ไม่ได้มีแค่พาราลิมปิก! ยังมีการแข่งกีฬาคนพิการสุดยิ่งใหญ่อีกตั้ง 2 งาน

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ปกติหลังโอลิมปิกจบก็จะต่อด้วยพาราลิมปิกค่ะ มาคู่กัน แต่อาจจะเพราะเม็ดเงินที่เทไปยังการแข่งขันพาราลิมปิกค่อนข้างน้อย ทำให้หลายคนไม่มีโอกาสได้ชมการแข่งขัน และบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการแข่งกีฬานี้ อันที่จริงการแข่งขันกีฬาผู้พิการไม่ได้มีแค่พาราลิมปิกเท่านั้นด้วยนะคะ ยังมีอีก 2 รายการใหญ่ระดับโลกอีก ไปทำความรู้จักกันเถอะ


Paralympic Games


     การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเป็นการแข่งขันกีฬาสำหรับผู้พิการ จัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี หลังจากที่ก่อนหน้านั้นเป็นเพียงการแข่งกีฬาของทหารผ่านศึก ในปีแรกนั้นมีนักกีฬาเข้าร่วมกว่า 400 คนจาก 23 ประเทศ จากนั้นกีฬาพาราลิมปิกก็จัดขึ้นหลังการแข่งกีฬาโอลิมปิกจบลง โดยประเทศเดิมที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกคราวนั้นจะเป็นเจ้าภาพพาราลิมปิกต่อ

     เมื่อถึงปี 1976 ก็แบ่งกีฬาพาราลิมปิกเป็นพาราลิมปิกฤดูร้อน และพาราลิมปิกฤดูหนาวเพื่อให้สอดคล้องกับโอลิมปิกฤดูร้อนและโอลิมปิกฤดูหนาว และเริ่มเปิดรับนักกีฬาที่มีความพิการด้านอื่นนอกเหนือจากที่ต้องใช้วีลแชร์ให้เข้าร่วมการแข่งขัน ในปีนั้นมีนักกีฬาเข้าร่วมกว่า 4,000 คนจาก 40 ประเทศ ส่วนธรรมเนียมที่จะจัดพาราลิมปิกต่อจากโอลิมปิกนั้นเริ่มที่การแข่งพาราลิมปิกฤดูร้อนปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ส่วนการแข่งกีฬาพาราลิมปิกฤดูหนาวที่จัดต่อจากโอลิมปิกฤดูหนาวเป็นครั้งแรกคือพาราลิมปิกปี 1992 ที่ประเทศฝรั่งเศส

ชนิดกีฬาที่แข่งขัน

ชนิดกีฬาในการแข่งพาราลิมปิกฤดูร้อนที่แข่งขันในปี 2016 ได้แก่

     1. ยิงธนู โดยแบ่งเป็นประเภทผู้ที่ต้องนั่งวีลแชร์และกล้ามเนื้ออ่อนแรง กับประเภทที่กำลังแขนปกติแต่มีความพิการส่วนอื่น
     2. กีฬาประเภทลู่และลาน มีทั้งการวิ่งระยะต่างๆ วิ่งข้ามสิ่งกีดขวาง และกีฬาประเภทลานอื่นๆ โดยแบ่งประเภทผู้แข่งขันในแต่ละชนิดกีฬาแยกไปตามความบกพร่องและความรุนแรงของความบกพร่อง เช่นประเภทผู้บกพร่องทางการมองเห็น, ผู้บกพร่องทางสติปัญญา, ผู้ที่ต้องใช้วีลแชร์, ผู้พิการช่วงแขน, ผู้พิการช่วงขา และอื่นๆ เพื่อพยายามคุมให้นักกีฬาทุกท่านในแต่ละประเภทการแข่งขันมีความเสมอภาคกันมากที่สุด
     3. บอคเชีย (กีฬาโยนบอลคล้ายๆ เปตอง) แบ่งผู้แข่งขันเป็น 4 ประเภทได้แก่ผู้ที่มีข้อจำกัดช่วงขา, แขน และช่วงตัว สามารถใช้เท้าช่วยบังคับทิศทางลูกบอลได้ ผู้ที่สามารถควบคุมลำตัวได้ดีขึ้นและคุมแขนให้สามารถโยนบอลได้ทั้งแบบคว่ำและหงายแขน ผู้ที่มีใช้แขน, ขา และลำตัวได้จำกัด สามารถใช้อุปกรณ์ช่วยโยนบอลได้ และผู้ที่ความพิการไม่ได้เกิดจากสมองและสามารถเหวี่ยงแขนแบบเพนดูลัมได้
     4. พายเรือแคนู แบ่งเป็น 3 ระดับได้แก่ผู้ที่ไม่สามารถใช้งานช่วงขาได้และอาจใช้งานช่วงตัวได้หรือไม่ก็ได้ ผู้ที่สามารถใช้งานช่วงขาและช่วงตัวได้บางส่วน และผู้ที่สามารถใช้งานช่วงลำตัวได้ และใช้งานขาได้อย่างน้อย 1 ข้างหรือใส่ขาเทียม
     5. ขี่ม้า แบ่งเป็น 5 ระดับ เป็นระดับสำหรับผู้ที่ต้องใช้วีลแชร์ 2 ระดับ และระดับสำหรับผู้ที่ไม่ต้องใช้วีลแชร์ 3 ระดับ
     6. ฟุตบอล 5-A-Side กีฬาฟุตบอลแบบ 5 คนสำหรับผู้มีความบกพร่องด้านการมองเห็น โดยผู้เล่น 4 คนในสนามแม้จะเป็นผู้มีความบกพร่องด้านการมองเห็นระดับรุนแรงสูงสุด แต่ก็ต้องถูกปิดตาทุกคนเพื่อความยุติธรรม ส่วนผู้รักษาประตูจะต้องไม่เป็นผู้ที่มีความบกพร่องด้านการมองเห็น
     7. ฟุตบอล 7-A-Side กีฬาฟุตบอลแบบ 7 คน ผู้เล่นต้องเสียการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเนื่องจากสมองเสียหายหรือได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง โดยจะมีการจัดระดับความรุนแรงของสภาพไว้ที่ระดับ FT5 - FT8 โดย FT5 คือมีความรุนแรงสูงสุดและ FT8 มีความรุนแรงต่ำสุด ในแต่ละทีมต้องมีผู้เล่นอย่างน้อย 1 คนที่อยู่ในระดับ FT5 และ 1 คนในระดับ FT8


Brazilian sprinters do cartwheels after their silver-medal performance (Photo: Rio 2016/Paulo Whitaker)

     8. โกลบอล กีฬาโยนบอลเข้าโกลสำหรับผู้มีความบกพร่องด้านการมองเห็น แม้จะแบ่งระดับความรุนแรงของอาการไว้แต่ตอนเล่นจริงทุกคนต้องถูกปิดตาเพื่อความยุติธรรม
     9. ยูโดสำหรับผู้มีความบกพร่องด้านการมองเห็น แม้จะมีแบ่งระดับไว้เช่นกัน แต่ทุกระดับจะแข่งร่วมกันและแบ่งประเภทตามน้ำหนักตัวผู้เล่น
     10. ยกน้ำหนักสำหรับผู้มีปัญหาตั้งแต่สะโพกลงไป ผู้แข่งขันจะถูกแบ่งประเภทตามน้ำหนักตัว
     11. ปั่นจักรยานบนถนน คล้ายกับการแข่งกีฬาประเภทลู่และลานคือแบ่งประเภทตามลักษณะความบกพร่อง แล้วค่อยแบ่งตามระดับความรุนแรงอีกที ได้แก่ผู้ที่มีปัญหาตั้งแต่ช่วงตัวลงไปทำให้ต้องปั่นจักรยานโดยใช้มือ ผู้ที่มีปัญหาด้านการทรงตัวและต้องปั่นจักรยาน 3 ล้อ ผู้พิการทางกายใดๆ ก็ตามที่สามารถใช้จักรยาน 2 ล้อปกติได้ และผู้พิการทางการมองเห็นที่ต้องมีคนไกด์ทิศทางไว้คอยบอกทางให้
     12. พายเรือ แบ่งเป็น 4 ประเภทได้แก่ ผู้ที่ควบคุมลำตัวไม่ได้แต่ยังสามารถพายโดยใช้ไหล่และแขนได้ ผู้ที่ควบคุมลำตัวและแขนได้แต่ใช้ช่วงสะโพกลงไปไม่ได้ ผู้ที่ยังใช้ขา, ลำตัว และแขนในการพายเรือได้ และผู้บกพร่องทางการมองเห็น โดย 2 ประเภทสุดท้ายนั้นจะรวมทีมกันแข่ง
     13. แล่นเรือใบ การแข่งขันนี้เปิดรับผู้พิการทุกประเภท แต่จะมีการให้ตัวเลขแทนความรุนแรงของความพิการไว้เป็นระดับ 1 ถึง 7 ผู้แข่งที่มีความพิการต่างกันสามารถรวมทีมกันได้ โดยทีมแบบ 3 คนต้องมีระดับความรุนแรงรวมไม่เกิน 25 ส่วนทีม 2 คนจำเป็นต้องมีคนนึงในทีมที่อยู่ระดับ 1 หรือ 2 และต้องมีหนึ่งคนในทีมเป็นผู้หญิง
     14. ยิงปืน แบ่งผู้แข่งขันเป็น 3 ประเภทได้แก่ ผู้ที่มีความพิการในแขนและ/หรือขาเพียง 1 ข้างแต่ยังสามารถรับน้ำหนักปืนได้ ผู้ที่ไม่สามารถใช้งานช่วงขาได้แต่ยังรับน้ำหนักปืนได้ และผู้ที่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ช่วยรับน้ำหนักปืนเนื่องจากพิการช่วงแขน
     15. วอลเลย์บอลแบบนั่ง เป็นการเล่นวอลเลย์บอลที่ผู้เล่นจะต้องให้ก้นอย่างน้อย 1 ข้างสัมผัสพื้นอยู่เสมอ ในแต่ละทีมจะมีผู้เล่นที่ขาขาดอยู่ด้วย


Brazil's colourful sprinter Terezinha Guilhermina (Photo: Rio 2016/Paulo Mumia)

     16. ว่ายน้ำ มีการแข่ง 3 แบบคือแบบ S เป็นท่าฟรีสไตล์, ท่าผีเสื้อและกรรเชียง SB คือท่ากบอย่างเดียว และ SM คือรวมทั้ง 4 ท่า จากนั้นในแต่ละแบบก็จะแบ่งกลุ่มการแข่งขันเป็นตามประเภทความพิการได้แก่กลุ่มพิการทางกาย กลุ่มพิการด้านการมองเห็น และกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งในแต่ละกลุ่มก็มีแบ่งตามความรุนแรงของสภาพอีก รวมได้ทั้งหมด 14 ระดับ
     17. ปิงปอง แบ่งตามประเภทนักกีฬาเป็น 3 ประเภทได้แก่ผู้ที่ต้องนั่งวีลแชร์ ผู้ที่สามารถยืนเล่นได้ และผู้บกพร่องทางสติปัญญาที่ยืนได้ และแบ่งตามระดับความรุนแรงรวมได้ 14 ระดับ
     18. ปั่นจักรยานบนลู่ แบ่งเหมือนกับปั่นจักรยานบนถนน
     19. ไตรกีฬา คือรวมการว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่งเข้าไว้ด้วยกัน แบ่งเป็น 5 ระดับคือ PT1 นักกีฬาที่ต้องปั่นจักรยานด้วยมือและใช้วีลแชร์ในการแข่งวิ่ง PT2 - PT4 คือผู้ที่สามารถปั่นจักรยาน 2 ล้อทั่วไปได้และสามารถวิ่งได้โดยจะใช้ขาเทียมหรือเครื่องมืออื่นด้วยก็ได้ และ PT5 คือกลุ่มผู้บกพร่องทางการมองเห็น ที่ต้องมีไกด์คอยบอกทางให้ ซึ่งการปั่นจักรยานจะเป็นจักรยานแบบ 2 คนปั่นเพราะต้องมีอีกคนบอกทาง
     20. วีลแชร์บาสเก็ตบอล ผู้เล่นแต่ละคนจะได้ตัวเลขแทนค่าความรุนแรงของความพิการเป็นเลข 1.0-4.5 โดยในแต่ละทีมจะต้องมีผู้เล่นที่ลงสนามอยู่ 5 คนที่รวมเลขกันแล้วไม่เกิน 14
     21. ฟันดาบวีลแชร์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มผู้ที่ควบคุมช่วงตัวได้ สามารถโยกไปด้านหน้าและด้านข้างได้ สามารถใช้แขนฟันดาบได้เต็มกำลัง และกลุ่มผู้ที่ควบคุมลำตัวได้จำกัดและใช้แขนฟันดาบได้ไม่เต็มที่
     22. วีลแชร์รักบี้ คล้ายๆ กับวีลแชร์บาสแต่ให้เลขเป็น 0.5-3.5 ค่ะ และเวลาลงสนามทีมละ 4 คนต้องรวมเลขแล้วไม่เกิน 8.0 นอกจากนี้ถ้ามีผู้เล่นที่เป็นผู้หญิงลงไปเล่นด้วยจะสามารถเพิ่มเพดานตัวเลขได้อีก 0.5 ต่อผู้หญิง 1 คน (เช่นปกติห้ามเกิน 8.0 แต่ถ้าในทีมมีผู้หญิงลงแข่งด้วย 1 คนจะได้สิทธิเป็น 8.5)
     23. วีลแชร์เทนนิส แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มผู้เล่นที่พิการช่วงขาแต่ยังใช้งานแขนได้ดีทั้ง 2 ข้าง และกลุ่มผู้ที่พิการแขน 1 ข้างและขา 2 ข้าง


Australia's Ben Weekes beat Spain's Francesc Tur 2-0 in the second round of the men's singles wheelchair tennis tournament. (Photo: Rio 2016/Gabriel Nascimento)

     เนื่องจากกีฬาพาราลิมปิกจะจัดต่อจากโอลิมปิกทันที ทำให้มีทุกๆ 4 ปี โดยจะสลับฤดูร้อนและฤดูหนาวทุก 2 ปีเหมือนโอลิมปิก นั่นคือปี 2016 เป็นกีฬาฤดูร้อนที่ริโอ ประเทศบราซิล ปี 2018 เป็นกีฬาฤดูหนาวที่พยองชัง ประเทศเกาหลีใต้ และปี 2020 ก็กลับมาเป็นกีฬาฤดูร้อนอีกครั้งโดยจะจัดที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นค่ะ



Deaflympics



(Photo: www.deaflympics.com)

     ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าในพาราลิมปิกพูดถึงผู้พิการหลายประเภทมาก แต่ไม่มีเน้นที่ผู้พิการทางการได้ยิน นั่นก็เพราะมีกีฬาระดับโลกสำหรับผู้พิการทางการได้ยินโดยเฉพาะเลยค่ะ เพราะผู้พิการทางการได้ยินไม่สามารถได้ยินสัญญาณปืนเพื่อปล่อยตัวหรือเสียงนกหวีดของกรรมการได้ จึงต้องมีการจัดงานเป็นพิเศษโดยเฉพาะ
     กีฬาเดฟลิมปิกมีขึ้นครั้งแรกในปี 1924 ที่กรุงปารีส เป็นมหกรรมกีฬานานาชาติที่มีอายุนานที่สุดรองจากโอลิมปิก และเป็นการแข่งขันเพื่อผู้พิการโดยเฉพาะเป็นการแข่งขันแรกค่ะ เดฟลิมปิกจัดขึ้นทุก 4 ปีเช่นกัน และเริ่มมีการแข่งขันเดฟลิมปิกฤดูหนาวครั้งแรกในปี 1949 เดฟลิมปิกฤดูร้อนครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่ประเทศบัลแกเรียในปี 2013 และจะมีขึ้นครั้งต่อไปที่ประเทศตุรกีในปี 2017 ส่วนเดฟลิมปิกฤดูหนาวครั้งล่าสุดคือที่ประเทศรัสเซียในปี 2015 และครั้งต่อไปจะจัดที่ประเทศอิตาลีในปี 2019 ค่ะ จะเห็นว่าลักษณะการจัดทุก 4 ปีจะต่างกับของโอลิมปิกและพาราลิมปิก


(Photo: www.deaflympics.com)

คุณสมบัติของการเป็นนักกีฬาเดฟลิมปิก

     หูข้างที่ดีของนักกีฬาจะต้องสูญเสียการได้ยินอย่างน้อยที่ระดับ 55 เดซิเบล ห้ามใช้เครื่องช่วยฟังใดๆ ก็ตามในการแข่งขัน ส่วนกฎกติกาในการแข่งกีฬาแต่ละอย่างนั้นจะเหมือนกับของโอลิมปิกเลย เพียงแต่จะเปลี่ยนวิธีการบางอย่างในเรื่องที่มีเสียงเกี่ยวข้อง เช่นกรรมการในการแข่งฟุตบอลจะใช้การโบกธงแทนการเป่านกหวีด หรือการปล่อยตัวในการวิ่งจะใช้สัญญาณไฟแทนการยิงปืน นอกจากนี้ผู้ชมข้างสนามก็ไม่ควรปรบมือ แต่ควรให้กำลังใจนักกีฬาโดยการโบกมือทั้ง 2 ข้างแทน



Special Olympics World Games



(Photo: http://www.specialolympics.org/Stories/All_Stories.aspx)

     สเปเชียลโอลิมปิกเวิร์ลเกมส์ คือมหกรรมกีฬานานาชาติสำหรับผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาโดยเฉพาะ มีเป้าหมายเพื่อโชว์ศักยภาพและความสำเร็จของผู้มีความบกพร่องในเวทีระดับโลก สเปเชียลโอลิมปิกจัดขึ้นทุก 4 ปีโดยสลับเป็นกีฬาฤดูร้อนและกีฬาฤดูหนาวทุกๆ 2 ปี ในทำนองเดียวกับโอลิมปิกและพาราลิมปิก กีฬาฤดูร้อนจัดขึ้นครั้งแรกที่รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกาในปี 1968 ส่วนกีฬาฤดูหนาวจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1977 ที่รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 7,000 คนจาก 170 ประเทศทั่วโลก
     ผู้เข้าแข่งขันจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ได้ แต่ต้องมีความพิการทางสติปัญญา ซึ่งอาจจะกระทบหรือไม่กระทบกับสมรรถภาพร่างกายที่จำเป็นในการแข่งกีฬาก็ได้ โดยคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิกจะระมัดระวังและจัดให้ผู้เข้าแข่งขันที่มีความสามารถและอายุใกล้เคียงกันได้แข่งขันกัน เพื่อให้มีความยุติธรรมมากที่สุด การแข่งขันทั้งกีฬาฤดูร้อนและฤดูหนาวมีกีฬารวมทั้งหมด 35 ชนิดทั้งกีฬาเดี่ยวและทีม ส่วนมากเป็นกีฬาที่อยู่ในโอลิมปิกด้วยค่ะ
     นอกจากสเปเชียลโอลิมปิกเวิร์ลเกมส์แล้ว ยังมีสเปเชียลโอลิมปิกในระดับภูมิภาคจัดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในหลายมุมของโลก แต่การแข่งขันที่ถือว่าเป็นที่สุดของที่สุดสำหรับสเปเชียลโอลิมปิกก็ต้องเป็นสเปเชียลโอลิมปิกเวิร์ลเกมส์นี่แหละค่ะ สเปเชียลโอลิมปิกเวิร์ลเกมส์ฤดูร้อนครั้งล่าสุดจัดที่ลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกาในปี 2015 ส่วนครั้งต่อไปในปี 2019 ยังไม่ประกาศชื่อเจ้าภาพค่ะ สำหรับสเปเชียลโอลิมปิกเวิร์ลเกมส์ฤดูหนาวนั้นครั้งล่าสุดนั้นจัดที่เกาหลีใต้ในปี 2013 และครั้งถัดไปจะจัดที่ประเทศออสเตรียในปี 2017 ค่ะ อย่าลืมเชียร์ล่ะ


     จริงๆ นอกจากระดับโลกแล้ว การแข่งขันกีฬาสำหรับผู้พิการยังมีในระดับภูมิภาคอีกมากมายเลยนะคะ ระดับเอเชียก็มีค่ะ เสียดายที่การแข่งขันของผู้พิการไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนและไม่ค่อยได้พื้นที่สื่อซักเท่าไหร่ เลยเหมือนไม่เคยได้ยินเลยซักอย่างทั้งที่ก็แข่งมาหลายปีแล้ว หวังว่าต่อจากนี้จะได้รับการสนับสนุนกันมากขึ้นนะคะ เพราะนักกีฬาแต่ละท่านคือสุดยอดของสุดยอดจริงๆ


 

ข้อมูล
www.rio2016.com, www.paralympic.org/sochi-2014, www.deaflympics.com/
www.specialolympics.org/special-olympics-world-games.aspx
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

็็HoHo 15 ก.ย. 59 02:31 น. 1
ปี 2018 โอลิมปิก ฤดูหนาว จัดขึ้นที่ เกาหลีใต้ เมืองพย็องชัง ไม่ใช่หรอค่ะ ทำไมเป็นเกาหลีเหนือไปได้ ปล. ข้อมูลจากวิกิ บอกมางี้คะ
1
กำลังโหลด
กำลังโหลด