เมื่อนักเขียนเด็กดีก้าวสู่เวทีซีไรต์
 
สวัสดีค่ะชาวเด็กดี ใครเป็นคอวรรณกรรมซีไรต์บ้างคะ บอกเลยว่าปีนี้พี่อรกรี๊ดหนักมาก หลังจากที่ทราบข่าวการประกาศผล 18 นวนิยายที่เข้ารอบแรก (Long List) รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2558 ซึ่งปีนี้มีผลงานของนักเขียนเด็กดีเข้ารอบถึง 3 เรื่อง คือ "ประเทศเหนือจริง" ผลงานของ ปองวุฒิ รุจิระชาคร "กาหลมหรทึก" และ "นิราศมหรรณพ" ผลงานของ ปราปต์ (สำหรับ กาหลมหรทึก เคยได้รับรางวัลนวนิยายยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี 2557) ทั้ง 3 เรื่องนี้ในรอบคัดเลือกต้องเข้าแข่งกับนวนิยายน้ำดีที่มีคุณค่าเชิงศิลปะวรรณกรรมมากถึง 57 เรื่อง (59 เล่ม) โดยส่วนตัวสำหรับพี่อรมองว่าหนังสือทุกเล่มล้วนมีคุณค่าในตัวของมันเอง แต่การที่ได้เข้ารอบแรกซีไรต์ก็เหมือนเป็นเครื่องการันตีความน่าสนใจ ซึ่งในสายตาของกรรมการจะเป็นอย่างไรตอนนี้ไม่มีใครรู้ แต่ถ้าในแง่มุมมองของนักเขียนแล้ว ฉบับนี้ไม่เพียงจะมาเปิดใจบอกเล่าความรู้สึก แต่ยังจะมาบอกเล่าความคิดและประสบการณ์เพื่อแชร์ให้กับน้องๆ นักเขียนเด็กดีได้รู้กัน!
 

3 เรื่องที่เข้ารอบแรกซีไรต์ ปี 58

คนแรก พี่อรขอเปิดด้วยทัศนะจาก 'ปราปต์' เจ้าของสองผลงานน่าสนใจที่ได้พูดไปแล้วก่อนหน้า ซึ่งถ้าหากใครเคยอ่านงานของปราปต์จะรู้ว่า เป็นผลงานที่มีความโดดเด่นในเรื่องการผูกเรื่อง ภาษา และแนวคิดอันน่าสนใจ โดยส่วนตัวพี่อรว่าปราปต์เป็นนักเขียนที่มีมุมมองและการมองโลกโดยเฉพาะโลกของวรรณกรรมได้เฉียบขาดคนหนึ่ง


ปราปต์มองวรรณกรรมไทยตอนนี้ยังไง
ปราปต์: เหมือนสินค้าและพาณิชยศิลป์อื่นๆ ครับ ตอนนี้เกือบทุกอย่างในโลกล้วนได้รับผลกระทบจากกระแสทุนนิยมและการตลาดทั้งสิ้น ความแตกต่างของแนวทางสินค้าเริ่มมีให้เลือกน้อยลงเพราะผู้ผลิตต้องลดความเสี่ยงด้วยการพยายามจับกลุ่มตลาดเข้าไว้ วรรณกรรมไทยก็เป็นแบบนั้น ทั้งวรรณกรรมตลาดและวรรณกรรมแนวรางวัล ผู้ผลิต (หมายถึงทั้งคนเขียนและสำนักพิมพ์) ก็ต้องพยายามจับและตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า เราจะเห็นว่าเดี๋ยวนี้หนังสือบนแผงมีแนวทางซ้ำๆ กันพอสมควร แตกต่างจากสมัยก่อนที่หนังสือน้อยกว่าแต่กลับหลากหลายกว่า ไม่ได้จำกัดเฉพาะแนวรัก แนวเน้นเลือด ฯลฯ มากเท่าสมัยนี้ ในขณะที่วรรณกรรมตลาดพยายามจับคนอ่านทั่วไป วรรณกรรมแนวรางวัลก็พยายามเขียนเพื่อเอาชนะใจกรรมการ คือถ้าเอาวรรณกรรมแนวรางวัลมาเทียบกับแนวตลาด มันอาจจะดูแปลก อ่านยาก อินดี้ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เมื่อเอาแนวรางวัลเหมือนกันมาวางทาบกัน ผมรู้สึกว่าเราสามารถเห็นโครงสร้างและทิศทางที่คล้ายๆ กันชัดเจนอยู่ มันมีรูปรอยที่เหมือนๆ กัน ไม่ได้ฉีกออกไปจนรู้สึกเสี่ยงหรือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตา ในภาพรวมจึงคิดว่าวรรณกรรมไทยต่างก็มีการปรับปรุงตัวเองเพื่อเข้าไปใกล้ความต้องการของคนอ่านให้มากที่สุด (ไม่ว่าจะเป็นตลาดคนอ่านทั่วไปหรือหัวใจของกรรมการ) งานแนวเน้นเลือดก็มีความเป็นไปได้ว่าจะโชกเลือดมากขึ้น งานแนวดาร์กก็จะหม่นหมองมากขึ้น แนวโป๊ก็จะโป๊ขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าการปรับปรุงนั้นอาจไม่ใช่การพัฒนาหรือยกระดับคุณภาพชิ้นงานอย่างแท้จริง สุดท้ายแล้วงานต่างๆ ยังถูกผลิตเพื่อขายมากกว่าเหตุผลอื่น

รู้สึกยังไงที่ผลงานได้ผ่านเข้ารอบ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2558
ปราปต์: เกินความคาดหมายครับ โดยส่วนตัวรู้สึกมาตลอด (และยังคงรู้สึก) ว่างานของตัวเองไม่ใช่แนวทางของซีไรต์สักเท่าไหร่ แต่ก็เป็นความเกินคาดที่น่าปลื้มใจพร้อมๆ กับนำความกดดันมาให้พอสมควร สำหรับความคาดหวังของผมอาจฟังดูงี่เง่านิดหน่อย แต่ผมก็คิดแบบนั้นจริงๆ ครับ คืออยากให้นิราศมหรรณพเข้ารอบลึกกว่ากาหลมหรทึกสักรอบนึงก็ยังดี อย่างน้อยจะได้ใจชื้นว่ามีคนเห็นว่าเราทำงานพัฒนาขึ้น 555 อีกอย่าง ผมชอบนิราศมหรรณพมากกว่า แต่เอาเข้าจริงต่อจากนี้จะยังไงก็ถือว่าเป็นกำไรมากกว่า เพราะงานมันมาไกลกว่าที่คิดไว้ตั้งเยอะแล้วครับ
 
บนเส้นทางสายวรรณกรรมให้อะไรกับ ปราปต์ แล้วเคยรู้ท้อบ้างไหม
ปราปต์: 
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ให้โอกาสผมได้ทำงานที่ผมรักและอยากทำมากที่สุด เพราะผมไม่เคยคิดอยากทำอะไรอย่างอื่นเลย โดยเฉพาะมาถึงวันนี้ มันยังให้กำลังใจและสนับสนุนความมั่นใจในตัวเองด้วยว่าเราทำได้และตัดสินใจเดินมาถูกทาง สำหรับผมไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่านี้ ส่วนเงินทอง ชื่อเสียง มิตรภาพ การนำไปต่อยอดเป็นสื่ออื่นถือเป็นโบนัสระหว่างการเดินทางอันเหนื่อยหนักครับ

ส่วนเรื่องท้อ ท้อมาตลอดครับ ทุกวันนี้ก็ยังกินลูกท้อเป็นของหวาน เพียงแต่ผมรักการเขียนมากเกินกว่าจะยอมให้แรงท้อมาเอาชนะมันได้ ก่อนหน้านี้เคยท้อมากๆ จนคิดอยากเลิกเขียนแล้วหันไปทำอย่างอื่นเหมือนกัน เพราะพยายามแค่ไหน พัฒนาตัวเองหรือเปลี่ยนไปจับแนวอื่นสักเท่าไหร่งานก็ยังขายไม่ออก แถมโพสต์ลงออนไลน์ก็ยังแทบไม่มีใครอ่าน เป็นอย่างนี้เกือบสิบปีจนรู้สึกว่าเราอาจหลงงมงายในสิ่งที่ผิด คิดว่าถ้าเอาเวลาไปทำอย่างอื่น เราอาจมีสุขภาพที่ดีกว่า รวยกว่า ร่าเริงหรือมีเพื่อนมากกว่า แต่สุดท้ายพอท้อมากๆ ก็ทำให้เกิดแรงฮึดอยากพิสูจน์ตัวเองขึ้นมา ส่วนตัวเลยคิดว่าอีกด้านของความท้อก็เป็นสิ่งที่ดี เรียกว่าถ้าไม่ท้อวันนั้นก็ไม่มีฉันวันนี้   

 
ท่าทีสบายๆ ของ ปราปต์

คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จในถนนสายวรรณกรรมหรือยัง
ปราปต์: 
ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี เพราะงั้นแค่เขียนจบบรรทัดนึงผมก็รู้สึกว่าตัวเองทำสำเร็จไปอีกขั้นแล้วล่ะ 555 ผมคิดว่าทุกอย่างมันต้องค่อยๆ ก้าว บางคราวเดินช้า บางเวลาเดินไว จุดที่ยืนอยู่ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าเราก็สะสมความสำเร็จมาในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีเส้นทางอีกยาวไกลที่ต้องไปต่อและพยายามให้มากขึ้น เพราะมันยากลำบากกว่าเดิมมากพอสมควร
 
จากจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนมาจนถึงปัจจุบันความรู้สึกเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
ปราปต์: รู้สึกว่าความจริงกับความฝันเป็นคนละเรื่อง เมื่อก่อนผมเชื่อว่านักเขียนเป็นอาชีพชวนฝัน ได้ทำงานอย่างอิสระเพียงลำพัง แล้วจะยังไงก็ได้ ไม่เหน็ดเหนื่อยนักหนา เราแค่พยายามถ่ายทอดสิ่งที่เกิดในหัวของเราออกมาให้ดีเท่านั้น ก็เลยพยายามศึกษาว่าวิธีการถ่ายทอดออกมาอย่างไรจึงจะดีที่สุด แต่ถึงวันนี้ได้พบความจริงว่านักเขียนก็เป็นแค่อาชีพหนึ่ง เป็นคนที่ต้องทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงตัวเอง และการหาเงินนั้นต้องผ่านกระบวนการและความร่วมมือร่วมใจของผู้คนมากมายด้วย แม้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหัวก็ไม่ใช่แค่ประกายของแรงบันดาลใจแบบที่เคยคิดไว้ งานจะดีขึ้นได้เราต้องถัก ต้องทอ ต้องคิด ต้องค้น ต้องพลิกแพลงไปหลายร้อยตลบ และสิ่งที่สำคัญกว่าการเขียนก็คือการคิด ถ้าวัตถุดิบต้นทางไม่ดี เขียนยังไงก็ออกมาดีไม่ได้เลย   
 
คิดว่างานของเราให้อะไรกับคนอ่าน 
ปราปต์: หลักการทำงานที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่เขียนนิยายเรื่องแรก (รักต้องปล้ำ) จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม คือต้องให้ความสนุก ข้อคิด และข้อมูล กับคนอ่าน ทั้งสามอย่างนี้ถ้าทำได้ถึง คนอ่านก็จะเกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งจะทำให้เมล็ดพันธุ์ที่เราเพาะไว้มีโอกาสเติบโตต่อไปได้ด้วยมือของคนอื่นๆ ผมว่านี่คือพลังมหัศจรรย์ของชิ้นงานต้นทางทุกๆ แขนงนะครับ
 
อยากฝากถึงน้องๆ นักอยากเขียนของเด็กดี
ปราปต์: 
ถ้ามันเป็นสิ่งที่เรารัก ก็จงทำและพยายามปรับปรุงมันให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่าหยุดยั้ง แล้วสักวันความพยายามจะตอบแทนเราอย่างงดงามครับ

 
ผ่านไปแล้วสำหรับหนึ่งทัศนะดีๆ จาก 'ปราปต์' ตอนนี้เราลองมาฟังความรู้สึกนึกคิดในมุมมองของ 'ปองวุฒิ' นักเขียนเด็กดีอีกคนที่ผลงานได้เข้ารอบซีไรต์ดูบ้าง ซึ่งสำหรับคนนี้พี่อรว่าความโดดเด่นของงานเขาคือความสมจริง ตัวละครสีเทา และการเล่าเรื่อง ส่วนเจ้าตัวจะมองงานของตัวเองยังไงมาลองดูกัน


ในฐานะนักเขียนคนหนึ่งมองงานของตัวเองยังไง
ปองวุฒิ:
 ผมมองว่างานเขียนของตัวเองมุ่งเน้นเกี่ยวกับการวิเคราะห์และตีแผ่เบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ผ่านสภาพสังคมปัจจุบัน ณ ช่วงเวลาที่เขียนต้นฉบับขึ้นมา ดังนั้นทั้งตัวละครและฉากก็จะสะท้อนสภาพปัจจุบันให้ออกมาสมจริงที่สุด ตัวละครของผมมักไม่ขาวหรือดำจัด แต่ยืนอยู่ตรงจุดสีเทามากกว่า ไม่มีคนเลวร้ายสุดขั้วและคนดีสุดขีด เพราะนั่นคือสภาพของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสังคมใกล้ตัว ไกลตัวแค่ไหน หรือแม้แต่เรื่องการเมือง ทุกคนล้วนหันด้านสว่างออกมาให้คนเห็น แต่ด้านมืดของเขาล่ะ จะมีสักกี่คนที่นึกถึงอย่างละเอียดว่าใครคนหนึ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวัน จริงๆ แล้วภายในจิตใจเขาเป็นคนยังไงกันแน่ ผมอยากให้คนที่เลือกอ่านงานของผม ไม่ว่าจะเป็นงานในแนวไหนก็ตาม ได้ค่อยๆ สำรวจสภาพความคิดและการกระทำของตัวละคร และไม่แน่อาจย้อนกลับมาสำรวจตัวตนที่ซ่อนอยู่ในตัวเราเองด้วยก็ได้ นวนิยายเรื่องประเทศเหนือจริงเป็นตัวอย่างชัดของการตั้งคำถามข้อนี้ เท่าที่ผ่านมามีฟีดแบคจากนักอ่านหลายคนที่ได้อ่านเรื่องนี้แล้วบอกเล่ากลับมาว่าเรื่องนี้ทำให้เขาฉุกคิดอะไรบ้าง ซึ่งต้องบอกว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นที่น่าสนใจทั้งนั้น  
 
คาดหวังแค่ไหนกับผลงานที่เข้ารอบครั้งนี้
ปองวุฒิ:
 ความจริงแล้วความคาดหวังของเรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากหนังสือเล่มอื่นๆ ของตัวเองที่ผ่านมาเท่าไรนัก คือทุกครั้งที่งานออกมาเป็นเล่มก็อยากให้มันน่าสนใจมากพอในสายตาคนอ่าน ผมยินดีทุกครั้งที่มีคนมาคุยด้วยว่าเคยอ่านงานของผม ไม่ว่าเล่มไหนก็ตาม เพราะนั่นหมายความว่าหนังสือเล่มนั้นดึงดูดใจเขาได้มากพอจะหยิบมาอ่าน สำหรับนักเขียนเมื่อหนังสือเล่มหนึ่งออกมาเป็นตัวเล่มแล้ว หน้าที่ของเราจบไปส่วนหนึ่งแล้วละ ส่วนการเข้ารอบถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้หนังสือกระตุ้นความสนใจจากคนอ่านได้มากขึ้น จากตอนแรกที่อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีหนังสือเล่มนี้ เขาก็อาจจะหันมาเลือกอ่าน 
 
ภาพส่วนหนึ่งจากการเดินทางเพื่อไปพบเจอกับประสบการณ์ใหม่ ของ ปองวุฒิ 

นอกจากเวลาทำงาน และอ่านหนังสือแล้วทำอะไร
ปองวุฒิ:
เมื่อไรที่ว่างเว้นจากการทำงาน ผมให้ความสำคัญกับการเดินทางครับ ทุกครั้งที่เดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ เจอคนใหม่ๆ ผมรู้สึกว่าไม่ใช่แค่ร่างกายภายนอกของเราเคลื่อนที่เท่านั้น แต่จิตใจก็ออกเดินทางไปพร้อมกันด้วย การเดินทางท่องเที่ยวพาผมไปพบเจอประสบการณ์แตกต่างไปจากชีวิตประจำวัน ได้เห็นโลกกว้าง เห็นสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน นำมาต่อยอดในงานเขียนชิ้นต่อไปได้ ทุกอย่างมันคือประสบการณ์ที่มีประโยชน์ทั้งนั้น
 
คิดว่าถนนสายวรรณกรรมนี้ให้อะไรบ้าง
ปองวุฒิ:
 หลายอย่างมากครับ แรกเริ่มอาชีพนักเขียนคือเป้าหมายของความฝันที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าอยากทำให้ได้ และเมื่อเดินมาตามเส้นทางนี้เรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ผ่านมา 15 ปีนับตั้งแต่ได้ตีพิมพ์เรื่องสั้นชิ้นแรกแล้ว คิดดูก็เป็นเวลายาวนานอยู่เหมือนกัน ผมว่าตัวเองผ่านอะไรมาเยอะ จากความฝันกลายมาเป็นอาชีพหลัก ที่ไม่ใช่แค่อาชีพเลี้ยงตัว แต่ยังเคยได้รับรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจให้อยู่หลายหน ได้เจอเพื่อนในเส้นทางสายเดียวกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ดีๆ ต่อกัน รวมถึงได้รับมิตรภาพจากนักอ่านที่เหมือนเป็นพี่เป็นน้องกันก็หลายคน จนตอนนี้เส้นทางวรรณกรรมเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ มันกลายเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว ไม่ใช่แค่งานที่เราจำเป็นต้องทำอย่างเดียว  
 
เคยคิดท้อกับการเดินทางบนถนนสายน้ำหมึกไหม 
ปองวุฒิ:
 ผมว่าไม่มีชีวิตใครเดินราบเรียบไปโดยไม่สะดุดเลย แต่เราอยู่ในแวดวงมานาน มันเลยจุดที่จะใช้คำว่าท้อหรืออยากล้มเลิกไปไกลแล้ว ขอใช้คำว่าเหนื่อยดีกว่า ในหนึ่งปีต้องมีวันอย่างนี้บ้างอย่างน้อยๆ ก็หนหรือสองหน ไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกครั้งที่เหนื่อยผมจะหยุดอยู่นิ่งๆ แล้วทบทวนความคิดตัวเองว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่บกพร่องหรือขาดสมดุลตรงไหนหรือเปล่า พอหายเหนื่อยแล้วค่อยเดินต่อ เพราะเรารู้ตัวเองว่าโดยแก่นแท้นี่คืองานที่เรารัก...งานที่เราอยากทำ ไม่ใช่ว่าฝืนใจหรือถูกใครบังคับ ผมเชื่อว่าเมื่อเราทำในสิ่งที่รัก ไม่มีอุปสรรคหรือปัญหาไหนใหญ่และยากจนคิดท้อและล้มเลิกได้หรอก มันก็แค่ทำให้เหนื่อย แต่ก็ต้องผ่านไปจนได้    
 

 
คิดว่าอะไรที่ทำให้มายืน ณ จุดจุดนี้
ปองวุฒิ:
 ส่วนผสมของใจรัก อดทน มุ่งมั่น และเอาจริงเอาจัง นักเขียนเป็นอาชีพอิสระ ดังนั้นถ้าหากไม่รักและอดทนจริงคงทำได้ไม่ยาวนานเกินสิบปีแน่ๆ ผมมองว่าถ้าหากอยากทำอาชีพนี้เพราะผลตอบแทนอย่างเดียว มันไม่จีรังหรอก เราต้องรักงานของเราด้วย ผมรู้สึกยินดีทุกครั้งที่มีผลงานออกมา ดีใจที่มีคนอ่านและพูดคุยกับเรา ข้อสำคัญอีกอย่างคือต้องพัฒนางานของตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่าคิดว่าเราดีเยี่ยมแล้ว พอแค่นี้ ไม่ทำอะไรต่อ แต่ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ หาจุดเด่นจุดด้อย เก็บข้อบกพร่องในแต่ละชิ้นงานมาปรับปรุงงานต่อไป 
 
คำว่า "ประสบความสำเร็จ" สำหรับคุณคืออะไร 
ปองวุฒิ:
 คำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ สำหรับผมคือเราเดินมาสุดทางแล้ว ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดไม่มีทางเดินต่อแล้ว ผมรู้สึกว่าตัวเองยังก้าวขาเดินต่อได้อีกเรื่อยๆ นะ แต่เอาเป็นว่ามาถึงตอนนี้ ถ้าหากย้อนกลับไปคุยกับตัวเองเมื่อสักสิบหรือยี่สิบปีก่อนตอนยังอยู่ในวัยเริ่มต้นเดินตามความฝัน ผมก็คงภาคภูมิใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในเวลานี้ คือทำได้สำเร็จในระดับหนึ่ง อย่างน้อยๆ ก็ตามเป้าหมายที่เคยตั้งเอาไว้ มีผลงานตีพิมพ์ ได้รับการยอมรับจากคนอ่าน มีคนเห็นคุณค่าในงานของเรา เป็นชีวิตที่น่าพอใจ แต่ยังไปต่อได้เรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่แค่นี้ ในเส้นทางสายการเขียน บางทีมันอาจไม่มีจุดสิ้นสุดด้วยซ้ำ ถ้าเราไม่เลือกที่จะหยุดเองเสียก่อน    
 
อยากให้ฝากถึงน้องๆ นักอยากเขียนของเด็กดีหน่อย
ปองวุฒิ: หนทางเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนที่ดีที่สุดคือลงมือทำ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเขียนให้จบ
อย่ากลัวเจ็บ กลัวคอมเม้นท์ กลัวคนไม่ชอบ หรือกลัวไม่ผ่านสำนักพิมพ์ ให้คิดไว้ว่าน้อยคนนักที่จะทำออกมาได้ดีเพอร์เฟ็คตั้งแต่ครั้งแรก ส่วนใหญ่ก็ต้องพลาดกันบ้างไม่มากก็น้อย เราต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดครั้งแรกมาใช้ปรับปรุงพัฒนางานในครั้งต่อๆ ไป ถามตัวเองให้แน่ใจว่าอยากเป็นนักเขียนเพราะอะไร อยากเป็นจริงหรือเปล่า แล้วเลือกดูว่าจะเดินไปตามเส้นทางนี้ดีไหม ทุกอย่างจะได้ชัดเจนและไม่หยุดอยู่ครึ่งๆ กลางๆ ครับ 
 
จบไปแล้วสำหรับทัศนะจากสองนักเขียนที่เปี่ยมไปด้วยความรักในงานของตน การหมั่นพัฒนา และออกหาวัตถุดิบมาเพื่อสร้างสรรค์ กลายเป็นจุดที่ทำให้เขาทั้งคู่มายืนอยู่ตรงนี้ ตรงที่ความทุ่มเทและความอดทนได้ผลิดอกออกใบเป็นเสียงชื่นชม ส่วนความเหนื่อย ความท้อสำหรับเขาทั้งคู่มันเลยจุดที่จะไปพูดถึงเสียแล้ว ใครที่กำลังฝ่าฟันกับความเหนื่อยและความท้ออยู่ถามตัวเองให้ดีว่าเรารักในสิ่งที่กำลังทำไหม ถ้าคำตอบคือ "ใช่" ก็อย่ายอมแพ้นะคะ พี่อรขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ ส่วนฉบับหน้าจะเป็นเรื่องราวของนักเขียนท่านไหน อย่าลืมติดตามด้วยน๊าาาาา แล้วพบกันค่ะ
 
พี่อร

^__________^
 
พี่อร
พี่อร - Writer Editor คอลัมนิสต์ผู้เชื่อว่านิยายคือเพื่อนแท้ และเห็นอาหารการกินเป็นเรื่องของความสุข

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

6 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
poroyo Member 19 ก.ค. 58 14:46 น. 6

รอข่าวนี้มานานแล้วค่ะ ตั้งแต่วันประกาศผลเลย

ขอให้คุณนักเขียนทั้งสองท่านสู้ๆ นะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด