วิถีล่าฝัน ของ สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ นักเขียนบทละครโทรทัศน์เลือดใหม่


วิถีล่าฝัน ของ สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ นักเขียนบทละครโทรทัศน์เลือดใหม่

 

"ตัวกินฝัน ตัวกินความฝันของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางตัวก็ถูกฝังอยู่ในหัวของเราเอง เช่น ความกลัว ความอาย ความขี้เกียจ คำสบประมาทจากคนรอบๆ การผัดวันประกันพรุ่ง ไม่เริ่มลงมือทำตามฝันเสียที สิ่งเหล่านี้ผมเรียกว่าเป็นตัวกินฝันชั้นยอด ผู้คนจำนวนไม่น้อยตายไปพร้อมๆ กับความฝัน ตั้งแต่ยังไม่ลงมือทำมันเสียด้วยซ้ำ"
 

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวเด็กดี ได้เวลาตั้งวงสนทนาเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ของเหล่านักเขียนมืออาชีพแล้วค่ะ โดนใจกันไหมคะสำหรับประโยคที่พี่อรหยิบยกมาเปิดเรื่อง ถ้าคำตอบคือ "ใช่" บอกเลยว่านี่ยังเป็นแค่น้ำจิ้มสำหรับ กอล์ฟ หรือ สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ นักเขียนมากฝีมือที่สร้างสรรค์ผลงานมาแล้วหลากหลายทั้ง นวนิยาย เรื่องสั้น หนังสือสาระสำหรับเด็ก รวมไปถึงบทละครโทรทัศน์ ใครที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียน หรือ นักเขียนบทละครโทรทัศน์บอกเลยว่าครั้งนี้ห้ามพลาด!

ช่วยแนะนำตัวเองกับน้องๆ หน่อยค่ะ
กอล์ฟ: สวัสดีครับ ผม สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ เรียกผมว่า “กอล์ฟ” ก็ได้ครับ จุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนเริ่มจากเป็นคนชอบวิชาภาษาไทย ชอบอ่านหนังสือ และดูละครโทรทัศน์มาตั้งแต่เด็ก สมัยนั้นสื่ออินเตอร์เน็ตและเว็บไซต์ต่างๆ ยังไม่มีครับ คนที่อยากเป็นนักเขียนต้องส่งต้นฉบับไปยังสำนักพิมพ์เอง ตอนนั้นที่บ้านไม่มีคอมพิวเตอร์ ต้องพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดจิ้มทีละอักษรแล้วส่งไปยังสำนักพิมพ์ ผมเริ่มส่งเรื่องสั้นแนวผีๆ ลงนิตยสารครั้งแรกตอนอยู่ ม.3 ครับ (ประมาณปี พ.. 2542) เรื่องแรกตีพิมพ์ได้รับค่าต้นฉบับ 150 บาท หลังจากนั้นก็เลยส่งเรื่องสั้นเป็นประจำ พอจบ ม.6 สอบได้โควตาวิศวะ แต่ปฏิเสธเพราะเริ่มรู้ตัวว่าชอบทางขีดๆ เขียนๆ ถ้าเรียนวิศวะชีวิตต้องเฉาแน่ เลยเสี่ยงเอนทรานซ์เลือกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัยเป็นอันดับ แล้วก็สมความตั้งใจ ที่เลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์ก็เพราะว่าใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนจริงๆ และได้พัฒนาทักษะการใช้ภาษาเรื่อยมา เพื่อหวังว่าสักวันจะได้เป็นนักเขียนกับเขาบ้าง


แต่พอเรียนจบมาก็ยังไม่ได้เป็นนักเขียนหรอกครับ เป็นครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ก่อน แต่ก็ได้รู้จักสคริปต์รายการ และภาษามุมกล้องในช่วงนี้ หลังจากทำงานได้เกือบปีก็ตัดสินใจมาเป็นนักเขียนอย่างที่ตั้งใจไว้ เริ่มจากการเป็นนักเขียนหนังสือสาระความรู้สำหรับเด็ก เช่น นิทานพื้นบ้าน 4 ภาค ประวัติศาสตร์ และตำนานบุคคลสำคัญจนมีผลงานออกมาทั้งสิ้น 22 เล่ม แล้วก็เป็นคอลัมนิสต์เรื่องสั้นแนวลึกลับให้กับนิตยสาร “เล่มโปรด” แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจที่จะเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ อาจเป็นเพราะว่าผมผูกพันกับละครโทรทัศน์มาตั้งแต่เด็ก การเข้ามาเป็นนักเขียนบทโทรทัศน์นั้นไม่ง่ายเลยครับ เพราะส่วนใหญ่มักเป็นนักเขียนมีชื่อที่มีประสบการณ์มาแล้ว

หลังจากเป็นนักเขียนประจำที่สำนักพิมพ์ได้ประมาณ 2 ปีกว่าก็ตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาโทที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาสื่อสารการแสดง เพราะอยากศึกษาทางนี้โดยตรง ในระหว่างที่เรียนปริญญาโทนั้น ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และช่อง 7 ได้จัดโครงการ “ค้นหาคนเขียนบท” ขึ้น ผมเลยลองสมัครเข้าแข่งขัน รอผลการตัดสินอยู่เป็นปี จนกระทั่งผลปรากฏว่าเข้ารอบทั้ง 2 ที่ ก็เลยสมหวังเริ่มเข้ามาทำงานด้านบทละครโทรทัศน์ โดยเริ่มเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง “เหนือมนุษย์” ทางช่อง 7 เป็นเรื่องแรกโดยมีพี่หนึ่ง คฑาหัสต์ บุษปะเกศ เป็นหัวหน้าทีม ในระหว่างนั้นก็เขียนบทโทรทัศน์ไปด้วยและเรียนปริญญาโทไปด้วย ได้รับโอกาสจาก คุณไพรัช สังวริบุตร เมตตาให้เขียนบทโทรทัศน์ให้กับช่องจ๊ะทิงจา เป็นละครสั้นๆ สำหรับเด็ก และบทการ์ตูนแอนิเมชั่นเอื้อยอ้าย ทางช่อง 9 อสมท.


บทละครโทรทัศน์เรื่องแรกของคุณกอล์ฟ
 

          ครั้งหนึ่งในชีวิตรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้ร่วมเขียนบทละครกึ่งสารคดีเรื่อง “ธิราชเจ้าจอมสยาม” ทางช่องไทยพีบีเอสร่วมกับคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือคุณทมยันตี ทำให้ได้วิชาความรู้ในการถ่ายทอดเรื่องราวจากท่านอย่างยิ่ง ส่วนผลงานบทละครโทรทัศน์ที่ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักคือเรื่อง “อำแดงเหมือนกับนายริด” คุณสถาพร นาควิไลโรจน์ เป็นผู้กำกับ ระหว่างนั้นก็ทำพล็อตนิยายเรื่อง “คุ้มนางครวญ” เพื่อเสนอให้กับทาง บริษัท เอ็กแซกท์ ทำเป็นบทละครโทรทัศน์ไปด้วย หลังจากนั้นจึงมาเขียนให้กับทางช่อง 3 โดยเขียนบทให้กับทาง บริษัท แอคอาร์ต เจนเนอเรชั่น เรื่อง เวียงร้อยดาว และซีรีส์เลือดมังกร ตอนหงส์ ตามลำดับครับ



ละครน้ำดีที่ไปคว้ารางวัล โทรทัศน์แห่งปี ในงาน Nine entertain awards 2013
 

คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของอาชีพนักเขียนบทละครโทรทัศน์
กอล์ฟ: ละครโทรทัศน์เป็นสื่อสารมวลชนที่เข้าถึงคนได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น ฉะนั้นการเขียนบทละครโทรทัศน์ให้ผู้ชมทุกกลุ่มรู้สึกร่วมกันว่า “สนุก” จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความสนุกไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว รวมทั้งการทำตามเงื่อนไขที่ได้รับมอบหมายจากทางผู้ผลิตก็เป็นความท้าทายที่ต้องเล่าเรื่องตามโจทย์ที่กำหนด การเขียนบทละครโทรทัศน์จึงถือว่าคือการทำงานเป็นทีม เสน่ห์ของอาชีพนักเขียนบทละครโทรทัศน์คือ สามารถสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมบางอย่างได้ เช่น การเกิดกลุ่มแฟนคลับละคร แฟนคลับนักแสดง หรือสร้างประเด็นให้เป็นที่ถกเถียงกันในสังคมได้ นอกจากนี้ละครโทรทัศน์ยัง เป็นทนายคอยแก้ต่างและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสังคม เนื้อหาที่ปรากฏวนเวียนซ้ำซากย่อมสื่อถึงปัญหาสังคมเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ปัญหาครอบครัว ความเหลื่อมล้ำ พฤติกรรมความรุนแรง และอคติทางเพศ เป็นต้น
 

สิ่งที่นักเขียนบทละครโทรทัศน์จะต้องระมัดระวังคืออะไร
กอล์ฟ: นักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่ดีต้องรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในเรื่องความถูกต้องของข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบท และการถ่ายทอดเรื่องราวที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น การเพาะบ่มค่านิยมไม่พึงประสงค์บางประการให้แก่เยาวชน อาทิ เรื่องความรุนแรง และเรื่องเพศ เป็นต้น บทละครโทรทัศน์ที่ดีไม่ใช่เพียงแต่เป็น “กระจก” ส่องสะท้อนภาพปัญหาความเหลวแหลกด้านลบของสังคมเท่านั้น หากแต่ยังต้องทำหน้าที่เป็น “ตะเกียง” เพื่อส่องทางให้สังคมด้วย อยากให้ตั้งคำถามก่อนลงมือเขียนทุกครั้งว่า “ต้องการจะบอกอะไรกับสังคม?” ทั้งนี้เพราะละครโทรทัศน์เป็นสื่อมวลชนที่สามารถเข้าถึงได้ในวงกว้าง จึงค่อนข้างถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนโดยเฉพาะการนำเสนอประเด็นที่ค่อนข้างหมิ่นเหม่หรือขัดต่อจริยธรรม ศีลธรรม ตลอดจนรากฐานความคิด ความเชื่อ และสถาบันต่างๆ ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำเสนอ 

คุณกอล์ฟ ในงานเสวนา "จากวรรณกรรม สู่จอแก้วในยุคดิจิทัล"
 

ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการเขียนบทละครโทรทัศน์ต่อเรื่องนานแค่ไหน แล้วใช้เวลาในขั้นตอนไหนมากที่สุดเพราะอะไร
กอล์ฟ: ผมเป็นคนเขียนบทละครโทรทัศน์ค่อนข้างช้าครับ ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ตอนชั่วโมง ละคร เรื่องความยาวละครโทรทัศน์ประมาณ 24 ตอนชั่วโมง รวมแล้วก็ใช้ระยะเวลาประมาณ 6 - 8 เดือนต่อเรื่องครับ ขั้นตอนในการเขียนบทละครนั้นก็ตั้งแต่
1. 
การตีความและสร้างคาแรคเตอร์ตัวละครจากในนิยาย หรือเรื่องย่อตามเงื่อนไขที่ได้รับมอบหมาย
2. การจัดลำดับการเล่าเรื่อง หรือขั้นตอนการวางทรีตเมนท์ (treatment)
3. 
การเขียนบทละครโทรทัศน์ (Screenplay)
4. การตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องและแก้ไข
สำหรับขั้นตอนที่ใช้เวลามากที่สุดคือขั้นตอนการวางทรีตเมนท์ครับ เนื่องจากทรีตเมนท์เปรียบเสมือนพิมพ์เขียวของบทละครโทรทัศน์ในตอนนั้นๆ เป็นการจัดลำดับการเล่าเรื่องก่อน หลัง การจัดวางจังหวะการเล่าเรื่องให้เหมาะสม รวมทั้งการใช้เทคนิคต่างๆ ในการเล่าเรื่องให้มีความน่าสนใจ น่าติดตาม หากวางทรีตเมนท์ได้อย่างละเอียดและรัดกุมแล้ว ขั้นตอนการลงมือเขียนบทก็ใช้เวลาไม่นานนักครับ
 

ถ้าสนใจในอาชีพนักเขียนบทละครโทรทัศน์จะต้องเริ่มต้นจากตรงไหน
กอล์ฟ:สำรวจตัวเองว่าสนใจอยากทำอาชีพนี้จริงๆ หรือเปล่า ถ้าใช่ก็อย่ามัวรีรอครับ เริ่มต้นเดินตามความฝันเสียตั้งแต่วันนี้ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ของการเป็นนักเขียนก็คือ การไม่ยอมลงมือเขียนนั่นเอง ไม่ต้องกลัวว่าผลงานที่เขียนนั้นจะออกมาไม่ดี ผมเชื่อว่าน้องๆ ทุกคนมีศักยภาพในตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม ขอเพียงแต่อย่าหยุดฝันเท่านั้น นักเขียนที่ดีย่อมเริ่มต้นมาจากการเป็นนักอ่าน นักฟังที่ดีครับ นอกจากการอ่านหนังสือแล้ว ยังต้องรับฟังข่าวสารทางโทรทัศน์ เพื่อที่จะได้เปิดโลกทัศน์และมุมมองให้กว้างขึ้น ชอบเสพงานศิลปะหลายๆ แขนงทั้งภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ นวนิยาย และละครเวที รู้จักวิจารณ์ เนื่องจากการวิจารณ์จะนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ รวมทั้งเป็นคนช่างสังเกต และตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวรอบๆ ตัว สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะหล่อหลอมทำให้เราเป็นนักเล่าเรื่องในวันข้างหน้าครับ ที่สำคัญคือต้องทัศนคติที่ดีในการมองโลก โลกจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเราใส่แว่นตาสีไหนมอง นักเขียนคือผู้เสกฝันปั้นแต่งโลก เราสามารถจรรโลงโลกนี้ให้มีความดี ความงาม และความศรัทธาได้ด้วยปลายนิ้วของเรา
 

ส่วนใหญ่ปัญหาที่ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์จะต้องเจอคืออะไร และคุณกอล์ฟมีวิธีการจัดการกับมันอย่างไร
กอล์ฟ: บทโทรทัศน์ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ไม่มีบรรทัดฐานชี้วัดว่าบทแบบไหนออกมาแล้วจะประสบความสำเร็จที่แน่นอนตายตัว การเขียนบทละครโทรทัศน์จึงเปรียบเหมือนการทำแกงหม้อใหญ่ให้ผู้คนหลากหลายได้ลองชิมครับ เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะปรุงรสให้ถูกอกถูกใจผู้คนส่วนใหญ่ที่ชมละครโทรทัศน์ ตามเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่กำหนด รวมทั้งต้องนำเสนอประเด็นที่มีคุณค่ากับสังคมบางประการลงไปด้วย ละครที่ผลิตออกมา บางท่านอาจจะชอบ บางท่านอาจจะไม่ชอบ คำชมต่างๆ เก็บไว้เป็นกำลังใจให้หมั่นฝึกฝนพัฒนาผลงานต่อไป คำตำหนิติติงก็ยินดีขอน้อมรับไว้แก้ไขปรับปรุงในโอกาสหน้า ผมเป็นนักเขียนบทหน้าใหม่ ยังต้องฝึกฝนอีกมาก โชคดีที่ผมได้รับคำสอนจากครู “พี่ยุ่น ยิ่งยศ ปัญญา” ในการมองโลก มองชีวิต พี่ยุ่นสอนเสมอว่า “ละครต้องสะท้อนให้ถึงแก่นความเป็นมนุษย์ทุกวันนี้ผมตั้งใจเขียนบทละครโทรทัศน์ทุกเรื่องเสมือนเป็นเรื่องสุดท้ายในชีวิต เพราะนั่นจะทำให้เราทุ่มเทและตั้งใจอย่างสุดความสามารถ เพราะเราไม่รู้หรอกว่าละครเรื่องต่อไป ผู้ชมละครโทรทัศน์ยังคงอยากจะติดตามผลงานของเราอยู่หรือเปล่า ในเมื่อผมเดินทางมาจนถึงจุดหมายที่ผมฝันไว้ ผมก็จะตั้งใจทำมันอย่างดีที่สุด
 

ผลงานที่คุณกอล์ฟกำลังทำอยู่ตอนนี้มีอะไรบ้างช่วยเล่าให้ฟังหน่อย
กอล์ฟ: บทละครโทรทัศน์ซีรีส์ “เลือดมังกร” ตอน “หงส์” ของบริษัทแอคอาร์ตเจเนอเรชั่น จำกัด ทางช่อง เรื่องนี้ใช้เวลาเขียนบทนับตั้งแต่เริ่มประชุมกับทางพี่ออฟ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจงกว่า ปีครับ เป็นซีรีส์ดราม่าแอคชั่นที่สอดแทรกคุณธรรมเรื่อง “ความเมตตา” และวัฒนธรรมจีนเกี่ยวกับเรื่อง “งิ้ว”

ซีรีส์ “เลือดมังกร” ตอน “หงส์"

- บทละครโทรทัศน์เรื่อง “แสงปลายฟ้า” ทางช่องไทยพีบีเอส เรื่องราวที่สร้างจากแรงบันดาลใจของ "ดรกฤษณา ไกรสินธุ์ผู้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะผลิตยาต้านไวรัสร้ายที่คอยคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก จนกระทั่งผลิตตัวยา "ค็อกเทลซึ่งเป็นยาไวรัสต้านเอดส์ได้สำเร็จ

ละคร แสงปลายฟ้า

หนังสือออนไลน์ (E-Book) รวมเรื่องสั้นแนวหักมุม “หัว-หาย-ตาย-เฮี้ยน

นวนิยายเรื่อง คุ้มนางครวญ” ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อรุณในเครืออมรินทร์

ล่าสุดกำลังเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่องใหม่ให้กับทางบริษัทแอคอาร์ตเจเนอเรชั่น ทางช่อง อีกเรื่อง แต่เป็นเรื่องอะไรนั้นต้องขออุบไว้ก่อนครับ
 

ฝากถึงน้องๆ ที่อ่านบทความแล้วเกิดอยากจะเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์หน่อยค่ะ
กอล์ฟ: ผมเชื่อว่าทุกคนมีฝัน จะเป็นฝันใหญ่หรือฝันเล็ก ก็ขอเป็นหนึ่งกำลังใจให้ทุกคนไปให้ถึงความฝันนั้น และอย่าย่อท้อต่อ “ตัวกินฝัน” ตัวกินความฝันของแต่ละคนไม่เหมือนกันครับ บางตัวก็ถูกฝังอยู่ในหัวของเราเอง เช่น ความกลัว ความอาย ความขี้เกียจ คำสบประมาทจากคนรอบๆ การผัดวันประกันพรุ่ง ไม่เริ่มลงมือทำตามฝันเสียที สิ่งเหล่านี้ผมเรียกว่าเป็นตัวกินฝันชั้นยอดเลยล่ะครับ ผู้คนจำนวนไม่น้อยตายไปพร้อมๆกับความฝัน ตั้งแต่ยังไม่ลงมือทำมันเสียด้วยซ้ำ ความฝันเป็นปฏิกิริยาที่ช่วยเพิ่มพลังชีวิตให้มีความหมาย กระตุ้นความท้าทายที่จะทำอะไรต่อมิอะไร และถ้าหากมีตัวกินฝันเข้ามาจะทำลายฝันน้องๆ ล่ะก็ หาทางกินมันซะด้วยการพิสูจน์ให้เห็น แทนที่จะรอให้มันมากินฝันของเรา เป็นกำลังใจให้เพื่อนนักฝันทุกคนครับ ^^

บรรยากาศการสัมภาษณ์จบลงอย่างน่าประทับใจ สำหรับตัวพี่อรคิดว่าแนวคิดของคุณกอล์ฟเป็นแนวคิดทางบวกที่ให้กำลังใจดีจังค่ะ รู้ว่าตัวเองรักอะไรและอยากจะทำอะไร มีความชัดเจนกับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ จนสุดท้ายความฝันในการอยากเป็นนักเขียนก็ประสบผลสำเร็จ ออกดอกผลที่งดงาม น้องๆ เองก็อย่าเพิ่งยอมแพ้ให้กับตัวกินฝันนะคะ สู้ๆ ต่อไป พี่อรเชื่อว่าความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกลเกินไปสำหรับคนที่ทุ่มเทมากพอ แล้วพบกันฉบับหน้าค่ะ

^_______________^
พี่อร

พี่อร
พี่อร - Writer Editor คอลัมนิสต์ผู้เชื่อว่านิยายคือเพื่อนแท้ และเห็นอาหารการกินเป็นเรื่องของความสุข

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด