ภาชนะใส่อาหาร ที่ใช้ "ปลอดภัย" แน่หรือ???

 

 

          ภาชนะหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ถ้วย จาน ชาม ฯลฯ ที่น้องนำมาใช้ใส่อาหาร  เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการรับประทานอาหารนะมีความปลอดภัยแค่ไหน  อะ...ตอบได้หรือเปล่า แล้วน้องๆ รู้หรือเปล่าว่าภาชนะใส่อาหาร ที่น้องๆ ใช้อยู่เหมาะสมกับอาหารที่บรรจุแค่ไหน ที่พี่ผึ้งถาม...เพราะการนำมาใช้ภาชนะหากน้องๆ รู้หลักเลือกใช้อย่างเหมาะสมถูกวิธี แน่นอนว่าย่อมก่อเกิดผลดีต่อสุขภาพอนามัยต่อตัวน้องๆ เองนะ ดังนั้นตามพี่ผึ้งไปดูกันเลย.....
 

 

 


ขณะที่ภาชนะบรรจุอาหารมีส่วนสําคัญอย่างหนึ่ง  ในชีวิตประจําวัน การบริโภคอาหารทุกมื้อต้องใช้ภาชนะเหล่านี้ซึ่งมีให้เห็นหลากหลายทั้งที่เป็น แก้ว เซรามิก พลาสติก    ฯลฯ ซึ่งแต่ละชนิดต่างมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป และจากข่าวความเคลื่อนไหวภาชนะใส่อาหารที่มีลวดลายสีสันด้านในเตือนให้ระวังถึงอันตรายซึ่งหากสีไม่ได้มาตรฐานอาจเจอะเจอสารตะกั่วปนเปื้อน
 
“การเลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารจึงควรมีความรู้และเข้าใจเลือกใช้อย่างเหมาะสม”  ประกาย บริบูรณ์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้ จากการตรวจสอบถ้วย จาน ชามที่วางขายทั่วไปในท้องตลาด โดยเฉพาะตามตลาดนัด หรือวางกับดินซึ่งมีราคาถูก ส่วนหนึ่งจากการตรวจพบภาชนะกระเบื้องเคลือบดินเผาประเภทจานแบนที่เคลือบลวดลายสีภายใน จากตัวอย่างที่ตรวจพบสารตะกั่ว จานแบนที่เป็นสีขาวไม่มีลวดลายด้านใน จานที่มีสีแต่ไม่มีลวดลายด้านในตรวจไม่พบสารตะกั่ว เป็นต้น
 
สารตะกั่ว เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการสะสม หากเข้าสู่ร่างกายในระบบเลือดจะทำให้โลหิตจาง ทำลายไต ทำให้ระบบประสาทแย่และทำให้ไอคิวต่ำลง ฯลฯ ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดตรวจสอบสารตะกั่วเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยและเตือนภัยแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที
 
“ถ้วย จาน ชามที่มีสีสันสวยงามอยู่ภายนอกนั้นไม่มีปัญหา สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือลวดลาย สีสันที่อยู่ด้านใน สีสดใสเบื้องต้นควรระมัดระวัง ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งรวมถึงชุดทดสอบสารตะกั่วในถ้วย ชาม จาน ที่เป็นกระเบื้องเคลือบดินเผา ซึ่งการตรวจจะใช้กระดาษทรายขูดบริเวณลวดลาย เพื่อขัดน้ำยาเคลือบออก จากนั้นใช้ไม้พันสำลีจุ่มน้ำยาถูวนไปมาบนสีที่เคลือบ หากสำลีเปลี่ยนเป็นสีชมพูแสดงว่ามีสารตะกั่ว ไม่ปลอดภัยที่จะใส่อาหารบริโภค”
 
นอกจากนี้มีวิธีสังเกตเบื้องต้น อย่างที่ทราบกันด้านในภาชนะลักษณะลวดลายต้องเรียบเป็นเนื้อเดียวกับกระเบื้อง ทดสอบได้โดยใช้มือเปล่าลูบจะไม่สะดุดรอยนูน หากลูบแล้ว สะดุดมีโอกาสเสี่ยงต่อการละลายของสารตะกั่วออกมาซึ่งถ้าสีที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน ควรหลีกเลี่ยงการใส่อาหารประเภทที่มีฤทธิ์เป็นกรดซึ่งกรดอาจสลายสีออกมาได้
 
แต่หากไม่มั่นใจในสีสันลวดลายแทนที่การทิ้งสามารถปรับเปลี่ยนการใช้ จากเดิมที่ใส่อาหารร้อน อาหารประเภท แกงส้ม ต้มยำอาจเปลี่ยนมาเป็นใส่ผัก ของแห้ง ฯลฯ ซึ่งจะยังคงประโยชน์ อีกทั้งไม่เสี่ยงต่ออันตราย 
 


ในความปลอดภัยไม่เพียงสีสันลวดลาย ภาชนะที่ใช้ไม่ควรละเลยมองข้ามเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะกับเด็กเล็กวัยซน ภาชนะที่ผู้ปกครองเลือกใช้ควรคำนึงถึงความเหมาะสม สะอาดปลอดภัยและนอกจากภาชนะประเภทเซรามิก ภาชนะประเภทเมลามีน ที่มีใช้กันอย่างแพร่หลาย การนำมาใช้ควรศึกษาถึงความเหมาะสมโดยเฉพาะเรื่องอุณหภูมิ
 
เมลามีน ภาชนะที่มีความสวยงาม นํ้าหนักเบา ผิวเรียบเป็นมันมีความทนทาน ฯลฯ ในการนำมาใช้จากข้อมูลที่มีการกล่าวถึงภาชนะชนิดนี้ซึ่งข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้งานกับเตาไมโครเวฟเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ไม่ควรใช้เมลามีนบรรจุอาหารที่ร้อนจัดจนเดือด เพราะอาจจะมีการละลายของสารเคมีที่เป็นอันตรายออกมาและควรระวังไม่ให้ผิวของภาชนะเกิดรอยขูดขีดจากการล้างทําความสะอาด เพราะรอยขูดขีดที่เกิดขึ้นอาจเป็นที่สะสมของเศษอาหารเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ จึงควรเลือกภาชนะที่ได้มาตรฐานและมีการรับรองคุณภาพ ฯลฯ
 
ภาชนะพลาสติก การใช้  ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารควรเลือกชนิดของพลาสติกให้เหมาะกับชนิดของอาหาร อย่างถุงพลาสติกมีทั้งถุงร้อน และถุงเย็น ถุงร้อนจะไม่ทนเย็นจะเห็นได้ว่าถ้านำถุงร้อนใส่ไปในช่องแช่แข็งถุงจะแตกจะกรอบ ถุงร้อนสามารถทนความร้อนได้ 120 องศาเซลเซียส แต่บางชนิดรับได้เกิน ขณะที่ถุงเย็นนำมาใส่ของร้อนไม่ได้ นี่คือสิ่งที่แยกกันชัดเจนซึ่งเมื่อนำมาใช้ควรใช้ให้เหมาะสมถูกต้อง
 
นอกจากนี้ไม่ควรใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารที่เป็นกรด เช่น นํ้าส้มสายชู เพราะกรดจากนํ้าส้มสายชูอาจทําปฏิกิริยากับภาชนะพลาสติก จึงควรใช้ภาชนะที่ทําจากวัตถุที่ทนความเป็นกรดและด่างได้อย่างเช่น แก้ว อีกทั้งไม่ควรใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารที่ร้อนจัดหรือมีความมันมาก ๆ เป็นเวลานานเพราะพลาสติกบางชนิดไม่ทนความร้อน เมื่อใช้ใส่อาหารร้อน หรือนํ้าเดือด ความร้อนจะทําให้สีจากภาชนะละลายปนออกมาได้ เป็นต้น
 


ภาชนะโฟม เป็นภาชนะอีกชนิดที่มีใช้กันอย่างแพร่หลาย การนำมาใช้ควรมีอะไรรองพื้น โดยเฉพาะถ้าเป็นอาหารมัน อาหารร้อนควรรองพื้นก่อนนำอาหารมาใส่ ฯลฯ ฟิล์มยืด ที่ใช้ห่อหุ้มอาหาร ผัก เพื่อเก็บรักษาอาหาร ป้องกันสิ่งสกปรก ฯลฯ ก่อนนำมาใช้ควรศึกษา อย่างการอุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟควรระมัดระวังอย่าให้สัมผัสกับอาหารโดยตรง ควรถ่ายใส่ถาดแก้วหรือเซรามิกและสิ่งที่เป็นโลหะควรนำออกก่อน เป็นต้น
 
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำเกี่ยวกับ ถุงกระดาษที่ทําจากกระดาษหนังสือพิมพ์ ไม่ควรที่จะนํามาใส่อาหารที่มีไขมัน เนื่องจากหมึกพิมพ์บนกระดาษหนังสือพิมพ์มีสารโลหะหนักเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ฯลฯ และแม้จะเป็นสิ่งที่ทราบกัน อีกทั้งเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่ก็อาจมองข้ามละเลยกันไป 


 
        พี่ผึ้งขอเสนอว่า การจะเลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน น้องๆ ก็ควรเลือกให้เหมาะสมตรงกับการใช้งาน และควรดูแลทําความสะอาดให้สะอาดอยู่เสมอนะ  รวมทั้งน้องๆ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้  รู้หลักเข้าใจเลือกใช้ภาชนะใส่อาหารของเราได้อย่างเหมาะสม  นอกจากจะช่วยให้เราปลอดภัยแล้ว  ยังช่วยให้ห่างไกลจากโรคภัย และมีสุขอนามัยดีอีกด้วยน๊า.

 

พี่ผึ้ง : ขอขอบคุณข้อมูลจากและภาพประกอบจาก เดลินิวส์

 

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด