เขียนนิยายรักยังไงให้คนอ่านฟิน กลเม็ดเคล็ดลับจากงานคลินิกนักเขียน Workshop ครั้งที่ 2


เขียนนิยายรักยังไงให้คนอ่านฟิน
กลเม็ดเคล็ดลับจากงานคลินิกนักเขียน Workshop ครั้งที่ 2

 

สวัสดีค่ะชาวเด็กดี หลังจากที่ได้ชมภาพบรรยากาศของงานคลินิกนักเขียน Workshop ครั้งที่ 2 ไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว สัปดาห์นี้พี่อรก็เลยถือโอกาสเก็บรวบรวมกลเม็ดในการเขียนจากสองวิทยากรนั่นก็คือ พี่โอ๋ (Hideko_Sunshine) และพี่เอม (บ.ก. จากสำนักพิมพ์แจ่มใส) มาฝากกันค่ะ ซึ่งในรอบนี้ทั้งคู่มาให้ความรู้ในประเด็น "เขียนนิยายยังไงให้ฟินจิกหมอน" โดยนอกจากจะสลับกันพูด สลับกันเสริมแล้ว ยังสลับกันตบมุกซะคนที่มาอบรมอมยิ้มกันไม่หยุด และเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจพี่อรจะขอสรุปรวมเป็นประเด็นๆ ไปนะคะ ตามมาดูกันเลยค่ะ
 
 พี่โอ๋ (ซ้าย) และพี่เอม (ขวา) สองวิทยากรคนเก่งของเรา
 

เริ่มเขียนต้องเตรียมอะไร

ไหนใครชอบแต่งนิยายแบบด้นสด พี่อรเชื่อว่ามีนักเขียนหน้าใหม่ไม่กี่คนที่ทราบว่าก่อนจะเริ่มเขียนนั้นต้องเตรียมตัวเตรียมข้อมูลอย่างไร ซึ่งความที่ไม่รู้เนี้ยแหละทำให้เนื้อเรื่องออกทะเลมาเยอะ แต่งไม่จบก็แยะ หรือไม่ก็มีปัญหาเรื่องความสอดคล้อง ในเวิร์คช็อปครั้งนี้พี่เอมและพี่โอ๋ก็ได้มาแนะนำในประเด็นนี้ ซึ่งพี่อรเอามาสรุปให้ได้ดังนี้จ้า
 
1. พล็อตเรื่อง 
นอกจากคิดพล็อตเรื่องที่น่าสนใจแล้ว เราต้องหาจุดเด่น หรือซิกเนเจอร์ของเราให้เจอ เช่น ของพี่โอ๋ พระเอกต้องแบดบอย หล่อๆ การหาความโดดเด่นให้กับงานของตัวเองจะช่วยสร้างให้งานของเราแตกต่างจากงานเขียนของคนอื่นๆ ถ้าเรื่องของเรามีซิกเนเจอร์เป็นของตัวเอง นักอ่านที่เข้ามาอ่านก็จะจำนามปากกา และเรื่องของเราได้ เหมือนแฮรี่ พอตเตอร์ที่แม้จะผ่านไปแล้ว 11 ปี เราก็ยังจำได้อยู่เลย นั่นก็เพราะเขามีความโดดเด่นทำให้จำได้นั่นเอง
 
2. การคิดคาแร็คเตอร์ตัวละคร 
อันนี้ค่อนข้างสำคัญมากๆ  เพราะว่าถ้าพูดถึงในแนวของนิยายรักจะเน้นไปที่ตัวละคร โดยเฉพาะพระเอกเพราะฉะนั้นการเขียนตัวพระเอกให้น่าสนใจเราจึงต้องหาจุดเด่น และความแตกต่าง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือการสร้างมิติให้ตัวละคร

สมมติว่าเราจะสร้างให้พระเอกร้าย เราก็ต้องหาแง่มุมให้เขา เช่น เขาอาจจะร้าย เอาแต่ใจ เผด็จการ เราก็ต้องปูให้เขาว่าเพราะอะไรเขาถึงทำแบบนี้ ทุกอย่างที่สร้างให้เป็นมนุษย์คนหนึ่งมันจะต้องผ่านการหล่อหลอม เพราะฉะนั้นตัวละครก็เหมือนคนทั่วไป ถ้าเราจะสร้างให้เขาเป็นแบบนี้ ชีวิตเขาจะต้องผ่านอะไรมาบ้าง มันจะต้องสร้างแง่มุมให้ตัวละคร ตัวละครมันจะได้มีมิติ หรือถ้าจะสร้างให้พระเอกเป็นคนดี มันก็จะไม่ดีไปเลย เราต้องมาดูว่าคำว่าคนดีมันคือยังไง เขาถูกเลี้ยงดูมายังไง เคยเจอชีวิตที่เลวร้ายมาก่อนไหม เขาถึงตั้งใจว่าจะเป็นคนดี เพราะฉะนั้นเราต้องคำนึงถึงการหล่อหลอมของตัวละคร ไม่ใช่แบบเขียนขึ้นมาทื้อๆ

ยกตัวอย่าง ถ้าจะสร้างตัวละครขึ้นมาสักตัว เราจะต้องคิดถึงแง่ว่า ตอนเด็กเขาเป็นยังไง ถูกเลี้ยงมาแบบไหน ชอบกินอะไร ชอบสีอะไร ถึงแม้ว่าข้อมูลพวกนี้จะไม่ได้เอาไปใส่ในเนื้อเรื่องทั้งหมดแต่มันก็จะทำให้เรารู้จักตัวละครของตัวเองมากขึ้น เวลาที่เราจะเขียนอะไร เราจะรู้จักเขามากขึ้น เหมือนเขาเป็นคนคนหนึ่งในชีวิตเรา

พี่เสือ จากเรื่อง Perfect Match ของ May 112 หนึ่งในซีรีส์ “Ugly Duckling รักนะเป็ดโง่”  
 
3. การวางโครงเรื่อง และทรีทเมนต์
พล็อตเรื่องมันอาจจะเป็นโครงง่ายๆ ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร แต่การวางโครงเรื่องจะละเอียดมากกว่า ว่าเรื่องเราแต่ละตอนจะเป็นยังไง พระเอกนางเองจะเจอกันยังไง มีจุดหักมุมยังไง แล้วก็จะจบยังไง

โครงเรื่องบางทีอาจจะมาจากไอเดียแค่นิดเดียว พอเรามีต้นเรื่อง กลางเรื่อง จุดไคลแม็กซ์ แล้วก็ปิดเรื่องแล้ว จากนั้นก็โยงสร้างให้สถานการณ์เหตการณ์ต่างๆ เป็นเรื่องเดียวกัน จากนั้นเขียนออกมาเป็นเรื่องย่อ พอเขียนเสร็จก็มาลงทรีทเมนต์ ทรีทเมนต์จะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะว่าก่อนที่จะเขียนทรีทเมนต์ได้ เราต้องรู้ก่อนว่าจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นบ้าง เปิดฉากมา นางเอกเป็นยังไง ไปเจอใครบ้าง คุยเรื่องอะไรกัน รู้สึกแบบไหนต่อกัน คือก็ต้องคิดไว้หมด ทุกซีนที่อยู่ในทรีทเมนต์จะต้องอยู่ในหนังสือ และถ้าจะมีออกนอกกรอบ เราก็ต้องมาดูว่าทรีทเมนต์ที่เราวางไว้มันแย้งกันไหม ต้องไปปรับแก้ที่ไหนบ้าง ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้การทำงานของเราเป็นระบบมากขึ้น เขียนงานได้เร็วขึ้น ตรงไหนที่ออกทะเลจะรู้ได้ทันทีแล้วก็จะสามารถตบกลับมาได้ทัน

ตัวย่างการวางทรีทเมนต์



*สังเกตว่าภาษาที่ใช้ในการวางทรีทเมนต์จะเป็นภาษาง่ายๆ ที่เราเขียนแล้วเข้าใจเอง ส่วนสีแดงจะเป็นส่วนสำคัญที่เราจะเน้นหรือขาดไม่ได้ในนิยายของเรา
 

ส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้ฟิน

การจะทำให้นิยายน่าอ่าน เนื้อเรื่องสนุกเราก็ต้องมาดูองค์ประกอบ ที่เปรียบเสมือนเครื่องปรุงรสชาติกัน เครื่องปรุงนิยายที่พี่อรสรุปมาได้มีดังนี้ค่ะ
 
1. ภาษาที่ใช้ในการบรรยาย
ภาษาที่ใช้ในการบรรยาย ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าเราจะเขียนแนวไหน อย่างนิยายแนว JLS (Jamsai Love Series) จะค่อนข้างมีความเฉพาะ เช่น ส่วนใหญ่นางเอกเป็นคนบรรยาย ว่านางเอกไปเจอเรื่องราวอะไรมา หรือฝ่ายตรงข้ามทำสีหน้ายังไง แต่ถ้าเป็นนิยายแนว Love (สำนักพิมพ์ Love สำนักพิมพ์เครือเดียวกับทางแจ่มใส) ก็จะเห็นใช้การบรรยายบุคคลที่ 3 เหมือนเป็นมุมมองของพระเจ้า ถ้าอย่างเป็นแฟนตาซีส่วนใหญ่ก็จะเห็นเป็นบุคคลที่ 3 เหมือนกัน แต่การบรรยายก็ต้องบรรยายเยอะหน่อย เพราะต้องให้เห็นถึงฉาก ที่สร้างขึ้นในโลกของตัวเอง เพราะฉะนั้นภาษาในการบรรยายจึงค่อนข้างสำคัญมากสำหรับนิยายที่จะทำให้คนอ่านแล้วรู้สึกฟิน

อีกอย่างภาษาจะช่วยให้จังหวะเรื่องของเราน่าติดตามมากขึ้น เช่น ถ้าเป็นเลิฟซีน เราบรรยายแค่ว่า “เขาดึงเธอเข้ามาจูบ” แค่นี้จบมันก็จะดูไม่มีอะไร แต่ถ้าอยากให้ภาษามันละเอียดขึ้นเราอาจจะบรรยายเพิ่มเติมเข้าไปอีก เช่น “เขารั้งแขนเธอไว้ เขาโน้มหน้าเข้าไปใกล้ๆ สัมผัสลมหายใจกันและกัน” มันจะทำให้คนอ่านรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของพระเอกว่ามันกำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และนุ่มนวล

แนะนำสำหรับคนที่อยากจะเขียนบรรยายแต่นึกคำไม่ออก ขอให้อ่านเยอะๆ ไม่ใช่แค่แนวเดียว ถ้าเราอ่านงานของนักเขียนคนเดียวไม่อ่านงานของคนอื่นเลย ก็อาจจะติดการบรรยาย ติดพล็อตเรื่องของนักเขียนท่านนั้นมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจจะทำให้นักอ่านหลายคนมองว่าเราลอกผลงานหรือสำนวนของนักเขียนท่านนั้นได้ ดังนั้นแนะนำให้อ่านของนักเขียนหลายๆ คน หลายๆ แนว ถ้าเราอ่านเยอะเราจะมีคลังคำที่นำมาใช้เขียนในงานของเราเยอะ
 
2. การปูความสัมพันธ์ของตัวละคร
การปูความสัมพันธ์ของตัวละครค่อนข้างสำคัญมากสำหรับนิยายรัก เพราะอย่างที่รู้ๆ ฉากที่จะทำให้คนอ่านฟินก็คือฉากบอกรัก นักเขียนจะต้องทำให้เห็นว่าตัวละครสองตัวนี้ ก็คือพระเอกนางเอก มีพัฒนาการมายังไง มาเจอกันได้ยังไง มารักกันได้ยังไง หรือพวกเขาเริ่มรู้สึกใจเต้นกันตอนไหน เพราะถ้าเราไม่ปูอะไรให้คนอ่านได้รู้เลย ก็ไม่มีทางที่คนอ่านเขาจะฟิน เพราะอยู่ดีๆ ไม่มีทางที่คนมันจะมารักกัน คบกัน หอมแก้มกัน เดินจูงมือกัน รักกันขนาดนั้นเป็นไปไม่ได้

ยกตัวอย่าง
ถ้าเราจะเขียนฉากดราม่า พระเอกกำลังจะตาย นางเอกบอกว่า “ฉันรักเธอมาก” แต่ตอนกฃแรกไม่ได้มีปูมาเลยว่าสองคนนี้รักกันยังไง หรือมีความรู้สึกผูกพันธ์ต่อกันแค่ไหน ก็ไม่มีทางเลยที่คนอ่านจะรู้สึกเศร้าไปด้วย เพราะคนอ่านไม่ได้เห็นไม่ได้รู้สึกว่าพระเอกนางเอกไปรักกันตอนไหน เราจะเน้นแค่ฉากฟินอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องดูหลายๆ อย่างเป็นองค์ประกอบกัน คือมันไม่จำเป็นว่าจะต้องบอกรัก หอมแก้ม จูบ จับมือแล้วคือ "ฟิน"  จุดเล็กๆ นิดเดียวมันก็สามารถทำให้คนอ่านฟินได้ ถ้าหากว่าปูความสัมพันธ์ของตัวละครได้แน่นพอ
 
3. การถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละคร
ตัวละครก็เหมือนคน เราต้องลองคิดว่าถ้าเราไปยืนในจุดที่เขายืนอยู่ เราจะทำยังไง จะคิดจะตอบยังไง การทำอย่างนี้จะช่วยให้การถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครง่ายขึ้น บางคนอาจเขียนแบบเน้นบทสนทนาเป็นตัวดำเนินเรื่อง เพียงแต่อย่าลืมว่าบทสนทนานี้ จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นเพราะตัวละครมีอารมณ์แบบไหนอยู่ สมมติโกรธใส่แค่เครื่องหมายตกใจอย่างเดียว จริงๆ ก็สามารถสื่อได้ว่านี่คืออารมณ์โกรธ แต่จะไม่เห็นเลยว่าตัวละครแสดงสีหน้ายังไง หรือว่ามีความรู้สึกแบบไหน  เครียดแค้นมากแค่ไหน ถ้าเกิดว่าเราบรรยายให้เห็นถึงความรู้สึกของเขาได้ เชื่อว่าคนอ่านก็จะอิน และเข้าใจในตัวละครตัวนั้นมากขึ้น เช่นว่า ณ จุดนี้เขาไม่ใช่แค่โกรธ แต่เขามีอารมณ์ที่หลากหลายมากในความรู้สึก เช่น โกรธนะแต่ฉันยังรักเธอ โกรธที่เธอทำแบบนี้กับฉันมันก็จะลึกมากขึ้น คนอ่านมันก็จะอินมากขึ้น
 
4. การดึงสถานการณ์ที่ใกล้ตัวและน่าจะเกิดขึ้นได้จริงมาเขียน
สำหรับข้อดีของการดึงสถานการณ์ใกล้ตัวมาเขียน ตรงนี้มันจะช่วยให้คนอ่านรู้สึกอินได้ง่ายขึ้น 

ยกตัวอย่าง (เรื่อง Hello Lady ของ มิลล์พลัส)



จากตัวอย่างจะเห็นว่ามิลค์พลัสเป็นนักเขียนที่ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มาก รู้จักเลือกที่จะเล่นกับขนม ABC และการเล่นคำ มันเป็นการเสนอเรื่องเล็กๆ ที่ใครจะไปคิดว่าพอเอามาเขียนฉากนี้แล้วมันน่ารัก อ่านแล้วยิ้ม 
 
และนี่ก็เป็นเคล็ดลับบางส่วนจากงานคลินิกนักเขียนเวิร์คช็อปครั้งนี้ค่ะ น้องๆ ที่ได้ไปงานจะเพิ่มเติมส่วนไหนให้เพื่อนๆ อีกก็เอามาคอมเมนต์เพิ่มเติมกันได้ท้ายบทความนะคะ หวังว่าเทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้น้องๆ เขียนนิยายได้ฟินมากขึ้นหรือแม้แต่เขียนจบได้เร็วขึ้น ยังไงลองหยิบจับไปทดลองใช้กันดู สำหรับสัปดาห์นี้พี่อรบ๊ายบายน้องๆ ไปพร้อมกับคลิปวีดีโอภาพบรรยากาศในงานคลินิกนักเขียนเวิร์คช็อป ส่วนครั้งหน้าทีมไรเตอร์จะมีกลเม็ดเคล็ดลับไหนที่น่าสนใจฝากติดตามด้วยนะคะ 
 

Clip

คลินิกนักเขียน Workshop ครั้งที่ 2



พี่อร
 
^____________^

 
ขอบคุณภาพประกอบการบรรยายจากทางสำนักพิมพ์แจ่มใส
'อคิราห์' นักเขียนติสท์เว่อร์ที่เรายินดีแนะนำ!
พี่อร
พี่อร - Writer Editor คอลัมนิสต์ผู้เชื่อว่านิยายคือเพื่อนแท้ และเห็นอาหารการกินเป็นเรื่องของความสุข

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
mimtheppanya Member 9 มิ.ย. 59 21:30 น. 2
เป็นนักแต่งมือใหม่แล้วก็ด้นสดตั้งแต่เรื่องแรกเลยแต่ดีที่แต่งแฟนฟิคคนอ่านเลยเข้าใจไม่งั้นก็แง;-----;
0
กำลังโหลด

9 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
mimtheppanya Member 9 มิ.ย. 59 21:30 น. 2
เป็นนักแต่งมือใหม่แล้วก็ด้นสดตั้งแต่เรื่องแรกเลยแต่ดีที่แต่งแฟนฟิคคนอ่านเลยเข้าใจไม่งั้นก็แง;-----;
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
็Hibari Member 1 พ.ย. 61 21:49 น. 4

ตั้งใจจะแต่งนิยายแนวรักโรแมนติกน่ะค่ะ แต่ว่าเท่าที่อ่านจากที่พี่ๆเขียนมานี้ มึนตึบเลยค่ะ @_@

0
กำลังโหลด
yuttanasaelee Member 9 ธ.ค. 61 16:16 น. 5

อ่านตรงตัวอย่าง ที่บอกว่า "เขาดึงเธอเข้ามาจูบ" มันดูดีกว่าที่บอก "เขารั้งแขนเธอไว้ เขาโน้มหน้าเข้าไปใกล้ ๆ สัมผัสลมหายใจกันและกัน" อยู่เหมือนกันนะ แต่เอาเข้าจริง ๆ ประโยคที่บอก "เขาดึงเธอเข้ามาจูบ" เป็นผมก็ไม่กล้าเขียนแบบนี้แหะ พยายามเลี่ยง ๆ คำพวกนี้แทน อยากใช้ภาษาที่บริสุทธิ์มากกว่านี้แทน เขียนแนว ๆ นี้จำเป็นด้วยหรือที่ต้องจูบกันอะครับ 55

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด