เปรียบเทียบ 10 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก (พร้อมสอนวิธีดูการจัดอันดับ)

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com เวลาจะหาที่เรียนในต่างประเทศแต่ละครั้ง เราจำเป็นต้องใช้ปัจจัยหลายๆ อย่างในการตัดสินใจเช่น ค่าใช้จ่าย ที่ตั้ง รายวิชา รวมไปถึงชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่มักมาจากการจัดอันดับ ซึ่งการจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็มีหลายสำนักเหลือเกิน มหาวิทยาลัยที่ได้อันดับ 1 ของแต่ละสำนักก็ต่างกัน วันนี้ พี่พิซซ่า เลยจะชวนน้องๆ มาทำความรู้จักกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากแต่ละสำนักกันค่ะ


     หน่วยงานที่จัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เป็นที่รู้จักกันดีมีอยู่ 3 สำนัก คือ Times Higher Education World University Rankings, QS World University Rankings และ Center for World University Rankings ส่วนมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก 10 อันดับแรกของทั้ง 3 สำนักนี้ได้แก่
 
ที่ Times QS CWUR
1 Caltech MIT Harvard University
2 University of Oxford Harvard University Stanford University
3 Stanford University University of Cambridge* MIT
4 University of Cambridge Stanford University* University of Cambridge
5 MIT Caltech University of Oxford
6 Harvard University University of Oxford Columbia University
7 Princeton University University College London UCLA
8 Imperial College London Imperial College London University of Chicago
9 ETH Zurich ETH Zurich Princeton University
10 University of Chicago University of Chicago Cornell University
        *ได้อันดับร่วมกัน

     จะเห็นว่าแม้อันดับจะไม่ตรงกันแต่ก็มีแต่มหาวิทยาลัยเดิมๆ ที่ติด 10 อันดับทั้ง 3 สำนัก ส่วนของไทมส์และคิวเอสนั้น มีที่ต่างกันชัดๆ ก็คือ Princeton University ที่ได้อันดับ 7 ในของไทมส์ แต่ได้อันดับ 11 ในการจัดอันดับของคิวเอส และ UCL ที่ได้อันดับ 7 ในการจัดอันดับของคิวเอส แต่ได้อันดับที่ 14 ในการจัดอันดับของไทมส์ ส่วนของ CWUR ค่อนข้างต่างจากสองสำนักก่อนหน้าเยอะ แต่มหาวิทยาลัยใน 10 อันดับของ CWUR ที่ไม่มีในไทมส์และคิวเอส ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่ติดใน 20 อันดับแรกของอีก 2 สำนักอยู่ดี ฉะนั้นก็ถือว่าไม่ได้ต่างกันมากมาย เพราะที่จริงทุกมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับต้นๆ ขนาดนี้ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลกอยู่แล้ว ทีนี้เราไปดูวิธีการจัดอันดับของแต่ละสำนักกันดีกว่า


Times Higher Education World University Rankings

     เริ่มต้นกันที่ฝั่งไทมส์ค่ะ ไทมส์บอกว่าดูเรื่องของงานวิจัยเป็นเกณฑ์หลักกว่าสำนักอื่นๆ ไทมส์ใช้ตัวบ่งชี้ถึง 13 ตัวในการประเมิน ซึ่งตัวบ่งชี้ทั้ง 13 ตัวแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มหลัก แต่ละกลุ่มมีคะแนนเต็มในกลุ่มตัวเอง 100 คะแนน แต่เมื่อนำมาคิดคะแนนรวมเพื่อจัดอันดับ แต่ละกลุ่มจะมีเปอร์เซ็นต์ไม่เท่ากัน ดังนี้ค่ะ

กลุ่มการเรียนการสอน (คิดเป็น 30% ของคะแนนรวม)
     ในกลุ่มนี้ก็จะดูเรื่องของชื่อเสียงสถาบัน สัดส่วนอาจารย์ต่อผู้เรียน สัดส่วนการเรียนจากระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก สัดส่วนผู้เรียนปริญญาเอกต่ออาจารย์ และรายได้ของสถาบัน ซึ่งก็คือการดูว่าสถาบันมีเงินจ้างคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิขนาดไหน และมีเงินสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ผู้เรียนหรือไม่

กลุ่มงานวิจัย (คิดเป็น 30% ของคะแนนรวม)
     ในกลุ่มนี้หลักๆ เลยคือดูที่ชื่อเสียงของงานวิจัยต่างๆ จากสถาบันนั้นๆ ค่ะว่าเป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มนักวิชาการหรือไม่ นอกจากนี้ก็ดูจากเงินอุดหนุนงานวิจัยด้วยว่ามีพอที่จะสนับสนุนและผลักดันผลงานมั้ย และก็ดูจากจำนวนงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์

กลุ่มการอ้างอิงถึง (คิดเป็น 30% ของคะแนนรวม)
     การพิจารณาในกลุ่มนี้คือดูว่ามีผู้นำงานวิจัยของสถาบันไปอ้างอิงต่อมากแค่ไหน ไทมส์มองว่าสถาบันการศึกษาที่ดีต้องไม่ใช่แค่ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถทำให้ความรู้ความสามารถนั้นเผยแพร่ให้คนอื่นๆ รู้ต่อไปด้วยได้งานวิจัยที่ดีนอกจากจะได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างแล้ว ก็ต้องกลายเป็นแหล่งความรู้ให้คนอื่นนำไปใช้อ้างอิงต่อไปได้เรื่อยๆ ด้วย คะแนนในกลุ่มนี้จึงมาจากการติดตามงานวิจัยของแต่ละสถาบันว่าถูกนำไปอ้างอิงต่อมากเพียงใด

กลุ่มความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (คิดเป็น 7.5% ของคะแนนรวม)
     ในกลุ่มนี้จะพิจารณาจากสัดส่วนนักเรียนต่างชาติกับนักเรียนในประเทศ สัดส่วนอาจารย์ต่างชาติและอาจารย์ในประเทศ เพราะการดึงดูดนักวิชาการจากต่างประเทศให้มาสอนในสถาบันตัวเองได้ถือเป็นบันไดขั้นหนึ่งสู่การเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และพิจารณาจากความร่วมมือระหว่างประเทศของสถาบัน เช่นมีการทำวิจัยร่วมกับต่างประเทศหรือไม่

กลุ่มรายได้จากความรู้ (คิดเป็น 2.5% ของคะแนนรวม)
     ความรู้ต่างๆ จากมหาวิทยาลัยควรนำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ ด้วย คะแนนในกลุ่มนี้จึงพิจารณาจากรายได้ที่สถาบันได้จากการช่วยในด้านนวัตกรรมใหม่ๆ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และการให้คำปรึกษาแก่อุตสาหกรรมอื่นๆ

     จากนั้นก็นำคะแนนทั้งหมดมารวมกันเพื่อดูว่าใน 100% เต็มนี้ สถาบันใดได้คะแนนรวมสูงสุด สำหรับในปี 2016 นี้ Caltech ทำคะแนนรวมได้สูงที่สุดในโลก โดยได้ไปถึง 95.2 คะแนน มาลองดูคะแนนในแต่ละกลุ่มของ Caltech กันบ้างนะคะ
 
     กลุ่มการเรียนการสอน 95.6 คะแนน
     กลุ่มงานวิจัย 97.6 คะแนน
     กลุ่มการอ้างอิงถึง 99.8 คะแนน
     กลุ่มความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 64.0 คะแนน
     กลุ่มรายได้จากความรู้ 97.8 คะแนน

     จะเห็นได้ว่า Caltech ทำคะแนนได้เกือบเต็มในทุกกลุ่ม ยกเว้นแค่ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้นถ้าใครอยากเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกแต่อยากได้บรรยากาศนานาชาติเยอะๆ ก็อาจจะมองว่า Caltech ไม่น่าเหมาะกับตัวเอง และหันไปมองอันดับ 2 อย่าง Oxford แทน เพราะคะแนนในกลุ่มนี้ Oxford ได้ไปถึง 94.4 คะแนนค่ะ


QS World University Rankings

     ทีนี้มาดูฝั่งคิวเอสกันบ้างดีกว่าค่ะ การจัดอันดับของคิวเอสใช้ตัวบ่งชี้เพียง 6 ตัว แต่ละตัวมีคะแนนเต็มในตัวเอง 100 คะแนน แต่เมื่อนำมาคิดคะแนนรวมเพื่อจัดอันดับ แต่ละตัวบ่งชี้จะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน ดังนี้ค่ะ

ชื่อเสียงด้านวิชาการ (คิดเป็น 40% ของคะแนนรวม)
     คะแนนในส่วนนี้ได้มาจากการสำรวจอาจารย์จากทั่วโลกว่าถ้าพูดถึงการเรียนการสอนในด้านนี้ๆ แล้วจะนึกถึงสถาบันใดเป็นอันดับแรก การสำรวจนี้ทำเพื่อให้ผู้ที่สนใจเรียนต่อได้ทราบคร่าวๆ ว่าในสังคมการศึกษาทั่วโลกเชื่อถือในสถาบันใดบ้าง (โดยผู้ตอบแบบสอบถามจะโหวตชื่อสถาบันตัวเองไม่ได้)

ชื่อเสียงในสายตานายจ้าง (คิดเป็น 10% ของคะแนนรวม)
     คะแนนในส่วนนี้มาจากการสำรวจนายจ้างกว่า 44,200 องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก เพื่อดูว่านายจ้างคิดว่าสถาบันใดผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพที่สุด การสำรวจนี้ทำให้ผู้สนใจเรียนต่อทราบคร่าวๆ ว่าสถาบันใดที่ทำให้นายจ้างเชื่อมั่นมากกว่า

สัดส่วนนักเรียนต่ออาจารย์ (คิดเป็น 20% ของคะแนนรวม)
     คะแนนในส่วนนี้มาจากข้อมูลของแต่ละสถาบันว่ามีอาจารย์เพียงพอต่อนักศึกษาหรือไม่ โดยชั้นเรียนขนาดเล็กจะได้คะแนนดีกว่าชั้นเรียนขนาดใหญ่ เพราะอาจารย์จะใส่ใจผู้เรียนได้ทั่วถึงมากกว่า

การอ้างอิงถึงในงานวิจัย (คิดเป็น 20% ของคะแนนรวม)
     คะแนนส่วนนี้คล้ายๆ กับของไทมส์ค่ะ นั่นคือดูว่างานวิจัยของแต่ละที่ถูกนำไปใช้อ้างอิงต่อมากแค่ไหน ซึ่งทางคิวเอสก็เพิ่งปรับปรุงการให้คะแนนส่วนนี้ไปเมื่อปีที่แล้วค่ะ นั่นคือดูตามลักษณะของสาขาวิชาด้วยเพราะบางสาขามักจะไม่นำมาอ้างอิงกันต่อ จึงพิจารณาแบบแยกแต่ละสาขาในสถาบันก่อน แล้วค่อยนำมาหาคะแนนรวมจากสถาบันนั้นๆ อีกที

สัดส่วนอาจารย์ต่างชาติ (คิดเป็น 5% ของคะแนนรวม)
     ใช้ดูชื่อเสียงว่าสถาบันนั้นสามารถทำให้อาจารย์ต่างชาติสนใจมาเป็นอาจารย์ที่สถาบันได้มากแค่ไหน ซึ่งถือเป็นตัวบ่งชี้ความเชื่อมั่นจากนานาชาติได้เช่นกัน

สัดส่วนนักเรียนต่างชาติ (คิดเป็น 5% ของคะแนนรวม)
     คล้ายๆ กับตัวบ่งชี้ที่แล้วค่ะ แต่เป็นการดูสัดส่วนนักเรียนต่างชาติต่อนักเรียนในประเทศ เพื่อดูว่าสถาบันเป็นที่น่าเชื่อถือในสายตาชาวต่างชาติมากแค่ไหนเช่นกัน

     เมื่อคิดแยกแต่ละตัวบ่งชี้แล้ว ก็นำคะแนนมารวมกันและคิดเป็น 100 คะแนนเต็ม สถาบันที่ได้อันดับหนึ่งของคิวเอสคือ MIT ได้คะแนนรวมไป 100 เต็มค่ะ แต่เมื่อแยกดูแต่ละตัวบ่งชี้แล้วจะเห็นว่ามีแค่สัดส่วนนักเรียนต่างชาติที่ได้เพียง 95.5 คะแนน ในขณะที่ตัวบ่งชี้อื่นๆ ได้คะแนนเต็ม
     ส่วน Harvard ที่ได้อันดับ 2 นั้นทำคะแนนรวมไปได้ 98.7 คะแนน โดยมีบางตัวบ่งชี้ที่ได้เต็ม และบางตัวที่ได้เกือบเต็ม แต่ตัวที่ได้คะแนนต่ำสุดคือสัดส่วนนักเรียนต่างชาติที่ได้แค่ 76 คะแนน (ดูคะแนนแต่ละตัวของฮาร์วาร์ดได้ข้างล่างเลยค่ะ)
 
     ชื่อเสียงด้านวิชาการ 100 คะแนน
     ชื่อเสียงในสายตานายจ้าง 100 คะแนน
     สัดส่วนนักเรียนต่ออาจารย์ 98.6 คะแนน
     การอ้างอิงถึงในงานวิจัย 100 คะแนน
     สัดส่วนอาจารย์ต่างชาติ 99.9 คะแนน
     สัดส่วนนักเรียนต่างชาติ 76 คะแนน


Center for World University Rankings

     CWUR ใช้ตัวบ่งชี้ 8 ตัวในการประเมินเพื่อจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกค่ะ โดยจุดเด่นของการจัดอันดับนี้คือจะไม่ยึดจากพวกผลสำรวจต่างๆ แต่เป็นการเข้าไปหาข้อมูลเจาะลึกของแต่ละที่มาเลย เมื่อนำมาคิดคะแนนรวมเป็น 100% จะให้น้ำหนักแต่ละตัวบ่งชี้ตามนี้

คุณภาพการศึกษา (คิดเป็น 25% ของคะแนนรวม)
     วัดจากศิษย์เก่าของสถาบันที่ได้รางวัลในระดับนานาชาติ โดยเทียบอัตราส่วนกับจำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

การงานของศิษย์เก่า (คิดเป็น 25% ของคะแนนรวม)
     ดูจากจำนวนศิษย์เก่าที่ได้เป็นผู้บริหารในหน่วยงานหรือองค์กรชั้นนำของโลก โดยโดยเทียบอัตราส่วนกับจำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

คุณภาพของอาจารย์ (คิดเป็น 25% ของคะแนนรวม)
     วัดจากจำนวนอาจารย์ที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ

การตีพิมพ์งานวิจัย (คิดเป็น 5% ของคะแนนรวม)
     วัดจากจำนวนงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียง

อิทธิพล (คิดเป็น 5% ของคะแนนรวม)
     วัดจากจำนวนงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารที่มีอิทธิพลในวงการนั้นๆ

การอ้างอิงถึง (คิดเป็น 5% ของคะแนนรวม)
     วัดจากจำนวนงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงถึงในงานวิจัยอื่น

งานวิจัยเกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง (คิดเป็น 5% ของคะแนนรวม)
     ทาง CWUR มีสมการเฉพาะสำหรับคำนวณว่างานวิจัยแต่ละตัวควรสร้างประโยชน์ได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี ยิ่งทำประโยชน์ได้นานหรือมีคนนำไปต่อยอดเพื่อขยายประโยชน์ได้มากขึ้นก็ยิ่งได้คะแนนในส่วนนี้สูง

สิทธิบัตร (คิดเป็น 5% ของคะแนนรวม)
     วัดจากจำนวนสิทธิบัตรนานาชาติ

     ผลการจัดอันดับของ CWUR ไม่ได้บอกคะแนนของแต่ละตัวบ่งชี้เอาไว้ มีบอกแค่ว่าสถาบันนั้นๆ ได้ที่เท่าใดในการจัดอันดับแต่ละด้าน ฮาร์วาร์ดที่ได้คะแนนรวมเป็นที่ 1 นั้นได้อันดับ 1 แทบทุกตัวบ่งชี้
 
Harvard Stanford MIT
  คุณภาพการศึกษา 1 9 3
  การงานของศิษย์เก่า 1 2 11
  คุณภาพของอาจารย์ 1 4 2
  การตีพิมพ์งานวิจัย 1 5 15
  อิทธิพล 1 3 2
  การอ้างอิงถึง 1 3 2
  งานวิจัยเกิดประโยชน์ 1 4 2
  สิทธิบัตร 3 10 1
  คะแนนรวม 100 98.66 97.54
CWUR ไม่บอกคะแนนในแต่ละตัวบ่งชี้ แต่บอกเป็นอันดับที่ได้ในด้านนั้นๆ แทน


ประโยชน์ของการรู้จักวิธีจัดอันดับมหาวิทยาลัย

     ถ้าถามว่าจะต้องไปรู้วิธีการจัดอันดับของแต่ละเจ้าทำไม ทั้งๆ ที่ดูแค่ว่าอันดับสูงๆ คือมหาวิทยาลัยดีก็พอแล้ว นั่นก็เพราะคะแนนจากแต่ละตัวบ่งชี้ทำให้เราหามหาวิทยาลัยที่เหมาะกับเราได้มากขึ้นค่ะ เช่น สองสถาบันในฝันของเรามีอันดับใกล้เคียงกัน คะแนนรวมก็พอๆ กัน หลักสูตรและรายวิชาเหมือนกัน แต่มหาวิทยาลัยแรกได้คะแนนด้านการวิจัยสูงกว่ามาก ส่วนอีกมหาวิทยาลัยได้คะแนนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสูงกว่ามาก ถ้าเราอยากเรียนต่อโดยเน้นด้านวิจัยเป็นหลักหรืออยากจะต่อยอดงานวิจัยไปเรื่อยๆ เราก็เลือกมหาวิทยาลัยแรกจะดีกว่าค่ะ
     ส่วนจะเลือกพิจารณาอันดับจากเจ้าไหนนั้นก็แล้วแต่ความชอบเลย แต่ถ้าจะให้พี่สรุปลักษณะของแต่ละเจ้าก็น่าจะเป็น ครอบคลุมทุกแง่มุมสุดคือของไทมส์ แต่ถ้าอยากได้เซอร์เวย์เยอะๆ จากมุมมองคนทั่วโลกก็ต้องคิวเอส แต่ถ้าใครชอบเป็นข้อมูลทางสถิติมากกว่าก็ต้องเลือกดูของ CWUR ค่ะ จริงๆ ทุกมหาวิทยาลัยที่ติด 50 อันดับแรกของโลกไม่ว่าจะของการจัดอันดับไหนก็มีดีทั้งนั้น แถมไม่แตกต่างกันมากเท่าไหร่ด้วย

     ฉะนั้นหากจะพิจารณาเลือกมหาวิทยาลัยที่จะเรียนต่อโดยการดูอันดับโลกแล้ว อย่าลืมดูด้วยว่าคะแนนในแต่ละด้านเป็นอย่างไรเพื่อประกอบการตัดสินใจอีกที แต่อย่าลืมว่าเราต้องดูรายวิชาที่ต้องเรียน และบรรยากาศการเรียนประกอบด้วยนะคะ เพื่อให้ได้ที่เรียนที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุดค่ะ


 


ข้อมูล
www.timeshighereducation.com/world-university-rankings/2016/world-ranking
www.timeshighereducation.com/news/ranking-methodology-2016
www.topuniversities.com/university-rankings/world-university-rankings/2015
www.topuniversities.com/university-rankings-articles
cwur.org/2015/, cwur.org/methodology/
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

pxx 22 เม.ย. 59 13:34 น. 1-1
Totally agree with you. All students here just follow the trends like medical schools then they grow up and become obsolete, selfish, rubbish like adults now. Thailand can't be more developed if these stupid guys don't do something useful (that is not beneficial to themselves). English plays an important roles. I wonder if any Thai elites(as they often call themselves) could speak proper english without going abroad or enrolling in tutoring schools which do not turn our country around. And we can't do anything since we are powerless.เสียใจ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด