เคล็ดลับการเขียนเรียงความสมัครเรียนต่อจาก 13 มหา'ลัยดังของโลก

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com น้องๆ คนไหนที่วางแผนจะไปเรียนต่อเมืองนอกคงจะทราบกันแล้วว่าหนึ่งในเอกสารประกอบการสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ คือการเขียนเรียงความเข้าเรียนต่อ ซึ่งพี่เคยให้คำแนะนำในการเขียนไปบ้างแล้วในหลายๆ บทความ ส่วนวันนี้ พี่พิซซ่า จะพาน้องๆ ไปดูคำแนะนำพิเศษจากแต่ละมหาวิทยาลัยดังค่ะ รับรองว่าต้องช่วยให้น้องๆ เขียนเรียงความเข้าเรียนต่อได้ง่ายขึ้นแน่นอน



มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

     ดร. แซม ลูซี่ แอดมิชชั่นติวเตอร์ประจำ Newnham College มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ให้คำแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดของกิจกรรมนอกเวลาหรืองานพาร์ทไทม์มาทั้งชีวิตก็ได้ เพราะที่เคมบริดจ์ไม่ชอบอ่านอะไรพวกนั้นถ้ามันไม่เกี่ยวข้องกับสาขาที่กำลังจะสมัครเข้าเรียนต่อ ดังนั้นหากต้องการใส่เรื่องกิจกรรมนอกเวลาหรือประสบการณ์อื่นๆ มาก็ควรเลือกที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่กำลังจะสมัครเข้าเรียน หรือเป็นสิ่งที่บอกคุณลักษณะสำคัญที่ทำให้เคมบริดจ์ต้องเลือกคนนี้เข้าศึกษา เช่นเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นความเป็นผู้นำและมีวิสัยทัศน์ นอกจากนี้อาจารย์ยังเน้นด้วยว่าเคมบริดจ์จะดูความสามารถด้านการศึกษาและศักยภาพในตัวผู้สมัครเป็นอันดับแรก


มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

     เคทเทรียน่า วูลเฮ้าส์ หัวหน้าฝ่ายคัดเลือกนักศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีคำแนะนำที่คล้ายๆ กันให้ว่า ออกซ์ฟอร์ดอยากให้ตัวเรียงความพูดถึงเรื่องการศึกษาและความสนใจในตัวสาขาวิชาที่จะสมัครเรียนประมาณ 75-80% ของเรียงความ ส่วนที่เหลือค่อยพูดเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตการศึกษา เพราะกิจกรรมนอกหลักสูตรหรือประสบการณ์การทำงานอื่นๆ เป็นเพียงตัวช่วยแสดงให้เห็นว่าเรามีคุณสมบัติบางอย่างที่เหมาะกับสาขาวิชานี้เท่านั้น


ระบบรับสมัครแอดมิชชั่นกลางของสหราชอาณาจักร (UCAS)

     ทางด้าน UCAS เว็บไซต์สำหรับสมัครเข้าเรียนปริญญาตรีแบบแอดมิชชั่นส่วนกลางของอังกฤษ ที่นักเรียนสามารถกรอกใบสมัครและส่งเรียงความเข้าส่วนกลางก่อนเลือกมหาวิทยาลัยนั้น ก็ให้คำแนะนำว่าควรอ่านและตรวจสอบเรียงความให้ดีก่อนส่ง ให้เพื่อน ครอบครัว หรืออาจารย์ช่วยอ่านสิ่งที่เราเขียนไป และวิจารณ์ว่าอ่านแล้วอยากเลือกเราเข้าเรียนมั้ย นอกจากนี้ตัวเราเองก็ต้องตรวจอยู่เรื่อยๆ และลองอ่านออกเสียงดังๆ เพราะการอ่านออกเสียงจะทำให้เจอจุดที่ผิดหรือแปลกๆ ได้ง่าย
     ส่วนข้อแนะนำสำหรับเนื้อหาที่จะเขียนลงเรียงความนั้น UCAS แนะนำว่าควรใส่ประสบการณ์พิเศษที่บอกว่าเรามีดีในด้านความเป็นผู้นำ, การแก้ปัญหา, มีความเข้มแข็ง, สามารถทำงานเป็นทีมได้, มีความคิดสร้างสรรค์ และมีทักษะด้านความคิดวิเคราะห์เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้มหาวิทยาลัยสนใจและอยากเลือกเราเข้าเรียนมากขึ้น แต่ก็ไม่ควรขุดกิจกรรมนอกเวลาที่เก่าไปถึงสมัยเด็กๆ มหาวิทยาลัยชอบเรื่องใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดในช่วง 2-3 ปีนี้มากกว่า


มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

     อาจารย์โจนาธาน รี้ดเดอร์ อดีตหัวหน้าผู้ประสานงานอาวุโสของกองแอดมิชชั่นที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นที่ปรึกษาด้านการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยให้นักเรียนมัธยมในซานฟรานซิสโก บอกว่าต้องระวังเรื่องความยาวของเรียงความให้ดี อย่างการสมัครผ่านเว็บ Commonapp ซึ่งเป็นช่องทางการสมัครแอดมิชชั่นส่วนกลางของมหาวิทยาลัยในอเมริกา ในเว็บไซต์ระบุว่าเรียงความต้องยาวตั้งแต่ 250 คำขึ้นไป ก็ควรเขียนประมาณ 500 คำ ถ้าเกิน 700 คำ คณะกรรมการก็จะไม่อยากอ่านแล้ว และควรเขียนเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ อย่าเล่าเรื่องแบบหว่านไปทั่ว อ่านแล้วต้องไหลลื่นเป็นเรื่องเดียวกันไปเรื่อยๆ


มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

     แม้ฮาร์วาร์ดจะรับสมัครผ่านทางเว็บส่วนกลางอย่าง Commonapp ซึ่งมีช่องให้พิมพ์เรียงความไว้อยู่แล้ว แต่ถ้ารู้สึกว่ามันไม่สามารถแสดงความเป็นตัวเราได้ชัดพอก็สามารถเขียนเรียงความเพิ่มอีกฉบับสำหรับให้ฮาร์วาร์ดอ่านโดยเฉพาะได้ แค่อย่าไปซ้ำซ้อนกับฉบับแรกของส่วนกลาง แต่ถ้าเรียงความมาตรฐานทำได้ดีแล้วก็ไม่ต้องเขียนเพิ่มอีกฉบับก็ได้
     นอกจากนี้คณะกรรมการของฮาร์วาร์ดชอบอ่านเรียงความที่เปิดมาได้น่าสนใจ น่าติดตามต่อ ให้คิดถึงข้อความที่ชวนให้คลิกตามไปอ่านต่อในลิ้งค์ มันต้องเป็นอะไรที่ทำให้อยากอ่านต่อตั้งแต่ย่อหน้าแรกเลย


มหาวิทยาลัยเยล

     เว็บไซต์ของเยลแนะนำว่าควรเขียนเรียงความให้เป็นธรรมชาติของตัวเอง ไม่ต้องสรรหาคำศัพท์ยากๆ สวยๆ และไม่จำเป็นต้องเลือกใช้ synonym เยอะๆ เพื่อให้ไม่มีศัพท์ซ้ำๆ ให้เขียนด้วยภาษาธรรมดาจะดีที่สุด นอกจากนี้ไม่ต้องพยายามคิดหัวข้อที่ดูฉลาดอลังการ ทำเรื่องราวธรรมดาให้มีเสน่ห์จากมุมมองของตัวเองจะดีกว่าค่ะ เล่าเหตุการณ์สำคัญในชีวิต ประสบการณ์น่าสนใจ สิ่งที่ชอบเป็นพิเศษ หรือวัฒนธรรมของตัวเอง อาจจะดีกว่าเล่าปัญหาผู้ก่อการร้าย โดยฟังเหมือนเป็นเสียงนักข่าวที่อ่านข่าวจากที่ไกลๆ


สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซ็ตต์

     MIT มีระบบรับสมัครของตัวเองคือ MIT ซึ่งไม่ได้ให้เขียนเรียงความยาวๆ แบบการสมัครผ่าน Commonapp แต่จะเป็นคำถามซอยสั้นๆ แต่ละหัวข้อมากกว่ารวมไปถึงเรียงความขนาดสั้น ดังนั้นการสมัคร MIT จึงมีระบบที่แตกต่างออกไป และมีแบบฟอร์มเป็นของตัวเอง แม้จะเขียนเรซูเม่เตรียมไว้สำหรับสมัครมหาวิทยาลัยอื่นด้วยแล้ว แต่ก็ต้องนำมาปรับเป็นรูปแบบของ MIT ตอนสมัครด้วยค่ะ
     นอกจากนี้ MIT ก็บอกไว้ด้วยว่าแม้จะมีคำถามย่อยๆ เยอะแยะ แต่ก็อย่ามองว่าเป็นการเขียนข้อสอบ writing ภาษาอังกฤษ ให้มองว่าเป็นการชวนคุยทำความรู้จักกันจะดีกว่าและขอให้เขียนทุกอย่างด้วยความจริงใจ


สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย

     Caltech เป็นสถาบันด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงคาดหวังที่จะได้เห็นเรียงความที่แสดงความสนใจและความรักในด้านนี้ค่ะ ไม่ใช่แค่โชว์ว่ามีเกรดสวยในวิชาเหล่านี้เหล่านั้น ผู้สมัครต้องทำให้มหาวิทยาลัยทราบว่าผู้สมัครรักวิชาวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่ต้องสนใจด้านนี้อย่างมากเลย ควรใส่กิจกรรมด้านนี้ลงไป รวมไปถึงความรู้สึกสนุกสนานหรือตื่นเต้นเมื่อได้ทำกิจกรรมด้านนี้ รวมไปถึงให้รายละเอียดความพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพด้านนี้ให้สูงขึ้นไปอีกค่ะ


มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์

     อาจารย์เอมี่ จาริช ผู้ช่วยหัวหน้าผ่ายคัดเลือกนักศึกษาของ UC Berkeley บอกว่าเรียงความเข้าเรียนต่อที่ดีคือเรียงความที่ไม่วนอยู่ในอ่าง อย่าเขียนย้ำแต่เรื่องเดิมๆ วนไปวนมา มันไม่ได้ทำให้คณะกรรมการรู้สึกว่าเป็นการเน้นย้ำ แต่ทำให้กรรมการรู้สึกว่ามันไม่ไปไหนเลย ดังนั้นแต่ละย่อหน้าควรเป็นการขึ้นเรื่องใหม่หรือประเด็นใหม่ที่จะทำให้รู้จักตัวตนผู้สมัครได้ดีขึ้น และเห็นผู้สมัครในหลายมิติมากขึ้น เช่นถ้าเขียนเล่าว่าครอบครัวตัวเองมีญาติเยอะและอบอุ่นมาก และเห็นความสำคัญของครอบครัวมากๆ ไปแล้ว ก็ไม่ควรเล่าเรื่องญาติแต่ละคนในย่อหน้าถัดๆ มาอีก ควรเล่าอย่างอื่นนอกจากครอบครัวบ้าง


มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย

     แม้หลายมหาวิทยาลัยจะชอบเรียงความในรูปแบบเดิมๆ แต่อาจารย์เกรก โรเบิร์ตส์ คณบดีฝ่ายแอดมิชชั่นของ University of Virginia บอกว่าชอบเรียงความที่กล้าเสี่ยงมากกว่า อย่างเรียงความฉบับหนึ่งที่เขาจำได้ฝังใจเลยคือเด็กคนนั้นเขียนเล่าเรื่องทีมเบสบอลในโรงเรียน โดยที่ตัวเองเล่นไม่เก่งและไม่ชอบเล่นด้วยซ้ำ แต่กลับพูดถึงอารมณ์กังวลและลุ้นไปในขณะเดียวกันของตัวเองได้สนุกมาก อ่านแล้วเหมือนได้รู้จักเด็กคนนี้จริงๆ ขึ้นมาเลย จึงตัดสินใจเลือกเด็กคนนี้เข้าเรียน
     อาจารย์บอกว่าที่นี่มีผู้สมัครทีสองหมื่นคน ถ้าเขียนมาชืดๆ ก็จะไม่โดดเด่น แต่ถ้าไม่มีเรื่องน่าตื่นเต้นอะไรจะเล่าก็ไม่ต้องแต่งขึ้นมา ให้หามุมมองใหม่ให้กับเรื่องธรรมดาของตัวเองจะดีกว่า หรือถ้าอยากจะเขียนเกี่ยวกับปัญหาใหญ่ๆ ของโลกสำหรับคณะที่เรียนด้านนี้ ก็ไม่ควรมองแค่ว่าปัญหานั้นมันทำอะไรกับโลกเฉยๆ แต่ถ้าโยงปัญหาให้เข้ากับตัวเองให้ได้จะทำให้เรียงความน่าสนใจมากขึ้น


มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส

     เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยให้คำแนะนำไว้ว่าควรระวังเรื่องการพยายามใส่ความตลกขบขันลงไปในเรียงความเข้าเรียนต่อ จริงอยู่ที่เรียงความควรแสดงความเป็นตัวตนของเราลงไป แต่ถึงจะเป็นคนตลกก็ไม่ควรใส่มุกหรือข้อความจิกกัดอะไรลงไปในนั้น เพราะคนอ่านเป็นคนที่ไม่รู้จักมาก่อน เมื่อเจอแบบนี้เข้าไปเขาก็อาจไม่ได้หัวเราะไปด้วยเหมือนเพื่อนฝูงเรา แต่เขาอาจจะคิดว่าเราไม่เหมาะสมแทนก็ได้
     นอกจากนี้ก็ไม่ควรประดิดประดอยมากเกินไป เขียนให้ดีและขัดเกลาให้ดีขึ้นคือได้ แต่ถ้าถึงกับต้องพยายามเกินเหตุหรือใส่ความดราม่าลงไปเยอะ จากเรียงความดีๆ อาจกลายเป็นเรื่องไม่น่าอ่านและไม่น่าเชื่อไปเลย


มหาวิทยาลัยเคลมสัน

     อาจารย์โรเบิร์ต บาร์คลีย์ หัวหน้าหน่วยคัดเลือกนักศึกษาปริญญาตรีแห่ง Clemson University บอกว่าหลายคณะในเคลมสันจะมีหัวข้อหรือคำถามสำหรับการเขียนเรียงความโดยเฉพาะ ถ้ามีก็ควรเขียนเรียงความเพื่อตอบคำถามนั้นๆ และตรวจสอบให้ดีว่าคำถามบอกให้ใครตอบ สำหรับเด็กในประเทศ หรือสำหรับเด็กต่างประเทศ หรือเป็นคำถามสำหรับผู้ที่มีเงื่อนไขอื่นๆ ในการสมัครที่ต่างออกไป บางทีเขียนมาดีมากก็จริงแต่ดันไม่ใช่คนที่ต้องตอบคำถามนี้ ทางมหาวิทยาลัยก็จะไม่ประทับใจคนนี้และมีโอกาสสูงมากที่จะตัดทิ้งเลย


มหาวิทยาลัยเวสลีอิน

     คณบดีแนนซี่ เมสเลน จากฝ่ายแอดมิชชั่นของ Wesleyan University บอกว่าไม่ต้องไปพยายามคิดหาหัวข้อสุดเพอร์เฟ็คต์ในการเขียนเรียงความ ให้คิดแค่ว่าจะเขียนยังไงให้คนอ่านรู้จักเราได้เป็นอย่างดีในทันทีที่อ่านจบจะดีกว่า ให้เนื้อหามันพาตัวเองไปก็พอการเขียนเรียงความเข้าเรียนต่อคือการทำให้คณะกรรมการรู้จักตัวตนเรา รู้ว่าเรามีความสำเร็จใดๆ มาแล้ว และมีความสามารถที่จะทำอะไรต่อ ดังนั้นเขียนเกี่ยวกับตัวเองทั้งในมุมกว้างและมุมลึกให้ดีๆ ก็พอ


     จะเห็นว่านอกจากคำแนะนำมาตรฐานอย่างเขียนให้ไปในทางเดียวกันทั้งเรียงความและตรวจสอบก่อนส่งเสมอแล้ว แต่ละมหาวิทยาลัยมีสไตล์เป็นของตัวเองในการพิจารณาเรียงความเข้าเรียนต่อ บางที่ชอบแบบเน้นเรื่องการศึกษาหนักๆ บางที่ชอบอ่านเรื่องกิจกรรมสนุกๆ บางที่ก็มีโจทย์การเขียนเรียงความมาให้เลย ดังนั้นจะสมัครเข้าที่ไหนคณะอะไร ก็ควรพิจารณาก่อนว่าที่นั่นมองหาคนแบบไหนอยู่ เพื่อที่เราจะได้เขียนเรียงความได้ตรงใจคนอ่านค่ะ



 

บทความแนะนำ
4 เทคนิคเขียนเรียงความสมัครเรียนต่อนอก ให้ชนะใจกรรมการ!
Study Plan! เขียนยังไงให้โดนใจกรรมการ

 


ข้อมูล
www.usnews.com/professors-guide
www.usnews.com/college-admissions-experts
www.usnews.com/best-colleges
www.thedailybeast.com, www.admissions.caltech.edu
itadmissions.org, admissions.yale.edu
college.harvard.edu, www.admissions.ucla.edu
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากมีเนื้อหาไม่เหมาะสม

กำลังโหลด
กำลังโหลด