รวมหมวกประจำชาติต่างๆ ที่เราคุ้นตา แต่อาจไม่เคยรู้ประวัติมาก่อน

    สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ใครชอบใส่หมวกกันบ้างเอ่ย? วันนี้ พี่นิทาน มีเรื่องเล่าของหมวกจากประเทศต่างๆ ที่เราเคยเห็นติดตากันมาจากหนังบ้าง ซีรีส์บ้าง ฯลฯ เชื่อว่าต้องเคยเห็นกันบ้างแหละ และหลายคนอาจยังไม่เคยรู้ที่มาหรือความหมายของการใส่หมวกนั้นๆ วันนี้พี่เลยเอาความรู้มาฝากกันค่ะ 


1. หมวกขนปุยจากรัสเซีย (Ushanka)


   
    เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นตากับหมวกขนปุยรัสเซียนี้แน่นอน เพราะเห็นกันมาบ่อยมากไม่ว่าจะเป็นในหนังหรือในทีวีต่างๆ แต่มีใครรู้รึเปล่าว่าที่มาของหมวกขนปุย "Ushanka" (อูแชงกา) นี้เป็นมายังไง? เจ้าหมวกอูแชงกานี้เป็นหมวกชนชาติรัสเซียที่มีความหมายว่า "หมวกปิดหู" เราอาจเห็นได้หลายแบบแล้วแต่สไตล์หรือการใช้งานของผู้ใส่ คือมีหูยาวๆ ห้อยลงมาสองข้าง ที่สามารถผูกติดกันเพื่อกันหนาวลงมาถึงคางเลยก็ได้ หรืออาจจะมัดเก็บขึ้นไปก็ได้เพื่อความเก๋ไก๋ไปอีกแบบ

     และที่มาของหมวกนี้นั้นก็ตามชื่อเลยค่ะ คือป้องกันความหนาวเหน็บจากอากาศหนาวสุดๆ ของประเทศรัสเซีย (ที่สามารถหนาวได้มากถึงติดลบ 40-70 องศากันเลยทีเดียว) โดยเจ้าหมวกอูแชงกาดั้งเดิมนั้นทำมาจากหนังและขนแกะที่มีราคาแพง หรืออาจเป็นหนังกระต่ายหรือสัตว์มีขนอื่นๆ

    ปัจจุบันจะนิยมใช้ขนสังเคราะห์ที่ไม่ใช่ขนแท้ๆ ซึ่งก็ยังคงให้ความอบอุ่นได้เช่นกันค่ะ นอกจากนั้นยังมีสีสันที่แตกต่างกันไป สีที่นิยมที่สุดคือสีดำ รองลงมาคือสีเทา สีขาว สีน้ำตาล เป็นต้นค่ะ นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศรัสเซียแล้ว ประเทศอื่นๆ ก็ยังนิยมใส่หมวกอูแชงกา (หรือคล้ายๆ กัน) ด้วยค่ะ เช่น มองโกเลีย จีน เกาหลีเหนือ และประเทศอื่นๆ ที่เคยเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียตค่ะ


2. หมวกงอบชาวเวียดนาม (Non La)


   
    นอกจากชุดอ๋าวหย่ายของเวียดนามที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว เราจะต้องนึกถึงหมวก "งอบ" ที่มักเห็นนักท่องเที่ยวซื้อใส่เป็นสัญลักษณ์ว่า 'มาถึงเวียดนามแล้วนะ' แม้แต่พี่เองก็ยังอยากซื้อใส่บ้างตอนไปเที่ยวเวียดนาม แต่ก็ไม่ได้ซื้อเพราะไม่รู้จะเอากลับยังไง ไม่มีที่ใส่แล้ว 555 และมีใครรู้กันบ้างว่าหมวกงอบของชาวเวียดนามนั้นมีชื่อเรียกในภาษาเวียดนามว่า "Nón Lá" หรือ หนอน หลา

      ที่มาของหมวกงอบนี้คือเวียดนามเป็นประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกบ่อยและบางครั้งอากาศแห้ง หมวกงอบจึงเป็นสิ่งที่ใช้ป้องกันแสงแดดและกันฝนสำหรับชาวบ้านและชาวไร่ชาวสวนของเวียดนามที่ต้องทำงานเป็นเวลานานๆ เอกลักษณ์ของหมวกงอบนี้คือถูกสานขึ้นมาด้วยมือ โดยใช้วัตถุดิบจากใบลานหรือไม้ไผ่ที่สานโดยชาวบ้านที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ

    ปัจจุบันหมวกงอบนี้อาจไม่ได้เป็นที่ฮิตในชาวเวียดนามอย่างแต่ก่อนแล้ว แต่ยังเห็นคนใส่กันอยู่บ้าง (หากไม่นับว่าเป็นการใส่แฟชั่นกับชุดอ๋าวหย่ายและการแสดงต่างๆ รวมถึงนักท่องเที่ยว) และเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอีกทั้งยังเป็นทั้งของฝากที่ขึ้นชื่อของเวียดนาม มีการผสมผสานโดยทำลวดลายต่างๆ และหลายขนาดออกมาเพื่อขายนักท่องเที่ยวอีกด้วย


3. หมวกอาบังของอินเดีย (Turban)


Photo credit : pixabay
   
    เมื่อนึกถึงชายจาประเทศแขกๆ หรืออินเดีย เรามักนึกถึงอาบังที่โพกหัว และการโพกหัวของชายชาวอินเดีย (และชนชาติอื่นๆ ที่มีความเชื่อในศาสนาหรือสังคมคล้ายๆ กัน) นั้นไม่ใช่แฟชั่นที่ใครจะทำก็ได้ หรือจะใส่สีไหนก็ได้นะคะ เพราะการโพกหัวนั้นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละที่ของประเทศอินเดีย

    ที่มาของผ้าโพกหัวนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำให้ศีรษะหรือหัวเย็นขึ้น (ขอใช้คำว่าหัวเพื่อความสะดวกและง่ายขึ้นนะคะ) ก่อนจะนำไปโพกนั้นจะต้องนำผ้าชิ้นยาวๆ ประมาณ 5 เมตรไปแช่น้ำข้ามคืนก่อน วันรุ่งขึ้นจึงนำผ้านั้นมาพัน ความยาวของผ้าและความชุ่มน้ำจะทำให้กันความร้อนจากแสงอาทิตย์แรงๆ ของอินเดียได้ในเวลายาวนาน

      เนื่องจากมีขั้นตอนการพันหลายครั้งและเกิดเป็นชั้นที่หนาขึ้นๆ การพันผ้าโพกหัวนี้จะมีความแตกต่างกันไปตามเขตหรือเมืองต่างๆ ในอินเดีย เช่นในเขตราชาสถาน หรือการโพกผ้าแบบชาวซิกข์ที่จะเห็นบ่อยที่สุดก็มีความแตกต่างกัน นอกจากนั้นยังมีในประเทศอื่นๆ เช่นบางแห่งในตะวันออกกลางหรือเอเชียกลางด้วย

    การโพกผ้าของชาวซิกข์นั้นจะเป็นเอกลักษณ์ของผู้ชายที่จะต้องไว้ผมยาว และเนื่องจากผมยาวจึงต้องพันขึ้นไปและมีผ้าโพกหัวพันปิดไว้ และยังเป็นการแสดงความเคารพในศาสนาด้วยค่ะ ส่วนการโพกผ้าของชาวราชาสถานนั้นเนื่องจากเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ การโพกผ้าของชายชาวอินเดียจึงมีความแตกต่างกันไป แต่ที่น่าสนใจคือในบางเขตของรัฐนั้นจะมีการเปรียบเทียบขนาดของการโพกผ้ากัน คือขนาดจะมีความหมายถึงสถานะทางสังคม ยิ่งใหญ่ยิ่งเจ๋งกว่า ประมาณนั้นเลยค่ะ 


4. วิกผมขนาดใหญ่ของเกาหลี (Gache)


   
    มาถึงเกาหลีกันบ้าง ที่จะพูดถึงวันนี้อาจไม่ใช่หมวกแต่เป็นวิกผมที่มีขนาดใหญ่อย่างที่เคยเห็นกันตามหนังเกาหลีต่างๆ เช่น แดจังกึม เป็นต้น โดยวิกผมที่มีชื่อเรียกว่ากาเช (Gache) ในสมัยก่อนนิยมใส่กันในหมู่สตรีชั้นสูงเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือและเป็นสัญลักษณ์ของสถานะทางสังคม ต่อมามีการแพร่หลายจนกลายเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ใช้กันเฉพาะชนชั้นสูงอีกต่อไป (ประมาณช่วงปี 1694 - 1800)

    กาเชจะมีการตกแต่งที่แตกต่างกันไป ของที่ตกแต่งนั้นอาจเป็นอัญมณีต่างๆ, ผ้า, เงิน และอื่นๆ ส่วนมากเมื่อตกแต่งอย่างเต็มที่แล้วจะมีน้ำหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม โห.. ไม่อยากจะคิดว่าใส่แล้วจะหนักขนาดไหนเลย และกาเชนั้นยิ่งมีขนาดใหญ่ก็จะยิ่งแพงและดูดีมากขึ้น บางอันมีราคาสูงเทียบเท่ากับบ้านได้เลย ปัจจุบันกาเชยังนิยมใส่กันในวันแต่งงานของชาวเกาหลีด้วยค่ะ 


5. หมวกเจ้าสาวญี่ปุ่น (Tsunokakushi) 


   
    ในพิธีแต่งงานของชาวญี่ปุ่นนั้น เจ้าสาวจะสวมใส่ชุดแต่งงานเป็นสีขาวทั้งตัว โดยสีขาวนี้จะเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และความใสสะอาด โดยชุดนี้จะมีชื่อเรียกว่า ชิโรมุกุ (Shiromuku) และจะใส่กับหมวกขนาดใหญ่สีขาวที่เรียกกว่า สึโนะคาคุชิ (Tsunokakushi) โดยหมวกนี้จะมีคำแปลประมาณว่า 'ที่ซ่อนเขา' เขาในที่นี้มีความหมายถึงความไม่ดีต่างๆ เช่นความหึงหวง ความเห็นแก่ตัว ฯลฯ ตามความเชื่อสมัยก่อน และการใส่หมวกซ่อนเขาไว้ในงานแต่งงานนั้นมีความหมายเปรียบเทียบคือหญิงที่แต่งงานแล้วจะมีความอ่อนโยนและจะเป็นภรรยาที่ดี หมวกสึโนะคาคุชินี้ส่วนมากจะทำจากผ้าไหม และปัจจุบันยังคงนิยมในพิธีแต่งงานของชาวญี่ปุ่นอยู่ค่ะ
   
  
     จากหมวกทั้งหมด 5 แบบที่เล่าให้ฟังมา น้องๆ ชอบอันไหนที่สุดคะ ส่วนพี่เองชอบหมวกของรัสเซียที่สุดเลยค่ะ แอบมีเก็บไว้ด้วย แต่ไม่รู้จะหาโอกาสใส่เมื่อไหร่ดี เพราะท่าทางใส่ในเมืองไทยคงร้อนน่าดูเลยล่ะค่ะ ใครมีเรื่องราวของหมวกอื่นๆ ก็เล่าให้ฟังได้นะคะ 
พี่นิทาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

6 ความคิดเห็น

ฝุ่นละออง Member 20 ก.ย. 59 18:21 น. 1

งอบของไทยกับของเวียดนามเหมือนกันรึเปล่าหว่า ... ?

เพราะเท่าที่เคยอ่านเจอไทยก็ใช้เหมือนกันในกลุ่มชาวสวนชาวนา งงเลยยย ตกใจ

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด