แอบส่องโรงเรียนประจำที่เริดที่สุดในอเมริกา Phillips Exeter Academy

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com มาพบกับ พี่แป๋ม อีกเช่นเคยกับเรื่องราวสนุกๆ จากต่างแดน วันนี้พี่แป๋มจะพาน้องๆ ไปเกาะติดรั้วโรงเรียนประจำชั้นมัธยมระดับท็อปของอเมริกาค่ะ รับรองว่าไม่ธรรมดาแน่นอน ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันเลย :)


Phillips Exeter Academy



Photo credit : pinterest 
   
    Phillips Exeter Academy ตั้งอยู่ที่เมือง Exeter รัฐ New Hampshire เป็นโรงเรียนประจำที่ได้ชื่อว่ามีเกียรติมากที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ด้วยชื่อเสียงที่ยาวนานกว่า 235 ปี วิชาการที่เป็นเลิศ นักเรียนที่่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างพิถีพิถันจากทั่วประเทศ และคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญในสาขาที่ตัวเองสอนอย่างแท้จริง และเว็บ BusinessInsider ยังได้จัดอันดับให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นที่หนึ่งในด้านโรงเรียนประจำสำหรับผู้ดีในอเมริกา อีกด้วยค่ะ
    โรงเรียนนี้ส่งนักเรียนจำนวนมากเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในเครือไอวีลีกทุกปี อีกทั้งยังผลิตนักการเมือง นักธุรกิจ เศรษฐีพันล้าน ผู้นำที่มีบทบาทระดับประเทศ นักกีฬา นักเขียน และอีกหลายๆ อาชีพ ซึ่งศิษย์เก่าแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงในวงการของตนทั้งนั้น มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง Facebook ก็เป็นอีกคนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนนี้ค่ะ


Photo credit : dailymail.co.uk
 
   โรงเรียนนี้เปิดสอนตั้งแต่เกรด 9 ถึงเกรด 12 (ม.3-ม.6) เป็นทั้งโรงเรียนประจำและไปกลับ แต่เด็กส่วนมากจะอยู่ประจำกันค่ะ เพราะแต่ละคนก็มาจากรัฐหลากหลาย ดูได้จากแผนที่ข้างล่าง จะเห็นได้ว่ามีนักเรียนมาจากเกือบทุกรัฐเลย นี่ยังไม่รวมนักเรียนต่างชาติอีกนะคะ เป็นโรงเรียนมัธยมที่มีสภาพแวดล้อมหลากหลายใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยเลยล่ะ


P
hoto credit : businessinsider
 

เรียนอะไรกันบ้าง

    โรงเรียนนี้มีวิชาเปิดสอนกว่า 400 วิชาเลยค่ะ จะยกตัวอย่างหมวดหลักๆ และวิชาย่อยมาให้ดูคร่าวๆ นะคะ
 
มานุษวิทยา

มานุษวิทยากับวัฒนธรรม ค้นหาความหมายและศึกษาพฤติกรรมมนุษย์

ศิลปะ

ภาพพิมพ์, เซรามิก, การถ่ายรูป, การถ่ายรูปขั้นสูง, วาดเขียนในสตูดิโอ, ออกแบบ3D

ภาษาคลาสสิก

ภาษากรีก, ภาษาละติน มีสอนตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูง

ภาษาโมเดิร์น

 มีสอนภาษาอาหรับ จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน อิตาเลียน ญี่ปุ่น รัสเซีย
แต่ละภาษาก็จะมีวิชาย่อยน่าสนใจอีก เช่น การอ่านวรรณกรรมจีนในยุคหลังจักรวรรดินิยม 

คณิตศาสตร์

เรขาคณิต, พีชคณิต, สถิติ, แคลคูลัส เหมือนโรงเรียนทั่วไปเลยค่ะ
แต่จะแบ่งระดับความยาก แล้วม.6 ก็จะมีให้เลือกหัวข้อเรียนเอง ว่าอยากจะเจาะลึกอะไร

วิทยาศาสตร์

หลักๆ คือฟิสิกส์, ชีววิทยา, เคมี แล้วก็จะมีวิชาย่อยลึกลงไปอีก เช่น
วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาการหุ่นยนต์ กลศาสตร์ควอนตัม

วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์

โครงสร้างข้อมูลและอัลกอริทึม, อัลกอริทึมและการผลิตซอฟต์แวร์ 

เศรษฐศาสตร์

เศรษฐศาสตร์มหภาคในสหรัฐอเมริกา, ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาคและนโยบาย

ภาษาอังกฤษ

อังกฤษหลัก, การเขียนเชิงสร้างสรรค์, เชคสเปียร์, วรรณกรรมกับกฎหมาย, เฟมินิสต์กับวรรณกรรม, วรรณกรรมเพศเดียวกัน, นวนิยายสู่ภาพยนตร์ 

สุขภาพและการพัฒนามนุษย์

สุขภาพวัยรุ่น, มนุษย์และการหาความสุข, เพศศึกษา

ประวัติศาสตร์

อันนี้จะแบ่งเป็น 3 ระดับค่ะ คือระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูง ระดับต้นก็จะเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ในยุคต่างๆ ทั่วไป แล้วก็จะเจาะลึกขึ้นเรื่อยๆตามระดับ เช่นระดับสูงมีวิชา 'ทำไมประเทศที่ยากจนถึงได้ยากจน?'  หรือวิชา 'ทุนนิยมและผู้ต่อต้านทุนนิยม' เป็นต้น

ดนตรี

มีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ปฏิบัตินี่อลังการมากๆ ค่ะ มีวิชา ออเคสตร้า การร้องประสานเสียง เชมเบอร์มิวสิก คอนเสิร์ตแบนด์ ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการเรียนการสอนแบบตัวต่อตัวอีกด้วยค่ะ 

พลศึกษา

โยคะ ฟิตเนสพื้นฐาน-ระดับสูง และยังเลือกเล่นกีฬาประเภทต่างๆ ได้อีกนับไม่ถ้วน 

จิตวิทยา จิตวิทยาเบื้องต้น
ศาสนา

ศาสนากับวัฒนธรรมป๊อบปูลาคัลเจอร์, ความศรัทธาและข้อกังขา

ละครเวที

การแสดง กำกับ เขียนบท ออกแบบแสงและไฟ ออกแบบฉาก ฯลฯ

ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ Click 


เรียนแบบ Harkness Method

     วิธีการเรียนแบบ Harkness Method หรืออีกชื่อคือ Harkness Table เป็นวิธีการเรียนที่ไม่มีเลคเชอร์ ในห้องจะมีแค่โต๊ะกลมโต๊ะเดียวที่นักเรียนจะมานั่งล้อมวงกันเสวนาอย่างเสรี  ซึ่งก่อนที่จะเข้าเรียน ทุกคนต้องทำการบ้านมา คือต้องไปทบทวน ไปอ่านเองมาก่อนให้เรียบร้อย เมื่อถึงเวลาเรียนก็ต้องพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนถกประเด็นต่างๆ กับเพื่อนในห้องค่ะ 
      คุณครูแทบจะไม่เข้ามาขัดจังหวะการเสวนาของนักเรียนเลย จะไม่มาชี้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่จะคอยนั่งสังเกตพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคนค่ะ
     จากรูปข้างบน จะเห็นว่ามีการวาดผังโต๊ะแล้วเขียนว่าใครนั่งตรงไหน เส้นที่โยงไปมาบอกให้รู้ว่าใครพูดอะไรบ้าง ใครโต้ตอบกับใคร ใครแสดงความเห็นมากที่สุด หรือน้อยที่สุด ทีนี้ครูก็จะรู้ได้ว่าเด็กคนไหนโดดเด่นหรืออ่อนในเรื่องไหน ควรได้รับการสนับสนุน หรือช่วยเหลือเพิ่มเติมอย่างไรบ้างนั่นเอง 
    Harkness Method ถูกพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนนี้ค่ะ โดยตั้งชื่อตาม Edward Harkness ผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของโรงเรียน และต่อมาวิธีนี้ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น จนหลายๆ สถาบันชั้นนำได้นำไปปรับใช้ตามด้วย ถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องเรียนขนาดเล็ก ที่ซึ่งผู้เรียนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ทั่วถึง   


ชีวิตในโรงเรียน

     นักเรียนที่อยู่หอพักส่วนมากจะได้ห้องส่วนตัวหน้าตาประมาณนี้ค่ะ ถ้าอยู่ปีสูงๆ ขึ้นก็จะได้ห้องที่ดูดีขึ้น วิวดีกว่าเดิมหน่อย แต่ยังอยู่ตึกเดิมนะคะ และชั้นปียังมีผลต่อเคอร์ฟิวอีกด้วยค่ะ ถ้าปีแรกๆ ที่เข้ามาก็มีเคอร์ฟิวอยู่ที่ 2 ทุ่ม ถ้าโตขึ้นหน่อยเคอร์ฟิวก็จะขยายเป็น 4 ทุ่ม 5 ทุ่มตามลำดับ 


Photo credit : 
Melia Robinson/Business Insider
   
    เวลาเรียนจะเริ่มเรียนตอน 8 โมงตรง เรียนคาบละ 50 นาที บางวิชาอาจมีนัดเรียนวันเสาร์ด้วยครึ่งวัน ทุกวันอังคารและวันศุกร์ เวลา 9.50 -10.40 จะมีพักเบรคให้นักเรียนทั้งโรงเรียนกว่าพันคนมารวมกันทำกิจกรรมที่เรียกว่า Assembly  ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นการเชิญวิทยากรจากข้างนอกมาแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ  ขอบอกเลยค่ะว่าวิทยากรที่เชิญมาแต่ละคนนี่เจ๋งๆ ทั้งนั้น มีครั้งนึงเคยเชิญผู้จัดการซีรี่ส์ Breaking Bad (ซีรี่ส์ที่เคยดังเป็นพลุแตกในอเมริกา) มาเป็นวิทยากรด้วยค่ะ  หรือบางครั้งก็จะเป็นการแสดงของนักเรียนเอง แบบในคลิปนี้

     
     ถ้าวันไหนที่ไม่มี Assembly ก็จะเป็นกิจกรรมฝึกสมาธิเล็กๆ น้อยๆ ไม่ก็พบครูที่ปรึกษา เป็นชั่วโมงชิลล์ๆ ที่มาคั่นไม่ให้นักเรียนรู้สึกว่าการเรียนภาคเช้ามันหนักหน่วงเกินไป เพราะกว่าจะได้พักกลางวันก็ตั้งบ่ายโมงแน่ะ 


Photo credit : Melia Robinson/Business Insider
   
    มาถึงเรื่องอาหารการกินกันบ้าง บอกเลยค่ะว่าที่นี่อุดมสมบูรณ์มากๆ อาหารจะเสิร์ฟเป็นบุฟเฟ่ต์ มีอาหารให้เลือกหลากหลาย เมนูก็จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้ชิมอาหารจากวัตถุดิบที่ดีที่สุดในช่วงนั้นๆ และสำหรับเด็กที่อยู่ประจำ ค่าอาหารทุกมื้อจะรวมอยู่ในค่าเทอม(แสนแพง) เรียบร้อยแล้วค่ะ
    ในโรงเรียนจะมีโรงอาหารอยู่ 2 แห่งด้วยกัน มีศูนย์โภชนาการอยู่ในโรงเรียนคอยดูแลเรื่องอาหารการกิน และคอยประสานงานกับนักเรียนเนื่องในโอกาสพิเศษต่างๆ  ถ้านักเรียนอยากได้ Theme ดินเนอร์แบบไหนก็ขอให้บอก เค้าจะตกแต่งสถานที่และเตรียมอาหารที่เข้ากับ Theme ให้ อย่างเช่น ปาร์ตี้นานาชาติ ก็จะมีอาหารจากหลายๆ ประเทศมาเสิร์ฟ  หรือจะปาร์ตี้ปีใหม่ ปาร์ตี้ตรุษจีน ปาร์ตี้ฮัลโลวีน หรือแม้แต่ปาร์ตี้วันเกิดประจำเดือน อยากให้เป็นยังไงก็ประสานกับศูนย์โภชนาการได้ค่ะ 



Photo credit : exeter.edu
 
  มีอีเวนต์หนึ่งที่เป็นไฮไลท์ประจำปี เรียกว่า Jazz Brunch เป็นกิจกรรมที่นักเรียนทุกคนจะมานั่งกินอาหารเช้าช่วงสายๆ พร้อมด้วยขนมและของหวานมากมาย แล้วก็จะมีครูและนักเรียนบางส่วนมาบรรเลงดนตรี Jazz เพราะๆ ให้ฟังคลอไปด้วยค่ะ ชีวิตดีกันจริงๆ  


ชมรม และสันทนาการ  

   ที่ Phillips Exeter Academy มีชมรมให้เลือกมากกว่า 90 ชมรม มีทีมกีฬากว่า 60 ทีมในบรรดากีฬากว่า 20 ประเภท และยังมีชมรมเกี่ยวกับการละครและการร้องเล่นเต้นรำอีกถึง 15 ชมรมด้วยกันค่ะ 
    ตัวอย่างชมรมก็อย่างเช่น ชมรมหนังสือพิมพ์ the Exonian ชมรมสกีและสโนว์บอร์ด ชมรมโต้วาที ชมรมประสานเสียง Acappella ชมรมทำหนัง ไปจนถึงชมรมสิทธิมนุษยชนเกาหลีเหนือ เรียกว่ามีแทบจะทุกประเภทที่ชมรมในโรงเรียนหนึ่งจะมีได้จริงๆ ค่ะ 555
     สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียนก็มีให้บริการครบครันมาก ไม่ว่าจะเป็น หอดูดาว หอศิลป์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ ศูนย์ดนตรี โรงละคร โรงยิม 2 แห่งสำหรับเล่นบาสเกตบอล สตูดิโอสำหรับซ้อมเต้น สระว่ายน้ำ และยังมีสนามกีฬาขนาดใหญ่สำหรับเล่นฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล ลาครอส ฮอกกี้ มีคอร์ทเทนนิสอีก 19 คอร์ท มีห้องซ้อมมวยปล้ำ มีที่สำหรับวิ่งเทรล ฯลฯ นักเรียนคนไหนรักการเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมต่างๆ รับรองว่าไม่มีผิดหวังแน่นอน
     ส่วนใครที่รักการอ่าน ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ต้องรู้สึกเหมือนได้ขึ้นสวรรค์แน่ๆ ค่ะ เพราะที่นี่มีห้องสมุดที่ชื่อว่า The Class of 1945 Library เป็นห้องสมุดระดับโรงเรียนมัธยมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทั้งหมด 9 ชั้น พร้อมด้วยหนังสืออีกเป็นแสนๆ เล่ม นอกจากนั้นยังเป็นห้องสมุดที่มีการออกแบบตกแต่งหรูหราอลังการมาก ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมขวัญใจชาวอเมริกันอีกด้วยค่ะ 


The Exonian 
หนังสือพิมพ์โรงเรียนในตำนาน

   ต่อเนื่องมาจากหัวข้อที่แล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมชมรมที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางไม่เพียงแต่ในโรงเรียน แต่ยังรวมไปถึงสังคมภายนอกด้วย ก็คือ The Exonian หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ประจำโรงเรียนนั่นเองค่ะ สิ่งที่พิเศษสำหรับ The Exonian ก็คือ เป็นหนังสือพิมพ์โรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในอเมริกา เพราะมีมาตั้งแต่ปี 1878 และปัจจุบันก็ยังมีอยู่ หลังๆ มานี้ก็เริ่มมีให้อ่านแบบออนไลน์แล้วค่ะ สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://theexonian.com/ 
   สมาชิกในชมรมเมื่อจบออกไปก็มักจะได้ดิบได้ดีในวงการสื่อสิ่งพิมพ์-วารสารศาสตร์กันทั้งนั้นค่ะ บางคนก็ไปเป็นนักเขียนบทละคร บทภาพยนตร์ บทวิจารณ์ บ้างก็ไปเป็นบรรณาธิการที่นิตยสารชื่อดังอย่าง Time หรือ Forbs  บ้างก็ไปเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ที่ The Wall Street Journal บ้าง The New York Times บ้าง The Washington Post และอื่นๆ อีกมากมายหลายที่ ซึ่งแต่ละคนก็ฉายแววกันมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้วทั้งนั้น หนังสือพิมพ์ The Exonian เป็นพยานได้ :)  


การรับสมัครเข้าเรียน และค่าใช้จ่าย

    วิธีการสมัครก็คือ ต้องเข้าไปกรอกใบสมัครออนไลน์ พร้อมด้วยแนบ
    - จดหมายแนะนำจากคุณครูวิชาภาษาอังกฤษ
    - จดหมายแนะนำจากคุณครูวิชาคณิตศาสตร์
    - จดหมายแนะนำที่แสดงว่าผู้สมัครได้เข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตร

    จากนั้นก็ให้โรงเรียนเก่าส่งเอกสารผลการเรียนและคะแนนสอบวัดระดับไปยัง Exeter โดยตรง และผู้สมัครยังต้องเขียนเรียงความ และส่งเอกสารแสดงฐานะทางการเงินในกรณีที่ต้องการขอทุนการศึกษาอีกด้วยค่ะ  พอส่งใบสมัครและเอกสารทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องสอบสัมภาษณ์กับ Exeter อีกรอบ การคัดเลือกจะเป็นไปอย่างเข้มงวด มีผู้สมัครแค่ 19% เท่านั้นที่ได้รับการตอบรับเข้าเรียน 
   
    ค่าเล่าเรียนจะตกอยู่ที่ปีละ $46,905 สำหรับเด็กที่อยู่ประจำ และ $36,430 สำหรับเด็กที่ไปกลับ คูณ 35 เข้าไปได้เลย (ขอตัวเป็นลมก่อนนะคะ555) แต่เพราะเป็นโรงเรียนที่ศิษย์เก่ารวย ผู้ปกครองก็รวย บางปีเงินบริจาคเลยสูงมากถึงพันล้านดอลลาร์!! โรงเรียนเลยมีทุนการศึกษาให้เด็กที่เรียนดีและต้องการการสนับสนุนด้านการเงินอยู่ แต่นั่นก็หมายความว่า ถ้าปีไหนยอดเงินบริจาคน้อยลง นโยบายให้ทุนการศึกษาก็อาจจะต้องยุบไปนั่นเองค่ะ 
 

     ถือว่าเป็นโรงเรียนที่สมบูรณ์แบบและมีระดับมากๆ โรงเรียนหนึ่งเลยว่าไหมคะ อ่านแล้วไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเด็กทั่วอเมริกาถึงใฝ่ฝันอยากไปเรียนที่นั่นกัน สำหรับวันนี้ พี่ก็ต้องขอตัวลาไปก่อนนะคะ แล้วคราวหน้าจะกลับมาพร้อมบทความสนุกๆ อีกค่ะ 

www.exeter.edu
พี่แป๋ม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด