เส้นทางสุดโหด กว่าจะเป็นนักเขียนในต่างประเทศ

        สำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียน และกำลังซ้อมมือลงนิยายอยู่ในเว็บหรือแม้แต่คนที่มีผลงานตีพิมพ์แล้วก็ดี คงพอจะรู้กันอยู่แล้วใช่ไหมคะว่าขั้นตอนการส่งต้นฉบับพิจารณาเอย ขั้นตอนการตีพิมพ์หนังสือเป็นรูปเล่มและวางขายเอย หรือแม้แต่ข้อมูลเบื้องลึกอย่างค่าลิขสิทธิ์ที่นักเขียนควรจะได้ต้องเป็นเท่าไร

        ล่าสุดที่เห็นแชร์กันในโซเชียล เน็ตเวิร์ก ก็คือรายได้ที่แท้จริงจากการขายหนังสือว่ามันไปตกอยู่ในมือใครบ้าง และนักเขียนได้เงินจากการลงมือลงแรงสร้างสรรค์นิยายสักเรื่องเท่าไร ซึ่งหลายคนก็ตกใจว่ามันน้อยมาก แต่นี่คือความจริงในวงการหนังสือ "ทุกที่"

        เชื่อไหมคะว่าเส้นทางนักเขียนฝั่งตะวันตก ทั้งอเมริกาและอังกฤษก็ลำบากลำบนไม่แพ้กัน แถมยังสาหัสยิ่งกว่าบ้านเราอีกต่างหาก มาดูกันว่ากว่าจะมีนิยายตีพิมพ์ออกมาสักเล่ม นักเขียนในต่างประเทศเขาต้องทำอะไรบ้าง (เน้นอเมริกากับอังกฤษนะ)
 

1. หา Agent ที่เชื่อถือได้

        อันนี้เป็นเรื่องปกติของวงการหนังสือในอเมริกาหรืออังกฤษ นั่นคือต้นฉบับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนิยาย สารคดี หรือบทละครล้วนต้องผ่านตัวกลางหรือเอเย่นต์ที่จะคอยคัดเลือกต้นฉบับแล้วส่งต่อไปให้สำนักพิมพ์อีกที ไม่เหมือนบ้านเราที่นักเขียนส่งต้นฉบับให้บรรณาธิการสำนักพิมพ์ได้โดยตรง
 

(เคอร์ติส บราวน์เป็นหนึ่งในเอเย่นต์ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ)

        ถามว่ามีกรณีที่ส่งต้นฉบับให้ตรงๆ ไหม? มีค่ะ แต่น้อยมาก ถ้าไม่มีเส้นสายกับคนในจริงๆ หรือถ้าไม่ดังจริง ยาก เพราะสำนักพิมพ์ทั้งหลายก็วุ่นวายกับการผลิตหนังสือของตัวเองอยู่แล้ว เลยต้องมีตัวกลางที่จะคอย 'กรอง' ผลงานมาให้เขาคัดเลือกอีกที และเมื่อเป็นแบบนี้ สำนักพิมพ์ดังๆ ก็มักจะรอต้นฉบับที่ผ่านการกรองแล้วจากเอเย่นต์ที่น่าเชื่อถือมากกว่าเสียเวลามานั่งอ่านต้นฉบับจากนักเขียนโนเนมที่ไหนไม่รู้

        ทีนี้ ทำไมถึงต้องเน้นว่า 'เชื่อถือได้' เพราะปัจจุบันมีเอเย่นต์น้อยใหญ่เปิดตัวมากมาย ส่วนหนึ่งเป็นคนที่ 'ประสงค์ดี' แต่ 'มือไม่ถึง' แต่อีกส่วนคือมิจฉาชีพของจริงที่จ้องจะหลอกเอาเงินจากนักเขียนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เช่น คิดค่าอ่านต้นฉบับ ค่าลงทะเบียน ค่าอีดิทต้นฉบับ โดยจะใช้วิธีการอ้างว่างานเขียนเรายังไม่ถึงขั้น แต่เขามีบรรณาธิการไว้ใจได้ แค่เสียเงินเท่านั้นเท่านี้

        ความจริงแล้วเอเย่นต์ตัวจริงจะไม่มีการเก็บเงินจากนักเขียนใดๆ ทั้งสิ้น รายได้หลักอย่างเดียวของเอเย่นต์พวกนี้คือส่วนแบ่งจากการขายลิขสิทธิ์ของนักเขียน นั่นหมายความว่าถ้าเขาไม่สามารถหาผลงานดีๆ ไปป้อนสำนักพิมพ์ เขาก็จะไม่มีเงินมาจ่ายค่าดำเนินการทั้งหมด นี่จึงเป็นสาเหตุที่เอเย่นต์มิจฉาชีพต้องหาเงินจากการเก็บค่านั่นค่านี่แทน
 
ส่วนแบ่งที่เอเย่นต์จะได้รับมาตรฐานจะอยู่ที่
  • 10-15 % จากการขายลิขสิทธิ์ในประเทศ
  • 20-30% จากการขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ
        ไม่ว่านักเขียนจะได้เงินจากสำนักพิมพ์กี่รอบ เอเย่นต์ก็จะได้ด้วยตามเปอร์เซ็นต์ที่ตกลงกันไว้

2. เตรียมต้นฉบับ

        สำหรับบ้านเรา การเตรียมต้นฉบับส่งบก. หลักๆ เลยก็ต้องมีจดหมายแนะนำตัว เรื่องย่อ และต้นฉบับที่เขียนเสร็จแล้ว (ถ้ามีหลายภาคก็อาจจะเขียนจบแค่ภาคแรกก่อน) แต่สำหรับอเมริกาหรืออังกฤษ นักเขียนจะต้องดูก่อนว่าเอเย่นต์แต่ละที่ต้องการอะไรบ้าง

        สิ่งที่จะต้องเตรียมส่งให้เอเย่นต์ก็คือ
  • คำอธิบายย่อๆ ถึงเรื่องที่เราเขียน (ไม่ต้องใส่สีตีไข่ เล่นสำนวน)
  • ตัวอย่างนิยาย (เป็นน้ำจิ้มให้เขา บางที่อาจขอแค่บทแรก บางที่อาจขอสามบทแรก)
  • จดหมายแนะนำตัว (อย่างย่อ)

        หลังจากส่งแล้วทีนี้ก็ได้แต่นั่งรอ ซึ่งธรรมเนียมบ้านเขาจะไม่เหมือนเราตรงที่เขาเปิดโอกาสให้นักเขียนส่งนิยายเรื่องเดียวกันนี้ไปเสนอเอเย่นต์อื่นได้ ไม่ถือว่าเป็นการเสียมารยาท

        ถ้าหากเอเย่นต์เห็นว่างานดี เขาก็จะเสนองานของนักเขียนให้กับสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์งานแบบเดียวกัน (นั่นคือนักเขียนไม่ได้เลือกสำนักพิมพ์เอง แต่เขาเลือกให้) และนักเขียนไม่จำเป็นต้องเขียนจดหมายแนะนำตัวซ้ำซ้อนหาบก. สำนักพิมพ์นู่นนี่นั่น เพราะเขาจัดการเองให้หมด ยิ่งได้อยู่กับเอเย่นต์ที่มีนักเขียนตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ดังๆ อยู่มาก โอกาสที่งานจะไปโดนตาบก.สำนักพิมพ์ดังๆ ก็มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน (แต่ก็แลกกับคู่แข่งที่เยอะเป็นเท่าตัว)
 

3. ตีพิมพ์

        หากผลงานของนักเขียนเข้าตาบก.สำนักพิมพ์ไหนก็ตาม เอเย่นต์ก็จะเป็นตัวกลางในการดูเรื่องสัญญาลิขสิทธิ์ให้หมด ทั้งลิขสิทธิ์ตีพิมพ์ในประเทศ ต่างประเทศ หรือสื่ออื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ หนังสือเสียง ฯลฯ โดยที่นักเขียนไม่ต้องกลัวเลยว่าจะโดนหลอกหรือโดนเอาเปรียบ อย่าลืมว่ารายได้ของนักเขียน ส่วนหนึ่งก็จะตกอยู่กับเอเย่นต์ ยิ่งนักเขียนได้เยอะเท่าไร เอเย่นต์ก็ยิ่งลัลล้าเท่านั้น

        เกณฑ์การคิดค่าลิขสิทธิ์ก็อาจจะแตกต่างไปตามฝีมือของนักเขียน ถ้าเป็นหน้าใหม่ก็อาจจะได้น้อยกว่านักเขียนระดับ Best-Seller นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ 'ประเภทหนังสือ' ที่ตีพิมพ์ออกมา ก็เป็นตัวกำหนดอัตราค่าลิขสิทธิ์เหมือนกัน เดี๋ยวเรามาดูก่อนดีกว่าว่าตลาดต่างประเทศเขามีนิยายออกมากี่แบบ

ประเภทหนังสือ
  1. Hardback/Hardcover ก็คือนิยายปกแข็ง ที่หน้าปกทำจากกระดาษแข็ง เข้าสันด้วยการใช้ลวดหรือเชือก เนื้อในก็ทำจากกระดาษเนื้อดี ชนิดที่อยู่ไปสิบปีก็ยังเหมือนใหม่ (ว่าไปนั่น) หนังสือประเภทนี้มีไว้สำหรับนักสะสม เก็บไว้ได้นาน ทนทาน และใช้อ้างอิงได้ นักเขียนที่จะออกงานแบบนี้ได้ต้องเป็นนักเขียนที่มีชื่อพอสมควร (คือมั่นใจว่าทำออกมาแล้วขายได้) เพราะต้นทุนในการพิมพ์ค่อนข้างสูง และราคาขายก็สูงตามด้วย
  2. Trade Paperback พวกนี้คือนิยายปกอ่อน แต่ไซส์เดียวกับ Hardback (ขนาดใหญ่ประมาณนิยายทั่วไปของบ้านเรา) เนื้อหาเหมือนแบบปกแข็งเป๊ะๆ และยังคงใช้กระดาษเนื้อดีอยู่ ส่วนใหญ่จะใช้ในการส่งไปรีวิวหรือโปรโมต ราคาถูกลงมาหน่อยสำหรับนักสะสมกระเป๋าแห้ง
  3. Mass-Market Paperback พวกนี้คือนิยายปกอ่อน ไซส์เล็กแบบที่เราเห็นขายกันทั่วไปในร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส์ คิโนะคุนิยะ หรือตามสนามบิน พิมพ์ด้วยกระดาษคุณภาพต่ำ (สังเกตได้จากน้ำหนักที่เบามาก กระดาษบางมาก) ต้นทุนต่ำ ราคาต่ำ เหมาะสำหรับคนที่อ่านนิยายแบบพกไปไหนมาไหนด้วย และไม่กลัวว่ามันจะยับหรือขาด นิยายที่ไม่ดังหรือเป็นนักเขียนมือใหม่มักจะได้ตีพิมพ์ในรูปแบบนี้ก่อน รวมทั้งนิยายดังๆ ที่ออกฉบับปกแข็งแล้วก็จะมาออกฉบับปกอ่อนเพื่อเอาใจตลาดล่างด้วยเช่นกัน
     

(เปรียบเทียบหนังสือของ Patrick Rothfuss ในรูปแบบ Hardback, Trade Paperback, Paperback)
 

4. ส่งขาย


(ร้านหนังสือ Barnes&Noble เป็นร้านขายหนังสือรายใหญ่ในอเมริกา)

        ตลาดหนังสือของต่างประเทศก็ดุเดือดไม่แพ้บ้านเรา สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ อย่าง HarperCollins หรือ Penguin Books จะมีเว็บไซต์ขายหนังสือเป็นของตัวเอง และมีบอกสถานที่ซื้อหนังสือกับร้านหนังสือรายย่อยด้วย แต่สำนักพิมพ์รายย่อยจะใช้วิธีฝากขายตามร้านหนังสือเจ้าเล็กเจ้าใหญ่ โดยมีวิธีดังนี้ค่ะ
 
  • ก่อนเข้าฤดูกาลใหม่ สำนักพิมพ์ต้องสรุปออกมาแล้วว่าจะมีปกใดออกบ้าง
  • ทำรายชื่อหนังสือที่จะออกลงแคตาล็อก โดยแบ่งหน้าเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกหรือหน้าแรกๆ จะลงแต่นิยายที่ขายออกชัวร์ พวกนิยายของนักเขียนดังๆ ส่วนที่สองจะลงนิยายโนเนมทั้งหลาย และส่วนสุดท้ายจะเป็นนิยายเก่าที่เคยออกมาแล้วและยังพิมพ์อยู่ แคตาล็อกนี้จะให้ตัวแทนขายไปนำเสนอร้านหนังสือต่างๆ
  • เจ้าของร้านหนังสือหรือกรรมการ (สำหรับร้านหนังสือรายใหญ่) จะคัดเลือกหนังสือที่จะเอามาขายในร้าน โดยมีมาตรฐานในการทำธุรกิจร่วมกัน ดังนี้
    1. สำนักพิมพ์ต้องมีส่วนลดให้อย่างต่ำ 40%
    2. เครดิตจ่ายหลังส่งของ 3 เดือน
    3. คืนสินค้าได้
    4. ราคาหนังสือต้องไม่สูงเกินความเป็นจริง

        เมื่อดูแล้วก็จะเห็นว่าบ้านเราก็เป็นแบบเดียวกันคือร้านขายหนังสือกินหัวคิวไปแล้วถึง 40%
 

5. ค่าลิขสิทธิ์

        มาถึงส่วนที่น่าสงสัยที่สุด เราคงเคยเห็นข่าวนักเขียนดังๆ อย่าง J.K.Rowling หรือ Dan Brown ทำเงินจากนิยายของตัวเองเป็นล้านเหรียญ อยากรู้แล้วใช่ไหมว่าต่างประเทศเขามีวิธีคิดค่าลิขสิทธิ์เหมือนบ้านเราหรือเปล่า
 

อัตราค่าลิขสิทธิ์โดยรวม

        ก่อนอื่น มาตรฐานค่าลิขสิทธิ์ของต่างประเทศจะเริ่มตั้งแต่ 1 - 15% ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงคนแต่ง ประเภทหนังสือที่ออก (ปกแข็ง/ปกอ่อน) และจะจ่ายเปอร์เซ็นต์ให้ตาม 'ยอดขาย' ไม่ใช่ 'ยอดพิมพ์'
 
ชนิดหนังสือ ขั้น 1 ขั้น 2 ขั้น 3
Hardback/Hardcover (อัตราขั้นบันได) 10% 12% 15%
Trade Paperback 7.5 - 8% 10%
Paperback 7.5%
E-book 20-40%
* หนังสือที่นำมาขายลดราคา นักเขียนจะได้เปอร์เซ็นต์น้อยลงจากปกติ

        ขั้นต่ำของการตีพิมพ์หนังสือปกแข็ง (Hardback) จะอยู่ที่หลักหมื่นถึงแสน (ขึ้นอยู่กับความดังและความน่าจะขายได้) ส่วนปกอ่อน (Paperback) จะอยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ (แม้จะไม่ดังแต่ก็พิมพ์ได้เยอะหน่อยเพราะต้นทุนถูก)

        สมมติว่านิยายเล่มหนึ่งได้ตีพิมพ์แบบปกแข็ง (Hardback) ราคาขายต่อเล่มอยู่ที่ 15 เหรียญ (ถูกมากเลยนะเมื่อเทียบกับราคานิยายปกแข็งทั่วไป) เราตกลงเซ็นสัญญารับค่าลิขสิทธิ์เป็นอัตราขั้นบันไดเริ่มที่ 10% เท่ากับนิยายขายได้ 1 เล่ม เราจะได้เงินมา 1.50 เหรียญนั่นเอง (เล่มละประมาณ 40 บาท) อ่ะ ก็ดูเหมือนจะคุ้มนะ แต่รอนานกว่าจะได้เงินก้อนมาประทังชีวิตใช่ไหม?

        ไม่ต้องห่วง เรามีข่าวดี
 

เงินล่วงหน้า

        สำหรับต่างประเทศ สำนักพิมพ์จะมี 'เงินล่วงหน้า' ให้ก่อนหนังสือวางขาย อัตราจะอยู่ที่ 1,000 - 10,000 เหรียญ (ขึ้นอยู่กับความดัง) มาตรฐานก็ประมาณ 5,000 เหรียญ

        เมื่อคิดเป็นเงินไทยแล้ว เราคงตาลุกวาว เพราะได้เป็นแสนเลยทีเดียว แต่เดี๋ยวก่อน...ฟังข่าวร้ายก่อน

        เจ้า 'เงินล่วงหน้า' ที่ว่านี้ไม่ได้ให้เปล่านะจ้ะ ไม่เหมือนบ้านเราที่หลายสำนักพิมพ์จะให้ค่าลิขสิทธิ์แบบเหมาจ่ายไปเลย ขายได้ไม่ได้สำนักพิมพ์รับผิดชอบเอง เงินก้อนแรกนี้ที่นักเขียนได้มามันก็คือเงินล่วงหน้าสมชื่อจริงๆ เพราะมันเป็นเงินที่นักเขียนควรจะได้จากการวางขายหนังสือในอนาคตข้างหน้า

        เงิน 5,000 เหรียญมาจากไหน เอากรณีสมมติข้างบนมาคิดค่ะ เราได้เงินจากหนังสือที่ขายได้เล่มนึง 1.50 เหรียญ ก็ต้องขายให้ได้ราว 3,334 เล่ม ถึงจะได้เงินก้อนนี้มา เท่ากับว่าเมื่อเราได้ 'เงินล่วงหน้า' มาแล้ว พอหนังสือวางขายจริงๆ เจ้า 3,334 เล่มแรกที่ขายได้ เราไม่ได้เงินแล้วนะ เพราะเขาถือว่าเขาให้เราแล้ว มาเริ่มนับเงินใหม่เล่มที่ 3,335 เลย
 

(ภาพตัวอย่างแสดงเงินที่นักเขียนจะได้โดยคิดที่อัตรา 10% ต่อยอดขายทั้งหมด)

        แต่ความจริงที่น่าโหดร้ายยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ อย่าลืมว่านักเขียนต้องแบ่งเงินให้เอเย่นต์ด้วย 10-15% แล้วแต่จะตกลงกัน ไหนจะจ่ายภาษีอีก จาก 5,000 เหรียญจะเหลือเท่าไรกันเชียว

        และใช่ว่าอีก 2,499 เหรียญจะนอนรอตัดยอดแล้วได้มาเลย ก็ต้องมาดูอีกว่าจนถึงวันตัดยอดขายได้เพิ่มจาก 3,334 เล่มอีกเท่าไร ถ้าขายได้แค่ 2 เล่ม ก็เอาเงินไป 3 เหรียญแล้วกัน
 

ตัดยอด

        สำหรับบ้านเรา บางสำนักพิมพ์ที่เสนอจ่ายค่าลิขสิทธิ์ตามยอดขายให้นักเขียนคงจะมีปัญหาเรื่องรอตัดยอด เพราะร้านหนังสือจะนับสต๊อกหนังสือทุก 3 เดือนแล้วส่งจำนวนเล่มที่ขายได้กลับมาให้สำนักพิมพ์ นั่นคือแม้หนังสือจะขายได้แล้ว ก็ใช่ว่านักเขียนจะไปยืนหน้าเคาน์เตอร์แล้วขอเงิน ณ เดี๋ยวนั้นเลย แต่ต้องรอถึง 3 เดือน

        เช่นเดียวกันกับต่างประเทศ แต่ที่นี่นานกว่า ร้านขายหนังสือรายใหญ่รายย่อยจะตัดยอดทุก 6 เดือน (แม่เจ้า) นั่นคือทุกวันที่ 30 มิ.ย. และ 31 ธ.ค. หลังจากนั้นต้องรออีก 2-3 เดือนกว่ายอดจะเดินทางมาถึงสำนักพิมพ์ (แต่หนังสือที่ขายเป็น E-book จะตัดยอดเป็นรายเดือนหรือรายสี่เดือน เพราะยอดขายทั้งหมดบันทึกไว้ในระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว)

        ถ้าหากหนังสือออกเดือนพฤษภาคม เท่ากับว่าเรามีเวลาเพียงเดือนกว่าๆ ในการเก็บยอด ซึ่งสำหรับนักเขียนโนเนมแล้ว เตรียมตัวกินแกลบได้เลยค่ะ
 

ค่าลิขสิทธิ์ของจริง

        โอเค กลับไปที่นิยายปกแข็งราคา 15 เหรียญของเรากันอีกรอบ นักเขียนคนนั้นได้เงินงวดแรกมาแล้ว 5,000 เหรียญ หนังสือออกเดือนกุมภาพันธ์ เท่ากับมีเวลาเหนาะๆ สี่เดือนกว่าในการขาย และโชคดีเหลือเกินที่สองเดือนแรกหนังสือขายได้เกิน 3,334 เล่ม เท่ากับว่าสำนักพิมพ์ได้เงิน 5,000 เหรียญที่จ่ายมาก่อนกลับไปแล้ว เมื่อปิดยอดเดือนมิถุนายน หนังสือขายได้เพิ่มอีก 20,000 เล่ม (รวมเป็น 23,334 เล่ม) เท่ากับว่าสำนักพิมพ์ต้องจ่ายเงินให้นักเขียน 10% ตามยอดขายที่เพิ่มขึ้นมา ก็ราวๆ 30,000 เหรียญ

        แต่นักเขียนจะหายใจทั่วท้องแล้วจริงหรือ?

 

เงินเผื่อเรียกคืน (Reserves against Returns)


        ยังค่ะ 30,000 เหรียญไม่ใช่เงินเบ็ดเสร็จที่นักเขียนจะได้ จากเงินก้อนนี้ นักเขียนจะโดนหักค่า 'เงินเผื่อเรียกคืน' ราวๆ 30-60% แล้วแต่ประเภทหนังสือและโอกาสที่มันจะขายได้

        'เงินเผื่อเรียกคืน' คือเงินที่สำนักพิมพ์จำเป็นต้องกันไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำรอง กรณีที่ร้านหนังสือส่งหนังสือที่ขายไม่ได้คืนมา อันนี้เป็นข้อตกลงพื้นฐานในวงการสินค้าประเภทงานสร้างสรรค์ คือร้านค้าสามารถส่งคืนให้ต้นสังกัดเพื่อขอเงินคืนหรือขอเครดิตได้ (ระยะเวลาคืนอยู่ที่ 6 เดือนหลังจากวันตีพิมพ์)

        เมื่อร้านหนังสือส่งของคืนมา สำนักพิมพ์ก็ต้องจ่ายเงินกลับไป หรือให้เป็นเครดิตสำหรับสั่งหนังสือครั้งต่อไป แต่เงินส่วนนี้นักเขียนต้องเป็นคนออกเอง

        เท่ากับว่านิยายราคา 15 เหรียญที่ขายได้ 23,334 เล่มของเรา นักเขียนจะได้เงินเพิ่มจากเงินล่วงหน้าทั้งหมด 15,000 เหรียญ (หักที่ 50%) หลังจากนั้นค่อยเอามาหักให้เอเย่นต์ และหักภาษีตามกฎหมายต่อไป

        แต่ใช่ว่าเงินเผื่อเรียกคืนที่หักไปจะหายไปเลย สำนักพิมพ์จะเก็บเงินไว้เป็นเวลา 4 รอบการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ (หรือ 2 ปีนั่นเอง) หลังจากนั้นถ้าไม่มีการส่งหนังสือคืน สำนักพิมพ์ก็จะให้เงินเราคืนมาเต็มจำนวน

        นักเขียนสามารถต่อรองขอให้สำนักพิมพ์ให้เงินเต็มจำนวนได้ แล้วค่อยส่งบิลมาเก็บกับนักเขียนทีหลังเมื่อต้องจ่ายค่าคืนหนังสือ แต่วิธีนี้สำนักพิมพ์จะไม่ค่อยยอมเท่าไร เพราะเขากลัวว่านักเขียนจะเอาเงินไปใช้หมดแล้วไม่เหลือเงินมาจ่าย
 

6. ขายไม่ออก

        หัวข้อนี้ไม่ค่อยอยากอ่านเท่าไรเนอะ เหมือนตัดกำลังใจ แต่สำหรับนักเขียนที่หนังสือขายไม่ออกหรือขายได้น้อยไม่ต้องแปลกใจ เป็นเรื่อง 'ปกติ' จริงๆ แม้แต่ในต่างประเทศที่มีคนอ่านหนังสือเยอะกว่าบ้านเราก็ไม่ได้หมายความว่านักเขียนทุกคนจะดังแบบจอร์จ อาร์ อาร์ มาร์ติน

        นักเขียนที่แม้ผลงานจะเข้าตากรรมการ ได้ตีพิมพ์แล้ว แต่หากยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า สำนักพิมพ์มีสิทธิ์เรียกคืนเงินล่วงหน้าที่ให้ไปได้ด้วย (อูยยยย) แล้วแต่ว่าตกลงกันไว้อย่างไร

        นอกจากนี้นิยายที่ขายไม่ดี หรือขายไม่ออก บางทีก็จะโดนฉีกปก (Stripped) หรือส่งคืนสำนักพิมพ์เพื่อส่งไปขายลดราคา (Remaindered) ตามที่ต่างๆ ต่อไป
 

Stripped Book

        Stripped Book หรือหนังสือที่ถูกฉีกปก คือนิยายปกอ่อน (Paperback) ที่ขายไม่ได้ และร้านหนังสือต้องส่งคืนสำนักพิมพ์เพื่อขอเงินคืน แต่เนื่องจากหนังสือพวกนี้มีปริมาณมาก ทำให้ค่าขนส่งสูง ไม่คุ้มต่อการส่งคืน ร้านหนังสือก็เลยต่อรองกับสำนักพิมพ์ว่าจะขอฉีกปกแล้วส่งคืนให้แค่ปกนะ เพื่อเป็นหลักฐานว่าหนังสือที่ถูกฉีกปกเหล่านี้จะไม่เอาไปขายต่อแน่นอน

        เราอาจจะคิดว่าบ้าหรือเปล่า ให้เอาหนังสือไปฉีกทิ้ง แทนที่จะส่งกลับมาแล้วสำนักพิมพ์เอาไปขายต่อ ได้ไม่ได้ก็ยังดีกว่าโยนทิ้งไปเปล่าๆ แต่สำนักพิมพ์เขาก็ไม่กล้าต่อรองอะไรมากหรอกค่ะ ไม่อย่างนั้นร้านหนังสือพวกนี้ก็จะไม่สั่งหนังสือจากสำนักพิมพ์ หรือไม่สำนักพิมพ์ก็ต้องออกค่าขนส่งเอง ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วว่าไม่คุ้ม ที่จะเก็บสต๊อกก็ไม่มี แถมต้องมาเสียค่าส่งไปขายที่อื่นอีก เลยยอมเลยตามเลย

        แต่ใช่ว่า Stripped Book จะโดนทำลายเสมอไป แม้สำนักพิมพ์จะประกาศอยู่โต้งๆ ในหน้าแรกว่า "ถ้าคุณซื้อหนังสือเล่มนี้โดยไม่มีปก คุณกำลังทำผิดกฎหมายอยู่ เพราะเงินที่ได้จากการขายหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ตกที่ผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์" แต่พนักงานร้านหนังสือก็ยังแอบเอาออกไปขายตามตลาดมืด

        จะให้เอา Stripped Book ไปบริจาคก็ไม่ได้อีก เพราะหนังสือพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นนิยายสำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เหมาะจะเอาเข้าห้องสมุด
 

Remaindered Book

        Remaindered Book คือนิยายปกแข็ง (Hardback) ที่ขายไม่ออก แต่ต้นทุนการผลิตสูง จึงยอมให้ส่งคืนสำนักพิมพ์ในสภาพสมบูรณ์เพื่อเอาไปขายลดราคาแทน

        เรา ในฐานะนักเขียน เห็นงานของเราโดนขายเลหลังหรือโดนฉีกปกก็ใจสลายเหมือนกันเนอะ แบบนี้สู้ไม่ตีพิมพ์เลยยังดีเสียกว่า

        และใครที่กำลังถอดใจว่าส่งต้นฉบับไม่ผ่านสักที มาดูสถิติจากนักเขียนบทความ Dee Power ที่ไปสำรวจเอเย่นต์เจ้าต่างๆ ผลปรากฏว่าเอเย่นต์ที่มีชื่อเสียงกลางๆ จะได้รับต้นฉบับต่อปีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 เรื่อง และมีแค่ 11 เรื่องเท่านั้นที่ได้ไปต่อ

        เท่ากับว่ามีอัตรานักเขียนเกิดใหม่ต่อปีอยู่ที่ 1:500 ส่วนอัตราในการขายได้ระดับ Best-Seller นี่ไม่ต้องพูดถึง

        หากเปรียบเทียบกันแล้วก็คงต้องบอกว่านักเขียนในต่างประเทศนั้นมีอุปสรรคมากกว่าบ้านเราเยอะ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายนู่นนั่นนี่ที่จะต้องเสีย ไหนจะแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้เอเย่นต์ หนังสือที่เอาไปจัดโปรโมชั่นลดราคาก็ต้องรับผิดชอบส่วนต่าง ไหนจะโดนภาษีสองเด้งอีก (ที่อเมริกาเก็บภาษีนักเขียนจากรายได้หนึ่งเด้งตามอัตราภาษีก้าวหน้า แต่อีกเด้งเป็นภาษีผู้ประกอบอาชีพอิสระ)

        อย่างไรก็ดี นักเขียนในต่างประเทศนั้นถ้าดังก็จะดังเปรี้ยงปร้างเลยทีเดียว แถมนิยายของพวกเขายังมีโอกาสได้ตีพิมพ์เป็นภาษาอื่น สร้างเป็นภาพยนตร์ หนังสือเสียง E-book หรือละครทีวี เป็นรายได้เพิ่มเติมมาอีก

        เรียกว่าเป็นเส้นทางที่มีแต่เศษแก้ว แต่รางวัลที่ปลายทางก็คุ้มกับการเจ็บตัวอยู่นะ
 
 ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.brandewyne.com/writingtips/authorspaid.html
http://jeanienefrost.com/2010/01/publishing-money-myths
http://www.sfwa.org/other-resources/for-authors/writer-beware/agents
http://vickihinze.com/on-writing/business-reserves-against-returns
http://sinandsyntax.com/talking-shop/on-bucks-and-books
http://www.slj.com/2013/06/research/sljs-average-book-prices-2013
http://www.absolutewrite.com/novels/bookstore_shelves.htm
http://taxes.lovetoknow.com/freelance-writers-estimated-taxes

ขอบคุณภาพประกอบจาก
http://cynthialeitichsmith.blogspot.com
http://blog.patrickrothfuss.com
http://www.digitaltrends.com
http://www.highspeedinternetdeals.org
http://www.booksbythefoot.com
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Satans Member 8 มี.ค. 57 19:11 น. 6

กลัวการฉีกปกที่สุดเลยละคะยิ่งกว่าการไม่ได้ตีพิมเสียอีก ลองนึกภาพนิยายที่เราอุสานั้งแต่งแทบตายแต่ดันขายไม่ออกแล้วโดนฉีกปก เสียใจเสียใจ ต้องเก่ง อึด ทน หน้ากระดาษทรายด้วย ถ้าเป็นเราส่งไปแล้วไม่ผ่านความมั่นใจหายเกินครึ่งมืดมน

3
editor_nong Member 8 มี.ค. 57 19:56 น. 6-1
เจ็บปวดยิ่งกว่าคือไปเจอหนังสือตัวเองที่ "โดนฉีกปก" แล้ว "ขายในตลาดมือสอง" หวาา ต้องเสียเงินให้หนังสือพวกนี้ตอนเขาส่งคืนสำนักพิมพ์แล้ว ยังมาเจอคนขายหนังสือตัวเองเอากำไรโดยที่ตัวเองไม่ได้สักบาท เสียใจ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
black.rainbow Member 7 มี.ค. 57 20:53 น. 4

เก่งอย่างเดียวไม่ได้นะเนี่ยนักเขียนต่างประเทศ ต้องอึด ทน ตายยากด้วย<<เผื่อสนพ.พิจารณาช้าจะได้ไม่ตายก่อนได้ตีพิมพ์

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด

26 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
black.rainbow Member 7 มี.ค. 57 20:53 น. 4

เก่งอย่างเดียวไม่ได้นะเนี่ยนักเขียนต่างประเทศ ต้องอึด ทน ตายยากด้วย<<เผื่อสนพ.พิจารณาช้าจะได้ไม่ตายก่อนได้ตีพิมพ์

0
กำลังโหลด
Eclair&Xandria Member 7 มี.ค. 57 20:55 น. 5

สะพรึงกับการฉีกปกนี่ล่ะค่ะ TvT รู้สึกเจ็บแทนหนังสือเลยทีเดียว

ว่าแต่สงสัยนิดหนึ่งค่ะ เกี่ยวกับหนังสือปกแข็ง เคยซื้อมาเห็นมีอยู่สองแบบ แบบแรกปกมีอยู่ชั้นเดียว คือกระดาษแข็งไปเลย ภาพปก ชื่อเรื่อง ลวดลาย อะไรต่างๆ อยู่บนประดาษแผ่นนั้นหมด กับอีกแบบจะมีสองชั้น ชั้นหนึ่งก็คล้ายๆ แบบแรก แต่จะปกแข็งเรียบๆ ไม่มีลวดลาย หรืออย่างมากก็ชื่อเรื่องกับนักเขียน แล้วก็จะมีกระดาษอ่อนๆ ทับอีกชั้น(คล้ายๆ หนังสือการ์ตูนน่ะค่ะ)โดยกระดาษแผ่นนี้จะมีลวดลายปกสวยงาม ทั้งสองแบบนี้คือ Hardcover เหมือนกันใช่มั้ยคะ ;w; ?

2
editor_nong Member 8 มี.ค. 57 19:53 น. 5-1
โอ้ เรื่องนี้ยาวค่ะ ตอบสั้นๆ มันคือ Hardcover เหมือนกันค่ะ ตอบยาวๆ ต้องเล่าย้อนกลับไปสมัยก่อนที่เทคโนโลยีการพิมพ์ยังไม่ก้าวหน้าขนาดนี้ หนังสือที่เขาพิมพ์กันคือสินค้าราคาแพงที่ทำปกด้วยกระดาษแข็ง หุ้มด้วยผ้าหรือหนัง ระหว่างการขนส่งเขาจะห่อด้วยกระดาษเพื่อกันรอยและกันฝุ่น มันเรียกว่า dust jacket ค่ะ พอเวลาผ่านไป เทคโนโลยีดีขึ้นมาหน่อย หนังสือเริ่มจับต้องได้มากขึ้น สำนักพิมพ์ก็ทำตลาดด้วยการออกแบบ dust jacket ให้เป็นภาพต่างๆ (คือปกนิยายนี่เอง) หุ้มทับปกแข็งที่ไม่มีอะไรบนปกเลย แต่จะมีชื่อเรื่อง ชื่อคนแต่งกับลวดลายตรงสันแทน (ถ้าเข้าไปดูห้องสมุดโรงเรียนจะเจอหนังสือแบบนี้อยู่ค่ะ) จุดประสงค์ของ dust jacket เลยค่อยๆ เปลี่ยนจากป้องกันหนังสือเป็นให้ความสวยงามและมีพื้นที่โฆษณาหนังสือเพิ่มด้วย ทุกวันนี้หนังสือ hardcover ก็ยังมี dust jacket อยู่ค่ะ เป็นกระดาษมันหุ้มปกแข็งอีกชั้น แต่มันจะมีอีกแบบเรียกว่า casewrapper เป็นกระดาษมันนี่แหละ แต่เขาจะทากาวติดกับตัวปกแข็งเลย (หนังสือปกแข็งบ้านเราทำแบบนี้) อาจจะสงสัยว่าทำไมไม่สกรีนรูปลงปกแข็งไปเลย ทำกระดาษห่อทำไม ต้นทุนมันสูงค่ะ ทำปกแข็งโล้นๆ แล้วหุ้มด้วยปกอ่อนอีกทีมันถูกกว่า คนต่างชาติเขาเน้นการเก็บรักษา มากกว่าความสวยงาม เลยไม่ค่อยสนใจปกพวกนี้เท่าไร ตอนนี้ก็มีการถกเถียงกันเรื่องใช้เจ้า dust jacket เพราะนักสะสมบางคนก็บอกฉันซื้อมาก็โยนทิ้งจ้ะ เก็บไว้ทำไม เวลาอ่านก็ชอบเลื่อนไปเลื่อนมา บางทียับเองอีก กันฝุ่นก็ไม่ได้เพราะฝุ่นลงบนสันหนังสือหมด แต่ในขณะเดียวกันเจ้า dust jacket พวกนี้ก็เป็นของสะสมของหนอนหนังสือบางคนที่รักความสวยงามด้วย อยากเก็บรักษาด้วย (บางคนก็จัดการห่อปกใสทับเจ้านี่อีกที) หนังสือเก่าๆ ที่มีเจ้า dust jacket นี่บางทีขายได้ราคาสูงกว่าที่ไม่มีอีก (เพราะสมัยก่อนนู้นก็ซื้อมาโยนทิ้งกันหมด) เยี่ยม
0
กำลังโหลด
Satans Member 8 มี.ค. 57 19:11 น. 6

กลัวการฉีกปกที่สุดเลยละคะยิ่งกว่าการไม่ได้ตีพิมเสียอีก ลองนึกภาพนิยายที่เราอุสานั้งแต่งแทบตายแต่ดันขายไม่ออกแล้วโดนฉีกปก เสียใจเสียใจ ต้องเก่ง อึด ทน หน้ากระดาษทรายด้วย ถ้าเป็นเราส่งไปแล้วไม่ผ่านความมั่นใจหายเกินครึ่งมืดมน

3
editor_nong Member 8 มี.ค. 57 19:56 น. 6-1
เจ็บปวดยิ่งกว่าคือไปเจอหนังสือตัวเองที่ "โดนฉีกปก" แล้ว "ขายในตลาดมือสอง" หวาา ต้องเสียเงินให้หนังสือพวกนี้ตอนเขาส่งคืนสำนักพิมพ์แล้ว ยังมาเจอคนขายหนังสือตัวเองเอากำไรโดยที่ตัวเองไม่ได้สักบาท เสียใจ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
วัชรกาญจน์ Member 9 มี.ค. 57 09:32 น. 8

หาข้อมูลได้ล้ำลึกและรอบด้านมาก เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนและอยากรู้มานานแล้ว

ยอดเยี่ยมมากครับ ขอบคุณ editor_nong

รักเลย

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
editor_nong Member 11 มี.ค. 57 15:15 น. 14-1
แต่เป็นนักเขียนในไทยจะง่ายหน่อยนะคะ คือส่งต้นฉบับกับสำนักพิมพ์โดยตรงเลย และส่วนใหญ่นักเขียนไม่ต้องรับผิดชอบกับการขาดทุนเท่าไร เยี่ยม
0
กำลังโหลด
วอล์คกี้ง-บอมบ์ Member 11 มี.ค. 57 17:01 น. 15

(น่าสะพรึงฉะนี้เอง... มืดมน )

ไม่มีฝั่ง ญี่ปุ่น หรือครับ

อยากให้เอา่มาลงมากๆ เลย ^^

ปล.หน้าจอขยาย แล้วเกิดอาการดังกระทู้นี้ http://www.dek-d.com/board/view/3153714 อีกแล้วครับ...

1
editor_nong Member 12 มี.ค. 57 09:16 น. 15-1
ฝั่งญี่ปุ่นถ้าเป็นข้อมูลเชิงลึกจริงๆ คงต้องหาเป็นภาษาญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งพี่ไม่สามารถขนาดนั้น เสียใจ ปัญหาหน้าจอขยายส่งรูปมาที่ writerแอทdek-d.com ได้เลยนะคะ ระบุ browser ที่ใช้เข้าด้วย เยี่ยม
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
゛nine-tailed.FOX✿ Member 14 มี.ค. 57 16:10 น. 19

ขอบคุณมากค่ะ ' :)

ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากจริงๆ ...

ลึกๆในใจ ก็วาดวิมานในอากาศเอาไว้เหมือนกัน

อยากสร้างประวัติศาสตร์ของชีวิตด้วย .. BEST SELLER !!

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด