คำถามปรัชญา : คุณจะเลือกช่วยชีวิตคน 5 คนแต่ต้องฆ่า 1 คนหรือไม่?

        พี่น้องเชื่อว่าน้องๆ ชาวเด็กดีหลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับคำถามเชิงปรัชญาที่ชื่อ "Trolley Problem" กันมาบ้าง หรือเคยเห็นภาพบางภาพที่เกี่ยวกับคำถามนี้มาก่อน หลายคนพูดกันว่าเจ้าคำถามนี้แหละ วัดใจคนตอบได้ดีนัก แต่มันได้ผลแบบนั้นจริงๆ หรือ
        วันนี้พี่น้องเลยไปหาข้อมูลมาว่านักปรัชญา นักจิตวิทยา หรือแม้แต่นักวิศวกรรมศาสตร์ เขามองคำถามนี้ยังไง และในปัจจุบัน คำถามนี้มันยังสร้างประโยชน์ให้เราเหมือนเมื่อห้าสิบปีก่อนตอนที่มันถือกำเนิดได้หรือไม่
        แต่ก่อนที่เราจะไปอ่านบทความ พี่น้องมีคำถาม 3 ข้อมาถาม ขอให้น้องๆ ตอบคำถามนี้ในใจทุกข้อ ก่อนเริ่มอ่านบทความค่ะ

 

คำถาม

*คำถามพวกนี้ พี่น้องดัดแปลงจากคำถามจริงเพื่อให้สถานการณ์ดูเข้าถึงง่ายที่สุดค่ะ*
 
1. เรายืนอยู่ข้างสวิตซ์สับรางรถราง ในขณะนั้นเราเป็นคนเดียวที่สังเกตเห็นรถรางเบรกขัดข้องกำลังพุ่งมา แต่รางแยกออกเป็น 2 ราง รางหลักที่รถกำลังมุ่งไปมีนักท่องเที่ยว 5 คนยืนถ่ายรูปอยู่ อีกรางมีนักท่องเที่ยว 1 คน คำถามคือเราจะสับรางเพื่อให้รถไฟเปลี่ยนไปชนนักท่องเที่ยว 1 คนนั้นหรือไม่?

2. เราอยู่บนสะพาน บนนั้นมีแค่เรากับชายอ้วนที่เราไม่รู้จัก ด้านล่างเป็นรางรถ และมีรถรางเบรกขัดข้องกำลังพุ่งตรงมายังนักท่องเที่ยว 5 คน ถ้าเราผลักชายอ้วนคนนั้นลงไปที่รางด้านล่าง ตัวเขาจะขวางรถรางไม่ให้ไปชนนักท่องเที่ยว 5 คนนั้นได้ คำถามคือเราจะผลักชายคนนั้นลงไปขวางรถรางไว้หรือไม่?

3. เราขับรถอยู่แล้วรถเบรกแตก ทิศทางที่รถพุ่งไปเป็นแผงขายของ มีคนยืนซื้อของอยู่ 5 คน วินาทีนั้นเรารู้ว่าถ้าหักพวงมาลัยไปอีกทาง รถจะพุ่งไปยังธนาคารซึ่งมีรปภ.อยู่หน้าตึก 1 คน คำถามคือเราจะปล่อยให้รถพุ่งไปหาแผงขายของ หรือหักรถไปทางธนาคาร?
 
        เมื่ออ่านจบแล้ว ทีนี้มารู้จักกับคำถามเชิงปรัชญานี้ให้ละเอียดยิ่งขึ้นดีกว่า
 

Trolley Problem คืออะไร?

        Trolley Problem (ทรอลลี พร็อบเบลม) เป็นชื่อเรียกคำถามเชิงปรัชญาที่ใครบางคนคิดขึ้นและใช้ในแวดวงนักปรัชญาอย่างกว้างขวาง คำถามนั้นมี 2 เวอร์ชั่นค่ะ แล้วแต่ใครจะหยิบยกเวอร์ชั่นไหนขึ้นมา
        เวอร์ชั่นที่ 1 คือ "เวอร์ชั่นสับราง" ในขณะที่รถรางกำลังแล่นไปตามรางและจะทับคน 5 คน เราเป็นคนเลือกว่าจะสับสวิตซ์เพื่อเปลี่ยนให้รถรางแล่นไปอีกรางซึ่งมีคนแค่ 1 คนหรือไม่
 
relativelyinteresting.com
 
        เวอร์ชั่นที่ 2 คือ "เวอร์ชั่นสะพาน" กรณีนี้เราไม่มีสวิตซ์ให้สับ แต่เราจะยืนอยู่บนสะพานกับคนร่างใหญ่หนึ่งคน เราต้องเลือกว่าจะผลักเขาไปขวางรถรางไม่ให้แล่นมาทับคน 5 คนหรือไม่
yalenusblog.wordpress.com
 
        ทั้ง 2 เวอร์ชั่นนี้ตั้งคำถามเดียวกัน คือ "คุณจะเลือกอะไร ระหว่างปล่อยให้คน 5 คนตาย หรือยอมสละชีวิตคน 1 คนเพื่อช่วย 5 คนนั้น" คำตอบก็มีแค่ 2 ตัวเลือก ห้ามตอบนอกเหนือจากนี้
 
Black Bear Pictures
 
        ตัวอย่างง่ายๆ ของคำถามนี้ก็เช่นในเรื่อง The Imitation Game หรือในหน้าประวัติศาสตร์ ที่อลัน ทัวริ่งไขโค้ดลับของทหารเยอรมันได้ แต่กลับแจ้งเตือนกองทัพที่กำลังจะโดนโจมตีไม่ได้ เพราะถ้าบอกไป เยอรมันจะรู้ทันทีว่าอังกฤษไขรหัสได้แล้วและเปลี่ยนรหัส ต้องมานั่งไขกันใหม่อีก
        พวกเขาจึงต้องยอมเสียกองทัพนั้น แลกกับโอกาสที่จะปกป้องกองทัพอื่นๆ ในอนาคตนั่นเองค่ะ
 

นักปรัชญามอง Trolley Problem ยังไง?

        เบื้องต้นคำถามนี้ทำให้นักปรัชญาแบ่งคนตอบออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
        กลุ่มที่เลือกช่วยคน 5 คนเป็นพวก "เน้นประโยชน์เป็นหลัก" น้องๆ ลองชั่งน้ำหนักดูว่าระหว่างชีวิตคน 5 คนกับชีวิตคน 1 คน ฝั่งไหนดูมีค่ามากกว่ากัน?
        ก็ต้องเป็นชีวิตคน 5 คนใช่มั้ยคะ?
        กลับกันคนที่เลือกช่วยคน 1 คนแล้วปล่อยให้ 5 คนตายเป็นพวก "เน้นหน้าที่ส่วนตนเป็นหลัก" คนพวกนี้เชื่อว่าเราไม่ควรฆ่าใคร แม้จะฆ่าเพื่อประโยชน์ของคนอื่นก็ตาม คนกลุ่มนี้จึงเลือกที่จะปล่อยให้คน 5 คนตายตามผลที่มันควรจะเป็น พูดง่ายๆ ว่า เราจะไม่ขอกำหนดชะตากรรมของใคร
        ทั้งหมดนี้เป็นหลักการที่นักปรัชญาใช้วิเคราะห์ "ทัศนคติ" ในตัวคนแต่ละคน ทำให้เกิดกลุ่ม "เน้นประโยชน์ส่วนรวม" กับกลุ่ม "เน้นหน้าที่ส่วนตน"
 

แล้วนักจิตวิทยามอง Trolley Problem ยังไง?

        นักจิตวิทยาที่วิเคราะห์ความคิดของมนุษย์โดยอาศัยหลักเหตุและผลก็สนใจคำถาม Trolley Problem เช่นกันค่ะ
        พวกเขาตีความว่า คำตอบของ Trolley Problem คือการ "ลงมือฆ่า" หรือ "ปล่อยให้ตาย"
        ไม่ว่ายังไง ผลลัพธ์ของสถานการณ์นี้ก็ต้องมีคนตาย คนตอบจึงต้องเลือกระหว่างจะเป็นคนฆ่าเอง หรือปล่อยให้รถรางฆ่า
        คำตอบที่ได้สะท้อนการตัดสินใจของแต่ละคนค่ะ คนที่เลือกลงมือฆ่า เป็นคนที่เน้น "ความเป็นเหตุและผล" ประเมินสถานการณ์ว่าหากเลือกฆ่า 1 คน จะมีคนรอดมากกว่า ย่อมดีกว่า
        ตรงข้ามกับคนที่เลือกไม่ฆ่าและปล่อยให้รับผิดชอบชีวิตกันเอง คนกลุ่มนี้เป็นคนที่เน้น "สัญชาตญาณและความรู้สึก" เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์การฆ่าคนตายนั้นยากกว่าปล่อยให้คนถูกฆ่า และยังมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเข้ามาเกี่ยวด้วย
        ถ้าเราลงมือฆ่า เราจะกลายเป็นคนผิดทันที (แม้เราจะช่วยชีวิตอีก 5 คนไว้ก็ตาม) แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ถึงแม้คน 5 คนนั้นจะตาย แต่อย่างน้อยก็ไม่ใช่ความผิดเราโดยตรง จะโยนความผิดให้รถรางหรือคน 5 คนนั้นก็แล้วแต่
        คำถามนี้สะท้อนให้เห็นกลไกการทำงานของจิตใจคน เมื่อต้องอยู่สถานการณ์แบบนี้ ทำให้แบ่งคนออกเป็น "ผู้ใช้เหตุผล" กับ "ผู้ใช้สัญชาตญาณและความรู้สึก"
       

แต่สองเวอร์ชั่นให้ผลลัพธ์ต่างกัน

        นักจิตวิทยายังวิเคราะห์ออกมาอีกว่า คำตอบที่ได้จาก Trolley Problem 2 เวอร์ชั่นให้ผลลัพธ์ต่างกันด้วย
        เพราะเวอร์ชั่น "สะพาน" เราต้องเป็นฝ่ายผลักคนลงมาจากสะพาน การสัมผัสคนโดยตรงทำให้เรายิ่งรู้สึกผิดมากกว่าการสับสวิตซ์เพื่อให้รถรางไปทับคน 1 คน
        หากเป็นการตอบคำถามเวอร์ชั่น "สะพาน" คนจึงเลือกที่จะปล่อยให้คน 5 คนตายมากกว่า เพราะไม่รู้สึกอยากผลักคนลงไป ในขณะที่เวอร์ชั่น "สับราง" คนจะกล้าเลือกสับสวิตซ์มากกว่า เพราะความรับผิดชอบดูเบาลง
 

เกือบ 50 ปีที่ผ่านมา คนยังมอง Trolley Problem เหมือนเดิมหรือไม่?

        Trolley Problem มีมาตั้งแต่ก่อนปี 1967 อีกค่ะ ดังนั้นอายุของมันก็น่าจะเกือบ 50 ปีเข้าไปแล้ว ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้มันยังคงเป็นคำถามที่นักเรียนสายปรัชญาต้องเจอ และมีคนจากศาสตร์ต่างๆ พยายามตีความหรือหาจุดอ่อนของคำถามนี้
        มีหลายคนเลยทีเดียวที่มองว่าคำถามนี้ยังมีจุดอ่อนอยู่
        ข้อแรก คือ เราอาจเจอเหตุการณ์ที่เราต้องเลือกระหว่างช่วยคนที่เรารักเพียง 1 คน กับคนที่เราไม่รู้จักอีก 50 คน แค่มีปัจจัย "คนใกล้ตัว" เพิ่มเข้ามาก็อาจทำให้คำตอบของคนหลายคนเปลี่ยนได้เหมือนกัน
        ข้อต่อมา คือ สถานการณ์ที่ให้มาค่อนข้าง "เกินจริง" เพราะคงไม่มีใครบังเอิญไปอยู่ใกล้ที่สับสวิตซ์และต้องช่วยคน 5 คนที่อยู่กลางรางกับคน 1 คนจริงๆ หรอก
        เมื่อคำถามดูเกินจริง ก็ทำให้คนตอบไม่รู้สึก "อิน" กับมัน และเลือกตอบโดยมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่า เช่น บางคนอาจไม่จริงจังมาก ก็เลือกตอบช่วยคน 5 คน เพราะคิดว่าฟังดูดีกว่า บางคนจริงจังสุดๆ คิดสะระตะไปถึงว่าถ้าผลักคนลงมาจากสะพาน เราอาจจะติดคุก ก็เลือกปล่อยให้ 5 คนตายดีกว่า
        เมื่อคำถามไม่สมจริง คำตอบที่ได้ก็น่าเชื่อถือน้อยลงไปด้วย ทำให้เอามาใช้ตัดสินคนไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
        แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากคำถามนี้ได้ดีทีเดียวค่ะ
 

การดัดแปลง Trolley Problem มาใช้กับสมองกล

        นักวิศวกรรมศาสตร์กลับมองว่า Trolley Problem เป็นคำถามที่เหมาะเอามาใช้ในการสร้างหุ่นยนต์ หรือที่เป็นที่รู้จักในตอนนี้ว่า A.I. (Artificial Intelligence)
        น้องๆ ชาวเด็กดีคงเคยดูหนังประเภทหุ่นยนต์ยึดโลกอะไรแบบนี้อยู่บ้างใช่มั้ยคะ นักวิทยาศาสตร์พยายามสร้างหุ่นยนต์เพื่อเอามาทดแทนแรงงานมนุษย์ในหลายๆ ด้านมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และทุกวันนี้โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็ใช้เครื่องจักรที่ได้รับการโปรแกรมคำสั่งผลิตสินค้าให้ทั้งหมด ซึ่งรวดเร็วและแม่นยำกว่าแรงงานคนมาก
        แม้ความฉลาดของหุ่นยนต์จะเริ่มกินขาด แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาทั้งในละครและชีวิตจริง คือ เราทำให้หุ่นยนต์มีความรู้สึก และรู้จักผิดชอบชั่วดีแบบมนุษย์ไม่ได้ค่ะ
        คริส เกิร์ดส์ ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกลของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ทำการทดลองมาหลายปีเพื่อสร้างรถยนต์ไร้คนขับ (แบบที่ Google เองก็ทำอยู่) แต่มีปัญหาหนึ่งที่เขาแก้ไม่ตกสักที คือการทำโปรแกรมให้หุ่นยนต์ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร เมื่อรถกำลังจะประสบอุบัติเหตุ
 
Google via telegraph.co.uk
 
        ซึ่งนี่เป็นคำถามเดียวกับที่พี่น้องถามไว้ในข้อ 3 หากขับรถอยู่แล้วรถเกิดเสียหลักหรือเบรกแตก ต้องเลือกระหว่างชนคน 3 คนกับคน 1 คน หุ่นยนต์ควรจะเลือกทางไหน
        ถ้าเป็นหุ่นยนต์ทั่วไป มันควรจะคำนวณว่า 1 คนย่อมสูญเสียน้อยกว่าและเลือก 1 คนแน่ เพราะมันเป็นสาย "เหตุและผล" ใช่มั้ยคะ
        แต่ศาสตราจารย์เกิร์ตส์มองว่าเขาอยากได้ผลลัพธ์ที่มีความเป็น "มนุษย์" มากกว่านี้ เขาต้องการผลลัพธ์ที่คนที่ซื้อรถไปใช้ยอมรับได้ มากกว่าผลลัพธ์ที่หุ่นยนต์เห็นว่าดี เขาจึงใช้ Trolley Problem เป็นต้นแบบ แล้วพยายามคำตอบให้ได้ว่า "มนุษย์" เลือกเส้นทางไหนมากกว่ากัน
        เพราะถ้ารถที่ออกวางขายไปเกิดตัดสินใจผิดไปจากที่มนุษย์น่าจะตัดสินใจ ก็อาจทำให้เกิดข้อกังขา และพาลทำให้คนไม่วางใจรถอัจฉริยะแบบนี้ก็ได้
 

คำถามที่ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง

        เอาล่ะค่ะ ทีนี้เรากลับมาดูคำตอบที่น้องๆ เลือกเอาไว้ตั้งแต่ต้นบทความ หลังจากอ่านมาแล้วรู้สึกยังไงบ้างค่ะ มีใครบ้างที่ตอบ 3 ข้อตรงกันหมด? แล้วมีใครบ้างที่บางข้อก็ตอบต่างออกไป อะไรทำให้เราเลือกอีกทาง?
        จริงหรือเปล่าที่เรารู้สึกลังเลมากขึ้น เมื่อต้องผลักผู้ชายตกจากสะพาน?
        มีใครคิดบ้างว่าต่อให้เราเลือกไม่ทำอะไรเลยแล้วมองคน 5 คนตาย สุดท้ายเราก็คงรู้สึกผิดเหมือนกันนั่นแหละ?
        มีใครบ้างที่คิดว่าถ้าเป็นเราจะเลือกตะโกนบอกให้คนหลบจากรางแทนที่จะสับสวิตซ์?
        มีใครบ้างที่คิดว่าไม่อยากชนธนาคาร เพราะค่าซ่อมตึกน่าจะแพงกว่าค่ารถเข็นขายของ?
        มีใครบ้างที่คิดไปไกลถึงขั้นว่าชนคนหนึ่งคนตาย เราเสียค่าทำขวัญน้อยกว่าชนคนหลายคนตาย?
        สุดท้ายแล้ว คำถามนี้ไม่มีคำตอบไหนผิดหรือถูก มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีแนวคิดแบบไหนมากกว่าเท่านั้นเองค่ะ มาลองแชร์ความคิดเห็นกันดูนะคะ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
theatlantic.com
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
ผ่านมา 3 พ.ค. 59 21:21 น. 4
ผมสงสัย ในกรณีแรก เราสามารถ หักคันโยก เพื่อสับรางมา ทาง A ได้ พอ ล้อหน้ารถไฟขึ้นทาง A เราก็ สับคันโยกกลับไปทาง B ล้อหลังรถไฟก็จะ อยู่ทาง B เมื่อทำตามขั้นตอนนี้ รถไฟจะหักคา เพราะล้อหน้าหลังไปคนละทาง จะสามารถเซฟ ชีวิตคนได้ทั้ง 2 ทาง ได้หรือไม่ เพราะถ้าทำได้ตามนี้ คนในรถไฟอย่างมากก็เจ็บๆแต่ไม่ตาย ทรัพย์สินเสียหาย แต่ไม่เท่าชีวิตคนอยู่แล้ว ส่วนในกรณีที่ 2 ผมมองว่ายังมีตัวเลือกอีกมากมาย เช่น เอาตัวเองเข้าแลก คือแทนที่จะผลักคนอื่น เราก็กระโดดลงไปซะเลย สละชีวิตเป็นทาน ช่วยให้คนหลายคนรอดชีวิต หรือ กระโดดเกาะรถไฟ ในอีกด้านหนึ่งของสะพานเพื่อเตือน นายรถ คำถามแบบนี้ มันไม่ได้มีคำตอบแค่ 2 แบบ ไม่มีคำตอบไหนถูกที่สุด และผิดที่สุดด้วย เพราะมันไม่มีคำตอบตั้งแต่แรกแล้วละนะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Megan Ignacia Member 5 พ.ค. 59 06:49 น. 17
มันก็แล้วแต่ว่า หนึ่งคนที่เราต้องฆ่า เป็นใคร ถ้าเป็นคนที่เราไม่รู้จักหลายคนคงเลือกตอบว่าจะฆ่าคนๆเดียวเพื่อช่วยอีก 5 คนให้รอด แต่ถ้าคนๆนั้นเป็นพ่อแม่พี่น้อง เป็นเพื่อนสนิทเรา เชื่อว่า ยังไงคนส่วนใหญ่คงไม่ยอมฆ่าเขาเพื่อคน 5 คนที่เราไม่รู้จักหรอก หรือถ้าเลวร้ายกว่า คนหนึ่งคนนั้นเป็นตัวเรา เราคงไม่ยอมตายเพื่อให้ใครก็ไม่รู้รอดแทนเราอ่ะ คือสำหรับตัวเราเองแล้ว คำตอบมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่จำนวนคนเท่านั้น แต่มันขึ้นอยู่กับว่า คนนั้นเป็นใคร เพราะถึงอีกฝ่ายจะมีจำนวนชีวิตมากกว่า แต่ส่วนใหญ่แล้วเราก็เลือกคนที่มีคุณค่า/ความสำคัญต่อจิตใจอยู่ดี เหมือนถ้าให้เลือกว่า 10 คนต้องตายแต่แม่เรารอด เรายอมรับว่าเราเลือกอย่างหลัง
0
กำลังโหลด

28 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ผ่านมา 3 พ.ค. 59 21:21 น. 4
ผมสงสัย ในกรณีแรก เราสามารถ หักคันโยก เพื่อสับรางมา ทาง A ได้ พอ ล้อหน้ารถไฟขึ้นทาง A เราก็ สับคันโยกกลับไปทาง B ล้อหลังรถไฟก็จะ อยู่ทาง B เมื่อทำตามขั้นตอนนี้ รถไฟจะหักคา เพราะล้อหน้าหลังไปคนละทาง จะสามารถเซฟ ชีวิตคนได้ทั้ง 2 ทาง ได้หรือไม่ เพราะถ้าทำได้ตามนี้ คนในรถไฟอย่างมากก็เจ็บๆแต่ไม่ตาย ทรัพย์สินเสียหาย แต่ไม่เท่าชีวิตคนอยู่แล้ว ส่วนในกรณีที่ 2 ผมมองว่ายังมีตัวเลือกอีกมากมาย เช่น เอาตัวเองเข้าแลก คือแทนที่จะผลักคนอื่น เราก็กระโดดลงไปซะเลย สละชีวิตเป็นทาน ช่วยให้คนหลายคนรอดชีวิต หรือ กระโดดเกาะรถไฟ ในอีกด้านหนึ่งของสะพานเพื่อเตือน นายรถ คำถามแบบนี้ มันไม่ได้มีคำตอบแค่ 2 แบบ ไม่มีคำตอบไหนถูกที่สุด และผิดที่สุดด้วย เพราะมันไม่มีคำตอบตั้งแต่แรกแล้วละนะ
0
กำลังโหลด
om omi Member 3 พ.ค. 59 21:22 น. 5

คือเรากำลังคิดว่าปล่อยให้5คนนั้นตายดีกว่า//โหดร้าย

แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงเราก็ไม่รู้ว่าในขณะนั้นควรทำอะไรหรอก//สติแตกก่อนน่ะ

0
กำลังโหลด
มิ้นท์ 3 พ.ค. 59 22:00 น. 6
ทำไมเราคิดหักรถไฟไปทางคนเดียวแล้วรีบช่วยคนนั้น เพราะ1อยู่ใกล้กว่า 2ต้องเสี่ยงช่วยแค่คนเดียวแต่ช่วยได้ทุกคน ส่วนอีกข้อเราคิดวิธีระเบิดสะพานมาขวางทางรถ หรือเตือนคนขับมากกว่าคิดว่าจะปล่อยให้ใครตาย เพราะถ้าผลักคนตัวใหญ่ลงมาแล้วรถไม่หยุดมันจะไม่เท่ากับเสียทุกคนไปเลยเหรอ สารพัดวิธีแก้ปัญหา แต่ว่าถึงเวลาจริงจะมีสติพอรึเปล่าแล้วทางที่เลือกจะดีพอรึเปล่า
1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ทินกรนิค 3 พ.ค. 59 22:52 น. 8
ผมปล่อยให้5คนตาย เพราะเราไม่มีสิทธิตัดสินว่าใครควรอยู่ใครควรตาย คนทุกคนควรระวังตัวมีสติรับผิดชอบตัวเอง ช่วยคนเราช่วยในขอบเขตที่ทำได้ แต่ถ้าถึงกับต้องฆ่าคนเพื่อช่วยคน คงไม่ดีแน่
1
กำลังโหลด
ยูมิโกะ คอลรอส(yumiko) Member 3 พ.ค. 59 22:52 น. 9

ตอนแรกคิดจะตะโกนค่ะ พออ่านๆไป มีตัวเลือกแค่ 2 ข้อก็โหดป้ายยยยยยย เสียใจ แง้ๆๆๆๆ คือเราคิดทั้งสับคันโยก ทั้งผลักชายอ้วนตะลงไปเลยค่ะ(มโนว่าตอนผลักเราตะโกนว่า... ขอโทษน้าาาาาาา แล้วผลัก!!) แต่แค่คิดก็รู้สึกผิดแล้วอ่ะ  ร้องไห้ ไม่อาวววว 

0
กำลังโหลด
Kiki 3 พ.ค. 59 22:55 น. 10
สองข้อแรกเลือกไม่ทำอะไรเลยค่ะ เพราะคิดว่า เรามีสิทธิ์อะไรไปตัดสินว่าคนหนึ่งคนสมควรตาย แทนคนที่เหลือ และคำถามมันเป็นเหตุการณ์ที่เหลือเชื่อเกินไป ไม่อินจริงๆค่ะ ส่วนเรื่องรถเบรคแตก เรากำลังคิดว่า แตรรถคงไม่ได้พังด้วย ก็สมควรใช้นะคะ ว้าว
0
กำลังโหลด
milloo Member 3 พ.ค. 59 23:08 น. 11
เราว่าที่ต้องผลักคนลงไปเพื่อที่จะให้อีก5คนรอดตายมีผลต่อการตัดสินใจมากกว่าการสับรางจริงนะ_ _
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Nolan Fox Member 4 พ.ค. 59 08:39 น. 13

        รู้สึกไม่ค่อยอยากตอบคำถามแบบนี้เท่าไหร่ เพราะอย่างแรกคำถามค่อนข้างเกินจริงอย่างที่บอกไปในบรรทัดล่างๆ จึงดูเหมือนว่ามันวัดอะไรไม่ได้เต็มร้อยว่าคนๆนั้นลึกๆแล้วเป็นอย่างไร (จิตใต้สำนึกแลัการใช้สัญชาติญาณ) เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันมีปัจจัยมากมายเหลือเกินในการตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นผลกระทบมาจากหลายๆอย่างทำให้ผลเปลี่ยนไป 

        ตอนแรกที่ผมตอบ (โดยที่ไม่ได้เห็นข้อจำกัดที่บอกว่าเลือกตอบได้แค่ 2 ข้อนี้เท่านั้น) ผมตอบว่า เป็นผม ผมจะตะโกนไปบอก 5 คนนั้นให้รีบๆหลบรถ ด้วยซ้ำ ฮ่าๆ คือในความจริงมันมีทางเลือกเยอะเยอะมากกว่า และบางครั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่มีเวลาตัดสินใจ เราก็ทำอะไรไม่ได้มากหรอก สติจะเป็นตัวบอกเอง เช่น เราขับรถเสียหลักจะพุ่งขนร้านค้าข้างทาง แค่บังเอิีญบังเอิญมือเรากลับพยายามหมุนหักออกมาในเสี้ยววินาทีหลังจากที่ "ตา" เหลือบไปเห็นคนมากมายที่อยู่ในร้าน บางครั้งสติก็ช่วยได้มากนะ สมองแทบจะยังไม่ทันสั่งการด้วยซ้ำ มือก็ไปก่อนแระ ฮ่าๆ

0
กำลังโหลด
ดอง 4 พ.ค. 59 11:49 น. 14
ผมว่าตะโกนบอกง่ายที่สุด อีกอย่างในความเป็นจริงคงไม่มีใครโง่ถึงขนาดที่ ไม่รู้ว่ารถไฟกำลังแล่นมา เมื่อได้ยินเสียงรถไฟ ก็วิ่งขึ้นฝั่งกันหมดแล้ว อีกกรณี พวกที่วิ่งเข้าหารถไฟ คือ พวกที่ฆ่าตัวตาย แต่ถ้าคนปกติ พอรถไฟมา ถึงจะถ่ายรูปหรือนั่งกินข้าวบนทางรถไฟ เขก็หนีอยู่ดี เย้
0
กำลังโหลด
Sky1823 Member 4 พ.ค. 59 12:41 น. 15

ทุกคำถามเราแค่คิดว่าไม่ควรมีใครสักคนต้องตายเพื่อช่วยชีวิตอีกคน เราแอบคิดว่าตอนรถไฟเราก็แค่ตะโกนบอกให้คนเดียวหลบแล้วหักรถไฟไปทาสงนั้น ตอนสะพานเราก็ตะโกนบอกนักท่องเที่ยวข้างล่าง ส่วนตอนขับรถเราก้ขับไปทาวธนาคารนั่นแหละ ถ้าลุงยามยืนอยู่คนเดียวก้น่าจะเห็นนะ

0
กำลังโหลด
PST249 Member 4 พ.ค. 59 17:54 น. 16

รูปแรก ถ้ามัดเชือกแล้วไม่ติดกับพื้น คือแค่มัดไว้ไม่ให้คนขยับได้เฉยๆ เราะจะสับราง ละวิ่ง4x100 อุ้ม,ลากไอที่โดนมัดอยู่คนเดียวมาวางตรงที่ๆปลอดภัย รถไฟก็จะไม่ทับใครตาย 

ไอรูปสองนี่ยอมว่ะ TT

0
กำลังโหลด
Megan Ignacia Member 5 พ.ค. 59 06:49 น. 17
มันก็แล้วแต่ว่า หนึ่งคนที่เราต้องฆ่า เป็นใคร ถ้าเป็นคนที่เราไม่รู้จักหลายคนคงเลือกตอบว่าจะฆ่าคนๆเดียวเพื่อช่วยอีก 5 คนให้รอด แต่ถ้าคนๆนั้นเป็นพ่อแม่พี่น้อง เป็นเพื่อนสนิทเรา เชื่อว่า ยังไงคนส่วนใหญ่คงไม่ยอมฆ่าเขาเพื่อคน 5 คนที่เราไม่รู้จักหรอก หรือถ้าเลวร้ายกว่า คนหนึ่งคนนั้นเป็นตัวเรา เราคงไม่ยอมตายเพื่อให้ใครก็ไม่รู้รอดแทนเราอ่ะ คือสำหรับตัวเราเองแล้ว คำตอบมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่จำนวนคนเท่านั้น แต่มันขึ้นอยู่กับว่า คนนั้นเป็นใคร เพราะถึงอีกฝ่ายจะมีจำนวนชีวิตมากกว่า แต่ส่วนใหญ่แล้วเราก็เลือกคนที่มีคุณค่า/ความสำคัญต่อจิตใจอยู่ดี เหมือนถ้าให้เลือกว่า 10 คนต้องตายแต่แม่เรารอด เรายอมรับว่าเราเลือกอย่างหลัง
0
กำลังโหลด
Sarahn Member 6 พ.ค. 59 14:03 น. 18

ข้อแรกที่สลับรางไปอีกทางที่มีคนเดียว

เราคิดว่ามันไม่ใช่ทางที่คนอื่นเขาใช้กันหรือเปล่า ถ้าใช้กันปกติทั่วไปทำไมต้องสลับราง?

เราจะวิ่งไปตามทางที่เขากำหนดไปดีกว่า ขืนสลับไปอีกทางแล้วเส้นทางไม่ดี ชำรุด

มีโอกาสทำให้เรา(และอาจจะมีผู้โดยสารอื่น)เสียชีวิตกันทั้งคันรถก็เป็นได้

[bb-03]

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
dramy Member 7 พ.ค. 59 15:47 น. 20

ถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ มันต้องมีวิธีการช่วยมากกว่านั้น ไม่ใช่มีแค่2ตัวเลือก

คำถามนี่ก็โหดไปนะช็อคsad

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด