8 กุมภา สุขสันต์วันเกิดบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์

8 กุมภา สุขสันต์วันเกิดบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์

เขาเป็นใคร เขาทำอะไรไว้บ้าง ใครเป็นสาวกแนวไซไฟต้องเข้ามาอ่าน!


สวัสดีชาวไรเตอร์ทุกคนค่ะ มาพบกับพี่น้ำผึ้งอีกแล้วนะคะ เนื่องจากวันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของบุคคลสำคัญคนหนึ่งในวงการหนังสือโลก ถ้าไม่พูดถึงเขาคนนี้ก็คงไม่ได้ เพราะเขาถือว่ามีอิทธิพลไม่เพียงแต่กับนักเขียนด้วยกัน แต่ยังมีอิทธิพลต่อบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายด้วยค่ะ 

หากใครเป็นสาวกนิยายแนวไซไฟ พี่น้ำผึ้งคิดว่าน้องๆ ต้องทำความรู้จักชายผู้นี้ไว้นะคะ เพราะเขาคือ “บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ของโลก” เลยค่ะ หากใครที่ได้อ่านบทความที่พี่เขียนไปเมื่อครั้งที่แล้ว (5 นิยาย พยากรณ์อนาคตโลก) จะต้องร้องอ๋อทันทีเลย แต่ถ้าใครยังไม่อ่านก็อย่าลืมไปอ่านนะคะ 


เอาล่ะค่ะ เริ่มอยากรู้แล้วใช่มั้ยล่ะคะว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร แล้วทำไมโลกต้องจารึกว่าเขาเป็นบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ล่ะ พร้อมแล้วมารู็จักเขาคนนี้กันเลยดีกว่าค่ะ
 

(เครดิต : https://www.pinterest.com/marilmona/julio-verne)

 

เขาคนนี้คือจูลส์ เวิร์น (Jules Gabriel Verne) ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2371 ของวันนี้ที่เมืองน็องต์ (Nantes) ฝรั่งเศส จูลส์ เวิร์นได้ถือกำเนิดขึ้นมา ตอนเด็กๆ จูลส์ชอบล่องเรือไปในที่ต่างๆ กับพี่ชายของเขา ซึ่งมันเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ในผลงานของเขา ต่อมาเขาจำเป็นต้องเข้าเรียนกฎหมายที่ปารีสตามความต้องการของพ่อ
 

ที่นั่นเองทำให้จูลส์เริ่มหลงใหลในความงามของละครเวทีและจุดประกายความฝันเล็กๆ ที่ว่าอยากเป็นนักเขียน ทำให้ตัวเขาไม่ยอมเรียนต่อด้านกฎหมาย ดังนั้นความร้าวฉานระหว่างจูลส์ผู้อยากเป็นนักเขียนกับบิดาของเขาผู้อยากให้เป็นนักกฎหมายจึงเกิดขึ้นเมื่อพ่อของเขาไม่ยอมส่งเงินมาให้เขาใช้จ่ายในปารีสอีกเลย จูลส์จึงจำต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการขายงานเขียนของตน

 
กระนั้นแล้วแม้ว่าครอบครัวจะไม่เข้าใจจูลส์ แต่เขาก็มุ่งมั่นทำในสิ่งที่เขารักต่อไป จนกระทั่งเขาได้พบรักกับหญิงหม้ายลูกสองและแต่งงานกัน ภรรยาของเขาที่คอยสนับสนุนและให้กำลังใจในงานเขียนของเขามาเสมอ
 


หนังสือเรื่อง 5 สัปดาห์ในบอลลูน
(เครดิต : 
http://www.julesverne.ca/vernebooks/jvbk5weeks.html)
 

ดูเหมือนว่างานเขียนที่จูลส์ชื่นชอบนั้นจะเป็นแนววิทยาศาสตร์ หรือไซไฟเป็นพิเศษ ผลงานชิ้นแรกของเขาที่ตีพิมพ์ออกสู่สายตาประชาชนคือเรื่อง “5 สัปดาห์ในบอลลูน (Five Weeks in a Balloon)” ที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2406  ซึ่งเขาใช้เวลานานหลายชั่วโมงในห้องสมุดของปารีสเพื่อศึกษาธรณีวิทยา วิศวกรรมและดาราศาสตร์ อีกทั้งจูลส์ถึงกับลงไปเรียนรู้เทคนิคการควบคุมบอลลูนด้วยตัวเอง ทั้งหมดก็เพื่อให้การนำเสนอเรื่องราวของเขามีความสมจริงมากที่สุด

 

ผลงานวาดของ David McCall Johnston : Five Weeks in a Balloon
(เครดิต : http://www.julesverne.ca/jvposters.html)

 

หลังจากนั้นไม่นานจูลส์ก็มีผลงานออกมามากมายราวๆ 60 กว่าเล่ม เช่น “สู่ใจกลางพิภพ (Journey to the Center of the Earth)” ที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองโบราณที่หายสาบสูญใต้พิภพอันมีสัตว์ประหลาดอาศัยอยู่
 

 

หนังสือเรื่อง Journey to the center of the earth
(เครดิต : http://ursa.browntth.com/the-blog/sci-fi-busters-journey-to-the-center-of-the-earth-by-jules-verne)

 

ในปี พ.ศ. 2409 จูลส์ได้เปิดโอกาสให้นักอ่านได้จินตนาการถึงห้วงอวกาศในยุคที่ยังไม่มีใครนึกออกว่า ยานอวกาศ จรวด และสภาพไร้น้ำหนักนั้นเป็นอย่างไรในผลงานเรื่อง “จากโลกถึงดวงจันทร์ (From the Earth to the Moon)” โดยจูลส์ได้คำนวณการเดินทางสู่ดวงจันทร์ไว้ว่าห่างจากโลก 384,000 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้เวลาเดินเท้า 8 ปี 282 วันถึงจะถึง แต่ถ้าเดินทางด้วยรถไฟที่วิ่งด้วยอัตราเร็วคงที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะใช้เวลาราวๆ 9 เดือนกว่า และถ้าเดินทางด้วยความเร็วเท่าแสงเราจะถึงดวงจันทร์ได้แค่ 1 ใน 4 วินาทีเท่านั้น

 

ในปีที่ 10 หลังจาก 5 สัปดาห์ในบอลลูนเผยแพร่ จูลส์ได้ตีพิมพ์นิยายเรื่อง “ใต้ทะเล 20,000 โยชน์ (20,000 Leagues Under the Sea) ที่เปิดโลกการผจญภัยลี้ลับใต้สมุทรเรือดำน้ำที่ชื่อ "นอติลุส (Nautilus)" เพื่อยุติสงครามค่ะ จินตนาการที่โดดเด่นที่สุดของจูลส์ในเรื่องนี้คือเรือดำน้ำนอติลุสที่มีบ่อเกิดพลังงานเหมือนกับหลักของดวงอาทิตย์ รวมถึงหลอดไฟที่เย็นและไร้ไส้ก่อนโทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) จะประดิษฐ์หลอดไส้มาใช้งานอีกด้วยค่ะ
 

 

ภาพยนตร์เรื่อง 20,000 Leagues Under the Sea โดย Walt Disney

(เครดิต : http://screenrant.com/david-fincher-20000-leagues-under-sea-remake-cast)
 

หากไม่พูดอีกผลงานนึงก็คงไม่ดีนัก เพราะนิยายเรื่องที่กำลังจะพูดถึงนั้นทำยอดขายได้ถึง 108,000 เล่ม! และยังเปลี่ยนทัศนติคนต่อโลกที่ว่าโลกใบนี้ช่างกว้างใหญ่เป็นโลกที่แค่เดินทางจากจุดตั้งต้นกลับมาจุดเดิมได้ภายในเวลาไม่ถึงร้อยวัน นิยายที่ว่านั้นก็คือ “80 วันรอบโลก (Around the World in 80 Days) ที่ทำให้การเดินทางรอบโลกเป็นจริง ผ่านเรื่องราวของฟีเลียส ฟอกก์ (Phileas Fogg) และพาซพาร์ทรู (Passepartout) ซึ่งเดิมพันกับหัวหน้าสถาบันวิทยาศาสตร์หลวงถึงการเดินทางรอบโลกใน 80 วันด้วยเงินพนัน 20,000 ปอนด์

 

หนังสือเรื่อง Around the World in 80 Days 
(เครดิต : http://www.showandtellmeg.com/2015/07/book-review-around-world-in-eighty-days.html)

 


ภาพยนตร์เรื่อง Around the World in 80 Days ในปี 1956
(เครดิต : 
http://emanuellevy.com/review/featured-review/oscar-history-around-the-world-in-80-days-1956-one-of-weakest-best-pictures/)
 

นอกจากนั้นจูลส์ยังมีผลงานที่เชื่อว่าเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของเขาในปี พ.ศ. 2448 อันเป็นแนวไซไฟเรื่อง “การรุกรานของทะเล (Invasion of the Sea)  แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้มีการค้นพบอีกเรื่องที่เผยให้เห็นจินตนาการสุดบรรเจิดของเขา ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างตึกระฟ้า รถไฟความเร็วสูง เครื่อคิดเลข หรือแม้กระทั้งโทรสารผ่านหนังสือเรื่อง “ปารีสในศตววรษที่ 20 (Paris in the 20 th Century)


ในบั้นปลายชีวิตของจูลส์ เขาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและร่ำรวยมาก เขามีเรือยอทช์ลำใหญ่เป็นของตัวเองแล้วออกเดินทางนอกยุโรป ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานตอนอายุ 77 ปี ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2448 ค่ะ
 


(เครดิต : http://www.julesverne.ca/jvpostcard-verne.html)

 

จูลส์มีชั้นเชิงในการอิงหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้อย่างมีความสมเหตุสมผล และมีความเป็นไปได้ทางเทคนิคมากกว่านักเขียนไซไฟหลายๆ คน ผลงานของเขาไม่เคยหยุดนิ่ง และนั่นทำให้ผลงานของเขาได้ใจผู้อ่านได้ไม่ยากและขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพด้วยเวลาไม่นาน ที่สำคัญนิยายบางเล่มของเขายังได้ถูกนำไปสอดแทรกในเนื้อหาวิชาเรียนต่าง ๆ อีกด้วย
 

แม้จูลส์ เวิร์นจะมีชื่อเสียงจากการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่เขาก็ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตามเขานั้นเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของ “เฮอร์เบิร์ต จอร์ส เวลส์ (H.G.Wells) นักเขียนนิยายไซไฟชื่อดังระดับโลกที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งนิยายวิทยาศาตร์” คู่กันกับจูลส์ ซึ่งเวลส์ก็ได้ต่อยอดประกายจินตนาการนิยายไซไฟของจูลส์ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
 

H.G Wells (1866-1946)
(เครดิต : http://www.lpppub.com/news/holes-by-sachar-jerry-spinelli-and-h-g-wells-previews-from-childrens-literature-review-200/)

 

ผลงานของจูลส์ เวิร์นนั้นไม่เพียงแต่มีอิทธิพลกับนักเขียน แต่ยังมีอิทธิพลต่อนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ในยุคหลังเขามากๆ นอกจากนี้ผลงานของเขายังได้รับการแปลเป็นอันดับที่สองรองจากอกาธา คริสตี้เลยค่ะ 
 

นับว่าเป็นบุคคลที่น่าสนใจและพี่ก็ทึ่งในความสามารถของเขามากๆ เลยนะคะ เริ่มจากต่อสู้เพื่อความฝันแล้วทำมันให้สำเร็จ ที่สำคัญจินตนาการของเขานั้นล้ำเลิศราวกับว่ามองเห็นอนาคตได้ ทุกสิ่งที่เขาเขียนออกมานั้นกลายเป็นจริงแล้วหลายอย่าง ดังนั้นพี่จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเขาจึงได้รับสมญานามว่าเป็น "บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์" ค่ะ แล้วน้องๆ ล่ะคะ ถ้ามีพล็อตในดวงใจก็ลงมือเขียนเลยค่ะ เผื่อสักวันมันจะกลายเป็นจริงแบบจูลส์ เวิร์น ^__^

 

 

พี่น้ำผึ้ง :)
 

ขอบคุณบทความจาก
Deep Sound แสดงความรู้สึก 
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด