Early Access และ Crowdfunding ไอเดียเจ๋งหรือมะเร็งร้ายในวงการเกม

        ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะทำให้ความบันเทิงยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน ทุกคนแสวงหาความบันเทิงในสมาร์ทโฟน ติดตามข่าวสาร ดูซีรี่ส์ และเล่นเกม แต่วงการเกมคอมพิวเตอร์ก็ยังมีสีสันอยู่เสมอ ยิ่งยุคปัจจุบันที่ทุกคนซื้อเกมได้ง่ายขึ้น ติดตั้งเกมจากอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง ไม่ต้องหวังผึ่งแผ่นซีดีที่ไม่รู้จะเปิดได้หรือเปล่าอีกต่อไป ทำให้นักพัฒนาเกมหน้าเก่าหน้าใหม่โดดมาร่วมวงในตลาดเกมคอมพิวเตอร์มากขึ้น
        และถ้าน้องๆ ชาวเด็กดีคนไหนเล่นเกมบ่อย ซื้อเกมผ่าน Steam ประจำ คงเห็นผ่านตาอยู่บ้างว่าบางเกมเปิดให้เล่นแบบ
Early Access บางเกมเป็นโพรเจกต์จาก Kickstarter พวกนี้คืออะไร เข้ามามีบทบาทในวงการพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์อย่างไร "พี่น้อง" จะอธิบายให้กระจ่างเอง
 

จะสร้างอะไรสักอย่าง ต้องมีเงิน

        เกมดีๆ ที่เราเล่นทุกวันนี้ล้วนต้องมี "เงิน" เป็นต้นทุนทั้งนั้น เราใช้เงินซื้อคอมพิวเตอร์มาทำงานกราฟิก สร้างภาพสวยๆ ที่เราเห็นในเกม เราใช้เงินซื้อคอมพิวเตอร์ดีๆ มาเขียนโค้ดออกแบบเกม และถ้าเราทำงานทั้งหมดนี้เองไม่ได้ เราก็ต้องใช้เงิน "จ้าง" คนอื่นให้มาสร้างเกมให้เรา
        เมื่อก่อนนี้จะทำเกมที ทีมผลิตก็ต้องขอเงินสนับสนุนจากบริษัทผู้จัดจำหน่ายเกม พอสร้างเกมเสร็จก็ให้บริษัทที่มีเงินทุนช่วยโปรโมทโฆษณาให้ บางเกมไม่ต้องใช้ทุนสร้างมาก คนสร้างไม่กี่คนก็เสร็จ แต่ขาดพลังโปรโมท ก็ไม่มีคนเล่นอีก
        แต่เดี๋ยวนี้ผู้พัฒนาเกมไม่จำเป็นต้องพึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ให้ช่วยออกทุนสนับสนุนอีกแล้ว เพราะมันมีวิธีใหม่ที่เรียกว่า "Crowdfunding" หรือ "การระดมทุน" มาช่วยให้นักพัฒนาตัวน้อยๆ คนหนึ่งได้มีเงินมาสร้างเกมในฝัน
 

Crowdfunding คืออะไร?

        Crowdfunding (คราวด์ฟันดิ้ง) คือวิธีการระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนคนอื่นให้ทำโพรเจกต์ต่างๆ เช่น เราอยากสร้างเกมแข่งยานอวกาศ แต่เราไม่มีเงินเลย เราเลยเปิดระดมเงินทุนใน kickstarter ซึ่งเป็นเว็บที่ให้คนมาเสนอโครงการต่างๆ เพื่อขอระดมเงินทุนได้
        วิธีการคือ เราก็ต้องทำแผนโครงการมาว่าเกมจะเป็นแบบไหน ต้องการเงินเท่าไร และจะมีอะไรตอบแทนคนที่ช่วยออกเงินให้เรา หากมีคนสนใจ เขาก็จะออกเงินให้ แล้วเราก็เอาเงินตรงนั้นมาทำตามที่เราสัญญา
        อารมณ์เหมือนน้องๆ ไปขอสปอนเซอร์จากบริษัทต่างๆ เวลามีงานกีฬาสี แลกกับการที่น้องๆ อาจจะช่วยโปรโมทสินค้าของบริษัทนั้นๆ ให้ในงานนั่นแหละค่ะ
        ผู้พัฒนาเกมอิสระที่ไม่ได้อยู่บริษัทผลิตเกมใดๆ ก็อาศัยวิธีนี้นำเสนอเกมที่น่าสนใจ พอได้เงินก็จะได้สร้างเกมที่ตัวเองอยากสร้าง โดยไม่มีข้อจำกัดจากบริษัทใดๆ
        มีหลายเกมทีเดียวที่ประสบความสำเร็จจากวิธีการนี้ และมันก็นำมาสู่วิธีการอีกแบบซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากใน Steam เรียกว่า Early Access (เออร์ลี แอกเซส)
 

Early Access เล่นก่อน...ได้เปรียบ?

        ปกติแล้วเกมดังๆ ที่สร้างจนเสร็จ จะต้องผ่านขั้นตอนการจ้างคนมาทดสอบเกม (ในเครดิตท้ายเกมบางเกมจะมีบอกรายชื่อเลยว่าใครบ้างมาช่วยทดสอบ) หรือบางทีก็คนในทีมผลิตนี่แหละช่วยกันเล่น ช่วยกันหาดูว่ามีบั๊กตรงไหนบ้างหรือเปล่า ก่อนปล่อยออกสู่ท้องตลาด ไม่อย่างนั้นถ้าขายไปแล้วเกิดเกมมีปัญหา จะทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียงได้
        ซึ่งขั้นตอนแบบนั้น ผู้พัฒนาเกมอิสระก็อาจจะทำไหว แต่เหนื่อยหน่อย เลยมีทางเลือกใหม่ คือใช้ Early Access ทำลายข้อจำกัดตรงนี้
        Steam เปิดให้ผู้พัฒนาเกมขายเกมแบบ Early Access คือการเอาเกมที่เสร็จแล้วพอให้เล่นได้ แต่ยังไม่สมบูรณ์เสียทีเดียวและยังมีบั๊กอีกเป็นพะเรอเกวียนมาเปิดขายให้ผู้เล่นที่สนใจได้เข้าเล่นก่อน โดยอาจมีของตอบแทนสำหรับคนที่ซื้อก่อน เช่น ได้ไอเท็มพิเศษ หรือได้เล่นเกมนี้เก็บเลเวลก่อนใคร พร้อมเขียนคำอธิบายว่าเกมนี้ในอนาคตจะมีอะไรเพิ่มเติมเข้ามาบ้าง ผู้เล่นก็จะตัดสินใจเองว่าเกมนี้น่าเสี่ยงลงทุนก่อนมั้ย
        Early Access มีประโยชน์ตรงที่ทำให้ผู้พัฒนาเกมรายเล็กลดขั้นตอนการเทสต์เกม โดยให้ผู้เล่นจริงเป็นผู้ทดสอบเองเลย และแก้บั๊กกันหน้างานทีเดียว นอกจากนี้ยังทำให้ผู้พัฒนาเกมได้ "เงินทุน" มาพัฒนาเกมต่อตามที่ "สัญญา" เอาไว้
 

เกมที่ฆ่าตัวเองด้วย Early Access

        ปัญหาอยู่ตรงนี้แหละค่ะ ผู้พัฒนาเกมบางคนหัวหมอ อาศัยช่องทางทั้ง Crowdfunding หรือ Early Access ในการระดมเงิน ตอนขอเงินก็วาดฝันเสียใหญ่โตว่าจะทำเกมที่มีออปชันนู่นนี่นั่น พอได้เงินปุ๊บบางคนก็เริ่มตัดออปชันทีละอย่าง อ้างว่างบไม่พอ บางคนร้ายกว่านั้น ทำไม่รู้ไม่ชี้ไปเลยก็มี
        เกมที่โดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้หนักๆ เห็นจะเป็น Godus ที่ปีเตอร์ โมลีเนอ โม้แหลกว่าจะเปิดให้เล่นแบบ multiplayer จะมีโหมด combat จะทำเวอร์ชั่นมือถือ ฯลฯ
        เกมนี้ถือว่าเป็นเกมที่ไอเดียดีทีเดียวและชื่อเสียงของปีเตอร์ โมลีเนอก็จัดว่ามาแรงกับเกมเก่าๆ ของเขาอย่าง Theme Park, Fable, Black & White เพราะงั้นตอนที่เขาเปิดระดมทุนทำเกม Godus ใน Kickstarter ก็ทำให้กวาดเงินทุนไปได้กว่า 24 ล้านบาท
        และแม้จะเปิดให้ Early Access ด้วยแล้ว แต่ดูเหมือนเกมก็ยังพัฒนาไปไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้สักที ล่าสุดก็มีข่าวว่าทีมงานหลายคนลาออก และจำนวนทีมงานก็น้อยลงกว่าเดิมมาก จนคนที่ซื้อเกมไปก่อนใน Early Access ต่างเรียกร้องขอเงินคืนกันเป็นแถว
        อีกเกมที่ถึงกับโดนถอดออกจาก Steam คือ War Z (คนละเกมกับ Day Z นะ รายนั้นก็ Early Access นานพอกัน) เนื่องจากเปิดให้ Early Access แล้ว แต่จากที่โม้ว่าเกมนี้จะเป็นเกมแนวเซอร์ไววัลที่มีแผนที่กว้างบลาบลา ทำไปทำมาก็เปลี่ยนคำอธิบายใหม่ แล้วเริ่มแบนคนที่วิจารณ์เกมนี้ในทางไม่ดี พอคนร้องเรียนมากๆ Steam เลยถอดเกมนี้ออกจากร้านแล้วยอมคืนเงินให้กับคนที่ซื้อไปแล้ว
        ดูเหมือนคนที่ได้เปรียบจาก Early Access ไม่น่าจะเป็นผู้เล่น แต่เป็นผู้พัฒนามากกว่า
 

เกมที่ประสบความสำเร็จจาก Crowdfunding และ Early Access

        จากวันนั้นจนถึงวันนี้ Crowdfunding และ Early Access เป็นที่นิยมมาก แต่เชื่อมั้ยคะว่าในบรรดาเกมทั้งหมดที่เข้าระบบ Early Access มีเพียง หนึ่งในสี่เท่านั้นที่พัฒนาเกมจนเสร็จสมบูรณ์ตามที่ได้ตกลงกับผู้ซื้อเอาไว้ นอกนั้น...เละ
        เกมที่ประสบความสำเร็จก็เช่น Wasteland 2 ที่ระดมทุนจาก Kickstarter ไปกว่าร้อยล้านบาท ใช้เวลาสร้างเกมเกือบ 2 ปีก่อนจะเปิดให้ Early Access และใช้ช่วงเวลานี้ปรับปรุงและพัฒนาเกมต่ออีก 9 เดือนจนเกมออกมาเสร็จสมบูรณ์สมการรอคอยและสมกับที่ยอมไว้ใจจ่ายเงินให้ก่อน
        นอกจากนี้ก็ยังมีเกมที่ไม่ได้ขอระดมทุนหรือเปิด Early Access เลย แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างงดงามกว่าใครอย่าง Stardew Valley พัฒนาโดยอีริก บาโรน ซึ่งแฟนๆ ที่เห็นตัวอย่างเกมก่อนหน้านี้ก็เคยขอให้เขาเปิด Early Access แต่อีริกคิดว่าเขาไม่อยากให้แฟนๆ เล่นเกม "ที่ไม่สมบูรณ์" เขาจึงพัฒนามันจนเรียบร้อยแล้วค่อยเปิดขายจริงจัง
        ดูเหมือนว่าสิ่งที่ผู้พัฒนาต้องมีนอกเหนือจากความคิดสร้างสรรค์และความรักในเกมคอมพิวเตอร์คือ "ความจริงใจ" ยิ่งสถิติเกมที่พัฒนาจนเสร็จใน Early Access มีน้อยขนาดนี้ ยิ่งทำให้ผู้เล่นเริ่มขยาดเกมที่เปิดให้ "เล่นก่อน แก้บั๊กทีหลัง" และอาจส่งผลให้ผู้พัฒนาเกมที่มี "ใจสู้" ตัวจริง ระดมทุนได้ยากขึ้นในอนาคต
 

แล้วน้องๆ ชาวเด็กดีมีใครเคยซื้อเกมแบบ Early Access หรือเปล่าคะ?
ตอนนี้เกมที่เราซื้อพัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้วหรือยัง?
แล้วน้องๆ คิดอย่างไรกับ
วิธีการปล่อยเกมแบบนี้บ้าง?
มาแชร์ความคิดเห็นกันค่ะ


ขอบคุณภาพประกอบจาก
steampowered.com
pixabay.com
kickstarter.com
youtube.com
wikimedia.org
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Wetchakorn.kimm 12 เม.ย. 59 05:44 น. 2
WarZ โดนถอดออกจาก Steam แค่2เดือนครับ แล้วก็กลับมาขายต่อเพราะมีการเข้าใจผิดบางประการระหว่าง 2ฝ่ายนิดหน่อย พักหลังมีหนัง World WarZ เข้ามาทับชื่อเกม หนังอ้างลิขสิทธิ์ว่าชื่อนี้เราใช้ก่อนนะ เกม WarZ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น Infestation Survivor Stories แทนครับ จนปัจจุบันได้ขายให้กับประเทศไทย คือบริษัท Electronics Extreme นั่นเอง ปล.ผมเล่นเกมนี้มาเมื่อ3ปีที่แล้ว แต่เลิกเล่นไปเพราะไทยมาซื้อ (ก็รู้ๆกันอยู่ว่าสังคมเกมไทยมันBadขนาดไหน)
0
กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

MissG Member 10 เม.ย. 59 14:55 น. 1

stardew vallery สนุกจริงค่ะ ลองเล่นเเล้ว เล่นตั้งเเต่เช้ายันเย็นไม่รู้ตัวเลย มุ่งหน้าจีบเซบบี้อย่างเดียว 555

0
กำลังโหลด
Wetchakorn.kimm 12 เม.ย. 59 05:44 น. 2
WarZ โดนถอดออกจาก Steam แค่2เดือนครับ แล้วก็กลับมาขายต่อเพราะมีการเข้าใจผิดบางประการระหว่าง 2ฝ่ายนิดหน่อย พักหลังมีหนัง World WarZ เข้ามาทับชื่อเกม หนังอ้างลิขสิทธิ์ว่าชื่อนี้เราใช้ก่อนนะ เกม WarZ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น Infestation Survivor Stories แทนครับ จนปัจจุบันได้ขายให้กับประเทศไทย คือบริษัท Electronics Extreme นั่นเอง ปล.ผมเล่นเกมนี้มาเมื่อ3ปีที่แล้ว แต่เลิกเล่นไปเพราะไทยมาซื้อ (ก็รู้ๆกันอยู่ว่าสังคมเกมไทยมันBadขนาดไหน)
0
กำลังโหลด
ßoⓢS ZeN Member 21 เม.ย. 59 06:06 น. 3

ก็ไม่เชิงearly accesssนะ แต่มีเกมนึงเล่นแบบยังเป็นเบต้าอยุวันดีคืนดีก็แก้บัคเกมมอดที่ลงไว้บัคแทน เห่อเอ่อ..เอ่อ..

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด