เนื้อแท้วัฒนธรรม "ซิกม่า อัลฟ่า เดลต้า ฯลฯ" สังคมที่วัยรุ่นอเมริกันอยากสัมผัส

        ชีวิตวัยเรียนในมหาวิทยาลัย นอกจากการเรียนแล้ว เรายังต้องหมั่นเข้าสังคม ทำความรู้จักกับเพื่อนในคณะ นอกคณะเข้าไว้ เพราะเวลาไปทำงาน คนที่มีคอนเนกชันเยอะ คือคนที่ได้เปรียบกว่า
        ในประเทศไทย ก่อนเปิดเทอมหรือเปิดเทอมไปแล้วระยะหนึ่งอาจมีการรับน้อง ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่รุ่นพี่จะจัดกิจกรรมต้อนรับรุ่นน้อง ละลายพฤติกรรม ทำให้ทุกคนรู้จักกันมากขึ้น บางมหาวิทยาลัยอาจจัดกิจกรรมรับน้องแบบแบ่งออกเป็น "บ้าน" แม้จะจบกิจกรรมไปแล้ว แต่คนที่เคยอยู่ร่วม "บ้าน" เดียวกัน ก็จะสนิทสนมกันเป็นพิเศษ
        ที่ต่างประเทศก็มีเช่นกันค่ะ แต่ไม่ได้เป็นการรับน้อง เป็นสมาคมที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Fraternity" หรือ "Sorority" บทความนี้ "พี่น้อง" จะแนะนำให้น้องๆ ที่สนใจไปเรียนต่อนอกได้รู้จักสมาคมแบบนี้ค่ะ
 

ไอเดีย 'ภราดรภาพ'

        ก่อนจะไปพูดถึงฟราๆ โซๆ อะไรนั่น พี่น้องขอพูดถึงไอเดียเรื่อง "ภราดรภาพ" ที่ชาวตะวันตกสมัยก่อนเขาเชื่อกันหน่อยค่ะ ย้อนกลับไปยุคกลางที่ยังมีอาชีพอัศวิน พ่อค้า ช่างตีดาบ ช่างทำหม้อ ช่างทำเกือกม้า ตอนนั้นใครสักคนคงปิ๊งไอเดียว่า ไหนๆ เราก็ทำอาชีพเดียวกัน ร่วมชะตากรรมเดียวกัน ทำไมเราไม่สร้าง "ภราดรภาพ" ขึ้นมาล่ะ ทำไมเราไม่รวมตัวกันเป็นสมาคมพ่อค้า สมาคมช่างตีดาบ สมาคมช่างทำหม้อ เพื่อสร้างกฎกติการ่วมกัน ไม่ให้มีใครขายของตัดราคา ไม่ให้มีคนเลวๆ มาทำให้วงการต้องเสื่อมเสีย
        ไอเดียนี้ค่อยๆ วิวัฒนาการมาเป็นสมาคมนู่น สมาพันธ์นั่น ประชาคมโน่น คือรวมตัวกันเพื่อให้ทุกคนได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะยิ่งมากคนก็ยิ่งมีอำนาจ
        ธรรมเนียมการรวมตัวกันเป็น "สมาคม" ของนักศึกษาอเมริกันก็มาจากไอเดียนี้แหละค่ะ
 

Fraternity และ Sorority

        คำว่า Freternity (ฟราเทอร์นิที) ใช้เรียกสมาคมที่มีแต่นักศึกษาชายค่ะ ส่วน Sorority (เซอโรริที) คือสมาคมของนักศึกษาหญิง นักศึกษาในประเทศอเมริกาและแคนาดาเริ่มก่อตั้ง "สมาคมนี้ในช่วงปี 1800 และมาบูมเอามากๆ ช่วงปี 1900 เป็นต้นมา
        สมาคมมักตั้งชื่อโดยใช้ตัวอักษรของภาษากรีก เช่น ไพ คัปป้า อัลฟ่า, เดลต้า เซต้า, อัลฟ่า เดลต้า ไพ ฯลฯ วนๆ กันอยู่อย่างนี้แหละค่ะ ถ้าสมาคมไหนชื่อยาวหน่อยก็อาจจะย่อให้สั้นลงได้
        และสมาคมไม่ได้มีแค่ในมหาวิทยาลัย แต่ยังมีสมาคมชื่อเดียวกันนี้อยู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย เรียกว่า chapter เช่น ซิกม่า อัลฟ่า เอพซิลอน ซึ่งมีศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันรวมกับกว่า 3 แสนคน จากทั่วทั้งอเมริกา แต่ละสมาคมจะมีการประชุมปีละครั้งหรือสองครั้งเพื่อพูดคุยเรื่องทิศทางของสมาคม หรือการเปลี่ยนแปลงกฎของสมาคม และมีการเลือกตั้งกรรมการบริหาร และตัวแทนของแต่ละส่วนด้วย
 

วัฒนธรรมการเป็น Greek

        คนที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาคมจะมีศัพท์เรียกว่า "Greek" หรือเป็น "ชาวกรีก" นั่นเอง วิธีการขอเป็น "ชาวกรีก" ก็คือ น้องๆ ปีหนึ่งของแต่ละมหาวิทยาลัยต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่เรียกว่า "Rush (รัช)" ซึ่งแต่ละสมาคมก็จะจัดไม่เหมือนกัน บางสมาคมอาจจัดเป็นกิจกรรมแข่งฟุตบอล บางสมาคมอาจจัดเป็นงานเลี้ยง ใครสนใจก็ไปร่วมกิจกรรมของสมาคมนั้น
        ระหว่างการทำกิจกรรม สมาชิกเดิมของสมาคมก็จะเริ่มสแกนหาผู้ที่เหมาะสมจะเข้าสมาคม หลังจบกิจกรรม ก็จะร่อนใบปลิวหรือการ์ดเชิญในรูปแบบต่างๆ ให้กับคนที่เข้าตา การเชิญนี้เรียกว่า "Bid (บิด)" หากเราคิดว่าอยากเข้าสมาคมนี้ ก็ตอบรับคำเชิญเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปค่ะ
        เมื่อตอบรับคำเชิญแล้ว เราจะต้องร่วมกิจกรรมที่เรียกว่า "Pledge (เพลดจ์)" ขึ้นอยู่กับแต่ละสมาคมว่าจะให้ทำอะไร แต่มีจุดหมายเดียวกันคือให้สมาชิกได้รู้จักตัวตนของสมาคมมากขึ้น
        นักศึกษาของมหาวิทยาลัย เวสเทิร์น เพนซิลวาเนีย ได้เล่าเรื่องของตัวเองเกี่ยวกับการเข้าร่วม "Pledge" ของสมาคมหนึ่งไว้ว่า ทุกคนต้องเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง บางครั้งรุ่นพี่ของสมาคมจะเข้ามาปลุกที่หอตอนตีสาม เพื่อเรียกไปทำกิจกรรม ครั้งสุดท้ายที่เขาได้ร่วมกิจกรรมคือเขากับเพื่อนโดนจับผูกผ้าปิดตา แล้วให้ท่องว่า "[ชื่อสมาคม] คือพระเจ้า" ไปเรื่อยๆ หลายสิบนาที หลังจากนั้นเขาจึงถอนตัวออกจาก "Pledge" แต่เพื่อนเขาที่อยู่ต่อก็ให้สัญญากับสมาคมว่าจะไม่เล่ากิจกรรมภายในให้คนนอกรับรู้ เขาเลยไม่รู้ว่าต่อจากนั้นเพื่อนเขาต้องทำอะไรอีกบ้างกว่าจะได้เป็นสมาชิก
        เมื่อผ่านขั้นตอน "Pledge" นักศึกษาคนนั้นก็จะได้รับการต้อนรับเข้าสู่สมาคมอย่างเป็นทางการ และจะมีพิธีรับสมาชิกใหม่ตามแต่ละสมาคมจะจัด ซึ่งนักศึกษาหนึ่งคนจะเป็นสมาชิกสมาคมได้เพียงที่เดียวเท่านั้น สภาพสมาชิกจะอยู่ติดตัวไปจนตายเลยค่ะ นอกเสียจากจะโดนขับไล่ออกจากสมาคมก่อน
 

ความสำคัญของ Fraternity

        จริงๆ แล้วธรรมเนียมการเข้ารับเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมก็คล้ายกับพวกชมรมนั่นแหละค่ะ แต่ที่ทุกคนต้อง "พยายาม" เพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Fraternity หรือ Sorority ก็เพราะมันมีสิทธิพิเศษค่อนข้างเยอะ และมีประโยชน์ในเรื่องคอนเนกชันมากทีเดียว
        แต่ละสมาคม โดยเฉพาะสมาคมที่ก่อตั้งมานาน มีศิษย์เก่าที่มีอิทธิพลอยู่เยอะ ศิษย์เก่าเหล่านี้จะช่วยดูแลสมาคมให้เป็นสังคมที่นักศึกษาแต่ละคนจะได้ทั้งความรู้และโอกาสจากสายสัมพันธ์ที่มีกันอยู่ภายใน เช่น ถ้าใครได้อยู่สมาคมเดียวกับผู้บริหารบริษัทดังๆ ก็อาจได้มีโอกาสเจอหน้า ทำความรู้จัก และฝากเนื้อฝากตัวฝากฝีมือกันได้
        นอกจากนี้ สมาคมส่วนใหญ่ยังแจกทุนการศึกษาเป็นจำนวนมาก เฉพาะสมาชิกด้วยกันเท่านั้น เรียกได้ว่าอำนวยความสะดวกด้านการศึกษาสุดๆ พร้อมช่วยเหลือกันและกันเต็มที่ จึงไม่แปลกที่ใครหลายคนจะอยากได้โอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมที่มีคนใหญ่คนโตอยู่มากมาย
        แต่ปัจจัยหลักที่นักศึกษาเข้าใหม่ส่วนใหญ่อยากเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมเพราะอยากให้ตัวเองได้รับการยอมรับ อยากมีตัวตนในสังคมมหาวิทยาลัยนั่นเองค่ะ บางคนเข้ากับเพื่อนร่วมชั้นไม่ได้ เพื่อนนอกห้องก็ไม่รู้จัก ไม่ได้มีความสนใจพิเศษจนเข้าชมรมได้ ก็มีสมาคมนี่แหละค่ะ ที่ไม่ต้องอาศัยความสนใจเฉพาะอะไร แค่เข้าร่วม เราก็จะได้รู้จักกับคนมากมาย
 

ความแตกต่างระหว่างชมรม (Club) กับสมาคม (Fraternity)

        บางคนอาจสงสัยว่าแล้วมันต่างจากชมรมทั่วไปยังไง จริงๆ แล้วต่างกันเยอะอยู่ค่ะ พี่น้องจะบอกไว้ก่อนว่า เราเป็นสมาชิกทั้งสมาคมและชมรมได้นะคะ เพราะมันคนละส่วนกัน
 
  • ชมรมเป็นการรวมตัวของคนที่มีความสนใจเฉพาะกลุ่ม แต่สมาคมรวมคนทุกคน ไม่ได้คัดที่ความสนใจ
  • ชมรมนั้นเรียนจบก็แยกย้าย หาสมาชิกใหม่ แต่สมาคมเป็นสมาชิกตลอดไป ศิษย์เก่าถือเป็นปัจจัยสำคัญของสมาคมมากกว่าสมาชิกใหม่ด้วยซ้ำ เพราะสมาคมจะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากศิษย์เก่า
  • ชมรมนั้นเป็นคอนเนกชันในกลุ่มเดียว ไม่ได้มีเครือข่ายไปทั่วอเมริกา แต่สมาคมมีเครือข่ายทั่วทั้งอเมริกา
  • ชมรมเน้นการทำกิจกรรมความสนใจพิเศษร่วมกัน แต่สมาคมเน้นการสนับสนุนด้านการศึกษา และช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างกันมากกว่า
     
        เรียกว่าจุดประสงค์คนละแบบเลยก็ว่าได้ค่ะ
 

แล้วสมาคมแบบนี้มีข้อเสียอะไรมั้ย?

        อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสมาคมนะคะ บางสมาคมก็ดี ได้รับสิทธิประโยชน์เต็มที่ และไม่ค่อยจัดกิจกรรมอะไรที่เดือดร้อนใจเราเท่าไร แต่บางสมาคมก็เน้นจัดปาร์ตี้กันไปตามประสาวัยรุ่น หรือเป็นแหล่งรวมตัวของชนชั้นสูงเสียจนเราอาจต้องเสียเงินเยอะมากในการร่วมกิจกรรมกับคนเหล่านี้
        นอกจากนี้สมาคมใหญ่ๆ ยังมีค่าใช้จ่ายในการขอ "Pledge" ค่อนข้างสูง นักศึกษาบางคนต้องทำงานพิเศษเพื่อหาเงินมาจ่ายค่านี้ แถมยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสมาชิกภาพต่อเทอมอีก
        มีรายงานตีพิมพ์ว่าค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่างๆ มีดังนี้ค่ะ
        สมาชิกใหม่ จ่ายค่ารักษาสมาชิก 1280 เหรียญต่อเทอม (ประมาณ 45,000 บาท)
        สมาชิกเดิม จ่ายค่ารักษาสมาชิก 605 เหรียญต่อเทอม (ประมาณ 21,000 บาท)

        นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การให้ของขวัญกันในสมาคม การเสียค่าปรับเนื่องจากไม่แสดงตัวในกิจกรรม หรือการมาสายอีกด้วย ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงทีเดียวสำหรับนักศึกษาที่ไม่ได้มีเงินมากมาย หรือมาเรียนด้วยทุนการศึกษาล้วนๆ
 

คนดังอยู่สมาคมไหนกันบ้าง

  • สตีเวน สปีลเบิร์ก เป็นสมาชิกสมาคม "Theta Chi" (ธีต้า ไค)
  • แฮร์ริสัน ฟอร์ด เป็นสมาชิกสมาคม "Sigma Nu" (ซิกม่า นู)
  • เจมส์ มาร์สเดน, แมธทิว แมคคอนาเฮย์ เป็นสมาชิกสมาคม "Delta Tau Delta" (เดลต้า ทอ เดลต้า) แต่คนละสถาบัน
  • อดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช เป็นสมาชิกสมาคม "Delta Kappa Epsilon" (เดลต้า แคปป้า เอพซิลอน)
  • แบรด พิท เป็นสมาชิกสมาคม "Sigma Chi" (ซิกม่า ไค)
     
        มีหนังหลายเรื่องที่หยิบยกประเด็นการจัดตั้งสมาคมแบบนี้มาเป็นพล็อตของเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มักให้ภาพว่าเป็นสมาคมที่เน้นกินหรูอยู่ดี แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์หลักของสมาคมส่วนใหญ่ค่ะ เป้าหมายคือการทำให้สมาชิกได้รับการศึกษาและโอกาสที่ดีต่างหาก
 
ข้อมูลจาก
crimson.com
collegeexperience.net
SAE.net
collegereview.com
everything2.com
usatoday.com
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
◤ลิตเติ้ลเสือรุ้ง◢ Member 30 พ.ค. 59 14:49 น. 2

อาาาาาา เข้าใจสักที T_T

อ่านแฟนฟิคฝรั่งwattpad ก็ได้แต่งงว่าอัลฟ่าอะไรฟะ เดลต้าอะไร 

ที่แท้ก็นี่นี้เอง ขอบคุณนะค้าาาาาา 

0
กำลังโหลด
สมชาย 2 ม.ค. 67 17:22 น. 3

เราหนีรับน้อง งานบายเนีย ทุกครั้ง แต่เข้ากับเพื่อนได้ทุกคณะ ไม่ได้เป็นแกะดำ หรือโดนหมั่นไส้อะไร ตอนเรียนมีความบริสุทธิ์ใจกันมาก

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด