คลินิกนักเขียน : Exclusive 19  ฉากเปิดแบบเปรี้ยงๆ อ่านแล้วใช่ อ่านแล้วปัง 
เปิดเรื่องดีมีชัยไปกว่าครึ่ง มาดูเคล็ดลับการเขียนฉากเปิดจากนักเขียนทั้งห้าของเรากัน
 
สวัสดีน้องๆ ทุกคนจ้า คอลัมน์ กลเม็ดเคล็ดลับฉบับ Exclusive กลับมาแล้ว สำหรับวันนี้ พี่ตินมาพร้อมหัวข้ออันยิ่งใหญ่สุดๆ นั่นก็คือ “หัวข้อฉากเปิด” หลายคนสงสัยว่ามันสำคัญยังไง ก็ขอบอกเลยว่า ฉากเปิดนี่ถึงขั้นบอกนักอ่านได้เลยว่า ควรจะอ่านต่อหรือจะเลิกอ่าน เพราะมันเหมือนการเริ่มทำความรู้จักกับหนังสือเรื่องนั้นๆ ถ้าสนุก เราก็อยากไปต่อ แต่ถ้าไม่สนุก เราก็โบกมือบ๊ายบาย
 
เพราะฉะนั้น จงทำฉากเปิดของเราให้เปรี้ยงและให้ปัง คนอ่านจะได้อยากอยู่กับเราต่อไงล่ะ พร้อมแล้วไปดูเคล็ดลับจากห้านักเขียนที่พี่ตินคัดมาฝากกัน บอกเลยว่าตอบกันโดนๆ ทุกคนจริงๆ
 
กรกานท์
ถ้าจะให้ตอบง่ายๆ คือ ‘เขียนให้สะดุดตา’ อย่างที่สามารถดึงคนอ่านให้สนใจได้ตั้งแต่บรรทัดแรก ให้เขารู้สึกว่า เอ๊ะ! พูดเรื่องอะไรอยู่นะ ไหนขออ่านต่อหน่อยซิ
 
วิธีนี้หลายคนอาจจะรู้จักในชื่อการตีหัวเข้าบ้าน และสำหรับกรกานท์คือ ‘เอาให้พีค’ อยากแรกเลยคือจะไม่เริ่มด้วยการชมนกชมไม้ และจะไม่ใช้คำที่เข้าใจยากจนคนอ่านต้องแปลไทยเป็นไทย เพราะหากทำความเข้าใจกันลำบากตั้งแต่แรก ก็เป็นไปได้ยากที่จะดึงดูดคนอ่านให้อยากท่องไปกับนิยายของเรา
 
เปิดฉากให้ทำความเข้าใจง่าย โดยให้คนอ่านได้ทำความรู้จักตัวละครก่อน หรือเริ่มในสถานการณ์ที่วิกฤต ให้คนอ่านได้ลุ้นตั้งแรก ว่าตัวละครจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นได้หรือไม่ ซึ่งจะทำให้คนอ่านอยากเปิดหน้าถัดไป ลุ้นไปกับตัวละครว่าเป็นอย่างไรต่อ ให้ได้เอาใจช่วยในเรื่องราวนั้นๆ ไปด้วยกัน ราวกับคนอ่านเป็นตัวละครนั้นเอง
 
การเขียนฉากเปิดมันก็เหมือนกับการฟังเพลงสิบวินาทีแรกว่าคนอ่านจะฟังต่อไปไหม หรือไม่อยากฟังแล้ว ดังนั้นมันควรจะต้องน่าสนใจและติดหู สำหรับตัวเหมี่ยว เหมี่ยวเป็นคนที่ชอบทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น เช่น ถ้าจะเขียนฉากเปิดคือ ห้ามเปิดด้วยการตื่นนอน จะยังไงก็ตาม ตัวละครต้องห้าม ตื่นนอน แบบแม่จ๋า สายแล้วทำไมแม่ไม่ปลุกหนู เลยหาวิธีใหม่ๆชนิดที่ว่า ฉันจะต้องทำอะไรให้แตกต่าง และเหมี่ยวก็เลยจำแนกออกมให้ตัวเองฟังว่า จะต้องเขียนฉากเปิดให้เป็นแบบนี้...
 
กานท์ชญาหรือมะเหมี่ยว
กับผลงานที่เธอภาคภูมิใจ

 
ตัวละครทำงานอาชีพอะไร ให้เปิดด้วยการทำงานของอาชีพนั้นๆ เช่น หากตัวละครทำงานเป็นดีไซเนอร์ ก็เปิดด้วยเรื่องราวของเสื้อผ้า หรือการทำงานของตัวเอก เอาให้ชัดเจนและน่าติดตามว่าตัวละครตัวนี้ จะดำเนินเรื่องต่อไปอย่างไร
 
เปิดด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไม” ...เช่น ทำไมตัวละครตัวนี้ถึงโสด ทำไมตัวละครตัวนี้ถึงได้เป็นแบบนี้ เพราะเหมี่ยวคิดว่าคนเรามีความอยากรู้อยากเห็นกันทั้งนั้น ดังนั้นการจะเปิดเรื่องให้ดีก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้คนอ่านรู้สึกว่าอยากรู้อยากเห็นกับสิ่งที่เราจะบอก
 
สิตา
ฉากเปิดมีความสำคัญในการช่วยดึงคนอ่านให้อยากอ่านเรื่องของเราต่อ พูดง่าย ๆ ว่าต้อง “โดนใจ” แล้วทำอย่างไรจึงจะโดนใจคนอ่านได้ วิธีง่ายที่สุดก็คือกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นค่ะ ในฉากเปิด จงโยนตัวละครเข้าสู่เหตุการณ์ที่ไม่ปกติธรรมดา แล้วความอยากรู้จะทำหน้าที่ของมันเอง ตัวอย่างเราเล่าเรื่องพ่อค้าหมูปิ้ง เริ่มด้วยตอนเช้าพ่อค้าเข็นรถมาตั้งขายที่เดิม เปิดกล่องพลาสติกจะหยิบหมูมาปิ้ง ในกล่องว่างเปล่า หมูหาย? แต่จำได้ว่าใส่หมูในกล่องกับมือ เงยหน้าขึ้น ลูกค้ามายืนรอแล้ว...อยากอ่านเรื่องพ่อค้าหมูปิ้งคนนี้ต่อไหมคะ
 
บางครั้งเราอาจไม่แน่ใจว่าควรเลือกฉากไหนของเรื่องมาเป็นฉากเปิดดี กลัวว่าฉากที่นำมายังไม่ทรงพลังพอจะตรึงคนอ่านไว้ได้ ขอแนะนำสักสองวิธีนะคะ วิธีแรกให้ดึงฉากไคลแมกซ์ของเรื่องมาใช้เลย ฉากที่เป็นจุดพีคของเรื่อง เตรียมขมวดปมใกล้จบนั่นแหละค่ะ ช่วงนั้นจะเป็นตอนที่อารมณ์ตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องกำลังไต่ระดับสู่จุดสุงสุด เราก็เขียนไปจนพอจะถึงตอนเฉลย...ตัดฉับ! มาเริ่มต้นเรื่องของเราอย่างที่เราอยากทำ กระตุ้นให้คนอ่านอยากรู้ว่าเหตุการณ์ก่อนถึงฉากนั้นเป็นไงมาไง และจะเฉลยเรื่องแบบไหนนั่นเอง
 
อีกวิธีคือดึงเอาอดีตมาใช้ จะตรงข้ามกับวิธีแรกที่เอาฉากอนาคตมาใช้ แต่ก็ยังคงหลักการเดียวกัน  นั่นเพราะนิยายบางเรื่องอาจมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในนิยายช่วงปัจจุบัน (หมายถึงช่วงที่นิยายกำลังดำเนินเรื่องอยู่) แทนที่จะเอาไปใส่ไว้ในเนื้อเรื่องตามปกติ เราก็ดึงมาเป็นฉากเปิดของเรื่อง แต่งุบงิบไม่เล่าช่วงที่สำคัญจริงๆ ไว้ มารอเฉลยในตอนไคลแมกซ์ช่วงท้ายเรื่องแทน ยกตัวอย่างนิยาย “ด้วยแรงอธิษฐาน” ของคุณกิ่งฉัตรค่ะ มีการนำฉากนางเอกในชาติที่แล้วกำลังจะตายมาใส่เป็นฉากเปิดเรื่องได้อย่างจับใจมาก แล้วพอนางเอกตายก็...ตัดฉับ! มาเริ่มชีวิตในชาติใหม่ เล่าเรื่องของนางเอกในชาติใหม่ไปเลย
 
ทั้งสองวิธีนี้ง่ายต่อการควบคุมเรื่อง เพราะบางครั้งเมื่อเราเอาฉากตื่นเต้นมาใช้เป็นฉากเปิด ด้วยเส้นเรื่องอาจทำให้เราต้องเฉลยความลับของฉากนั้นในเวลาไม่นาน จนมีปัญหาว่าหากตอนต่อๆ ไปไม่มีฉากไหนทรงพลังพอๆ กันกับฉากนั้น คนอ่านจะเบื่อได้ แต่การเอาฉากอนาคตหรืออดีตมาใช้ เราสามารถควบคุมช่วงเวลาที่จะเฉลยความลับให้นานเท่าไหร่ก็ได้ เพราะโดน...ตัดฉับ! ตั้งแต่แรก แล้วความอยากรู้จะนำคนอ่านให้ตามเรื่องเราไปได้เรื่อยๆ เช่นกัน แต่การจะใช้วิธีพวกนี้อย่างได้ผล คนเขียนต้องรู้จักวางแผนมาแล้วในระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นเขียนเพลินออกทะเล วกเนื้อเรื่องกลับมาชนกับฉากเปิดที่เกริ่นถึงอดีตหรืออนาคตไว้ไม่ได้...แย่แน่
 
อย่างไรก็ตาม เทคนิคเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งตายตัว เราอาจเริ่มด้วยฉากผิดปกติหรือธรรมดาสามัญก็แล้วแต่ อย่างหนึ่งที่ควรจำขึ้นใจคือ ในฉากเปิดนั้น ให้รีบพาคนอ่านเข้าสู่เหตุการณ์ที่มีผลต่อเรื่องหรือต่อตัวละครโดยเร็ว ขืนมัวแต่อารัมภบท “ท้องฟ้าสีคราม แม่น้ำใสปิ้ง ลูกลิงวิ่งเล่น อีเห็นวิ่งผ่าน เช้าไปทำงาน เย็นกลับมาบ้าน...” คนอ่านรำคาญ เลิกอ่านซะเลย
 
พึงระลึกไว้ว่าความอดทนของคนอ่านมีกำจัด ตอนต่อ ๆ ไปของนิยายเราต้องอาศัยมันอีกแน่นอน ฉะนั้นอย่ารีบใช้เยอะตั้งแต่ในฉากเปิด...มันเปลืองนะเอ้อ
 
พุดแก้ว
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนเลยว่าประสบการณ์ในการเขียนนิยายของพี่ยังถือว่าน้อยมาก (2 ปี) อาศัยว่าอ่านหนังสือมาเยอะ คอยสังเกตเทคนิคต่างๆ แล้วนำมาปรับใช้กับงานของตัวเอง
 
ฉากเปิดถือเป็นฉากสำคัญ ที่จะสร้างความสนใจให้กับผู้อ่าน จัดเป็นหนึ่งในตัววัดใจเลยว่าผู้อ่านจะอยู่กับเราต่อไปหรือไม่ สำหรับพี่มันต้องเหมือนป้ายบอกทางที่ชัดเจน และกระตุ้นให้คนรู้สึกว่าอยากจะก้าวเดินไปในทางนั้น
 
ส่วนใหญ่พี่จะเริ่มต้นด้วยการจับเอาเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดจุดหักเหของตัวละครหลักขึ้นมาบอกเล่า เพื่อจะสร้างจุดสนใจ และแรงกระตุ้นให้ผู้อ่านอยากจะรู้เรื่องราวต่อไป อาจจะมีการบอกเล่าถึงลักษณะนิสัยที่โดดเด่นของตัวละครตัวนั้น เท้าความไปถึงภูมิหลังคร่าวๆ ที่ทำให้เรื่องราวมาถึงจุดนี้ และที่สำคัญคือการพยายามหย่อนปมลงไปเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอยากจะติดตามเรื่องราวนี้ต่อไป ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญเพราะจะทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจที่จะติดตามเรื่องราวต่อไป
 
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขออนุญาตยกตัวอย่างผลงานของตัวเองหน่อยนะคะ
 
"ตาเล็กไม่คิดจะกลับมาอยู่บ้านหรือลูก แล้วไปอยู่ที่นู่นทำงานทำการอะไร หายเงียบไปเลย ย่าเป็นห่วง"
 
เสียงอ่อนโยนดังแว่วเข้ามาในความทรงจำ มุมปากหยักได้รูปยกขึ้นเล็กน้อยคล้ายจะแย้มยิ้ม หากใบหน้าคมคายกลับเรียบเฉยยิ่งนัก ดวงตาคมทอดมองรันเวย์ของสนามบินจากกระจกด้านหนึ่งของอาคารผู้โดยสารขาออกอย่างไร้จุดหมาย
 
'บ้าน' คำคำนี้ช่างฟังแปลกประหลาดในความรู้สึกนัก นานเหลือเกินที่วรวรรธน์จากเมืองไทยไป จนเขาแทบจะลืมเลือนทุกสิ่งทุกอย่างที่นี่ เขามองไม่เห็นตัวตนและรูปเงาในอดีตของตัวเองอีกแล้ว
 
เมื่อเกือบสิบกว่าปีก่อน พ่อส่งเขาไปเรียนยังโรงเรียนประจำแสนเข้มงวดในต่างแดน จุดประสงค์ก็เพื่อดัดนิสัยอันธพาลของเขา และวรวรรธน์ก็ไม่ได้กลับมาเมืองไทยอีกเลย ยิ่งได้รู้ว่าพ่อกับแม่หย่าขาดกัน ครอบครัวที่ไม่เคยอบอุ่นของเขาล่มสลายลงแล้ว มันยิ่งทำให้ชายหนุ่มตัดสินใจจะไม่กลับมาที่นี่อีก เขาเลือกทางเดินใหม่ให้ตัวเองโดยไม่สนใจจะบอกให้ครอบครัวที่เมืองไทยรับรู้ความเป็นไปใดๆ เส้นทางสายนั้นพาเขาเดินพ้นไปจากอดีตทุกอย่าง
 
นี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่จากเมืองไทยไป ที่ชายหนุ่มกลับมาบ้านเกิดแต่ไม่ใช่เมืองนอนแห่งนี้ เพราะใครคนหนึ่งพยายามส่งข่าวไปหา ขอร้องให้กลับมาร่วมงานศพพี่ชายแท้ๆ ซึ่งปิดฉากชีวิตเหลวแหลกเกินเยียวยาลงก่อนวัยอันควรหลังออกจากคุกมาได้ไม่นาน น่าขันที่ดูเหมือนสมบัติมหาศาลและความเป็นผู้ดีโดยสายเลือดไม่อาจช่วยอะไรครอบครัวเขาได้เลย พี่ชายคนโตติดยาและต้องคดี พี่สาวคนรองเหลวแหลกจนเกือบจะหมดอนาคต ส่วนตัวเขา...ชายหนุ่มหัวเราะเบาๆ ในลำคอ มันก็แค่อดีต! ซีกหน้าคมคายหันกลับสู่ทางเดินเบื้องหลัง...นี่ต่างหากสิ่งที่เขาต้องทำในตอนนี้
 
(จากเรื่อง กามเทพลอยลม โดยพุดแก้ว)
 
จริงๆ แล้วตามความรู้สึกของพี่ งานเขียนไม่มีอะไรตายตัว เราสามารถปรับใช้เทคนิคต่างๆ ให้เหมาะกับความถนัดของเรา ซึ่งเทคนิคเล่านั้นก็มาจากการอ่านเยอะๆ ค่อยๆ สังเกตมากๆ
 
จตุรดา-เอื้องอลิน-เมพหมี
สวัสดีทุกเพื่อนๆ ทุกคนที่อ่านคอลัมน์กลเม็ดเคล็ดลับอยู่ในตอนนี้ จตุรดา - เอื้องอลิน เองค่ะ คราวนี้ได้รับคำ (ล่อลวง) ชักชวนจากพี่อตินให้มาพูดคุยกับทุกคนเรื่อง “เขียนฉากเปิดยังไงให้โดนใจคนอ่าน” โอ้โห เรียกว่าสตั๊น (ฮาาา) เพราะตัวเองไม่เคยคิดถึงอะไรที่เป็นเชิงทฤษฎีแบบนี้มาก่อน เขียนตามสัญชาตญาณดิบว่างั้นเถอะ แถมเขียนมาก็น้อยเรื่อง (คิดๆ ดูแล้วมันน้อยจริงๆ นะ) แต่จะลองไล่เรียงอะไรที่เป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนางานเขียนกันเนอะ (แน่นอน พัฒนาตัวเองด้วย)
 
ฉากเปิดนิยายถือว่าเป็นจุดที่สำคัญมากของนิยายเรื่องหนึ่งเลยนะคะ เพราะเป็นจุดแรกที่ผลงานของเราจะได้ทักทายกับผู้อ่านโดยตรง เมื่อมันเป็นการ “ทักทาย” เราก็ต้องคิดละว่าเรื่องที่เราเขียนอยู่นั้นเป็นอย่างไร และจะเอาอะไรไปทักทายเขา เปรียบเป็นคน คนก็มีหลายคาแรคเตอร์ใช่ไหมแต่ละคนย่อมมีวิธีทักทายต่างกัน งานเขียนเองก็เช่นกันค่ะ ในส่วนของตัวเองทำเป็นอยู่สองแนวเอง เลยพูดแค่นี้เนอะ (ฮา) นั่นก็คือนิยายแฟนตาซีและนิยายรัก ซึ่งเขียนมาจนถึงตอนนี้ยังไม่รู้เลยค่ะว่าเทคนิคมันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ด้นสดแค่ไหนถามใจตัวเองดู...
 
เวลาเราเล่าเรื่องนิยายเรื่องหนึ่ง มันจะมีเหตุการณ์ที่เรียงต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ สมมุติว่าเป็น (a) - (b) - (c) ก็แล้วกัน โดยปกติเราจะเล่ากันจาก a ไป b  ไป c เนาะ เริ่มต้นเรื่องมาก็ a เลยแล้วค่อยๆ เล่าต่อไป แต่บางทีบางคนก็ใช้การ flashback โดยเอา c หรือ b มาก่อน แล้วค่อยต่อจากจุดอื่น (อันนี้ก็เคยใช้เหมือนกัน)
 
แต่ปกติที่ใช้ก็ a b c นี่แหละ แต่บางทีมันรู้สึกว่าจืดนี่สิ... เราจะทำอย่างไรให้การเล่าแบบ a b c ตามปกติมันไม่จืดล่ะ?
 
สำหรับตัวเองหากมีเรื่องไหนที่เริ่มต้นเรื่องแบบตาม Timeline ไปเรื่อยๆ จะเน้นในจุดเหล่านี้ค่ะ
 
เหตุการณ์ที่น่าสนใจ
ไอ้เหตุการณ์ที่น่าสนใจประเภททุกขลาภ หรือเพทภัย เช่น ตัวละครโดนน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ผิวหนังพุพองจนเป็นหนองอะไรงี้ มันเป็นเหตุการณ์ที่เอามาใส่บทนำเปิดเรื่องแล้วยังไงคนก็ต้องสนใจแหละ มันเป็นเหตุการณ์ที่ “ว้าวววว”  จุดนี้เราว่าหลายคนรู้แล้วล่ะ ว่าอีเวนท์แบบนี้ถ้าเอามาใส่บทนำมันจะดึงดูดคนอ่านมาก
 
แต่ถ้าชีวิตตัวเอกไม่ได้วิบัติขนาดนั้นล่ะ? คือ...นึกภาพเราอ่านเรื่องๆ หนึ่ง เปิดมาตัวเอกตื่นมานอนเกาพุงแกรกๆ แล้วตายไปอย่างเดียวดาย จบบทนำ...
 
เฮ้ยยย มันไม่ได้นะ ชีวิตซึมเซาหง่อมเหงามาก (ยกเว้นแต่จะเขียนถึงความซึมเซาของมันไปทั้งเรื่องก็เอาเลย อันนี้ไม่ผิด) เราต้องเลือกเหตุการณ์หรือใส่เหตุการณ์พิเศษบางอย่างให้ชีวิตที่เป็น ordinary day ของมันประหลาดไป เช่น ตัวเอกเป็นเจ้าของสตูดิโอเช่าและตัดชุดแต่งงาน ก็มีลูกค้าสาวๆ หรือคู่รักเข้ามาเป็นปกติ ดูเป็นชีวิตปกติธรรมดา จนกระทั่งหญิงสาวคนหนึ่งเดินเข้ามาและบอกกับเธอว่า “คุณคะ ช่วยตัดชุดแต่งงานสีดำให้ดิฉันหน่อย เอาให้เสร็จก่อนวันเชงเม้งหนึ่งอาทิตย์ ขอให้ใช้ผ้าที่ทอจากตัวไหมซึ่งโดนต้มตายในน้ำอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส” เอาละ วันธรรมดาเริ่มไม่ธรรมดานะ ตัวเอกต้องคิดต่อละว่าจะรับงานมั้ยหรือยังไงดี
 
ในความธรรมดาเราใส่ความไม่ธรรมดาลงไปได้ โดยไม่ต้องให้นิยายเราระเบิดภูเขาเผากระท่อมตั้งแต่บทนำจนเหมือนกำกับโดยไมเคิล เบย์ เนาะ วิธีนี้อาจจะใช้ได้ค่ะ
 
วิธีการสื่อสารที่แปลกออกไป
บางคนก็ใช้การสื่อสารของคนกับคน โดยตรงในการเปิดเรื่อง เช่นเจอหน้ากันคุยกัน แต่บางทีเราก็ใช้แบบอื่นได้นะ เพราะไลฟ์สไตล์ทุกคนตอนนี้เกี่ยวข้องกับโซเชียลเน็ตเวิร์กมาก เราก็น่าจะลองเอามาใช้ได้เนอะ อย่างที่เคยใช้ในนิยายที่เคยเขียน “โอ้ใจเอย” เปิดเรื่องมาด้วยการสื่อสารทาง อีเมล ของอนุตดา(นางเอก) และเพื่อนสนิท ซึ่งต่อมาก็มีการเล่าเหตุการผ่าน Blog ด้วย ซึ่งตรงนี้เราสามารถเห็นได้ทั้งเหตุการณ์ที่นางเอกเล่าผ่านบล็อก และฟีกแบ็กของเพื่อนที่มีต่อเรื่องราวนั้น การใช้น้ำเสียงของสองคนในการเล่าเรื่องก็จะต่างกันออกไป ตัดสลับกันไปมา สร้างสีสันได้นะคะ
 
ตอนนี้อาจจะสื่อสารด้วยการม้วนกระดาษใส่ขวดแล้วลอยเพราะกทม.น้ำท่วมบ่อยน่าจะถึงไวกว่าไปรษณีย์การส่งข้อความทางไลน์ กาเกาทอล์ค เฟซบุ๊คเมสเซนเจอร์ นี่ก็น่าสนใจเหมือนกัน
 
การเน้นย้ำคาแรคเตอร์ตัวละครหลักด้วยการเท้าความ
มันต้องมีบ้างสิน่า ที่ตัวละครของเรามันช่างแปลกไม่เหมือนใคร แล้วนิยายเรื่องนี้ก็เกี่ยวกับความชิคๆ เก๋ๆ หรือว่าความบัดซบของตัวมันด้วย ฉะนั้นถ้าเราลองเปิดเรื่องด้วยการเท้าความถึงวีรกรรมในอดีตของตัวละคร ก็จะเป็นการปูพื้นให้คนรู้สึกสนใจเอกลักษณ์ตัวละครเราได้ค่ะ (เคสนี้เราลองใช้กับเรื่อง “ดุจเรือนใจ” ค่ะ)
 
ส่วนฉากเปิดที่เราพยายามเลี่ยง(หรือขี้เกียจใช้นั่นเอง) คือการบรรยายฉาก สถานที่ หรือเล่าโลกทั้งโลกเป็นปกรณัม เหมือนมีผู้บรรยายสารคดี BBC มาอ่านให้ฟัง จริงอยู่ว่าภาษาสวยมันก็งามนะ แต่สมาธิในการอ่านของแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าเราบรรยายยาวเสียรวดเดียวเป็นระนาบเส้นตรง ไม่มีเหตุการณ์ของคน หรือเรื่องราวแทรกให้มันตื่นเต้นเลย อาจจะทำให้คนอ่านเบื่อได้ค่ะ
 
ไม่ใช่ว่าการบรรยายฉากผิดนะ แต่น่าจะมีการสร้างจังหวะในการเล่าด้วย จะทำให้บทบรรยายมีชีวิตชีวาขึ้นได้ค่ะ
 
ทั้งหมดคือวิธีที่เราเคยใช้มาค่ะ ถ้าท่านใดมีวิธีไหนเพิ่มเติมมาแชร์กันได้จะมาตามอ่านค่ะ หากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี่ด้วยนะคะ ขอขอบคุณพี่อตินที่ชวนมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
 

 
เอาจริงๆ เลยนะ บอกเลยว่าวันนี้ ทั้งห้าคนของเราทำงานได้ดีมาก พี่ตินอ่านแล้วได้ความรู้ดีๆ ทั้งนั้นเลย ไม่ต้องพูดอะไรเพิ่มแล้ว คิดว่าน้องๆ ทุกคนได้ความรู้เรื่องฉากเปิดกันเต็มอิ่มแน่นอน จริงไหม ^ ^
 
อตินเอง
 

 
พี่อติน
พี่อติน - Writer Editor ผู้ดูแลหมวดนักเขียนที่หลงใหลการอ่านแบบสุดๆ และไม่เคยพลาดทุกข่าวสารในวงการวรรณกรรม!

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
angel21 Member 29 ต.ค. 58 00:11 น. 4

เปิดเรื่อง เป็นปัญหาใหญ่มากๆ เพราะเปิดได้ไม่ปัง จะหัดใช้เทคนิคแบบข้างดูค่ะ คิดว่าจะต้องดีขึ้นแน่ๆ เลย ขอบคุณนะคะ 

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด