รู้ไว้ใช่ว่า 6 คำศัพท์เรียก "พายุ" ในภาษาอังกฤษ

        สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคน วันนี้พี่น้องขอพูดถึงภัยธรรมชาติอย่างหนึ่งที่พวกเราโชคดีมากไม่ค่อยได้เจอ หรือถ้าเจอก็ไม่หนักหนามาก แต่ประเทศอื่นๆ อย่างอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวันนี่ โดนกันเป็นว่าเล่นเลย
        ภัยธรรมชาตินั้นก็คือ
พายุหมุนนั่นเองค่ะ
        เนื่องจากเราไม่ค่อยได้เจอพายุรุนแรงแบบต่างประเทศ อย่างมากก็เป็นพายุลมมรสุม แค่ลมแรง ฝนตกกระหน่ำ มาแล้วก็ไป เราอาจจะไม่ชินกับการใช้คำศัพท์เรียกพายุแต่ละแบบ ซึ่งในภาษาอังกฤษมีคำศัพท์ให้เรียกหลายคำ แต่พี่น้องขอเก็บมา 6 คำที่เราจะได้เจอกันบ่อยๆ นั่นก็คือ
Storm Cyclone Hurricane Typhoon Tornado และ Twister
        อยากรู้แล้วใช่มั้ยคะว่าพายุ 6 ตัวนี้ต่างกันยังไง ไปอ่านกันเลย
 

STORM

        เริ่มจากคำที่เราคุ้นเคยและเจอบ่อยที่สุดก่อน Storm (สตอร์ม) เป็นคำเรียกพายุทั่วๆ ไปค่ะ จะเล็กใหญ่ก็เรียก Storm ได้หมด แต่ส่วนใหญ่จะเอาไว้เรียกพายุขนาดย่อมแบบบ้านเราก็จัดเป็น storm ได้
        พายุระดับย่อมๆ แบบนี้ถึงจะไม่ขนาดพัดเราปลิว หรือยกบ้านเราไปทั้งหลัง แต่ถ้าเจอลมแรงๆ ก็ควรอยู่ในที่ปิดมิดชิด เผื่อกิ่งไม้หัก หรือป้ายโฆษณาปลิวมากระแทกนะจ๊ะ
 

CYCLONE - HURRICANE - TYPHOON

        3 คำนี้ต้องพูดด้วยกัน เพราะจริงๆ แล้วมันคือพายุแบบเดียวกันค่ะ แค่เกิดกันคนละที่ เขาเลยตั้งชื่อให้ต่างกัน
       Cyclone (ไซโคลน) เป็นชื่อเรียกพายุที่เกิดขึ้นแถบมหาสมุทรอินเดีย ตอนใต้ของอินเดียมาหน่อย กับแถบตอนบนของประเทศออสเตรเลียค่ะ
        คนที่ใช้คำว่า cyclone คนแรกคือกัปตันเรือชาวอังกฤษช่วงปี 1840 ชื่อ เฮนรี่ เพดดิงตัน เขาเขียนไว้ในบันทึกว่าเขาได้คำนี้มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า kuklos ที่แปลว่า ขนดงู โดยได้ไอเดียจากรูปร่างการขดตัวเป็นวงของพายุค่ะ
       Hurricane (เฮอร์ริเคน) เป็นชื่อเรียกพายุที่เกิดขึ้นแถบมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งอเมริกา มหาสมุทรแอตแลนติก และคาบสมุทรแคริบเบียน
        คำว่า Hurricane มาจากภาษาของชนเผ่าอาราวัก ชนเผ่าพื้นเมืองแถบคาบสมุทรแคริบเบียน แปลว่า "พายุ" นอกจากนี้ถ้าสืบย้อนกลับไปอีกก็จะพบว่าชนเผ่าอาราวักได้คำนี้มาจากคำว่า Huracan ที่เป็นชื่อเรียกเทพเจ้าแห่งลม พายุ และไฟของชาวมายันค่ะ
        ตามความเชื่อของชาวมายัน เทพเจ้าองค์นี้เป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่ร่วมกันสร้างมนุษย์ขึ้นมา แต่ตอนหลังพอมนุษย์งี่เง่าทำให้ Harukan โกรธ พระองค์ก็เลยเสกให้น้ำท่วมพัดพวกมนุษย์นี้ไปให้หมดซะเลย
       Typhoon (ไทฟูน) หรือไต้ฝุ่น เป็นชื่อเรียกพายุที่เกิดขึ้นแถบมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ต้นกำเนิดคำนี้มาจากภาษาจีนว่า ไตเฟิง ที่แปลว่าลมใหญ่ค่ะ
        สาเหตุที่เรียกกันคนละชื่อทั้งๆ ที่ก็พายุแบบเดียวกัน เพราะคนสมัยก่อนยังไม่รู้จักการวัดระดับแรงลมเพื่อจำแนกประเภทพายุค่ะ ถ้าพายุใหญ่ พวกเขาก็เรียกกันไปตามภาษาถิ่นของเขา ทำให้เราได้คำศัพท์ใหม่ๆ ติดพจนานุกรมมาจนถึงทุกวันนี้
        รู้จักกับที่มาของชื่อแต่ละชื่อแล้ว ขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่าพายุกลุ่มนี้เป็นพายุเขตร้อน ที่เกิดในทะเล นั่นคือทะเลโดนความร้อนจากพระอาทิตย์มากๆ มันก็เริ่มระเหยบนอากาศไปเป็นเมฆ แล้วก็เป็นฝน แต่ถ้าปัจจัยเอื้อ อาจทำให้เกิดตาพายุกลางหย่อมความกดอากาศนั้น ทำให้เมฆที่เกิดขึ้นค่อยๆ หมุนไปรอบๆ ตา แรงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นพายุโหมกระหน่ำได้ค่ะ
 

TORNADO - TWISTER

        มาถึงเจ้า 2 คำนี้กันบ้าง Tornado (ทอร์เนโด) กับ Twister (ทวิสเทอร์) จริงๆ แล้วก็หมายถึงพายุตัวเดียวกันนั่นแหละค่ะ เพียงแต่คำว่า twister เป็นศัพท์แสลงที่คนเรียกตามอาการบิดเป็นเกลียว (twist) ของพายุ
        Tornado หรือ Twister เป็นพายุที่เกิดบนบก เนื่องจากอากาศร้อนกับอากาศเย็นมาเจอกันก็เหมือนหนุ่มสาว จับมือเต้นรำกันเป็นวงกลม กลายเป็นพายุหมุนทรงกรวย แบบที่เราเห็นในหนังอเมริกันบ่อยๆ
        เอ๊ะ ทำไมเห็นบ่อย? ก็เพราะพายุพวกนี้เกิดในอเมริกาบ่อยมากๆ ค่ะ ปีนึงเจอเป็นสิบๆ ลูก จนบางทีคนอเมริกันก็เฉยๆ กับมันแล้ว ถึงขนาดสร้างหนังชื่อ Twister เป็นอนุสรณ์ให้เลย
        ว่ากันว่า Tornado อาจจะมาจากการผสมผสานระหว่างคำศัพท์ในภาษาสเปนว่า tronada ที่แปลว่า "พายุฝนฟ้าคะนอง" กับ tornar ที่แปลว่า "หมุน" (แต่อันนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดนะคะ)
        แต่ก่อนหน้าที่จะมีการจัดประเภทพายุต่างๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์ ก็มีคนใช้คำว่า cyclone เรียกพายุที่เกิดบนบกเช่นกันค่ะ
 

WILLY-WILLY

        ก่อนจากกันไปพี่น้องขอแถมให้อีกคำ คือพายุ Willy-Willy (ชื่อน่ารักเนอะ) ใช้สำหรับเรียกพายุที่กลุ่มเดียวกับ Cyclone แต่เกิดแถวประเทศออสเตรเลียค่ะ
 
        เอ๊ะ ถ้าเรียกชื่อพายุตามถิ่นกำเนิดแบบนี้ แล้วถ้าพายุมันเคลื่อนจากเขตหนึ่งไปอีกเขตหนึ่งจะทำไงล่ะ? กรณีนี้เราก็จะเปลี่ยนไปเรียกชื่อตามเขตที่มันเคลื่อนไปค่ะ อย่างพายุหมุนเจเนวีฟ ซึ่งไปเกิดที่มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งอเมริกา มันก็ถูกเรียกว่า "พายุเฮอร์ริเคน เจเนวีฟ (Hurricane Genevieve)" แต่พอมันเคลื่อนไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นก็เรียกมันว่า "ซูเปอร์ไต้ฝุ่น เจเนวีฟ (Super Typhoon Genevieve)" แทน ที่เรียกไต้ฝุ่นเพราะมันเปลี่ยนตำแหน่ง ส่วนคำว่าซูเปอร์ที่ใส่มาข้างหน้าก็เนื่องมาจากความเร็วลมมันเพิ่มขึ้นค่ะ
 

รู้อย่างนี้แล้ว เวลาดูข่าวพายุที่เกิดตามที่ต่างๆ
อย่าลืมเรียกชื่อมันให้ถูกตามบ้านเกิดของมันด้วยนะคะ ^^


ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
thevane.gawker.com
etymonline.com
en.wikipedia.org
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด