10 เทคนิคเลือกคำลงท้าย -able/-ible ที่โรงเรียนไม่เคยสอน

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com กลับมาพบกับ English Issues อีกครั้งค่ะ คราวนี้ พี่พิซซ่า กลับมาตอบคำถามที่น้องๆ ส่งเมลเข้ามาถามกันอีกแล้ว รอบนี้้เป็นเรื่องของการลงท้ายด้วย -able และ -ible ที่มีน้องสงสัยว่าทำไมบางคำเป็น a บางคำเป็น i พอจะมีหลักการจำบ้างมั้ย มาดูคำตอบกันเลย


ที่มาของ -able กับ -ible

     เรารู้ว่าคำที่ลงท้ายด้วย -able และ -ible เป็น adjective ที่มีความหมายว่า "ที่สามารถ..." เช่น readable คือที่สามารถ read ได้ หรือ collapsible คือที่สามารถ collapse ได้ (พับได้) แต่ทำไมมันถึงมี 2 แบบล่ะ
     คำอธิบายแบบนักวิชาการคือ มันมาจากคนละคำกัน -able มาจากรากศัพท์ -able ในภาษาฝรั่งเศสหรือ -abilis ในภาษาละติน ส่วน -ible มาจากรากศัพท์ -ible ในภาษาฝรั่งเศสหรือ -ibilis ในภาษาละติน เป็นไงล่ะ ไม่ช่วยให้เข้าใจเลยละสิ 55555


ฉะนั้นมาดูกันที่เทคนิคเลยดีกว่า


1. ถ้าไม่รู้จริงๆ ว่าต้องใช้ตัวไหน เลือก -able มีโอกาสถูกมากกว่า

     ด้วยความที่ -able มันหน้าตาเหมือนศัพท์อังกฤษที่เราใช้บ่อยๆ อยู่แล้วอย่าง able ที่แปลว่าสามารถ ทำให้มันใช้เปลี่ยนกริยาหลายต่อหลายตัวให้เป็นคำคุณศัพท์ได้ ยิ่งศัพท์เกิดใหม่ไม่นานมานี้อย่าง blog (เขียนบล็อก) พอจะกลายร่างให้เป็น ADJ ก็เลยทำเป็น bloggable (เบิ้ลตัวสะกดเพราะมันเสียงสั้น) ดังนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว เราเจอ -able ได้มากกว่า -ible ถึง 6 เท่า ฉะนั้นเลือก -able แล้วจะมีโอกาสถูกสูงกว่า


2. ถ้าตัด -able/-ible ทิ้งแล้วคำนั้นมีความหมาย เลือก -able มีโอกาสถูกมากกว่า

     เช่น read_ble ถ้าเราตัด suffix -able/-ible ออก ก็จะเหลือ read ซึ่งมันมีความหมายอยู่แล้ว เป็นกริยาแปลว่าอ่าน ดังนั้นเลือก -able ใส่ไปจะมีโอกาสถูกสูงกว่า -ible


3. ถ้าตัดทิ้งแล้วเติม e ก่อนถึงจะมีความหมาย เลือก -able มีโอกาสถูกมากกว่า

     คล้ายข้อ 2 แต่หมายความว่าถ้าตัด -able/-ible ทิ้งแล้วต้องเติม e ก่อน คำนั้นถึงจะมีความหมาย ให้เลือก -able จะมีโอกาสถูกมากกว่า เช่น advis_ble เอาออกแล้วเหลือ advic ก็เติม e ให้มันเป็น advice มันถึงจะมีความหมาย เติม -able ก็จะมีโอกาสถูกมากกว่าค่ะ เป็น advisable
     แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นกฎ 100% นะคะ เพราะอย่าง collaps_ble แม้จะเข้ากฎแต่จริงๆ มันเป็น collapsible ค่ะ แต่ถึงยังไงคำที่ไม่เข้ากฎแบบนี้มีค่อนข้างน้อย ท่องคำนี้ไว้ต่างหากเลยก็ได้



4. ถ้าตัวกริยาต้องเบิ้ลตัวท้ายเวลาใส่ -ing ให้เบิ้ลเหมือนกันก่อนเติม -able

     ในที่นี้หมายถึงคำเช่น forget ที่พอจะเติม -ing เราต้องเบิ้ลตัวท้ายเป็น forgetting เมื่อเรากลายร่างมันเป็น ADJ เราก็เบิ้ลต่อแล้วเติม -able มันก็จะกลายเป็น forgettable


5. ถ้าตัวกริยามี 2 พยางค์ขึ้นไปและลงท้ายด้วย -ate ให้ตัด -ate แล้วเติม -able

     เช่น calculate เป็นกริยาที่มี 2 2 พยางค์ขึ้นไปและลงท้ายด้วย -ate เมื่อเรากลายร่างมันเป็น ADJ เราก็ตัด -ate แล้วเติม -able มันก็จะกลายเป็น calculatable


6. ถ้าศัพท์หลักลงท้ายด้วย c ที่เป็นเสียง /ค/ ให้เลือก -able เสมอ

     นั่นหมายความว่าถ้าเราเจอคำที่ก่อน -able/-ible เป็นตัว c ที่ออกเสียง /ค/ อย่าง despic_ble /เดสปิคะเบิ้ล/ ให้เลือก -able เสมอ แล้วจะรู้ได้ไงล่ะว่า c ตอนไหนที่เป็นเสียง /ค/ ก็ต้องลองออกเสียงดูค่ะ ปกติ c มักออกได้ 2 แบบคือ /ค/ กับ /ซ/ แต่ถ้าฟังภาษาอังกฤษเยอะๆ ก็จะรู้เองค่ะว่าตอนไหนออกเสียงอะไร
     ทั้งนี้ก็ควรระวังตัวปราบเซียน เช่น practicable ตอนเป็น ADJ มันออกเสียงว่า /แพรคทิคะเบิ้ล/ ตรงตามกฎเป๊ะก็จริง แต่ practice ที่เราเจอปกติดันอ่านว่า /แพรคทิซ/ เป็นเสียง /ซ/ ซะงั้น ดังนั้นต้องอาศัยความได้ยินจนเคยชินล้วนๆ เลยถึงจะรู้ว่า practicable อ่านว่า /แพรคทิคะเบิ้ล/



7. ถ้าศัพท์หลักลงท้ายด้วย g ที่เป็นเสียง /ก/ ให้เลือก -able เสมอ

     ปกติ g มักออกได้ 2 แบบคือ /ก/ กับ /จ/ นั่นหมายความว่าถ้าเราเจอคำที่ก่อน -able/-ible เป็นตัว g ที่ออกเสียง /ก/ อย่าง navig_ble ให้เลือก -able เสมอ ข้อนี้ก็ต้องอาศัยความคุ้นเคยเช่นกันว่ามันจะออกเสียง /ก/ ตอนไหนบ้าง


8. ถ้าเจอศัพท์ยุคใหม่ เลือก -able เลย

     อย่างที่บอกไปในข้อ 1 ว่าศัพท์สมัยใหม่อย่างเช่น blog นั้นเลือก -able มากกว่า เพราะเราถือว่า -ible ค่อนข้างโบราณ มันจะมีอยู่แค่ในคำที่มีมาแล้วหลายร้อยปีเท่านั้น ไม่เอามาประดิษฐ์คำใหม่ๆ แบบ -able


9. งานท่องต้องมา ท่องแค่ -ible ที่ออกสอบบ่อยๆ พอ

     ด้วยความที่ -ible มีน้อยและส่วนใหญ่ก็เป็นคำโบราณ ทำให้มี -ible ที่ออกสอบอยู่ไม่มาก สามารถท่องจำได้ค่ะ
 
  accessible ที่สามารถเข้าได้
  audible ที่สามารถได้ยินได้
  collapsible ที่สามารถได้พับได้
  eligible ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
  feasible ที่เป็นไปได้
  flexible ที่สามารถปรับไปมาได้, ยืดหยุ่น
  gullible ที่ถูกหลอกลวงได้ง่าย
  horrible น่าเกลียดน่ากลัว
  incredible ที่ไม่น่าเชื่อ
  invincible ที่ไม่อาจเอาชนะได้
  legible ที่อ่านออกได้
  perceptible ซึ่งเข้าใจได้
  plausible ที่เป็นไปได้
  possible ที่เป็นไปได้
  responsible ที่มีความรับผิดชอบ
  reversible ที่ผันกลับได้
  tangible ที่จับต้องได้
  terrible น่าสยอง

     นอกจากนี้การเอาคำพวกนี้ไปใส่ prefix ข้างหน้า ก็ยังคงความ -ible ด้านหลังเช่นเดิม possible > impossible หรือ legible > illegible หรือจะตัด prefix ออกข้างหลังก็คงเดิมเช่นกัน incredible > credible


10. งานเข้าเมื่อเจอคำที่เขียนได้ 2 แบบ จำลูกเดียว!

     มีศัพท์บางคำที่สามารถลงท้ายได้ทั้ง -able และ -ible ถ้าเป็นคำที่ลงท้ายอะไรก็ความหมายเดิมอย่าง extendable/extendible ก็จะไม่มีปัญหาอะไรหรอก
     แต่มันจะมีบางคำที่ลงท้ายต่างกันความหมายก็ต่างกัน เช่น contractable/contractible ก่อนจะไปดูความหมายของมัน เรามาดูความหมายของ contract เฉยๆ กันก่อนค่ะ
 
contract [N] สัญญา, ข้อตกลง
[V] 1) หด, ย่อ, เล็กลง
2) ทำสัญญา
3) ติดต่อ (โรค), ติดเชื้อ

     เพราะ contract ในฐานะคำกริยามันมีหลายความหมายนี่แหละ ทำให้มันสร้าง ADJ ได้หลายความหมายเช่นกัน และ -able/-ible ก็คือตัวแบ่งให้แต่ละความหมายเขียนไม่เหมือนกัน
     contractable มาจากความหมายที่ 3) ดังนั้นจึงมีความหมายว่า ที่สามารถติดต่อได้ (โรค)
     contractible มาจากความหมายที่ 1) ดังนั้นจึงมีความหมายว่า ที่สามารถหดตัวได้

     อีกคำที่เจ้าปัญหากว่าคือ collectable/collectible ทั้งคู่เป็นได้ทั้งคำนามและคำคุณศัพท์ และยังเป็นคำคุณศัพท์คนละความหมายกันอีก
     collectable [ADJ] แปลว่าสามารถเก็บสะสมได้
     collectible [ADJ] แปลว่ามีค่าควรแก่การสะสม
     collectable/collectible [N] แปลว่าของสะสม เมื่อเป็น N จะเขียนแบบไหนก็ไม่ผิด แต่เขียนแบบ collectible จะเป็นที่นิยมมากกว่า


     เป็นยังไงบ้างกับ 10 เทคนิคการเลือกคำลงท้าย -able/-ible มึนกันรึยังคะ พี่พิซซ่าเองยังรู้สึกมึนๆ เลยค่ะ 555 แต่พี่ก็ขอแนะนำให้น้องๆ อ่านให้เยอะฟ้งให้เยอะนะคะ เพราะถ้าเราได้ยินได้เห็นเยอะๆ เราก็จะจำได้เองอัตโนมัติ ไม่ต้องมาท่องจำอีก สู้ๆ ค่ะ


 


อ้างอิง
blog.oxforddictionaries.com
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด