทรัพย์สินสิ่งของนอกกาย อนาคตยังมีโอกาสหาใหม่ได้ พยายามใช้ชีวิตเรียบง่ายเพื่อลดความรู้สึกเครียดลงบ้าง ไม่ควรห่วงสิ่งของนอกกายมากกว่าชีวิตนะคะ

    4. เอาใจใส่ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ... สิ่งที่ดีที่สุดในยามวิกฤตคือ การให้กำลังใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกันนะคะ อย่าปล่อยให้ความท้อแท้ทำลายกำลังกายและกำลังใจที่เราจะใช้ในการก้าวผ่านสภาวะวิกฤตในครั้งนี้

     ... ยังไงพี่เหมี่ยวและชาว www.dek-d.com ก็ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกคนให้ผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้นะคะ







ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dmh.go.th/
ภาพประกอบ : http://www.facebook.com/SiamFloodAdmin
http://www.facebook.com/1111No5?sk=wall

พี่เหมี่ยว
พี่เหมี่ยว - Columnist คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ผู้หญิง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

6 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
รพ.ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก 15 พ.ย. 54 15:18 น. 5
คนดีทำให้คนอื่นดีได้ หมายความว่าคนดี ทำให้เกิดความดีในสังคม คนอื่นก็ดีไปด้วย. ความเลวนั้นจะทำให้คนดีเป็นคนเลวก็ยาก แต่เป็นไปได้.ถ้าคนดีเข้มแข็งในความดี จะทำให้คนเลวมาทำให้คนดีเป็นคนเลวยาก.สำคัญอยู่ที่ความเข้มแข็งของคนดี...
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด