คลินิกนักเขียน : Exclusive 11 สร้างฉากในนิยายพีเรียดให้สมจริง Part II   
 
สวัสดีน้องๆ ชาว Writer ทุกคนจ้า กลเม็ดเคล็ดลับฉบับ Exclusive ของเรากลับมาอีกแล้ว วันนี้ เรามาสะสางอะไรที่ค้างคากันไว้ นั่นคือเรื่องนิยายพีเรียดนั่นเอง ครั้งก่อนหน้า เราสัมภาษณ์ วรรณวรรธน์ เจ้าของผลงาน ข้าบดินทร์ ที่กำลังออนแอร์อยู่ ณ ตอนนี้ พร้อมด้วย กานต์ญา และ ฐิญาดา สองนักเขียนรุ่นใหม่ไฟแรง (คนหลังนี่แว่วมาว่า ดังพรหมลิขิตรัก กำลังใกล้เป็นละครเต็มที)

อ่านบทความก่อนหน้าได้ที่นี่ค่ะ 
 

 
สำหรับครั้งนี้ พี่ตินมาพร้อมนักเขียนพีเรียดอีกสามคน ที่ล้วนแต่มีฝีมือทั้งสิ้น คนแรกก็คือ น้ำฟ้า เจ้าแม่พีเรียด คนที่สอง ปราณธร นักเขียนหลากแนว และคนสุดท้าย สรรัตน์ นักเขียนบทโทรทัศน์ที่กำลังมีผลงานออนแอร์คือ แสงปลายฟ้า ของช่องไทยพีบีเอส เรียกว่าทั้งสามคนต่างมีของ และพร้อมถ่ายทอดเคล็ดลับให้น้องๆ ชาวเด็กดีอย่างเต็มที่   
 
ขอเริ่มกันที่ น้ำฟ้า ก่อนเลยแล้วกันจ้ะ นักเขียนเจ้าแม่พีเรียด สาวเหนือผู้น่ารักใจดี คุณครูของเด็กๆ ทุกคน พี่น้ำฟ้าได้สรุปเคล็ดลับการเขียนนิยายพีเรียดให้สนุกและสมจริงมาไว้ดังนี้
  
น้ำฟ้า
"นิยายพีเรียดเป็นนิยายที่มีกลิ่นอายแห่งอดีตอบอวลไปทุกอณู ความยากของมันจึงอยู่ที่ ผู้เขียนจะต้องบรรยายให้ผู้อ่านเชื่อ และเกิดจินตนาการประหนึ่งกำลังดำดิ่งไปสู่ห้วงอดีต ซึ่งกว่าจะทำได้ดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ผู้เขียนจะต้องมีความรู้หรือข้อมูลมากพอสมควร มากพอที่จะไม่หลุดให้ผู้อ่านสะดุดจนเสียอรรถรสได้ ข้อมูลที่ผู้เขียนได้มาควรเป็นข้อมูลที่ได้รับการยอมรับว่าถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นข้อมูลดังกล่าวจึงควรมาจากหนังสือหรืองานวิจัยมากกว่าข้อมูลที่ได้จากอินเทอร์เน็ต เพราะนอกจากข้อมูลตามเว็บไซต์ต่างๆ จะไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องแล้ว อาจจะมีการพิมพ์ผิด ตกหล่น ทำให้ข้อมูลที่ได้มาไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร
 
เมื่อเราได้พล็อตที่ต้องการแล้ว เราจะต้องระบุเลยว่าจะเขียนถึงที่ไหน ยุคใด พ.ศ.ใด เพื่อทำการค้นคว้าว่าที่แห่งนั้น ยุคนั้น พ.ศ.นั้น มีวัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์อย่างไร เราจะต้องอ่านจากหนังสือหลายๆเล่มประกอบกัน และต้องอ่านยุคก่อนและหลังเผื่อเอาไว้ไม่ให้ข้อมูลตกหล่นอีกด้วย แล้วจึงค่อยทำไทม์ไลน์ลำดับเหตุการณ์แต่ละฉาก เพื่อให้การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างสมจริง และไม่บิดเบือนประวัติศาสตร์
 
น้ำฟ้าและนิยายชื่อดัง ตราบสิ้นอสงไขย
 
การสร้างฉากให้สมจริงนั้น ผู้เขียนจะต้องมีข้อมูลที่มากพอและบรรยายให้ผู้อ่านเห็นภาพตามได้อย่างชัดเจน ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ผู้เขียนควรมีข้อมูลในยุคสมัยที่จะเขียนอย่างครบถ้วน จึงจะทำให้การบรรยายฉากนั้นสมจริงมากกว่าจินตนาการแบบหลักลอย จะขอยกตัวอย่างการบรรยายฉาก โรงคำ ในนิยาย ตราบสิ้นอสงไขย ซึ่งเป็นนิยายที่ย้อนไปในอาณาจักรล้านนา รัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช พ.ศ. ๒๐๑๕ ผู้เขียนได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับศิลปะล้านนา วิหารล้านนา และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆก่อนที่จะเขียนบรรยายถึงโรงคำ ซึ่งมีใจความดังนี้
 
โรงคำหรือท้องพระโรงที่ใช้ในการออกว่าราชการงานเมืองของพระเจ้าติโลกราชนั้นเป็นอาคารหลังใหญ่ที่มีหลังคาแบบลดชั้น โครงหลังคามีการเข้าไม้รับน้ำหนักซึ่งเรียกว่า ม้าต่างไหม ส่วนที่เป็นหน้าแหนบหรือทางภาคกลางเรียกว่าหน้าบันนั้นเป็นไม้สลักรูปเทพพนม มีลวดลายเครือเถาพันกระหวัดอยู่โดยรอบดุจเดียวกับโก่งคิ้วซึ่งสลักลวดลายพรรณพฤกษาได้อย่างอ่อนช้อย ต่ำลงไปเป็นเครื่องไม้ฝากระดานแผ่นใหญ่ปูเรียงกันอย่างเป็นระเบียบขนานกับเสาสองต้นที่ตั้งตรงขนาบประตูไม้ซึ่งแกะสลักเป็นรูปสิงห์คู่เด่นสง่า ดูผาดๆมิได้แตกต่างจากชายในชุดทหารสองคนที่ยืนตรงแน่วดั่งปูนปั้นแม้แต่น้อย
 
จากฉากดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้เขียนพยายามบรรยายภาพโรงคำจากจินตนาการออกมาเป็นตัวหนังสือ แม้สิ่งปลูกสร้างโบราณจะสูญสลายไปกับการเวลา ไม่หลงเหลือซากอดีตให้เห็น แต่เราก็สามารถจินตนาการออกมาโดยอาศัยทิศทางของศิลปะ และการช่างในยุคนั้นๆ ได้
 
ฉาก เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ผู้อ่านสัมผัสถึงมนตร์เสน่ห์แห่งอดีตได้แจ่มชัดที่สุด ผู้เขียนจึงควรให้ความสำคัญพอๆกับการดำเนินเรื่องให้น่าติดตาม หากผู้เขียนมีข้อมูลที่เพียงพอและสามารถบรรยายออกมาได้เห็นภาพแล้ว นิยายพีเรียดก็จะดูสมจริงและน่าติดตามอย่างแน่นอน
 
จากน้ำฟ้า เรามาต่อกันที่ ปราณธร หรือพี่กก นักเขียนมากฝีมือ ที่ออกผลงานมาเยอะมาก เขียนหลากหลายแนว ไม่ใช่แค่แนวเดียว พี่กก ให้คำแนะนำดีๆ ไว้ว่า 

ปราณธร
“ความยากของนักเขียนที่อยากลองงานพีเรียด เริ่มตั้งแต่เราไม่รู้หรอกว่าหนังสือเล่มไหนมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ บางคนบอกว่างานพีเรียดที่ยากที่สุดคือยุคที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้นยังมีชีวิตอยู่ เพราะจะมีผู้รู้มากมายออกมาค้านเนื้อเรื่อง แต่สำหรับพี่แล้วมันตรงกันข้ามนะ เพราะเห็นว่า ต้องถามจากคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ต่างหาก จึงจะได้ข้อมูลที่แท้จริง
 
ตอนเขียน รอยจาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนอดีตไปในสมัยอยุธยา ช่วงเมืองเพชรบุรีโดนตีแตก พี่หาข้อมูลแล้วเขียนไปด้วยใช้เวลา 6 ปีจบ แต่ ชาติเสือ พันธุ์มังกร เขียน 9 เดือนเอง เพราะมีคนให้ข้อมูลหลายคน อย่างตอนเปิดเรื่องชาติเสือฯ ที่บ้านของเฮียโฮ่ว เรามีคนให้ถามไง เราก็ถามว่าบ้านคนมีกะตังค์ในเยาวราชมันเป็นยังไง พื้นแบบไหน ชั้นล่างชั้นบนเหมือนกันไหม เป็นไม้หรือเป็นปูน กระทั่งสวิตช์ไฟยังต้องหาให้ได้ว่าอย่างไหนถูก พอได้มาแล้วฉากมันโอเคมาก สมจริง คนในเยาวราชมาคุยด้วยนี่โล่งอก (ฮา)
 
เพราะฉะนั้นถ้ารักจะเขียนนิยายพีเรียด เราก็ต้องหาข้อมูลไว้เยอะๆ ค่ะ ถ้าฉากเป็นบ้านก็ต้องหาเรื่องบ้าน ตัวละครเราก็ต้องจับแต่งตัวให้ถูกนะ สภาพบ้านเรือนเป็นอย่างไร ก็ไปหาภาพถ่ายหรือตำราวิชาการมาอ่าน การเมืองการปกครองสมัยนั้น พยายามเขียนบนพื้นฐานหลักฐานที่มี ไม่รู้ก็ถาม ถามอย่างเดียว หาคนที่จะไม่รำคาญเราด้วย (หัวเราะ)
 
ขอให้รู้ไว้เถอะ ว่านิยายมักจะเป็นก้าวแรกของแรงบันดาลใจ ให้คนหันไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งบางทีนั่นก็เป็นหน้าที่ของเราเหมือนกันนะ เอาใจช่วยทุกคนที่อยากเขียนนิยายพีเรียดค่ะ โชคดี”
 
สุดท้าย เราปิดท้ายกันที่ คุณกอล์ฟ สรรัตน์ นักเขียนและนักเขียนบทละครทีวีคนเก่ง คุณกอล์ฟ ให้คำแนะนำการเขียนนิยายพีเรียดไว้ว่า  

สรรัตน์
นักเขียนหลายคนอาจพบปัญหามือจะเริ่มลงมือเขียนนิยายพีเรียดหรือนิยายย้อนยุคว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องราวที่เขียนนั้นมีความสมจริง อันที่จริงแล้วการเขียนนิยายพีเรียดไม่ได้ยากอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ เพราะไม่ว่าจะเขียนนิยายแนวไหนสิ่งที่ต้องทำเหมือนกันก็คือ “การค้นคว้าข้อมูลหรือการรีเสิร์ช” นั่นเอง เพียงแต่แหล่งข้อมูลของนิยายแนวนี้อาจจะไม่ได้อยู่ในอินเตอร์เน็ตเสมอไป แต่อาจเป็นตำรับตำรา พงศาวดาร จดหมายเหตุ หรือบันทึกคำให้การต่างๆ ตลอดจนคำบอกเล่าจากปู่ย่าตายายของเราก็ถือเป็นแหล่งข้อมูลได้อย่างดี

การเข้าถึงข้อมูลเอกสารเหล่านี้ นอกจากจะทำให้ได้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่รอบด้าน และมีมิติแล้ว ยังทำให้สามารถซึมซับวิธีการใช้ภาษา สรรพนาม ความคิดความเชื่อ ตลอดจนมรรยาทบางอย่างของยุคสมัยในสมัยนั้นอีกด้วย สิ่งสำคัญก็คือเราต้องระบุยุคสมัยให้ชัดเจนว่าต้องการบอกเล่าเรื่องราวในสมัยใด ประมาณปีพ.ศ.ใด บริบททางสังคมเป็นเช่นใด
 
เชื่อหรือไม่ว่าการเขียนนิยายย้อนยุคนั้นยิ่งกำหนดให้ยุคสมัยใกล้เคียงกับปัจจุบันมากเท่าไร ยิ่งเขียนยากมากขึ้นเท่านั้น... ทั้งนี้เนื่องจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยิ่งใหม่ ยิ่งมีมาก หากค้นคว้าข้อมูลไม่รัดกุมก็ย่อมผิดพลาดได้ง่าย ในขณะที่นิยายย้อนยุคไปในสมัยโบราณ บางครั้งเราสามารถแต่งแต้มจินตนาการเข้าไปผนวกกับหลักฐานที่ปรากฏได้ ฉะนั้น ยิ่งค้นคว้ามาก ก็จะยิ่งทำให้เห็นภาพในอดีตได้อย่างกระจ่างชัด อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ควรพะวงกับการค้นคว้าหาข้อมูลจนเกินไปเพราะอาจทำให้ปิดกั้นจินตนาการในการสร้างสรรค์นิยายของเราได้

ความสำเร็จของนิยายพีเรียดส่วนใหญ่อยู่ที่ “ความจับใจ” ผู้อ่าน  ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เปรียบเสมือนส่วนประกอบที่ทำให้นิยายเรื่องนั้นมีชั้นเชิง ความลุ่มลึก และความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะหัวใจของการเขียนนิยายก็คือการกะเทาะแก่นของความเป็นมนุษย์ออกมาเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจโลก เข้าใจชีวิตมากขึ้น หากผู้เขียนสามารถถ่ายทอดนิยายพีเรียดได้สมจริงก็จะสร้างอารมณ์ร่วมกับผู้อ่านจนเสมือนนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปโลดแล่นในอดีตได้อย่างน่าอัศจรรย์”
 
จบลงไปแล้วกับบทสัมภาษณ์ของเรา จะเห็นว่านักเขียนทั้งสามท่าน ต่างมีข้อมูลและเคล็ดลับดีๆ อยู่มากมาย แบบที่เรียกว่า ‘มีของ’ นั่นเอง ก่อนจากกันไป พี่ตินก็ขอสรุปความหมายของนิยายพีเรียดคร่าวๆ ก่อนดีกว่า เผื่อว่าน้องๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่านิยายพีเรียดคืออะไร
 
*นิยายพีเรียดคือนิยายที่เขียนโดยใช้ฉากหรือสถานที่ในอดีต การดำเนินเรื่องอาจพูดถึงวัฒนธรรม สังคม หรือว่าพฤติกรรมของคนในยุคสมัยนั้น นักเขียนเจ้าของเรื่องจะต้องทำการบ้าน ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับฉาก และเมื่อเขียน ก็ต้องทำให้นักอ่านแต่ละคนเข้าใจเกี่ยวกับสถานที่หรือว่าฉากเหล่านั้นมากขึ้น บางคนก็เลือกเขียนแบบนวนิยาย บางคนก็เลือกเขียนแบบแฟนตาซี หรืออาจจะเป็นแนวสืบสวนสอบสวน แล้วแต่ความชอบส่วนตัว
 
น้องๆ ที่สนใจจะเขียนหรือกำลังเขียนนิยายพีเรียดอยู่ ก็ลองนำคำแนะนำจากรุ่นพี่ไปปรับใช้นะ พี่ตินคิดว่ามีประโยชน์มากเลยแหละ     
 
อตินเอง


 
พี่อติน
พี่อติน - Writer Editor ผู้ดูแลหมวดนักเขียนที่หลงใหลการอ่านแบบสุดๆ และไม่เคยพลาดทุกข่าวสารในวงการวรรณกรรม!

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
M_TheMiracle Member 25 ก.ย. 58 20:03 น. 5

ของหนูที่ตั้งใจจะเเต่งไม่ใช่พีเรียดเเบบไทยค่ะ อยากได้คำปรึกษามาก เป็นพีเรียดตะวันตกบวกกับสืบสวน ยากพอตัวเลย

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด