มาดู "แหวนรุ่น" ของมหาวิทยาลัยดังในเมืองนอก (พร้อมที่มาของแหวนรุ่น)

        ในประเทศไทยน้องๆ บางคนอาจจะเคยผ่านหูผ่านตาหรือแม้แต่เคยเป็นเจ้าของ “แหวนรุ่น” ที่นักเรียนในชั้นสั่งทำกันเองตอนใกล้เรียนจบใช่ไหมคะแหวนรุ่นที่ทำขึ้นมาเป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่าเราจบการศึกษาจากสถาบันนี้ และมีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละรุ่น ที่ต่างประเทศเองก็มีเช่นกันค่ะ “พี่น้อง” จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับต้นกำเนิดของแหวนรุ่นและประเพณีการสวมแหวนรุ่นในมหาวิทยาลัยที่อเมริกากันค่ะ
 

แหวนรุ่นเริ่มจากไหน?

        แหวนรุ่นจริงๆ แล้วมีต้นกำเนิดมาตั้งสมัยโบราณที่ชาวอียิปต์หรือทหารโรมันสวมแหวนประจำตนด้วยความเชื่อต่างๆ แต่แหวนรุ่นตามสถาบันศึกษามีจุดเริ่มต้นจากประเพณีของโรงเรียนนายร้อยในอเมริกา ตั้งแต่ปี 1835 นู่นเลยค่ะ
 

Ahodges7 via en.wikipedia.org
 
        ที่โรงเรียนนายร้อยของอเมริกา นักเรียนนายร้อยปีสุดท้ายจะได้รับแหวนในช่วงสุดสัปดาห์ของต้นฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเรียกว่า Ring Weekend หลังจากนั้นจะมีงานเลี้ยงเต้นรำ และเหล่าโฟร์ธคลาส (เป็นคำเรียกของโรงเรียนนายร้อย เทียบเท่ากับเด็กปีหนึ่งนั่นเองค่ะ) ก็จะออกมารุมล้อมรุ่นพี่เฟิร์สคลาสในสังกัดตัวเองเพื่อร้องเพลง Ring Poop และขอจับแหวน

        ประเพณีการใช้แหวนรุ่นจึงเริ่มแพร่หลายออกไปในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วอเมริกานั่นเองค่ะ
 

การสั่งทำแหวนรุ่น

        การทำแหวนรุ่นนั้นส่วนใหญ่จะมีการตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการตั้งแต่วางแผนออกแบบขนาดแหวน ซึ่งก็มีตั้งแต่แหวนวงใหญ่ของผู้ชายที่มีการแกะสลักลายสวยๆ หรือแหวนวงเล็กเรียบๆ สำหรับผู้หญิง มีการเลือกวัตถุดิบที่นำมาผลิตแหวน (แบบดั้งเดิมจะใช้ทอง แต่ปัจจุบันหลากหลายขึ้น) เลือกอัญมณีที่จะนำมาประดับแหวน (ถ้ามี) ซึ่งส่วนใหญ่จะบังคับให้ใช้อัญมณีแบบเดียวกัน แต่สั่งตัดเป็นรูปร่างแตกต่างกันได้ บางครั้งถ้าใครมีอัญมณีหรือเครื่องประดับที่เจ้าของเป็นศิษย์เก่าของสถาบันก็อาจจะขอมาสั่งทำใส่แหวนตัวเองก็ได้

        ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีรูปแบบแหวนรุ่นของตัวเองอยู่แล้วก็จะไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก อาจจะเปลี่ยนแค่เลขรุ่น หรือสัญลักษณ์ประจำรุ่นนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น

        หลังจากออกแบบแหวนเรียบร้อยก็จะมาสู่ขั้นตอนการโหวตว่าคนในระดับชั้นปีจะชอบแบบไหน และสั่งทำโดยวัดขนาดนิ้วของแต่ละคนไปเลย ก่อนจะเริ่มสั่งทำ ซึ่งมักทำล่วงหน้าก่อนวันรับแหวนเป็นเดือนๆ ส่วนใหญ่แล้วมหาวิทยาลัยดังๆ ก็จะมีบริษัทที่รับทำแหวนรุ่นเจ้าประจำคอยให้บริการเช่น Balfour, Herff Jones, และ Jostens

        บางครั้งในการทำแหวน ศิษย์เก่าบางคนอาจยอมบริจาคแหวนรุ่นของตัวเองเพื่อเอามาหลอมทำเป็นแหวนใหม่ให้รุ่นน้อง หรือบริจาคอัญมณีที่ติดกับแหวนให้เลยก็ได้
 

การสวมแหวน

        เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วจะทำแหวนรูปแบบคล้ายๆ กัน นั่นคือตรงกลางเป็นอัญมณี ด้านข้างของแหวนด้านหนึ่งก็จะสลักสัญลักษณ์ประจำชั้นปี ส่วนอีกด้านก็จะเป็นสัญลักษณ์ของมสถาบันแต่ละสถาบัน จึงมีธรรมเนียมการสวมแหวนอยู่ว่า ตอนที่นักศึกษาได้รับแหวนไปก่อนจบการศึกษานั้น ให้เอาตราสัญลักษณ์ของชั้นปีหันเข้าหาตัว ให้เจ้าของแหวนมองเห็นได้ ที่ให้ใกล้สายตาก็เพื่อย้ำกับตนเองว่ายังเรียนไม่จบนะ ต้องมุ่งมั่นตั้งใจทำให้เต็มที่ หลังจากผ่านพิธีจบการศึกษาไปแล้ว จึงจะกลับด้านแหวน เอาตราสัญลักษณ์ชั้นปีออกจากตัวแล้วเอาตราสัญลักษณ์ของสถาบันเข้าแทน เพื่อให้คนอื่นเห็นว่าเราจบแล้ว พร้อมที่จะเอาความรู้ที่เราร่ำเรียนมานำไปสร้างประโยชน์ให้กับโลกภายนอก

        บางสถาบันที่เรือนแหวนเป็นตราสัญลักษณ์สถาบัน ไม่ใช่อัญมณี ก็อาจจะมีธรรมเนียมว่าตอนยังไม่จบให้หันตราเข้าหาเรา ให้เราอ่านออก หลังจากเรียนจบแล้วค่อยมีพิธีหันเรือนแหวนออก เพื่อให้คนอื่นมองเห็นได้ชัดๆ ว่าเราใส่แหวนของสถาบันใด
 

รูปแบบแหวนของสถาบันดัง

        แน่นอนว่าสถาบันชื่อดังทั้งหลายย่อมมีแหวนรุ่นของตนเอง มาดูกันดีกว่าว่าแต่ละสถาบันเขาออกแบบแหวนรุ่นตัวเองกันอย่างไรบ้าง
 
โรงเรียนนายร้อยที่เวสต์พอยท์
        สำหรับสถาบันต้นตำรับการทำแหวนรุ่น เนื่องจากเป็นโรงเรียนนายร้อย แหวนก็จะออกแบบมาในสไตล์แหวนใหญ่ทำจากทอง สลักลายตรงกลางเป็นคำว่า West Point และปีรุ่น พร้อมประดับอัญมณีตรงกลางซึ่งแตกต่างกันไปตามรุ่น ด้านหนึ่งเป็นโลโก้สถาบัน อีกด้านเป็นโลโก้ประจำรุ่นนั้น ภายในวงสลักเป็นคำต่างๆ แล้วแต่ปี เช่น ในรูปด้านซ้ายคือแหวนปี 2012 ที่สลักคำว่า "Never Forget" (ไม่มีวันลืม) เพื่อระลึกถึงคนที่เสียสละตนเองเพื่อชาติ
 

Idi.mallari / Charles.briseno via en.wikipedia.org
 
MIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมตซาชูเซสต์)
        สำหรับ MIT แหวนรุ่นจะมีชื่อเรียกว่า “แบรซ แรท” หรือ “หนูทองเหลือง” ซึ่งมีรายละเอียดเยอะกว่าสถาบันอื่น โดยมีองค์ประกอบดังนี้
        ตัวเรือนแหวนเป็นรูป ทิม เดอะ บีเวอร์ มาสค๊อตของที่นี่ (เนื่องจากเขามองว่าบีเวอร์เป็นเหมือนวิศวกรในโลกของสัตว์ค่ะ) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการตรากตรำทำงานหนักของนักศึกษา

        ขอบแหวนสองด้านทำเป็นรูปเส้นขอบฟ้าด้านบอสตันกับด้านเคมบริดจ์ (คนละที่กับเคมบริดจ์ของอังกฤษนะคะ) ช่วงที่เรียนอยู่จะยังหันด้านบอสตันเข้าหาตัวเพื่อสื่อว่าโลกภายนอกรอเราอยู่ พอเรียนจบแล้วค่อยหันด้านเคมบริดจ์เข้าเพื่อให้บัณฑิตได้รำลึกถึงช่วงเวลาที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในสถาบัน

        รอบแหวนแหวนด้านหนึ่งจะเป็นโลโก้สถาบัน อีกด้านเป็นโลโก้ประจำรุ่น ส่วนใต้แหวนมีแผนที่สถาบันซ่อนอยู่ด้วย

        ที่เรียกว่าหนูทองเหลืองก็เป็นแค่คำล้อเลียนของเด็ก MIT ว่าตัวบีเวอร์นั้นเหมือนหนูตัวหนึ่ง และแหวนทองก็ดูเหมือนทำมาจากทองเหลืองได้เช่นกัน
 
มหาวิทยาลัยเยล
        ของเยลนั้นแหวนรุ่นปี 2015 ทำเป็นเรือนสีทอง มีตราประจำมหาวิทยาลัยอยู่กลางวง ด้านหนึ่งเป็นสัญลักษณ์พร้อมตัวย่อของแต่ละวิทยาลัย อีกด้านเป็นตัววายซึ่งเป็นชื่อมหาวิทยาลัยพร้อมปีจบ
 
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
        จะสังเกตว่าแม้จะจบไปนานแล้วแต่นักศึกษาหลายคนก็ยังภาคภูมิใจกับสถาบันของตนเอง และสวมแหวนรุ่นไว้ตลอดเวลาเหมือนแหวนแต่งงาน อย่างในภาพยนตร์เรื่อง Iron Man โทนี่ สตาร์คก็สวมแหวนรุ่นของ MIT แม้จะสำเร็จการศึกษานานแล้ว
 

Marvel Studios via mitadmissions.org
 
        แหวนรุ่นก็เป็นเหมือนใบปริญญาที่พกติดตัวได้ เวลาใครเห็นแหวนรุ่นของเยลหรือฮาร์วาร์ดก็แอบชื่นชมคนสวม จนทำให้มีบางคนที่ไม่ได้จบจากสถาบันนั้นแต่แอบไปสั่งทำแหวนกับผู้ผลิตเพื่อมาไว้หลอกคนอื่นให้หลงเชื่อเหมือนกันค่ะ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

♛รักหมอ♛ Member 7 ก.ย. 58 11:38 น. 1
มือข้างขวาของโทนี่สวมแหวนรุ่น ส่วนข้างซ้ายสวมแหวนแต่งงานของเราค่ะ!55555555 #มโนชนะเลิศ #ว่าแต่เทียบกันแล้วนี่ของไทยคือเสื้อรุ่นรึเปล่า #กำ ผิด ท่ดๆ
1
editor_nong Member 7 ก.ย. 58 21:34 น. 1-1
ดีๆ งั้นพี่เอากัปตันอเมริกา #เดี๋ยวๆ ของไทยนี่บางที่คงเป็นเสื้อรุ่น บางที่คงเป็นแหวน หรือบางที่คงทั้งสองอย่างค่ะ เย้
0
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

♛รักหมอ♛ Member 7 ก.ย. 58 11:38 น. 1
มือข้างขวาของโทนี่สวมแหวนรุ่น ส่วนข้างซ้ายสวมแหวนแต่งงานของเราค่ะ!55555555 #มโนชนะเลิศ #ว่าแต่เทียบกันแล้วนี่ของไทยคือเสื้อรุ่นรึเปล่า #กำ ผิด ท่ดๆ
1
editor_nong Member 7 ก.ย. 58 21:34 น. 1-1
ดีๆ งั้นพี่เอากัปตันอเมริกา #เดี๋ยวๆ ของไทยนี่บางที่คงเป็นเสื้อรุ่น บางที่คงเป็นแหวน หรือบางที่คงทั้งสองอย่างค่ะ เย้
0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด